อารยธรรมขอมในถิ่นผู้ไท


โบราณวัตถุหรือโบราณสถานเกี่ยวกับพุทธศาสนา เป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนแห่งความศรัทธา ดังนั้นการคงอยู่ เสื่อมไปหรือสูญหาย ขึ้นอยู่กับความศรัทธาของผู้คนในท้องถิ่น

ผมพอจะทราบมานานแล้วว่า  ในชุมชนที่เป็นภูมิลำเนาของผมนั้น  มีร่องรอยของโบราณสถานสมัยก่อน   ผมทราบเพียงแต่ว่า  อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของตำบล  ผมจึงไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก คงเพราะตอนนั้นยังเด็กเกินไปที่จะสนใจเรื่องของเก่าๆ    จนกระทั่งมีโครงการฟื้นฟูทัศนียภาพของเมืองโบราณอู่ทอง  ซึ่งอาณาเขตกินพื้นที่ถึงบ้านที่ผมอาศัยอยู่ในปัจจุบัน  ผมจึงเริ่มสนใจเรื่องโบราณสถานที่อยู่ในเขตอำเภออู่ทอง   แล้วพลันนึกไปถึงเรื่องโบราณสถานที่บ้านเกิดขึ้นมา   เมื่อมีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านเมื่อหลายเดือนก่อน   ผมจึงลองถามญาติ ๆ คนเฒ่า คนแก่  ว่าพอที่จะทราบพิกัดของโบราณสถานแห่งนี้หรือไม่  ผมได้ข้อมูลที่ผมเองก็ไม่คาดคิดว่า  ที่แห่งนี้จะอยู่ใกล้แค่เอื้อม  และขับรถผ่านเป็นประจำ  ผมไม่รีรอ  ด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่ามีจริงหรือไม่  จึงชวนญาติๆผู้ใหญ่  ไปดู  สิ่งที่พบเห็นเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจมาก  ที่บอกว่าน่าอัศจรรย์ใจนั้น  ด้วยเหตุ 2  ประการ  คือ

  • โบราณสถานแห่งนี้  อยู่กลางทุ่งนา  ดูจากผัง  โครงสร้างแล้ว   น่าจะเป็นศาสนาคารที่สร้างขึ้นจากไม้   ปัจจุบันเหลือเพียงฐานที่จมอยู่ใต้ดิน  สิ่งที่พอจะสังเกตได้คือ  ใบเสมา  ที่ปักอยู่รายรอบ  และยังอยู่ครบ  มีหักพังไปตามกาลเวลา  ทราบว่าเมื่อก่อนมีพระพุทธรูปแกะสลักจากหิน  แต่ตอนที่ผมไปไม่เห็นแล้ว   ผมแปลกใจว่าในถิ่นที่ชาวผู้ไทมาอยู่เมื่อประมาณร้อยปีเศษที่แล้ว  จะมีร่อยรอยของคนที่อยู่ที่นี่  ก่อนชาวผู้ไทและได้ฝากศิลปกรรมไว้ในเราได้ค้นคว้า  ว่าพวกเขาที่อยู่ก่อนนั้นเป็นใครแล้วตอนนี้เขาย้ายไปอยู่ที่ไหนกัน   
  • โบราณสถานแห่งนี้  ดูจากเนินดิน การปักวางเสมาแล้ว   น่าจะยังไม่มีการขุดรื้อเพื่อหาสมบัติที่ฝังอยู่   ด้วยคงเป็นเพราะสถานที่แห่งนี้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของคนในยุคก่อน  ชาวบ้านหรือคนในชุมชน จึงมีความยำเกรงต่อสถานที่  หรืออาจเป็นด้วยนิสัยของคนผู้ไทที่ไม่เอาของคนอื่นมาเป็นของตัว โดยที่เจ้าของไม่อนุญาต

เนินดินที่พบใบเสมาปักอยู่  ปัจจุบันอยู่ในที่นาของชาวบ้าน 

ใบเสมาที่หักเหลือเพียงฐาน

หินแผ่นใหญ่คือใบเสมา  เจ้าของที่นานำมากองรวมกันไว้  และใช้ก้อนหินกลบไว้

ใบเสมาที่พบกลางนา  เดิมจมอยู่ใต้ดิน  เจ้าของที่นาต้องการขยายพื้นที่เพาะปลูก  จึงใช้รถปรับหน้าดิน  ในขณะที่กำลังขุดดิน   จึงพบใบเสมาโดยบังเอิญและปักไว้ ณ  จุดที่พบ   

ข้อสันนิษฐานจากนักวิชาการที่ไม่ใช่นักโบราณคดี

  • แหล่งโบราณสถานนี้น่าจะเป็นวัดเก่า  และบริเวณโดยรอบวัดน่าจะมีชุมชนโบราณ   ผู้คนนับถือพุทธศาสนานิกายหินยาน   เสียดายไม่เห็นพระแกะสลัก  มิเช่นนั้นข้อมูลน่าจะชัดกว่านี้
  • คนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้น่าจะอาศัยอยู่ระยะหนึ่งแล้วย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่นเนื่องจากการทำมาหากินอัตคัตขัดสน  หรืออาจจะเกิดภัยแล้ง  ตามความคิดของผม
  • จากการสังเกตลักษณะของใบเสมา  คล้ายคลึงกับใบเสมาที่เคยพบเห็นมาคือทำจากหิน  มีการแกะรอยนูนคล้ายรูปเจดีย์ตรงกลาง  ผมสันนิษฐานว่าเป็นศิลปะสมัยทวาราวดี   ยุคเดียวกับเมืองฟ้าแดดสงยาง  ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง  คงน่าตื่นเต้นไม่น้อย
  • ยังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่งไม่ห่างกันมากนัก  มีหลักฐานเกี่ยวกับศิลปกรรมที่เชื่อมโยงกับ สิมเก่า  คอยติดตามต่อไปนะครับ

       ในเขตอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์  มีโบราณสถานอีกแห่งหนึ่งอยู่ที่ตำบลสระพังทอง  ผมมีข้อมูลไม่มากนัก  สอบถามจากชาวบ้านส้มป่อยก็มีเฉพาะเรื่องเล่า  ที่เล่าสืบต่อกันมา  วันหน้าผมจะหาโอกาสไปดูสถานที่จริง  บางทีสิ่งที่พบ  อาจจะข้อมูลที่เป็นประโยชน์และนำมาเชื่อมโยง  เปรียบเทียบ  กับโบราณสถาน โบราณวัตถุที่ผมพบ  

หมายเหตุ # โบราณสถานที่พบคล้ายกับโบสถ์สมัยก่อน   ชาวผู้ไทเรียกว่า สิมตั้งอยู่บริเวณที่นาริมถนน  ปากทางเข้าอุโมงค์ผันน้ำห้วยไผ่  บ้านดงหมู  ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์  ห่างจากหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ  3  กม.

 

คำสำคัญ (Tags): #ผู้ไท#โบราณสถาน
หมายเลขบันทึก: 486854เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 20:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 15:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ลักษณะของใบเสมา เห็นแล้วนึกไปถึง เสามาพิมพาพิลาบ ที่เมืองฟ้าแดดสูงยาง อาจจะร่วมสมัยกันก็ได้ เป็นศิลปะทวารวดี ช่วงกลาง - ปลาย พศว. ๑๔ - ๑๖

แต่ถ้าสีมามีเอวคอดก็จะเป็นอยุธยา มีเส้นผ่ากลางบลักษณะหม้อน้ำ ก็เป็นอยุธยาตอนต้น เก่าไปถึงอูี่ทองหรือไม่ มองไม่เห็นครับ

ถ้าชาวบ้านอนุรักษณ์ให้ดี หาที่เก็บให้เหมาะสม มีคนไปศึกษา จะมีคุณค่างประวัติศาตร์ศิลปะอย่างมากเลยครับ

ใบเสมาที่มีลักษณะสมบูรณ์เห็นมี 1  ใบ  ครับ สัณฐานตรง  ไม่เอวคอด  มีสันนูนตรงกลาง   ส่วนใบเสมาอื่นๆ  ไม่เห็นลักษณะเนื่องจากยังจมอยู่ใต้ดิน   ในเบื้องต้นผมทำเรื่องแจ้งไปทางสำนักศิลปากรพื้นที่ให้เข้ามาตรวจสอบแล้ว  ในอนาคตคาดว่าจะมีการขึ้นทะเบียนไว้เป็นมรดกของชุมชน   เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา  และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในท้องถิ่น    ความคิดของผมก็คืออยากให้เยาวชนที่กำลังสำคัญของชาติ  ได้ศึกษาเรียนรู้  ทำความเข้าใจ  และรู้คุณค่าของศิลปะที่อยู่ในชุมชนของตนเอง ซึ่งจะเป็นการปลูกความรักและความหวงแหนสมบัติส่วนรวมของชุมชน  ซึ่งสอดรับกับประชาคมอาเซียนพอดี  ในหัวข้อประชาสังคมและวัฒนธรรมที่กล่าวไว้ว่า  เราต้องทำความเข้าใจในวัฒนธรรมของเพื่อนบ้านและเคารพในความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างภูมิภาค  ซึ่งก่อนอื่นเราต้องเข้าใจตนเองก่อน รู้คุณค่าในตนเองก่อน

ใบเสมามีรอยถากจากการการไถดิน

ใบเสมาที่จมดินมานาน  ในอดีตคงสูงตระหง่าน  อยู่หน้าสิมไม้ ของวัดโบราณ

 

มีโอกาสจะแวะไปดูครับ บ้านญาติผมอยู่ที่กุดสิมคุ้มใหม่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท