บัวชูฝัก
นาย เศกสรร ครูเศก แสงจินดาวงศ์เมือง (สายวงศ์คำ)

เพลงช้า-เพลงเร็ว(วิเคราะห์เพลงช้าเพลงเร็ว)


“การฟ้อนรำเป็นหลักของวิชาละคร(รำ) เพราะฉะนั้นผู้เป็นครูบาอาจารย์แต่ก่อนจึงคิดแบบรำเป็นท่าต่าง ๆ ตั้งชื่อบัญญัติไว้ให้เรียกเป็นตำรา แล้วคิดร้อยกรองท่ารำต่าง ๆ นั้นเข้าเป็นกระบวนสำหรับท่ารำ เข้ากับเพลงปี่พาทย์เรียกว่า “เพลงรำ” อย่างหนึ่ง อีกอย่างเข้ากับบทร้องเรียกว่า “รำใช้บท” บรรดาผู้ที่ฝึกหัดเป็นละคร ฝึกหัดตั้งแต่ยังเด็ก ครูให้หัดรำเพลงก่อนแล้วจึงรำใช้บท เมื่อรำได้แล้วครูจึง “ครอบ” ให้ คืออนุญาตให้เล่นละคร แต่นั้นไปจึงนับว่าเป็นละคร

การวิเคราะห์รำเพลงช้า-เพลงเร็ว

 

ความสำคัญของการรำเพลงช้า-เพลงเร็ว

            เพลงช้า-เพลงเร็ว เป็นเพลงประเภทหน้าพาทย์ จัดอยู่ในหน้าพาทย์ไหว้ครูประเภทเพลงหน้าพาทย์อัญเชิญครูโขน ละคร พระ-นาง มาร่วมพิธีให้ลูกศิษย์ได้คารวะในวันไหว้ครู

            เมื่อนำมาใช้สำหรับหลักสูตรบทเรียนนาฏศิลป์ โขน-ละคร จัดอยู่ในเพลงประเภทฝึกหัดรำนาฏศิลป์เบื้องต้น โดยเฉพาะผู้ฝึกหัดที่ได้รับคัดเลือกเป็นตัวพระ-นาง ต้องผ่านการฝึกหัดเบื้องต้น การรำเพลงช้า-เพลงเร็ว ก่อนจะผ่านเพลงทั้งสองนี้ไป ถ้าต้องการฝึกเพื่อเป็นศิลปินหรือครูผู้สอนนาฏศิลป์ที่ทำหน้าที่ผลิตศิลปิน จำเป็นที่จะต้องฝึกในรูปแบบเพลงช้า-เร็ว อย่างเต็ม ฝึกอย่างจริงจัง ฝึกเป็นประจำ ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ เพื่อให้เกิดทักษะ จนเกิดความชำนาญ

            ปัจจุบันนี้ การเรียนการสอนเปลี่ยนไปตามกาลเวลาของการตั้งโรงเรียนนาฏศิลปะมาร่วม 80 ปีแล้ว สมัยที่ผ่านมาครูผู้สอนเป็นแม่แบบให้ศิษย์เลียนแบบ ปัจจุบันนอกจากครูผู้สอนเป็นแม่แบบแล้ว ยังต้องสามารถวิเคราะห์ท่ารำพร้อมทั้งชี้แนะให้นักเรียนเกิดความเข้าใจให้มากกว่าการจำจากแบบ ครูผู้สอนหรือผู้ฝึกหัดจะต้องฝึกหัดเพลงช้า-เพลงเร็ว ให้เกิดความซาบซึ้งในท่ารำ สามารถวิเคราะห์แยกท่า แยกความสำคัญของอวัยวะส่วนต่าง ๆ ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร  แต่การฝึกปัจจุบัน ผู้ฝึกถูกฝึกให้เห็นความสำคัญกับเพลงช้า-เพลงเร็ว น้อยไปตามความรวดเร็วของยุค เพราะยุคนี้เป็นยุคโลกาภิวัตน์  ความประณีตงดงามไม่สำคัญเท่ากับความรวดเร็ว เป็นเหตุให้การเรียนการสอนบางแห่งมักจะฝึกหัดข้ามไปเรียนระบำเป็นชุด ๆ หรือไม่ก็ตัดทอนท่าให้เหลือน้อยลง เกือบจะเรียกว่ารำเพลงช้า-เพลงเร็วเป็นพิธี ตัดทอนท่าที่ให้ความสัมพันธ์ของการใช้อวัยวะหรือลีลาเชื่อมขาดทักษะสัมพันธ์กัน เป็นเหตุให้ผู้เรียนขาดความเข้าใจ ความซาบซึ้ง และความจำอันแน่นแฟ้นที่จะตามมา

การวิเคราะห์เพลงช้า-เพลงเร็วสามารถแยกตามองค์ประกอบตามรูปแบบ ได้ดังนี้

1.ประวัติการแสดง

            คำว่า “รำเพลงช้า-เพลงเร็ว” บางครั้งก็เรียกสั้น ๆ “รำเพลง” ซึ่งหมายถึงรำเพลงช้า-เพลงเร็วนั้นเอง เนื่องจากเรียกตามชื่อเพลงในทางปี่พาทย์ สมเด็จพระเจ้าบรมเธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงท่ารำ “เพลงรำ” ไว้ในตำนานละครอิเหนาว่า

            “การฟ้อนรำเป็นหลักของวิชาละคร(รำ) เพราะฉะนั้นผู้เป็นครูบาอาจารย์แต่ก่อนจึงคิดแบบรำเป็นท่าต่าง ๆ ตั้งชื่อบัญญัติไว้ให้เรียกเป็นตำรา แล้วคิดร้อยกรองท่ารำต่าง ๆ นั้นเข้าเป็นกระบวนสำหรับท่ารำ เข้ากับเพลงปี่พาทย์เรียกว่า “เพลงรำ”  อย่างหนึ่ง อีกอย่างเข้ากับบทร้องเรียกว่า “รำใช้บท” บรรดาผู้ที่ฝึกหัดเป็นละคร ฝึกหัดตั้งแต่ยังเด็ก ครูให้หัดรำเพลงก่อนแล้วจึงรำใช้บท เมื่อรำได้แล้วครูจึง “ครอบ” ให้  คืออนุญาตให้เล่นละคร แต่นั้นไปจึงนับว่าเป็นละคร

แม่ท่าเพลงช้า-เพลงเร็ว มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้จดจำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ เพลงช้า-เพลงเร็ว เป็นเพลงประเภทหน้าพาทย์ จัดอยู่ในประเภทเพลงหน้าพาทย์อัญเชิญครูโขน ละคร พระ นาง มาร่วมในพิธีให้ลูกศิษย์ได้คารวะในวันไหว้ครู เมื่อนำมาใช้สำหรับหลักสูตรบทเรียนนาฏศิลป์ จัดอยู่ในประเภทเพลงฝึกหัดการรำนาฏศิลป์เบื้องต้น โดยเฉพาะผู้ฝึกหัดได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวพระ-นาง ต้องผ่านการฝึกหัดเบื้องต้นการรำเพลงช้า-เพลงเร็วก่อน ถ้าต้องการฝึกเพื่อเป็นศิลปินหรือครูผู้สอนนาฏศิลป์ ซึ่งทำหน้าที่ผลิตศิลปิน จำเป็นต้องฝึกในรูปแบบเพลงช้า-เพลงเร็วอย่างเต็ม ท่ารำในเพลงช้า-เพลงเร็ว เป็นการนำเอาแม่ท่ามาเรียงลำดับโดยมีลีลาเชื่อมท่ารำต่อเนื่องกันไป ถือว่าเป็นเพลงบูชาครู ดังนั้น ก่อนที่เรียนรำเพลงอื่นๆ ผู้เรียนควรจะต้องรำเพลงช้าเพลงเร็วก่อนทุกครั้ง ผู้เรียนรำจะต้องฝึกหัดรำเพลงบูชาครูให้คล่องแคล่วแม่นยำ เพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนเพลงอื่นๆ ต่อไป

 
                เพลงช้าเพลงเร็วเป็นเพลงหน้าพาทย์ ที่ใช้เป็นหลักสูตรเบื้องต้นสำหรับนักเรียนศิลปินฝึกหัด นาฏศิลป์ไทย มีท่ารำที่ครูอาจารย์ตามนาฏศิลป์ของไทย บัญญัติขึ้นไว้เป็นแบบฉบับมาแต่โบราณ ท่ารำประจำเพลงช้า – เร็ว เหล่านี้ อย่างน้อยก็มีสืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กุลบุตร กุลธิดา ที่จะฝึกหัดนาฏศิลป์ไทย จะต้องหัดรำทำท่าตามเพลงช้า เพลงเร็วให้คล่องแคล่วแม่นยำเสียก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาฝึกหัดกันแรมปี ท่ารำในเพลงช้าเพลงเร็ว ย่อมเสมอเป็นแม่ท่าหรือพื้นฐานภาษาของละครไทยทั่วไปมักนิยมกันว่าศิลปินที่ฝึกหัดท่ารำเพลงช้าเพลงเร็วมาดีแล้ว ย่อมเป็นผู้มีกิริยามารยาทแช่มช้อยงดงามในสังคมไทยอีกด้วย ท่ารำในแม่บทก็ดี ท่าที่ครูอาจารย์ทางนาฏศิลป์เลือดคัดจัดทำให้รำ “ทำบท” ตามคำร้อง หรือทำท่าบทให้ตามท้องเรื่องของละครไทยก็ดีโดยมากก็เลือกคัดจัดท่ามาจาก ท่าที่ เป็นแบบฉบับในการรำ เพลงช้า เพลงเร็วเป็นหลักแม้บางคราวจะปรากฏว่าเคยมีผู้นำเอาแบบนาฏศิลป์ต่างชาติมาใช้ ในวงการนาฏศิลป์ไทยหลายอย่าง แต่ก็มักจะนำมาผสมกับท่ารำที่มีอยู่ในเพลงช้าเพลงเร็วเป็นส่วนมากเหมือนผู้เรียนรู้ภาษามาจากต่างประเทศ ซึ่งมักปรากฏว่าการแต่งตัวและการพูดจะติดสำนวนและภาษาเดิมของตน ด้วยเหตุนี้จึงมีความจริงอยู่ว่า ถ้านักเรียนศิลปินคนใด ฝึกหัดรำเพลงช้าเพลงเร็วได้ดีและสวยงามเป็นพื้นฐานมาแล้ว ก็ย่อมหมายความว่านักเรียนคนนั้นก็จะได้เป็นศิลปินทางการละครฟ้อนรำของไทยได้ดีในภายหน้าด้วย เพราะการรำเพลงช้าเพลงเร็วนี้ จัดได้ว่าเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการเรียนนาฏศิลป์ที่ถูกต้อง

 

            ต่อมาในรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เกิดละครเอกชนหลายสำนัก การฝึกหัดรำแม่ท่าก็ได้แพร่หลายออกไปจากละครหลวง ทำให้ท่ารำแม่ท่าเพลงช้า-เพลงเร็ว แตกต่างกันไปบ้างในรูปแบบลีลาท่ารำตามความสามารถของผู้รับการฝึกหัด สำหรับท่ารำแม่ท่าเพลงช้า-เพลงเร็ว ที่ใช้ในหลักสูตรวิทยาลัยนาฏศิลปะนี้ ท่ารำของตัวพระเป็นแม่ท่าที่ได้รับถ่ายทอดมาจากพระยานัฏกานุรักษ์ ปรมาจารย์ของกรมมหรสพในรัชกาลที่ 6 โดยอาจารย์ลมุล ยมะคุปต์ เป็นผู้นำมาฝึกหัดนักเรียน ส่วนท่ารำของตัวนาง หม่อมต่วน (ศุภลักษณ์) ภัทรนาวิก ผู้ซึ่งเป็นนางตัวเอกของละครคณะวังบ้านหม้อ หรือละครคณะเจ้าพระยาเทเวศร์ วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน  กุญชร) เป็นผู้นำมาฝึกถ่ายทอดให้แก่นักเรียน ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงเรียนศิลปากร แผนกนาฏดุริยางค์ เมื่อปี พ.ศ.2477

 

2.ดนตรี-เพลงร้อง

เพลงช้าเป็นชื่อเพลงหน้าพาทย์ ที่บรรเลงประกอบกิริยาอย่างนวยนาฏงดงามของละคร ส่วนเพลงเร็วประกอบกิริยาไปมาอย่างว่องไว โดยปกติเมื่อบรรเลงเพลงช้าแล้วต้องบรรเลงเพลงเร็วติดต่อกันไป แล้วบรรเลงเพลงลาในตอนจบ การบรรเลงเพลงช้าและเพลงเร็วปี่พาทย์จะเลือกการบรรเลงได้ตามพอใจเพราะมีเพลงประกอบประเภทเพลงช้าและเพลงเร็วอยู่มากมาย และเรียกชื่อไว้ต่าง ๆ กัน แต่ละเพลงอาจบรรเลงได้นาน ๆ เพลงจะมีลีลาของเพลงยาวโดยปกติและส่วนมากแล้ว เราจะใช้เพลงที่ใช้บรรเลงในการเริ่มฝึกเพลงช้า ประโยคของเพลงฟังง่ายกว่าเพลงช้าอื่น ๆ

 

วงปี่พาทย์ไม้แข็ง

วงปี่พาทย์ไม้แข็งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  “วงปี่พาทย์เครื่องหนัก”  วงปี่พาทย์จัดเป็นวง

ดนตรีที่ได้รับความนิยมแพร่หลายสูงสุดในกลุ่มวงปี่พาทย์ และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่าเป็นวงดนตรีที่มีความเป็นมาตรฐานที่สูงสุดอีกด้วย เครื่องดนตรีที่สังกัดในวงดนตรีประเภทนี้ทุกเครื่องจะมีเสียงดัง เนื่องจากบรรเลงด้วยไม้ตีชนิดแข็ง จึงเรียกชื่อวงดนตรีชนิดนี้ว่า ปี่พาทย์ไม้แข็ง ตามลักษณะของไม้ที่ใช้บรรเลง

            บรรเลง อรรถรสที่ได้จากการฟังดนตรีชนิดนี้จึงมีทั้งความหนักแน่น สง่าผ่าเผย คล่องแคล่ว และสนุกครึกครื้น  จึงสามารถบรรเลงได้ในโอกาสทั่วๆไป  เช่น  งานพระราชพิธี  งานบวชนาค  งานโกนจุก  เทศน์มหาชาติ  ประกอบการแสดง  โขน  ละคร  ลิเก  หนังใหญ่  เป็นต้น

 

วงปี่พาทย์ไม้แข็งสามารถแบ่งตามขนาดของวง   ได้เป็น 3 ขนาด คือ

วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องคู่  
                 วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องคู่ พัฒนามาจากวงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องห้าโดยการจัดเครื่องดนตรีให้เป็นคู่กัน  จึงเรียกว่าวงปี่พาทย์เครื่องคู่ วงปี่พาทย์ชนิดนี้เกิดขึ้นในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยมีการประดิษฐ์ระนาดทุ้มและฆ้องวงเล็กขึ้นเพื่อให้คู่กับระนาดเอก

  

วงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องใหญ่                                                                                                                                            
            วงดนตรีประเภทนี้เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยเครื่องดนตรีประกอบด้วยเครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์ไม้แข็งเครื่องคู่เป็นหลัก แต่มีการเพิ่มระนาดเอกเหล็กและระนาดทุ้มเหล็กขึ้นอีกอย่างละราง นับเป็นวงปี่พาทย์ไม้แข็งที่มีวิวัฒนาการสูงสุดในปัจจุบัน        

            วงปี่พาทย์ไม้แข็งนั้น ซึ่งปกติจะบรรเลงด้วยไม้ระนาดเอกที่ทำจากยางรัก มีความแข็ง เวลาตีแล้วจะทำให้เสียงดังมาก เพื่อสู้กับเสียงปี่ในที่มีความดังอยู่แล้ว ในบางครั้งที่ไม่ต้องการเสียงดังมาก อาจจะบรรเลงด้วยไม้นวมหรือการใช้ขลุ่ยเพียงออ มาแทนปี่ใน ทำให้เสียง          ปี่พาทย์มีความนุ่มนวลไพเราะ เรียกวงปี่พาทย์ชนิดนี้ว่า "วงปี่พาทย์ไม้นวม"

วงปี่พาทย์ไม้นวม การจัดรูปแบบวงดนตรีนั้น ก็เหมือนกับวงปี่พาทย์ไม้แข็ง เพียงแต่นำขลุ่ย มาบรรเลงแทนปี่ใน และระนาดเอกบรรเลงด้วยไม้นวมแทนไม้แข็ง เพื่อซออู้เข้ามาอีก 1 คัน เพื่อเพิ่มความนุ่มนวลของเสียงโดยรวมที่ออกมา ในเครื่องกำกับหน้าทับ ถ้าบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ หรือประกอบการแสดง อาจจะใช้ตะโพน และกลองทัด อย่างเดิมก็ได้ หรืออาจจะบรรเลงเพลงเสภา เพลงเถา เพลงธรรมดา อาจจะเปลี่ยนไปใช้กลองแขก ก็ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง เรื่องของการเปลี่ยนเครื่องกำกับหน้าทับนี้ ใช้เหมือนกันทั้งปี่พาทย์ไม้แข็ง และปี่พาทย์ไม้นวม เพราะปี่พาทย์ไม้แข็ง ก็อาจจะเปลี่ยนจากตะโพน และกลองทัด ไปเป็นกลองแขกก็ได้ ในกรณีที่บรรเลงเพลงธรรมดา

ด้วยความนุ่มนวลและไพเราะน่าฟัง จึงนิยมใช้วงปี่พาทย์ไม้นวมบรรเลงประกอบ  เพลงช้า-เพลงเร็วมากกว่า

เครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์ไม้นวม
            1. ขลุ่ยเพียงออ
            2. ระนาดเอก
            3. ระนาด ทุ้ม
            4. ฆ้องวงใหญ่
            5. ฆ้องวงเล็ก
            6. ตะโพน
            7. กลองทัด
            8. ฉิ่ง

3.ท่ารำ-กระบวนท่ารำ

การฝึกหัดเพลงช้า-เพลงเร็ว เป็นการฝึกหัดที่เป็นขั้นตอนมีระเบียบแบบแผน ฝึกให้มีระเบียบวินัย เป็นแม่แบบของผู้รักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ และเป็นเบื้องต้นของผู้ที่เป็นศิลปิน นอกจากนั้น การฝึกเพลงช้า-เพลงเร็ว ยังให้ประโยชน์โดยเฉพาะ คือ

3.1 ประโยชน์ทั่วไป

3.1.1 การฝึกหัดที่เป็นขั้นตอน  มีระเบียบแบบแผน เป็นการฝึกให้มีระเบียบวินัยตามแบบแผนตามขั้นตอน  เท่ากับเป็นการสร้างสรรค์คนให้ดำเนินชีวิตอย่างมีระเบียบ

3.1.2 เป็นแม่แบบของผู้รักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติ  โดยการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี  ความเป็นผู้ดีแบบไทย ๆ ซึ่งจะแสดงออกในรูปแบบทางอิริยาบถด้วยความสง่าภาคภูมิ สุภาพนุ่มนวลอ่อนหวาน

3.1.3 การฝึกเพลงช้า-เพลงเร็ว เป็นเบื้องต้นของผู้เป็นศิลปิน สิ่งที่ศิลปินต้องปฏิบัติอยู่เป็นนิจ คือต้องเคารพครู มีความกตัญญูแบบไทย เป็นสิ่งที่ทำให้คนมีความรักดี รักษาวิทยาการทางด้านศิลปะให้สืบเนื่องต่อไป

3.1.4 การฝึกหัดการฟ้อนรำ เป็นวิทยาการชั้นสูง มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้า ดังในตำนานได้กล่าวไว้ ผู้ฝึกปฏิบัติต้องทำความรู้เสียก่อนว่าปฏิบัติจะต้องทำด้วยใจสูง ไม่ดูหมิ่น ไม่ทำอย่างเอาแต่ได้ ซึ่งเป็นการทำลายศิลปะ เป็นการเตือนให้ผู้ฝึกเริ่มด้วยใจรัก มิใช่ว่าใครอยากทำก็ได้ เพราะเป็นวิชาที่มีครู

3.1.5 เป็นการฝึกให้รู้จักความสามัคคี  การฝึกในหมู่มากต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน  ไม่อวดรู้ถือดีเพียงผู้เดียว

            3.2 ประโยชน์เฉพาะ

3.2.1 จัดรูปทรง สัดส่วน สันฐาน ให้ได้มาตรฐาน จึงงดงามตามรูปแบบทาง นาฏศิลป์

3.2.2 เรียนรู้ส่วนที่ต้องใช้อวัยวะให้สัมพันธ์กัน โดยเริ่มตั้งแต่ตึงเอว ตึงไหล่ ทรงตัว เมื่อเริ่มหัดใหม่ อาจจะมีความเหน็ดเหนื่อยไม่น้อยกว่าการฝึกโยคะหรือยืดหยุ่นในท่าพื้นฐานของยิมนาสติก

3.2.3 ได้ฝึกออกกำลังกายในทุก ๆ ส่วน โดยตั้งแต่ศีรษะตลอดลำคอ จากปลายนิ้วถึงหัวไหล่ จากปลายฝ่าเท้า ส้นเท้า จนถึงสะโพก จากสะโพกถึงทุกส่วนของลำตัวจนถึงศีรษะ

3.2.4 มีความอดทนในการฝึกหัดรำได้เป็นระยะนาน ไม่เหนื่อยง่าย

3.2.5 มีทักษะในการรำอย่างคล่องแคล่วว่องไว

3.2.6 เป็นผู้ที่รำได้อย่างงดงาม มีลีลานุ่มนวล สง่าภาคภูมิ

3.2.7 สามารถฟังและวิเคราะห์เพลงและดนตรี จังหวะหน้าทับได้ถูกต้องแม่นยำ

3.2.8  สามารถวิเคราะห์ท่ารำเพื่อนำไปพัฒนาและสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์ท่ารำ ในชุดรำอื่น ๆ ได้อย่างกว้างขวาง

3.2.9 การรำเพลงช้า-เพลงเร็ว ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดของอารมณ์ได้

3.2.10 สามารถรู้และเข้าใจนาฏยศัพท์เบื้องต้น

3.2.11 รู้หลักการฝึกหัดรำเบื้องต้นของนาฏศิลป์ไทย และสามารถปฏิบัติท่ารำ ให้เป็นไปตามขั้นตอนได้

3.2.12 ทำให้ผู้ฝึกท่ารำมีบุคลิกภาพที่ดี

 

นาฏยศัพท์ในเพลงช้าเพลงเร็ว

         1.ส่วนศีรษะ

            เอียง คือ การเอียงศีรษะ ต้องกลมกลืนกับไหล่และลำตัวให้เป็นเส้นโค้ง ถ้าเอียงซ้ายให้หน้าเบือนทางขวาเล็กน้อย ถ้าเอียงขวาให้หน้าเบือนทางซ้ายเล็กน้อย    

เอียงศีรษะ หรือ อ่อนศีรษะ คือ กิริยาที่จะต้องใช้ร่างกายตั้งแต่ช่วงเอว ไหล่ ขึ้นมา กล่าวคือ เมื่อจะเอียงศีรษะก็จะต้องเริ่มกดเอว กดไหล่ ข้างเดียวกันกับศีรษะที่เอียง เพื่อเน้นให้เห็นเส้นสรีระของร่างกายเป็นเส้นโค้ง หากเอียงแต่ศีรษะเพียงอย่างเดียว ท่ารำจะดูแข็ง และเหมือนคนรำคอฟาด การเอียงนั้นจะต้องได้สัดส่วนที่พองาม ตัวนางจะกดลำตัวและการเอียงมากกว่าตัวพระ ตัวพระนั้นการเอียงนี้จะใช้เพียงแง่ศีรษะเท่านั้น มิฉะนั้นเมื่อเวลาสวมชฏาแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่าผู้ใดเอียงมากจนยอดชฎานั้นโอนเอนไปมาอย่างแรง การเอียงศีรษะจึงมีความยากที่จะกำหนด ต้องหมั่นรำในกระจกหรือครูเป็นผู้ตรวจสอบให้งดงามถูกต้อง หรือสังเกตตัวเมื่อตัวเองสวมชฎาแล้วก็ได้ บางครั้งเมื่อเวลาเรียนเอียงศีรษะได้งาม แต่เมื่อสวมชฎากลับไม่คุ้นเคยไม่สามารถคานน้ำหนักชฎาได้จึงทำให้เวลารำนั้นเกิดอาการคอฟาดไปมา ดูไม่น่าชม

        ลักคอ คือ การเอียงคนละข้างกับไหล่ที่กดลง ถ้าเอียงซ้ายให้กดไหล่ขวา ถ้าเอียงขวา ให้กดไหล่ซ้าย “ลักคอ” เมื่อเรากดไหล่ใบหน้าและแง่ศีรษะจะเอียงไปในทิศทางตรงข้ามกับไหล่ที่กด (ฝึกฝนให้ชำนาญด้วยการถองสะเอว) การลักคอให้ได้ดีเป็นเสน่ห์ของการรำ บางคนทำมากก็ดูลุกลน บางคนทำน้อยมากจนเกือบแยกแยะไม่ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของละครที่เล่นด้วยว่าเป็นละครนอกหรือละครใน พลังในการใช้ท่ารำเหล่านี้จะแตกต่างกัน

         เปิดคาง คือ ไม่ก้มหน้า เปิดปลายคางและทอดสายตาตรงสูงเท่าระดับตาตนเอง

         กดคาง คือ ไม่เชิดหน้าหรือเงยหน้ามากเกินไป

         กล่อมหน้า คือ กิริยาที่ปฏิบัติควบคู่ไปกับการกล่อมไหล่ โดยการเบือนหน้าไปทางซ้ายและขวาให้สัมพันธ์กับไหล่ที่กล่อมไปด้วย ลักษณะนี้จะคล้ายกับการใช้คางวาดเป็นรูปเลข 8 แนวนอนในอากาศ                    

 2.ส่วนแขน

         วง คือ การเหยียดมือให้ตึงทั้งห้านิ้ว แต่นิ้วหัวแม่มือหักเข้าหาฝ่ามือเล็กน้อย การตั้งวงที่สวยงาม ต้องหักข้อมือเข้าหาลำแขนบนให้มาก ทอดลำแขนให้ส่วนโค้งพองาม และงอศอกเล็กน้อย วงแบ่งออกเป็น
         วงบน คือ ยกแขนไปข้างลำตัว ทอดศอกโค้ง มือแบ ตั้งปลายนิ้วขึ้นวงพระปลายนิ้วอยู่ระดับศีรษะ ส่วนวงนางปลายนิ้วจะอยู่ระดับหางคิ้วและวงแคบกว่า

         วงกลาง คือ การยกส่วนโค้งของลำแขนให้ปลายนิ้วสูงระดับไหล่ ลำแขนส่วนบนลาดกว่าวงบน

         วงหน้า คือ ส่วนโค้งของลำแขนที่ทอดโค้งอยู่ข้างหน้า วงพระผายกว้างกว่านาง ปลายนิ้วอยู่ระดับแก้ม วงนางปลายนิ้วอยู่ระดับปาก

         วงพิเศษ คือ อยู่ระหว่างวงบนและวงกลาง

         วงบัวบาน คือ ยกแขนขึ้นข้างลำตัว ให้ศอกสูงระดับไหล่ หักศอกให้แขนท่อนล่างพับเข้าหาตัว ตั้งฉากกับแขนท่อนบน มือแบหงายปลายนิ้วชี้ไปข้างๆ ตัว วงนางจะแคบกว่าวงพระ

         วงล่าง คือ การตั้งวงระดับต่ำที่สุด โดยทอดส่วนโค้งของลำแขนลงข้างล่างอยู่ระดับเอว โดยตั้งมือตรงหัวเข็มขัด ตัวพระกันศอกให้ห่างตัว

3.ส่วนมือ

         มือแบ คือ นิ้วชี้ กลาง นาง ก้อย ติดกัน ตึงนิ้ว หัวแม่มือ กาง หลบไปทางฝ่ามือ หักข้อมือไปทางหลังมือ แต่มีบางท่าที่ หักข้อมือไปทางฝ่ามือ เช่น ท่าป้องหน้า

         มือจีบ คือ การกรีดนิ้ว โดยเอานิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือจรดกัน ให้ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดข้อแรกของปลายนิ้วชี้ ให้ตึงนิ้ว นิ้วกลาง นาง ก้อย กรีดห่างกัน หักข้อมือไปทางฝ่ามือ จีบแบ่งเป็น 5 ลักษณะ ได้แก่

         จีบหงาย คือ การหงายฝ่ามือให้ปลายนิ้วชี้ขึ้น ถ้าอยู่ระดับหน้าท้องเรียกว่า จีบหงายชายพก

         จีบคว่ำ คือ การคว่ำฝ่ามือให้ปลายนิ้วชี้ลง หักข้อมือเข้าหาลำแขน

         จีบส่งหลัง คือ การส่งแขนไปข้างหลัง ตึงแขน พลิกข้อมือให้ปลายนิ้วชี้ขึ้น แขนตึงและส่งแขนให้สูงไปด้านหลัง

         จีบปรกหน้า คือ การจีบที่คล้ายกับจีบหงาย แต่หันจีบเข้าหาลำตัวด้านหน้า ทั้งแขนและมือชูอยู่ด้านหน้า ตั้งลำแขนขึ้น ทำมุมที่ข้อพับตรงศอก หันจีบเข้าหาหน้าผาก

         จีบปรกข้าง คือ การจีบที่คล้ายกับจีบปรกหน้า แต่หันจีบเข้าหาแง่ศีรษะ ลำแขนอยู่ข้าง ๆ ระดับเดียวกับวงบน

         จีบล่อแก้ว คือ ลักษณะกิริยาท่าทางคล้ายจีบ ใช้นิ้วกลางกดข้อที่ 1 ของนิ้วหัวแม่มือ หักปลายนิ้วหัวแม่มือคล้ายวงแหวน นิ้วที่เหลือเหยียดตึง หักข้อมือเข้าหาลำแขน

 4.ส่วนลำตัว

         ทรงตัว คือ การยืนให้นิ่ง เป็นการใช้ลำตัวตั้งแต่ศีรษะ ตลอดถึงปลายเท้าในท่าที่สวยงาม ไม่เอนไปทางใดทางหนึ่งขณะที่ยืน ทรงตัว คือ การตั้งลำตัวให้ตรง การทรงตัวนี้ต้องดันหลังให้ตึง ยกอกขึ้นเล็กหน้า แต่ต้องไม่ให้หน้าท้องยืนล้ำออกมามาก ต้องเกร็งหน้าท้องไว้ด้วยเสมอ

         เผ่นตัว คือ กิริยาอาการทรงตัวชนิดหนึ่ง มาจากท่าก้าวเท้า แล้วส่งตัวขึ้น โดยการยกเข่าตึงเท้าหนึ่ง ยืนรับน้ำหนักอีกเท้าหนึ่งอยู่ข้างๆ

        ฉอ้อนตัว โดยมากใช้กับตัวนาง เป็นการถ่ายน้ำหนักตัวลงบนเท้าหน้า พร้อมกับโน้มลำตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย แล้วจึงถ่ายน้ำหนักตัวคืน ทำให้ท่ารำดูน่วมและมีท่วงที
ยักตัว หรือ ยักเอว คือ การกดกล้ามเนื้อเอวสลับกันซ้าย-ขวาอย่างต่อเนื่อง ปรากฏในท่ารำเพลงเร็วที่ท่องจังหวะการนับว่า “ตุ๊บ-ทิง-ทิง”

         ดึงไหล่ คือ การรำหลังตึง หรือดันหลังขึ้น ไม่ปล่อยให้ไหล่ค่อม

         กดไหล่ คือ กิริยากดไหล่โน้มตัวไปข้างใดข้างหนึ่ง ทำพร้อมกับการเอียงศีรษะ กดลงเฉพาะไหล่ ไม่ให้สะโพกเอียงไปด้วย

         ตีไหล่ คือ การกดไหล่ แล้วบิดไหล่ข้างที่กดไปข้างหลัง

         กล่อมไหล่ คือ กดไหล่ แล้วบิดไหล่ข้างที่กดมาข้างหน้า

         กล่อมตัว พบมากในท่ารำตัวนาง คือ เมื่อสะดุ้งตัวตามจังหวะเพลงจะต้องกล่อมไหล่และกล่อมตัว ลักษณะคล้ายการตีไหล่เป็นเลขแปดนอนไปด้วย พบในท่ารำเพลงเร็วของตัวนาง

         ยักตัว คือ กิริยาของลำตัวส่วนเกลียวหน้า ยักขึ้นลง ไหล่จะขึ้นลงตามไปด้วย แต่สะโพกอยู่คงที่ และลักคอด้วย

         ดึงเอว คือ กิริยาของเอวด้านหลังตั้งขึ้นตรง ไม่หย่อนตัว
         กระทบจังหวะ กระทบจังหวะ มี 2 แบบ คือ
            นั่งกระทบ กระทำเมื่อนั่งคุกเข่าหรือนั่งพับเพียบ โดยยกก้นขึ้นเล็กน้อย แล้วทิ้งน้ำหนักตัวลงบนเท้าแต่เบา ใช้มากเมื่อต้องรำตีบทที่นั่งรำ หรือรำบทนั่งเมืองในเพลงช้าปี่เป็นต้น การกระทบก้นให้ได้จังหวะที่คม ต้องเกร็งหน้าขาด้วย
            ยืนกระทบ แบ่งเป็น กระทบเข่า และกระทบส้น กระทบเข่า กระทำเมื่อยกเท้าหรือกระดกโดยการห่มเข่าลงในจังหวะสั้นๆ ครั้งหนึ่งก่อนจะก้าวขาลงเหลี่ยม ปฏิบัติโดยยกขาข้างหนึ่งไว้ ใช้ขาข้างที่ยืนรับน้ำหนัก เผยอส้นเท้าขึ้นเล็กน้อย แล้วตบเท้าลงเต็มเท้าก่อนที่จะก้าวขาที่ยกลงเหลี่ยม ตัวพระมีใช้การกระทบส้นนี้บ้าง                                                                      

        สะดุ้งตัว ลักษณะตรงข้ามกับกระทบจังหวะ คือ การยืนตัวขึ้นเหมือนกิริยาสะดุ้ง ตามจังหวะเพลง บางครั้งก็ใช้สลับกับการกระทบจังหวะ เรียกว่า “ยืด-ยุบ” บางครั้งใช้ร่วมกับการลักคอและเล่นมือ เรียก “เยื้องตัว” ปรากฏในท่ารำเพลงเร็ว ทิ้งน้ำหนัก หรือ ทิ้งตัว คือ การถ่ายน้ำหนักตัวไปในทิศทางของท่าหรือตามเท้าที่ก้าว บางครั้งอาจให้น้ำหนักตัวอยู่ที่ศูนย์กลางพอดี การถ่ายน้ำหนักในการรำไทยนั้นจะสังเกตเห็นได้ว่าจะต้องมีการถ่ายเทน้ำหนักตัวตลอดเวลา เพื่อรักษาสมดุลของท่า หากยืนก็จะไม่ถ่ายน้ำหนักลงบนเท้าทั้งสองอย่างเท่ากัน  มักจะทิ้งน้ำหนักลงที่เท้าหน้าที่ก้าวไปด้านหน้า หรือเท้าที่ไขว้อยู่ด้านหน้าเป็นส่วนมาก เมื่อถ่ายน้ำหนักไปที่เท้าหน้าแล้ว เท้าที่วางด้านหลังจะไม่มีน้ำหนัก คงวางไว้ตามตำแหน่งที่ถูกต้อง หรือเปิดส้นเท้าขึ้นเท่านั้น ในบางท่าจะมีการถ่านน้ำหนักตัวไปด้านหลังสลับกันด้วย  การทิ้งน้ำหนักจึงเป็นทีอย่างหนึ่งต้องปฏิบัติให้พอดีและต่อเนื่องอย่างกลมกลืน จึงจะดูคล่องแคล่ว

 

  5.ส่วนเข่าและขา

         เหลี่ยม คือ ลักษณะของเข่าที่แบะห่างกัน เมื่อก้าวเท้า พระต้องกันเข่าให้เหลี่ยมกว้าง ส่วนนางก้าวข้าง ต้องหลบเข่า ไม่ให้มีเหลี่ยม

         จรดเท้า คือ อาการของเท้าข้างใดข้างหนึ่งที่วางอยู่ข้างหน้า น้ำหนักตัวจะอยู่ที่เท้าหลัง เท้าหน้าจะใช้เพียงปลายจมูกเท้า แตะเบาๆไว้กับพื้น (จมูกเท้า คือ บริเวณเนื้อโคนนิ้วเท้า)

         แตะเท้า คือ การใช้ส่วนของจมูกเท้าแตะพื้น แล้ววิ่งหรือก้าว ขณะที่ก้าว ส่วนอื่นๆ ของเท้าถึงพื้นด้วย

         ซอยเท้า คือ กิริยาที่ใช้จมูกเท้าวางกับพื้น ยกส้นเท้าน้อยๆ ทั้ง 2 ข้าง แล้วย่ำซ้ายขวาถี่ๆ จะอยู่กับที่หรือเคลื่อนที่ก็ได้

         ขยั่นเท้า คือ เหมือนซอยเท้า ต่างกันที่ขยั่นเท้าต้องไขว้เท้า แล้วทำกิริยาเหมือนซอยเท้า ถ้าขยั่นเคลื่อนที่ไปทางขวาก็ให้เท้าซ้ายอยู่หน้า ถ้าขยั่นเคลื่อนที่ไปทางซ้ายก็ให้เท้าขวาอยู่หน้า

         ฉายเท้า คือ กิริยาที่ก้าวหน้า แล้วต้องการลากเท้าที่ก้าวมาพักไว้ข้างๆ ให้ใช้จมูกเท้าจรดพื้นไว้ เผยอส้นนิดหน่อย แล้วลากมาพักไว้ในลักษณะเหลื่อมเท้า โดยหันปลายเท้าที่ฉายมาให้อยู่ด้านข้าง

         ประเท้า คือ อาการที่สืบเนื่องจากการจรดเท้า โดยยกจมูกเท้าขึ้น ใช้สันเท้าวางกับพื้น ย่อเข่าลงพร้อมทั้งแตะจมูกเท้าลงกับพื้น แล้วยกเท้าขึ้น

         ตบเท้า คือ กิริยาของการใช้เท้าคล้ายกับประเท้า แต่ไม่ต้องยกเท้าขึ้น ห่มเข่าตามจังหวะที่ตบเท้าอยู่ตลอดเวลา

         ยกเท้า คือ การยกเท้าขึ้นไว้ข้างหน้า เชิดปลายเท้าให้ตึง หักข้อเท้าเข้าหาลำขา ตัวพระกันเข่าออกไปข้างๆ ส่วนสูงระดับเข่าข้างที่ยืน ตัวนางไม่ต้องกันเข่า ส่วนสูงอยู่ต่ำกว่าเข่าข้างที่ยืน ชักส้นเท้าและเชิดปลายนิ้ว ก้าวเท้า

         ก้าวหน้า คือ การวางฝ่าเท้าลงบนพื้นข้างหน้า โดยวางส้นเท้าลงก่อน ตัวพระจะก้าวเฉียงไปข้างๆตัวเล็กน้อยเฉียงปลายเท้าไปทางนิ้วก้อย กันเข่าแบะให้ได้เหลี่ยม ส่วนตัวนางวางเท้าลงข้างหน้า ไม่ต้องกันเข่า ปลายเท้าเฉียงไปทางนิ้วก้อยเล็กน้อย

         ก้าวข้าง คือ การวางเท้าไปข้างๆตัว ปลายเท้าเฉียงไปทางนิ้วก้อยมาก ถ้าเป็นตัวนาวต้องหลบเข่าตามไปด้วยกระทุ้ง วางเท้าไว้ข้างหลังด้วยจมูกเท้า แล้วใช้จมูกเท้ากระทุ้งลงกับพื้น แล้วกระดกขึ้น หรือยกไปข้างหน้า

         กระเทาะ คือ อาการของการใช้เท้าคล้ายกระทุ้ง แต่ไม่ต้องกระดกเท้า ใช้จมูกเท้ากระทุ้งเป็นจังหวะหลายๆ ครั้ง

         กระดกเท้า

            กระดกหลัง กระทุ้งเท้าแล้วถีบเข่าไปข้างหลังมากๆ ให้เข่าทั้งสองข้างแยกห่างจากกัน ให้ส้นเท้าชิดก้นมากที่สุด หักปลายเท้าลง ย่อเข่าที่ยืน ตัวพระต้องกันเข่าด้วย

            กระดกเสี้ยว คล้ายกระดกหลัง แต่เบี่ยงขามาข้างๆและไม่ต้องกระทุ้งเท้า มักทำเนื่องต่อจากการก้าวข้าง หรือท่านั่งกระดกเท้า

         ถัดเท้า คือ การใช้จมูกเท้าข้างใดข้างหนึ่ง ถัดหรือกับพื้นเบาๆ ให้เท้าลอยแล้วจึงวางลง โดยให้เท้าอีกข้างหนึ่งย่ำอยู่กับที่ หรือก้าวเดิน เช่น การเดินโดยถัดเท้าขวา ในจังหวะหน้าทับเพลงเร็ว "ตุ๊บ ทิง ทิง" จะต้องเริ่มก้าวเท้าซ้ายก่อน ในจังหวะตุ๊บ แล้วถัดเท้าขวาในจังหวะ ทิง (แรก) แล้ววางเท้าขวาลงในจังหวะ ทิง (ที่ 2) เป็นต้น การถัดเท้าสามารถถัดได้ทั้งเท้าซ้ายและเท้าขวา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาสมของแต่ละกระบวนท่ารำ

แม่ท่าที่ใช้ใน เพลงเร็ว

            1. รำกระบี่สี่ท่า

            2. สอดสร้อยมาลา

            3. จันทร์ทรงกลด

            4. ช้างประสานงา

            5. ภมรเคล้า

            6. พระรามาโก่งศิลป์

            7. มารกลับหลัง

            8. ชะนีร่ายไม้

     

หมายเลขบันทึก: 486849เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นเว็ปที่ดีมากค่ะข้อมูลแน่นดีขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ เป็นกำลังใจให้ในการลงข้อมูลอีกนะคะเป็นประโยชน์มาก ^^

สวัสดีครับ

   ขอบคุณสำหรับกำลังใจจากทุกท่านนะครับ จะพยายามนำสิ่งดีๆมาลงเรื่อยๆนะครับ

                                                                              ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท