ว่าด้วยเรื่องของ “มะม่วง”


เด็กในเมืองหลายคนรู้จักแต่มะม่วงที่ปอกเปลือก หั่นใส่แพคไว้เรียบร้อย สามารถหาซื้อได้ทุกฤดูกาล โดยไม่เคยเห็นผลหรือต้นมะม่วง แม้แต่ข้าวเหนียวมะม่วง ขนมแบบไทย ๆ เด็กบางคนยังคิดว่าเป็นไอศกรีมก้อนสีเหลือง เสริฟพร้อมกับข้าวเหนียวสีเขียวในร้านไอศครีมชื่อดังแฟรนไชน์จากเมืองนอก

ช่วงนี้ มะม่วงสามปีอายุร่วม 40 ปี หน้าบ้านปู่กับย่าของเจ้าต้นหนาว ลูกชายของผู้เขียนใกล้จะสุกแล้ว ปีนี้ดูจะดกและให้ผลใหญ่กว่าฤดูกาลก่อน ๆ

      ผู้เขียนเพิ่งมีโอกาสลิ้มรสชาติมะม่วงสามปีเป็นครั้งแรกจากต้นที่ว่านี้ เมื่อสองปีก่อน มะม่วงสามปีตอนยังเขียว ๆ จะเปรี้ยวมาก เมื่อสุกจะมีสีเหลืองอ่อน รสชาติหวานอมเปรี้ยว และมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ของมะม่วงพันธุ์สามปี

          ผู้เขียนนึกไปถึงมะม่วงที่มีวางขายตามแผงผลไม้และตลาดโดยทั่วไป ด้วยความที่เป็นคนเกิดและใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเมือง เมื่อโตพอจะไปจับจ่ายซื้อของในตลาดได้ ก็สังเกตเห็นว่า มะม่วงที่มีขายส่วนมาก หากเป็นมะม่วงดิบจะเป็นพันธุ์เขียวเสวย มะม่วงสุกที่นิยมกัน คือ น้ำดอกไม้

          บังเอิญว่า ผู้เขียนเป็นคนชอบไถ่ถาม สนใจใคร่รู้เรื่องราวรอบตัว ทำให้ผู้เขียนพอจะรู้จักมะม่วงพันธุ์อื่น ๆ อยู่บ้าง  เมื่อสอบถามปู่กับย่า และป้าตาลของลูกชาย จึงทราบว่า ในอำเภออุ้มผาง ซึ่งเป็นเมืองที่ค่อนข้างปิดตัวเพราะอยู่ห่างไกลเมือง การคมนาคมไม่สะดวก อีกทั้งการเดินทางในฤดูฝนค่อนข้างลำบาก การปลูกพืชโดยเฉพาะผลไม้เพื่อจำหน่ายจึงไม่เป็นที่นิยมนัก เพราะไม่คุ้มค่าขนส่ง ทำให้ยังคงมีมะม่วงพันธุ์พื้นบ้านและนำมาจากข้างนอกอยู่หลายพันธุ์

          เฉพาะที่สำรวจรอบบริเวณบ้านปู่กับย่า นอกจากมะม่วงสามปีแล้ว ด้านหน้าบ้านยังมีมะม่วงฝ้ายต้นใหญ่ เวลาสุกเนื้อจะมีสีขาว รสชาติหวานอร่อย เลาะรั้วมาข้างบ้านมีต้นมะม่วงอกร่อง และมะม่วงตาลจีนรสเปรี้ยว กินดิบกับน้ำปลาหวาน ว่ากันว่าเวลาสุกไม่ค่อยอร่อยนักเพราะเนื้อค่อนข้างเละ บริเวณบ้านของป้าตาล ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก ปลูกมะม่วงแรดเอาไว้ ตอนนี้กำลังห่ามรสชาติอร่อยดี

          ที่บ้านของผู้เขียนเอง มีต้นมะม่วงแก้วเก่าแก่อยู่สองต้น หน้าบ้านเป็นมะม่วงแก้วธรรมดา ตอนดิบรสเปรี้ยว พอสุกเหลืองจะหวาน ส่วนหลังบ้านเป็นมะม่วงแก้วแก้มแดง ตอนสุกบริเวณโคนของผลจะมีสีแดง รสชาติหวานหอมอร่อยกว่าต้นหน้าบ้าน มะม่วงแก้วเป็นมะม่วงพันธุ์พื้นเมืองจึงมีลำต้นที่แข็งแรง ทนทานต่อโรค บางคนใช้เป็นต้นตอเพื่อทาบกิ่งมะม่วงพันธุ์อื่น

          ในสวนของปู่ ปลูกมะม่วงไว้หลากหลายพันธุ์ เช่น มะม่วงเขียวเสวยและเพชรบ้านลาด ซึ่งให้รสออกเปรี้ยวมากกว่ามัน ปู่บอกว่า อำเภออุ้มผางสภาพอากาศไม่เหมือนทางภาคตะวันออก มะม่วงจึงไม่ค่อยให้รสมัน ยังมีมะม่วงตลับนาค ลูกกลม ๆ ลักษณะคล้ายหัวใจ รสเปรี้ยวจี๊ด มักปลูกไว้ประดับเพื่อความสวยงาม นอกจากนี้ ปู่ยังปลูกมะม่วงพันธุ์พื้นเมือง อาทิ สามปี แก้ว ตาลจีน คละกันไปในสวน

          แผงผลไม้ของอำเภออุ้มผาง นอกจากจะพบมะม่วงเขียวเสวย น้ำดอกไม้ เหมือนที่อื่นทั่วไปแล้ว ในฤดูกาลที่มะม่วงสุก มักพบมะม่วงอกร่องซึ่งคนเฒ่าคนแก่บอกว่า รสชาดหอมหวานกว่าวางคู่น้ำดอกไม้อยู่เกือบทุกแผงเพราะลูกค้านิยมซื้อไม่แพ้กัน บางครั้งจะพบมะม่วงพิมเสนที่ย่าบอกว่าไม่อร่อย รสชาติเหมือนมะละกอสุก

          มะม่วงป่าของที่นี้ พันธุ์ที่นิยมกินกันคือ มะม่วงกะล่อนหรือแกนล่อน ลูกเล็ก รสชาติหวาน กลิ่นหอม มีเนื้อน้อยแต่เมล็ดโต เด็ก ๆ ชอบดูดกินน้ำของมะม่วงแกนล่อนขณะที่เดินไปเที่ยวป่า

          ผู้เขียนรู้สึกเสียดายมะม่วงเก่าแก่อีกหลายๆ ต้นที่ยังคงให้ผลผลิตที่อร่อย ขนาดของผลใหญ่มาก สอบถามคนรอบข้างแล้ว ไม่มีใครรู้จักชื่อพันธุ์ และยังมีบางชนิดที่เคยปลูก แต่ปัจจุบันหายไปจากอุ้มผาง เช่น มะม่วงงา ซึ่งมีผลยาวคล้ายงาช้าง

          ด้วยความที่มีมะม่วงนานาพันธุ์และมีปริมาณมาก ทำให้ของฝากที่ขึ้นชื่ออย่างหนึ่งของจังหวัดตาก คือ “ส้มลิ้ม” ที่ทำจากมะม่วงสุกงอมกวนจนเละ นำมาปั้นเป็นแว่นเหมือนน้ำตาลปึก ตากไว้จนแห้ง เป็นการถนอมอาหารทำให้เก็บได้นาน

          ผู้เขียนยังโชคดีอีกอย่างที่เมื่อสามปีที่แล้วมีโอกาสไปกราบคุณแม่ชีสัมฤทธิ์ ตรีสันเทียะที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้เปี่ยมไปด้วยความกรุณาในฐานะอาจารย์สอนวิปัสสนากัมมัฏฐาน แม่ชีท่านมีความสนใจและชื่นชอบการปลูกต้นไม้เป็นพิเศษ ในบริเวณพื้นที่ไม่ถึงหนึ่งงานของท่าน จึงแน่นขนัดและเขียวครึ้มไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ ทั้งที่กินได้ ให้ดอกหอม และพืชสมุนไพร แม่ชีท่านเมตตาแบ่งเมล็ดมะม่วงสองชนิดให้มาปลูก ชนิดแรกมีผลขนาดใหญ่ ลูกหนึ่งหนักราว 1 กิโลกรัมหรือมากกว่านั้น ท่านไม่ทราบว่าเป็นพันธุ์อะไร อีกชนิดคือ มะม่วงพวง ซึ่งได้มาจากปักษ์ใต้ ออกลูกทีจะเป็นพวงเหมือนลำไยหรือลิ้นจี่เลยทีเดียว

          เมื่อมานั่งทบทวนและสืบค้นไปมาเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจและดีใจที่เมืองไทยยังมีความหลากหลายทางพันธุกรรมของมะม่วง ซึ่งในแต่ท้องถิ่นหากใช้เวลาค้นหาดี ๆ คงจะมีมากมายกว่าที่เล่ามา

ขณะที่นโยบายภาคเกษตรของรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา มุ่งเน้นการผลิตพืชเศรษฐกิจ ส่งเสริมเกษตรกรให้เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว มุ่งแต่จะแข่งขันกันในตลาด ละเลยความหลากหลายของสายพันธุ์พืชแทบทุกชนิด

ปัญหาซ้ำซากที่ติดตามมาหลังจากการส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดเดียว คือ ผลผลิตที่ออกมาล้นตลาด ต้องประกันราคา เกษตรกรขาดทุน เป็นหนี้ พอเห็นว่าพืชชนิดไหนราคาดี ก็แห่กันปลูก วนเวียนอยู่อย่างนี้ ไม่จบไม่สิ้น

และน่าเห็นใจคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ ต้องรีบร้อนเร่งรัดอยู่ตลอดเวลา โอกาสที่จะไปเดินในตลาดสดหรือปลูกพืชกินเองแทบไม่มี ยามจับจ่ายซื้อของก็ไปที่ห้างสรรพสินค้า แหล่งรวมความสะดวกสบาย ซึ่งผักผลไม้ในห้างเหล่านั้น มักเป็นพันธุ์ยอดนิยมไม่กี่ชนิด บางทีไม่ค่อยสดใหม่ แถมบางครั้งยังมีราคาสูงกว่าราคาจากแหล่งผลิตมาก

เด็กในเมืองหลายคนรู้จักแต่มะม่วงที่ปอกเปลือก หั่นใส่แพคไว้เรียบร้อย สามารถหาซื้อได้ทุกฤดูกาล โดยไม่เคยเห็นผลหรือต้นมะม่วง  แม้แต่ข้าวเหนียวมะม่วง   ขนมแบบไทย ๆ เด็กบางคนยังคิดว่าเป็นไอศกรีมก้อนสีเหลือง    เสริฟพร้อมกับข้าวเหนียวสีเขียวในร้านไอศครีมชื่อดังแฟรนไชน์จากเมืองนอก

ผู้เขียนจึงหวังว่า หลาย ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกัน รณรงค์และส่งเสริมเรื่องความหลากหลายของพืชพรรณซึ่งเมืองไทยมีอยู่เป็นอันมาก เพื่อให้ลูกหลานไทยภาคภูมิใจและรักษาสิ่งที่ดีงามเหล่านี้ไว้สืบต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #มะม่วง
หมายเลขบันทึก: 484969เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2012 13:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2019 10:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อายุยืนมากๆ แต่ทางภาคใต้ มักตังแมงใชลำต้นตายไปก่อน เขาเรียกแมงโม่ครับ

ขอบคุณสำหรับความรู้เรื่องมะม่วงค่ะ  สมัยอยู่ภาคใต้มะม่วงลูกเล็กๆ ที่นิยมกินผลดิบคือ  มะม่วงเบา  ตั้งกะมาอยู่ต่างภาค  ไม่เคยได้กินอีกเลย  คิดถึงจัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท