การขับเครื่องบินเข้าหลุมจอด โดยไม่ให้เลยขอบเขตที่กำหนด เรื่องง่ายๆแต่ไฉนเกิดกันถี่มาก


การขับเข้าจุดจอดต้องตั้งสติรับรู้ถึงอัตราการชลอตัวตามแรงเฉื่อยและปรับน้ำหนักการกดแป้นเบรคให้เหมาะสม

โสตถิทัศน์ เอี่ยมลำเนา วิศวกรไฟฟ้าชำนาญการ

ผู้ตรวจสอบสนามบินเพื่อออกใบรับรองสนามบิน กรมการบินพลเรือน

สวัสดีครับ เรื่องนี้ก็เป็นประสบการณ์ตรงอีกครับ ที่จะได้พูดถึงว่า เหตุใดการปฏิบัติการขับเคลื่อนอากาศยานเข้าหลุมจอด ถึงได้เกิดการขับเลยหลุมจอด หรือจุดจอดที่กำหนดกันออกบ่อยๆ ซึ่งขอนำเสนอในรูปแบบเรื่องเล่า ครับทำให้น่าอ่านและน่าติดตาม นี่แหละครับเป็นเทคนิคของการทำให้เรื่องที่น่าเบื่อ เป็นเรื่องที่น่าอ่านไปได้ เพราะเรื่องเล่าเราสามารถบรรยาย อารมณ์และวิธีคิดได้อย่างชัดเจนทำให้ความเชื่อดูมีเหตุมีผล เพราะมนุษย์มักจะมีความคิดในเรื่องๆหนึ่ง คล้ายๆกันนะครับ

"การขับเครื่องบินเข้าหลุมจอด โดยไม่ให้เลยขอบเขตที่กำหนด เรื่องง่ายๆแต่ไฉนเกิดกันถี่มาก"

ที่ผมจั่วหัวไว้ว่า ไฉนเกิดถี่กันมาก ก็อย่าเพิ่งฟันธงว่ามันอันตรายนะครับ เพียงแต่การขับอากาศยานเลยจุดจอดนั้นมักจะทำให้การขึ้นลงของผู้โดยสารเข้าออกเครื่องไม่สะดวกรวดเร็วเท่านั้นครับ จากสถิติของสนามบินสุวรรณภูมิ จะเห็นว่าอัตราการขับอากาศยานเลยจุดจอดนั้นมีความถี่สูงมาก ซึ่งพอมีมาตรการการรายงานอุบัติการณ์ แล้วก็ยังไม่ทำให้แนวโน้มลดลง ต่อมาได้เพิ่มมาตรการโดยให้ระบุชื่อผู้ควบคุมอากาศยานที่ขับเลยจุดจอดลงในรายงาน  ก็มีแนวโน้มว่าการขับเลยจุดจอดนั้นได้ลดลงอย่างมาก ทางสนามบินก็พยายามประสานของความร่วมมือกับทางสายการบินในการเพิ่มความระมัดระวังในการเข้าจอด แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนับว่าค่อนข้างบ่อยทีเดียว

จากการสอบถามพนักงานขับสะพานเทียบ มีการสังเกตุเห็นว่าการขับเคลื่อนเข้าหลุมจอด ของอากาศยานมีอัตราความเร็วแตกต่างกัน คือเมื่ออากาศยานเริ่มเข้าใกล้จุดจอด การเคลื่อนที่จะเริ่มช้าลงเป็นลำดับ พูดง่ายๆคือเริ่มกดเบรคแต่เนิ่นๆ พอยิ่งเข้าใกล้ก็ยิ่งเพิ่มน้ำหนักการกดแป้นเบรคลงอีก

ถ้าเปรียบกับการขับรถก็คงเหมือนเราขับไปเจอไฟแดง แล้วค่อยๆกดเบรค แล้วเพิ่มแรงเบรคทีละน้อยอย่างต่อเนื่องจนรถหยุดนั่นเอง ซึ่งการปฏิบัติแบบนี้ทำให้รับรู้ถึงอัตราการชลอตัว ว่ารถเริ่มช้าหรือยัง ทำให้เราใช้แรงเบรคได้อย่างพอดี ทำให้รถหยุดได้พอดี

หรือเวลาที่เราเห็นไฟเปลี่ยนจากเขียวเป็นแดง แล้วเราหยุดแบบกระทันหัน จะสังเกตุได้ว่าการหยุดให้พอดีจะทำยาก นั่นคือการลงน้ำหนักเบรคเราทำได้ไม่ดี เพราะไม่มีเวลาที่จะรู้สึกถึงการชลอตัว เพื่อรับรู้อัตราการเปลี่ยนแปลงความเร็วนั่นเอง (องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศได้ออกข้อแนะนำว่า อุปกรณ์ตรวจจับระยะทาง ควรต้องเปลี่ยนแปลงละเอียดในลักษณะทีละ 0.1 เมตร คือเริ่มเข้าใกล้ 3เมตร...2.9..2.8...2.7....2.0..1.9..1.8....1.0...0.9....0.3..0.2...0.1 เมตร ...STOP)

อีกกรณีที่สังเกตุเห็นคือ เมื่ออากาศยานขับเข้าลานจอด มักทำตามความเคยชิน คือเมื่อเครื่อง Align หรือตั้งลำตรงแนวเส้นในทิศทาง Longigudinal กับลำตัวแล้ว ก็มักจะยังเร็วอยู่ก็ต่อเมื่อถึงระยะใกล้มากแล้วจึงค่อยกดแป้นเบรค หรือกดเบรคช้าไป อีกทั้งเครื่องมีแรงเฉื่อยมาก ทำให้น้ำหนักการกดถึงแม้จะกดมากในช่วงท้ายๆ ก็ไม่ทันเพราะอัตราความเร็วในการถึงจุดจอดมีมากเกินไปนั่นเอง

สรุปว่าการนี้ แก้ได้ด้วยการตั้งสติกดเบรคแต่เนิ่นๆ แล้วสังเกตุอัตราการเข้าใกล้ ขณะที่เท้าก็ปรับน้ำหนักการกดแป้นเบรค แล้วรับรู้ถึงแรงเฉื่อย ความเร็วที่ค่อยๆลดลง จะกดเบรคมากขึ้นเมื่อใกล้ถึงจุดจอดแต่เนิ่นๆ สิ่งนี้ล้วนต้องทำอย่างระมัดระวังและอย่าทำตามความเคยชิน นั่นเองครับ

ตัวแปรอีกอย่างคือความเคยชิน ลองนึกดูนะครับขณะที่เราจอดรถยนต์เราที่บ้าน จังหวะที่ตั้งรถให้ตรง โอเคเรามีสติพอที่จะควบคุมพวงมาลัย จังหวะที่เข้าใกล้จุดจอดเรามักจะเบรคก่อน แล้วค่อยผ่อนเบรคเผื่อดูว่าอัตราการเข้าใกล้(ของรถเกียร์อัตโนมัติ) นั้นรถเคลื่อนแค่ไหน เราจึงต้องคาดคะเนความเร็วไปพร้อมๆกับระยะประชิดตลอดการเคลื่อนที่ ซึ่งขบวนการปฏิบัติเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าเราใจลอยไปคิดถึงเรื่องอื่นๆ มักทำให้จอดห่างกว่า หรืออีกกรณีคือจอดชิดกว่า แบบการจอดที่มีสติควบคุมในทุกขณะจริงไหมครับ จากตัวอย่างที่ยกทำให้รู้ว่า การรับรู้แนวโน้ม อัตราเร็ว ระยะในการเข้าใกล้วัตถุ ต่างๆต้องใช้สติควบคุมและประมวลผลสั่งการมาที่แรงเบรค จึงจะทำได้ดีและถูกต้องนะครับ

ทีนี้ถ้านักบินทุกท่านให้ความสำคัญ ใส่ใจที่จะทำตามเส้นจราจร สัญลักณ์เครื่องหมายจากเครื่องนำเข้าหลุมจอดด้วยสายตา (VDGS:Visual Docking Guidance System) และมีกระบวนการขับเคลื่อนเข้าหลุมจอดลักษณะที่กล่าวมา ก็มั่นใจได้ว่าจะจอดได้ถูกต้องและพอดีกับที่ออกแบบไว้  เพราะการจอดที่พอดีนั้นส่งผลให้สะพานเทียบเครื่องบินสามารถ Move มาใช้งานได้โดยไม่ติดลำตัวเครื่องเหมือนตอนจอดเลยจุดจอด  สามารโหลดผู้โดยสารเข้าออกได้ในทุกประตูเครื่องบิน  ที่ออกแบบไว้ให้ผู้โดยสารเข้า-ออกเครื่องบินได้หลายๆประตูพร้อมๆกัน ทำให้ผู้โดยสารเกิดความสะดวกรวดเร็วขึ้นครับ 

 ส่วนการทำงานของ VDGS นั้น ตามมาตรฐาน ICAO ก็จะ Identify type อากาศยานได้และเริ่มบอกระยะห่างจากจุดจอดได้ตั้งแต่ 15 เมตร(มาตรฐานเดิมกำหนดให้ 10 เมตร) แสดงสัญลักษณ์เช่นลูกศร หรือแถบไฟให้เห็นการเบี่ยงเบน ซ้ายขวา ตามแนวขนานกับลำตัวเครื่อง ส่วนการเข้าใกล้จุดจอดจะต้องแสดงไฟเขียว เหลือง แดง หรือคำว่า หยุด STOP (มาตรฐานใหม่ของอักษรควรจะต้องเป็นสีแดง)ในระยะเข้าใกล้และหยุดตามลำดับ ซึ่งจะต้องได้รับการ walk test หรือเดินทดสอบระยะจุดจอด ให้ถูกต้องตามชนิดของเครื่องที่ต่างๆกัน ในแต่ละหลุมจอดที่ออกแบบไว้กับเครื่องชนิดใดๆ หรือหลายๆชนิดในหลุมจอดหลุมเดียวกันได้ครับด

หมายเลขบันทึก: 470255เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2011 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 14:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ไม่ค่อยเห็นองค์ความรู้สาขานี้ใน gotoknow เท่าไหร่ แต่ผมชอบค้นคว้า เรียนรู้เรื่องพวกนี้ด้วยตนเองครับ อาจเป็นเพราะความฝันที่ไม่สัมฤทธิ์ผลของผมในอดีต มันเลยฝังอยู่ในใจผมมาตลอด ผมชอบและมีความสนใจเรื่องการบิน อวกาศครับ มีโอกาสผมขออนุญาตเข้ามาเรียนรู้อีกนะครับ ขอบพระคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท