๑๑๗. ศิลปะจัดวางพื้นที่เรียนรู้และสร้างการมีประสบการณ์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแยบคายลึกซึ้ง


   เห็นและตระหนักรู้   

การเรียนรู้และการสร้างความเคลื่อนไหวให้กับข่าวสาร ความคิด ความรู้ความเข้าใจ ให้ไหลเวียนไปบนวิถีการดำเนินชีวิต มีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาความรู้จักตนเอง และช่วยให้มนุษย์ในสังคมต่างๆ มีความสามารถในการสร้างชีวิตการอยู่ร่วมกัน สามารถสร้างภูมิปัญญา สั่งสม และสืบทอด ก่อให้เกิดความเจริญงอกงาม สร้างคนและสร้างพลังสำหรับพัฒนาความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตนเองของสังคม ให้มีความสอดคล้องกลมกลืนไปกับระบบธรรมชาติและปัจจัยแวดล้อมต่างๆที่เป็นทุนทางสังคมบนถิ่นฐาน ด้วยเหตุนี้ พื้นที่การเรียนรู้และพื้นที่สำหรับสร้างความมีชีวิตให้กับกระบวนการทางสังคมวัฒนธรรม ตลอดจนสิ่งซึ่งเป็นปัญญาปฏิบัติและรสนิยมชีวิตต่างๆ จึงจัดว่าเป็นทุนทางสังคมและเป็นปัจจัยพื้นฐานอย่างหนึ่งในการสร้างสุขภาวะที่เข้มแข็งและมีความยั่งยืนให้กับสังคม

ในงานวิชาการแนวประชาสังคม เช่น ในงานของเดวิด แมททิวส์ หรือในงานของกลุ่มวิชาการแนวประชาสังคมในประเทศไทย รู้จักและยอมรับกันเป็นอย่างดีว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งบ่งชี้อย่างหนึ่งของความเข้มแข็งของชีวิตสาธารณะ ซึ่งจะพบมากในสังคมที่มีความเข้มแข็ง และหากพบว่าลดลงหรือไม่ค่อยมี ก็เป็นเครื่องส่งสัญญาณให้มองไปข้างหน้าได้ว่าในระยะยาวแล้วจะเกิดความล่มสลายขึ้นในภาคต่างๆของสังคม เพราะความเคลื่อนไหวและความมีชีวิตสาธารณะทางด้านปัญญา ข่าวสาร พลังความรู้ และจิตวิญญาณแห่งความสร้างสรรค์ของสังคมนั้นๆไม่ดี

ในงานสาธารณสุขมูลฐานที่ก่อเกิดและดำเนินการขึ้นในประเทศไทยและทั่วโลก ก็ถือว่าเป็นตัวบ่งชี้อย่างหนึ่งในองค์ประกอบของการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้และเข้าถึงโอกาสการพึ่งตนเองทางสุขภาพของประชาชน ในการศึกษาของยูเนสโก หรือองค์การทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ของสหประชาชาติ ก็จัดว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อกระบวนการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของพลเมืองในทุกรูปแบบ ทั้งในและนอกภาคความเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม รูปธรรมของพื้นที่การเรียนรู้ในแต่ละสังคม แต่ละชุมชน รวมทั้งในแต่ละเงื่อนไขแวดล้อม ในยุคสมัยหนึ่งๆ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกส่วนออกจากความมีชีวิตและเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของสังคม ตัวอย่างเช่น ในอดีตนั้น ยูเนสโกและรัฐบาลของประเทศสมาชิก อาจสามารถใช้อัตราส่วนของโรงภาพยนต์กับจำนวนที่นั่งต่อจำนวนประชากรเชิงพื้นที่ เป็นแนวในการพัฒนามาตรฐานการศึกษาเรียนรู้และเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน หรือในชุมชนชนบทขของสังคมไทย อาจจะมีโรงลิเก หมอรำ หนังกลางแปลง เวทีมหรสพ เป็นแหล่งสร้างจังหวะการเคลื่อนไหวของข่าวสารและการเรียนรู้ทางสังคมที่กลมกลืนและสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน

   น้อมใจใคร่ครวญ   

แต่ปัจจุบัน สิ่งเหล่านั้น นอกจากจะไม่สามารถดำเนินไปได้กับวิถีชีวิตและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายแล้ว หากไม่สามารถเรียนรู้และจัดการเสียใหม่ให้มีความเหมาะสมได้แล้ว ก็จะเป็นความสูญเปล่าและเพิ่มต้นทุนความสูญเสียในระบบของชุมชนและสังคมนั้นๆอีกด้วย เราจะมีโอกาสค้นหาและสร้างความเป็นจริงใหม่ๆเหล่านี้ บนวิถีชีวิตและสิ่งรอบตัวของเราเอง ได้อย่างไรบ้าง เป็นสิ่งที่ปัจเจก ตลอดจนหน่วยงานและองค์กรต่างๆในสังคมสามารถตั้งคำถามและคิดริเริ่มได้อยู่ตลอดเวลา

  ตั้งคำถามใหม่ต่อสังคมและความเป็นจริงของชีวิต  

ด้วยความที่ผมมีงานศิลปะชุมชนอยู่ชุดเหนึ่งอยู่ในมือ ซึ่งเป็นการบันทึกและถ่ายทอดความเป็นชุมชนหนองบัว นครสวรรค์ และอีกหลายแห่งต่างกรรมต่างวาระ อีกทั้งเมื่อได้คุยกับกลุ่มสถาปนิก คน.ใจ.บ้าน และกลุ่มทำงานสนับสนุนวิชาการสร้างศกยภาพของเครือข่ายทำงานสร้างสุขภาวะสาธารณะของภาคประชาสังคม กลุ่มบางกอกฟอรั่ม เพื่อจัดเวทีเวิร์คช็อปถอดบทเรียนและเสริมศักยภาพการทำงวานกับปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมเพื่องานพัฒนาที่อยู่อาศัย อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและมรดกทางวัฒนธรรม ของกลุ่มคน.ใจ.บ้าน ๒ วัน ในวันอังคารและพุธ ๑๔-๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ในบ้านของผมเอง [1] ผมเลยอยากกำหนดการเรียนรู้ไปบนการทำงานเพื่อส่วนรวมนี้ไปด้วยกันในตัวว่า... ผมจะใช้ศิลปะจัดวางพื้นที่เรียนรู้ เพื่อทำให้ผู้ชมเข้าถึงประสบการณ์ต่อสังคมและสภาพแวดล้อมอย่างมีความหมาย ผสมผสานไปบนการสร้างรสนิยมชีวิตและรสนิยมทางศิลปะ เพื่อส่งเสริมให้เวทีเวิร์คช็อปและกระบวนการเรียนรู้ มีพลังสร้างสรรค์อย่างดีที่สุดได้อย่างไร

คำถามอย่างนี้ เป็นคำถามเพื่อนำไปสู่การลงมือทำสิ่งต่างๆให้บรรลุจุดหมายสูงสุดตามขีดจำกัดที่อาจจะต้องเจอ ขณะเดียวกัน ก็เป็นคำถามที่มีนัยะต่อการบอกตนเองให้นอบน้อมต่อประสบการณ์และความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นด้วยวิถีแห่งการเรียนรู้ไปบนการปฏิบัติ ทำชีวิตและการงานให้เป็นมรรควิถีแห่งการเรียนรู้ หลีกออกจากการขึ้นต่ออย่างอื่นที่จะทำให้หลุดจากหนทางแห่งการเรียนรู้ไปบนการปฏิบัติให้ได้มากที่สุด

ที่ต้นมะพร้าว ติดตั้งรูปเทศน์คาถาพันหรือเทศน์มหาชาติ ในรูปมีการใช้ทางมะพร้าวทำป่าหิมพานต์และมีรูปชูชกกำลังเดินจูงพี่น้องกัญหา-ชาลี ที่ชูชกขอเป็นทานจากพระเวสสันดรเพื่อทดสอบสัจจะและทานบารมี ดังนั้น นอกจากได้ยืนชมภาพเขียนใต้ร่มมะพร้าวอันร่มรื่นแล้ว ผู้เข้าเวิร์คช็อปและได้ยืนดูรูปเขียนก็เกิดเรื่องราวยืนสนทนากับผมเรื่องบทบาทของงานบุญในชนบทและเรื่องราวของเทศน์มหาชาติจากภาพไปด้วย

  พิสูจน์ ตอบคำถาม และกระจ่างแจ้งความจริงด้วยการน้อมตนปฏิบัติ  

เมื่อติดตั้งรูปเขียนเข้าไป ต้นมะพร้าว กอไผ่ แสงแดด สายลมอ่อน เงาไม้ร่มรื่น ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมทั้งมวล ก็เกิดพื้นที่การมีความหมายอย่างใหม่เพิ่มขึ้นมาทันที สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติของจริงที่มีอยู่ สามารถจัดวางตนเองเป็นทั้งองค์ประกอบศิลปะ และช่วยขยายประสบการณ์ให้เห็นของจริงในสิ่งที่ปรากฏอยู่ในรูปเขียน เชื่อมโยงออกไปสู่การได้ประมวลชุดประสบการณ์ร่วมสมัยต่อสถานการณ์ต่างๆของสังคม อยู่กับความร่มรื่น อยู่กับงานศิลปะ และอยู่กับการใคร่ครวญเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ กระทั่งนำไปสู่การเกิดหัวข้อการพูดคุย สื่อสาร และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน

ข้างสระบัวในบ้าน ติดรูปเขียนน้ำบ่อทรายและการหาบน้ำจากสระวัดหลวงพ่อเดิม วัดหนองกลับ อำเภอหนองบัว นครสวรรค์ และรูปทิวทัศน์ทะเล ภูเขา ป่าไม้ ท้องฟ้า แสดงความสัมพันธ์เชื่อมโยงของธาตุทั้ง ๔ และไตรลักษณ์ของสรรพสิ่ง

เดินไปทางไหนทั่วบริเวณ ก็จะมีรูปเขียนติดตั้งไว้ เหมือนเป็นที่หยุดสายตาและสร้างวาระความสนใจ เกิดหัวข้อการสนทนาและเดินทางเข้าสู่ภายในตนเอง

การติดตั้งงานศิลปะ ทำให้ทั่วอาณาบริเวณของบ้าน ซึ่งแต่เดิมเป็นแนวป่าไผ่ ขอบสระ สนามหญ้า เปิดไปสู่พื้นที่ความหมายอย่างบูรณาการในความเป็นพื้นที่ชีวิต พื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่ทางศิลปะ และพื้นที่การสร้างสังคมของชุมชนนักปฏิบัติ ไปกับกลุ่มสถาปนิก คน.ใจ.บ้าน และกลุ่มบางกอกฟอรั่ม

หากได้ยืนชมภาพการสีข้าว และเห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านในชนบท เมื่อมองออกไปนอกกรอบรูปเขียน ก็ได้สัมผัสกับบรรยากาศของท้องนา เชื่อมโยงสภาพจริงกับประสบการณ์ที่อยู่ในภาพ

ภาพการสีข้าวและตำข้าวซ้อมมือ และภาพการออกเดินทางจากถิ่นฐานบ้านเกิดในชนบทสู่เมืองของเด็กๆชนบท จัดวางให้ท้องนา ถนน ผืนฟ้า บรรยากาศและชีวิตชาวบ้าน มีความหมายเชิงสะท้อนโลกความเป็นจริงให้ปรากฏต่อการได้ประสบการณ์ที่ลึกซึ้งมากยิ่งๆขึ้นต่อสิ่งที่บอกเล่าอยู่ในภาพเขียน

ผู้ชมจะได้ประสบกาณ์เหมือนการยืนสังเกตโลกและปรากฏารณ์ทางสังคมเบื้องหน้าที่ยากจะเกิดขึ้นได้ในแกลลอรี่ พิพิธภัณฑ์ และห้องแสดงงานทางศิลปะ ซึ่งเป็นพื้นที่อย่างที่เราคุ้นเคยแต่ดั้งเดิม เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นไม่ได้บนพื้นที่การจัดแสดงทางศิลปะอย่างอื่น การได้เห็นบริบทจำเพาะอย่างนี้ เป็นบทเรียนที่ได้จากการได้สัมผัสกับของจริง และเห็นมิติใหม่ๆของสิ่งที่จะต้องเรียนรู้เพื่อทำงานในแนวนี้ให้เหมาะสมยิ่งๆขึ้น

ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ชวนให้สนุกต่อการคิดค้น ทำความลึกซึ้ง และต้องตรึกตรองเรียนรู้ตลอดเวลาไปบนการปฏิบัติ ทั้งการวางธีมและอารมณ์ภาพที่สื้อสะท้อนไปกับต้นไม้และสภาพแวดล้อม วิธีติดตั้งงาน วัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนสิ่งของที่จะต้องใช้ กำลังคน การใช้เวลา อุปสรรคจากน้ำค้าง แสงแดด ลมฝน ระยะใกล้ไกลและระดับสายตา ซึ่งทั้งหมด ทำให้เรื่องราวและความหมายต่างๆไม่ได้อยู่อย่างเอกเทศบนภาพเขียนมิติเดียว แต่เกิดขึ้นจากหลายองค์ประกอบ ที่มีภาพเขียนและการจัดวางลงไปบนสภาพแวดล้อมเป็นตัวเชื่อมโยง [2]

รูปเขียนประดับในห้องน้ำ เป็นรูปห้องส้วมหลุมในชนบทยุคก่อนมีส้วมซึม ตัวอย่างจากส้วมหลุมของโรงเรียนวันครู ๒๕๐๔ ชุมชนบ้านตาลิน อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ในยุคก่อนปี ๒๕๑๕ ศิลปะเป็นวิธีหนึ่งในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้สังคมสุขภาพอย่างมีความหมาย

  บทเรียนและการเห็น  

ระหว่างการเวิร์คช็อป การเดินออกไปอยู่กับตนเองและชมภาพเขียนตามร่มไม้ การเกิดหัวข้อพูดคุยและยืนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นชั่วโมงบนพื้นดิน การนั่งลงกับพื้นและนั่งคุยกัน การเกาะกลุ่มแล้วเดินออกไปสัมผัสบรรยากาศในชุมชนยามเย็น การเกิดความคิดและมีแรงบันดาลใจสะท้อนสู่การคิดอยากทำสิ่งสร้างสรรค์ต่างๆนำเสนอต่อเวที ตลอดจนเสียงที่คงความแจ่มใสรื่นรมย์ตลอดการเวิร์คช็อปอย่างเข้มข้นหนักหน่วงทั้งวันกระทั่งดึกดื่นของกลุ่มผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อป ที่เคลื่อนไหวและดำเนินไปบนอาณาบริเวณที่กว้างขวางกว่าในห้องประชุม เหล่านี้ เป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงการเกิดพื้นที่การเรียนรู้และการมีโครงสร้างเชื่อมโยงความมีชีวิตจิตใจอันกลมกลืนกับสภาพโดยรอบ ของทุกคนกับสิ่งรอบข้าง ได้เกิดขึ้นเป็นอย่างดีอย่างที่ต้องการ.

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

[1] http://www.gotoknow.org/blogs/posts/479022 สัมมนาเชิงปฏิบัติการกับกลุ่มสถาปนิก คน.ใจ.บ้าน และ กลุ่มบางกอกฟอรั่ม วันอังคารและพุธที่ ๑๔-๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

[2] อ่านบันทึกชุดเดียวกัน.... (๑) วิธีตั้งคำถามการวิจัยแบบ PAR ฯ  http://www.gotoknow.org/blogs/posts/479208 (๒) ศิลปะการจัดดอกไม้ฯ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/479305 (๓) กระบวนการเรียนรู้อย่างบูรณาการฯ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/479022

หมายเลขบันทึก: 479329เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2012 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีครับอาจารย์ดร.ขจิต
รวดเร็วฉับไวดีแท้นะครับ ขอบพระคุณครับผม
อาจารย์สบายดีนะครับ

เห็นบรรยากาศบ้านสวนท่านอ. เซียนศิลป์ แล้วทำให้อยากเริ่มต้น ฝึกละเลงสีน้ำ จังค่ะ

แต่ยังเกร็งๆ กล้าๆ กลัว ที่จะเริ่มต้น เกรงจะเป็น ละเละ สี ..

ช่วงนี้ฝั่งใต้ กลางวันร้อนๆ ตับแลบ เลยค่ะอาจารย์ สังเกตเห็นกระติกน้ำรุ่นดึก หายาก หากแต่ได้ชื่นใจ พอกัน ขอตัวไปดื่มน้ำ สักไห ก่อนเน่อเจ้า :)

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์

การจัดนิทรรศการศิลปะโดยใช้บรรยากาศรอบบ้านเป็นฉากหลัง คงจะช่วยให้ภาพความคิดที่ต้องการรจะสื่อสารชัดเจนมากขึ้นนะคะ บรรยากาศรอบบ้านอาจารย์สงบงาม เหมาะแก่การทำชีวิตและการงานให้เป็นมรรควิถีแห่งการเรียนรู้มากค่ะ

สวัสดีครับคุณ Poo ครับ
เขียนนะครับ พอสะสมได้สักหน่อยหนึ่งแล้วก็เอาไปแสดงแบ่งกันชมบ้างละก็เยี่ยมเลยละครับ

สวัสดีครับดร.ปริมครับ
ลองทำชิมลางดูน่ะครับ ให้ผลที่ต้องการได้ดีทีเดียว ทำแล้วก็ทำให้สามารถประมาณการลงมือทำให้พอดีๆกับตัวเองได้ดีขึ้นได้หลายอย่างไปด้วยครับ สักวันหนึ่งคงได้เป็นเวทีจัดแสดงงานศิลปะหรือภาพถ่าย ผลงานศึกษาค้นคว้าแบบสนุกๆ และไปนั่งเสวนาแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ กับผู้สนใจ ของ ดร.ปริมกับหลายๆท่านใน gotoknow นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท