เตรียมสะสมอาหารให้มะนาวสมบูรณ์พร้อมต่อการออกดอกนอกฤดู (3) 


เด็ดยอดอ่อน รมควัน การเด็ดยอดอ่อนและรมควันในอดีตสมัยโบราณเป็นที่นิยมกันมากเนื่องจากจำนวนต้นน้อยดูแลบริหารจัดการได้ง่าย

 

ใช้ไตรโคเดอร์ม่าในการปกป้องรักษารากหรือระบบนเวศน์ใต้ทรงพุ่มให้คงอยู่อย่างปลอดภัย ปราศจากศัตรูหรือเชื้อโรคเข้าทำลาย ช่วยกระตุ้นให้รากสามารถหาอาหารดูดกินส่งอาหารไปเลี้ยงลำต้นและดอกใบได้อย่างต่อเนื่องไม่ชะงักงัน เชื้อราเขียวไตรโคเดอร์ม่า เป็นจุลินทรีย์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเชื้อราด้วยกัน เมื่อนำหัวเชื้อไตรโคเดอร์ม่า 1 กิโลกรัมคลุกผสมกับปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก 50 กิโลกรัมพรมน้ำพอชุ่มชื้นหมักทิ้งไว้สองสามคืนนำไปใส่รอบทรงพุ่มจะช่วยสร้างจุลินทรีย์เจ้าถินใต้ต้นมะนาว เชื้อราชนิดอื่นๆเข้ามาก็จะถูกเชื้อราเขียวไตรโคเดอร์ดักจับกินและทำลายช่วยลดปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าและโรคทางดินให้แก่มะนาวช่วยให้พร้อมต่อการเปิดตาดอกมายิ่งขึ้น
 
ฮอร์โมนไข่ การใช้ฮอร์โมนไข่ในอัตรา 5 -  10 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตรฉีดพุ่นทุกสัปดาห์ ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมจะช่วยทำให้มะนาวสะสมคาร์โบฮัยเดรทกระตุ่นให้ใบแก่เร็ว สะสมอาหารได้มาก อีกทั้งฮอร์โมนไข่ยังช่วยเพิ่มแคลเซียมและวิตามินในการบำรุงสภาพต้นโดยรวม ช่วยให้ขั้วดอกและผลที่จะเกิดในเดือนถัดไปเหนียวและแข็งแรงไม่หลุดร่วงง่าย
 
เด็ดยอดอ่อน รมควัน การเด็ดยอดอ่อนและรมควันในอดีตสมัยโบราณเป็นที่นิยมกันมากเนื่องจากจำนวนต้นน้อยดูแลบริหารจัดการได้ง่าย การเด็ดยอดอ่อนก็เพื่อหยุดการสะสมและทำลายฮอร์โมนที่ชื่อว่าจิ๊บเบอเรลลิค แอซิด ซึ่งคอยทำหน้าที่สร้างใบอ่อน ยอดอ่อน เมื่อฮอร์โมนจิ๊บเบอเรลลิค แอซิดถูกทำลาย พืชหรือมะนาวก็จะหยุดการสร้างใบอ่อน ช่วยให้มะนาวส่งอาหารไปเลี้ยงใบเก่าใบแก่ได้มากขึ้น ส่วนการชโลมรมควันนั้นเป็นการให้แร่ธาตุคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เพิ่มเสริมเข้าไปให้แก่ต้นและใบมะนาวอีกทางหนึ่ง ในอดีตเกษตรกรมีการเลี้ยงวัวเลี้ยงควายเป็นเครื่องมือไว้ไถนา เมื่อเสร็จจากงานนาก็จะมีการก่อกองไฟ สุมไฟตามคอกหรือปลักเพื่อป้องกันยุงหรือแมลงรบกวน โดยปล่อยให้ควันไฟล่องลอยไปยังต้นไม้ที่ต้องการโดยอาจมีการเคลื่อนย้ายหมุนเวียนไปตามจุดต่างๆตามที่ต้องการให้ไม้ผลชนิดนั้นสะสมอาหารติดดอกออกผลต่อไป แต่ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมเท่าใดนักเนื่องจากจำนวนต้นมากและบวกวัฒนธรรมท่ีเปลี่ยนแปลงไปในยุคปัจจุบัน
 
ใช้มีดฟันโคนต้น ใช้ลวดรัดกิ่งและราดสารพาโคบิวทราโซน อันนี้เพื่อตัดและทำลายท่อน้ำท่ออาหารไม่ให้ส่งไปเลี้ยงดอกผล กิ่งใบและลำต้นได้สะดวก จนพืชขาดสารอาหาร เกิดความเครียดหลั่งสารเอทธิลีน คิดว่าตนเองกำลังจะตายจึงเร่งสร้างดอกออกผลออกเพื่อขยายเผ่าพันธุ์ของตนเองให้ดำรงคงอยู่ต่อไป อีกวิธีหนึ่งคือการใช้สารพาโคบิวทราโซนเพื่อหยุดการทำงานของจิ๊บเบอเรลลิค แอซิด เมื่อราดสารชนิดนี้ลงไปมะนาวจะถูกระงับมิให้มีการสร้างสารจิ๊บเบอเรลลิน ยอดอ่อนถูกทำลายหงิกงอบิดเบี้ยว สวนมะนาวที่มีการสะสมสารเหล่านี้ไว้ในดินมากๆ ต้นจะทรุดโซมใบหงิกงอพิการจากการทรมานด้วยสารดังกล่าวและไม่สามารถที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยั่งยืนยาวนาน เพราะวงจรชีวิตของต้นมะนาวจะสั้นลง วิธีการดังกล่าวนี้เป็นที่นิยมมากสำหรับอาชีพรับเหมาเช่าสวนทำมะนาวเฉพาะกิจพอหมดสัญญาเช่าเจ้าของกลับมาดูแลต่อก็แทบเป็นลมเพราะมะนาวจะถูกทรมานจนทรุดโทรมเพราะถูกใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่เหมือนใช้แรงงานช้างโดยให้ช้างกินยาบ้าเพิ่มกำลังประมาณนั้นเชียว สามวิธีดังกล่าวนี้โดยส่วนตัวจึงไม่ขอแนะนำให้ปฏิบัตินะครับ
 
การงดง้ำเพื่อให้มะนาวหยุดการกินธาตุอาหารไนโตรเจนและสารอาหารบางชนิดจากทางดินเพื่อชะลอการสร้างใบอ่อน อีกทั้งช่วยเพิ่มความเครียดให้แก่มะนาวเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างดอก เพราะพืชหรือมะนาวโดยทั่วไปจะต้องใช้น้ำในการดำรงชีวิต เมื่อถูกกักถูกหยุดการให้น้ำก็จะเกิดความเครียดทันที อย่างไรก็ตามก็ควรทำด้วยความเข้าใจและให้สอดคล้องกับการจัดการด้านธาตุอาหารจะต้องสมดุลกัน ไม่ใช่ปล่อยให้มะนาวอดน้ำจนใบแห้งเหี่ยวเฉาเกือบตายเพียงด้านเดียว อันนี้ถือว่าเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องเข้าใจผิดคิดด้านเดียวคือด้านทรมาน การงดน้ำเพื่อหยุดมะนาวรับธาตุไนโตรเจนจากทางดิน ไนโตรเจนจะต่ำใบอ่อนหยุดสร้าง คาร์บอนก็จะมีสัดส่วนที่มากกว่า ส่งผลให้เกิดการพัฒนาตาดอกได้ง่าย แต่ถ้ามีฝนหลงฤดูมาก็ใช้ไม่ได้ผลอาจจะต้องมีการใช้ถุงหรือพลาสติกคลุม หรือต้องจัดการธาตุอาหารชนิดยับยั้งใบอ่อนป้องกันผลร่วงเข้ามาช่วยเสริม
 
มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com
 
 
 
 

 
หมายเลขบันทึก: 482680เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2012 07:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 12:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท