พลังของการมี "Focus"


ปกติเมื่อข้าพเจ้า เปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัย ที่ตั้งหน้าแรกไว้เป็น MSN ก็จะผ่านไปหน้า google แต่วันนี้ มีสิ่งที่สะดุดตาข้าพเจ้า..แล้วติดใจอย่างประหลาด อาจเพราะเชื่อมโยงมาถึงงานข้าพเจ้าที่ค้างคา..จึงอดมาสะท้อนบันทึกไว้ไม่ได้..ลองดูนะคะ ว่าเมื่อท่านดูวีดีโอนี้ คิดว่าอย่างไร..


ภาพจาก yoututbe :
 ชายหนุ่มเรียงเหรียญ 1 cent และ 25 cent จำนวนกว่า 3000 เหรียญ
ไว้บนเหรียญ 10 cent เหรียญเดียว

.

...สำหรับข้าพเจ้าแล้ว นี่คือ การทดลอง ที่แสดงให้เห็นพลังของการมี ความจดจ่อ -"Focus" อย่างเป็นรูปธรรม สมจริง.
ชายคนนี้คือคนธรรมดา ใช้เวลากว่า 7 ชั่วโมง ต่องานที่อยู่ตรงหน้า..ไม่สมบูรณ์พร้อม บางครั้งก็ล้มเหลว..ที่เห็นในวีดีโอคือล้ม 5 ครั้ง แต่ก่อนหน้านี้คงล้มมาไม่รู้กี่ร้อยรอบ..
.
สมาธิจดจ่อ-Focus เป็นการทุ่มทรัพยากรความใส่ใจ ไปกับงานที่อยู่ตรงหน้า
ข้าพเจ้านึกถึงคำว่า "Pay attention"  มีนัยยะ ว่า คนมีขอบเขตปริมาณความใส่ใจจำกัด
เหมือน เงินในกระเป๋า หรือใกล้เคียงกับ ความจุ Ram ของคอมพิวเตอร์..
หากถูกใช้อย่างกระจัดกระจาย ก็จะไม่มีเหลือพอซื้อของมีค่า หรือทำงานยากๆ ได้..
.
คำถามที่ตามมาคือ อะไรคือสิ่งทำให้ชายในวีดีโอคลิปมี "Focus" อย่างแรงกล้า
หรือเพราะ..
1. เขามีภาพสุดท้ายชัดเจน ว่ารูปทรงกองเหรียญจะออกมาอย่างไร
2. เสียงภายใน ที่เขาบอกตัวเองว่า "ฉันคือผู้มีความอดทนเป็นเลิศ" "ฉันต้องทำให้ได้ เพื่อคนอื่นจะได้รู้ว่าฉันเจ๋งแค่ไหน (มองแง่ร้าย) หรือ สร้างแรงบันดาลให้คนดู (มองแง่ดี)"
3. เกิดจากการฝึกฝน ทำงานที่ต้องใช้จดจ่อบ่อยๆ..จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในสมอง ให้สามารถหลั่งสารสื่อประสาท dopamine ได้นานขึ้น จนมีผลให้ระยะเวลาในการคงความใส่ใจ - attention span  มากกว่าคนโดยเฉลี่ย
.
.
เมื่อพิจารณาตนเอง ถึงงานวิจัยตนเอง สองงาน เปรียบเทียบกัน
- งานแรก เชิงปริมาณ (Quantitative) นั้น อาจมีหลายอย่างที่ท้าทายและต้องแก้ไข แต่ก็ทำได้ไปตามขั้นตอน จนเสร็จก่อน
- งานที่สอง เชิงคุณภาพ (Qualiative)  มิใช่ไม่มีเวลา แต่หยิบมาสักพักข้าพเจ้าก็หาว -เพราะเริ่มคิดก็เหนื่อยแล้ว หรือเขวกระโดดไปทำอย่างอื่นแทน..กลับมาที ก็เสียเวลาในการต่อให้ติดที
.
สิ่งที่แตกต่างในการทำสองงานนี้คือ "Focus"
1. ภาพสุดท้าย : งานเชิงปริมาณมีแบบแผนที่ค่อนข้างตายตัว จึงพอนึกภาพออกถึงภาพสุดท้ายว่าต้องมีอะไรบ้าง  แต่งานเชิงคุณภาพ ข้าพเจ้าไม่คุ้นเคยจึงรู้สึกเคว้งคว้างไม่รู้ขอบเขตที่ชัดเจน 
2. ตัวทำให้ไขว้เขวสำคัญคือ "เสียงภายใน" อันเกิดจากความขัดแย้งกับภาพที่ข้าพเจ้ามองตัวเอง (Self-identity) : ตอนเขียนวิจัยเชิงคุณภาพ..เสียงในหัวข้าพเจ้าคือ "ไม่ใช่ทางที่เราถนัด จึงไม่ใช่สิ่งที่เราจะทำได้ดี"..จนงานค้างคาเป็นแรมปี..กว่าจะตัดใจทำดีที่สุดเท่าที่ทำได้..
3. ระบบสื่อประสาท dopamine ในสมองข้าพเจ้าป้อแป้ เพราะยังติดนิสัยทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน  ยิ่งความเร็วอินเตอร์เน็ตสูงขึ้นเท่าไหร ข้าพเจ้ายิ่งสมาธิสั้นลง 
-- ถ้าท่านอ่านบทความ มาจนถึงบรรทัดนี้ได้ แสดงว่า ประสิทธิภาพการมีใจจดจ่อ ของท่าน ดีกว่าข้าพเจ้าแล้วละคะ :-)
 
###

ข่าวนี้ กล่าวว่า การคิดเลขในใจได้ดี ต้องอาศัย ทั้ง"Ram - working memory" ในการจดจำตัวเลขที่นำมาประมวลผล และ "Task manager-inhibitory system" ไม่ให้ตัวกวนภายในและภายนอกมาตีกันยุ่งเหยิง..สองส่วนนี้คือพื้นฐานการมี "focus"
..บางที การฝึกคิดเลขในใจบ่อยๆ อาจช่วยฝึกฝน focus ได้ส่วนหนึ่ง ?

หมายเลขบันทึก: 469663เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2011 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 20:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)

*การที่คนเรามีความจดจ่อต่อสิ่งใด..มักเกิดจากแรงบันดาลใจที่จะเข้าให้ถึงสิ่งนั้นจนถึงที่สุด

*คิดในองค์รวมคือ เริ่มจากความศรัทธาในสิ่งนั้น..อันนำมาซึ่งความเพียรที่จะไม่ละทิ้งจากไปจนกว่าจะพอใจ

*อย่างบันทึกของน้องหมอ ป. นั้นต่อให้มีความยาวและซับซ้อนเพียงไร พี่ใหญ่มีใจใคร่อยากคลี่อ่านต่อไปจนจบ และอาจกลับมาใหม่อีกหลายรอบ เพื่อให้เข้าถึงจริงๆ เป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติอยู่เสมอแบบจดจ่อค่ะ..เหมือนภาพตะวันกำลังลับขอบฟ้านี้ ที่เก็บมาฝากค่ะ..

ส่วนอาตมาคิดว่า

๑.เขามีจินตภาพ คือคิดออกว่าภาพสุดท้ายคืออะไร แล้วลงมือทำ

๒.เขามีวิริยะ คือมุ่งมั่น ไม่ท้อถอย

๓.การสร้างสรรค์ คือเมื่อทำแล้วคิด ดัดแปลง ต่อเติม สร้างรูปร่าง ฯลฯ

๔.เทคนิคและความชำนาญที่เป็นทักษะ และสุดท้าย

๕.ภาคภูมิใจ และท้าทายตนเอง อมิตพุทธ...

ขอบคุณค่ะพี่ใหญ่ที่ให้กำลังใจและได้พิจารณา 
การเขียนบทความในแต่ละช่วง แตกต่างไปตามความคิด
ช่วงนี้ ความคิดวนเวียนกับการเตรียมงานจึงอาจยาวและซับซ้อน​(เหมือนคนที่ความคิดยังไม่ตกผลึกดี)
...

ภาพตะวันลับฟ้าดูสงบเย็นดีจังค่ะ ถ่ายจากที่ไหนคะ 

 

สัดส่วนของ "ความล้มเหลว" ต่อ "ความสำเร็จ" ยังคงเป็น 99 ต่อ 1 ;)...

สวัสดีค่ะคุณหมอ

  • เป็นการฝึกความอดทนที่ดีเยี่ยมค่ะ คุณยายไม่แน่ใจว่าจะทำได้ไหม
  • ขอบคุณสำหรับสิ่งดีดีที่นำมาแบ่งปันนะคะ
  • ฝากดอกไม้ที่เก็บจากข้างบ้านมาให้ชมด้วยค่ะ

เมื่อมีความชอบย่อมนำมาซึ่งใจรัก และนำพาสู่การฝึกฝน(บ่อยๆ)

ทำ(พิจารณาบ่อยๆ)...ก่อเกิดปัญญาและผลงาน!

...ในมุมหรือด้านวิชาการบางครั้งข้าพเจ้าไม่ค่อยเข้าใจลึกซึ้ง(สารภาพตรงๆ)

แต่สื่อที่คุณหมอนำเขียนในฉบับนี้..ทำให้ได้เรียนรู้-เข้าใจถึงการผสมผสานสองด้าน

ระหว่างทฤษฏีและปฏิบัติ(สิ่งที่เป็นอยู่และหลักการคิดแบบสากล"สายวิชาการ")

หลักฐานสิ่งที่พิสูจน์ได้และไม่มีหลักฐานพิสูจน์โดยการจับต้องไม่ได้(พลังหัวใจ)

...ศาสตร์ด้านธรรมเรียกว่าหัวใจ และสาสตร์สากลสายวิชาการเรียกสมอง...

ไม่ว่าจะเรียกมันว่าอะไรสิ่งที่ข้าพเจ้าเข้าใจจากบันทึกเรื่องของชายคนนี้

คือความสำเร็จที่ปรากฏตรงหน้า เบื้องหลังสิ่งนำพาคือองค์รวม"อิทธิบาท๔"

คาถาธรรม-ทำ แห่งความสำเร็จ จะนำพาไปสร้างสรรค์สิ่งใดย่อม"เกิดมรรคผล"

...พิสูจน์ ปรากฎหลักฐานที่จับต้องได้ทั้ง กาย วาจา และใจ... ขอบคุณค่ะ!

นมัสการค่ะ วิเคราะห์ปัจจัยทั้งห้าประการ จินตนาการ, วิริยะ, สร้างสรรค์ปรับแต่ง,  ฝึกฝนจนชำนาญ และความท้าทาย..เหล่านี้นำไปใช้การทำงานอื่นๆ ได้ด้วย

 

ความล้มเหลว เกิดก่อนความความสำเร็จ
ต้องยอมรับความสำเร็จบ้าง จึงจะพบความสำเร็จ

..

ขอบคุณค่ะ 

ขอบคุณดอกไม้ค่ะ
หากเป็นตัวเอง คงล้มไปแต่เหรียญที่สิบ แล้วละค่ะ :-) 

..คือความสำเร็จที่ปรากฏตรงหน้า เบื้องหลังสิ่งนำพาคือองค์รวม"อิทธิบาท๔"

คาถาธรรม-ทำ แห่งความสำเร็จ จะนำพาไปสร้างสรรค์สิ่งใดย่อม"เกิดมรรคผล"

...พิสูจน์ ปรากฎหลักฐานที่จับต้องได้ทั้ง กาย วาจา และใจ.

ขอบคุณสำหรับมุมมองแบบทางธรรมค่ะ
งานตั้งเหรียญนี้ เหมือนงานไร้สาระ
ก็ยังมีประโยชน์ในแง่ พิสูจน์รูปธรรม
ขณะเดียวกัน
ทำให้ระลึกถึงงานยิ่งใหญ่อื่นๆ 
ที่เห็นไม่ชัดเพราะใช้เวลานานกว่า 7 ชั่วโมง  

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์

อ่านบันทึกอาจารย์กี่เรื่องก็ไม่เคยเบื่อเลยครับ ตรงกันข้ามกลับสนุกและได้ความรู้เชิงวิเคราะห์ดีมากๆครับ ผมสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเองได้เป็นอย่างดีมากๆ และสิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจท่านอาจารย์ก็คือ อาจารย์พยายามเรียนรู้ตนเองทุกๆครั้งกับประเด็นที่ยกมานำเสนอ นี่คือสิ่งที่คนเป็นครูที่มีจิตวิญญาณนั้นสมควรกระทำที่สุดครับ.....

"เมื่อพิจารณาตนเอง ถึงงานวิจัยตนเอง สองงาน เปรียบเทียบกัน

- งานแรก เชิงปริมาณ (Quantitative) นั้น อาจมีหลายอย่างที่ท้าทายและต้องแก้ไข แต่ก็ทำได้ไปตามขั้นตอน จนเสร็จก่อน

- งานที่สอง เชิงคุณภาพ (Qualiative) มิใช่ไม่มีเวลา แต่หยิบมาสักพักข้าพเจ้าก็หาว -เพราะเริ่มคิดก็เหนื่อยแล้ว หรือเขวกระโดดไปทำอย่างอื่นแทน..กลับมาที ก็เสียเวลาในการต่อให้ติดที

.

สิ่งที่แตกต่างในการทำสองงานนี้คือ "Focus"

1. ภาพสุดท้าย : งานเชิงปริมาณมีแบบแผนที่ค่อนข้างตายตัว จึงพอนึกภาพออกถึงภาพสุดท้ายว่าต้องมีอะไรบ้าง แต่งานเชิงคุณภาพ ข้าพเจ้าไม่คุ้นเคยจึงรู้สึกเคว้งคว้างไม่รู้ขอบเขตที่ชัดเจน

2. ตัวทำให้ไขว้เขวสำคัญคือ "เสียงภายใน" อันเกิดจากความขัดแย้งกับภาพที่ข้าพเจ้ามองตัวเอง (Self-identity) : ตอนเขียนวิจัยเชิงคุณภาพ..เสียงในหัวข้าพเจ้าคือ "ไม่ใช่ทางที่เราถนัด จึงไม่ใช่สิ่งที่เราจะทำได้ดี"..จนงานค้างคาเป็นแรมปี..กว่าจะตัดใจทำดีที่สุดเท่าที่ทำได้..

3. ระบบสื่อประสาท dopamine ในสมองข้าพเจ้าป้อแป้ เพราะยังติดนิสัยทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน ยิ่งความเร็วอินเตอร์เน็ตสูงขึ้นเท่าไหร ข้าพเจ้ายิ่งสมาธิสั้นลง

-- ถ้าท่านอ่านบทความ มาจนถึงบรรทัดนี้ได้ แสดงว่า ประสิทธิภาพการมีใจจดจ่อ ของท่าน ดีกว่าข้าพเจ้าแล้วละคะ :-)"

เป็นกำลังใจให้อาจารย์เสมอนะครับ ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันองค์ความรู้ที่ดีๆเสมอมา

ขอบคุณค่ะอาจารย์ สำหรับความเมตตาที่สร้างกำลังใจยิ่ง
เริ่มสนุกกับการเขียนบทความใน Gotoknow
เพราะได้อ่านความคิดเห็นจากท่านอื่น 
นอกจากให้เห็นแง่มุมอื่นแล้ว
ยังเป็นเครื่องมือ calibrate พฤติกรรม ความคิด ของตนเอง
แล้วจึงได้วิธีคิดใหม่ คือ 
"เราไม่สามารถสรุปว่า โลกเป็นไป ตามที่เราเห็น"

สวัสดี ครับ

คุณหมอ ป.

ผมเคยพูดกับลูกชายอบู่บ่อย ๆ ว่า "ลูกต้องทำได้"

เพราะลูกจะพูดติดปากเสมอ ๆ ว่า "ถ้าเพชรทำไม่ไดละ"

ชึ่งก็จะบอกกับลูกว่า "แล้วลูกลองทำมันหรือยัง ...เพียงคิดลูกก็ถอยแล้ว...

ขอนำบันทึกนี้ไป post ให้ลูกอ่าน บน FB นะครับ

ขอบพระคุณมาก ครับ

คุณแสงแห่งความดี เป็นคุณพ่อที่สร้างลูกให้เข้มแข็ง ยืนหยัดได้ด้วยตนเองอย่างมีคุณค่า..ชื่นชมค่ะ
ใกล้ถึงวันพ่อแล้ว สุขสันต์ล่วงหน้านะคะ

 

"-- ถ้าท่านอ่านบทความ มาจนถึงบรรทัดนี้ได้ แสดงว่า ประสิทธิภาพการมีใจจดจ่อ ของท่าน ดีแล้วละค่ะ :-)"

ขอบคุณมากค่ะ ^___^


สวัสดีค่ะคุณหญ้าฯ สังเกตุเห็นเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ใหม่เสียด้วย..
ชื่นชมความสามารถในการจดจ่อทำสิ่งใดให้เสร็จเป็นอย่างๆ
ตอนนี้ พยายามฝึกตนเองเช่นกัน

-ส่ิงที่ชายคนนั้นมี นอกเหนือจาก จินตนาการ สมาธิ ความอดทน การฝึกฝน และเป้าหมายแล้ว

อีกสิ่งหนึ่งที่เขามี ก็คือ "เวลา" นะครับ

-งานวิจัยของคุณหมอจะเสร็จเร็วขึ้น

ถ้าหากคุณหมอให้ "เวลา" กับงานวิจัยมากเท่ากับที่คุณหมอให้ "เวลา" กับอินเทอร์เนตหรือการเขียน blog

-ขอเอาใจช่วยนะครับ

อยากทำอะไรสักอย่างที่รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มั๊งครับคุณหมอ สิ่งนี้เป็นธรรมชาติและเป็นสิ่งที่คู่กับมนุษย์เรามั๊งครับ...

คุณอักขณิชเป็นกัลยาณมิตรที่ช่วยเตือนสติได้เป็นอย่างดีเสมอมาค่ะ :-)..
การบริหารเวลา เป็นกุญแจความสำเร็จ
บางครั้ง เมื่อเราทำสิ่งใดแล้วเพลิน ก็จะลืมเวลาไป
ตรงข้าม สิ่งที่เรากลัว..ทำไปเพียงประเดี๋ยวก็หันเหเสียแล้ว
..

ความสามารถในการควบคุม จดจ่อ กับสิ่งที่ต้องเรียนรู้ใหม่
จึงท้าทายอย่างยิ่ง
..

ขอบคุณค่ะ 

อยากทำอะไรสักอย่างที่รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า

..

หากตอบจากความรู้สึกตนเองในฐานะปุถุชนคนหนึ่ง

คือ "ใช่เลย" ค่ะ
ความรู้สึกตนเองไร้ค่า เป็นความเจ็บปวดที่ไม่อยากกลับไปเป็นเหมือนเดิม..จึงต้องพยายามพัฒนาตนอย่างเต็มกำลัง  

  • วันนี้ลุกทำงาน 01.26 น.ค่ะอาจารย์หมอป. เพราะเข้าใจว่าเช้าแล้ว และก็รู้สึกว่านอนอิ่มแล้วด้วย  (นอนเร็ว) นาฬิกาห้องนอนดูเวลาไม่ได้เพราะถ่านหมด การเปลี่ยนยุ่งยากต้องยกบันไดอลูมิเนียมจากชั้นล่างเลยยังไม่ได้เปลี่ยน เปิดโน้ตบุคถึงได้รู้เวลา
  • ขอวิเคราะห์พฤติกรรมของชายที่เรียงเหรียญตามปิรามิดความต้องการของมนุษย์ตามทฤษฎีของ Maslow นะคะ
  •                
               คนที่จะรู้จริงว่า อะไรคือ ความต้องการ (Need) ที่แท้จริงที่จูงใจ (Motivate) ใหชายผู้นี้เรียงเหรียญจนประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ตัวเขาเองเท่านั้นที่จะตอบได้ คนอื่นก็ทำได้เพียงแค่การตั้งสมมุติฐาน ซึ่งจะตรวจสอบสุมุติฐานได้ก็ต้องได้มีโอกาสรวบรวมข้อมูลจากตัวเขาเอง และจากบุคคลแวดล้อมซึ่งต้องใช้ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพประกอบกัน           สมมุติฐาน ความต้องการ (Need) ที่จูงใจ (Motivate) ใหชายผู้นี้เรียงเหรียญจนประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย อาจเกิดจาก          
                สมมุติฐานที่ 1 เขาอาจมีความต้องการในขั้นที่ 3 (Esteem Need) คือ ต้องการความสำเร็จอันจะนำมาซึ่งเกียรติยศชื่อเสียง เช่น ได้รับการบันทึก "World Record" ใน "Guinness Book" เป็นต้น           
             หรือสมมุติฐานที่ 2 เขาอาจมีความต้องการในขั้นสูงกว่านั้น คือ ความต้องการในขั้นที่ 7 Self-actualisation (actualization : American English) คือ ต้องการพัฒนาตนเองให้ถึงขีดสูงสุดของศักยภาพ ตัวอย่างอื่นๆ ที่เห็นได้ชัดคือ การที่นักกีฬาซึ่งแม้จะชนะคู่แข่งขันทั้งหมดจนได้เหรียญทองแล่วก็ยังไม่หยุดการฝึกฝน เพราะต้องการทำลายสถิติของตนเอง           
            เรื่องการทำงานนั้น เขามีหลักอยู่ว่า ถ้ามีงาน 2 อย่าง งานหนึ่งเป็นงานที่ชอบ อีกงานเป็นงานที่ไม่ชอบ เขาให้หยิบงานที่ไม่ชอบขึ้นมาทำก่อน เพราะงานที่ชอบจะทำเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะเรามีแรงจูงใจที่จะทำอยู่แล้วค่ะ
          ขอบคุณมากนะคะที่มอบสื่อและข้อมูลให้สามารถนำไปใช้ประกอบ การจัดการเรียนรู้ "วิชาพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน" ได้อีกแล้ว                                        

ขอบคุณค่ะที่มาช่วยย้ำช่วยเตือนให้เราหาจุด Focus ให้ได้ ครูนกก็จัดเป็นพวก Multifocus...เลยวุ่นวายทั้งใจและกายในบางครา แต่บางคราก็มีความสุข

  • อาจารย์ตื่นมาเช้าตรู่ (มากๆ) ช่วงเวลาตีหนึ่ง ตีสอง เป็นเวลาสงัดดีไปอีกแบบนะคะ..เป็นคนหนึ่งที่ขี้เกียวจเปลี่ยนถ่านนาฬิกา ตอนหลังมาเปลี่ยนเป็นแบบมีวิทยุในตัวเสียบปลั้กไฟค่ะ..ข้อเสียอย่างเดียวคือถ้าไฟดับมันก็ดับไปด้วย ต้องเซ็ตใหม่
  • ขอบคุณ คลิปวีดีโอเมื่อประกอบกับบทวิเคราะห์อาจารย์ เชื่อว่าจะเป็นสื่อการสอนที่มีพลังค่ะ..เรามักด่วนตัดสินแรงจูงใจของผู้อื่น ที่เกิดจาก "สมมติฐาน" อย่างใดอย่างหนึ่ง หากได้คิดอย่างเป็นระบบ ดังที่อาจารย์สาธิตแล้ว เราน่าจะเกิดความสนใจคนที่ประสบความสำเร็จในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น มากไปกว่า เขาทำอะไรจึงสำเร็จ เป็นเขา"คิดอย่างไร" ด้วยค่ะ
  • ประทับใจส่วนนี้ค่ะ simple and sticky idea :-)  
            เรื่องการทำงานนั้น เขามีหลักอยู่ว่า ถ้ามีงาน 2 อย่าง งานหนึ่งเป็นงานที่ชอบ อีกงานเป็นงานที่ไม่ชอบ เขาให้หยิบงานที่ไม่ชอบขึ้นมาทำก่อน เพราะงานที่ชอบจะทำเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะเรามีแรงจูงใจที่จะทำอยู่แล้วค่ะ
        

อ่านจากบันทึกคุณครูนก สะท้อนถึงความสุขในชีวิตครูได้จริงๆค่ะ
..

ตัวเองมาพบทีหลังว่า ชีวิตทำงานที่เหนื่อยนั้น
มิใช่มีงานหลายอย่างให้ focus 
แต่เพราะเราพยายาม focus งานหลายอย่างพร้อมๆ กัน (ซึ่งเป็นไปไม่ได้) ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหมอ

  • การจดจ่อกับสิ่งที่อยากทำ...ก็ทำให้มีสมาธิในงานนั้นสำเร็จได้อย่างคาดไม่ถึง
  • เพราะว่ามีภาพนั้นอยู่ในใจแล้ว
  • เหมือนภาพนี้...มีคนถามว่า...ไม่วาดก่อนลงมีดหรือ?
  • ไม่หรอก...เพราะมีภาพปรากฏในใจก่อนแล้ว...
  • แบบนี้เป็นพลังการมีFocus...ได้ไหม?เอ่ย...

สวัสดีค่ะคุณผึ้งงาน..
ภาพแตงโมแกะสลัก เป็นตัวอย่างที่ดียิ่ง จากการมีภาพในใจที่แจ่มชัด + สมาธิที่จดจ่อ+น้ำหนักมือที่ผ่านการฝึกฝน ทำให้การตัดสินใจลงมีดแม่นยำ..
เพราะคมมีด หากตัดลงไปแล้วเอาคืนไม่ได้
ชื่นชมจากใจจริงค่ะ :-)

  • สงสัยสติ/สมาธิจะยังมาไม่เต็มตอนที่แสดงความเห็น พิมพ์ผิดไป 3 ที่ขออนุญาตแก้ไขด้วยนะคะ

          โน้ตบุุค แก้เป็น โน้ตบุ๊ค

          ใหชายผู้นี้ แก้เป็น ให้ชายผู้นี้ (2 แห่ง)

          ที่ผิดพลาดสำคัญที่ทำให้ต้องมาขอแก้ไข คือ สมมุติฐานที่ 1 เขาอาจมีอาจมีความต้องการในขั้นที่ 3 (Esteem Need) เปลี่ยนเป็นความต้องการในขั้นที่(Esteem Need)   

    

ขอบคุณอาจารย์ที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานอย่างประณีต ละเอียดครบถ้วนค่ะ :-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท