รับผิดชอบ : ทักษะศตวรรษที่ 21


ทุกปีการศึกษา กิจกรรมที่จัดเป็นหัวใจของการเรียนสิ่งแวดล้อมในทุกๆครั้งก็คือ ศึกษาสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ด้วยความมุ่งหวังของผมเองว่า หลังจากเรียนแล้ว นักเรียนจะเกิดความตระหนัก หรือเกิดสำนึกที่ดีต่อผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมโลกใบเดียวกันนี้

เมื่อวานบ่าย ระหว่างนั่งคุยอยู่กับ ม.6 ผู้ซึ่งจะจบการศึกษาในอีกไม่กี่วัน หลายคนสังเกตเห็นควันไฟขนาดมหึมา ฟุ้ง แผ่กระจายเต็มไปทั่วบริเวณด้านหลังหอประชุมซึ่งอยู่ไกลๆ นักเรียนชายคนหนึ่งเอ่ยเชิงกระเซ้า อาจารย์ขอยืมฉบับรายงานที่ผมส่งแล้วหน่อย

ทำไมผมถาม

..........................................

เทอมสุดท้ายวิชาชีววิทยาของ ม.6 จะเรียนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ระบบนิเวศ ประชากร และปัญหามลภาวะต่างๆ หลายปีมาแล้วที่ผมเปลี่ยนรูปแบบการสอนของเล่มนี้อย่างเต็มรูปแบบ เน้นให้เด็กเรียนรู้เอง จากประสบการณ์จริง หรือจากปัญหาสภาพแวดล้อมที่ทุกคนประสบในโรงเรียน และในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง หนังสือเรียนจะใช้เป็นเอกสารอ่านประกอบเท่านั้น

หลักการสำคัญ หรือแนวทางจัดการเรียนการสอนที่ผ่านมา มักจะให้นักเรียนสำรวจสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อม แล้วนำเสนอให้เพื่อนในชั้นได้เรียนรู้ร่วมกัน แล้วจะให้วิเคราะห์เลือกเรื่องหรือแหล่งที่จะใช้ในการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งภาคเรียน โดยพิจารณาจากความรุนแรง ผลกระทบ และความสามารถในการแก้ไข จากนั้นจะให้ออกแบบการเรียนรู้อย่างที่ตัวเองสนใจตามลำดับขั้น ได้แก่ ระบุปัญหา ตั้งสมมติฐาน ตรวจสอบสมมติฐาน เก็บข้อมูล สรุปผล บางกลุ่มเลือกจะศึกษาปัญหาสภาพน้ำเสีย บางกลุ่มศึกษาการกำจัดขยะด้วยการเผา บางกลุ่มศึกษาการพังทลายของผิวถนนเนื่องจากภาวะน้ำท่วมขังที่ผ่านมา และกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มของนักเรียนชายคนนั้น เลือกจะศึกษาสำรวสาเหตุการเผาซังในนาข้าวของเกษตรกร

พื้นที่ตำบลบ้านกร่างโดยเฉพาะรอบโรงเรียนเป็นนาข้าวแทบทั้งหมด น้ำท่าที่ใช้ในการปลูกข้าวอุดมสมบูรณ์มาก เพราะอยู่ในเขตชลประทาน ส่วนใหญ่จึงทำนากันถึงปีละ 3 หน แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่นักเรียนสังเกตเห็นก็คือ มีการกำจัดซังข้าวด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง เพราะยังใช้การจุดไฟเผา ผมตั้งคำถามท้าทายว่า เกษตรกรก็คงมีเหตุผลของเขา ทั้งที่หน่วยงานราชการของรัฐก็รณรงค์อยู่ตลอด เราไม่อยากรู้หรือ?

การจุดไฟเผาซังข้าวอาจไม่ก่อฝุ่นควันมากมายเหมือนจังหวัดในภาคเหนือตอนบนที่กำลังตกเป็นข่าว แต่ก็ทำให้หน้าดินเสีย เพราะจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ถูกเผาทำลายลงไปด้วย สาเหตุปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือขณะนี้มาจากการเผาป่าด้วยน้ำมือมนุษย์เอง ถ้าถามเหตุผลแต่ละคนที่เผาคงมีหลากหลาย แต่เหตุผลหลักคงไม่ต่างอะไรกับการเผาซังข้าวในท้องนา ความไม่ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่คำนึงถึงความเสียหายส่วนรวม คิดแต่เพียงประโยชน์ตัวเองเท่านั้น น่าจะเป็นรากความคิดที่แท้จริง

(สภาพฝุ่นควันในตัวเมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2555)

ดังนั้นการสร้างความตระหนัก หรือสำนึกที่ดีต่อผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมโลกใบเดียวกันนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น การเรียนการสอนชีววิทยาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ผมกำลังดำเนินการอยู่ มุ่งหวังในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก อาจจะมากกว่าความรู้ที่เป็นทฤษฎีด้วยซ้ำไป เมื่อจุดประสงค์เป็นความตระหนักหรือเจตคติ ปัญหาจริงที่ทุกคนต่างประสบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็น่าจะเป็นสื่อการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้เป็นอย่างดี

ปัจจุบันการเรียนการสอนเน้นให้นักเรียนคิดเองทำเองในลักษณะเช่นนี้ กำลังถูกสกัดกั้นโดยการวัดประเมินมาตรฐานคุณภาพโรงเรียนด้วยผลการสอบโอเน็ต ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก ยิ่งบ้านเมืองเราจะต้องเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในเร็ววันด้วยแล้ว เหตุผลง่ายๆ เพราะคุณภาพคนของเราจะสู้เขาไม่ได้

ในภาคเรียนนี้ โรงเรียนผมเองตกอยู่ในสภาพเดียวกับโรงเรียนอื่นๆเช่นกัน ทั้งนักเรียนชั้น ม.3 และ ม.6 ต้องเรียนพิเศษเตรียมความพร้อมในการสอบโอเน็ตล่วงหน้าเป็นเดือน การสอนของครูมุ่งเน้นให้นักเรียนทำข้อสอบได้ เพื่อให้โรงเรียนผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่ สมศ.กำหนด แทนที่ครูจะคิดหาวิธีอย่างไร จึงจะสอนให้นักเรียนมีประสบการณ์ในการเผชิญกับปัญหาต่างๆของชีวิตอย่างมีความสุข รู้เท่าทัน และฉลาดในการคิดแก้ไข แต่กลับต้องไปคิดหรือไปเกร็งว่าข้อสอบโอเน็ตจะออกอย่างไร แบบไหน ออกอะไร นักเรียนเราจะทำข้อสอบได้หรือไม่?

ยิ่งเป็น ม.6 โรงเรียนได้จัดให้ครูติวสอบ GAT PAT มาก่อนหน้านั้นแล้วด้วย เพื่อผลในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เพื่ออนาคตของนักเรียน และ/หรือเพื่อชื่อเสียงของโรงเรียนนั่นเอง การจัดสอนแบบกวดวิชาทั้งเตรียมสอบโอเน็ต และเตรียมสอบ GAT PAT ส่งผลให้การจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนปกติไม่สามารถดำเนินการอย่างที่ครูผู้สอนคิดหรือได้วางแผนไว้ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดของเวลา

และแล้ววันนี้ ในที่สุดการสอบโอเน็ตก็ผ่านพ้น ท่ามกลางความลุ้นระทึกถึงผลการสอบที่จะเกิดขึ้น มิใช่นักเรียนลุ้นนะครับ แต่เป็นการลุ้นของโรงเรียนและครูเสียมากกว่า(ฮา)

การสอบโอเน็ตเป็นการวัดประเมินมาตรฐานความรู้พื้นฐาน แต่ทุกปี โดยเฉพาะปีนี้ยิ่งเป็นข่าวครึกโครมเกี่ยวกับความพิกลพิการในตัวข้อสอบ ทำให้หลายฝ่าย รวมถึงนักวิชาการวิพากษ์กันหนักถึงความไม่ได้มาตรฐานของเครื่องมือวัดมาตรฐาน(การศึกษาไทยทำไมไร้คุณภาพ? ตอนที่1, ตอนที่ 2) อย่างไรก็ตามผลการสอบจากข้อทดสอบเหล่านี้ ก็จะยังเป็นเกณฑ์ใช้ตัดสินคุณภาพโรงเรียนอยู่ดี การศึกษาบ้านเราไม่ไปไหนสักที ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องดังปฏิกิริยาลูกโซ่นี้ด้วยมั้ย?

สำหรับภาคเรียนนี้ การจัดการเรียนการสอนชั้น ม.6 วิชาชีววิทยาเรื่องสิ่งแวดล้อมของผมเอง ก็ได้รับผลกระทบจากการติวสอบต่างๆไม่ต่างอะไรกับวิชาอื่น ถึงแม้รูปแบบการสอนจะยังคงเน้นให้เด็กได้เรียนรู้เองจากประสบการณ์จริง หรือจากปัญหาสภาพแวดล้อมในโรงเรียนและชุมชนท้องถิ่น แต่กิจกรรมที่คิดว่าจะให้นักเรียนทำหลายอย่างจำเป็นต้องตัดออกไป เนื้อหาสาระตามทฤษฎีที่น่าจะเป็นพื้นฐานการเรียนสิ่งแวดล้อมในระดับชั้นที่สูงขึ้น ที่คิดจะนำมาพูดถึงในชั้นเรียนบ้าง ได้ตัดออกไปเกือบทั้งหมด สรุปแล้วนักเรียนได้เรียนรู้จากกิจกรรมอะไรบ้าง?

กิจกรรมแรก เป็นการสำรวจสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเอง แล้วนำเสนอในชั้นเรียนคนละ 1 ปัญหา วิธีการศึกษากระทำโดยการสังเกต บันทึก พร้อมถ่ายภาพ หรือวาดภาพประกอบ จากนั้นรวมกลุ่มวิเคราะห์เลือกเรื่องหรือแหล่งที่จะศึกษา พร้อมออกแบบวิธีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ตลอดทั้งภาคเรียน

กิจกรรมที่สอง เป็นการสำรวจสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนคนละ 1 ปัญหา วิธีการศึกษากระทำโดยการสังเกต บันทึก พร้อมวาดภาพประกอบ เขียนรายงานส่ง แล้วรวมกลุ่มวิเคราะห์เลือกเรื่องหรือแหล่งที่จะศึกษา พร้อมออกแบบวิธีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ตลอดทั้งภาคเรียน

กิจกรรมที่สาม สำรวจระบบนิเวศในน้ำ โดยเฉพาะปัจจัยทางกายภาพ ได้แก่ สภาพทั่วไป เช่น สี กลิ่น และความขุ่น ความเป็นกรด-ด่าง รวมทั้งอุณหภูมิ โดยบันทึก เขียนรายงานส่ง อันที่จริงกิจกรรมสำรวจระบบนิเวศเตรียมให้นักเรียนสำรวจระบบนิเวศบนบกด้วย แต่ก็ไม่สามารถทำได้

กิจกรรมที่สี่ เป็นการสืบค้นข่าวสาร ข้อมูล หรือความรู้เกี่ยวกับสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมตามสื่อต่างๆมานำเสนอเพื่อนในชั้น พร้อมอภิปรายแสดงความเห็นในเนื้อหาสาระของข่าวสารร่วมกัน

กิจกรรมที่ห้า เป็นการนำเพื่อนทุกคนในชั้นไปเรียนรู้ระบบนิเวศหรือบริเวณที่กลุ่มของตนเองกำลังดำเนินการศึกษาอยู่ พร้อมทั้งเล่าอธิบายที่มาที่ไป สภาพปัญหา วิธีการศึกษา และผลการศึกษาให้ทุกคนฟังด้วย พร้อมกับทุกคนต้องบันทึกรายละเอียดหรือความรู้ทั้งหมด ทั้งจากฟังเพื่อนเล่า และสังเกตด้วยตนเองส่ง

กิจกรรมที่หก เป็นเรื่องความหนาแน่นของประชากร ด้วยการลงมือทำปฏิบัติการเรื่อง การสุ่มนับแบบวางแปลง โดยใช้หญ้าเป็นตัวอย่าง พร้อมบันทึก เขียนรายงานผลการทดลองส่ง

กิจกรรมสุดท้าย ของภาคเรียนนี้เป็นเรื่องความหนาแน่นของประชากรอีกครั้ง ด้วยการลงมือทำปฏิบัติการเรื่อง การสุ่มนับแบบทำเครื่องหมายแล้วจับซ้ำ โดยใช้มอดเป็นตัวอย่าง พร้อมบันทึก เขียนรายงานผลการทดลองส่ง

ทุกปีการศึกษา กิจกรรมที่จัดเป็นหัวใจของการเรียนสิ่งแวดล้อมในทุกๆครั้งก็คือ ศึกษาสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ด้วยความมุ่งหวังของผมเองว่า หลังจากเรียนแล้ว นักเรียนจะเกิดความตระหนัก หรือเกิดสำนึกที่ดีต่อผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมโลกใบเดียวกันนี้

ที่สำคัญการเรียนสิ่งแวดล้อมด้วยกิจกรรมในภาคเรียนนี้ แม้จะอยู่บนเงื่อนไขเวลาที่จำกัด แต่ก็รู้สึกได้ว่า นักเรียนมีโอกาสฝึกทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อย่างหลากหลาย อาทิ ความรับผิดชอบในหน้าที่ การสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิพากษ์และคิดอย่างเป็นระบบ  การเขียนสื่อความ ความร่วมมือ การกำหนดและการแก้ไขปัญหา การกำกับตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรับผิดชอบต่อสังคม

เมื่อวานบ่าย ระหว่างนั่งคุยอยู่กับ ม.6 ผู้ซึ่งจะจบการศึกษาในอีกไม่กี่วัน หลายคนสังเกตเห็นควันไฟขนาดมหึมา ฟุ้ง แผ่กระจายเต็มไปทั่วบริเวณด้านหลังหอประชุมซึ่งอยู่ไกลๆ นักเรียนชายคนหนึ่งผู้ผ่านการศึกษาสาเหตุการเผาซังในนาข้าวของเกษตรกรมาแล้วหมาดๆ เอ่ยเชิงกระเซ้า อาจารย์ขอยืมฉบับรายงานที่ผมส่งแล้วหน่อย”  

ทำไมผมถาม

จะเอาไปให้คนที่กำลังจุดไฟอ่านนักเรียนตอบ(ฮา)

พลันได้ยินคำพูดนี้จากลูกศิษย์ ทั้งขำ ทั้งยินดีครับ เพราะชัดเจนว่า นักเรียนเรียนรู้และเกิดความตระหนักต่อสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นมาแล้ว รวมทั้งน่าเสียดาย เพราะกรณีอย่างนี้ หรือความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 ด้วย จะไม่สามารถประเมินโดยข้อสอบ (โอเน็ต)ได้เลย 

หมายเลขบันทึก: 481039เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2012 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2015 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

น่ายินดีที่เห็นการปลูกฝังค่านิยมดีๆเช่นนี้ค่ะ

สวัสด่ค่ะ คุณครูธนิตย์

สอบปลายภาคเสร็จยังค่ะ โรงเรียนของครูนกวันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้วค่ะ

ดีใจที่ได้ยินประโยค “จะเอาไปให้คนที่กำลังจุดไฟอ่าน” จากเด็ก คุณครูประสบความสำเร็จในการจุดประกายความคิดแล้วค่ะ

พี่ครูครับผมกำลังอยากบอกว่าเบื่อการประเมินจากระบบ มีการประเมินแบบไหนไหมนะที่ประเมินแล้วครูมีความสุข นักเรียนก็มีความสุข เด็กๆโรงเรียนอาจารย์น่าสนใจมาก

แด่คุณครู ผู้สร้างโลก ด้วยการสร้างศิษย์...

ขอคารวะครับ ขอบคุณครับคุณครู

"...แทนที่ครูจะคิดหาวิธีอย่างไร

จึงจะสอนให้นักเรียนมีประสบการณ์ในการเผชิญกับปัญหาต่างๆของชีวิตอย่างมีความสุข

รู้เท่าทัน และฉลาดในการคิดแก้ไข

แต่กลับต้องไปคิดหรือไปเกร็งว่าข้อสอบโอเน็ตจะออกอย่างไร แบบไหน ออกอะไร นักเรียนเราจะทำข้อสอบได้หรือไม่?.."

...

โดนใจประโยคนี้จังค่ะ

ยอมรับว่า ข้อสอบแบบปรนัย (MCQ) ไม่สามารถประเมินเด็กว่าเป็นคนดี มีความสุข

ประเมินได้เพียงว่าเป็น นักทำข้อสอบที่ดี - good test taker

เรื่องติว..สงสัยค่ะว่ามีโรงเรียนไหนกล้าให้เด็กๆ ติวกันเองไหม

การติวเป็นกลุ่ม น่าจะทำให้เด็กๆ เห็นคุณค่าการทำงานเป็นทีม และการรับผิดชอบตนเอง

อย่างที่คุณครูธนิตย์ปลูกฝังมาตลอดค่ะ

ไม่่เห็นด้วย กับการที่ครูอาจารย์เป็นฝ่ายติวให้

การศึกษาระดับผู้ใหญ่บางที่

ผู้ออกข้อสอบจัดติวเพื่อใบ้ข้อสอบ เพราะกลัวคนจะสอบไม่ผ่าน..ถึงขนาดนั้นเลย

การประเมินจากระบบ..ไม่สามารถวัดค่าความจริงได้

  • ทีกับค่านิยมที่ไม่ดีไม่งามแล้วล่ะก็ ไม่ต้องสร้างนะครับ มาเองเลย เร็วด้วย..
  • ขอบคุณพี่ใหญ่ นงนาทครับ
  • ที่บ้านกร่างฯสอบพรุ่งนี้อีกวันครับ..
  • ขอบคุณกำลังใจจากครูนกครับ
  • งานหลายอย่างที่ให้ครูทำ หลายเรื่องทำไปเพื่อให้รู้ว่าทำแล้วเท่านั้น เอกสารหลักฐานถ้ามีก็โอเค ส่วนการประเมินโรงเรียนในปัจจุบันมีหลายอย่างครับ ล้วนแล้วแต่เป็นภาระครูแทบทั้งนั้น ที่สำคัญก็ไม่เห็นจะทำให้เด็กๆดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนสักเท่าไหร่เลยครับ 
  • ขอบคุณท่านอ.ขจิตครับ
  • ศรัทธาในความเป็นครูครับ ไม่ว่าใครหรือสังคมจะต่อว่าครูอย่างไร แต่ถ้างานครูยังต้องเป็นงานสร้างคน ส่วนตัวแล้วคิดว่า..อาชีพครูยิ่งใหญ่เสมอครับ 
  • ขอบคุณกำลังใจจากอ.นุครับ
  • ตัวเองก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่ต้องสอนติว เพื่อเตรียมสอบให้กับเด็กๆเช่นกันครับ ทั้งที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีการ..
  • การให้นักเรียนติวกันเองน่าสนใจและน่าทดลองครับ แต่ถ้าหมายถึงช่วงก่อนสอบ ระยะเวลาที่กระชั้นชิด โดยเฉพาะผลการสอบนี้เป็นเรื่องชี้เป็นชี้ตายโรงเรียนด้วย ถ้าเป็นดังนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าแทบทุกโรงคงต้องมั่นใจจริงๆในผลลัพธ์มาก่อนแล้วเท่านั้น.. จึงจะกล้าครับ
  • ขอบคุณท่านอาจารย์หมอป.ครับ
  • การประเมินโรงเรียนทั้งประเทศ ซึ่งมีจำนวนมาก คงต้องมีวิธีและเกณฑ์แบบทั่วๆไป จะให้เจาะลึกลงรายละเอียดเหมือนครูผู้สอนที่ประเมินเด็กนักเรียนเฉพาะที่ตัวเองสอน..คงยากเหมือนกันครับ 
  • ขอบคุณเนปาลีครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์มาแจมด้วยโดนใจ ยังมี สอบ NT. LAS. รออยู่ ไข้วคุมสอบแทบไม่มีใครอยากไปแล้วนะคะ อิอิ " การประเมินโรงเรียนในปัจจุบันมีหลายอย่างครับ ล้วนแล้วแต่เป็นภาระครูแทบทั้งนั้น ที่สำคัญก็ไม่เห็นจะทำให้เด็กๆดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนสักเท่าไหร่เลย" จริงค่ะ อาจจะดีรุ่นแท๊บเลตนะคะ 

สวัสดีครับท่านอาจารย์ ธนิตย์..

รรบ้านกร่าง ภาพคลองส่งน้ำหน้าโรงเรียน

ภาพทุ่งนาที่เห็น

ภาพนักเรียนทำกิจกรรมการเรียนด้วยการลงมือปฎิบัติ

ดึงดูดใจให้ไปเยือน ได้ไปเห็นภาพกิจกรรมนักเรียนทำสื่อ สื่อให้เรียนรู้และผู้มาเยือนได้ชื่นชม

ติดตามการสอนโดยการลงมือทดลองทำ

ให้ชุมชนเป็นห้องเรียน

ให้สิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์

ให้นักเรียนเป็นผู้แสดง ....เมื่อ

นักเรียนเรียนรู้และเกิดความตระหนักต่อสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นมาแล้ว ก็ถือว่าสำเร็จในการสอน

ทุกวันนี้เกือบทุกโครงการงานของชุมชนชาวบ้าน วัตถุประสงค์ในการทำโครงการ หนึ่งในหลายๆข้อ คือการสร้างความตระหนัก การปลูกจิตสำนึก.......สร้างและปลูกมาหลายปีแล้ว ยังไม่เติบโตสักที

  • นับวันยิ่งรู้สึกครับ งานที่ครูเราทำมากกว่าเมื่อก่อนแบบเทียบกันไม่ได้ แต่เด็กๆวันนี้ตั้งใจ มุ่งมั่น น้อยกว่ามาก การศึกษาบ้านเราน่าจะมาผิดทางนะครับ 
  • ขอบคุณอาจารย์Rindaครับ
  • ทุกวันนี้การสร้างความตระหนัก การปลูกจิตสำนึก..สร้างและปลูกมาก็หลายปีแล้ว ยังไม่เติบโตสักที ฮาๆๆ รู้สึกเช่นกันครับ..
  • ขอบคุณท่านวอญ่าครับ

สิ่งแวดล้อมกับปัญหา"ความนิยมชมชื่นกับวัตถุ.ความ.ก้าวหน้าทางเทคโน"...เขียนแล้วเอาไปให้.คนจุดไฟอ่าน....อิอิ...น่าจะไปลองถาม..ซุปเปอร์ ป้า เช็ง..แก..น่าจะมี..อะไรๆใหม่ๆจากความรู้คนจบ ปอ สี่.มาแซวกันต่อฏ็ได้นะ.(นอกจากน้ำหม้ก)..อ้ะๆๆ..ยายธี

พี่ครูครับ ถ้าเลิกประเมินครู ให้ครูจัดการสอนแบบมีความสุข น่าจะดีกว่านี้นะครับ

  • วัตถุ เทคโนโลยี..ปัญหาสิ่งแวดล้อมคงเริ่มมาจากพวกนี้นะครับ
  • ขอบคุณยายธีครับ
  • ถ้าทำได้จะยอดเยี่ยมเลย อันที่จริงถ้าเด็กๆมีความสุขแล้ว จะสอนอะไรต่อๆไปก็น่าจะง่ายขึ้นด้วยนะครับอาจารย์.. 
  • ขอบคุณท่านอ.ขจิตครับ
  • บางปีข้อสอบโอเน็ตก็มีไรฮา ๆ อยู่นะคะ คุณครูธนิตย์  "  ถามวันเกิดหนุมาน "  อะไรเยี่ยงนี้  ที่สำคัญ  ไม่ได้ถามแบบวันเสาร์ อาทิตย์ จันทร์ ซะด้วย  พวกเล่นถามเป็นจันทรคติอีกตะหาก 
  • งานครูปัจจุบันเป็นอย่างที่คุณครูธนิตย์ว่าจริง ๆ ค่ะ  โรงเรียนหนูเพิ่งผ่านการประเมินโรงเรียนในฝัน รุ่นที่ ๓  เพิ่งได้รับการตรวจเยี่ยมไป เมื่อวันที่ ๑๒  มีนาคม ๒๕๕๕  ลูกศิษย์ลูกหาไม่ได้เรียนตามปกติอย่างทุกวัน  คุณครูเองก็ทำงานหนักกันแทบทุกวัน  ช่วยกันคนละไม้คนละมือ  พอผ่านการประเมินแล้ว  ก็ไม่เห็นว่าลูกศิษย์จะบินได้เลย  กลับกลายเป็นว่าลูกศิษย์บ่นแบบเดียวกับที่ครูบ่นเลย  " เรียนก็ไม่ค่อยได้เรียน  ตอนเย็นได้เวลาติวต้องมาเร่งติวอีก  เช้ามาก็ต้องซ้อม  ตกลงชีวิตเรามันไงกันเนี่ย " 
  • แต่มีลูกศิษย์บางคนน่ารักค่ะ  ตั้งคำถามแบบที่หนูตั้งคำถามเองอยู่ในใจ  "  ครูครับแล้วพวกผมจะได้อะไรจากการที่โรงเรียนเราเป็นโรงเรียนในฝัน ? "  แล้วอิลูกศิษย์พวกที่ตั้งคำถามเหล่านี้  เป็นอิพวกวอลเปเปอร์หลังห้องทั้งนั้น  เหล่าอาจารย์ต่างพากันส่ายหน้า  แต่พอได้ยินคำถามนี้จากเจ้าตัวแสบทั้งหลาย  อดนึกชมลูกศิษย์อยู่ในใจลึก ๆ อย่างน้อย ๆ เจ้าแสบทั้งหลายมันก็มีความคิด  ความรู้สึก  ที่แยบคายอยู่ไม่น้อย  ปลื้มใจค่ะ  แล้วใครจะตอบปัญหาของพวกเขาเหล่านี้ได้ ?  เพราะคำตอบที่ได้ครูทุกคนรู้ดีแก่ใจตนเองทั้งนั้น  ไม่อยากเป็น  ไม่อยากทำ  แต่ก็ต้องทำ  และต้องทำให้มันผ่าน  เพราะไม่ผ่านเราก็ต้องมารื้อทำใหม่  ไหนจะประเมิน สมศ.ปีการศึกษาหน้าอีก  กรรมทั้งครูและลูกศิษย์  หนูจะตกนรกไหมคะเนี่ย ? 

ครูเก๋

(@^_________^@)

 

 

  • ข้อสอบโอเน็ตถูกวิพากษ์วิจารณ์แทบทุกปี แต่ข้อสอบนี้แหละที่ใช้ตัดสินมาตรฐานโรงเรียน น่าสงสารตัวเองและโรงเรียนเหมือนกันนะครับ.. 
  • ถ้าแก้งานและเวลาครูที่โรงเรียนไม่ตก คงไม่ต้องหวังกันดอกนะครับ ว่าเราจะเปลี่ยนการศึกษาบ้านเราให้มีคุณภาพทัดเทียมประเทศอื่นๆได้ 
  • ลูกศิษย์เรามักจะสอนเรา(ครู)อยู่บ่อยๆครับ แต่ผลประเมินสมศ.รอบที่แล้ว โรงเรียนที่ตกส่วนใหญ่ มักจะตกมาตรฐานที่บอกว่า นร.คิดวิเคราะห์ไม่เป็นครับ
  • ตัวเองรู้สึกจะได้เพื่อนครูที่เป็นคอเดียวกันอีกคนแล้วครับ(ฮา)..ขอบคุณอาจารย์Wahooนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท