พิธี " เสนเฮือน" ของไทยทรงดำ


เสนเฮือน

 

วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่คุณมะเดื่อได้มีประสบการณ์ใหม่  ๆ กับการได้เข้าไปร่วมพิธีกรรมตามวัฒนธรรมของพี่น้องชาวไทยทรงดำ ที่หมู่บ้านหนองตลาด ต.กุยเหนือ  อ.กุยบุรี  นับเป็นครั้งแรกที่คุณมะเดื่อได้มีโอกาสเห็นพิธี " เสนเฮือน" 

พิธี "เสนเฮือน" หรือ ภาษาไทยกลางเรียกว่า " ไหว้ผีเรือน" นับเป็นพิธีกรรมที่ชาวไทยทรงดำที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในเขต จ.เพชรบุรีและจ.ประจวบฯ ได้ปฏิบัติสืบทอดต่อ ๆ กันมา  ซึ่งพิธีเสนเฮือนนี้ เป็นพิธีที่แสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของไทยทรงดำ นับเป็นสิ่งดีงามที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง 

     ในการทำพิธีเสนเฮือน จะประกอบด้วยอาหารคาวหวานหลายอย่าง แต่ที่ขาดไม่ได้ก็ได้แก่

           แกงหน่อไม้ดอง

          ต้มผักกาด  และ....

        ลาบเลือดหมูสด..... (ขออภัยอาจเป็นภาพที่เหมือนจริงมากไปหน่อย อิ อิ )

       นอกจากนี้ก็ยังมี  ยำใบมะกออ่อนกับใบผักตับแถบ  (ผักตับแถบเป็นชื่อผักพื้นบ้านจ้ะ  คุณมะเดื่อก็ไม่เคยเห็นต้นของมัน เห็นแต่ใบที่อยู่ในหม้อยำดังภาพข้างล่างนี้)

        ยำใบมะกอก+ผักตับแถบ+หมู

 

เจ้าเฮือนจะ " ล้มหมู" สำหรับทำอาหารในงานนี้ พี่ ป้า น้า อา ลูกหลาน  และเพื่อนบ้านจะมาช่วยทำอาหารอย่างเต็มอกเต็มใจ ยิ้มแย้มแจ่มใส

 

" เจ้าเฮือน" หรือ " เจ้าภาพ" จะจัดอาหารคาวหวานใส่ " โตก" ใบใหญ่ ซึ่งในโตกชั้นล่าง จะเป็น " เครื่องในหมูสด" แล้วปูทับด้านบนด้วยใบตอง จากนั้นชั้นบนของโตก จะเป็นผลไม้ เผือก มัน กล้วย  อ้อย ผลไม้อื่น ๆ ตามแต่จะจัดหา  และขนมแห้งต่าง ๆ  และที่สำคัญจะมี " ข้าวเหนียว" และ " ข้าวต้มมัด"

ก่อนเริ่มพิธี ญาติ ๆ ของเจ้าเฮือน ต้องช่วยกันยกโตกอาหาร 3 ครั้ง ครั้งแรกอยู่สูงระดับเข่า แล้วจะถามพ่อหมอเป็นภาษาไทยทรงดำว่า "สูงแค่นี้พอไหม"พ่อหมอก็ตอบว่า " ยังไม่พอ" ก็ยกครั้งที่ 2 สูงระดับเอว จะถามพ่อหมออีกว่า " พอไหม" พ่อหมอก็จะตอบว่า " ไม่พอ"  ครั้งที่ 3 ยกสุดแขน ก็ถามเช่นเดิมอีก พ่อหมอจะตอบว่า " พอแล้ว"  (ซึ่งคุณมะเดื่อได้รับคำอธิบายว่า เป็นเคล็ดว่า การทำมาหากินจะสมบูรณ์็ ก้าวหน้า  หน้าที่การงานสูงส่ง ด้วยการยกโตกให้สูงที่สุด)

 

ในภาพด้านบนนี้คือ " พ่อหมอ" ผู้ดำเนินพิธีการโดยตลอด คุณมะเดื่อไม่ได้ถามชื่อของพ่อหมอ จึงไม่ทราบชื่อ พ่อหมอเป็นคนจากอำเภออื่น เจ้าเฮือนต้องไปรับมาเพื่อทำพิธีก่อนหน้าวันงาน วันหนึ่ง พ่อหมอจะไม่ค้างคืนที่บ้านเจ้าเฮือน แต่จะมากำหนดนัดหมายงานให้ก่อน แล้วไปค้างคืนที่บ้านอื่น ใกล้ ๆ บ้านเจ้าเฮือน นัยว่า เป็นข้อกำหนดไว้ รุ่งเช้าเจ้าเฮือนจะต้องไปรับตัวมาทำพิธี พ่อหมอจะมี " พัดขนนกเงือก" ที่ใช้ในการทำพิธีด้วย (พ่อหมอบอกว่า ขนนกอื่นใช้ไม่ได้) 

     คุณมะเดื่อได้สอบถามชาวบ้านที่มาร่วมงานว่า ทำไมจึงต้องไปรับหมอพิธีมาจากที่อื่น ก็ได้คำตอบว่า ในหมู่บ้านไม่มีหมอทำพิธีเลย  และหมอทำพิธีในละแวกอำเภอใกล้ไกลนี้ ก็มีพ่อหมอท่านนี้เพียงท่านเดียว....หาผู้สืบทอดไม่ได้เลย  เมื่อคุณมะเดื่อได้คุยกับพ่อหมอและคนอื่น ๆ ถึงเรื่องนี้ก็ได้รับคำบอกเล่าว่า " ไม่มีใครมาเรียนเลย  เขาว่ามันยาก  ขั้นตอนเยอะ จำยากมาก" ก็คงจริงเพราะตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึงบ่าย 2 โมง  เป็นการทำพิธีกรรมตลอด  พ่อหมอบอกว่า มีขั้นตอนทั้งหมด ประมาณ 10 ขั้นตอน....โห....!

     นี่แหละ อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ พิธีกรรมดี ๆ อันเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามหลาย ๆ อย่างสูญหายไปกับคนรุ่นเก่า ๆ เพราะหาผู้สืบทอดไม่ได้

พ่อหมอจะทำพิธีกรรม โดยมีผู้ช่วย ที่เป็นชาวบ้านอีก 3 คน 

 

      พิธีการหลายขั้นตอนคุณมะเดื่อจำไม่ไหว แต่ทุกขั้นตอนพ่อหมอจะใช้ภาษาไทยทรงดำ ในการร้องทำนองคล้าย ๆ บทสวด บางคำคุณมะเดื่อพอจะเข้าใจ แต่เกือบทั้งหมดฟังไม่รู้เรื่องจ้ะ

      เจ้าเฮือนและแขกเหรื่อที่มาร่วมงานก็จะใช้ภาษาไทยทรงดำในการพูดคุยกัน แต่ถ้าจะคุยกับคุณมะเดื่อก็จะใช้ภาษาไทยกลาง  แต่เด็ก ๆ รุ่นใหม่ก็ใช้ภาษาไทยกลางกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว ทำให้น่าคิดว่า  หากไม่มีการดำรงอนุรักษ์ไว้ ต่อไป ทั้งพิธีกรรมทั้งภาษาก็คงหาผู้สืบทอดไม่ได้

 

ในงานวันนี้ " เจ้าเฮือน" ไม่ได้อยู่ในบ้าน (เป็นข้าราชการอยู่ต่างจังหวัด) จึงใช้ "เสื้อเจ้าเฮือน" มาวางในพิธีแทน

      สองภาพข้างบนนี้เรียกว่า " เมยเหล้า" ญาติพี่น้องเพื่อนบ้านจะนั่งล้อมวง แล้วพ่อหมอจะรินเบียร์ (หรือบางครั้งใช้เหล้า) ใส่แก้วให้ทุกคนพร้อมกับท่องบทสวดไปด้วย แล้วทุกคนดื่มพร้อม ๆ กัน ทำแบบนี้ 3 รอบ คุณมะเดื่อถามว่า " เมย" แปลว่าอะไร ก็ได้ความว่า แปลว่า " รวมกัน" 

 

    คุณมะเดื่ออยากจะซักถามอะไร ๆ พ่อหมอให้กระจ่าง มากมาย แต่เกรงจะรบกวนพ่อหมอ จึงถามแต่ที่เป็นจุดใหญ่ ๆ ก็พอดีเหลือบไปเห็นของสิ่งหนึ่งแขวนอยู่ที่ข้างฝา (ดังภาพ ) คราวนี้อดไม่ได้ต้องถามพ่อหมอ  ท่านก็ใจดีตอบให้พอได้คลายความสงสัย

สิ่งนี้เรียกว่า.......(คุณมะเดื่อลืมไปแล้วจ้ะว่าเรียกว่าอะไร ... คุณมะเดื่อไม่มีกระดาษ ปากกาจะจดด้วย ... นี่แหละเป็นข้อบกพร่องของคุณมะเดื่อเป็นประจำ)  เป็นของผู้ชายที่อาศัยอยู่ในบ้านนี้ จะคุ้มครองผู้ชายทุกคนในบ้านนี้ จะมี ธนูไม้สำหรับล่าสัตว์  ถุงผ้าขาวใส่ข้าวสาร และตะกร้าสำหรับใส่สัตว์็ ที่ทำเป็นชิ้นเล็ก ๆ ผู้ชาย 1 คนก็จะมี 1 ชุด 

ส่วนสิ่งนี้คุณมะเดื่อจำได้เรียกว่า " แม่มด"  เป็นของหญิงที่อาศัยอยู่ในบ้านนี้ทุกคน คนละ 1 ชุดเช่นกัน  มีถุงผ้าขาว  ตะกร้า และใบตาลถักเป็นช่อ ๆ (ไม่ทราบว่าเรียกว่าอะไร) สิ่งของนี้ก็จะคุ้มครองหญิงทุกคนในบ้านนี้เช่นกัน

       จนถึงพิธีกรรมสุดท้าย (ราวบ่าย 2 โมงเศษ) พ่อหมอจะทำพิธีนอกห้องของเจ้าเฮือน  (พิธีอื่น ๆ ที่ผ่านมา ทำในห้องนอนเจ้าเฮือน) พิธีสุดท้ายนี้เรียกว่า " แปลงขวัญ" จะนำอาหารทุกอย่างที่ใช้ในพิธีมารวมกัน พ่อหมอจะร้องทำนองสวดอีกครั้งโดยมีทุก ๆ คนนั่งล้อมรอบ และให้ทุก ๆ คนจับที่สำรับบรรจุอาหารสักครู่แล้วปล่อยมือ

        หลังสวดจบ พ่อหมอก็อนุญาตให้ทุกคนหยิบอาหารในสำรับตามที่ตนต้องการถือเป็นของมงคล  เป็นอันเสร็จพิธีกรรม

 

ท้ายสุด  พ่อหมอทำพิธีมอบเสื้อเจ้าเฮือนให้กับลูกชายของเจ้าของบ้านนคนถัดไปให้ทำหน้าที่เจ้าเฮือนต่อจากพี่ชาย ที่ไม่สามารถมาทำพิธีเสนเฮือนได้ เพราะอยู่ต่างจังหวัด

         คุณมะเดื่อขอขอบพระคุณพ่อหมอ เจ้าเฮือน และญาติพี่น้องทุกคนที่ต้อนรับคุณมะเดื่อเป็นอย่างดี และยังให้ความรู้  ตอบคำถามคุณมะเดื่ออย่างเต็มใจ  แม้จะยุ่งอยู่กับภารกิจต่าง ๆ ทำให้คุณมะเดื่อได้รับความรู้เพิ่มเติมอีกมากมายจ้ะ

        หากมีข้อความ หรือการใช้คำพูด ตอนใดตอนหนึ่งผิดพลาดพลั้งไปหรือไม่ถูกต้องประการใด คุณมะเดื่อต้องขออภัยไว้  ณ ที่นี้ด้วยจ้ะ  และท่านผู้รู้ท่านใด จะกรุณาเพิ่มเติมความรู้ในขั้นตอนพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยชี้แนะ คุณมะเดื่อก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง และขอกราบขอบพระคุณล่วงหน้าเป็นที่สุดจ้ะ

                             ...................................

 

 ปล.  คุณมะเดื่อนึกออกแล้วว่าสิ่งนี้.....


สำหรับสมาชิกที่เป็นชายของครอบครัวเรียกว่า...ไต....

หรือ ต้...(ตามสำเนียงของพื้นบ้าน)....จ้ะ  จึงขอแทรกไว้

ตรงนี้เลยจ้าาาา


                             .....................................



คำสำคัญ (Tags): #เสนเฮือน
หมายเลขบันทึก: 486850เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 19:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

บทความนี้มีคึณค่าทางคติชนวัฒนธรรมมากครับ แต่อาหารก็บ่งบอกถึงวิธีชิวิตได้เป็นอย่างดี ถ้าเป็นผมได้เข้าร่วมพิธีกรรมอย่างนี้ ได้รูปขนาดนี้ เขียนบทความส่งหนังสือไปแล้วครับ

เสียดายตรงที่หาคนสืบทอดวิชานี้ไม่ได้ แล้วลูกหลานไทยทรงดำจะทำอย่างไร หรือต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปตามแรงหมุนของโลก

สวัสดีจ้ะคุณวาทิน Ico48 คุณมะเดื่อก็เพิ่งได้เห็นประเพณีนี้เป็นครั้งแรกจ้ะ  ขอบคุณที่ให้กำลังใจ คุณมะเดื่อจะเขียนบทความส่งที่ไหน  ใครจะรับตีพิมพ์ล่ะจ๊ะ คงยากล่ะจ้ะ ขอบคุณมาก ๆ ที่แวะมาทักทายจ้ะ

กลับมาตรงนี้มีคำถามของคุณวาทิน Ico48 ฝากให้คิด คุณมะเดื่อก็คุยกับชาวบ้านที่นี่หลายคนจ้ะ ก็ดูว่าทุกคนที่คุยด้วย ก็ยังหาทางออกไม่ได้ เพราะเด็ก ๆ รุ่นใหม่ไม่มีใครอยากเรียนรู้เลย  เพราะแม้แต่ภาษา ไทยทรงดำที่หมู่บ้านนี้ ก็เกือบไม่ได้ใช้กันในชีวิตประจำวันแล้ว  รอแต่ว่าจะได้รับการฟื้นฟูอนุรักษ์กันต่อไปจากบ้านเมืองหรือไม่  หรือจะปล่อยให้เปลี่ยนไปตามแรงหมุนของโลกอย่างที่คุณว่า..น่ะแหละจ้ะ  ขอบคุณอีกคำรบหนึ่งจ้ะ

ขอบคุณดอกไม้กำลังใจจาก...

Ico24  Ico24  Ico24

ขอบคุณ  ขอบคุณ  และ  ขอบคุณ

ได้เข้าใจวัฒนธรรมชาวไทยทรงดำอย่างเห็นภาพเลยค่ะ น่าประทับใจค่ะ แต่ลาบเลือดดูน่ากลัวนะคะ

สวัสดีและขอบคุณท่าน ดร.Ico48 ที่กรุณาแวะมาทักทายจ้ะ ภาพ"ลาบเลือด" นั่นคุณมะเดื่อสกรีนให้ภาพเบาบางที่สุดแล้วจ้ะ ภาพอื่น ๆ ดุเดือดกว่านั้นอีกจ้ะ อิ อิ

เรียนคุณ มะเดื่อ น่าสนใจมาก พิธีนี้

เป็นการยึดโยงร้อยรัดมัดห่อวิถีชนในการสืบทอดประเพณี

หวัดดีท่านวอญ่า Ico48 ชอบตรงนี้จัง " ยึดโยงร้อยรัดมัดห่อ"  เข้าใจ..เชื่อมโยง ลึกซึ้ง อิ อิ

เพิ่งได้เห็นผู้ไทประจวบ ฯ เป็นครั้งแรก ผมชอบศึกษาวิถีชีวิตเผ่าไทยในถิ่นต่าง ๆเหมือนกันครับ ขอบคุณครับ

ขอบคุณ นะค่ะที่เก็เอาเรื่องราวนี้มาถ่ายทอดน่าจะเป็นประวัติศาสตร์ไว้ให้รุ่นลูกหลานได้ดู

สวัสดีจ้ะคุณสันติสุขIco48 ที่ประจวบ ฯ มีชุมชนไทยทรงดำอยู่ 2 - 3 แห่งจ้ะ คือ  1. ชุมชนร่มไทร นิคม ฯ  อ.เมือง ฯ  2. ชุมชนบ้านตาลเจ็ดยอด  อ.สามร้อยยอด และ 3.ชุมชนหมู่บ้านหนองตลาด  อ.กุยบุรี  นี่แหละจ้ะ ขอบคุณจ้ะ

สวัสดีจ้ะคุณชลัญธร Ico48 คุณมะเดื่ออยากจะเรียกร้องให้แต่ละชุมชนที่มีวัฒนธรรมพื้นบ้านชองชาติพันธุ์ดี ๆ แบบนี้ได้มีการดำรงอนุรักษ์ไว้ และสืบทอดให้คงอยู่ต่อไปนานเท่านาน เพราะสิ่งเหล่านี้คือรากเหง้าของคน ณ ท้องถิ่นนั้น ๆ ขอบคุณนะจ๊ะ

ผมได้เข้าร่วมพิธีนี้ครั้งนึง(เป็นเขย อยู่ทางพิจิตร) ปีอื่นๆ ไม่ว่างเพราะหน้าที่การงาน ระยะเวลานานมาอย่างที่ว่ามา และมีการจัดเตรียมอาหารเยอะมาก ได้รับรู้ถึงความขลัง ถึงความเชื่อของชาวบ้าน

แต่อนาคตน่าจะถูกเลือนไปแน่เลยเพราะการหาพ่อหมอที่ทำพิธีนี้ยากพอสมควร ต้องไปรับอีกอำเภอนึง แล้วอายุพ่อหมอก็มากพอสมควรยังหาคนสืบทอดต่อไม่ได้เช่นกันล่ะครับ

ขอบคุณภาพบรรยากาศแบบบ้านๆ ดูแล้วเห็นภาพเลยครับ เมยเหล้า....

สวัสดีจ้ะคุณ temus Ico48 คุณมะเดื่อไปเห็นพิธีการนี้เป็นครั้งแรกจ้ะ ไปดู ไม่ได้เกี่ยวข้องเป็นญาติอะไรกับเจ้าบ้าน (เจ้าเฮือน) ก็นับเป็นโอกาสดีมาก ๆ เป็นห่วงอย่างคุณว่า " พ่อหมอ" หาคนสืบทอดไม่ได้จริง ๆ ได้คุยกับชาวบ้านในงานแล้ว เขาบอกว่า " ขั้นตอนเยอะ และยากมาก โดยเฉพาะบทสวดภาษาลาวโซ่ง" (ไทยทรงดำ) ก็น่าเสียดายถ้าพิธีการนี้จะสูญหายไป  .... ก็สังเกตว่า ทุกขั้นตอนจะมี "เหล้า" เป็นพระเอก ทั้งหมด ไม่เฉพาะ " เมยเหล้า" หรอกจ้ะ ขอบคุณที่มาทักทาย

โตกใหญ่ที่ว่านี้ไทดำเราเอิ้นว่า " ปานเผือน " และผู้ที่มานั่งล้อมวงกันเมยเหล้าในพิธีเสนเฮือน  ก็จะเป็นบรรดา ลูก ๆเขย สะใภ้ หลานๆ  เท่านั้น รวมถึงคนที่มีผีเรือนเดียวกัน หรือสิงเดียวกัน นั่นเอง (" สิง "ก็คือ "แซ่่ ")  เมื่อก่อนที่จะมีการกำหนดให้ใช้นามสกุล ก็จะใช้ สิงกัน      ถึงปัจจุบันนี้ผู้ที่ใช้สิงเป็นนามสกุลเลยก็มี  เช่น  นามสกุลสิงลอ   สิงเลือง ( สิงเรือง)  สิงทอง   สิงวี  และปัจจุบันนี้อีกเช่นกัน ที่ลูกๆหลานๆของเราจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้เหมือนกันว่า เขา สิงอะไร  ก็ไม่รู้จะโทษใครนะ

  สิงของผู้ไทดำ เท่าที่พอจำได้ก็มี    สิงลอ  สิงเลือง   สิงกวาง   สิงวี  สิงแหลว  สิงทอง  ฯ  เรามีสิงเดียวกันกับผู้ไทดำที่อยู่ในเวียดนาม  (เพราะถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนของบรรพบุรุษเรามาจากที่นั่น  ) ลาว รวมทั้งผู้ไทดำที่อพยพหนีภัยสงครามไปอยู่ในต่างประเทศเช่น  สหรัฐฯ  แคนาดา ฝรั่งเศส  ออสเตรเลีย  อังกฤษ   ฯ  เหล้าที่ใช้ในพิธีเสนสมัยก่อนใช้เหล้าขาว  (อาจเป็นเพราะสมัยก่อนนั้นยังไม่มี  เบียร์  กวางทอง  หงส์ทอง หรือ รีเจนซี่  ก็ได้นะ ) ปัจจุบันที่บ้านก็ยังใช้เหล้าขาวอยู่   ขอบคุณนะที่ไปถ่ายทำมาให้ดู  ก็คงเป็นประโยชน์แก่หลายๆคนที่สนใจ  ถ้ามีเวลาก็อย่าลืมไปเก็บข้อมูลดีๆแบบนี้มาฝากอีกนะ

สวัสดีจ้ะคุณราตรี นับว่าเป็นความกรุณาอย่างมากมายที่มาแบ่งปันข้อมูลเพิ่มเติมกับบันทึกนี้ เป็นข้อมูลที่ให้ความรู้กว้าง และลึกขึ้นไปอีกมาก และเชื่อว่ามีประโยชน์กับคุณมะเดื่อและเพื่อน ๆ ชาวโกทูโนทุกคนด้วยจ้ะ  ขอบคุณมาก ๆ หวังว่าคุณมะเดื่อคงจะได้รับเกียรติแบ่งปันความรู้จากคุณในโอกาสต่อ ๆ ไปอีกนะจ๊ะ

ขอบคุณมากนะคะ ได้ความรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่สนใจอยู่ แล้วไม่รู้ว่าลาวโซ่งในภาคกลาง จังหวัดอุทัยธานีจะเหมือนกันใหมนะ อยากพูด-ฟัง ภาษาลาวโซ่ง ได้จัง อิอิ :D อยากไปร่วมพิธีเสนเฮือนด้วยจัง

สวัสดีจ้ะคุณ Sugar  ก่อนอื่นต้องขอบคุณที่กรุณาให้ความสนใจเข้ามาอ่านบันทึกของคุณมะเดื่อ...กับคำถามที่ว่า  " ลาวโซ่ง จ.อุทัยธานี จะมีพิธีเสนเฮือนเหมือนกันไหม" นั้น  คุณมะเดื่อก็ไม่เคยไปร่วมพิธีเสนเฮือนที่อุทัยธานีเหมือนกัน จึงไม่ทราบจ้ะ....แต่ ตามความคิดของคุณมะเดื่อแล้ว  พิธีกรรมที่แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของชาวไทยทรงดำนี้ น่าจะเหมือนๆ กันนะ  อาจจะผิดแผกไปบ้างตามลักษณะของแต่ละถิ่นที่  แต่ในหลักใหญ่ ๆ แล้ว น่าจะคงเหมือนกันจ้ะ  ขอบคุณอีกคำรบหนึ่งจ้ะ

น่าสนใจมากค่ะ คุณมะเดื่อ

สวัสดีจ้ะคุณตุ๊ก  ใช่จ้ะ พิธีเสนเฮือน เป็นพิธีของชาวไทยทรงดำ  น่าสนใจมาก ๆ เขาจะทำปีละครั้งจ้ะ

  • สวัสดีครับ คุณมะเดื่อ
  • แต่ละเรือนของชาวไทยทรงดำ ต้องทำทุกหลังคาเรือนไหมครับ?
  • ผมสนใจซะแล้ว พิธีเสนเรือนนี้แถว รร.ผมก็มีเช่นกันครับ
  • แต่ยังไม่เคยเห็นเองเลย แต่ตอนนี้ได้เห็นแล้วในบันทึกนี้ 
  • ขอบคุณครับ


สวัสดีจ้ะอาจารย์วศิน  เท่าที่ทราบนะจ๊ะ  ส่วนใหญ่ก็จะทำกันทุกเรือน  เพราะเป็นพิธีที่แสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของเจ้าเฮือนจ้ะ  

เจนจิราผกามาศอักษริสา อุทิศบดินทราเทวานุสรณ์สถาน วิมานสถิตพิษณุนคร

ขอบคุ๊ณ เอ่ๆ เล่ ไหล่ กว้าม ฮู้ ไป เอ็ด ล๊ายงาน เอ่เล๊ย ^^ (อ่านให้เป็นสำเนียงซ่งนะคะ)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท