งานในอนาคตของเวชนิทัศน์และเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์


พรุ่งนี้ อังคารที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ทางสาขาเทคโนโลยีบัณฑิตเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะจัดปัจฉิมนิเทศก์ให้กับผู้ที่จบและจะอำลาสถาบันการศึกษา ได้ชวนให้ผมไปบรรยายพิเศษให้นักศึกษาผู้กำลังจะเป็นบัณฑติจบใหม่ฟังว่า การเตรียมตัวเพื่อที่จะทำงานในอนาคตทางด้านเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์และเวชนิทัศน์ จะเป็นอย่างไร

งานในสาขาวิชาชีพเวชนิทัศน์และเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์ คงจะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งสามารถพัฒนาไปได้บนเงื่อนไขความจำเป็นอันแตกต่างหลากหลาย จึงคงจะไม่เหมาะที่จะหยิบยกมาคุยกับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจะจบการศึกษาซึ่งจะทำให้เป็นคนกลัวความยุ่งยากและมุ่งหาความสำเร็จจนเกิดโลกทัศน์ที่แคบอย่างที่ไม่ควรจะเป็น

ดังนั้น ผมจึงเตรียมตัวที่จะเน้นไปที่กระบวนการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นไปกับสิ่งที่ต้องเจอเมื่อก้าวเข้าสู่โลกความเป็นจริงในชีวิตและการทำงานอย่างเหมาะสม มีความหมาย และมีนัยสำคัญทั้งต่อสังคมและต่อการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอดีกว่า รวมทั้งต้องไม่ลืมที่จะย้ำมิให้เน้นเลือกหาความสำเร็จและความลงตัวในห้วงเวลาที่คนจบใหม่ ยังมีชีวิตและโอกาสทำสิ่งต่างๆในสังคมอีกยาวไกล แต่ต้องเน้นการเรียนรู้และรู้จักใช้ข้อจำกัดสูงสุดของตนเองอย่างถ่องแท้ก่อน ซึ่งจะทำให้สามารถริเริ่มและเรียนรู้เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆขึ้นจากการเรียนรู้ประสบการณ์ตรงบนสภาพการทำงานที่จะไปเจอในอนาคตอย่างไรก็ได้ แม้ในสภาพที่อาจจะโชคไม่ดีที่สุดของคนที่จบมหาวิทยาลัยออกไปแล้วเดินออกไปหางานทำ

นอกจากนี้ ผมเล็งเห็นความสำคัญว่า คนที่สร้างขึ้นจากสาขาเวชนิทัศน์และเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์นั้น จัดว่าเป็นสาขาที่มีศาสตร์เกี่ยวกับเครื่องมือทำงานที่จะช่วยเป็นตัวคูณหรือเป็นกลไกขยายผล เพิ่มพูนพลังของกลไกและระบบการทำงานต่างๆของสังคม โดยเฉพาะทางด้านวิชาการแพทยศาสตรศึกษา สาธารณสุข สุขภาพชุมชน ให้คนในสาขาเชิงเนื้อหาอื่นๆที่สังคมสร้างขึ้นได้ทีละเล็กละน้อยเช่นกัน มีกำลังขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะที่มีความซับซ้อนให้ทัดเทียมกับความจำเป็นที่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริงได้

ยิ่งไปกว่านั้น ในจำนวนที่สังคมสร้างได้ไม่มากนักดังที่กล่าวมาในข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นนักเวชนิทัศน์และนักเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์ หรือสาขาใด ก็จะมีคนในวงการนั้นๆจำนวนยิ่งน้อยมากเข้าไปอีก ที่จะมีทักษะความพอดีในการปรับกรอบวิชาชีพตนเองเพื่อเรียนรู้ข้ามสาขาและเดินบวกพลังความร่วมมือแบบทีมสหวิทยาการเพื่อบรรลุเป้าหมายของสังคมที่ใหญ่กว่าจุดหมายแบบแยกส่วนได้ จึงยิ่งต้องการนักเวชนิทัศน์กับนักเทคโนโลยีการศึกษาบางส่วนเท่านั้นที่จะมีพลังการเรียนรู้เหนือปรกติทั่วไปอีกแบบหนึ่ง

แต่การที่จะทำในลักษณะดังกล่าวได้ คนในสาขาเวชนิทัศน์และเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์รุ่นใหม่ๆซึ่งทั้งประเทศก็ผลิตได้ไม่มากเช่นกัน จะต้องสามารถเรียนรู้สิ่งที่หาไม่ได้จากมหาวิทยาลัยหลายอย่างจากสถานการณ์จริงของการทำงาน ผมจึงเตรียมจะเล่าถ่ายทอดประสบการณ์ปฏิบัติและการพัฒนาชีวิตการเรียนรู้บนการทำงาน มากกว่าที่จะบรรยาย จะวางตำแหน่งแห่งหนตนเองให้เป็นการย่นย่อประสบการณ์สังคมมาทอดลงให้คนรุ่นใหม่ได้ก้าวไปสร้างสรรค์สิ่งต่างๆให้ยิ่งดีกว่าเดิม เหมือนเป็นการอดทนสั่งสมประสบการณ์กันรุ่นต่อรุ่น รวมทั้งเป็นการเดินนำเอาความเป็นจริงทางการปฏิบัติของสังคมมาให้คนรุ่นใหม่ได้เตรียมตนเอง สะท้อนเสียงความจำเป็นของสังคมที่ต้องการความริเริ่มจากคนรุ่นใหม่ๆ ที่จะออกไปเป็นคลื่นนำการริเริ่มสร้างสรรค์ต่างๆในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆ

ผมเตรียมออกแบบกระบวนการคร่าวๆว่าจะคุยให้วิธีคิดสัก ๑ ชั่วโมง เพื่อได้มุมมองสำหรับลองเล่นกับชีวิตจริงและสิ่งที่เป็นต้นทุนชีวิตจริงของตนเอง ที่จะต้องเรียนรู้ผ่านกิจกรรมถัดไป จากนั้น จะให้นั่งถอดบทเรียนและสะท้อนคิดสู่การวาดหวังต่อชีวิตการงานในอนาคตสัก ๔๐ นาที ได้ลองใช้ทักษะการสื่อสารและพลังฝีมือทุกอย่างของตนเองโดยมีคนมาดูให้ด้วยไปในตัว จากนั้น ก็จะให้นำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดด้วยตนเองเป็นกลุ่มอีก ๑ ชั่วโมง แล้วจะปิดท้ายด้วยการชี้แนะ เสริมพลังใจ และเสริมความเชื่อมั่นในตนเองเพื่อการก้าวเดินไปข้างหน้า ทั้งในภาพรวมและรายบุคคล

ทั้งประสบการณ์ที่มีของตนเอง และการได้แลกเปลี่ยนสนทนา ตลอดจนการได้อ่านบันทึกรายงานปฏิบัติจากสภาพแวดล้อมอันหลากหลายของทุกท่านใน gotoknow เป็นฐานข้อมูลสำหรับทำงานความคิดและเตรียมสิ่งที่จะนำไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษาผู้ที่กำลังจะเป็นบัณฑิตจบใหม่อีกรุ่นหนึ่งนี้

เชื่อว่าจะทำให้คนรุ่นใหม่ ได้เห็นโอกาสและงานในอนาคตของเวชนิทัศน์กับเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์ในอีกบางแง่มุม ที่ไม่ใช่เพียงหางานตามตำแหน่ง แต่เป็นการเรียนรู้ สร้างคุณค่าและความหมายแก่การงานแห่งชีวิตและเพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่ดีอีกอย่างหนึ่ง ด้วยตัวเราเอง เป็นคนและพลังชีวิตของสังคมด้วยพลังความรู้เชิงปฏิบัติทางเวชนิทัศน์และเทคโนโลยีการศึกษา มากกว่าเป็นเพียงนักเวชนิทัศน์และนักเทคโนโลยีการศึกษาอย่างเดียว.

หมายเลขบันทึก: 480174เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2012 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

ท่านพี่ เสียดายไม่ได้ต้อนรับท่านพี่ ไปพบกันที่ HA Forum 2012 ครับ

น้อมคารวะท่านอาจารย์หมอ JJ ครับ
ดีใจเหลือหลาย ที่จะได้เจออาจารย์และหลายๆท่านครับ

กราบนมัสการขอบพระคุณท่านพระอาจารย์มหาแลด้วยครับ
พระคุณเจ้ากับผมสงสัยจะต้องเป็นแม่ยกพ่อยกเวทีคนหนองบัว
ที่จะไปบวกกับงานงิ้วของปีนี้อีกแล้วละครับ
แต่คราวนี้คงจะเหนื่อยน้อยกว่า แต่ลงตัวและทำได้สนุกกว่าเดิม
เพราะหลายคนในพื้นที่พอจะเห็นรูปแบบ นึกภาพออกจากประสบการณ์ของเมื่อปีที่ผ่านมา
และเห็นประโยชน์หลายอย่างแล้วว่าจะเป็นโอกาสสร้างสรรค์และทำให้ก่อเกิดสิ่งดีๆอะไรกันได้บ้าง

ท่านพี่กำลังจะใช้ "กำลังภายใน" หรือครับเนี่ย ;)...

ผมพลังอ่อน ขอผ่อนกำลังทีหลังครับ อิ อิ

  • เห็นอาจารย์ Wasawat เหยาะมุขนี้ใส่แล้วก็อดปล่อยก๊ากไม่ได้เลยละครับ
  • ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าไอ้พลังที่มากกว่าปรกตินี่ มันจะสร้างอย่างไรและครอบคลุมถึงการฝึกฝนอะไรบ้าง พออาจารย์ช่วยเรียกให้เป็นพลังแบบยอดฝีมือบู๊ตึ๊งว่า 'กำลังภายใน' นี่ ก็ดูเข้าท่าดีมากเลยนะครับ 
  • ผ่อนกำลังรอทีหลังนี่ ก็คล้ายกับการอดทนรอคอย มุ่งมั่น และเรียนรู้ที่จะมีจุดหมายในระยะยาว ก็เป็นกำลังภายในและพลังที่ออกมาจากในตนเองที่ต้องทำอย่างเหนือปรกติ อย่างหนึ่งได้เหมือนกันนะครับ
  • ว่าแต่ว่าพลังอ่อนนี่ ก็ค่อยๆผ่อนเบาๆก็แล้วกัน ประเดี๋ยวลมปราณจากภายในจะทำให้เหล่าบู๊ตึ๊งแตกกระจาย ....เอ๊ะ กำลังภายใน หรืออะไรนี่ !!!

โอโห งานอาจารย์เยอะน่าดู ไปขอนแก่น เดือนหน้าไปนครฯ ต่อมาก็มากรุงเทพฯ 555 คงไม่มีเวลาตีไก่ โขลกหมากรุกเลย ขอให้อาจารย์มีความสุขกับงานที่ขอนแก่นนะครับ แวะไปกราบพระที่วัดหนองแวง อีกก็ได้นะครับ...

สวัสดีครับอาจารย์ ดร.ขจิตครับ
ตื่นเต้นยิ่งกว่าได้ตีไก่และโขกหมากรุกอีกอาจารย์ คือ มีวันหนึ่งไปนั่งกินข้าวกันกับครอบครัวของเพื่อนบ้าน มีไข่เจียวด้วยจานหนึ่ง เป็นไข่เจียวทำจากไข่ไก่ชนครับอาจารย์

กระบวนการที่ได้ทำจริง สามารถทำได้ครบมิติประสบการณ์ที่ต้องการ แต่กิจกรรมจำเป็นต้องปรับยืดหยุ่นไปกับสภาพของกลุ่มและสภาพของห้องประชุม ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆประมาณเกือบ ๓ ชั่วโมงจากเช้าถึงเที่ยง ...............

  • บรรยายพิเศษและให้พลังใจโดยคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • บรรยายและเล่าถ่ายทอดประสบการณ์ ให้เนื้อหา วิธีคิด และแนวมองอนาคต
  • ให้นักศึกษาแบ่งกลุ่มย่อยตามแถวที่นั่ง ระดมความคิดและนำเสนอต่อเวทีรวม
  • จัดห้องนั่งล้อมเป็นวงกลมและนำเสนอความคิดรายบุคคลของแต่ละกลุ่ม วิทยากรประมวลภาพลงบนบอร์ดขาตั้ง
  • สรุปและอภิปรายโดยวิทยากร
  • สะท้อนคิดโดยนักศึกษาทุกคน
  • สรุปบทเรียนของเวทีและให้ข้อเสนอแนะ

                                

                          ร่วมทำพิธีเปิด บรรยายพิเศษ และให้พลังใจโดยคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศาสตราจารย์นายแพทย์ภิเสก ลุมพิกานนท์

                        

                        

                        

บรรยายและเล่าถ่ายทอดประสบการณ์ ให้เนื้อหา วิธีคิด และแนวมองอนาคต / ให้นักศึกษาแบ่งกลุ่มย่อยตามแถวที่นั่ง ระดมความคิดและนำเสนอต่อเวทีรวม / จัดห้องนั่งล้อมเป็นวงกลมและนำเสนอความคิดรายบุคคลของแต่ละกลุ่ม / วิทยากร ประมวลภาพลงบนบอร์ดขาตั้ง / สรุปและอภิปรายโดยวิทยากร / สะท้อนคิดโดยนักศึกษาทุกคน / สรุปบทเรียนของเวทีและให้ข้อเสนอแนะ

                        

                        

เสร็จแล้ว นักศึกษาก็นั่งกินข้าวด้วยกัน เห็นบรรยากาศแล้วน่าประทับใจ หลังจากนั้น ในช่วงบ่าย นักศึกษาก็จัดกิจกรรมเพื่อรุ่นพี่รุ่นนองและเพื่อน้อมคารวะครูอาจารย์

                        

                        

     Remindered     

การบรรยายและเล่าถ่ายทอดประสบการณ์
ให้เนื้อหา วิธีคิด และแนวมองอนาคต

   ไสลด์ ๑   

ทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงาน ที่ต้องผสมผสานทั้งการปฏิบัติ ทำงานความคิด ทำงานเนื้อหา และต้องมีความเป็นทีมกับทีมสหสาขาที่เดินบวกกันด้วยการทำงานอย่างเต็มที่

• ทักษะการสร้างแนวคิด
• ทักษะเนื้อหาของการทำงาน
• ทักษะเทคนิควิชาการที่ต้องใช้
• ทักษะการริเริ่มและลงมือปฏิบัติ
• ทักษะคน

                                จากศาสตราจารย์นายแพทย์ ดร.ณัฐ ภมรประวัติ
                                อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการโครงการ
                                ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานแห่งอาเซียน

   ไสลด์ ๒   

การศึกษาเรียนรู้พัฒนาชีวิตและการทำงาน สภาพการณ์ที่จะต้องเจอ ข้อจำกัดของโอกาสในการศึกษาและการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ กับแนวคิดและแนวปฏิบัติที่ควรทำ

• จบการศึกษา ๒-๓ ปี ความรู้ที่มีล้าหลัง
• เมื่ออาวุโสและมีประสบการณ์ต้องเปิดโอกาสคนรุ่นหลัง
• ศึกษาต่อมีความสำคัญแต่มีข้อจำกัด
• อบรมเพิ่มพูนทักษะต้องแยกส่วนจากงานปฏิบัติ
• สื่อสารเรียนรู้ออนไลน์ขาดปฏิสัมพันธ์กับคน
• ถอดบทเรียนและยกระดับการเรียนรู้ไปกับงาน
• ขาดโอกาสสร้างเครือข่ายและชุมชนวิชาการนอกกลุ่ม

   ไสลด์ ๓  

ควรหมั่นดูแลชีวิตทางวิชาการของคนทำงาน
• อ่าน ฟัง สนทนาวิสาสะกับชุมชนเรียนรู้
• ฟัง คิด พูด มีคำถาม มีความเห็น เขียนบันทึก : หัวใจนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิ
• ศึกษาค้นคว้า พัฒนาความรู้ ความแตกฉานงานปฏิบัติ
• บันทึก ถ่ายทอด สอนงาน
• ชุมชนปฏิบัติ การถอดบทเรียน การวิจัยปฏิบัติการ
• นำเสนองาน

   ไสลด์ ๔  

พัฒนาความเป็นผู้นำทางการปฏิบัติ
ทางเวชนิทัศน์และเทคโนโลยีทางการศึกษา
• เลือกสรรวิทยาการและเทคโนโลยีอย่างพอเพียง มีเหตุผล
• สะท้อนสำนึก ความตระหนัก และคุณธรรมต่อสังคม
• กลมกลืนกับชีวิต

   ไสลด์ ๕  

แบ่งกลุ่มถอดบทเรียนและสะท้อนคิดสู่อนาคตตนเอง
สิ่งเหล่านี้เป็นอย่างไรและควรจะทำอะไรบ้าง ?

กลุ่มที่ ๑ ระบบและขอบข่ายการสร้างสรรค์งานเวชนิทัศน์และเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์
กลุ่มที่ ๒ นักเวชนิทัศน์และนักเทคโนรุ่นใหม่ที่พึงประสงค์
กลุ่มที่ ๓ การพัฒนาเครือข่ายศิษย์เก่าและการสนับสนุนทางวิชาการ
กลุ่มที่ ๔ การพัฒนาตนเองหลังทำงาน ๒-๓ ปี

   กระบวนการ  

  • แจกกระดาษ เอ๔ ให้นักศึกษาแบ่งกระดาษออกเป็นกระดาษแผ่นเล็ก ๔ แผ่น แจกให้เพื่อนๆสมาชิกในกลุ่มคนละ ๑ แผ่น
  • แจกปากกาอาร์ตไลน์ ๒ หัวให้กลุ่มละ ๓ ด้ามๆละสี แดง ดำ น้ำเงิน
  • ให้แต่ละกลุ่มเลือกทำโจทย์เสนอความคิดเห็นและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลุ่มละ ๑ โจทย์คำถาม
  • สมาชิกในกลุ่มของแต่ละโจทย์คำถามคิดและทำงานความคิดของตนเอง บันทึกเสนอความคิดเห็นลงบนกระดาษและเตรียมร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • ใช้เวลาคิดและบันทึกลงกระดาษประมาณ ๑๐ นาที ทุกคนให้สร้างสรรค์กระดาษบันทึกและสื่อสะท้อนความคิดที่ใช้ความรู้และทักษะอย่างนักเวชนิทัศน์ได้อย่างอิสระ เช่น การวาดรูป การทำ Creative Communication เหล่านี้เป็นต้น
  • เมื่อนำเสนอ จัดห้องประชุมเป็นการนั่งเก้าอี้ล้อมเป็นวงกลม ผู้นำเสนอลุกขึ้นยืน นำเสนอ อภิปรายขยายความ และรวบรวมกระดาษบันทึกไว้กับตัวแทนกลุ่ม นำไปติดบอร์ด
  • วิทยากรประมวลภาพลงบนบอร์ดขาตั้ง สะท้อนหลักคิด อภิปราย เสริมความรู้ ทำให้นักศึกษาได้กระบวนการเรียนรู้เสริมพลังวิชาการโดยเสริมต่อจากความมีประสบการณ์ที่ผุดขึ้นบนเวที

   กระบวนการสะท้อนการเรียนรู้  

  • หลังนำเสนอครบแล้ว วิทยากรสรุป ขยายความ เปิดประเด็นอภิปรายกับนักศึกษา
  • ตั้งคำถามเพื่อสะท้อนการเรียนรู้และสรุปบทเรียนของเวที โดยถามว่า วันนี้และจากกระบวนการเวที ได้เกิดการเรียนรู้ของตนเองอย่างไรบ้าง ?
  • ทุกคนพูดคนละ ๑ อย่าง
  • สรุป อวยพรแก่นักศึกษา และเสร็จสิ้นกระบวนการกิจกรรมที่ต้องการ

ขอบคุณทิมดาบครับ
อันที่จริงหากมีเวทีอย่างนี้อีก จะขออนุญาตเสนอให้เขาเชิงทิมดาบ
ไปร่วมให้ประสบการณ์การทำงานจริงของงานสุขภาพในชุมชน
น่าจะเป็นการได้ช่วยกันสร้างคนของสังคมที่ดีอย่างหนึ่งนะครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ ได้ปัญญามาอีกคำแล้ว "เวชนิทัศน์กับเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์" GotoKnow นี้สร้างปัญญษดีจริง

เมื่อก่อนคำว่า การุณยฆาติ พูดกันมาก วันนี้เลือนๆกันไป

ชีวิตการเรียนรู้ของบังวอญ่านั้น เกิดขึ้นได้ทุกแห่งเลยนะครับ
เป็นมรรควิถีของการอยู่และดำเนินไปบนมรรควิถีแห่งปัญญาอย่างยิ่งเลย

                       

นักศึกษานำเสนอและอภิปรายเป็นรายบุคคลต่อประเด็นการทำงาน การดำเนินชีวิต การพัฒนาตนเอง และการพัฒนาเครือข่ายสนุบสนุนทางวิชาการเพื่อพัฒนาบทบาทการดำเนินงานของนักเวชนิทัศน์ที่มีการเรียนรู้และอยู่บนฐานของการใช้ความรู้อยู่เสมอ มีส่วนร่วมต่อการพัฒนาสุขภาวะสังคม

สรุปบทเรียนเวทีของนักศึกษา : งานเวชนิทัศน์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ในอนาคต

เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสใคร่ครวญเกี่ยวกับตนเอง สามารถมองไปยังอนาคตและจำลองสถานการณ์มาเรียนรู้แง่มุมต่างๆให้ได้แยบคายลึกซึ้งร่วมกับคนอื่น ได้มีโอกาสบ่มสร้างแรงบันดาลใจ ได้สร้างพลังความฝันใฝ่สิ่งดีในชีวิต รวมทั้งได้เห็นแนวทางในการเตรียมตนเองเพื่อเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงต่างๆให้ดำเนินไปอย่างดีที่สุด หลังจากให้วิธีคิดแล้ว จึงตั้งประเด็นให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ โดยใช้เครื่องมือและวิธีการที่มีความเป็นสิ่งพื้นฐานที่สุดของนักเวชนิทัศน์ อันได้แก่ สื่อกราฟิคบนฟลิปชาร์ต มาเป็นเครื่องมือบริหารจัดการกระบวนการเรียนรู้เป็นกลุ่มสำหรับทุกคนในเวทีกว่า ๓๐ คน

นักศึกษาได้ร่วมกันสะท้อนคิดตามประเด็นที่ให้นำเสนอความคิดเห็นกลุ่มละ ๑ ประเด็น จำนวน ๔ กลุ่ม ๔ ประเด็น ได้แลกเปลี่ยนทรรศนะ พัฒนาความคาดหวัง ต่อมิติต่างๆของงานเวชนิทัศน์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ในอนาคต พร้อมกับใช้กระบวนการสื่อศิลปะการ์ตูน การวาดรูป สื่อกราฟิค การทำครีเอทีฟ และภาษาสื่อ เป็นเครื่องมือและวิธีพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ให้ได้สัมผัสและเห็นอีกบทบาทหนึ่งของงานเวชนิทัศน์และเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์ที่ ที่ต้องใช้เครื่องมือและวิธีทำงานที่มีอยู่แล้ว ดังเช่น วิธีทำสื่อกราฟิคบนฟลิปชาร์ต มาเป็นเครื่องมือบริหารจัดการชุมชนผู้ปฏิบัติ เพียงแต่ต้องเรียนรู้การทำงานในสภาพความจำเป็นที่ต่างออกไปจากที่คุ้นเคยอยู่ทั่วไป หลังจากนั้น ได้ร่วมกันนำเสนอ อภิปราย และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างกว้างขวาง รวบรวมด้วยกระดาษพลิกบนบอร์ดขาตั้ง ได้โดยสรุปดังนี้......

ขอบข่ายการพัฒนางานเวชนิทัศน์และเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์ในอนาคต

  • การพัฒนางานกราฟิคและการออกแบบ เป็นงานออกแบบและงานกราฟิคทางการแพทย์และเพื่อการดำเนินงานทางด้านสุขภาพใน แนวทางที่แตกต่างจากงานกราฟิคในอดีต มีพื้นฐานเป็นสื่อมัลติมีเดีย การแบบ ผลิต และนำไปใช้ในระบบเทคโนโลยีดิจิตอล ผสมผสานศิลปะสื่อภาพ เสียง สื่อเคลื่อนไหว และอื่นๆ
  • การพัฒนาความเป็นมืออาชีพ ความสามารถประกอบเป็นกิจการ
  • การพัฒนาระบบบริการจัดการ
  • การพัฒนาระบบทำงานแบบเครือข่าย
  • การเชื่อมต่อการทำงานกับรุ่นพี่

นักเวชนิทัศน์และนักเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์ที่พึงประสงค์ในอนาคต

  • การมีความทันสมัยต่อวิทยาการและเทคโนโลยี
  • ซื่อสัตย์ ทันสมัย อดทน
  • มีความเป็นผู้นำทางวิชาชีพ เปิดกว้าง
  • เป็นผู้นำของการนำเอาความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงและในองค์กรทำงาน
  • มีความคิดสร้างสรรค์
  • ใช้ความรู้และปัญญาปฏิบัติชี้นำการทำงาน
  • รอบรู้ ทันวิทยาการและเทคโนโลยี ทันความรู้
  • กล้าคิด กล้านำเสนอ
  • มีความสามารถให้การแนะนำและถ่ายทอดแก่คนรุ่นหลัง
  • มีความสามารถในการถ่ายทอด สอนงาน ฝึกอบรม ให้บุคลากรทางสุขภาพ ผู้นำชุมชน และคนทำงานสาขาอื่นสามารถพึ่งตนเองในระดับหนึ่งในการทำงานทางเวชนิทัศน์และเทคโนโลยีการศึกษาทางการแพทย์ รวมทั้งสามารถติดต่อประสานงาน เพื่อเป็นทีมทำงานร่วมกันให้การทำงานดียิ่งๆขึ้น

การพัฒนาตนเอง การพัฒนาการศึกษาเรียนรู้

  • การมีความอดทน
  • การอดทนต่อการใช้อารมณ์ของคนทำงานด้วยกัน

การพัฒนาเครือข่ายสนับสนุนทางวิชาการ

  • มีสื่อกิจกรรมให้ได้พบปะกัน ท่องเที่ยวด้วยกัน มีการสัมมนาและกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวิชาการด้วยกัน
  • มีพื้นที่กิจกรรมและช่องทางในการแชร์ความรู้ แชร์ประสบการณ์
  • พัฒนาสื่อที่ช่วยสร้างความเชื่อมโยง ต่อยอด บรรจบ มีโอกาสช่วยส่งเสริมสนับสนุนกัน
  • พัฒนา Social Network เห็นเป็นตัวเชื่อมเครือข่ายและใช้ Share ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนวิชาการ
  • สร้างสำนึกผูกพันต่อสถาบัน สร้างความเป็นพี่ๆน้องๆเวชนิทัศน์ ทำให้คนจำนวนน้อยสามารถถ่ายทอดประสบการณ์และมีเครือข่ายพึ่งพากันบนกระบวนการทำงาน

     การสะท้อนคิดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์    

หลังการนำเสนอ อภิปราย ผมในฐานะวิทยากรได้เสริมวิธีคิด ให้ข้อมูล และเสริมหลักทฤษฎีต่างๆที่เชื่อมโยงออกจากประเด็นของเวทีนักศึกษา จากนั้น ก่อนการสรุปและให้ข้อเสนอแนะโดยวิทยากร ผมก็จัดกระบวนการให้นักศึกษาได้ฟังบทสรุปที่สะท้อนขึ้นเองจากเวที รวมทั้งได้สะท้อนคิดเพื่อสร้างความชัดเจนให้กับตนเองพร้อมกับเป็นโอกาสได้แบ่งปันเป็นความบันดาลใจระหว่างผู้เข้าร่วมเวทีด้วยกัน โดยทุกคนยังคงนั่งล้อมเป็นวงกลมบนเก้าอี้ และนั่งสนทนาอย่างเป็นตัวของตัวเองทีละคน ด้วยคำถามว่า จากกระบวนการทั้งหมด ได้ประสบการณ์ ได้ความคิด และได้เรียนรู้อะไรจากเวทีบ้าง ?

การสรุปบทเรียนและการสะท้อนคิดปิดท้ายกระบวนการของนักศึกษา พอสรุปได้ดังนี้ ..........................

  • ได้เห็นและได้ฟังหลายอย่างที่ไม่เคยทราบมาก่อนจากเพื่อนๆ น้องๆ และรุ่นพี่
  • ได้มีโอกาสขอบคุณและแสดงความรู้สึกซาบซึ้งต่อชีวิตการศึกษา ที่ไม่คิดว่าตนเองจะสามารถทำได้ เนื่องจากเป็นคนเดียวของสาขาวิชาเวชนิทัศน์ที่จบการศึกษาพื้นฐานจากสาขาอื่นแต่สอบเข้ามาได้ จึงมีความลำบากในการศึกษามากกว่าคนอื่น แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนและครูอาจารย์เป็นอย่างดี กระทั่งทำให้สามารถเรียนเวชนิทัศน์ได้อย่างดี
  • ได้มีโอกาสนั่งคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีให้กัน
  • ได้เห็นวิธีใช้เครื่องมือสร้างกระบวนการเรียนรู้ ที่ใช้เทคโนโลยีเชิงกระบวนการและนำเอาสื่อกราฟิคอย่างง่ายๆมาเป็นทรัพยากรในการบริหารจัดการ
  • ได้พัฒนาความมั่นใจ สร้างความเป็นผู้นำในการนำเสนอและแสดงความคิดเห็นเชิงวิชาการ
  • ได้เห็นแนวทางออกไปทำงาน ที่จะต้องพึ่งตนเองและเชื่อมโยงกับเครือข่ายรุ่นพี่รุ่นน้อง ว่าจะต้องทำอย่างไร
  • ได้ความสนุกและเกิดความคุ้นเคยกัน

     สรุปและให้ข้อเสนอแนะปิดเวทีโดยวิทยากร     

  • มีความคิดริเริ่มในการทำงาน และมีการเรียนรู้การปฏิบัติ ที่บูรณาการอยู่ในชีวิตการทำงานอยู่ตลอดไป
  • ในฐานะที่เป็นคนเพิ่งจบการศึกษา หากได้เข้าไปทำงานในองค์กรต่างๆ จงตระหนักว่ายังมีสิ่งที่เรายังไม่รู้และต้องเรียนรู้อยู่อีกมากมาย แต่จงทำงานอย่างเต็มที่ จริงใจ และสุดฝีมือสุดชีวิตของเรา หากมีข้อผิดพลาดและยังไม่ดี ก็ขอให้ผิดพลาดและไม่ดีเพราะเรายังโง่อยู่ อย่าให้ผิดพลาดและผลงานออกมาไม่ดีเพราะเราไม่มีความสุจริตใจต่องาน ทำงานไม่เต็มที่ และมีความคิดไม่ดี
  • มีความนอบน้อม พร้อมจะเรียนรู้ และพร้อมจะปรับปรุงตนเอง องค์กร ผู้บริหาร และเจ้าของกิจการที่รับเราเข้าไปเป็นสมาชิกองค์กร โดยทั่วไปแล้วย่อมมีความเมตตาและมีคุณธรรมต่อการให้โอกาสแก่คนรุ่นใหม่ของสังคมที่เป็นคนดีและยังมีอนาคตต่อสังคมอีกยาวไกล การเรียนรู้งาน และรักษาจิตวิญญาณที่ดีต่อการทำงาน จะทำให้คนอยากให้น้ำหนักแก่คน ก่อนสิ่งอื่น อยากให้โอกาส อยากได้ฝีมือการทำงาน หากมีข้อผิดพลาดก็รักษาคนไว้ก่อน ยอมเสียบางสิ่งแต่รักษาคนไว้เพื่อให้ได้สิ่งดีอีกหลายสิ่งที่สังคมจะได้จากการมีคนเก่งคนดีมีอุดมคติต่อชีวิตการงานซึ่งหาได้ไม่ง่ายนักในสังคม
  • ฝึกฝนตนเองให้มีวัฒนธรรมการอ่านและการเรียนรู้อยู่เสมอ เราเป็นคนทำงานเชิงวิชาการและต้องมีเส้นทางชีวิตอยู่ในองค์กรบริการทางวิชาการแก่สาธารณะ ก็ต้องใช้ความรู้ งานทางปัญญาสร้างสรรค์ และงานทางปัญญา มาเป็นทรัพยากรและวัตถุดิบสำหรับการทำงาน ฝึกฝนการทำงานความคิดให้แยบคายลึกซึ้งในวิธีการของนักเวชนิทัศน์ เช่น ตรวจสอบข้อมูลและความคิดด้วยการสเก๊ตช์ การวาดรูป การทำโมเดล การทำงานความคิดเป็นกลุ่ม รวมทั้งหมั่นหาความรู้เชิงเนื้อหาที่จำเป็นต่อการทำงาน เช่น การหมั่นเข้าไปฟังปาฐกถา ประชุมวิชาการสาขาที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน การเสวนากับผู้รู้
  • ฝึกฝนการเขียนบันทึกและเก็บข้อมูลชีวิตการทำงานอยู่เสมอ จะเป็นวิธีทบทวนและนำประสบการณ์ที่ผ่านไปมาคิดทบทวน หาความเข้าใจและได้ความคิดที่แยบคายไว้ใช้ในโอกาสต่อไป
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท