เดินถนนเรียนรู้โลกรอบข้างด้วยปลายเท้าและโสตสัมผัส


เมื่อ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมานี้ ผมได้ไปเป็นประธานกรรมการสอบปากเปล่าการนำเสนอวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ของนักศึกษา เป็นการทำวิจัยวิทยานิพนธ์ในสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ นับว่าเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานกับคณาจารย์ของสถาบันเก่าแก่แห่งหนึ่งของภาคเหนือนี้

ผมเกรงว่ารถจะติด เลยเผื่อเวลาสำหรับเดินทางไว้พอสมควร แต่รถก็ไม่ติดเลย ผมจึงไปถึงสถานที่สอบก่อนเวลากว่าครึ่งชั่วโมง เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานกุลีกุจอเปิดห้องและให้ความสะดวกต่างๆอย่างมีอัธยาศัย พร้อมกับพูดเพื่อคลายความฉุกละหุกขณะรีบจัดห้องไปพลางๆว่าประธานสอบมาถึงก่อนที่คณะกรรมการจัดสอบจะได้เตรียมห้อง เลยทำให้นักศึกษากับเจ้าหน้าที่เกิดอาการเกร็ง

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ดูกว้างขวาง เคร่งขรึม ได้บรรยากาศความเป็นวิชาการและแหล่งวิทยาการในขั้นสูง แม้จะดูแออัดไปบ้างด้วยตั้งอยู่กลางตัวเมืองเชียงใหม่ แต่ก็จัดวางอาณาบริเวณและการเรียงตัวของกลุ่มอาคารอย่างเป็นสัดส่วน นอกจากได้สอบปากเปล่าให้นักศึกษาแล้ว ก็เป็นโอกาสดีอีกหลายอย่างไปด้วยสำหรับผม โดยได้พบกับเพื่อนซึ่งได้เป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รู้จักกับอาจารย์ซึ่งจบปริญญาเอกจากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลด้วยกัน แล้วมาเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ได้รู้จักกับท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หนูม้วน ร่มแก้ว นักวิชาการสาขาเทคโนรุ่นอาวุโสร่วมสมัยกับครูอาจารย์และรุ่นพี่ของผมหลายคนทั้งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร รวมทั้งได้รู้จักผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภกฤษ เมธีโภคพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ ซึ่งมาเป็นคณะกรรมการสอบด้วยกัน เลยเป็นโอกาสได้มิตรทางวิชาการทางด้านการศึกษาและเทคโนโลยีทางการศึกษา ให้วงจรชีวิตยังคงสัมผัสใกล้ชิดกับสังคมวิชาการและพอได้ใช้ความรู้กับประสบการณ์ที่มีอยู่ทำประโยชน์ให้กับสังคมได้อีกทางหนึ่งบ้าง

ผมดำเนินการสอบปากเปล่าให้แก่นักศึกษาอย่างเต็มที่ ๒ ชั่วโมง เมื่อเสร็จแล้วก็หาเรื่องคิดโปรแกรมพิเศษสักอย่างหนึ่งให้ตัวเองทันที ผมนึกถึงหลายอย่างที่ควรจะทำให้ช่วงบ่ายประมาณ ๒-๓ ชั่วโมงที่เหลือของวัน ให้เป็นเรื่องที่มีความหมายต่อการได้กล่อมเกลาตนเองเข้าสู่การใช้ชีวิตต่อจากนี้ในสังคมและสภาพแวดล้อมของเชียงใหม่ พร้อมกับได้ความรื่นรมย์และหาความบันดาลใจในแบบที่ตนเองชอบ

ผมนึกถึงการไปหาและนั่งคุยกับพี่ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ที่โฮงเฮียนภูมิปัญญาล้านนา นึกถึงวัดพระสิงห์ ไปเดินชมงานศิลปะในวัดและนั่งเงียบๆในโบสถ์หรือแหล่งที่คนไม่พลุกพล่านขวักไขว่ นึกถึงหอศิลปวัฒนธรรมของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ถนนนิมมานเหมินทร์ นึกถึงพิพิธภัณฑ์และการจัดแสดงงานศิลปะหมุนเวียนของพิพิธภัณฑ์ตรงถนนไปสนามบิน นึกถึงการหาเวทีเสวนา ปาฐกถา การประชุมวิชาการ หรือเวทีชุมชนที่เปิดโอกาสให้คนเดินเข้าไปร่วมได้ นึกถึงร้านหนังสือหรือห้องสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แต่ที่สุดก็ตัดสินใจเดินเท้าออกจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ไปที่ทำงานของภรรยาที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลสวนดอก เพราะจะเป็นโอกาสกินข้าวและได้เดินดูสิ่งต่างๆไปบนสองข้างถนน สามารถแวะและยืดหยุ่นความสนใจได้สบายๆ การได้เดิน ได้เห็นบ้านเมืองและสัมผัสชีวิตผู้คน เป็นวิธีซาบซึ้งกับโลกรอบข้างที่ผมชอบที่สุดวิธีหนึ่ง เป็นห้วงเวลาของการสร้างปัญญาและขยายความกว้างขวางของชีวิตด้วยฝ่าเท้า กระดูก กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น

เมื่อคิดดังนี้แล้ว ผมก็เริ่มเดินทอดน่อง อยู่ในอริยาบทปลดปล่อยตนเองตั้งแต่เดินออกจากห้องสอบวิทยานิพนธ์ให้นักศึกษา จึงสามารถมีเวลาให้ความสนใจและพอได้มีบรรยากาศที่จะสัมผัสรายละเอียดของสภาพโดยรอบมากกว่าตอนเดินเข้าไปเมื่อเช้า พอออกจากลิฟท์ลงจากอาคารที่สอบวิทยานิพนธ์นักศึกษา ก็เห็นนักศึกษาเข้าแถวรอเข้าลิฟท์เพื่อขึ้นไปบนอาคารเรียนรวมซึ่งคงจะสูง ๑๓ ชั้นหรือมากกว่าชั้น ๑๓ ที่ผมเพิ่งได้ไปนั่งสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาเมื่อสักครู่ นักศึกษายืนต่อแถวกันจนยาวออกไปบนทางเดินนอกอาคาร เป็นภาพแปลกตาที่ไม่เคยเห็น เหมือนการเข้าคิวในห้างสรรพสินค้าหรือตามโรงพยาบาลเลยทีเดียว

จากนั้นผมก็เดินลัดเลาะไปตามกลุ่มอาคารต่างๆมุ่งไปยังทางออกสู่ถนนผ่านมหาวิทยาลัยไปยังแยกข้างคูเมืองเชียงใหม่ด้านประตูช้างเผือก สภาพโดยรอบของเชียงใหม่หนาแน่นและเปลี่ยนแปลงไปจากที่ผมคุ้นเคยไปมาก ผมเคยเรียนปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระหว่างปี ๒๕๓๐-๒๕๓๕ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่และในย่านโดยรอบนี้ผมก็เคยได้แวะเวียนมาเยือนระหว่างไปหาครูอาจารย์ท่านหนึ่งที่ไปสอนผมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือท่าน ดร.มงคล เอี่ยมสำอางค์ ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่และท่านพักอยู่ในมหาวิทยาลัยจนคุ้นเคยอยู่พอสมควร แต่ปัจจุบันซึ่งผ่านไปกว่า ๒๐ ปีแล้วนี้ ก็พบว่าสภาพบ้านเมืองและตึกรามบ้านช่องที่ผมคุ้นเคยก็แทบจะไม่เหลือเค้าเดิมอยู่เลย

ผมพยายามใคร่ครวญและหมั่นอ่านร่องรอยคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ทอดผ่านลงไปบนสรรพสิ่งรอบกาย พลางก็มองหาร้านข้าวแกงที่ไม่จอแจและไม่สั่ว ยิ่งถ้าหากมีมุมนั่งให้ได้มองชีวิตข้างถนน หรือมีกาแฟเย็นหอมๆด้วยก็ยิ่งดี

เมื่อถึงเกือบสุดถนนจากแยกแม่ริมผ่านหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ไปยังประตูช้างเผือกและคูเมืองเก่า ผมก็เห็นร้านข้าวแกงและอาหารตามสั่งซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางร้านขายเสื้อผ้าโหล เครื่องใช้ในบ้าน และของเบ็ดเตล็ด อยู่ฝั่งตรงข้าม ดูสะอาด และมีบุคลิกของร้านเป็นชาวบ้านดี เลยเดินไปนั่งกินข้าวมันไก่ ๑ จานกับไข่ต้ม ๑ ฟอง ระหว่างนั่งกินข้าวและสายตาก็มองไปยังการตบแต่งร้านกาแฟ การออกแบบหน้าร้าน และศิลปะของการเล่นกับริมถนนที่รายเรียงอยู่อีกฟากหนึ่ง ก็มีคนขับรถมอเตอร์ไซค์มาจอดหน้าร้านและตะโกนคุยกับเจ้าของร้านอยู่สองสามคำเป็นภาษาต่างประเทศ อดทึ่งอยู่ในใจไม่ได้ว่าแม่ค้าท้องถิ่นของเชียงใหม่นี่สามารถใช้ภาษาอังกฤษพูดคุยทักทายกันได้ด้วย แต่เมื่อขับออกไปแล้ว เจ้าของร้านก็กลับหันมาถามผมว่าเขาถามอะไร อ้าว ผมคิดว่าเป็นเพื่อนบ้านและคนขายของด้วยกันผ่านมาแวะทักทายกันเสียอีก

หลังกินข้าวแล้วผมก็เดินออกไปปากทาง แล้วก็ข้ามถนนไปเดินฝั่งกำแพงเมืองเลียบคลองคูเมืองโบราณของเชียงใหม่ ใจหนึ่งก็ทำท่าชั่งใจอยากเดินผ่านไปทางอนุสาวรีย์สามกษัตริย์และจวนผู้ว่าเก่าที่ดัดแปลงมาเป็นหอพิพิธภัณฑ์และแหล่งจัดแสดงงานศิลปะ เดินสบายๆสัก ๒๐ นาทีก็คงจะถึง แต่มองดูถนนเลียบกำแพงเมืองที่โล่งจากรถรา และเห็นแนวไม้เขียวร่มรื่นเรียงรายไปบนสองฝั่งคลอง สะท้อนผิวน้ำที่มีริ้วไหวไปกับลมอ่อนล้อกับแสงแดดส่องประกายวิบวับ ก็เลยตัดสินใจเดินหาความเพลิดเพลินไปเรื่อยๆบนข้างถนน ได้ความรื่นรมย์และปลอดโปร่งพอที่จะนำเอาชีวิตการงานมาย่อยและคิดใคร่ครวญไปด้วยหลายเรื่อง

กระทั่งถึงประตูด้านข้างของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลสวนดอกซึ่งก็ทำให้ได้รำลึกถึงเรื่องราวและผู้คนต่างๆ ผมนึกถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลกับคนยุคจอมพลสฤษฎดิ์ ธนะรัชต์ และ จอมพลผ้าขาวม้าแดง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่อยากสร้างมหาวิทยาลัยในภูมิภาคแห่งแรกของประเทศที่ดีที่สุด มีบรรยากาศทางวิชาการ และสวยงามที่สุดของเอเชีย ซึ่งต่อมาก็ก่อเกิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นึกถึงการรวมตัวกันของคนเชียงใหม่และล้านนาเพื่อระดมสมทบทุนซื้อที่ดินและส่งเสียงหนุนเจตนารมณ์ให้รัฐบาลสร้างมหาวิทยาลัยขึ้นที่เชียงใหม่ นึกไปถึงศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ ในขณะที่เป็นรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัยช่วงหนึ่ง ที่ได้ริเริ่มและนำเสนอแนวนโยบายส่งเสริมการกระจายอำนาจและพัฒนาทางสังคมด้วยการก่อตั้งมหาวิทยาลัยของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดต่างๆ ในอีกเกือบกึ่งศตวรรษต่อมาหลังก่อเกิดมหาวิทยาลัยในภูมิภาคแห่งแรกของประเทศที่ภาคเหนือ

นึกถึงนายแพทย์เสนอ อินทรสุขศรี ครูแพทย์ นักสาธารณสุข นักสุขศึกษา และผู้นำการบริหารของประเทศทางด้านสุขภาพและทางด้านการศึกษาที่มีบทบาทมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศ ท่านเคยมาบุกเบิกคณะแพทยศาสตร์และร่วมสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยู่ที่นี่ เห็นอาคารของภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัวอยู่ข้างประตูทางเข้า ก็นึกถึงบทบาทของมิชชั่นนารีและโรงพยาบาลแมคคอมิค นึกถึงบาทหลวงฟาฮีแล กับการก่อเกิดงานอนามัยผดุงครรภ์ที่ผสมผสานวิธีการทางมานุษยวิทยาและปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมในท้องถิ่นล้านนา รวมทั้งนึกถึงอาจารย์หมอ ป. แพทย์หญิงปัทมา โกมลบุตร อย่างคลับคล้ายคลับคราว่าเหมือนกับท่านเป็นอาจารย์แพทย์อยู่ที่สาขาวิชานี้ นึกถึงท่าเอียงคอและมีมวนขี้โยเท่าบ้องข้าวหลามอยู่มุมปากของพระเดชพระคุณท่านหลวงปู่แหวน สุจิณโณ

ผมเดินไปเรื่อย กระทั่งถึงศูนย์อาหารใต้อาคารหลังหนึ่งที่อยู่ระหว่างทางเดินก็แวะเข้าไปซื้อกาแฟเย็นวาวีกิน ระหว่างรอกาแฟก็ขอทำหมายเหตุประสบการณ์ชีวิตและให้รางวัลกับการเล่นกับตนเองด้วยการบริจาคเข้ากองทุนพัฒนาการศึกษาเด็กด้อยโอกาสที่ตั้งกล่องรับบริจาคอยู่ในร้านกาแฟหมดเหรียญที่ควานหาเจอในกระเป๋า

ผมปิดท้ายห้องเรียนเคลื่อนที่บนปลายเท้าของตนเองด้วยการไปนั่งจิบกาแฟเย็นๆหอมๆ รอติดรถภรรยากลับบ้านหลังเลิกงาน ซึ่งก็เหลือเวลาอีกเพียงชั่วโมงเศษ พอดี-พอดีสำหรับได้นั่งพักและหาความซาบซึ้งด้วยการเดินสู่ภายในและย้อนรำลึกชีวิตผ่านทางไปเมื่อครู่.

หมายเลขบันทึก: 477330เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2012 07:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

ขอบพระคุณอาจารย์หมอ JJ
ที่แวะมาเยือนทักทายครับ

ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ
นี่ถ้ามีมือแนะนำพิพิธภัณฑ์และแหล่งเดินชมเมืองอย่างอาจารย์ณัฐพัชร์นำเดินชมละก็
คงม่วนและได้ถ่ายภาพมาแบ่งกันดูเยอะแยะเลยนะครับ

...

เพียงแค่เดิน ... ท่านจึงคิด
เพีัยงแค่ปิด ... ท่านจึงเปิด
เพียงแค่เลิศ ... ท่านจึงลง
เพียงแค่ปลง ... ท่านจึงปีน

...

คนที่ท่านพี่กล่าวมา ... ผมรู้จักหมดเลย แต่เขาไม่รู้จักผมหลายท่าน อิ อิ

ภาพที่เด็กต่อแถวขึ้นลิฟท์ กับ อาคาร ๑๕ ชั้น เป็นภาพชินตาที่เด็กเลือกขึ้นลิฟท์ทั้งขึ้น-ลงมากกว่าจะเดินขึ้น-ลง

หากมีอาจารย์มารอลิฟท์ด้วย อาจารย์จะแยกอยู่อีกกลุ่ม เพราะใช้สิทธิ์ในการขึ้นสอนก่อน (ผมว่าน่าจะอยู่กับวัยและอายุ อิ อิ)

หากชั้นสูง ผมจะเลือกขึ้นลิฟท์ แต่เวลาสอนเสร็จก็จะเลือกเดินลง

หากชั้นไม่สูง ผมจะเลือกเดินขึ้น และเดินลง

อย่างน้อย ขอออกกำลังกายสักนิด เพื่อชีวิตที่ยืนยาว ให้หัวใจมันเต้น Love You Love You ณ บัด Now

คิดถึง ... อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ... เดินสู่อิสรภาพ

ส่วนท่านพี่ ... เดินไป ... หาภรรยา ???

แซวเล่นยามเช้าครับ ;)...

สวัสดีครับท่านอาจารย์ วิรัติ เช้าวันหนึ่งเคยไปเดินที่เชียงใหม่ จากโรงแรมวังบูรพา มุ่งหน้าสู่ศูนย์ อนามัยที่ 10 ถามทางคนกวาดถนน สื่สารกันผิด เดินไปออกกำแพงดิน ต้องวกกลับมา ถามทางต่อๆ มีคนปราถนายอกให้นั่งรถ พร้อมเรียกรถให้ ขอบคุณ แต่ปฎิเสธ ขอเดิน ......เดินจนมาถึงที่หมาย ขากลับเดินอีก ทางสายใหม่ เลี้ยวซ้ายไกล้นิดเดียว.......ถนนสายนี้ครั้งต่อไปไม่หลงอีกแล้ว

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์วิรัตน์,

จากมหาวิทยาลัยราชภัฏ ถึง คณะแพทย์ ม.ช สำหรับการเดินนั้น ไม่ใกล้เลยนะคะอาจารย์ เวลาและความตั้งใจที่จะเปิดโลกของการเรียนรู้ที่อาจารย์มี ทำให้การเดินครั้งนี้รื่นรมย์ยิ่ง

หากอาจารย์ไปเดินอีกที อย่าลืมเอาภาพการเรียนรู้งามงามมาแบ่งปันด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ

  • บ๊ะ !!! การเต้นของหัวใจของอาจารย์ Wasawat นี่ มันเป็นอาการของหัวใจตันไป ๓ ห้อง เหลืออยู่ห้องเดียวคือห้องสำหรับส่งเสียง Love You Love You แค่คลื่นเดียวเลยนะนี่
  • อย่างนี้หากไปหาหมอและตรวจคลื่นด้วยเครื่อง ECG : Electrocardiogram ก็จะไม่เจอความผิดปรกตินะอาจารย์ ต้องตรวจด้วยเครื่อง DHRT : Digital Heart Ring Tone ถึงจะสามารถสแกนคลื่นและบันทึกส่งไปให้หมอหัวใจสักคนวินิจฉัยและรักษาไปตามอาการที่มากน้อยไปตามความสูงของการเดินขึ้นตึก
  • แม๊ ....มาอำกันอย่างเผาขนเชียว !!!!!

สวัสดีครับบังวอญ่า จากศูนย์อนามัย เขต ๑๐ ไปย่านกำแพงดินและโรงแรมบูรพานี่ หากอ้อมไปถูกทาง โดยผ่านไปทางคณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แล้วก็อ้อมไปผ่านแยกกาดสวนแก้ว ก็จะใกล้นิดเดียวครับ กำลังเดินม่วนแหละ แต่ถ้าหากกลับไปอ้อมอีกทางหนึ่งนี่ก็ไกลเอาเรื่องเหมือนกัน

หากมีงานขึ้นไปแถวเชียงใหม่บังวอญ่าอย่าลืมแวะไปนอนคุยกันหรือชวนไปเดินเล่นกันนะครับ แค่เดินหรือนั่งฟังบังวอญ่าคุยกับพรรคพวกนี่ก็ยิ่งได้เพิ่มพูนความหูตากว้างและได้อารมณ์ขันกลั้วไปกับเรื่องต่างๆอยู่เสมอๆละครับ

สวัสดีครับดร.ปริมครับ
ตอนเดินนั้นเพลินและเหมือนผ่านไปแป๊บเดียวครับ แต่มานั่งดูระยะทางและสถานที่ต่างๆที่เดินผ่านนี่ก็ไกลใช้ได้เลยเหมือนกันครับ การถ่ายภาพอาคารสถานที่ ทิวทัศน์ ธรรมชาติ และ Wild Lifes นี่ ต้องชมของดร.ปริมดีกว่านะครับ ฝีมือก็ดี การสื่อสะท้อนเรื่องราวกับการแสดงความคิดก็ดี มีแววเล่นแบบเอาเรื่องดีครับ

อาจารย์ครับ ได้เิดินไปทั่วเลยนะครับ ผมเองคิดอยากไปเดินบ้าง ...ถ้าได้พบอาจารย์เก่าๆ เพื่อนเก่าๆ คงมีความสุข เนี่ยถ้าอาจารย์ไปแถวม.ราชมงคล คงพบเพื่อนๆเพิ่มนะครับ

ขอให้มีความสุขกับการทำงานครับ...

สวัสดีครับอาจารย์ ดร.ขจิตครับ

  • ตอนนี้หาโอกาสเดินเล่นๆดู พอไม่ให้ไฟชีวิตมันเฉา และซ้อมร่างกายไว้เสมอๆไม่ให้มันอืดอาดไปน่ะสิครับ
  • จะใช้เวลาเตรียมตัว จัดบ้านช่อง จัดหนังสือ ข้าวของ และทำงานเขียนหนังสือที่ค้างมือนิดหน่อยอยู่ให้เรียบร้อยก่อน
  • เลยคิดว่าสักประเดี๋ยวก็น่าจะสามารถเดินและเร่ร่อนไปที่โน่นที่นี่ได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวครับอาจารย์

เป็นเส้นทางชีวิตที่ราบเรียบและน่าค้นหาอย่างสมำ่เสมอเลยนะครับอานารย์ ค

เรื่องราวบนรายทางชีวิต มักมีผู้คนและเรื่องราว ที่น่ารำลึกถึงและนำมาเล่าเป็นความบันดาลใจในชีวิตให้กันอยู่เสมอๆน่ะครับ

 

กราบนมัสการและขอบพระคุณท่านพระอาจารย์มหาแลกับท่านพระอธิการโชคชัย
ที่ได้แวะมาเยือนและให้การทักทายกันด้วยครับ ปีนี้เราจะไปจัดเวทีถอดบทเรียนและเคลื่อนไหวการเรียนรู้ต่างๆให้ชาวบ้าน ที่หนองบัวกัน สักครั้งหนึ่งไหมครับ ใจหนึ่งผมก็อยากไปใช้โอกาสงานงิ้วพากันทำอย่างเมื่อปีกลายให้ต่อเนื่อง แต่ใจหนึ่งก็อยากค่อยๆเตรียมและสร้างสิ่งต่างๆให้เป็นทุนต่อทุนอย่างที่ดำเนินมากระทั่งเดี๋ยวนี้ เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อม ก็ค่อยยกระดับการทำงานกันไป เลยทำและหารือกันไปตามสบายๆตามแต่จะมีโอกาสเรื่อยๆก่อน

ขอบพระคุณคุณตะวันเบิกฟ้าที่แวะมาเยือนและให้การทักทายด้วยครับ

  • ตอนไปพบเครือข่ายครูที่หนองบัวกับท่านอธิการโชคชัย(๑๗ มกราคม๒๕๕๕)
  • มีคุณครูโรงเรียนหนองคอกถามว่าจะมีเฟสสองไหมๆ หมายถึงประชุมเวิอร์ช็อป 
  • งานนิทรรศการในงานงิ้ว๒๕๕๔และงานเวิอร์ช็อปที่โรงเรียนหนองคอกที่ผ่านมามีคุณครูโรงเีรียนหนองบัวเทพ(อนุบาลหนองบัว) บอกให้ทราบว่าทำไมไม่บอกให้รู้บ้างว่ามาจัดงาน บ่นเสียดาย เลยบอกไปว่าคราวต่อไป คงได้มีโอกาสทำอีก แล้วทีนี้จะให้ช่วยเป็นทีมงานเลยแหละ ครูก็บอกยินดี
  • งานงิ้ว๒๕๕๕นี้ ถ้าไปจัดอีกน่าจะมีคนเฒ่าคนแ่ก่ไปร่วมให้ความรู้มากขึ้นและมีครูหลายโรงเรียนก็สนใจด้วย
  • เจออาจารย์ขุน โอภาษี : ผอ.โรงเรียนวังบ่อวิทยา ในคราวไปเยี่ยมท่่านที่โรงเีรียน(๒๖ ธ.ค.๒๕๕๔) ท่านบอกว่าเสียดายมากเลยไม่ได้ไปทั้งสองงาน

วันนั้นมีเวลาพูดคุยกับผอ.ขุนไม่มากนัก หลังจากนั้นท่านก็ขอตัวไปประชุมที่เขต ในช่วงก่อนไปประชุม อาจารย์ได้พาเดินชมบริเวณโรงเรียน และแนะนำเรื่องพันธ์ไม้ต่างๆ ท่านรู้จักทั้งชื่อไม้ทั้งหมดในโรงเรียนเป็นอย่างดี และก็รู้ลึกซึ้งไปถึงสรรพคุณทางยาอีกด้วย
                            
                           อย่างต้นที่กำลังแนะนำอยู่ในภาพนี้ คือต้นพิลังกาสา ผอ.บอกรายละเอียดว่าเข้ายาอะไรได้บ้าง  

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

  • ผมอยากจะลงไปหนองบัวสักครั้งหนึ่งนะครับ หากพอเตรียมการและทำกิจกรรมร่วมกันได้อีกในช่วงงานงิ้ว ก็จะได้มีเวลาเตรียบมตัวและทำให้ออกมาดีๆ แต่ถ้าหากไม่พร้อม ก็จะยังสามารถสั่งสมและเตรียมทำเวทีของหนองบัวให้ได้
  • ผมว่าจะใช้บทเรียนของหนองบัวและหนองบัว จัดเวทีถอดบทเรียน สร้างแนวคิด และสร้างความรู้ปฏิบัติสักชุดหนึ่ง สำหรับเผยแพร่แก่สังคม รวมทั้งใช้กรณีของหนังบัวเป็นตัวตั้งเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้่ทางด้านต่างๆ รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายวิจัยเชิงสังคมเพื่อสร้างสุขภาวะชุมชน ให้ได้มานั่งสังเคราะห์ประสบการณ์และสะท้อนกลับไปสู่การทำงานของตนเอง ให้เกิดพลังความริเริ่มสร้างสรรค์ต่างๆร่วมกันต่อไป สักครั้งหนึ่งนะครับ
  • ใครที่อยู่หนองบัว หรือคนหนองบัวที่ไปอยู่ที่อื่นแต่ยังผูกพันกับถิ่นฐานบ้านเกิดรวมทั้งคนทำงานที่ต้องการเรียนรู้ไปกับประสบการณ์ของคนหนองบัว เพื่อได้แนวคิดและแนวดำเนินการใหม่ๆในการทำงานให้กับสังคมวงกว้าง ก็ขอชวนเชิญกันไว้ก่อนนะครับ
  • ตอนนี้บันทึก เวทีสร้างสุขภาวะชุมชนหนองบัว เปิดได้แต่หน้าแรกเสียแล้วนะครับ แต่หน้าอื่นๆไม่ขึ้น ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเนื้อหาและข้อมูลทั้งภาพและข้อความเยอะมากหรือเปล่า
  • วันนี้ลองเช็คไปที่หลายบันทึก 
  • บันทึกที่มีหลายหน้า ในเวทีคหนองบัว ทั้งไอ้เป๋หนองบัว คนหนองบัวกับพริกเกลือ ทุนสังคมอำิเภอหนองบัว
  • ปรากฏว่า่อ่านได้เฉพาะหน้าแรกเหมือนกันเลย
  • มีข้อสังเกตเพิ่มเติมในสามบันทึกดังกล่าว 
  • เมื่อวันก่อนเปิดอ่านได้ทุกหน้าก็จริง
  • ซึ่งแต่เดิมที่เคยมีอยู่หลายหน้า เปิดอ่านได้ทีละหน้า(๓๐ ความเห็น)
  • แต่ไม่กี่วันมานี้ ทุกบันทึกจะมีเพียงหน้าเดียวเอง ซึ่งบางบันทึกก็มีหลายร้อยความเห็นด้วยกัน คงจะหนักมากเมื่อทำให้ขึ้นเป็นหน้าเดียว
  • ยิ่งบันทึกเรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัวด้วยแล้ว มีตั้ง ๑,๗๐๐ กว่าความเห็น 
  • ทั้งภาพและข้อมูลมากขนาดนั้น เปิดเป็นหน้าเดียว ท่าจะโหลดไม่ขึ้นจริงๆนั่นแหละ

เรียนท่านพระอาจารย์มหาแล เจริญพรโยม ดร.วิรัตน์ 

  • เช้านี้เปิดเข้าไปอ่าน เวทีสร้างสุขภาวะชุมชนหนองบัว เปิดได้แต่หน้าแรกจริง ๆ ด้วยครับ..
  • กลางเดือนนี้.. ในช่วงวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2555 ผมกะว่าจะลงไปหนองบัวอีกครั้งหนึ่ง จัดเวทีสนทนากลุ่มเครือข่ายครู เพื่อเก็บข้อมูลรอบสองกระบวนการเรียนรู้ออนไลน์เครือข่ายครูฯ ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์ทั้งสองพอจะแบ่งเวลาไปร่วมได้ไหมครับ 
  • เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ในการจัดเวทีถอดบทเรียนและงานงิ้วให้ชาวบ้านคนหนองบัวไปด้วย
  • อย่างไรท่านอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยครับ 

เจริญพรโยมดร.วิรัตน์

อาตมาส่งแบบสัมภาษณ์เครือข่ายครู ไปทางอีเมล์ของโยมอาจารย์เมื่ออาทิตย์ที่แล้วไม่ทราบว่าได้รับหรือเปล่าครับ..รบกวนโยมอาจารย์กรุณาช่วยกรอกและส่งคืนทางอีเมล์ของอาตมาด้วยครับ..เจริญพรขอบพระคุณล่วงหน้าครับ.

กราบนมัสการพระคุณเจ้า ท่านพระอาจารย์มหาแล
และท่านพระอธิการโชคชัยครับ

  • ผมจะลองขอความอนุเคราะห์จากทาง gotoknow อีกทีนะครับ
  • เห็นแล้วก็ใจไม่ดี ผมเคยมีบทเรียนกับเว็บอื่นๆ ๒-๓ เว็บ ที่ผมเขียนและเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ โดยหะแรกก็ตั้งใจว่าทำแบบไม่ต้องไปคิดหวังอะไร แต่พอหายหรือเว็บเขาล่มสลายไปก็รู้สึกเสียดายมาก โดยเฉพาะหลายอย่างเป็นข้อมูลและงานที่ผมคิดว่าคงจะไม่มีกำลังทำซ้ำได้อีกแล้ว 
  • แบบสอบถามที่ท่านพระอธิการโชคชัยส่งไปให้ผมตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้วนั้น หากถึงก็น่าจะได้เห็นผ่านตาแล้วนะครับ แต่นี่เพิ่งจะได้ทราบนี่แหละครับ ไม่รู้ส่งไปที่อีเมล์เดิมเมื่อตอนผมอยู่มหิดลหรือเปล่า เมล์มันเต็มผมยังไม่ได้ลบไฟล์ออกเลย เลยก็ไม่ได้ใช้มาหลายเดือนแล้ว ส่งไปที่อีเมล์อีกอันหนึ่งนะครับ ที่นี่ครับ [email protected]
  • ส่วนวันที่ ๑๓-๑๕ นั้น ผมมีเวริ์คช็อปที่บ้านสันป่าตอง กับเครือข่ายสถาปนิกและคนทำงานชุมชนเมืองของเชียงใหม่กับเครือข่ายบางกอกฟอรั่มพอดีเลยครับ เลยจะยังไปร่วมด้วยไม่ได้ แต่เครือข่ายนี้ ผมเคยออกปากว่าอยากพาไปนั่งถอดบทเรียนและทำปฏิบัติการโดยใช้ตลาดและชุมชนหนองบัวเป็นกรณีศึกษา สักครั้งหนึ่งอยู่ด้วยเหมือนกันครับ
  • ฝากบอกกล่าวและประสานงาน คนในหนองบัว ไว้แบบกว้างๆไปด้วยนะครับ ผมอยากหาเครือข่ายมานั่งคุยด้วย แล้วก็เชื่อมโยงไปทำให้ทุนทางสังคมวัฒนธรรมต่างๆที่มีอยู่ในหนองบัว ได้เป็นโอกาสทำเรื่องดีๆต่างๆด้วยกัน ทั้งให้กับหนองบัวและแก่สังคมวงกว้าง น่ะครับ

เจริญพรโยมอาจารย์ดร.วิรัตน์

อาตมากำลังจัดส่งเมล์แบบสอบถามให้ใหม่ครับ..ส่วนงานวิจัยเครือข่ายเวทีคนหนองบัวนั้นอาตมาขอคำแนะนำด้วยน่ะครับโยมอาจารย์สังเคราะห์จากแบบสอบถามก็ได้ครับ และอาตมาจะพยายามทำให้ดีที่สุด ตอนนี้แบบสอบถามเครือข่ายครูที่ทำเวร์คช๊อบตอบกลับมาแล้ว เช่น รร.หนองไผ่ รร.ไพศาลี รร.บ้านปากดง และรร.หนองบัว ฯลฯ..เจริญพร

กราบนมัสการท่านพระอธิการโชคชัยครับ
ได้รับเมล์แล้วครับ จะรีบดูและกรอกส่งกลับมาให้นะครับ

แต่ที่สุดก็ตัดสินใจเดินเท้าออกจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ไปที่ทำงานของภรรยาที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลสวนดอก.....

ละเลียดอ่านแม้ว่างานยังกองอยู่ในใจและบนโต๊ะ

เป็นบันทึกที่ชวนให้ทำตาม..ออกเดินด้วยเท้าเพื่อใคร่ครวญถึงอะไรต่อมิอะไร โดยเฉพาะเรื่องที่พยายามวางไว้ยังไม่ใช่เวลาที่ควรนำมาคิด


ขอบคุณมาก ๆ ค่ะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท