พุทธวิธีในการสอน ตอนที่ ๒


อ่านบันทึกตอนที่หนึ่งได้ที่นี่ครับ (http://www.gotoknow.org/blogs/posts/439434

จุดมุ่งหมายของการสอนนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบการเรียนรู้นะครับ นักการศึกษา นักออกแบบการสอนหรือ instructional designer เองต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ ขอบเขตเนื้อหาให้ดีเสียก่อนที่จะลงมือสอน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนที่หนึ่ง เมื่อกำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ได้แล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องประยุกต์กลยุทธการสอนต่างๆ นานาที่มีประสิทธิภาพในห้องเรียน เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ เรียกว่าเป็นช่วงของการนำสารไปสู่ผู้เรียนก็ว่าได้ ในเรื่องนี้อาจารย์วศิน ได้กล่าวถึงวิธีที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ดังนี้

 

ตอนที่สอง วิธีที่พระพุทธองค์ทรงสอน

(๑) ทรงสอนโดยวิธีเอกังสลักษณะ คือทรงแสดงยืนยันไปข้างเดียว ข้อนี้มีตัวอย่างเช่น พระองค์ทรงสอนว่า ความดีมีผลเป็นสุข ความชั่วมีผลเป็นทุกข์ ในปาหานภาวนาสูตร พระองค์ทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "เธอทั้งหลายพึงละอกุศลเสีย ถ้าอกุศลเป็นสิ่งที่ละไม่ได้ เราก็จะไม่สอนให้ละ แต่เพราะเหตุที่อกุศลเป็นสิ่งที่ละได้ เราจึงสอนให้ละ ... เธอทั้งหลายจงเจริญกุศล ถ้ากุศลเป็นสิ่งที่อบรมให้เกิดขึ้นไม่ได้ เราก็จะไม่สอนให้พวกเธอทั้งหลายเจริญกุศล"

วิธีการที่พระพุทธองค์ทรงสอนนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในญาณวิทยากลุ่มปัญญานิยม (cognitivism) ครับ จากตัวอย่างที่คุณวศิน ยกมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ทรงให้กำลังใจให้สาวกเห็นว่าการกระทำนั้น เป็นไปได้ ซึ่งเป็นกลวิธีที่คาบเกี่ยวกับหลักการสอนหลายประการ เรื่องหนึ่งที่สำคัญสำหรับการเรียนการสอนคือการสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียน การที่ทรงยืนยันว่าการเจริญกุศลเป็นสิ่งที่พึงกระทำ ควรกระทำด้วยผลลัพธ์ที่จะได้นั้น เป็นการสร้างแรงจูงใจแบบ mastery goal ซึ่งหมายถึงความกระหายความสำเร็จโดยการมุ่งสะสมความรู้เพิ่มเติม มุ่งพัฒนาทักษะใหม่เพื่อตนเอง ซึ่งต่างกับจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอนในปัจจุบันที่เน้น performance goal ซึ่งวัดผลผู้เรียนจากคะแนนสอน จากการชนะรางวัล โดยไม่คำนึงถึงการเรียนรู้ที่แท้จริง

หลายคนอาจคิดว่า ความกระหายจากภายในหรือ intrinsic motivation นั้นเกิดจากตัวผู้เรียนเองมิใช่หรือ? ใช่ครับ แต่การ "เน้นย้ำ" ของพระพุทธองค์มีส่วนช่วยให้ภิกษุ หรือผู้เรียนรู้ทั้งหลายมีความพยายามที่จะบรรลุผลของการฝึกฝนเช่นกัน และด้วยตัวของพระองค์ที่เป็นนักปฏิบัติ นักเรียนรู้ สิ่งที่พระองค์ทรงสั่งสอน จึงเป็นการสอนโดยการตรัส และการปฏิบัติ (modeling) ไปพร้อมๆ กัน เมื่อย้อนกลับมาที่ครูอาจารย์ตัวน้อยๆ อย่างเราท่าน ก็คงจะต้องถามตัวเองว่าสิ่งที่ท่านพร่ำสอนนักเรียน นิสิต นักศึกษาอยู่นั้น ท่านได้ลงมือปฏิบัติจริง และมีความศรัทธาในวิชาชีพแค่ไหน? การที่ผู้สอนจะสามารถยืนยันสิ่งใดสิ่งหนึ่งกับผู้เรียนได้นั้น ตนเองก็ต้องมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ถูกที่ควรด้วย ฝรั่งที่เป็นครูอาจารย์ มีคติพจน์สำคัญที่ได้ยินบ่อยคือ "changing the world one child/person at a time" ฟังดูน่าตื่นเต้น น่าภูมิใจดี แต่ถ้าจะให้ผมแปล ผมเชื่อว่าคนแรกที่ต้องปรับตัวให้ทันโลกสมัยใหม่ ปรับความเข้าใจ ลดอัตตาลงให้ได้คือตัวผู้สอนเองนั่นแหละครับ เราถึงจะสามารถเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นได้ ว่าไหมครับ?

(๒) ทรงสอนโดยวิธีวิภัชชลักษณะ คือทรงแยกประเด็นให้ชัดเจน ข้อนี้มีตัวอย่างในอภัยราชกุมารสูตร อภัยราชกุมาร ทรงอาราธนาพระพุทธองค์และภิกษุอีกสามรูปไปเสวยและฉันอาหารเช้า และทูลถามพระองค์ว่า เคยตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นบ้างหรือไม่ พระตถาคตตรัสตอบว่า ปัญหานี้จะกล่าวตอบโดยส่วนเดียวไม่ได้ วาจาใดที่ไม่จริง ไม่เป็นประโยชน์ แม้จะเป็นที่รักที่พอใจของผู้อื่นหรือไม่ ก็ไม่ตรัสพระวาจานั้น ส่วนวาจาใดที่จริง มีประโยชน์ จะเป็นที่รักที่พอใจของผู้อื่นหรือไม่ก็ตาม ก็ทรง "เลือกการเวลา" ตรัสพระวาจานั้น

ทรงเปรียบเทียบว่าเหมือนเด็กอ่อนกลืนกระเบื้องหรือของแข็งลงในลำคอ ผู้หวังดีจำเป็นต้องล้วงเอาออก แม้จะทำให้เจ็บปวดถึงเลือดก็ตาม (การเปรียบเทียบนี้ เป็นอีกพุทธวิธีในข้อ ๕ ทรงสอนวิธีอุปมาลักษณะ)

คุณวศินสรุปความว่า การสอนโดยวิธีวิภัชชลักษณะนี้ คือการแยกประเด็นสอน เช่นมีผู้ถามว่า ผู้หญิงหรือผู้ชาย ใครดีกว่ากัน ควรต้องตอบแยกว่าเป็นหญิงบางคนดีกว่าชายบางคน เป็นชายบางคนดีกว่าหญิงบางคน เป็นคำสอนหรือคำตอบแบบมีเงื่อนไข

มองดูเผินๆ ประเด็นนี้เหมือนจะกล่าวถึงการจัดระเบียบเนื้อหาการสอนนะครับ ในทางการศึกษานั้น เชื่อว่าการจัดเนื้อหาให้สอดคล้อง เป็นหมวดหมู่ แยกประเด็นชัดเจนจะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป วิธีการวิภัชชลักษณะ หมายถึงการคิดวิเคราะห์อย่างมีระบบ มีเหตุผล หรือที่เรียกว่า critical thinking ผมคงไม่สามารถฟันธงลงไปได้ว่าความหมายของคำนี้คืออะไร เพราะนักวิชาการให้ความหมายไว้เยอะแยะ แต่ถ้าพูดกันอย่างง่ายๆ ก็คือยอดของปิรามิดของ Bloom’s Taxonomy หรือความสามารถในการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ นั่นล่ะครับ (ซึ่งคล้ายกับหลักการของ โยนิโสมนสิการในพุทธศาสนา)

เป้าหมายของการเรียนในระดับอุดมศึกษานั้นก็คือการสร้างพลเมืองที่สามารถจะไปถึงยอดของปิรามิดนี้ได้ จำได้ว่าสมัยที่ผมเรียนปริญญาตรี อาจารย์ วันชัย มีชาติ (profile) เคยบอกในชั้นเรียนว่า รัฐศาสตร์ไม่ใช่วิชาชีพ แต่เป็นศาสตร์ที่ช่วยให้เรารู้ว่าอยากจะเป็นอะไร (ไม่รู้ผมจำมาถูกหรือเปล่า?) ผมเข้าใจว่าประเด็นที่อาจารย์ต้องการจะบอกก็คือ การศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นเป็นการเรียนรู้ที่จะ "คิด" มากกว่าการเรียนไปประกอบวิชาชีพ เพราะโดยปรัชญาการจัดการศึกษานั้น สถาบันที่มุ่งผลิตสายอาชีพก็มีอยู่แล้ว ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเอง ก็มีวิสัยทัศน์ที่จะผลิตนักคิด นักสร้างสรรค์ (Entrepreneur) ที่เราไม่ควรจะจำกัดกรอบความหมายไว้แค่ เจ้าของธุรกิจ (ที่บางครั้งไม่ได้ริเริ่มอะไรใหม่) เพราะนักคิด นักสร้างสรรค์นั้น มีอยู่ได้ในทุกองค์กร ทุกชุมชน ทั้งในแง่ของ สังคม สิ่งแวดล้อม และภาคธุรกิจ

(๓) ทรงสอนโดยวิธีปฏิปุจฉาลักษณะ คือทรงถามย้อนเสียก่อน อาจารย์วศิน อ้างถึงมิลินทปัญหา พระคัมภีร์ที่แสดงการสนทนาศาสนาและปรัชญาระหว่างพระเข้ามิลินทและพระนาคเสน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเรื่องที่ลึกซึ้ง เข้าใจได้ยากนั้น สามารถทำให้แจ่มแจ้งได้ ไว้อย่างชัดเจน แต่อาจารย์วสะขอเห็นต่างกับท่านอาจารย์วศินอยู่ตรงที่ผมเข้าใจว่าในบริบทของมิลินทปัญหานั้น พระเจ้ามิลินทเป็นผู้ถาม ส่วนพระนาคเสนเป็นผู้ตอบหรืออธิบายความโดยใช้อุปมาลักษณะเป็นหลัก (ซึ่งตรงกับวิธีที่พระพุทธองค์ทรงสอนประการที่ ๕ ที่จะกล่าวถึงต่อไป) นอกจากนั้น ผมเข้าใจว่าวิธีปฏิปุจฉาลักษณะของพระพุทธเจ้าและพระนาคเสนนั้นหลายครั้งเป็นอุปมาลักษณะ คือทรงถามย้อนในเชิงเปรียบเทียบเสียเป็นส่วนมาก จะขอพูดถึงเรื่องนี้ในข้อที่ ๕ แล้วกันนะครับ

เรื่องการสอนโดยการย้อนถามนั้น นักการศึกษารู้จักเทคนิคนี้ในชื่อว่าการถามแบบโสกราติส (Socratic Questioning) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำคัญสองประการคือ (๑) การตรวจสอบความคิดของผู้เรียน และ (๒) เพื่อฝึกให้ผู้เรียนตั้งคำถามในลักษณะเดียวกัน วิธีการมีหลายแบบมาก ขอยกตัวอย่างวิธีการสอนโดยการถามสักสองสามแบบดังนี้นะครับ

แบบแรก คือการถามเพื่อขอความกระจ่าง เมื่อนักเรียนอธิบายอะไรให้ครูฟังสักอย่าง แต่ยังไม่ชัดเจน ครูก็ถามกลับไปว่า "ลองอธิบายใหม่ได้ไหม" "มีตัวอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีกหรือไม่" หรือ "ทำไมถึงอธิบายแบบนี้" เป็นต้น แบบที่สองคือการถามเพื่อหาข้อสรุป ใช้ในกรณีที่นักเรียนอธิบายมาหลายอย่าง (ซึ่งอาจเอาข้อมูลมาจากแหล่งต่างๆ แต่ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้) ครูก็สามารถถามว่า "จากข้อมูลที่มี สรุปได้ว่าอย่างไร" "อธิบายได้ไหมว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ทำไมไม่เป็นเช่นนั้น" เป็นต้นครับ แบบถัดมาเป็นที่มาของเทคนิคนี้ คือการถามกลับ เช่นการถามผู้เรียนว่า "รู้ไหมว่าทำไมถึงถามแบบนั้น" "คำถามนี้สำคัญอย่างไร" ผู้สอนสามารถตั้งคำถามกับตัวเองก็ได้นะครับ เช่น "ที่ถามไปนั้น เพื่ออะไร" หรือ "ควรจะถามอะไรอีกไหม"

ส่วนตัวผมใช้เทคนิควิธีนี้บ้าง แต่ก็เป็นการถามเพื่อตรวจสอบความเข้าใจเป็นส่วนใหญ่ เช่นถามนักเรียนว่าเข้าใจไหม หรือควรอธิบายเพิ่มเติมไหม เพราะวิชาที่สอนตอนนี้ก็เป็นระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่หนึ่งและสองที่เน้นการปฏิบัติ ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนในเชิงปรัชญาให้ต้องตีความมากนัก จะมีบ้างก็ตอนที่นักเรียนเขียนโปรแกรมแล้วเกิดติดขัด ไปต่อไม่ได้ หาจุดผิดพลาดไม่เจอ ส่วนมากผมไม่ค่อยตอบว่ามันผิดตรงไหน หาเจอก็จะไม่บอก แต่ให้นักเรียนลองหาอีกสักหน่อย ลองอ่าน error message ที่โปรแกรมมันรายงาน แล้วลองไล่ดู เดี๋ยวผมจะกลับมาดูใหม่อีกรอบ หลายครั้งผู้เรียนก็หาเจอ หลายครั้งก็ต้องมานั่งช่วยกันซักไซ้ไล่เรียงใหม่

จำได้ว่าสมัยที่เริ่มเรียนที่ต่างแดน อาจารย์ที่ประสิทธิประสาทวิชาผมหลายท่านใช้เทคนิคถามแบบโสกราติสนี้กับผมและเพื่อนๆ จนงงกันไปหมด เพื่อนคนหนึ่งที่เพิ่งจะเริ่มเรียนพร้อมๆ กัน เข้าไปถามอาจารย์ว่าควรทำวิจัยอย่างไร การเลือกหัวข้อ ต้องคิดยังไง อาจารย์แกก็ถามกลับมามากมายในทำนองว่า ชอบอะไร แล้วคิดว่าจะทำอะไรกับสิ่งที่ชอบได้บ้าง ตั้งคำถามแตกยอดไปต่างๆ มากมายจนเพื่อนผมงงไปหมด สรุปว่ามีคำถามมากกว่าเดิม ผมเองก็เคยโดนบ่อยๆ เวลาเขียนงานไม่ชัดเจน ไม่สรุป หรือไม่ละเอียดพอ อาจารย์ท่านก็ถามเหมือนอย่างที่ยกตัวอย่างไว้ข้างต้นนั้นละครับ ให้ผมกลับมาแก้ กลับมาทบทวนงานตัวเองใหม่ สรุปว่าการ "ถามย้อนเสียก่อน" หรือ ถามแบบโสกราติส นี้ ช่วยตรวจสอบความเข้าใจ และช่วยตบแต่งความคิดของคนให้เข้ารูปเข้ารอยได้ดีทีเดียว

(๔) ทรงสอนโดยวิธีฐปนลักษณะ คือพักปัญหาไว้ไม่ทรงพยากรณ์ เพราะทรงเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ ไม่ถึงเวลาที่จะรู้ เช่นเรื่องพระมาลุงกยะมาทูลถามเรื่อง โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง ทรงเห็นว่าเรื่องนี้พระมาลุงกยะไม่จำเป็นต้องรู้ แต่ทรงชี้แจงให้เข้าใจถึงทุกข์ที่มนุษย์เผชิญอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาปัจจุบันที่ควรรู้ก่อน วิธีการนี้คล้ายกับจุดมุ่งหมายในการสอนข้อแรกที่กล่าวถึงในตอนก่อนหน้านี้ (อภิญญาธรรมเทศนา) ซึ่งมุ่งเน้นที่ความเหมาะสม ต่อผู้เรียน ทั้งในแง่ของเนื้อหาและช่วงเวลา

ข้อนี้คล้ายกับหลักการที่ฝรั่งเรียกว่าช่วงเวลาที่เหมาะแก่การสอน (Teachable moment) นะครับ ซึ่งเหมือนเป็นการมองมุมกลับกับฐปนลักษณะ โดยอธิบายว่า เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ความสามารถในการเรียนรู้ถึงระดับหนึ่งไปสู่อีกระดับก็สามารถทำได้ จะพูดอีกอย่างก็คือ ถ้ายังไม่ถึงเวลา ก็ไม่สามารถเรียนรู้ได้นั้นเอง ทั้งการหาช่วงเวลาที่เหมาะเจาะ (เชิงรุก) และการพักปัญหา (เชิงรับ) นี้ มองที่ตัวผู้เรียนเป็นหลักเหมือนกันนะครับ คือดูความ "พร้อม" ของผู้เรียน ซึ่งเป็นไปได้หลายแง่มุมมาก ทั้งด้านปัญญา ศีลธรรม และร่างกาย

จะขอยกตัวอย่างในด้านศีลธรรมที่เจอกับตัวเองอย่างนี้ครับ ในวิชาชีพของผมซึ่งเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ หลายครั้งหลายหน มีนักเรียนนักศึกษามาถามเทคนิควิธีการต่างๆ ทางคอมพิวเตอร์ที่ฟังแล้วออกจะเสี่ยงคุกตาราง ไม่ว่าจะเป็นการแฮ็กข้อมูล การทำการตลาดแบบแปลกๆ บนอินเตอร์เน็ต หลายครั้งเป็นเรื่องทางเทคนิคที่ผมไม่มีความรู้ ถ้าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์แล้ว ผมมักจะพยายามขวนขวายหาข้อมูลมาคุยต่อ แต่ถ้าเป็นเรื่องในทางลบ ไม่ว่าจะเป็นการเจาะข้อมูลเข้าระบบเครือข่าย (ผมทำไม่เป็น) หรือการเขียนโปรแกรมที่ออกแนวผิดสัมมาอาชีพ ผมก็เลือกที่จะไม่ตอบ และไม่คิดหาข้อมูลต่อ หลายครั้งนึกเสียดายที่ผมไม่ได้ฉลาดปราดเปรื่อง คิดอุปมาว่าสิ่งที่คุณถามนั้น มันเป็นแบบนั้นแบบนี้ ถ้ามองกลับกัน หรือถ้าเป็นเรื่องคล้ายกัน คุณจะทำไหม? ถามกลับไปให้เด็กได้คิด

ลองดูอีกตัวอย่างดีไหมเกี่ยวกับความพร้อมทางร่างกายดีกว่า ขอยกตัวอย่างที่คนไม่ค่อยอยากจะคุยกัน แต่เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองทุกคนจะต้องพิจารณาไม่ช้าก็เร็ว คือเรื่องที่ฝรั่งเรียกว่า "The birds and the bees" ซึ่งหมายถึงการสอนลูกเรื่องเพศศึกษา บ้านเราชอบพูดกันติดปากว่า "มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร" ซึ่งผมเองไม่แน่ใจว่าวัยไหนคือวัยอันควร? เนื่องจากผมไม่ได้เชี่ยวชาญด้านสุขศึกษา หลักสูตรประถม มัธยม ผมก็ไม่ทราบว่าตอนนี้หลักสูตรบ้านเราเป็นอย่างไร และก็ไม่มีประสบการณ์การสอนลูกเกี่ยวกับเรื่องนี้ เลยไม่รู้จริงๆ ว่าวัยไหนมัน "ควร" เลยขอยกมาเป็นตัวอย่างให้คิดตาม และคิดต่อกันเอง ส่วนผมขอพักไว้ ไม่อยากจะพยากรณ์ว่าผู้ใหญ่บ้านเราคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ (ฮา)

(๕) ทรงสอนวิธีอุปมาลักษณะ ทรงสอนแบบเปรียบเทียบ ข้อนี้ทั้งอาจารย์วศิน และพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) กล่าวตรงกันว่าเป็นพุทธวิธีที่มีหลักฐานมากที่สุดในพระไตรปิฎก ตัวอย่างที่กล่าวถึงในหนังสือ คือ พระพุทธองค์ทรงสอนพระภิกษุว่าให้ ผ้ากาสี มีลักษณะสามประการคือ สีงาม สัมผัสนิ่ม และราคาแพง ไม่ว่าจะใหม่ กลาง หรือเก่า คนก็นิยมใช้ เปรียบเหมือนภิกษุไม่ว่าจะเป็นภิกษุใหม่ กลาง หรือเป็นเถระ ก็มีสามลักษณะ คือ เป็นผู้มีศีล (สีงาม) ให้ประโยชน์สุขแก่ผู้คบหา (สัมผัสนิ่ม) และทำให้ปัจจัยที่ทายกถวายมีอานิสงส์มาก (มีราคาแพง)

ในมุมปัญญานิยม (cognitivism) และการสร้างสรรค์นิยม (constructivism) นั้น ถือว่าการถ่ายโอนความรู้ (transfer of knowledge) มีความสำคัญมากต่อผู้เรียน คือผู้เรียนเข้ามา รู้อะไรบ้างแล้ว และเราจะต่อยอดอย่างไร ต้องยอมรับนะครับว่านักเรียนในห้องเข้ามา ย่อมพกพาเอาภูมิหลังความรู้ ความเข้าใจที่ต่างกันเข้ามา การคาดหวังว่าจะสอนแบบเดียวแล้วทุกคนจะเข้าใจนั้น เป็นความฝันลมๆ แล้งๆ เลยก็ว่าได้ เด็กผู้ชายอาจชอบรถ ชอบกีฬา เด็กผู้หญิงอาจชอบหนังชอบละคร ชอบเพลง เกาหลี ญี่ปุ่น อะไรก็แล้วแต่ (เป็นแค่ตัวอย่างนะครับ ไม่ได้เหมารวม) ถ้าเราสามารถนำสิ่งที่เขารู้อยู่แล้วมาเป็นตัวอย่างในการสอนได้ ก็จะทำให้เขาสนใจบทเรียนมากขึ้นและเข้าใจได้ง่ายขึ้น

วิธีการสอนแบบอุปมาลักษณะนี้สนุกและท้าทายผู้สอนมากทีเดียว คือจะทำอย่างไรถึงจะสอนเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่ายๆ ได้ ฝรั่งใช้อุปมาเกี่ยวกับอเมริกันฟุตบอลในชีวิตประจำวันเยอะมาก คนไทยใช้ไม่ได้เพราะไม่รู้กฎเกณฑ์ ไม่รู้วิธีการเล่นกีฬานี้ แต่ถ้าเทียบกับฟุตบอล (soccer) หรือต่อยมวยก็พอไหว

ผมได้คุยกันเพื่อนอาจารย์ (คุณนิ้ง @thanop) เกี่ยวกับเรื่องการเลือกภาษาคอมพิวเตอร์ในการสอนนักศึกษาที่ไม่เคยมีประสบการณ์การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เลย ว่าจะใช้ Python หรือ C ดี สองตัวนี้มีจุดเด่นจุดด้อยต่างกันครับ Python นั้นเข้าใจง่าย สอนได้เร็ว ต่อยอดได้ ส่วน C นั้นเป็นภาษาเก่าแก่ ที่มีกฎหยุมหยิม มือใหม่หัดเขียนต้องคอยระวังรายละเอียดอะไรหลายอย่าง แต่ก็มีข้อดีที่มีการกำหนดตัวแปรชัดเจน และการเข้าใจในเรื่องตัวแปรก็เป็นเนื้อหาสำคัญในการเรียนเขียนโปรแกรมเบื้องต้น คุณนิ้งยกตัวอย่างไว้ดีมาก ว่าการสอน Python เหมือนการสอนคนขับรถเกียร์ออโต้ ส่วนสอนเขียนภาษา C นั้นเหมือนสอนขับรถเกียร์ธรรมดา ซึ่งผมคิดว่าเข้าท่าดีทีเดียว (เรื่องที่ว่าจะสอนอะไรดีนั้น คงต้องเถียงกันยาวครับ เอามาพูดตรงนี้คงไม่จบกันพอดี)

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้นะครับ ผมคิดว่าเรื่องจุดมุ่งหมายในการสอนของพระพุทธองค์ในตอนที่หนึ่ง ดูจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับด้านการออกแบบหลักสูตร คือเป็นเรื่องที่เกิดก่อนการเรียนการสอน ส่วนในเรื่องวิธีที่ทรงสอนในตอนที่สองนั้นเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ และบุคลิกส่วนตัวของผู้สอน ที่เกิดขึ้น ณ ขณะที่สอน ถ้ามองในแง่การเรียนการสอนตามทฤษฏีแล้ว ก็มีอีกเรื่องหนึ่งที่อาจารย์วศินไม่ได้ค้นคว้ามาเปรียบเทียบคือเรื่องการประเมินการสอน (หนังสืออีกเล่มในชื่อเดียวกันของ ท่าน ป.อ. ปยุตโต ก็ไม่ได้กล่าวถึงการประเมินเช่นกัน) ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการท้ายสุดของวงจรการออกแบบการเรียนการสอน ผมขออนุญาตต่อยอดบทความนี้ไปเรื่องการประเมินนิดหนึ่งตามความเห็นของผมแล้วกันนะครับ

 

ตอนที่สาม วิธีที่พระพุทธองค์ทรงใช้ประเมินผู้เรียน 

กิจกรรมหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้ทั้งภิกษุ และ ฆราวาส กระทำกัน คือการปวารณา (หรือพิธีมหาปวารณา ซึ่งภิกษุสงฆ์กระทำในวันออกพรรษา) ซึ่งหมายถึง "ความเป็นผู้ที่ใครๆ ว่ากล่าวตักเตือนได้" (อ้างอิงจากโรงเรียนทอสี) หรือเป็นผู้ที่อ่อนโยน ว่าง่าย ไม่กระด้างด้วยมานะ ทิฐิจุดมุ่งหมายของการปวารณานั้น ครอบคลุมตั้งแต่ระดับครัวเรือน บ้านเมือง จนถึงระดับสังคมเลยก็ว่าได้ ถ้าคนรู้จัก "ปิดปาก" เมื่อมีผู้ว่ากล่าวตักเตือน และนำมาพิจารณา เป็นการลดกิเลศของตน

ข้อนี้ ถ้าจะมองแบบพื้นๆ ก็สามารถอ้างถึงการเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ดี น้อมรับฟังตักเตือน ความเห็นของผู้สอน แต่ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น ก็สามารถบอกได้ว่านี้คือสุดยอดของการประเมินในหลักทฤษฏีที่เรียกว่าการเรียนการสอนแบบผู้ใหญ่ (andragogy หรือ adult learning) โดยหลักการแล้ว Andragogy หมายถึงกลยุทธในการเรียนของผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการมีใครมาบังคับขู่เข็ญให้เรียน แต่เกิดจากแรงขับดันจากของตัวเอง มีความใฝ่รู้เป็นที่ตั้ง มีการกำหนดเป้าหมาย รับผิดชอบการเรียนรู้ และการประเมินผลการเรียนรู้ด้วยตัวเอง สิ่งที่ครูต้องทำสำหรับการเรียนแบบผู้ใหญ่นี้ ก็คือการแนะแนวผู้เรียน คอยให้คำปรึกษา ถามว่าครูต้องรู้ทุกเรื่องไหม คำตอบคือไม่จำเป็นเลยครับ งานที่ผมทำตอนเรียนปริญญาเอกนั้น ผมรู้มากกว่าอาจารย์ที่ปรึกษา และนั่นก็เป็นเรื่องปกติมาก เพราะหน้าที่ของท่านไม่ใช่จะต้องเป็นพหูสูตร งานหลักของท่านคือชี้แนะแนวทาง คือเป็นเรื่องของระบบคิดมากกว่าเรื่องของเนื้อหา พระผู้ใหญ่หลายท่าน เวลาเทศนาตอบปัญหาธรรม ไม่ได้รู้เรื่องเนื้อหาทุกอย่าง แต่ท่านเหล่านั้นมีระบบวิธีคิดที่จะช่วยสามารถตอบปัญหาได้

อีกเรื่องที่หลายคนอาจเข้าใจผิดคือ การเรียนการสอนแบบผู้ใหญ่ คือ ประเภทหรือเทคนิควิธีของการสอนที่เน้นความรับผิดชอบของผู้เรียนเองเป็นหลัก ไม่ได้กำหนดอายุผู้เรียนแต่อย่างใด นั่นหมายความว่า เราสามารถประยุกต์การเรียนการสอนแบบผู้ใหญ่นี้ได้กับทุกระดับชั้น ถ้าเด็กประถมรู้ว่าอยากเรียนอะไร กำหนดวัตถุประสงค์ได้ก็ถือว่าเด็กมีความรับผิดชอบ และเป็นการเรียนการสอนแบบผู้ใหญ่เช่นกัน

อีกนัยหนึ่งที่สำคัญของการปวารณานั้น คือเรื่องของรูปแบบการตักเตือน การประเมิน การให้ข้อเสนอแนะนั้นกระทำได้ตลอดเวลา (เรียกว่าเป็น Formative assessment คือกระทำระหว่างการศึกษา) ซึ่งต่างกับแนวทางการเรียนการสอนทั่วไปที่มีการสอบกลางภาคและปลายภาคเท่านั้น (เรียกว่า Summative assessment) ข้อดีของการตักเตือน ให้ข้อเสนอแนะได้ตลอดเวลาก็คือ ผู้เรียนจะสามารถพัฒนาจุดเด่น ลดจุดด้อยได้ตลอดเวลา แต่ความยากของวิธีนี้คือพลังที่ต้องทุ่มเทลงไปของทั้งผู้เรียนและผู้สอนนั่นล่ะครับ ผู้เรียนต้องไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง ส่งงานตรงเวลา และพิจารณาข้อเสนอแนะอย่างจริงจัง ผู้สอนเองต้องคอยติดตามดูพัฒนาการของผู้เรียน (ซึ่งอาจจะมีเป็นสิบ หรือเป็นร้อยคน) อย่างต่อเนื่อง ยิ่งต้องรับผิดชอบผู้เรียนมาก การให้ข้อเสนอแนะแบบ Formative assessment ก็ยิ่งต้องใช้ความพยายามมาก ถ้าต้องสอนสักสองสามร้อยคน การประเมินแบบ Formative assessment นี้ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยครับ

ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญนี้ วิชาหนึ่งที่เด่นมากในเรื่องการประเมินผลผู้เรียนอย่างต่อเนื่องคือวิชาภาษาอังกฤษ ผมมีเพื่อนอาจารย์ที่สอนวิชานี้หลายท่าน เห็นแต่ละท่านว่างเมื่อไรก็ก้มหน้าตรวจงานนักศึกษา แก้ไขทั้งเรื่องไวยกรณ์ เรื่องคำศัพท์ต่างๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่อาจารย์ทุกคนที่ทำได้ขนาดนี้ และก็ไม่ใช่ว่านักศึกษาทุกคนจะกลับมาอ่านงานที่ถูกตรวจแก้และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ในวิชาผมเองก็พยายามให้มีงานระหว่างที่เรียน ทั้งแบบงานกลุ่มและงานเดี่ยว บางทีให้ช่วยกันในห้อง บางทีให้กลับไปช่วยกันนอกเวลาเรียน แต่งานที่ทดสอบเนื้อหาสำคัญของวิชานั้น ผมจะแบ่งออกเป็น assignments ย่อยแบ่งคะแนนให้แค่ ๑-๒% เท่านั้น และย้ำกับผู้เรียนว่า กรุณาทำเอง เพราะผมอยากรู้จริงๆ ว่าคุณทำได้ไหม เหตุผลที่ผมให้งานแบบนี้ก็เพราะผมเชื่อว่านักเรียนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในระดับเด็กจนถึงปริญญาตรีเรียนเพื่อคะแนนเพื่อเกรด มีเพียงส่วนน้อยที่อยากทำงานเพราะอยากเรียนรู้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะจ้องจะเอาแต่คะแนนนะครับ ถ้ามีเหตุผลกับเขา เขาก็มีเหตุผลกับเราแน่นอน อย่างงานเดี่ยวที่ผมให้นักเรียนทำนั้น ความหมายระหว่างบรรทัด หรือสัญญาณที่ผมส่งไปจริงๆ ก็คือ (๑) คุณต้องทำงานนี้ เพราะมันมีคะแนน (๒) อยากให้คุณทำคนเดียว เพราะคะแนนมันไม่ได้มากมายอะไร สรุปก็คือ ผมเปิดโอกาสแบบนี้เพราะอยากให้ข้อเสนอแนะได้ถูกและทันเวลา ถ้าไปลอกชาวบ้านหรือให้เพื่อนช่วยผมก็ไม่รู้ว่าเขาอ่อนตรงไหน ถ้ารู้แล้วจะได้มาทบทวน แก้ไขกันก่อนจะสายเกินไป

 

นับจากวันที่ผมได้รับไม้ผลัดที่อาจารย์วศินได้กรุณาส่งให้ผม (ผ่านคุณแม่ ผ่านคุณปลวกที่ร่วมกันจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งบ้าน) จนถึงตรงนี้ ก็เป็นอันว่าผมได้ทำหน้าที่ส่งต่อไม้ผลัดนี้สู่ท่านผู้อ่านแล้ว (นับเป็นบันทึกที่ยาวที่สุดที่เคยเขียนมา) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านนะครับ

 

เช่นเคย ยินดีสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และอย่ารีรอ แบ่งปันประสบการณ์สู่กันฟังนะครับ

 

อ้างอิง:

วศิน อินทสระ (๓/๒๕๓๘) พุทธวิธีในการสอน สภาการศึกษามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพุทธศาสนา

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) (๒๕๕๑) พุทธวิธีในการสอน มูลนิธิพุทธธรรม

โรงเรียนทอสี มาทำความรู้จักับการปวารณา (PDF)

สารบัญมิลินทปัญหา ๑ - http://www.dharma-gateway.com/dhamma/dhamma-25-00-01.htm

T. W. Rhys Davids (1963) The questions of King Milinda http://www.sacred-texts.com/bud/milinda.htm

Milinda Panha http://en.wikipedia.org/wiki/Milinda_Panha

คำสำคัญ (Tags): #@thanop#adult learning#andragogy#bloom’s taxonomy#C program#child-centered#cognitivism#constructivism#critical thinking#formative assessment#instructional design#intrinsic motivation#jit#just in time#Lev Vygotsky#mastery goal#modeling#performance goal#python#Socratic Questioning#Summative assessment#Teachable moment#transfer of knowledge#Zone of Proximal Development#ZPD#การพัฒนาหลักสูตร#การเรียนการสอนแบบผู้ใหญ่#จุฬมาลุงกโยวาทสูตร#ฉันทะ#ฐปนลักษณะ#ถามแบบโสกราติส#ถ่ายโอนความรู้#ทิศ ๖#ป.อ. ปยุตโต#ปฏิปุจฉาลักษณะ#ปวารณา#ปัญญานิยม#ปาฏิหารย์#พุทธวิธี#พุทธศาสนา#มหาปรินิพพานสูตร#มิลินทปัญหา#วศิน อินทสระ#วิภัชชลักษณะ#สนิทานธรรมเทศนา#สร้างสรรค์นิยม#สิงคาลกสูตร#อภิญญาธรรมเทศนา#อานุศาสนีปาฏิหารย์#อาเทศนาปาฏิหารย์#อิทธิปาฏิหารย์#เกมคอมพิวเตอร์#เพศศึกษา#เอกังสลักษณะ#โยนิโสมนสิการ
หมายเลขบันทึก: 468234เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2011 00:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • ในการจัดการเรียนรู้ด้านการพัฒนาตน ได้ทดสอบผู้เรียนในด้านต่างๆ เพื่อ 1) กำหนดเส้นฐาน (Based Line) ของสมรรถภาพในด้านนั้นๆ และย้ำกับนักศึกษาว่า ขอให้ทำด้วยตนเองจริงๆ เพื่อจะได้รู้ว่าตนเองมีพื้นฐานในด้านที่ทดสอบในระดับใด เพราะในการให้คะแนน อาจารย์จะไม่นำคะแนนของแต่ละคนไปเทียบกับคนอื่น แต่จะประเมินจากพัฒนาการจากจุดเริ่มต้นของแต่ละคน แต่กระนั้นนักศึกษาก็ยังไม่วายที่จะถามคำตอบจากเพื่อน 2) จัดนักศึกษาเข้ากลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อให้แต่ละกลุ่มประกอบด้วยสมาชิกที่มีสมรรถภาพในแต่ละด้านในระดับต่ำ ปานกลาง สูง เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกัน แต่เวลาจัดคนที่ได้คะแนนสูงในด้านนั้นๆ เข้าไปในกลุ่ม ก็ไม่อาจเชื่อมั่นได้ว่า เขามีความสามารถในด้านนั้นสูงจริงไหม เพราะดูจากคำตอบ ก็รู้ได้เลยว่า มีการดูคำตอบกัน เช่น ให้เขียนคำเต็มของคำว่า "ASEAN" เวลาเขียนผิดก็จะผิดเหมือนกัน
  • เป็นปัญหาที่พบเสมอและแก้ปัญหาไม่ได้ ไม่ว่าจะชี้แจงอย่างไร เช่น บอกว่า ถ้าจัดเราเข้ากลุ่มในฐานะเป็นผู้ที่มีความสามารถสูงในด้านั้นๆ แต่คะแนนที่ได้ไม่ใช่ความสามารถของเราจริงๆ เราช่วยเพื่อนในด้านนั้นๆไม่ด้ ตามที่เพื่อนคาดหวัง เราคงไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น รวมทั้งพูดในแง่การเคารพตนเอง ที่จะทำอะไรตามความสามารถของตน แต่ก็ดูจะไม่เป็นผล 

@ผศ วิไล ครับ

ขอบพระคุณที่แวะเวียนมาครับ ปัญหาที่อาจารย์กล่าวถึง ถือว่าเป็นปัญหาโลกแตกของครูก็ว่าได้ครับ สูตรในการจัดกลุ่มนั้นหลากหลายเหลือเกิน จัดคนเก่งเท่ากันดีไหม หรือเอาคนอ่อนอยู่กับคนเก่ง จัดกลุ่มทำให้ครูกลุ้มได้เหมือนกันนะครับนี่

ผมเคยผ่านตางานวิจัยที่ใช้วิธีการจัดกลุ่มการเรียนรู้ร่วมกัน มีแบ่งเป็นกลุ่มควบคุณและกลุ่มทดลอง โดยกลุ่มทดลองนั้น เขาให้เข้าฝึก วิธีการเป็นติวเตอร์ที่ดีก่อน ในรายละเอียดผมไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร แต่จุดมุ่งหมายคือให้เขารู้ว่าการ บอกตรงๆ กับการชี้แนะ นั้นไม่เหมือนกัน เขาสรุปผลว่า กลุ่มที่มีการเข้าฝึกอบรมก่อนนั้น ได้ผลดีกว่า

ความน่าสนใจ ถ้าเราจะทำมาใช้ในบริบทของคนไทย ก็คือ บ้านเราไม่ค่อยจะสอนให้ "เรียน" หรือ "สอน" กันเท่าไร เน้นกันที่สอนให้ "ตาม" และ "จำ" เด็กๆ ก็เลยสอนเพื่อนไม่เป็น(หรือเปล่า?)

เท่าที่ผมเจอกันตัวเอง ส่วนใหญ่ก็จะใช้วิธีคล้ายๆ อาจารย์คือให้เด็กที่ทำงานได้ดี (ให้เขาทำของเขาเสร็จก่อน) ไปช่วยเพื่อนที่ยังติดๆ ขัดๆ กับงานคล้ายๆ กัน หรืองานเดียวกัน พอดีว่ามันเป็นวิชาปฏิบัติน่ะครับ ก็สอนกันได้พอสมควร ทำแล้วเห็นผลกันชัดๆ ถ้าวิชาเป็นภาคทฤษฎีมากกว่านี้ ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะออกมารูปแบบไหนเหมือนกันครับ

เปิดตัวห้องน้ำทองคำ

ใครอยากเข้าบ้าง ก็เรียนเชิญครับ


หลิว ซื่อหรงในวันที่ประสบความสำเร็จในการสร้างคฤหาสน์-ห้องน้ำทองคำ 

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 7 พฤศจิกายน 2551 20:14 น.


 

ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้นะครับท่านอาจารย์ ดร.วสะ บูรพาเดชะ

ในความเป็นครูนั้น มีคุณค่าความดีงามซ่อนอยู่มากมาย ดังนั้นผู้ที่เข้าถึงแก่นแท้ของการทำหน้าที่ผู้สอนเท่านั้น จึงสมควรจะได้รับการยกย่อง สรรญเสริญ ความคิดเห็นของผม อาชีพครูไม่ได้เป็นอาชีพที่สร้างความมั่งมีทางวัตถุ แต่เป็นอาชีพที่สร้างความสุขทางจิตใจให้กับผู้ที่มีจิตวิญญาณในความเป็นครูอย่างแท้จริงครับ

หลักพุทธวิธี ผมเคยศึกษาจากหนังสือที่ท่าน อ.วศิน อินทะสระ เขียนไว้ (ปรกติผมจะติดตามผลงานของท่านมาตลอดครับ)ทำให้ผมสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ได้กับเทคนิควิธีการสอนได้เป็นอย่างดีครับ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด แต่องค์ธรรมความรู้นี้ยังคงใช้ได้เป็นอมตะไม่มีวันเสื่อมสูญไปตามกาลเวลา เป็นทฤษฎีที่เป็นแก่นแท้ (Grand Theory)ของสาขาความรู้อื่นๆได้อีกมากมายครับ

การสอนเด็กยุคปัจจุบัน มีความจำเป็นครับที่ต้องใช้เทคนิควิธีการที่ผสมผสานอย่างหลากหลาย ผมเรียกว่าการบูรณาการการสอนของครู ยกตัวอย่างเช่นการสอน "ให้รู้" เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ทำอย่างไรที่ครูผู้สอนจะต้องใส่ "กระบวนการคิด" คู่ขนานกันไปด้วย หรือการสอนที่ฝึกให้เด็กใช้ "วิจารณญาณ" อันเหมาะสมมากกว่าใช้ "ความเชื่อ" ในสิ่งที่สืบทอดต่อกันมา ประมาณนี้ครับ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นมีอยู่ในหลักการของพุทธวิธีทั้งหมดครับ

ท่านอาจารย์วิเคราะห์ แยกแยะ เทียบเคียงประเด็นออกมาได้อย่างชัดเจนมากเลยครับ ผมต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์มากครับที่เติมเต็มองค์ความรู้นี้ให้กับผม ทำให้ผมได้แนวคิด แนวทางอีกมากมาย ทุกวันนี้ผมให้ความสำคัญกับการศึกษาเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ตลอดเวลาครับ และคิดว่าจะศึกษาไปตลอดชีวิต พร้อมกับปรับปรุงพัฒนาบทบาทหน้าที่ความเป็นครูไปพร้อมๆกันตราบเท่าที่ยังสามารถใช้ศักยภาพได้

ขอบคุณท่านอาจารย์ที่เปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้นะครับ หากไม่รบกวนผมขออนุญาตเข้ามาเรียนรู้อีกครับ

สวัสดีครับ ดร. แว๊บ เข้ามาอ่านบทความแล้ว ด้วยความที่มีความสนใจในพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ผมขอร่วมวงแสดงความคิดเห็นด้วยนะครับ

ยกจากบทสวดมนต์ทำวัตร

อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ, เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า

สตฺถา เทวมนุสฺสานํ, เป็นครูผู้สอน ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

พุทฺโธ, เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม

ภควา เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์

จากท่อนหนึ่งของบทสวดที่กล่าวถึงพุทธคุณ จะลองตีความให้เข้ากับการศึกษานะครับ

1. ครูผู้สอนต้องมีความรู้ดี มีทัศนคติ ความเชื่อที่ดี ใช้คุณธรรมจริยธรรมเป็นพื้นฐานในการสอน

2. ครูผู้สอนต้องพิจารณาผู้เรียนก่อนว่ามีหลายประเภท บางคนไม่รู้ไม่ชี้ ไม่หือ ไม่อือ (บัวใต้น้ำ) มีระดับกลางแบบคนเดินดินทั่วไป และเก่งขั้นเทพเทวดา

3. ครูผู้สอนจึงใช้วิธีในการสอนแตกต่างกันตามแต่ละประเภท คือจำแนกสั่งสอนให้เหมาะกับแต่ละบุคคล

4. ครูต้องเตรียมใจไว้ด้วยว่ามีมนุษย์ที่ฝึกไม่ได้อยู่ในกลุ่มด้วย ถ้าไม่ทำใจอาจสติแตกได้

ความยากของวิชาชีพเราคือการสอนหลายๆคนพร้อมกันเป็นกลุ่มครับ ซึ่งแตกต่างจากการสอนกลุ่มเล็กหรือตัวต่อตัว ซึ่งถ้ากลุ่มผู้เรียนมาความแตกต่างของพื้นฐานความรู้มากๆ และเนื้อหาวิชาที่เป็นลักษณะ lecture มากๆ ไม่มีการปฏิบัติ ยิ่งยากที่จะจัดการ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เทคนิควิธีอื่นๆ ประกอบไปด้วยเช่น peer teaching ที่ อ. แว๊บได้ทดลองใช้ในห้องเรียน ซึ่งในทางพุทธศาสนาก็ใช้ครับ เช่นเมื่อภิกษุมีข้อข้องใจในคำสอนของพระศาสดา ก็อาจไปถามพระมหากัจจายนะ (ท่านไม่ได้แค่มีดีทางรูปงาม และทางลาภอย่างที่เราๆท่านๆทราบนะครับ) ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ยกให้เป็นเอตทัคคะในทางการอธิบายความย่อให้พิสดาร ซึ่งคำว่าพิสดารนี้คงไม่ได้แปลว่าแปลกประหลาด ยิ่งทำให้เข้าใจยากขึ้น แต่เป็นการแตกความหมาย อุปมาอุปมัย เปรียบเทียบ ยกตัวอย่าง ฯลฯ

พระพุทธองค์ท่านนอกจากรู้พื้นฐานของผู้เรียน ยังมีการใช้เครื่องมือเข้าช่วย แต่ไม่ใช่เพื่อการใช้สอนโดยตรง แต่ให้ผู้เรียนใช้เครื่องมือนั้นสร้างปัญญาขึ้นมาเอง ซึ่งผมขอลอกมาจาก wikipedia thai นะครับ

"พระพุทธเจ้าได้ประทานผ้าเช็ดพระบาทสีขาวบริสุทธิ์ให้ท่านพร้อมกับสั่งให้ท่านลูบผ้านั้นไปเรื่อย ๆ พร้อมกับภาวนาว่า รโชหรณํ ๆ (แปลว่า เศร้าหมอง) ท่านลูบผ้าได้ไม่นานผ้าขาวนั้นก็หมองคล้ำลง ท่านจึงสติคิดได้ว่า "ผ้านี้แต่ก่อนก็ขาวบริสุทธิ์ แต่พอถูกลูบบ่อย ๆ ก็กลับดำ สรรพสิ่งมันช่างไม่ยั่งยืน" แล้วท่านจึงได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานยกผ้าผืนนั้นขึ้นเปรียบเทียบกับอัตตภาพร่างกายเป็นอารมณ์จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาในวันนั้นเอง"

มิลินทปัญหา ที่ อ. แว๊บ ยกมาก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการเรียนการสอน ซึ่งตัวพระเจ้ามิลินท์ หรือ พระเจ้าเมนันเดอร์ที่ 1 ซึ่งเป็นชาวกรีก คงถูกจริตกับวิธีการเรียนรู้ด้วยการถามแบบโสกราติส ทำให้นึกถึงที่คุณพ่อผมเล่า (ท่านจบ ป. เอก จากประเทศกรีก) ว่า คนกรีก เวลาว่าง นั่งคุยกัน จะถกกันเรื่องปรัชญา

ก่อนจะจบ ผมขอย้อนกลับไปที่ อ. ได้กล่าวถึงแนวคิดของท่านอาจารย์ วันชัย มีชาติ ที่ว่า การศึกษาในระดับอุดมศึกษานั้นเป็นการเรียนรู้ที่จะ "คิด" มากกว่าการเรียนไปประกอบวิชาชีพ ซึ่งผมเห็นว่าระบบการศึกษาของเราส่วนมากจะเน้นการประกอบอาชีพมากกว่าครับ การปรับหลักสูตรหลายๆครั้ง ก็เพื่อให้ตอบสนองต่อตลาดงาน ผมจำได้ว่าเคยถกกันกับ อ. แว๊บ เรื่องความรู้อะไรบ้างที่จำเป็นในสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ก็ใช้ตลาดงานเป็นหลักชัยเหมือนกัน หรือว่าเราลืมแนวคิดอื่นๆนอกเหนือจากการเป็นโรงงานผลิตบุคคลากรเข้าสู่ตลาดงานไปซะแล้ว

สวัสดีครับ คุณธนากรณ์ ใจสมานมิตร

เห็นด้วยกับความคิดเรื่อง Grand Theory มากเลยครับ เพราะจริงๆ ถ้ามองตามความหมายของศาสนา บางทีศาสนาพุทธอาจจะไม่เข้าข่ายด้วยซ้ำ การเจริญสติ ก็นับเป็นตัวอย่างคติการดำเนินชีวิตที่ดี (ที่เมืองนอกเริ่มมาสนใจกัน มีการให้นักเรียนทำสมาธิกันในโรงเรียน มีเครือข่ายโรงเรียน mindfulness)

ความท้าทายของการสอนในยุคปัจจุบันอาจจะอยู่ที่ความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม สังคม และผู้เรียน (ในขณะที่ผู้สอนปรับเปลี่ยนยาก) เรื่องกระบวนการคิดที่คุณธนากรณ์กล่าวถึง ก็มีคนถกเถียงกันเยอะครับ อันนี้ต้องอ้างถึง 21st century skills ที่หลายคนกำลังเห่อกัน การที่เน้นเรื่อง skills หรือทักษะ แต่ไปลดทอน content หรือเนื้อหานั้น เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายเห็นด้วย แต่อีกคนก็เป็นห่วงครับ เพราะในทางทฤษฏีนั้น skills เช่น critical thinking หรือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณนั้น เป็นเรื่องที่ต้องอิงอยู่กับเนื้อหา พูดง่ายๆ ก็คือ คนที่คิดอย่างมีวิจารณญาณในแขนงวิชาต่างๆ นั้น ไม่สามารถจะถ่ายโอนได้ อย่างตัวผมเอง อยากจะคิดเชิงวิจารณญาณในเรื่องเกษตรอินทรีย์ ก็ไม่สามารถเอาองค์ความรู้ที่ผมมีเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาและเทคโนโลยีไปประยุกต์ได้

แน่นอนครับว่าโยนิโสมนสิการเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยได้ แต่ผมก็ยังสงสัยว่าหากปราศจากองค์ความรู้เฉพาะทาง ความคิดที่แยบคายก็เกิดไม่ได้

เรื่องนี้กำลังจะหยิบมาเขียนถึงพอดี ไว้ค่อยมาคุยกันยาวๆ อีกหนได้ครับ

ผมต้องขอโอกาสศึกษางานของคุณธนากรณ์ด้วยนะครับ ทั้งใน gotoknow และใน jobpub

ขอบคุณมากครับ

เรื่องหนึ่งที่ผมยังไม่อาจฟันธงลงไปได้คือเรื่องคุณลักษณะ ครู ในบริบทของพุทธศาสนาครับ

ในเรื่องเทคนิค เรื่องกลวิธีนั้น ที่ผมกล่าวมานั้น เป็นเหมือนกับ How to แต่การรวมเอาเรื่องที่เฉพาะเจาะจงอย่าง บุคลิกภาพ ทัศนคติ มันเหมือนเป็นการบอกว่าครูทุกคนต้องสงบ ต้องร่มเย็น เป็นถึงระดับผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นผู้สอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายอย่างที่คุณโจว่าไว้

ว่ากันตามตรง ที่ผมยังละล้าละลังก็เพราะผมละคนหนึ่งที่ทำไม่ได้ (ฮา) และก็ไม่แน่ใจว่าจำเป็นที่ครูที่ไม่ได้มีบุคลิกภาพ ทัศนคติอย่างนั้น จะกลายเป็นครูไม่ดี แน่นอนครับ ถ้าเราพูดกันถึงคุณธรรมระดับวิชาชีพนั้น ถ้าไม่มีนี่ ชี้หน้าด่าได้ (เช่น ขายข้อสอบ เก็บเงินติวเด็กนอกเวลา) เรื่องนี้ คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าผมจะสรุปกับตัวเองได้ ว่าถ้าต้องเขียนเกี่ยวกับบุคลิกภาพ หรือทัศนคติครู อาจารย์แล้วจะออกมาในรูปแบบใด คุณโจว่าไง?

ส่วนเรื่องสุดท้ายที่คุณโจฝากไว้ คือเรื่องระบบ "คิด" นั้น น่าสนใจครับ ผมมองว่าเราต้องเดินสายกลาง คือต้องตอบโจทย์ทางธุรกิจให้ได้ และต้องทำให้เด็กได้มากกว่า เนื้อหา คือต้องคิดเป็น และมีทัศนคติที่เหมาะสมต่อวิชาชีพและต่อชีวิต (อ้าว ทำไมย้อนมาเรื่องทัศนคติฟะ?) เรื่องนี้คล้ายๆ กับประเด็นพานิชศิลป์ ที่หลายฝ่ายยังถกเถียงกัน ผมมองว่างานสอน ต้องตอบได้ทั้งสองโจทย์ เหมือนงานศิลป์นั่นแหละ ศิลปินที่สร้างงานในอุดมคติ ไม่มีรายได้ ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ก็ลำบากฉันใด ครูที่มุ่งหวังอุดมคติ (โดยมากมักมองว่า เด็กต้องเก่ง ต้องขยัน ต้องฟังฉัน?) ไม่สามารถผลิตคนให้เลี้ยงชีพได้ ก็ลำบากฉันนั้นล่ะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท