ครูอาสา (๒)


กำหนดการ – กำหนดงาน

 

วันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๕๕

ครูอาสาแต่ละกลุ่มวิชาส่งแผนการเรียนการสอนและอุปกรณ์ที่ต้องการใช้ (ส่งทางอีเมลมาที่ [email protected])

 

วันพุธที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๕

แผนการสอนแต่ละวิชาได้รับการพิจารณาตอบรับ รวมทั้งคำเสนอแนะ/คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับแผน (ทางอีเมล)

 

วันพุธที่ ๑ กุมภาพันธ์ - ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕

ครูอาสาแต่ละกลุ่มวิชาเริ่มลงพื้นที่ปฏิบัติงาน สัปดาห์ละ ๑ - ๒ ชั่วโมง

 

วันเสาร์ที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕

ครูอาสารับทราบผลการเรียนการสอนและการบรรลุเป้าหมาย (ทางอีเมลล์) และได้รับเงินค่าลงทะเบียน ๘๐๐ บาท คืนภายใน ๒ สัปดาห์แรกของเดือนเมษายน ๒๕๕๕

 

 

ทำแผนการเรียนรู้

 

ครูอาสามีเวลาทำแผนการเรียนรู้ให้เสร็จภายใน ๑ สัปดาห์ เพื่อส่งกลับไปให้คุณหมอโจ้พิจารณาทางอีเมล

 

กลุ่มครูภาษาไทยแลกอีเมลกันไว้ตั้งแต่วันที่ไปพบกันที่ห้องประชุมภารกิจบริการวิชาการ และคุยกันทางเมลเรื่อยๆ  ตอนคิดแผนการเรียนรู้ก็คิดเป็น ๒ แผน คือ แผนสำหรับเด็กอายุ ๘ ปีขึ้นไป และแผนสำหรับเด็กอายุ ๑๐ ปีขึ้นไป โดยคิดเป็นแผนต่อเนื่องตั้งแต่ครั้งที่ ๑ จนถึง ครั้งที่ ๙

 

คุณเดือน กับฉัน ช่วยกันคิดแผนเป็นหลัก เพิ่งมารู้ตอนช่วยกันคิดแผนว่าคุณเดือนเคยเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนรุ่งอรุณมาก่อน  และคุณเอ๋ก็เคยไปดูโรงเรียนรุ่งอรุณ เพราะชอบแนวคิดทางการศึกษา แต่ในที่สุดก็ไม่ได้เอาลูกไปเข้าเพราะโรงเรียนอยู่ไกลบ้านไปหน่อย

 

เมื่อส่งแผนการเรียนรู้ไปให้คุณหมอพิจารณา คุณหมอตอบเมลกลับมาว่า "แผนการสอนดูรัดกุมดีค่ะ น่าจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก" และพร้อมกันนั้น คุณหมอยังได้ส่งภาพถ่ายอุปกรณ์ตามที่เราขอกันเอาไว้กลับมาให้ดูด้วยว่าได้จัดเตรียมเอาไว้ให้ในรถเข็นพร้อมใช้เรียบร้อยแล้ว

 

แรกพบ

 

กลุ่มครูภาษาไทย นัดกันไปสอนในวันเสาร์ เวลาบ่ายสอง – บ่ายสี่โมงเย็น วันแรกเรานัดพบกันที่ห้องกิจกรรมตอนบ่ายโมงครึ่งเพื่อนัดแนะกันก่อน เมื่อฉันไปถึง คุณเอ๋ และคุณสุไปรออยู่ก่อนแล้ว  วันนั้นเข็นรถอุปกรณ์ไปข้างเตียงเด็กๆ กันเลย

 

วันที่อบรมความรู้พื้นฐาน คุณหมอโจ้ให้หลักคิดเอาไว้ว่า

 

“การให้ที่ไม่ระวังของครูอาสาจะทำให้เด็กพัฒนาความคิดบางอย่าง เป็นการเพาะนิสัยที่ไม่สมควร และจะทำให้คุณค่าในตัวเด็กลดลง เพราะเด็กจะสับสนว่าเราจะมาสอนหรือเอาของมาแจก ถ้าเริ่มต้นด้วยการให้ของ เขาจะไม่สนใจเรื่องอื่นที่เราตั้งใจนำมาให้

ที่สำคัญคือ เวลา และความปรารถนาดี ที่ครูอาสาต้องแสดงออกให้เขาสัมผัสได้ และการสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากเรียน”

 

กลุ่มเด็กที่อยู่ในวอร์ดวันนั้น มีเด็กเล็กตัวจิ๋วๆ อายุ ๒ – ๓ ขวบ และเด็กที่โตประมาณ ๘ – ๙ ขวบ แต่ยังไม่มีเด็กที่โตกว่านี้ เด็กเล็กดูง่วงนอน ครูก็เลยปล่อยให้นอน ส่วนเด็ก ๘ – ๙ ขวบที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย มีเตียงตั้งอยู่เรียงกันพอดี พวกเราเลยเข้าดูแลกันคนละเตียง

 

เริ่มจากการสร้างความสัมพันธ์แรกพบ และสังเกตว่าเด็กแต่ละคนสนใจอะไรเป็นพิเศษ แล้วสานต่อมิตรภาพจากจุดนั้นด้วยการสร้างความสนใจร่วม แล้วชวนกันเดินทางสู่การเรียนรู้ด้วยการทำความรู้จักกันและกัน

 

หมายเลขบันทึก: 484977เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2012 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท