๑๕.ภาวะผู้นำกับการบริหารสถาบันอุดมศึกษา : (๕) การบริหารปัจจัยเกื้อหนุนและการนำจากข้างหลัง


ในสถานการณ์ความเป็นจริงของสังคม โดยเฉพาะของสังคมไทยนั้น สถาบันอุดมศึกษามีความเป็นปัจจัยนำการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลังอย่างยิ่ง ดังจะเห็นว่าหากมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาในขั้นสูงขึ้นในพื้นที่ชนบทและแหล่งที่ขาดพลังขับเคลื่อน ไม่นานก็จะเกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจสังคมและเกิดความหลากหลายซับซ้อนในการผลิต บริการ การจ้างงาน ระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค รวมไปจนถึงผลกระทบทางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนร่วมกันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงก้าวกระโดดจากสภาพเดิมอย่างรวดเร็ว สถาบันอุดมศึกษาจึงมีธรรมชาติในความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีบทบาทต่อพัฒนาการทางด้านต่างๆของสังคมอยู่ในตนเองมากอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน บางครั้ง ก็อาจจะกล่าวได้ว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจและพัฒนาการทางสังคมที่เกิดขึ้นสืบเนื่องกับการสร้างมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษานั้น มีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ไม่ได้เกิดจากความมีภาวะผู้นำทางปัญญาของสถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นหน่วยทางปัญญาของสังคม

อย่างไรก็ตาม หากภาวะผู้นำทางด้านปัญญาและภาวะผู้นำทางความรู้ที่อยู่ในภารกิจต่างๆของสถาบันอุดมศึกษา ไม่สามารถสนองตอบต่อความจำเป็นในเงื่อนไขแวดล้อมอันซับซ้อนของสังคมและไม่มีความเชื่อมโยงกับความเป็นจริงที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในอัตราเร่งที่เร็วมากขึ้นอย่างเป็นลำดับอยู่ตลอดเวลาแล้ว สถาบันอุดมศึกษาก็จะสูญเสียภาวะผู้นำต่อสังคม ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมผ่านภารกิจที่ควรจะเป็นทางด้านการจัดการศึกษาเพื่อสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง การวิจัยเพื่อสร้างปัญญาและความรู้ใหม่ๆ การบริการวิชาการเพื่อเสริมกำลังการผลิตและพลังการจัดการตนเองของสังคม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเพื่อสืบทอดความเจริญงอกงามของภูมิปัญญาและความลึกซึ้งของสังคมที่กลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตสังคม ความที่จะต้องมีภาวะผู้นำเพื่อบริหารภาวะผู้นำดังกล่าวนี้ของสถาบันอุดมศึกษาจึงมีความหมายและมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ผมได้นำเอาตัวอย่างจากประสบการณ์ของตนเองมาเล่าให้เป็นกรณีศึกษาเพื่อนำเข้าสู่หัวข้อสำหรับอ้างอิง ขยายความ และเป็นกรอบจัดกระบวนการเพื่อทำงานความคิดและเรียนรู้การปฏิบัติจากกระบวนการต่างๆของเวที ซึ่งตัวอย่างที่นำมาเล่านั้นไม่ได้หมายให้ผู้เข้าร่วมเวทีเข้าใจว่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด แต่ที่นำมาเป็นตัวอย่างก็เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงในรายละเอียดในทุกมิติของการปฏิบัติได้ดีที่สุด โดยได้ยกตัวอย่างจากการทำงานเชิงพื้นที่ในหน่วยทางสังคมขนาดเล็ก ๒ แห่งของผู้เขียนกับนักวิจัย อาจารย์ กลุ่มคนทำงาน จากคณะต่างๆของมหาวิทยาลัยมหิดล กับชาวบ้านและเครือข่ายชุมชนในพื้นที่ กรณีหนึ่งที่อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอีกกรณีหนึ่งคือ การบูรณาการการทำงานผ่านระบบออนไลน์ GotoKnow กับเครือข่ายคนทำงานในพื้นที่อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

ทั้งสองกรณีตัวอย่าง แสดงให้เห็นถึงการสร้างภาวะผู้นำทางปัญญาและภาวะผู้นำทางความรู้ของสถาบันอุดมศึกษาในบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมไทยและสังคมโลก โดยในเครือข่ายการวิจัยเชิงพื้นที่อำเภอพุทธมณฑลนั้น กระบวนการบางด้าน ได้มุ่งเน้นการลงพื้นที่ทำงานของอาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหาร และกลุ่มคนทำงานสนับสนุนทางวิชาการ เพื่อทำให้การทำวิจัยมีฐานะเป็นเวทีสร้างความรู้และพัฒนาการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ ตลอดจนเรียนรู้การบูรณาการการปฏิบัติที่จะเท่าทันและเพียงพอต่อความเป็นจริงของสังคมจากคนทำงานสหวิทยาการ เข้าถึงทฤษฎีปฏิบัติในสภาพแวดล้อมของสังคมที่สะท้อนระบบความซับซ้อนของสังคมไทยและสังคมโลกในหน่วยทางสังคมขนาดเล็กของพุทธมณฑล อันเป็นพื้นที่ปริมณฑลของกรุงเทพมหานครซึ่งได้ชื่อว่าเป็น ๑ ใน ๒๐ ของมหานครของโลกที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีความผสมผสานระดับการพัฒนาของสังคมสิ่งแวดล้อม สามารถศึกษาและสร้างเข้าใจความเป็นจริงของท้องถิ่นกับอิทธิพลระบบโลกเพื่อเชื่อมโยงไปสู่การวิจัยและสอนนักศึกษาอย่างมีความเป็นปัจจุบันได้เป็นอย่างดียิ่งกว่าการไปหาตำราจากที่ใดมาอ่านเสียอีก

อาจารย์และคนทำงานต่างสาขาได้เดินออกจากคณะและสถาบันไปทำงานในพื้นที่เพื่อเรียนรู้ความเป็นจริงด้วยกันได้อย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงความเป็นชุมชนวิชาการและชุมชนปัญญาชนด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างบูรณาการไปบนประเด็นที่เกิดจากการทำงานและประเด็นสังคมที่เกิดจากชีวิตจริงของชาวบ้าน เพื่อได้กรอบทรรศนะต่อความจริงและใช้เลือกสรรความรู้สำหรับสอน ได้รู้และมีตัวอย่างจากของจริงเพื่อพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติว่าทฤษฎีและความรู้ต่างๆมีเงื่อนไขการใช้ได้จริงอยู่อย่างไร ลดข้อจำกัดและความไม่เพียงพอกับโลกความเป็นจริงของความรู้จากศาสตร์เชิงเดี่ยว เชื่อมโยงการวิจัยและสร้างกระบวนการวิจัยให้เป็นโอกาสเรียนรู้ของนักศึกษาในขั้นสูง ซึ่งสำหรับนักศึกษาคนไทยก็จะทำให้ได้ปัญญาและประสบการณ์ต่อสังคมที่เป็นจริง ส่วนนักศึกษาต่างประเทศจากทั่วโลกก็จะทำให้สามารถได้เรียนรู้จากประสบการณ์และบทเรียนของสังคมไทย คนทำงานมีประสบการณ์ต่อสังคมเพื่อเข้าถึงบริบททางวิชาการซึ่งจำเป็นต้องใช้สำหรับประสานงานทางวิชาการ จัดทรัพยากรทางวิชาการ และทำงานสนับสนุนต่างๆ ได้อย่างสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ลดความสูญเสียในระบบและเสริมพลังความร่วมมือกันของกลุ่มคนทำงานในสถาบันอุดมศึกษาได้อย่างเหมาะสม กระบวนการดังกล่าว ต้องใช้ภาวะผู้นำในความบุกเบิกริเริ่มหลายสิ่งของทุกคนที่เดินลงไปทำงานในแนวทางอย่างนี้

ผลสืบเนื่องของวิธีทำให้กระบวนการวิจัยเป็นวิธีเปิดไปสู่การเรียนรู้ด้วยการมีประสบการณ์ทางสังคมและโลกกว้าง ด้วยทรรศนะทางวิชาการใหม่ๆให้กับอาจารย์และคนทำงานความรู้ในสถาบันอุดมศึกษาบนหน่วยทางสังคมที่จะทำให้ติดตามศึกษาค้นคว้าได้ทันกับประเด็นแนวโน้มของสังคมได้เป็นอย่างดีที่สุดนั้น สะท้อนไปสู่การเกิดความริเริ่มการวิจัย การสอน การบริการวิชาการ และการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมในแนวทางใหม่ๆ หลายอย่างทั้งในระดับมหาวิทยาลัย คณะสถาบัน และในระดับบุคคล แต่การทำสิ่งหนึ่งให้เป็นปัจจัยส่งเสริมการก่อเกิดสิ่งใหม่ๆและสร้างความสำเร็จบนสิ่งอื่นที่อาจจะไม่จำเพาะอยู่บนสิ่งที่เป็นผลงานของตนเองนั้น ผู้ที่ทำงานเพียงระดับมุ่งความสำเร็จและแข่งขันกันเพื่อได้ผลงานแก่ตนเองก่อนสร้างส่วนรวมด้วยกันนั้นจะทำไม่ได้ จึงต้องการภาวะผู้นำอีกแบบ ดังสะท้อนอยู่ในพระปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนกนั่นเอง

ผมเป็นพี่เลี้ยงให้นักศึกษาปริญญาโทนานาชาติที่ผมสอนและคุมวิทยานิพนธ์หลายคน ได้สร้างแนวในการวิเคราะห์ปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมต่อมิติสุขภาพด้วยกรอบคิดใหม่ๆ ที่บูรณาการเข้าไปในแนวคิดเดิมของทั่วไปที่เขาคุ้นเคยอยู่แต่เดิมได้อยู่เสมอ แม้นเพียงเล็กน้อยก็มีความหมายเพราะจะทำให้แพทย์และคนทำงานสุขภาพสามารถอ่านสังคมและอธิบายปรากฏการณ์ทางสุขภาพผ่านตัวแปรทางสังคมได้ด้วยจุดยืนของคนที่มีความรู้ดี และศิษย์เก่า ๒-๓ คนใช้ผลงานขอรับทุนทำปริญญาเอก ซึ่งเมื่อจบแล้วก็จะเป็นผู้นำและผู้บริหารที่มีบทบาทต่อประเทศของเขาซึ่งก็ย่อมเป็นผลดีต่อสังคมทั่วไปด้วย กระบวนการดังที่กล่าวถึงเป็นตัวอย่างนี้ จึงมีบทบาทต่อการนำการเปลี่ยนแปลงของสังคมผ่านการสร้างคนในที่สุด สร้างโลกและสร้างสังคมด้วยการทำสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องสี่เหลี่ยมของมหาวิทยาลัยเสียใหม่ให้มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมด้วยวิธีการทางความรู้นั่นเอง

ส่วนกรณีตัวอย่างของเวทีคนหนองบัวและการเกิดการทำงานเชิงพื้นที่ของคนหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ผู้เขียนได้เน้นในด้านที่มีการใช้ระบบออนไลน์ GotoKnow ทำงานข้อมูล สร้างความรู้ ทำสื่อ และจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยวิธีต่างๆร่วมกับคนหนองบัวและเครือข่ายการเรียนรู้ออนไลน์ ทำให้อำเภอหนองบัวเกิดสิ่งต่างๆเพิ่มพูนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากที่เป็นแหล่งชนบทและไม่เคยมีหลายอย่าง กรณีตัวอย่างดังกล่าวทำให้เห็นถึงระบบปฏิบัติการเพื่อบริการวิชาการและพัฒนาระเบียบวิธีเพื่อเชื่อมโยงบทบาททางด้านการศึกษากับการทำงานเชิงสังคมที่หลายอย่างไม่เคยมีตัวแบบอยู่ในงานประจำ อีกทั้งเป็นรูปแบบการทำงานที่จะเกิดมากขึ้นในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งต้องมีภาวะผู้นำทางการปฏิบัติที่แตกต่างออกไปจากอดีต

จากกรณีตัวอย่าง ผู้เขียนชี้ให้เห็นถึงลักษณะการทำงานที่มีความเป็นสหสาขา เกี่ยวข้องกับคนหลายกลุ่ม มีแบบแผนการปฏิบัติที่หลากหลาย ต้องสร้างความรู้ขึ้นจากการบูรณาการของศาสตร์หลายแขนงและต้องอาศัยความมีประสบการณ์ต่อสังคมด้วยการเข้าถึงทรรศนะต่อความเป็นจริงที่รอบด้านของผู้คนหลากหลายที่เกี่ยวข้อง ต้องทำงานในท่ามกลางการใช้ความรู้ที่แตกต่าง มีส่วนที่เราไม่รู้มากกว่าอาศัยสิ่งที่เรารู้ และต้องดำเนินไปบนระบบซับซ้อนที่ต่างมุ่งสนองตอบต่อประเด็นความสนใจที่หลากหลาย ไม่สามารถที่จะสร้างภาวะผู้นำจากการทำงานที่แยกส่วนเอกเทศ อีกทั้งเป็นการยากที่จะทำให้คนทำงานด้วยความรู้และชุมชนทางปัญญาในสถาบันอุดมศึกษา เกิดความร่วมมือกันได้ ด้วยการใช้อำนาจสั่งการให้ปฏิบัติ คนทำงานและผู้บริหารจะต้องใช้ภาวะผู้นำที่ต้องเรียนรู้ใหม่

นอกจากนี้ ก็ชี้ให้เห็นความเป็นจริงภายใต้ตัวอย่างของการปฏิบัติว่าต้องการพลังในการระดมทรัพยากรและการสร้างความเป็นจริงบนการปฏิบัติอย่างมากมายมหาศาล ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาวิธีคิดต่อระบบและโครงสร้างของภาวะผู้นำที่เปลี่ยนแปลงจากการมุ่งระบบกำกับควบคุมจากยอดปิรมิดของระบบและโครงสร้างทางอำนาจ ไปสู่แนวทางอื่นๆที่มักถูกมองข้าม อันได้แก่ภาวะผู้นำทางการปฏิบัติที่อยู่ในระบบสนับสนุนของกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มปฏิบัติงานบริหาร ซึ่งเป็นกลุ่มคนทำงานกลุ่มใหญ่ที่สุดในสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป

สภาพเงื่อนไขความเป็นจริงทั้งสองประการนี้ เมื่อรวมเข้ากับความที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นผู้ช่วยและรองผู้บริหารระดับต่างๆของมหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ในฐานะการเป็นผู้กำลังเรียนรู้และอยู่ในกระบวนการเตรียมผู้นำรุ่นใหม่อีกด้วยแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าภาวะผู้นำที่จำเป็นต้องสร้างให้โดดเด่นมากที่สุดก็คือการบริหารปัจจัยเกื้อหนุนภาวะผู้นำของปัจเจกให้เป็นพลังปัญญาขององค์กรและการนำจากข้างหลัง (Lead from behind) เพื่อให้กลุ่มผู้ปฏิบัติใช้ภาวะผู้นำของตนเองนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างสะท้อนเชื่อมโยงกับความเป็นส่วนรวม เพิ่มพูนมิติเชิงคุณภาพและมีนัยสำคัญต่อสังคมบนความสำเร็จของกิจกรรม ทักษะผู้บริหารสำหรับการใช้ภาวะผู้นำในลักษณะดังกล่าวนี้ เป็นทักษะของผู้จัดกระบวนการหนุนเสริมและบริหารปัจจัยสนับสนุน สร้างโอกาสให้คนทำงานเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง

ขณะเดียวกัน ก็เป็นทักษะสำหรับการมีส่วนร่วมที่ต้องการให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาใช้ทำงานในเวที พร้อมกับให้หาทักษะและสร้างคำตอบเอาเองว่าเป็นอย่างไรและทำให้เหมาะสมกับความจำเพาะตนของตนเองได้อย่างไร ทั้งนี้ ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้จัดกระบวนการเวทีให้ในครั้งนี้ ได้ย้ำและเสริมพลังใจให้เห็นโอกาสที่จะหาได้ยากเมื่อกลับเข้าสู่สถานการณ์การทำงานว่า ให้ใช้โอกาสในเวทีเพื่อปรึกษาหารือ เข้าถึงความคิดที่แยบคาย เดินเข้าหาผู้อื่น และสร้างประสบการณ์เพื่อมีความเชื่อมั่นในการปฏิบัติทุกอย่างของตนเอง เพราะในเวทีนี้ทุกคนเป็นเพื่อนเรียนรู้ มีความเป็นกัลยาณมิตร มีอาจารย์และผู้บริหารระดับอาวุโสมาร่วมเป็นพี่เลี้ยง ในขณะที่เมื่อกลับเข้าสู่สถานการณ์การทำงานแล้ว ทุกอย่างจะมีขีดจำกัดให้ได้ปฏิบัติและตรวจสอบตนเองแบบลองผิดลองถูก ดังนั้น จงใช้เวทีและกระบวนการต่างๆให้มีความหมายที่สุด

จากนั้น ก็เตรียมจัดกระบวนการเพื่อนำเอาประสบการณ์และการทำงานที่กำลังดำเนินการอยู่มาพิจารณาให้เห็นงานบางส่วนที่มีศักยภาพการเป็นงานเชิงยุทธศาสตร์ สร้างความสำเร็จให้กับองค์กรและสถาบันอุดมศึกษา พร้อมกับสะท้อนความมีภาวะผู้นำทางปัญญาและภาวะผู้นำทางความรู้ ในอันที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม เดินออกจากสิ่งที่ตนเองทำอยู่และสิ่งที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

.................................................................................................................................................................................

หมายเลขบันทึก: 484174เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2012 07:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอบพระคุณอาจารย์ดร.ภิญโญครับที่เข้ามาเยือน

ก่อนหน้านี้เข้าไปอ่านบันทึกของอาจารย์เรื่องขจัดเก้าอี้ในห้องประชุมให้เป็นการยืนประชุมแทน ก็นึกชอบใจอยู่พอดีเลยครับ เพราะในเวทีนี้ อาจารย์ดร.ปริญญากับผม ก็ไปรื้อโต๊ะประชุมและทำให้ผู้บริหารต้องเดินทำสิ่งต่างๆวุ่นวะวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา แหกคอกวัฒนธรรมการประชุมอย่างทั่วไปของเขาหมด พอเห็นอาจารย์นำแง่มุมนี้มาทบทวนหาบทเรียนและแนวปฏิบัติดีๆอีก เลยนอกจากจะประทับใจแล้วก็ได้ตัวอย่างดีๆให้ได้เรียนรู้ไปด้วยเลยละครับ

นี่แหละค่ะภาวะผู้นำที่ชัดเจนมากค่ะ ริิเริ่ม คิดบวก และบูรณาการค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะอาจารย์ :)

เป็น case study ที่ทำให้การมีภาวะผู้นำของนักวิชาการที่สร้างสุขภาวะให้กับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ ดร.จันทวรรณครับ

ต้องขอบพระคุณอาจารย์มากเลยครับ เพราะการได้นำตัวอย่างเหล่านี้มานำเข้าสู่กระบวนการอื่นๆนั้น ก็เกิดจากการได้ฉุกคิดจากที่อาจารย์และทีมของอาจารย์หมอวรัญช่วยเสนอนั่นแหละครับ แต่เดิมนั้น ผมเห็นว่าใน มอ.และเครือข่ายวิจัยชุมชนในภาคใต้มีตัวอย่างที่ดีทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ที่จะสามารถนำมาขยายผลเป็นภาวะผู้นำขององค์กรได้เป็นอย่างดีหลายเรื่อง รวมทั้ง GotoKnow ของอาจารย์ และตัวอย่างการริเริ่มโรงเรียนสำหรับสร้างคนรุ่นอนาคตของอาจารย์หมอวรัญกับมอ.ด้วยครับ เลยพยามพูดเชิงหลักการให้กว้างเพื่อให้เวทีดึงเข้าสู่งานและความโดดเด่นที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยด้วยตนเองและไม่ใช่ถูกชี้นำจากผม แต่พอลองพยายามดูแล้วก็พบว่าทั้งเวทีไม่เคยได้มีโอกาสได้เรียนรู้และเข้าถึงสิ่งที่มีอยู่นอกเหนือจากในองค์กรย่อยๆของตนเองมาให้พอที่จะใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการคิดและเดินไปพร้อมๆกันได้ อีกทั้งภาวะผู้นำและวุฒิภาวะของเวทีก็สูงเกินกว่าการที่จะทำกระบวนการให้เป็นเพียงเรื่อง Skill Training and Development เพื่อผลักดันให้มีการขยายผลแหล่งประสบการณ์ที่ผู้อื่นทำไว้แล้วอย่างปราศจากการได้เข้าถึงให้ลึกซึ้งมากกว่านี้ ข้อชี้แนะหลังเวทีของอาจารย์และทีมผู้จัดเลยช่วยได้มากครับ

ชอบข้อความนี้มากค่ะอาจารย์ "สร้างโลกและสร้างสังคมด้วยการทำสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องสี่เหลี่ยมของมหาวิทยาลัยเสียใหม่ให้มีปฏิสัมพันธ์กับสังคมด้วยวิธีการทางความรู้นั่นเอง"

ขอบคุณค่ะ

จะว่าไปแล้ว GotoKnow กับงานเขียนของคนทำงานและกลุ่มผู้ใช้มากมายนี่ เป็นช่องทางหนึ่งของการทำให้เกิดสิ่งที่อาจารย์ชอบ ที่สอดคล้องกับสังคมและสภาพแวดล้อมทั้งในปัจจุบันและอนาคตมากเลยนะครับอาจารย์จันครับ

* .."ผู้นำด้วยใจ"..ใจเป็นใหญ่..ใจเป็นประธาน..ทุกอย่างสำเร็จด้วยใจ

*..พี่ใหญ่ขอแสดงความเห็นเพิ่มเติมนะคะ..

*.. ขอเทอดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นแบบอย่างของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงแห่งวิถีปฏิบัติพอเพียงมาสู่สังคมไทย โดยทรงทำให้ดู อยู่ให้เห็น ด้วยคุณธรรมควบคู่กับความรู้ ดังเป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนยาวนานตลอดมา

* ..หากสถาบันการศึกษาจะได้น้อมนำหลักคิด หลักปฏิบัติของพระองค์ท่าน มาประยุกต์สอนนักศึกษา ย่อมจะเห็นรูปธรรมอันพึงประสงค์อย่างแน่นอน

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ
ต้องถือว่าทรงเป็นครู ทั้งทรงเป็นกำลังใจและหลักชัย
ให้ผู้คนอยากทำชีวิตการงานให้ดีเพื่อตนเองและสังคมเลยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท