บันเทิงในธรรม (๔)


อานิสงส์ของการทำสมาธิ

 

ประโยชน์ต้น

 

จิตใจจดจ่อต่อเนื่อง มีสติ สม่ำเสมอ สมาธิทำให้เราเป็นคนปกติ สมาธิช่วยวางความเป็นปกติของจิตใจมนุษย์

 

ประโยชน์กลาง

 

เวลาจิตใจเกิดสมาธิ สามารถตั้งมั่น จะเกิดความแช่มชื่น เบิกบาน ปลอดโปร่ง ออกจากสมาธิแล้วผลนั้นจะปรากฏออกมา จิตใจที่ชุบอยู่ในความละเอียด ประณีต จะมีกำลัง มีอารมณ์ที่เบิกบาน อาศัยสมาธิพักผ่อนไม่นานก็หายเหนื่อย

 

มีพระรูปหนึ่งท่านทำกรรมฐานต่อเนื่อง ทำสมาธิต่อเนื่อง ช่วงเข้าพรรษาไม่คลุกคลีกับใคร ท่านนอนวันละครึ่งชั่วโมง จากนั้นท่านยกเลิกไม่นอนเลย เมื่อสมาธิมีกำลัง ร่างกาย จิตใจจะมีความกระปรี้กระเปร่ามาก

 

ประโยชน์สูงสุด

 

จิตใจที่เกิดสมาธิจะมีความหนักแน่น เห็นจิตใจเห็นการเคลื่อนไหวของจิตใจเจ้าของโดยไม่หลง สามารถที่จะละ ทิ้งเสียซึ่งกิเลสที่เกาะอยู่ในจิตใจ เห็นชัดแบบเทียบไม่ได้ จิตที่ไม่เป็นสมาธิเมื่อเห็นกิเลสจะรีบหาเหตุผลมาสงวนไว้ แต่ถ้ามีสมาธิ กิเลสจะหาเหตุผลไม่ได้เพราะเห็นชัดเจนจริงๆ

 

การปฏิบัติธรรมทำให้เรามีวิธีการรักษาจิตใจของตัวเอง การได้ฝึกหัดทำให้มีประสบการณ์บ้าง อาจจะได้ผลบ้าง แต่ในที่สุดก็ได้กลับบ้าน อันนี้จะเป็นเครื่องวัดผลว่าเราสามารถนำธรรมะเข้าสู่ชีวิตของตัวเองได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายเรามากกว่า

 

เวลาเรารักษาศีล ๕ เป็นการให้ความปลอดภัย ซึ่งเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ เป็นการให้โดยความกรุณาสงสาร ให้ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องที่หายากในโลกนี้ เพราะปัจจุบันนี้เราอยู่กันด้วยความแข่งขัน ระแวงกัน การได้อยู่อย่างนี้จึงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่

 

เวลาพระพุทธเจ้าพูดถึงเรื่องศีลที่สมบูรณ์ ทำให้สมาธิหนักแน่น จึงเป็นเรื่องที่มีคุณค่า ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เราต้องทำให้ความขยันเกิดขึ้น การภาวนาต้องลงทุน มีความพยายาม มีการทวนกระแสความขี้เกียจ เราชอบผลัดวันประกันพรุ่ง พรุ่งนี้จะทำให้ได้  แต่วันนี้ขอไว้ก่อน  หรือมีคนอื่นชวนไปทำอย่างอื่น ทำให้เรามีเวลาน้อนลงสำหรับการปฏิบัติ ต้องพยายามปลุกเร้าตัวเองให้มีการลงทุน

 

สำคัญที่การปฏิบัติ

 

มีแม่ไก่ตัวหนึ่งออกไข่ออกมาหกฟอง แปดฟอง สิบฟอง  แม่ไก่ขอให้ไข่นี้เป็นลูกไก่ออกมาอย่างสมบูรณ์ เราจะได้มีลูกไก่ แต่ไม่นั่งฟักไข่ ไข่ก็เย็นสนิท ถึงปรารถนาแรงกล้าอย่างไรก็ไม่สัมฤทธิ์ผล ถ้าแม่ไก่มีความขยันในการดูแลรักษา ปรารถนาก็ดี ไม่ปรารถนาก็ดี ลูกไก่ก็จะออกมา ถ้าเราไม่ปฏิบัติ ไม่ภาวนา อย่างนี้ก็ยากที่จะได้ ขอให้ได้ปฏิบัติตามไตรสิกขา ผลก็จะออกมา

 

สำคัญที่การปฏิบัติ สนใจกับการทำให้การปฏิบัติเกิดขึ้นในชีวิตของเรา ไม่ต้องคิดมากว่าเราได้ทำอะไรไปแค่ไหน ละโลภ โกรธ หลงได้แค่ไหน แต่ก็ทำไปเถอะ เหมือนช่างไม้ที่ใช้เครื่องมือทุกวัน ก็จะเห็นรอยมือที่เครื่องมือ ทำงานไป ทำงานไป มันก็จะสึกไปเอง เราก็ไม่รู้ว่าแต่ละวันๆ เราได้ชำระกิเลสของเราได้แค่ไหน ทำไปเถอะ จิตใจจะเบาเอง ทำให้เป็นไปโดยธรรมชาติ ต้องสนใจในการศึกษา หาความรู้ให้ถูกต้อง ให้ความสนใจกับการทำเหตุให้ดีเพื่อให้ผลปรากฏ แล้วอริยมรรค ๘ ที่เป็นเหตุให้เกิดการพ้นทุกข์ก็จะปรากฏ

 

 

หมายเลขบันทึก: 473362เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2012 17:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2012 00:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณมากค่ะสำหรับการแบ่งปันบันทึกที่อ่านง่ายแต่เต็มไปด้วยสาระธรรม

  • ขอพระพุทธํรัตน์กำจัดทุกข์ 
  • ขอพระธรรมนำสุขทุกสมัย 
  • ขอพระสงฆรัตน์กำจัดภัย 
  • ขอพระไตรรัตน์นำสุขจำเริญ เทอญ

 

ตอนนี้ยังศึกษาทฤษฎีอยู่ค่ะ เพื่อนำไปปฎิบัติอย่างถูกต้อง แต่ในทางปฎิบัติยอมรับว่ายากมาก เพราะบางที ก็มีเผลอใจไปบ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท