การเรียนรู้ทางสังคมที่ผสมผสานอยู่ในกฐินสายวัดห้วยส้ม สันป่าตอง ๑


 

   การเรียนรู้ทางสังคมในฐานะความรู้และระบบการศึกษา  

หากเราจะรู้จักการเรียนรู้ทางสังคมจากการพิจารณาความหมายที่แคบที่สุด โดยใช้ชื่อวิชาความรู้อย่างเป็นทางการมาเป็นแนวในการพิจารณา คนจำนวนไม่น้อยก็คงจะรู้จักในรูปของวิชาสังคมศึกษา หน้าที่พลเมือง มนุษยสัมพันธ์ ประชากรศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ การเมืองและระบบสังคม ความเป็นเมือง ทักษะชีวิตและมนุษยนิเวศ ชุมชนและชนบทศึกษา ภูมิภาคศึกษา โลกศึกษา ความขัดแย้งและการจัดการ การสื่ือสารและการพัฒนาการเรียนรู้ เป็นอาทิ

   การเรียนรู้ทางสังคมกับการพัฒนาสังคมในสาขาต่างๆ  

ในการทำงานสาธารณสุขชุมชน การสาธารณสุขมูลฐาน การพัฒนาสังคมสุขภาพ รวมไปจนถึงการดำเนินงานสาขาต่างๆในชุมชนนั้น มีความจำเป็นมากที่จะต้องเรียนรู้ทางสังคมและใช้เป็นเครื่องมือสำหรับริเริ่มการทำงานหลายอย่าง เช่น ใช้วิเคราะห์และประเมินสภาวการณ์ปัญหา ใช้วิเคราะห์ระบุความจำเป็นของชุมชน การเรียนรู้ผ่านข้อมูลทางประชากรและข้อมูลพื้นฐานมิติต่างๆ การวิเคราะห์สังคมวัฒนธรรม การวิเคราะห์ระบบสื่อ การสื่อสารเรียนรู้ในวิถีชีวิตของประชาชน การลงพื้นที่และเดินสำรวจชุมชน การวิจัยชุมชน การพัฒนาวิธีเล่าเรื่องและสื่อสะท้อนความเป็นจริงทางสังคม การพัฒนาระบบและคุณภาพสื่อสารมวลชน เหล่านี้เป็นต้น กล่าวอย่างกว้างๆโดยทั่วไปเป็นเบื้องต้นได้ว่า การเรียนรู้ทางสังคมเป็นการเรียนรู้เพื่อเข้าใจและจัดการความสัมพันธ์กับผู้คนในโลกรอบข้างเพื่อทำหน้าที่ของชีวิตตามกรอบกติกาของสังคมให้เหมาะสม เข้าใจและเห็นมิติความเป็นการกระทำทางสังคมที่สามารถผสมผสานไปกับการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิต อีกทั้งเป็นเครื่องมือและวิธีทำงานความรู้เชิงสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งแม้ในความหมายที่แคบ ก็มีความสำคัญมาก

   การเรียนรู้ทางสังคมในฐานะวิถีชีวิตและธรรมชาติของสังคม  

ในความหมายที่กว้างนั้น การเรียนรู้ทางสังคม เป็นองค์รวมของการจัดความสัมพันธ์ของมนุษย์กับความมีประสบการณ์ต่อสังคม ให้เป็นวิถีแห่งการเรียนรู้เพื่อจัดการความเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินไปอยู่ตลอดเวลาให้เหมาะสม มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาชีวิต สร้างความสำนึกต่อสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกันบนความมีสุขภาวะสาธารณะดังที่พึงประสงค์ของทุกคน นำชีวิตและสังคมให้สามารถพึ่งตนเอง ใช้ทรัพยากรและปัจจัยภายนอกของสังคมและของโลกอย่างพอดี พร้อมกับสามารถร่วมผลิตและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆเพื่อผู้อื่น สามารถยกระดับความเป็นอิสรภาพในตนเอง กล่อมเกลาตนเองให้เติบโตงอกงาม มีความละเอียดอ่อนลึกซึ้ง มุ่งสู่คุณค่าด้านในจิตใจของมนุษย์ได้มากยิ่งๆขึ้นไปตามลำดับ ตลอดชีวิต

การเรียนรู้ทางสังคมในความหมายนี้ จึงเป็นการเลือกสรรค์ความเปลี่ยนแปลง และสร้างความงอกงามของประสบการณ์ทางสังคมอย่างเป็นองค์รวม ที่สะท้อนผสมกลมกลืนอยู่ในกิจกรรมต่างๆของสังคม ไม่มีวิธีคิดและวิธีมอง ขาดความละเอียดลึกซึ้งที่จะสัมผัส ก็ไม่สามารถเห็น จึงมีความเป็นมิตินามธรรม ที่ต้องกำหนดรู้กันด้วยปัญญา และต้องสร้างความแยบคาย ในการหาประสบการณ์ชีวิตและสร้างประสบการณ์ต่อสังคม

   การเรียนรู้ทางสังคมกับนัยยะต่อการพัฒนาพลเมืองและสังคมสุขภาวะ  

การขาดการเรียนรู้ต่อสังคมของตนเอง หรือการมีประสบการณ์ต่อสังคมด้วยรูปแบบและวิธีการที่ไม่เหมาะสม เช่น การพัฒนาการเรียนรู้เกี่ยวกับสังคมแบบวิธีลดทอนเพื่อการบริโภคความสะดวกมิติเดียว โดยขาดการพัฒนาการใช้ชีวิตและการเรียนรู้บนความเป็นจริงอันหลากหลายในชีวิตของสังคมที่เพียงพอ ซึ่งเป็นกระแสหลักของสังคมทั่วโลก, การประท้วงและใช้การกระทำที่รุนแรงเข่นฆ่ากันที่มุ่งเพียงแบ่งขั้วและฝักฝ่ายที่อิงผลประโยชน์เฉพาะด้านของตน หรือใช้วิธีเรียนรู้ที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะประสบการณ์ความเป็นจริงจำเพาะ เหล่านี้เป็นต้น

วิธีการอย่างนี้ นอกจากจะทำให้ปัจเจกขาดประสบการณ์จริงต่อชีวิต ขาดประสบการณ์ตรงต่อสังคม ไม่สามารถสร้างโลกทัศน์และชีวทัศน์เพื่อใช้พัฒนาตนเองและสร้างสังคมในโลกความเป็นจริงได้แล้ว ก็จะทำให้สังคมต่างๆมีประชากรที่รูปการณ์ความสำนึกทางสังคมร่วมกัน ไม่สอดคล้องเหมาะสมกับความเป็นปัจจุบันของตนเอง ขาดความเป็นพลเมือง ซึ่งนับว่าเป็นทั้งเป้าหมายและเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาสุขภาวะสังคมในทุกระบบ 

กระบวนการทางประชากรศึกษา รวมทั้งการพัฒนาชุมชนการเรียนรู้ในขอบเขตต่างๆ เป็นมิติหนึ่งของการพัฒนาการเรียนรู้ทางสังคม เพื่อสนองตอบต่อแนวความเชื่อร่วมกันของสังคมในหลายประเทศทั่วโลกที่ว่า แรงกดดันของสังคมนั้น จะนำไปสู่กระบวนการทางประชากรและผลสืบเนื่องต่างๆตามมา เช่น ภาวะสุขภาพ การลดจำนวนการมีบุตร การพัฒนาจุดหมายชีวิต การใช้แรงงานและการมีงานทำ การพัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยี การพัฒนาวิถีการผลิต การไม่ต้องการมีบุตร การยืดอายุการแต่งงานและมีความครอบครัว การอพยพและย้ายถิ่นด้วยเหตุผลต่างๆ การเปลี่ยนแปลงขนาด รูปแบบ และความหมายของครอบครัว การก่อเกิดลักษณะชุมชนและกระบวนการทางสังคมที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต เช่น สังคมออนไลน์ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายมิติ

ในระดับจุลภาค ก็ทำให้บางสังคมลดขนาด บางสังคมเกิดการขยายตัว และในระดับมหภาค ก็ทำให้สังคมโลกขยายตัวอย่างซับซ้อน เกิดแรงกดดันในการรักษาความสมดุลในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งการเรียนรู้ทางสังคมเพื่อพึ่งตนเองของมนุษย์มากขึ้นและลดแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกได้มากยิ่งๆขึ้น จะเป็นทางหนึ่งของการบรรเทาปัญหาต่างๆของปัจจุบันและในอนาคต  

   การเรียนรู้ทางสังคมกับนัยยะต่อการเข้าถึงปัญหาและความเป็นจริงของสังคม  

ภาวะกดดันและการสนองตอบในทิศทางต่างๆเหล่านี้ เป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้ วางแผน และเตรียมความพร้อมเพื่อจัดการความเปลี่ยนแปลงต่างๆให้ดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์ที่สุดได้ รวมทั้งสามารถพัฒนาท่าทีหรือวิถีในการเข้าสู่ปรากฏการณ์ แปรวิกฤติ ทำความหมายของปัญหา ให้กลายเป็นโอกาส นำไปสู่การจัดการทางสังคมและส่งเสริมสุขภาวะทางสังคมดังที่พึงประสงค์ร่วมกันได้ การเรียนรู้ทางสังคม จะทำให้ประชากรในสังคมเดียวกันและบนพื้นที่เดียวกัน มีสำนึกความเป็นพลเมืองที่แตกต่างกันได้

ตัวอย่างเช่น คนอยู่ในพื้นที่เดียวกันซึ่งข้อมูลความหนาแน่นและการกระจายตัวทางประชากร บ่งชี้มิติต่างๆว่าพื้นที่ดังกล่าวนี้มีความเป็นชุมชนเมือง หากเราใช้ข้อมูลดังกล่าวพัฒนานโยบายเพื่อสาธารณะของพื้นที่ ก็จะต้องระบุลักษณะของชุมชนดังกล่าวว่าเป็นชุมชนเมือง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบต่างๆก็อ้างอิงไปยังแนวคิดในการพัฒนาสุขภาวะของชุมชนเมือง ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว คนจำนวนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ทันสมัยและมีความหนาแน่นกว่าพื้นที่อื่นนี้ มีการพัฒนาการเรียนรู้ชีวิตที่เรียบง่ายและตระหนักว่าตนเองเป็นคนชนบท จึงมีระบบชีวิตที่มุ่งให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกันอย่างคนชนบท การดำเนินโครงการพัฒนาและปฏิบัติต่อกันบนความเป็นเมืองที่อิงไปตามข้อมูลด้วยวิธีคิดทั่วไปแบบเดิม จึงย่อมปะทะและขัดแย้งกับการรับรู้ตนเองของชุมชนผู้อยู่อาศัยได้

ในทำนองเดียวกัน คนจำนวนหนึ่งในพื้นที่ชนบท แต่มีการเปิดรับสื่อและพัฒนาการเรียนรู้ชีวิตทันสมัยแบบสังคมเมือง ทำให้วิธีคิดและชีวิตประจำวันมีความเป็นคนเมืองมากกว่าจะเข้าใจว่าตนเองเป็นคนชนบทอย่างที่แสดงให้เห็นผ่านข้อมูลทางประชากรที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป การวางนโยบายสาธารณะเพื่อชุมชนในพื้นที่ชนบทดังกล่าว ก็ย่อมไม่สนองตอบต่อความต้องการของชุมชน และเป็นวิธีเรียนรู้ที่จะนำไปสู่ปฏิบัติการเชิงสังคมที่สร้างการปะทะขัดแย้งแบบแบ่งขั้วกันได้อีกเช่นกัน

สภาพดังกล่าวนี้ ทำให้เราสามารถกล่าวได้อย่างหนึ่งว่า ภาวะกดดันที่ก่อให้เกิดวิกฤติปัญหาและเกิดความรุนแรงขึ้นในสังคมเป็นจำนวนไม่น้อยนั้น อาจไม่ได้เป็นปัญหาอยู่โดยตัวมันเอง แต่เป็นปัญหาที่สืบเนื่องอยู่กับการพัฒนาการเรียนรู้ทางสังคม รวมทั้งการส่งเสริมการคิด การแสดงออกอย่างเป็นส่วนหนึ่งของเจ้าของสังคม การได้ประสบการณ์ที่สร้างสรรค์ต่อสังคม เพื่อให้ชุมชนและสังคมมีความสามารถริเริ่มและตัดสินใจออกมาจากความเป็นตัวของตัวเองได้เป็นอย่างดีที่สุด

   การพัฒนาการเรียนรู้ทางสังคมกับการสร้างศักยภาพในการเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงของสังคม  

ความเป็นจริงในลักษณะดังกล่าวนี้ ในภาพกว้างที่นอกเหนือจากสังคมไทย ผมเองก็เคยได้อ่านผลการศึกษาเกี่ยวกับสำนึกทางสังคมต่อความเป็นคนชนบทและคนเมืองบนพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ที่ฟิลาเดลเฟียของอเมริกา มาหลายปีแล้ว รวมทั้งทรรศนะเชิงทฤษฎีการย้ายถิ่นและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายแนว เช่น ในทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงและขั้นตอนการเติบโตของสังคมเศรษฐกิจของรอสทาวน์ (Rostow,1970) หรือทฤษฎีการตัดสินใจย้ายถิ่นในระดับจุลภาคของราเวนไสตน์ (E.Ravenstein,1889) ก็มีการค้นพบและอธิบายให้เข้าใจได้มานานแล้วว่า การเรียนรู้ทางสังคม ทำให้ปัจเจกและผู้คนในสังคมสร้างความคาดหวังต่อปัจจัยดึงดูดของแหล่งปลายทางการย้ายถิ่น และเรียนรู้แรงกดดันซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันของแหล่งต้นทางการย้ายถิ่น

การตัดสินใจเพื่อปฏิบัติต่อการเรียนรู้ในระดับต่างๆเหล่านี้ จะมีผลต่อกระบวนการทางสังคมและกระบวนการทางประชากรอย่างลึกซึ้งตามมา นับแต่การจัดความสัมพันธ์ของตนเองกับความต้องการส่วนตน วิธีคิดและปฏิบัติต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สำนึกความเป็นพลเมือง ระดับการมีส่วนร่วมต่อการสร้างสุขภาวะสาธารณะ รูปแบบการใช้ชีวิตและระดับความเติบโตงอกงามภายในของมนุษย์ รวมไปจนถึงความมีจิตวิญญาณสากล

นอกจากนี้ การที่ปัจเจก กลุ่มคน ชุมชน และสังคมต่างๆ จะตระหนักถึงความเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน สามารถมีส่วนร่วมสร้างสุขภาวะสังคม เหล่านี้ ได้กว้างขวางมากยิ่งๆขึ้นเท่าใด ก็เชื่อกันว่าขึ้นอยู่กับการที่จะได้มีประสบการณ์ชีวิตและการได้เรียนรู้ทางสังคม ให้สามารถพัฒนาตนเองและจัดความสัมพันธ์กับความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของโลกรอบข้างได้อย่างเหมาะสม มากน้อยเพียงใดนั่นเอง ดังนั้น การพัฒนารูปแบบการดำเนินชีวิตและส่งเสริมการเรียนรู้ทางสังคมแก่ประชาชน จึงเป็นทั้งการสร้างทุนมนุษย์และการเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ดีอย่างหนึ่ง ผ่านการพัฒนาการเรียนรู้ทางสังคม

   การเรียนรู้ทางสังคมในฐานะภูมิปัญญาปฏิบัติและนัยยะต่อการสร้างสุขภาวะสังคมในระดับฐานราก  

กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมนั้นเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งเป็นไปเองอย่างธรรมชาติ การเกิดอุบัติภัย การเกิดบทเรียนจากสงครามและทุพภิกภัยต่างๆ การเกิดโรคระบาด การเคลื่อนไหวทางการเมืองของสังคม การจัดหลักสูตรโรงเรียน การออกแบบและจัดการทางสังคม นับแต่ในระดับการเรียนรู้ส่วนบุคคล การเรียนรู้ในระดับครอบครัว การเรียนรู้เป็นกลุ่มก้อนทางสังคม การเรียนรู้ในวิถีชีวิตและระบบสังคมภาคประชาสังคม กระทั่งการเรียนรู้เป็นชุมชนและมวลชนระดับต่างๆ

วิธีเรียนรู้ดังที่กล่าวมานี้ มีความเป็นประสบการณ์ทางสังคมและเป็นภูมิปัญญาปฏิบัติที่สั่งสมผสมผสานอยู่ในกระบวนการสังคมทั่วไปอยู่เสมอ สามารถพัฒนาการเรียนรู้และริเริ่มวิธีนำมาจัดการใหม่ๆได้อยู่ตลอดเวลา จึงเป็นอีกมิติหนึ่งที่มีความน่าสนใจในอันที่จะมุ่งเข้าถึงและนำมาศึกษาให้เห็นถึงแง่มุมที่เชื่อมโยงกับโลกกว้าง ในด้านที่ชุมชนและสังคมชาวบ้านมีประสบการณ์ทางสังคมรองรับ ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างเสริมศักยภาพในการพึ่งการจัดการของตนเอง และส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาให้ก้าวหน้าออกจากภูมิปัญญาปฏิบัติที่มีอยู่เป็นพื้นฐานแล้วในวิถีดำเนินชีวิต จากชุมชนต่างๆในระดับฐานรากของสังคม ได้เป็นอย่างดี ชุมชนและคนส่วนใหญ่จะยิ่งเห็นโอกาสในการพัฒนาตนเองขึ้นจากสิ่งที่มีอยู่เป็นทุนเดิมในตัวผู้คนและในมิติต่างๆของวิถีชุมชนได้มากขึ้น ซึ่งก็จะมีส่วนต่อการส่งเสริมให้สุขภาวะของสังคม ทั้งของส่วนรวมและต่อความหลากหลายของปัจเจก ดียิ่งๆขึ้น

   การเรียนรู้ทางสังคมในงานวัดของบ้านห้วยส้ม  

‘การทอดกฐินสาย’ หรือ ‘กฐินสามัคคี’ ของวัดห้วยส้ม ตำบลสันกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ก็มีมิติการเรียนรู้ทางสังคมดังที่ได้กล่าวถึงมานี้ จึงขอนำมาบันทึกรวบรวมไว้เพื่อชื่นชม ศึกษา พิจารณาคุณค่าและความหมายใหม่ๆของสิ่งที่มีอยู่แต่เดิมในสังคม และเป็นอีกวิธีหนึ่งในการพัฒนาพลังทางวิชาการ พลังความรู้ ให้เข้าไปเสริมพลังการเรียนรู้ของชุมชน ส่งเสริมให้เกิดโอกาสเลือกสรรการพัฒนาและจัดการความเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชน รวมทั้งร่วมผุดปัจจัยหนุนเสริมอีกแรงหนึ่ง สำหรับการสร้างสรรค์สุขภาวะสังคมให้สอดคล้องกับสิ่งที่มีอยู่ในตนเอง ได้มากยิ่งๆขึ้น (มีต่อตอนที่ ๒)

หมายเลขบันทึก: 470263เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2011 15:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

การให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องชุมชน...เรื่องใกล้ตัว...นักเรียนจะได้สืบต่อภูมิปัญญาของชุมชนได้...นอกจากนี้ยังเป็นความภูมิใจของท้องถิ่นด้วย ...ผมเองยังดีใจที่เกิดเป็นคนหนองขาว พนมทวน มีเรื่องท้องถิ่นที่น่าสนใจมากๆ

อาจารย์สบายดีไหมครับ...

สวัสดีครับอาจารย์ดร.ขจิต
อาจารย์เป็นคนบ้านหนองขาวด้วยหรือครับ หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มย้ำกุ้งเมื่อสัก ๑๔ ปีก่อน ผมได้ไปทำงานสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนประชาคมจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกันคนบ้านหนองขาวหลายคนเลย ได้ทำงานกับกลุ่มยุวชนบ้านหนองขาวด้วย มีครั้งหนึ่งได้ไปเจอเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เขาเดินมาสวัสดีและแนะนำตนเองว่าเขาเป็นเด็กบ้านหนองขาว เคยทำงานกลุ่มเด็กกับผมเมื่อตอนเขาเป็นเด็กที่บ้านหนองขาว ประทับใจมากครับ การทำงานบางเรื่อง เป็นทุนชีวิตในการสร้างคนระยะยาว

  • ใช่ครับ ตอนเด็กๆผมวิ่งเล่นแถวบ้านพ่ออยู่หลังวัดอินทรราม แถวๆโรงสี
  • ตอนนี้เพื่อนๆน้องๆ ก็เป็น อบต.อยู่ที่หนองขาว
  • เลยไม่น่าห่วง แต่ผมอยากให้เป็นเหมือนสมัยก่อน
  • มีการวิ่งวัวลาน งานแต่ละงานสนุกมากๆ
  • ผมเคยเจอเจ้าหน้าที่ของสาธารณะสุขเป้นคนหนองขาวด้วย
  • ตอนไปช่วยหมอบุญนำที่โรงพยาบาลท่าม่วง
  • โลกกลมนะครับ
  • http://www.gotoknow.org/blogs/posts/319953

ที่บ้านหนองขาวนี่ ในเรื่องการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพประชาชนแล้วละก็ กลุ่มผู้หญิง ครู กลุ่มเยาวชน และ อสม.มีอยู่มากใช้ได้เลยละครับ

อาทิตย์อรุณสวัสดิ์ค่ะท่านอ. เซียนศิลป์

สุขสันต์วันคล้ายวันเกิดย้อนหลังนะคะ :)

 

จันทร์สุขสดใสกระชุ่มกระชวยครับคุณ Poo
ขอบคุณสำหรับรูปถ่ายสวยๆพร้อมคำอวยพรด้วยน้ำใจรำลึกถึงกันครับ ใกล้ปีใหม่อีกแล้ว ขอให้มีความสุข และยิ่งได้ประสบการณ์ดีๆเพิ่มมากยิ่งๆขึ้นไปอีกนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท