วิเคราะห์ตน : สำหรับการเป็นคนชอบอ่านหนังสือ


 

ทราบข้อมูลนี้กันหรือยังครับ ...

 

"คนไทยจ่ายเงินค่าหนังสือต่อปี เท่ากับ ราคาตั๋วหนังสามมิติ ๑ เรื่อง (๒๖๐ บาท)"

จากผลสำรวจปี ๒๕๕๓ คนไทยใช้เวลาว่างอ่านหนังสือปีละ ๒ เล่ม จ่ายเงินซื้อหนังสือ คนละ ๒๖๐ บาท ในขณะที่คนสิงคโปร์อ่านหนังสือปีละ ๔๐ - ๕๐ เล่ม คนเวียดนามปีละ ๖๐ เล่ม

ปัจจุบันมีหนังสือใหม่เข้าสู่ร้านหนังสือ ๙๓๔ รายการต่อเดือน เป็นอัตราที่ต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ๕ - ๑๐ เท่า (ไต้หวันมีหนังสือใหม่เดือนละ ๑๐,๐๐๐ รายการ)

สาเหตุหลักของการไม่อ่านหนังสือของคนไทยทุกวัน ก็คือ การชอบดูทีวีและฟังวิทยุมากกว่า

ประเภทหนังสือที่คนอ่านมากที่สุดก็คือ หนังสือพิมพ์

สำหรับความคิดเห็นในการส่งเสริมเพื่อจูงใจให้รักการอ่าน ประชากรร้อยละ ๓๑.๖ เห็นว่า หนังสือควรมีราคาถูกลง

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สมาคมผู้จัดพิมพ์ ผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยและสำนักงานสถิติแห่งชาติ

 

 

สำหรับตัวผมเอง ผมคงเป็นคนหนึ่งที่จ่ายเงินค่าหนังสือเกินค่าเฉลี่ย ๒๖๐ บาท น่าจะหลายพันบาทต่อปี และอ่านหนังสือเกินปีละ ๒ เล่มอย่างแน่นอน น่าจะเกิน ๑๐๐ เล่มต่อปีด้วยซ้ำไป

สถิติเหล่านี้ชวนให้กลับมาคิดถึงตัวเอง ผมไม่เสียดายเงินสำหรับการซื้อหนังสืออ่านหรือ แล้วเรารักการอ่านหนังสือตั้งแต่เมื่อไหร่ และเพราะอะไรจึงชอบอ่านหนังสือมาก

 

 

 

เริ่มต้นการอ่านหนังสือ ...

 

 

 

 

ผมคิดว่า "พ่อและแม่" มีอิทธิพลต่อตนเองสำหรับการเป็นคนชอบอ่านหนังสือ


พ่อจบ ม.๓ เป็นนักเรียนโรงเรียนจ่าอากาศรุ่นที่ ๑ สายสื่อสาร พ่อจะมีหนังสือไว้ที่บ้านเป็นชั้น ๆ เช่นหนังสือเกี่ยวกับในหลวง ด้านการใช้ภาษาอังกฤษต่าง ๆ เป็นต้น

หากจะให้ผมเปรียบเทียบความรู้ภาษาอังกฤษในตัวตอนนี้ ผมสู้พ่อไม่ได้เลยแม้แต่น้อย พ่อเก่งกว่าเยอะ

แม่จบ ป.๔ เนื่องจากตายายไม่มีเงินส่งให้เรียนสูง ๆ ฐานะยากจน แต่แม่ก็ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสารต่าง ๆ มากมาย

ผมคิดว่า ตัวเองรับการถ่ายทอดการรักการอ่านจากพ่อกับแม่มาโดยที่ไม่รู้ตัว

 

 

 

ห้องสมุดเพื่อนยาก ...

 

 

 

 

ระดับประถมศึกษา

ห้องสมุดของโรงเรียนจะเป็นสถานที่หนึ่งที่ผมจะใช้เวลาว่างอยู่เป็นประจำ ไม่เข้าไปนั่งอ่าน หรือ ยืมออกมาอ่านที่บ้าน

นอกจากการยืมอ่านแล้ว การซื้อหนังสือก็มีบ้าง จำนวนเล่มเป็นไปตามค่าขนมที่เก็บได้และขอแม่หากไม่พอ

โดยวันดีคืนดีจะมีสำนักพิมพ์หรือร้านหนังสือจะมาเปิดแผงหนังสือหน้าโรงเรียน ตอนเป็นเด็ก ๆ ก็จะขออนุญาตคุณครูออกไปยืนดู ยืนเลือก และถูกใจก็จะซื้อมาอ่าน

หนังสือในช่วงนี้ที่สนใจ เช่น ความรู้รอบตัว ที่สุดในโลก ที่สุดประเทศไทย ประวัติศาสตร์ เรื่องลึกลับต่าง ๆ จะชอบมาก

ราคาของหนังสือจะไม่แพงมาก ๕ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท เป็นต้น

 

 

ระดับมัธยมศึกษา

ห้องสมุดโรงเรียนมัธยมฯ จะมีหนังสือมากกว่าระดับประถมฯ ตามความรู้ที่เข้มขันขึ้น ผมก็จะเข้าไปอ่านและยืมอยู่เป็นประจำ แต่จะลามไปจนถึงห้องสมุดของชมรมด้วย เช่น ชมรมวิทยาศาสตร์ เป็นต้น เขาจะมีหนังสือที่ห้องสมุดโรงเรียนไม่มี ทำให้มีที่ยืม ที่อ่านหนังสือเพิ่มขึ้นอีกสถานที่หนึ่ง

ส่วนหนังสือที่ซื้อประจำ ตอนนี้จะมีพวกนิตยสารฟุตบอล สตาร์ซอคเกอร์ ประจำทุกสัปดาห์ เพราะชอบดูฟุตบอลต่างประเทศ ทำให้เรารักกีฬาประเภทนี้อีกต่างหากด้วย

หนังสืออีกประเภท คือ หนังสือเตรียมสอบ Entrance ที่เป็นพวกคู่มือวิชาที่จะใช้สอบต่าง ๆ เนื่องจากเราไม่ีมีเงินออกไปกวดวิชาเหมือนเพื่อน ๆ ที่มีเงิน หนังสือจึงเป็นทางออกหนึ่งที่เราพอจะทำได้

 

 

ระดับปริญญาตรี

ห้องสมุดมหาิวิทยาลัย ปริมาณหนังสือก็เยอะขึ้นตามลำดับ ยืมแหลก อ่านหนังสือทุกประเภทที่ตนเองสนใจ เรียกว่า มาห้องสมุดจนเจ้าหน้าที่ห้องสมุดและอาจารย์บรรณารักษ์จำได้แล้ว

เพราะในความรู้สึกก็คือ หากเราได้อ่านเรื่่องที่เราสนใจ ในอนาคตหากเราทำงานแล้ว เราอาจจะอ่านหนังสือน้อยลง มีโอกาส ใช้ให้คุ้มค่า

ส่วนการซื้อหนังสือช่วงนี้ จะเป็นหนังสือและนิตยสารคอมพิวเตอร์ (ช่วงนั้นจำได้ว่า เป็นช่วงที่คอมพิวเตอร์กำลังเริ่มเข้ามีบทบบาทในสังคมไทยมากขึ้น) หนังสือกลอนรัก นิยายรักนักศึกษา จิตวิทยา การดำเนินชีวิต ธรรมะต่าง ๆ ฯลฯ

 

 

ระดับปริญญาโท

เรียนนานหลายปี ทำให้ยืมหนังสือจากสำนักหอสมุด ห้องสมุดคณะต่าง ๆ รวมกันถึง ๑,๐๐๘ เล่ม ซึ่งชอบมาก เพราะมีความหลากหลายสำหรับเนื้อหาที่เราอยากรู้ นอกเหนือไปจากการเตรียมข้อมูลเพื่อทำวิทยานิพนธ์ต่าง ๆ

ช่วงนี้ก็ถือเป็นช่วงที่เราซื้อหนังสือมากขึ้น ถ่ายเอกสารหนังสือมากขึ้น โดยเฉพาะหนังสือด้่านการศึกษา เทคโนโลยีการศึกษา

 

 

 

เมื่อทำงานมีเงินเดือน ...

 

 

 

 

บังเอิญทำงานในมหาวิทยาลัย ดังนั้น จึงมีสิทธิ์การยืมหนังสืออกมาไำ้ด้เป็นภาคเรียน ก็ยืมสม่ำเสมอเช่นกัน และยืมห้องสมุดทุกคณะด้วย หากหนังสือเล่มนั้นอยากอ่าน

ส่วนการซื้อหนังสือ น่าจะจ่ายเยอะที่สุดในทุกช่วงชีวิตแล้ว คือ อยากอ่านเล่มไหน ตัดสินใจได้ ก็ซื้อทันที หากไม่ทำให้ปลายเดือนเดือดร้อน

 

คือผมว่านะ เงินค่าหนังสือทั้งหมดของผมตลอดชีวิต ซื้อบ้าน หรือ ซื้อรถยนต์ได้แล้วมั้งเนี่ย ;)...

 

 

 

เหตุผลสำคัญที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ...

 

๑. เรียนหนังสือไม่เก่ง

เพราะโอกาสที่ตนเองจะได้ไปกวดวิชาเหมือนเพื่อนคนอื่นไม่มี ฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน การอ่านหนังสือเป็นทางออกทางหนึ่งสำหรับคนที่เรียนหนังสือไม่เก่งจะพัฒนาตนเองได้

 

๒. ความอยากรู้

ในที่นี้หมายถึง อยากรู้เรื่องราวในหนังสือว่าเป็นอย่างไร สนใจใคร่รู้ อยากติดตาม อยากนำความรู้ดังกล่าวมาเก็บไว้ในสมอง

 

๓. ค้นหาคำตอบบางอย่าง

ปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ไม่สามารถปรึกษาใครได้ เมื่อหนังสือมีคำตอบที่เราต้องการอยู่แล้ว เราจึงค้นหาและลองปฎิบัติตนตามดู หากเข้าใจและได้ผลก็จะปฏิบัติ หากไม่เข้าใจและไม่ได้ผลก็จะค้นหาต่อไป

 

๔. เสพติดหนังสือ

หนังสือ กลายเป็น ยาเสพติด สำหรับผมไปเสียแล้ว หากไม่ได้อ่านหนังสือก่อนนอน มักจะมีอาการนอนไม่หลับ อย่างน้อยขอให้ได้อ่านสักหน้าก็พอ

 

๕. แหล่งข้อมูลอ้างอิง

เมื่อเติบโตขึ้น ประโยชน์ข้อนี้จึงเกิดขึ้นตาม นอกจากการที่ต้องใช้หนังสือประกอบการสอน การทำวิจัย แล้ว ตอนนี้หนังสือกลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับการเขียนและต่อยอดในการเขียนบันทึกที่ Gotoknow ไปแล้ว

 

แค่ ๕ ข้อก่อนก็แล้วกันนะครับ หากคิดออกอีกจะมาเขียนเพิ่ม ;)...

 

 

แต่อย่างไรก็ตามนะครับ การอ่านหนังสือใด ๆ ก็ตาม สิ่งที่เราควรพึงระลึกถึงเสมอก็คือ "อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ" ควรใช้หลักธรรมของพระพุทธองค์ที่เรียกว่า "กาลามสูตร" ก่อน มิฉะนั้น ความเชื่อจะกลายเป็นความหลงงามงายไป

 

"หลักธรรมที่ชื่อว่า กาลามสูตร"

๑. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา
๒. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
๓. อย่าปลงใจเชื่อ ตามคำเล่าลือ
๔. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
๕. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรกะ
๖. อย่าปลงใจเชื่อ โดยการอนุมาน
๗. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
๘. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
๙. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณ์น่าจะเป็นไปได้
๑๐. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา

"เมื่อใดก็ตามรู้ เข้าใจด้วยตนเองว่า สิ่งใดก็ตาม เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ดี มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละ หรือจึงควรนำมาปฏิบัติ"

ใครปฏิบัติตามหลักการนี้ ย่อมจะได้ปัญญาที่แท้ที่เป็น "ความจริงสุดท้าย" มาใช้เป็นหลักในการทำงานและการดำรงชีวิต กล่าวอย่างสั้นที่สุด เป้าหมายของกาลามสูตร ก็คือ ต้องการดึงเอาผู้ที่สนใจในธรรมของพระพุทธองค์ลงมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการ ค้นหาความจริงจากความจริง ไม่ใช่ ค้นหาความจริงจากความเชื่อ

 

ดังนั้น การอ่านหนังสือใด ๆ โปรดใช้ปัญญาไตร่ตรองให้ดีก่อนเชื่อนะครับ จะทำให้ความเขลาของเรากระจ่างมากขึ้น กลายเป็น "ปัญญา" ที่เราใช้ติดตัวตลอดไป อีกทั้งยังถือเป็นการแลกเปลี่ยนเีรียนรู้ซึ่งกันและกัน ระหว่างเรากํบผู้ให้ความรู้กับเราอีกด้วย

 

ไม่มีใครรู้อะไรมากที่สุดในโลก

ไม่มีใครฉลาดที่สุด และโง่ที่สุด มีแต่ "รู้" กับ "ไม่รู้"

ความรู้นั้นกว้างขวางเหมือนมหาสมุทร
ยิ่งนานไป เราจะรู้ว่าความรู้ของเราแค่น้ำหยดเดียวในมหาสมุทร
ต้องเรียนรู้ไม่มีวันหยุด

 

โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบันทึกนี้นะครับ

บุญรักษา ทุกท่านครับ ;)...

 

หมายเลขบันทึก: 484978เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2012 14:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

เรียน อาจารย์ครับ

ผมลอกคำพูดของพี่ชายที่ผมรักมากที่สุดท่านหนึ่งครับ

ซึ่งผมมีบรรยากาศคล้าย ๆ กัน คือ ตอนเด็ก ได้อ่านหนังสือในห้องสมุดประชาชน ครับ...

  

ผมใช้ห้องสมุดประชาชนมาตั้งแต่เด็ก เห็นว่าสมัยผมห้องสมุดมีหนังสือมากกว่าในสมัยนี้เสียอีก ผมไปเยี่ยมห้องสมุดประชาชนหาดใหญ่เมื่อโตแล้ว ปรากฏว่ามันติดแอร์เย็นสบาย แต่หนังสือลดลงนับครึ่ง ไม่น่าเชื่อ!

ปัญหาห้องสมุดของเราคือ มีแต่ห้องสมุดหรือปรับปรุงแต่ห้องสมุด แต่ไม่มีงบเติมหนังสือดีๆ เข้าห้องสมุด เหมือนยอมจ่ายซื้อคอมพิวเตอร์ดีๆ แต่ไม่ซื้อซอฟท์แวร์เลย

ผมมองว่ามันเป็นหน้าที่ของรัฐโดยตรง ใส่หนังสือดีเข้าไปให้เต็มห้องสมุดดีกว่าซื้อแท็บเล็ตแจกเด็กล้านเท่า เพราะเนื้อในและสาระสำคัญกว่าเปลือกนอก

ถ้าไม่มีใครทำอะไร เรื่องนี้ถึงครูอังคณาแน่!

ใช้เงินไปกับหนังสือมากเหมือนกันครับ : ) เหตุผล 1-5 นี้ใช่หมดเลย ต้องอ่านหนังสือทุกวัน ไม่งั้นเหมือนไม่ได้ดื่มน้ำ

สวัสดีค่ะอาจารย์,

ยุคจากนี้ไปคนสิงคโปร์คงอ่านหนังสือน้อยลงแล้วค่ะ เพราะสังเกตจากบนรถไฟ เมื่อก่อนเห็นคนถือหนังสือ ถือหนังสือพิมพ์ กันเยอะมาก ตอนนี้ถือ smartphone และ tablet กันหมด รู้สึกเขินนิดๆ ที่ถือหนังสือขึ้นไปอ่านบนรถไฟ เหมือนจะเชยมากกว่าปกติ แต่ชอบเสียงและสัมผัสของการพลิกหนังสือและชอบกลิ่นหนังสือมากกว่า

นิสัยการรักการอ่านคงต้องเริ่มจากการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก แล้วจากนั้นคือการใฝ่รู้และกลายเป็นนิสัย ในเมืองที่มีการใช้ชีวิตที่มีการแข่งขันกันสูง จะบังคับกลายๆ ว่าจะหยุดเรียนรู้ไม่ได้ จึงต้อง upgrade ตัวเองเรื่อยไป คนในเมืองใหญ่อย่างญี่ปุ่น ใต้หวัน สิงคโปร์ จึงอ่านกันมาก หลายๆ คนเชื่อว่า "Today a reader, tomorrow a leader.”

ที่นึ่เราจ่ายประมาณ 10% ของรายได้ที่ในแต่ละปีสำหรับการเรียนรู้ ซื้อหนังสือ ซื้อสื่อการเรียน คอร์ส ต่างๆ ค่ะ (สถิติส่วนตัวและคนใกล้เคียงที่รู้จัก)

ถึงการเรียนรู้จะเป็นความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลแต่ที่นี่รัฐบาลสนับสนุนการเรียนรู้แบบต่อเนื่อง ห้องสมุดจึงมีทุก district หรือทุกตำบลก็ว่าได้ สะดวกค่ะ จากห้องสมุดใกล้บ้านไปอีกห้องสมุดถัดไป ใช้เวลานั่งรถไฟ 6 นาที ประมาณนั้น หนังสือจึงมีให้ยืมเยอะแยะและแทบทุกประเภทด้วย ทั้งภาษาอังกฤษ จีน มาเลย์ ฮินดี (น่าเสียดายไม่มีภาษาไทย) หนังสือในห้องสมุดจึงทันสมัย ใหม่เอี่ยม หนังสือใหม่ๆ ออกมาวางเรียงเชิญชวนให้คนยืมไปอ่านทุกเดือน จนอ่านไม่ทัน

ตอนนี้มีห้องสมุดก็เริ่มมีระบบการอ่าน online ด้วย แต่ยังไม่ได้ใช้ค่ะ

ทุกครั้งที่ไปห้องสมุด รู้สึกดีใจที่ได้จ่ายภาษีเงินได้

แต่ไม่ว่าจะมีความพร้อมมากมายแค่ไหน หากใจไม่รักที่จะอ่านก็คงเริ่มยากค่ะ หากคนมีความสุขในการอ่านเขาก็จะขวนขวายหาอ่านเอง หากการอ่านคือความสุขของเขา

ชอบคำพูดของ Shimon Peres - If you eat three times a day you'll be fed. If you read three times a day you'll be wise :)

มีความสุขในการอ่านหนังสืออยู่กับบ้านในช่วงนี้นะคะอาจารย์หากไม่อยากออกไปเปียกน้ำน่ะค่ะ :)

ห้องสมุดทุกหนแห่ง คือแหล่งพำนักใจ

แม้เวลาเดินทางไกล ยังแว้บไปชื่นชม

ชอบอ่านหนังสือ ด้วยรัก ไม่มีเหตุผลอื่นเจ้า

สวัสดีค่ะ อาจารย์

           ที่บ้าน....เป็นคนอ่านหนังสือกันทุกคนอาจจะเพราะเราเป็นครอบครัวครูก็ได้ค่ะ...และมีความรู้สึกเรายังต้องเรียนรู้อะไรอีกมากมาย
          ในเวลาเดินทาง...หนังสือก็คือเพื่อนร่วมทางที่ดี
          ในยามวุ่นวาย....หนังสือคือเพื่อนที่ช่วยรวบรวมสติ
          ในเวลานั่งรอใครๆ...หนังสือทำให้เวลาผ่านไปอย่างคุ้มค่า
          ในเวลาใกล้จะหลับ...ก็ทำให้นอนหลับได้ดี
          ในเวลาใกล้สอบ...มักอ่านหนังสือไม่ทันบ่อยไป (ฮาๆๆๆ)

ต้องขอขอบคุณอาจารย์วัต และขอบคุณทุกๆท่าน ณ ที่นี้ด้วยค่ะที่ท่านเห็นคุณค่าและความสำคัญของการอ่าน มาขอบคุณด้วยจิตคารวะ

ชอบบทความนี้มากถึงมากที่สุดค่ะ สะท้อนตัวตนของอาจารย์ ที่รักผูกพันกับการอ่านหนังสือ แล้วยังแบ่งปันให้ชาว G2K ด้วย . ชอบความเห็นคุณปริมด้วย " Today a reader, tomorow a leader" แต่ตัวเอง ไม่ชอบซื้อหนังสือเล่มๆ เพราะไม่มีที่เก็บ และแพ้ฝุ่น การยืมจากห้องสมุดจึงเป็นทางออกที่ดี ยิ่งเดี๋ยวนี้มี kindle - ทำให้กล้ำกลืนฝีนอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ แต่อ่านๆ ไปก็ติดใจ เพราะมันช่วยให้ "เราจะรู้ว่าความรู้ของเราแค่น้ำหยดเดียวในมหาสมุทร"

"ไม่มีใครรู้อะไรมากที่สุดในโลก ไม่มีใครฉลาดที่สุด และโง่ที่สุด มีแต่ "รู้" กับ "ไม่รู้" ความรู้นั้นกว้างขวางเหมือนมหาสมุทร ยิ่งนานไป เราจะรู้ว่าความรู้ของเราแค่น้ำหยดเดียวในมหาสมุทร ต้องเรียนรู้ไม่มีวันหยุด"

หนูมาอ่านหนังสือมากตอนทำงานนี่แหละค่ะอาจารย์ ต้องศึกษาค้นคว้า หาข้อมูลเยอะเลยค่ะ
ยิ่งอ่านมาก ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองโง่มากเลย เพราะมีความรู้อีกเยอะจริง ๆ ที่เรายังไม่รู้ หนูจึงต้องอ่านมากขึ้น ๆ ๆ ๆ

แล้วคุณครูก็ถอดออกมาได้

ตั้งใจถอดสุดหัวใจออกมาเขียน

หนอนหนังสือทยอยเสพจวนเจียน

ใจเอนเอียงว่างไว้ไร้มารยา

อ๊าว....เผลอเลียนแบบใครไปละเนี่ย   ^_.^

เรียน คุณหมอ ทิมดาบ ;)...

ผมเคยทำงานในห้องสมุดมาก่อนครับ และได้มีโอกาสพูดคุยกับลูกศิษย์ที่ทำงานในห้องสมุดประชาชนแถวบ้านผมด้วย ทำให้ทราบว่า งบประมาณในการจัดซื้อหนังสือใหม่ในแต่ละปีน้อยตามการให้ความสำคัญของหน่วยงานและรัฐบาล

ห้องสมุดประชาชน สังกัดสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. เดิม งบประมาณซื้อหนังสือใหม่เข้าไม่กี่หมื่นบาทต่อปี ในขณะที่ผมเคยอยู่ห้องสมุดในมหาวิทยาลัยสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ งบประมาณหลายล้านบาท ต่างกันไหมครับ ;)...

สำหรับเรื่อง Tablet เป็นเพียงแต่การตอบสนองนโยบายของนักการเมืองเท่านั้น โดยมีข้ออ้างต่าง ๆ มากมายที่จะจัดซื้อให้กับเด็ก ป.๑ และคุณครูที่สอน เราใช้เงินส่วนนี้ไปหลายพันล้านบาทแล้ว เผลอจะเป็นหมื่นล้านบาท

คิดแล้วหากผมมีบริษัทที่รับซ่อม Tablet แบบครบวงจร ผมจะมีกำไรต่อเดือน ต่อปีเท่าไหร่หนอ

Tablet เป็นแค่เครื่องมือหรือสื่อการสอนที่เรียกว่า Hardware เท่านั้น ไม่สามารถสอนแทนครูได้ ผมยืนยันเรื่องนี้หลายครั้งเหมือนกัน..นะครับ

ส่วน "ครูอังคณา" ผมจะดูเชยที่ไม่รู้จัก แต่เคยได้ยินมาบ้าง ซึ่งเรื่องผมคิดว่า มันเป็นแค่การใช้เครื่องมือผิด ๆ ของใครบางคน และเป็นกรณีศึกษาในโลกยุคใหม่ที่คุณครูต้องตามให้ทัน

ขอบคุณมากครับ ... นักเขียนตัวจริง คุณหมอ ทิมดาบ ;)...

เยี่ยมมาก ๆ ครับ ;)...

ขอบคุณมากครับ คุณ Ico48 ธราธร รัตนนฤมิตศร ;)...

เหมือนไม่ได้ดื่มน้ำจริง ๆ ... อาจตายนะครับนั่น 555

สวัสดีครับ อาจารย์ ...ปริม pirimarj... ;)...

สิงคโปร์เป็นเมืองที่โลกนี้ให้สถานะว่า "พัฒนาแล้ว" แต่บรรยากาศอาจจะเมืองใหญ่ ๆ ในเมืองไทยนะครับ ที่ถืออุปกรณ์ทดแทนหนังสือกันละลานตา กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เห็นได้ในตัวเมืองนะครับ หากรอบนอก จังหวัดที่ไม่ใหญ่มาก บางทีร้านอุปกรณ์ไอทียังไม่กี่ร้านที่เป็นเป้าหมายของประชาชนในจังหวัด อย่างแม่ฮ่องสอน

ถึงแม้ว่าจะมีอุปกรณ์พยายามทดแทนหนังสือ แต่ไม่ได้หมายความว่า "หนังสือ" จะหายไปจากโลกนี้ เหมือนกับมีองค์กรพยายามทำให้องค์กรตนเองใช้กระดาษน้อยที่สุดที่เรียกว่า Paperless แต่ในที่สุดก็ยังขาดกระดาษและหนังสือไม่ได้

ดังนั้น อาจารย์มิต้องขวยเขิน แต่มั่นเอาไว้ครับ ;)...

 

"Today a reader, tomorrow a leader.”

คำนี้เด็ดครับ น่าจะเอาไปสอนลูกศิษย์ครับ คำนี้ ;)...

 

สถิติ ๑๐ % อืมมมม ผมมีโอกาส หรืออาจจะมากกว่าไปหรือเปล่า ผมควรจะต้องควบคุมตัวเองหน่อย เดี๋ยวหมดตัวเพราะติดหนังสือ 555

รัฐฯ ควรคิดเรื่องนี้นะครับ การสนับสนุนห้องสมุดทุกระดับในเมืองไทย ทำให้คนไทยมีโอกาสเป็นนักอ่านมากขึ้น เห็นแต่โปรโมทจะให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งหนังสือ จังหวัดอื่นเป็นอะไร ???

วันนี้สงกรานต์วันแรก สงสัยจะออกไปที่ทำงานไม่ทันแล้วครับ กลัวเปียก 555

มีความสุขนะครับอาจารย์

ขอบคุณมากครับ ;)...

"ด้วยรักและหนังสือ" นั่นเอง ใช่ไหมครับ คุณ Poo ;)...

ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ คุณครูนก Ico48 noktalay ;)...

เรื่องการอ่านหนังสือไม่ทันก่อนสอบนี่ น่าจะเป็นเด็กส่วนใหญ่ของประเทศไทยครับ อิ อิ

อ่านก่อนสอบ มันไม่ขลัง

ต้องอ่านใกล้ ๆ จะรู้สึกจดจำได้แม่นยำ

แต่อ่านไม่ทัน 555

ขอบคุณครับ ;)...

ขอบคุณเช่นกันครับ คุณ ครูกาย :)...

ขอบคุณมากครับ คุณหมอบางเวลา ป. กุ้งเผา ;)...

ตัวตนของคนเขียนบันทึกหาอ่านยากนะครับ อิ อิ เพราะโดยส่วนใหญ่ "การเก็บตัว" เป็นเรื่องสำคัญของชีวิต ;)...

แต่หนังสือและการอ่านหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทำให้การเขียนไปเรื่องไม่ยากนัก แต่ยากตรงเรียบเรียงความคิดอ่านนี่แหละครับ

สำหรับ "หนังสือ" , "ห้องสมุด" และ "คุณหมอ" เป็น สิ่งเกี่ยวข้องกันมานานแสนนานนะครับ ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์จะมีนักศึกษาแพทย์และอาจารย์หมอมาใช้บริการทุกวัน ฐานข้อมูลออนไลน์ก็มีการใช้บริการอย่างเนื่องแน่น

นี่หากมาเปรียบเทียบกับคณะครูของผม ... หาตัวนักศึกษาไม่เจอ นอกจากอ่านหนังสือพิมพ์เท่านั้น

เพิ่งทราบว่า คุณหมอแพ้ฝุ่น เหมือนผมก็จะเป็นบางนะครับในตอนหลัง ๆ นี้ ทางเลือกของคุณหมออาจจะดีสำหรับสุขภาพนะครับ ... KINDLE

 

ความรู้นั้นกว้างขวางเหมือนมหาสมุทร
ยิ่งนานไป เราจะรู้ว่าความรู้ของเราแค่น้ำหยดเดียวในมหาสมุทร
ต้องเรียนรู้ไม่มีวันหยุด

 

และคนที่อ่านหนังสือมาก ๆ จะรู้สึกเช่นนี้จริง ๆ ครับ ;)...

ขอบคุณมากครับ ;)...

การอ่านมาก อ่านน้อย สภาพแวดล้อมในการศึกษาอาจจะมีผลครับ ดอกหญ้าน้ำ ;)...

หากเราทราบว่า เราจะได้ใช้ หรืออนาคตเราจะได้ใช้ ครูว่า เราคงจะอ่านหนังสือมากกว่าเดิม นะครับ

แต่ตอนนี้ก็ยังไม่สายนะ นี่เรียนปริญญาโทแล้วด้วย เตรียมตัวอ่านมากกว่าเดิม ๑๐ เท่าครับ 555

ดูแลสุขภาพนะ ;)...

แล้วบทกลอนก็มา 555

ขอบคุณครับ คุณหมอ ทพญ.ธิรัมภา ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท