REFLECTION (3) ลิขิตชีวิตประภัสสร และอักษรแห่งการเยียวยา


ความรู้สึกที่มองเห็น กับ ไวทยากร

อันที่จริง แค่เขียนเพื่อทำสมาธิและเขียนเพื่อผ่อนคลาย ก็สามารถเป็นกุศโลบายเพียงพอแล้วสำหรับคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผ่อนคลายเดียวนี้ดูจะเป็น rare commodity ของหายากหาเย็นไปเสียแล้ว ถึงขนาดบางคนอาจจะพยายามมีกิจกรรมผ่อนคลายอย่าง serious จริงจังนั่นเลยทีเดียวเจียว มีความพยายามทำหน้าผ่อนคลาย พยายามหย่อนกล้ามเนื้อ พยายาม relax พยายาม ฯลฯ หาทราบไม่ว่าอันดับแรกที่พึงกระทำก่อนก็คือ "ละพยายาม" นั้นแล

ในบรรยากาศแห่ง "คุณภาพ" ที่ไม่ทราบเพราะอะไร เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ติดมากับคำคุณภาพหรืออะไรสักอย่าง ที่ทำให้การจะได้มาซึ่งคุณภาพมันต้องหนัก ต้องสูงส่ง ต้องพยายามอย่างมาก แต่ของบางอย่าง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่อนคลาย) ยิ่งพยายามยิ่งไม่ได้ เหมือนสนเข็ม จะดึงดัน ลากถู ไม่ได้ ต้องเนียนๆ สอดใส่อย่างแผ่วเบาแต่นิ่ง ไปโดยธรรมชาติ (เป็นเคล็ดลับสนเข็มซึ่งบรรดาแม่ๆเอาไว้หลอกเด็กว่าสนได้เพราะเลียด้าย แต่จริงๆเลียจนโชกก็ยังไม่ได้ หากไม่ได้เคล็ดลับที่แท้จริงคือ "พยายามโดยไม่พยายาม" และศิลปที่สำคัญอีกประการคือการรู้จัก "องค์ประกอบแห่งความสำเร็จ" นั่นคือการดูแลบริบทด้วย ไม่ใช่ไปเน้นแต่ตัวเอก พระเอก นางเอก ไม่สนใจ location อุณหภูมิ ภูมิประเทศ ความปรองดองของตัวประกอบอื่นๆเลย

กลับมาที่หัวข้อการสะท้อน workshop นี้ใหม่

Visualize thought and feeling (การทำความคิด ความรู้สึก ให้สัมผัสได้)

สิ่งที่ยากที่สุดในการทำสมาธิหรือคุมสติคือการ "ไม่คิดอะไร" ซึ่งยากกว่าการ "คิดอะไรอย่างเดียว" มาก (และยากกว่าคิดไปเรื่อยๆมากมายหลายเท่า) ส่วนหนึ่งของทั้งความคิดและความรู้สึกก็เป็นอะไรที่เป็นนามธรรม ฟุ้งซ่าน เรื่อยเปื่อย จับต้องไม่ได้ และ flash เข้ามาด้วยความเร็วสูงมาก วันหนึ่งๆเราคิดอะไรต่อมิอะไรได้เป็นหมื่นๆเรื่อง หลายสิบหรือเป็นร้อยเรื่องต่อนาที ซึ่งคิดแบบนี้ รู้สึกแบบนี้ มันคงจะยากที่จะนำมาต่อยอด ผลิดอกออกผล

การเขียนเป็นการทำให้ทั้งความคิดและความรู้สึก เริ่ม "จับต้องได้" จากนามธรรมมากๆ การพยายามบรรยาย/พรรณนาเป็นตัวอักษร การได้เห็นอักขระ อักษร รวมตัวกันไหลผ่านปลายปากกา หรือดินสอ เป็นเวทมนต์ชนิดหนึ่งได้ทีเดียว เพราะเราเปลี่ยนสถานะของของเหลวหมึก หรือแท่งกราไฟท์ของไส้ดินสอ ให้กลายเป็นอะไรที่มีความหมาย สื่อความคิด และส่งต่อความรู้สึก ออกมาต่อหน้าต่อตาอย่างมหัศจรรย์ยิ่ง

กระบวนการเขียน (หรือพิมพ์... มีคนสะท้อนเรื่องนี้ด้วย ถ้าไม่ลืมจะนำมากล่าวอีกครั้งหนึ่ง) เป็นอุบายที่ดีที่ทำให้เรา "ชะลอช้าลง" โดยอัตโนมัติ ช้าลงกว่าการคิดแน่ๆ และยังเป็นการสะท้อนแบบทันควัน เพราะถ้าเราเขียนไป (หรือพิมพ์ไป) ก็จะมีการอ่านทวนไป คิดไป อ่านทวนไป วนไปมามากมายหลายๆรอบในชั่วเวลาแค่พริบตา และผลแห่งการชะลอช้าลงก็จะ "เพิ่มโอกาส" (ไม่ได้การันตี) ที่เราจะ "เห็น" อะไรที่เราจะพลาดเมื่อเรากำลังอยู่ในโหมดเร็ว ที่สำคัญได้แก่ เห็น "ก้อนอารมณ์" (ถ้าจะเลียนแบบศัพท์ฮิตปีที่แล้วก็ต้องเรียก "มวลอารมณ์ก้อนใหญ่ (เล็ก)") เห็นก้อนความคิด ที่เราอาจจะเลือกคุมกำเนิด คัดทิ้ง หรือกรองเก็บเอาไว้ใคร่ครวญต่อ

และตรงนี้ในบางโอกาสที่เรา "จับได้ ไล่ทัน" เรื่องราวบางเรื่อง หมายถึงการเปลี่ยนชีวิตได้เลยทีเดียว

Body-vipassna (กายภาวนา)

สิ่งน่าสนใจในกิจกรรมที่เราจัดให้ในครั้งนี้ ได้แก่การผสมผสานกายภาวนา (body vipassna) เข้ากับกระบวนการเขียน เพื่อเพิ่มขอบเขตของสติ (awareness) ให้มากไปกว่าแค่เนื้อหา/ความหมาย แต่อาจจะออกมาถึงขั้น "การกระทำ" (หรือ symbolic movement) ก็ได้

"ไวทยากร"

มนุษย์เป็นเผ่าพันธุ์ที่มีการพัฒนาทักษาด้านการสื่อสารที่ซับซ้อนมาก และเรายังสามารถติด "เครื่องขยาย" (amplifier) การสื่อสารลงไปในภาษาที่ใช้ได้หลากหลายวิธี ใน workshop ของเราใช้ body หรือการ dance / การรำ การทำกายภาวนา เป็นตัวขยายความหมายของสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ

ps: เนื่องจาก ws สองวันนี้ เราจัดกิจกรรมไม่เหมือนกันเลย ยกเว้นรายการสุดท้ายคือจดหมายถึงเพื่อนที่เหมือนกัน นอกนั้นจะต่างกันหมด แต่เพื่อความสะดวก ผมจะสะท้อนรวมไปเลย ถ้าหากผู้เข้าร่วมคนไหนสงสัยว่าทำไมไม่ได้ทำ ก็ขอให้สรุปได้เลยว่าเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นใน ws อีกวันหนึ่ง

เพลงนั้นเป็นสื่อที่ "ขยาย" มาแล้วรอบหนึ่ง การใส่สัมผัสลงในภาษา และการใส่ท่วงทำนองลงในภาษา เป็นอุบายเพิ่มความหมาย เพิ่มพิธีกรรมให้แก่ภาษาที่มนุษย์ใช้เทคนิกนี้มาเป็นเวลายาวนาน

แบบฝึกหัดเขียนที่เราจัด เริ่มนำเอาพล็อตมาจากสิ่งใกล้ตัว หรือประสบการณ์ตรง ในที่นี้เราใช้ "เพลง" เป็นสื่อ ห้วข้อที่เขียนก็นำเอาเรื่องใกล้ตัว (อันนี้เป็น rule of thumb) เพราะง่ายสุด ไม่มีใครเถียงได้ ถูกผิดเราเป็นคนกำหนด พูดง่ายๆก็คือเริ่มต้นจาก safe zone ของเรานั่นเอง เพราะอุปสรรคใหญ่ของการเขียนคือ "ความกลัว"

เราอาจจะเริ่มต้นหัวข้อแบบ ความสุข การขอบคุณ สิ่งที่สวยงาม ฯลฯ อะไรก็ได้ ในขณะที่เขียนเราใช้เพลงบรรเลงประเภท serenity หรือที่ใช้ในสปา ในโยคะ session ทั่วๆไป

ที่นี้ทำอย่างไร การเขียนจึงจะเป็นการ meditation หรือภาวนา? อันที่จริง การเขียน การบันทึก ดังที่กล่าวไว้ ณ ที่หนึ่งไปแล้วว่าเป็นกิจกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ทำให้เราเรียนรู้แบบ "ต่อยอด" ทั้งระดับปัจเจกและระดับสังคม ไม่ต้องตั้งต้นใหม่ทุกครั้งที่ใครตายไป หายไป ความ "ยิ่งใหญ่" โดยนัยยะนั้นชัดเจน เรากำลังทำอะไรที่ species มนุษย์ใช้แยกแยะตนเองออกจากที่เหลือ มนุษย์ถ่ายทอดมรดกหลายอย่างแก่ชนรุ่นหลัง ในบรรดานั้นสิ่งอันทรงคุณค่าที่สุดคือ "มรดกทางปัญญา"

และปัญญาที่ทรงพลังที่สุด ได้มาจากประสบการณ์ การเรียนรู้ การภาวนา ตั้งจิตใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง

การดึงเอา "inner self" หรือประสบการณ์ ปัญญาฝังในของแต่ละคนออกมานั้น จำเป็นต้องหล่อเลี้ยง "ฐานใจ" ให้ดี อาจจะทำได้ด้วยความผ่อนคลายก็ได้ แต่ไม่จำเป็น เพราะถ้าหากสิ่งที่กำลังทำนั้น "มีความหมายพอเพียง" แม้จะยาก แต่มนุษย์ก็ยังเลือกที่จะสร้างสรรค์ขึ้นมาให้ได้ แต่อาจจะลำบากกว่าการเขียนแบบสบายๆเท่านั้นเอง ดังนั้นเวลาเราบอกให้ผู้เข้าร่วมเขียน เราขอให้จินตนาการไปด้วยว่า "อารมณ์ ความรู้สึก" กับเรื่องที่เขียน และจากตัวเรานั้น หลั่งไหลออกมากับหมึกจากปากกาเราไปด้วย ทุกๆหยด ทุกๆเส้น

การ "เชื่อมอารมณ์" กับประดิษฐ์กรรมจากการลิขิตของเรามีความสำคัญ บริบทก็มีผลเยอะ รวมทั้งวัสดุ อุปกรณ์ ต่างๆ ท่านั่ง (นอน) เราเลือกใช้ปากกาหมึกเจลที่ยังมีความเป็นของเหลวอยู่มากกว่าปากกาลูกลื่นธรรมดาเพราะเหตุนี้ (คนเข้า ws วันแรกจะอดใช้ เพราะ สรพ.พึ่งหามาให้ได้ในวันที่สอง) เขียนไปลื่นๆจะรู้สึกได้เหมือนกับ "ชีวิต" ไหลออกมาจากปลายปากกาเลยทีเดียว

สำหรับคนที่ชอบพิมพ์ ก็จะอดรับรู้ความรู้สึกแบบนี้ไป แต่มีอะไรอย่างอื่นแทน สัมผัสและเสียงของ keyboard ก็เป็นเสน่ห์ได้อีกแบบ พิมพ์เร็วๆ เสียงจะเหมือนน้ำฝนตกกระทบรางน้ำในจังหวะที่แตกต่างกัน การเขียนด้วยดินสอที่ soft มากๆ (เช่น 4B 6B) บนกระดาษที่มี surface texture ก็จะได้ความรู้สึกของแท่ง graphite บดลงผิวกระดาษและค่อยๆอัดผงถ่านลงไปบนร่องลายกระดาษพร้อมๆกับการสูญเสียเนื้อปลายดินสอไปเล็กน้อย เรายังสามารถบังคับหนักเบาได้ด้วย และเหมาะมากสำหรับคนที่ชอบสเก็ตภาพประกอบการเขียน เพราะร่างด้วยดินสอนั้นเปิดความเป็นไปได้ได้เยอะกว่าด้วยปากกา

ในช่วง reflection ก็มีคนสะท้อนเรื่องปากกา ดินสอ หรือพิมพ์ แสดงว่ามีคนสัมผัสได้จริงถึงความละเอียดนี้

เมื่อเขียนเรื่องง่ายๆพอเพียง เราให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน และแสดงความรู้สึกกัน เสร็จแล้วเราก็ทดลองให้ทำการเขียน "จากเรื่องราว" สดๆ โดยใช้เพลงเป็นเครื่องมือ เพลงนี้คือ "อิฐก้อนหนึ่ง"

เป็นเพลงที่ inspire คนได้ง่ายๆด้วยเนื้อเพลง และท่วงทำนองการขับร้องของคุณบี พีระพัฒน์

เพื่อช่วยคนเขียนสะท้อนเราโยน series คำถามลงไปให้เป็นพล็อตคร่าวๆ เช่น

  • อิฐที่มีความหมายคืออะไร?
  • คำว่า "อย่ายอมเพราะความง่าย" หมายความว่าอย่างไร ยกตัวอย่าง?
  • เพลงนี้เกี่ยวกับอะไร รู้สึกอย่างไร
  • ถ้าเป็นอิฐได้สักก้อนเดียว คุณอยากเป็นอิฐก้อนไหน เพราะอะไร?
  • อิฐก้อนหนึ่ง มีความสัมพันธ์กับอิฐก้อนอื่นๆอย่างไร
  • ฯลฯ

ต้องขอบอกว่ายกเครดิตให้ผู้มาเข้าร่วมในครั้งนี้มาก เพราะ session นี้มีสิทธิเตลิดออกไปฐานคิดได้เยอะ แต่ปรากฏว่าคนมาร่วมรักษาเป็นฐานกาย และฐานอารมณ์ไว้ได้ดีมาก ดูจากการสะท้อนและความ "อิน" กับกระบวนการ

เราทดลองให้คนเข้าร่วม ได้สวมวิญญาณไวทยากร (conductor) และเป็นคนนำวงดนตรีทั้งหมดบรรเลงเพลงนี้ ซึ่งทำได้มีพลังดีมาก บางคนแทบจะรู้สึกได้ถึงความเชื่อมต่อของไม้บาตอง (จินตนาการในมือ) กับการไหลจังหวะต่างๆของเพลง และการกระฉอกของคลื่นอารมณ์ในท่วงทำนองต่างๆได้เลย ใบหน้าของคนทำ (หลับตา) ก็เสมือนกำลังอยู่ในคาเนกีฮอลใหญ่ คนฟังนับพัน นักดนตรีนับร้อย กำลังสำแดงสุนทรีย์ตามสิ่งที่เขากำลังนำไปด้วย

ตอนแรกๆบางคนก็ยังฝึด อาจจะถูกบล็อกนิดหน่อย แต่พอไปได้ จะเห็นการประสานของ body ในการสื่ออารมณ์ และสื่อสารกับนักดนตรีได้ เป็นธรรมชาติ แสดงถึงการเป็นธรรมชาติของอวจนภาษาและการใช้ body ของคนในการติดต่อ แลกเปลี่ยนความคิด ความรู้สึกได้อย่างชัดเจน

หมายเลขบันทึก: 482685เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2012 08:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 17:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท