เจ้าต้นไม้ชอบออนไลน์


ผมคิดว่าการเลี้ยงลูกในยุคปัจจุบันนี้นั้นเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดดอย่างมาก ทำให้เอาความคิดหรือแนวทางในการเลี้ยงลูกที่พ่อแม่เราเคยเลี้ยงดูเราหรือได้เรียนรู้มาจากคนอื่นๆ มาใช้ตรงๆ แทบไม่ได้เลย

อย่างเรื่องทีวีนี่ก็เหมือนกัน เขาบอกกันมากว่าอย่าให้ลูกดูทีวี แต่ผมกลับคิดต่าง ก่อนหน้านี้ทีวีนั้นไม่มีทางเลือก เขาส่งรายการอะไรมาก็ต้องดูสิ่งนั้น แล้วรายการทีวีของไทยเรานั้นไม่มีคุณภาพ อย่าว่าแต่ให้เด็กดูเลย ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรดู

แต่ "ทีวี" ในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไป เรามี "Smart TV" ที่ต่อเชื่อมกับอินเทอร์เน็ต เรามีทีวีผ่านดาวเทียม และเรามีคอมพิวเตอร์ที่ต่อเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตตลอดเวลาเพื่อดูวิดีโอได้สารพัดประเภท

(อืมม.... หมายถึงบ้านครอบครัว "ปิยะวัฒน์" ที่พ่อและแม่ต้องทำงานอยู่กับอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา ผมไม่รู้ว่าบ้านอื่นจะแตกต่างจากบ้านนี้มากแค่ไหนครับ แต่หากต่าง เชื่อว่าอีกไม่นานก็ไม่ต่างกันครับ)

ดังนั้นในปัจจุบันนั้นเรามีโอกาสในการเลือกรายการวิดีโอที่จะให้เด็กดูได้หลากหลายมาก รายการเด็กดีๆ มากมายทั่วโลกที่สามารถดูได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส

สังเกตุว่าเจ้าต้นไม้เมื่อได้ดูรายการทีวีดีๆ แล้วเขาจะมีการตอบรับที่ดี เขามีความสุขและเป็นเด็กอารมณ์ดี

ผมและ อ.จัน จะนั่งดูกับเขา และเมื่อเขามีคำถามเราก็จะตอบ ส่วนนี้น่าจะสำคัญ เราไม่ได้ให้ทีวีเลี้ยงเขา แต่เราเลี้ยงเขาด้วยทีวี หรืออีกมุมหนึ่งคือให้คนอื่นช่วยเลี้ยงผ่านทีวีนั่นเอง

อย่างไม่นานมานี้เราซื้อสเก็ตบอร์ดให้เจ้าต้นไม้ แต่ทั้งพ่อและแม่เล่นไม่เป็นทั้งคู่ เราเลยเปิดวิดีโอสอนการเล่นสเก็ตบอร์ดให้เขาดู เขาก็เริ่มเล่นตาม "พี่" ที่เห็นใน YouTube ตอนนี้เริ่มเล่นได้บ้างแล้ว

ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งคือเรื่องภาษา เจ้าต้นไม้ฟังภาษาอังกฤษไม่ออกแน่ๆ แต่เราก็ไม่ได้แปลให้ฟัง ปล่อยให้เขาเข้าใจไปเองโดยธรรมชาติ ผมเคยอ่านมาว่าเด็กจะมีความสามารถในการเข้าใจภาษาสูงกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะจริงครับ เขาดูเหมือนรู้เรื่อง ถ้าสงสัยจริงๆ เขาจึงถามว่าหมายความว่าอย่างไร

ก่อนนอนเราจะให้เจ้าต้นไม้เล่น iPad โดยเราเลือกเกมส์ที่เสริมทักษะต่างๆ ให้เขา บางทีเขาก็เลือกเองจาก App Store iPad มีเกมส์ฝึกทักษะสำหรับเด็กเยอะมาก แต่ละเดือนเราจ่ายค่าเกมส์ไปเยอะเหมือนกันครับ

หลังจากเล่มเกมส์สักพัก เขาก็จะดูวิดีโอจาก YouTube บน iPad โดยส่วนใหญ่จะเป็นการ์ตูน แล้วจากนั้นเราก็จะอ่านหนังสือให้เขาฟัง เขาก็จะหลับไปกับหนังสือนั่นเอง

บันทึกนี้ไม่มีข้อสรุป แค่บอกเล่ารูปแบบการเลี้ยงลูกของผมและ อ.จัน ที่เราไม่รู้ว่าผิดหรือถูก ก็คงต้องดูกันต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 483761เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2012 19:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 09:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

เทคโนโลยีหรือเครื่องมือใดๆก็เป็นเพียงเครื่องมือค่ะ สิ่งสำคัญที่สุดคือความเข้าใจ ความมั่นคงทางใจที่เราจะให้กับลูก ซึ่งเป็นเกราะที่ดีที่สุดในการออกไปเผชิญโลกภายนอกค่ะ สิ่งที่เราทำเป็นนิสัยนี่ก็เป็นสิ่งที่ลูกจะเป็นกระจกที่ชัดมากค่ะ ยิ่งเขาโตขึ้น เรายิ่งได้เห็นตัวเราในตัวลูก เชื่อมั่นว่าน้องต้นไม้จะเป็นพลังที่ดีของโลกในรุ่นต่อไปแน่นอนค่ะ

* อ่านแล้วสะท้อนความอบอุ่นของครอบครัว "ปิยะวัฒน์"..ที่เป็นความโชคดีของหลานต้นไม้

* เห็นด้วยกับน้องโอ๋ค่ะ

เป็นครอบครัวที่อบอุ่ม และมีภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดเลยครับ อย่างที่กล่าวกันว่า เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ลูกจะได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ทำให้ลูกแข็งแรง ครอบครัวอาจารย์ทั้งสองได้สร้างภูมิคุ้มกันทีดีให้น้องต้นไม้ได้เป็นอย่างดี และเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดนะครับ อยากทำแบบนี้บ้าง แต่ยังไม่มีลูก (และยังไม่มีแม่ของลูก) แต่ผมก็กำลังสร้างภูมิคุ้มกันให้พ่อ และ แม่ ที่ผมรับมาอยู่ด้วยกับผมที่ กทม. ให้เขามีความสุขจากความอบอุ่นและการใส่ใจจากลูกคนนี้ มากกว่าเรื่องอื่นใดในชีวิตครับ...

จะแจ้งให้อาจารย์ทราบในบันทึกเกี่ยวกับระบบโกทูโน
แต่หาบันทึกดังกล่าวไม่เจอ
เลยขออนุญาตแจ้งที่นี่ก็แล้วกันเนาะ

ในบันทึกที่มีความเห็นมากกว่า ๑๐๐ ความเห็นขึ้นไป
หลายบันทึกด้วยกัน ซึ่งมีหลายหน้า
หลายวันมานี้ไม่สามารถอ่านได้ครบทุกหน้า 
จะอ่านได้เพียงหน้าแรก กับหน้าสุดท้าย สองหน้าเท่านั้น

ขอเจริญพร 

กราบเรียนพระอาจารย์ครับ ทางทีมงานจะรีบแก้ไขครับ

  • ขอแลกเปลี่ยนรู้ความคิดเกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตรหลานด้วยนะคะ เพราะ "ยายวิ" พอจะมีความรู้และประสบการณ์อยู่บ้างในเรื่องนี้  เนื่องจากได้สอนวิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ "พัฒนาการและการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก" มานาน ได้ทำวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับครูและผู้ปกครองเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย (อายุ 0-6 ปี) โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในด้านประสบการณ์การเลี้ยงดูเด็ก แม้ประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกของตนเเองจะนำมาใช้ได้น้อย เพราะเป็นการเลี้ยงต่างยคต่างสมัยที่บริบทเปลี่ยนไปมาก แต่ก็มีหลาน (ลูกของลูกพี่สาวคนติดกันซึ่งมีคุณพ่อและคุณแม่เป็นหมอ) ที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกับน้องต้นไม้ที่ได้เข้าไปให้การสนับสนุนการส่งเสริมพัฒนาการ และยายวิจบปริญญาตรีมาในวิชาเอกภาษาอังกฤษ และส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้กับหลานๆ ด้วยค่ะ
  • ก่อนอื่นขอบอกว่า น้องต้นไม้โชคดีที่มีคุณพ่อคุณแม่ช่วยกันเลี้ยงดูแบบสองแรงแข็งขัน เพราะมีผลการวิจัยในประเทศไทยและการยืนยันจากข้อมูลเชิงประจักษ์ที่พอจะสรุปได้ว่า ลูกที่มีคุณพ่อช่วยเลี้ยงดูด้วยความรัก จะมีพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย (Physical) ด้านอารมณ์ (Emotional) ด้านจิต-สังคม (Psycho-social) และด้านสติปัญญา (Intellectual) ดีกว่าเด็กที่พ่อไม่ได้ช่วยเลี้ยงดู และที่สำคัญที่สุด จะทำให้เด็กรู้สึกว่า เขาได้รับความรักจากทั้งพ่อและแม่ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่สำคัญมาก เพราจะทำให้เด็กเห็นคุณค่าในตนเอง (Self Esteem) และเป็นคนมองโลกในแง่ดี (Optimist)  ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีของความต้องการที่จะทำในสิ่งดีๆ เพื่อตนเองและผู้อื่น
  • เรื่องของ TV กับการเลี้ยงดูเด็กนั้น ที่จริงเขาไม่ได้ห้ามเด็กดู TV แต่แนะนำว่า "พ่อแม่ไม่ควรเลี้ยงลูกด้วย TV" ซึ่งแปลว่า การทิ้งลูกไว้กับ TV ตามลำพัง ซึ่ง TV บ้านเราก็อย่างที่รู้มียาพิษปนอยู่ไม่น้อย เด็กไม่สามารถ Screen ได้ เด็กก็จะรับทุกอย่างเข้าไปในประสบการณ์ และประสบการณ์ทางลบก็กระทบอารมณ์และเลียนแบบได้ง่ายกว่าประสบการณ์ทางบวก เขาจึงแนะนำให้พ่อแม่เลือกรายการ TV ให้ลูกดูและดู TV ไปพร้อมกับลูกเพื่อให้คำแนะนำ และกำหนดเวลาในการดู สิ่งที่ ดร.ธวัชชัย และดร.จันทวรรณปฏิบัติที่ท่านเรียกว่า "ใช้ TV เลี้ยงลูก" นั้นสอดคล้องกับข้อแนะนำทุกประการเลยค่ะ "ยายวิ" ก็ได้บันทึกรายการ TV เป็นวีดิทัศน์ (Videotape-เทคโนโลยีเมื่อ 10 ปีที่แล้ว) เพื่อนำไปใช้เป็นสื่อเสริมประสบการณ์ให้กับเด็ก ซึ่งมีทั้งรายการที่ผลิตในไทยและต่างประเทศ มีทั้งเพลงเด็กและท่าประกอบ นิทาน การละเล่น เกม ศิลปะและการประดิษฐ์ สถานการณ์จำลองเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ดี เป็นต้น 
  • ในด้านการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศนั้น การเรียนรู้ที่ได้ผลที่สุดคือการเรียนรู้ตามธรรมชาติ อย่างที่เราพูดภาษาไทยได้ก็เพราะเราเติบโตมาท่ามกลางบุคลลแวดล้อมที่สื่อสารกับเราเป็นภาษาไทย ทำให้เราได้เรียนรู้คำ วลี และประโยคจากการฟัง และเรียนรู้ความหมายจากการสังเกต วิธีการที่ดร.ธวัชชัยใช้กับลูก "ถูกต้องอีกแล้วครับท่าน" และถ้าเราต้องการให้เด็กพูดสื่อสารภาษาอังกฤษได้ เราก็ต้องสื่อสารกับเขาทุกๆ วันซ้ำๆ ให้เด็กพูดตาม เด็กก็จะพูดได้ เช่นเวลา ลูกอาบน้ำ ก็สอนให้เขาพูดว่า I'm taking a shower. (อาบน้ำฝักบัว; a bath : ตักอาบเป็นขันๆ) ขณะรับประทานอาหารเช้าก็สอนให้เขาพูดว่า I'm having lunch. เป็นต้น
  • ขอแถมอีกประเด็นหนึ่งค่ะ การเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีไม่สามารถใช้ทดแทนการเรียนรู้จากบุคคลจริงในสภาพจริง (Authentic) ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องหาโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) กับเด็กในวัยเดียวกันด้วย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านจิต-สังคมและทักษะชีวิต
  • เชื่อว่า "น้องต้นไม้" จะเติบโตอย่างมีคุณภาพสมบูรณ์ทุกด้าน พร้อมด้วยการมีวัคซีนคุ้มกันพิษภัยจากสังคมภายนอกจาการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพของคุณพ่อคุณแม่ ค่ะ    

       ขอแก้ที่พิมพ์ผิดด้วยนะคะ เริ่มประโยคแรกเลย ...แลกเปลี่ยนรู้ เป็น...แลกเปลี่ยนความรู้ และที่ผิดจังๆ ไม่แก้ไขไม่ได้ รับประทานอาหารเช้า คิดอยู่ว่า "breakfast" แต่พิมพ์เป็น "lunch" ไปได้ยังไงก็ไม่ทราบค่ะ สงสัยจะเป็นอาการหนึ่งที่มาพร้อมกับสถานภาพความเป็น "ผู้สูงอายุ" ค่ะ 

ขอบคุณครับอาจารย์ ตอนนี้ปัญหาที่ผมดูอยู่ที่ต้องหาทางแก้คือเจ้าต้นไม้ด้วยความเป็นลูกคนเดียวจะไม่ค่อยได้เล่นกับเด็กวัยเดียวกันนักครับ คงต้องพยายามหาโอกาสให้เขาได้เจอกับเด็กอื่นๆ มากขึ้นตามที่อาจารย์แนะนำครับ

น่าสนใจมากครับ คงต้องให้เล่นกับเพื่อนๆด้วย แต่อย่าให้ไปต่อยเพื่อนๆแบบครั้งก่อนนะครับ (ฮา)

นำภาพจาก อีสาน มาฝากให้กำลังใจ  คนใต้ ครับ

ขอชื่นชมกับการที่นำมาแลกเปลี่ยนค่ะ

  • สื่อเทคโนโลยีก็คงเหมือนสิ่งอื่นๆนะครับ มีทั้งประโยชน์และโทษ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วล่ะว่า จะใช้มันอย่างไร? 
  • ขอบคุณประสบการณ์ดีๆนี้ครับอาจารย์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท