พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ : พลังปัจเจกและครอบครัวกับการศึกษาปวงชน


วันหยุด เสาร์ที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๔  ภรรยาผมจะต้องนำรถไปเติมน้ำมันและเติมแก๊ส เลยวางแผนจัดโปแกรมพิเศษให้ตนเอง กันว่าไหนๆก็จะต้องออกนอกบ้านกันอยู่แล้ว ทำอย่างไรจะออกไปและหาโอกาสทำอย่างอื่นหลายๆอย่างไปด้วย เราหารือกันคร่าวๆ ก็ได้โปรแกรมสัญจรหาความซาบซึ้งกับสิ่งต่างๆไปบนสองรายทางว่า จะไปพิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศกัน โดยขับรถตระเวนดูตามรายทางของชุมชนหมู่บ้านในสันป่าตอง ผมอยากดูบ้านเรือนและวิถีชีวิตของชุมชน ดูศิลปะและงานสะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นในการตั้งบ้านเรือนกับสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิต ลัดเลาะออกไปชิมข้าวที่เป็นร้านชาวบ้านตามข้างทาง

ต่อจากนั้น ก็จะแวะชิมกาแฟ ซึ่งเรามีตัวเลือกอยู่ ๒ รายการ ร้านหนึ่งเป็นร้านของชาวบ้านและเป็นกาแฟชงโบราณ อีกแห่งหนึ่งเป็นกาแฟสดอาบริก้าของบริษัทปลูกและทำกาแฟอินทนนท์ ร้านกาแฟชงชาวบ้านอยู่ใกล้กว่าและถึงก่อน แต่ปิด เลยไปร้านกาแฟอินทนนท์ ซึ่งก็ทั้งไม่ผิดหวังและประทับใจอย่างยิ่งกับความเป็นมาของการก่อตั้ง บุกเบิก ทำกาแฟอาบริก้าในประเทศไทยของบริษัทอินทนนท์ การจัดบ้านกาแฟให้อยู่ในบ้านและเป็นบรรยากาศของสวนอันร่มรื่น มีมุมให้นั่งได้ตามสบายกระจายอยู่ตามร่มไม้หลากพันธุ์

จากนั้น ก็ไปพิพิภัณฑ์พระพิฆเนศ ระหว่างทาง ก็กระโดดออกไปถ่ายรูปทิวทัศน์และบรรยากาศของท้องนาเมืองเหนือซึ่งกำลัง เหลืองอร่ามเต็มไปด้วยข้าวสุกรอเก็บเกี่ยวอยู่เต็มท้องทุ่ง แสงแดดอาบไล้ไปตามนาข้าวเป็นสีเหลืองทอง ฟ้าสีครามมีปุยเมฆลลอยเกลื่อน

เมื่อไปถึงพิพิธภัณฑ์ ก็เหมือนได้เดินเข้าสู่สถานที่อันสงบร่มรื่น เย็นกายเย็นใจ พื้นที่พิพิธภัณฑ์กินอาณาบริเวณสัก ๑๐ ไร่ จัดองค์ประกอบผสมผสาน ทั้งเป็นบ้านและแหล่งอยู่อาศัยของเจ้าของ แหล่งสะสมและจัดแสดงศิลปวัตถุเกี่ยวกับพระพิฆเนศจากหลายวัฒนธรรมของโลก โดยเฉพาะในกลุ่มสังคมวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออุษาคเนย์

พิพิธภัณฑ์ไม่อนุญาตให้ผู้เข้าชมถ่ายภาพ ผมเลยหันไปมองสภาพแวดล้อมโดยรอบเพื่อซึมซับบรรยากาศไว้กับตนเอง เหลือบไปเห็นมวลเมฆบนท้องฟ้า ก็ช่างเป็นใจพอดี เพราะเมฆบนท้องฟ้าหลายก้อน ช่างเหมือนกับช้างกับเรื่องราวบนสวรรค์ เลยเกิดความคิดถ่ายภาพบรรยากาศโดย รอบมาชวนให้จินตนาการไปด้วยกัน

พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศแห่งนี้ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ก่อตั้งขึ้นโดยเอกชนและบนพื้นที่ส่วนตัว จัดว่าเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับพระพิฆเนศที่ใหญ่และรอบด้านที่สุดในประเทศไทย เนื้อหาและรูปแบบการจัดแสดงนั้น ผู้ชมจะสามารถเข้าถึงแง่มุมที่ตนเองสนใจได้หลายมิติ จะชมบางด้าน หรือเข้าถึงหลายด้านอย่างบูรณาการไปในเวลาเดียวกันก็ได้

  • การปฏิบัติต่อสิ่งศรัทธาและความเชื่อ : ผู้น้อมตนเข้าถึงสิ่งศรัทธาก็จะได้อยู่ในบรรยากาศแวดล้อมที่มีความศักดิ์สิทธิ์ มีพลัง ขรึมขลัง ได้พลังชีวิต และตั้งมั่นอยู่ในสิ่งศรัทธา ก้าวออกไปดำเนินชีวิตด้วยความเชื่อมั่นต่อสิ่งยึดเหนี่ยวทางใจ
  • ศึกษาและชื่นชมศิลปะแห่งศรัทธา : ผู้สนใจศิลปวัตถุก็จะได้เห็นศิลปะแห่งศรัทธาอันงดงามและสื่อสะท้อนพลังปัญญาของ มนุษย์ที่ฉายโชนอยู่ในภาษาศิลปะ เห็นระบบวิธีคิดต่อการจัดความสัมพันเชิงอำนาจที่มีพลังเหนือสรรพสิ่ง ให้ความขัดแย้ง ความประสานกลมกลืน ความว่าง เกิดความสมดุล ลงตัว งดงาม สร้างโลกและสร้างความเป็นจริงทั้งหลายให้ก่อเกิด ดำรงอยู่ เปลี่ยนแปลงและเสื่อมสลายไป
  • ศึกษาระบบวิธีคิดอีกชุดหนึ่งของโลก : ผู้สนใจกระบวนการทางปัญญา รากฐานของศาสตร์และระบบปรัชญาที่สำคัญที่สุดชุดหนึ่งของโลก ก็จะสามารถเห็นถึงการแสดงสัจจะภาวะและเห็นกระบวนการสร้างความรู้ที่เป็นองค์รวม ผสานความเป็นมนุษย์กับสรรพสิ่ง ที่บันทึกและสื่อสะท้อนอยู่ในการประกอบสร้างความเป็นทั้งมวลของพระพิฆเนศ
  • ศึกษาและชื่นชมบทบาทของปัจเจกต่อสุขภาวะส่วนรวม : ผู้สนใจบทบาทของการสร้างความเป็นส่วนรวมและบทบาทการปฏิบัติการเชิงสังคมด้วยงาน ศิลปะและการจัดวางทางการศึกษาบนพื้นที่ความเป็นส่วนตัว ก็จะได้เห็นพลังการขับเคลื่อนสังคมและเห็นบทบาทของการเป็นผู้เลือกสรรการ เปลี่ยนแปลงของปัจเจก เห็นพลังการดำเนินชีวิตเชิงอุดมคติ
  • ศึกษาภูมินิเวศและสถาปัตยศาสนศิลป์ : ผู้สนใจ ภูมินิเวศและภูมิสถาปัตยกรรม ก็จะเห็นการออกแบบบ้านและพื้นที่ชีวิต ที่แบ่งปันสิ่งศรัทธาส่วนตน ให้สาธารณชนได้ร่วมเข้าถึงอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมทั้งเห็นความกลมกลืนในการอยู่กับธรรมชาติของถิ่นฐาน เห็นการเชื่อมโยงระบบปัญญาและมวลความรู้มาสู่การจัดวางองค์ประกอบทั้งหมด ที่ผสมกลมกลืนเป็นหนึ่งอันเดียวกันของมนุษย์ โลกภายใน กับโลกภายนอก

ผมเองนั้น สนใจในทุกมิติ โดยเฉพาะใน ๒-๓ เรื่อง คือ ระบบวิธีคิดที่อยู่ในการอธิบายปางต่างๆของพระพิฆเนศ กับวิธีทำบ้านและการอยู่อาศัยของตนเองให้เป็นแหล่งให้การเรียนรู้และทำสิ่งต่างๆเพื่อส่วนรวม รวมทั้งวิธีทำงานความรู้เอเชียศึกษา South East Asia Studies : SEAS และไทยคดีศึกษา Thai Studies ผ่านโลกทรรศน์และมิติสังคมวัฒนธรรมในเรื่องราวพระพิฆเนศที่ศึกษาเชื่อมโยงได้กับหลักฐานทางศิลปะและวิถีชีวิตของสังคม

นอกจากนี้ ผมได้มีโอกาสเห็นปางปัญจมุขของพระพิฆเนศ ซึ่งมีพักตร์หนึ่งเป็นเทพหมูป่าซึ่งมีบทบาทต่อปัญญาด้านทำมาค้าขาย สร้างความมั่งคั่งร่ำรวย ทำให้ผมแสนจะดีใจที่เริ่มเห็นบางแง่มุมที่เคยคิดว่าจะต้องมีเรื่องราวของเทพปกรณัมเกี่ยวกับหมูป่า หลังจากที่เมื่อไม่นานมานี้ ได้ไปดูปราสาทหินเขาพนมรุ้งและเห็นหน้าบรรณแห่งหนึ่งแกะสลักภาพฤาษีหายาจากสมุนไพร และที่ฐานมีหมูสองตัวลักษณะเหมือนกำลังเสพสังวาส ซึ่งการอธิบายหลายแห่งสันนิษฐานว่าเป็นภาพอีโรติกที่ช่างผู้แกะสลักหินมักถือโอกาสสอดแทรกเป็นอารมณ์ขัน ซึ่งก็เป็นแนวการอธิบายแนวหนึ่งที่ทราบกันดี

Large_originated_herbal_plant

                อ้างอิง : http://www.gotoknow.org/media/files/724248

อย่างไรก็ตาม ผมขอตั้งข้อสังเกตบางประการว่าอาจจะมีความหมายลึกซึ้งมากกว่าคำอธิบายที่มักได้ทราบกันโดยทั่วไปดีแล้ว กล่าวคือ......

ประการแรก วิธีคิดความเป็นภาพอีโรติกนั้น เป็นโลกทัศน์สมัยใหม่ของสังคมตะวันตกที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ ๒๐๐-๔๐๐ ปีในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยานี้เท่านั้น แต่ภูมิปัญญาการสร้างปราสาทหินนี้มีอายุหลายพันปี แม้แต่เครื่องหมายศิวลึงค์และฐานโยนีซึ่งใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำเพศสภาวะชายและหญิงเหมือนความเป็นหยินกับหยางในระบบการคิดของจีน อีกทั้งมีสัณฐานและการจัดองค์ประกอบอีโรติกมากนั้น ก็ไม่ได้สื่อถึงความนัยเชิงอีโรติก แต่เป็นเครื่องหมายของพระศิวะ ซึ่งเสมือนเป็นกรอบหลักของกระบวนทัศน์สำหรับอธิบายความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวงในสากลจักรวาล ดังนั้น จึงไม่น่าจะลดทอนให้เหลือความนัยเพียงความเป็นศิลปะอีโรติกและการสอดแทรกอารมณ์ขันได้  

ประการที่สอง  ในสังคมตะวันออกนั้น การเป็นช่างและผู้ทำงานศิลปะในศาสนสถาน มีฐานะสูงส่งมากกว่าความเป็นแรงงานในความหมายความเป็นช่างของสังคมสมัยใหม่ ผู้ที่จะสามารถอยู่ในฐานะทำศิลปะบูชาต่อสิ่งสูงสุดดังเช่นปราสาทสำหรับการสถิตย์ของเทพนั้น จากหลักฐานจำนวนมาก จะพบว่าเป็นกระบวนการที่มุ่งรวมเป็นหนึ่งกับเทพเจ้า ต้องบำเพ็ญเพียร สร้างตะบะ เครื่องมือและทุกอย่างที่ใช้ก็ต้องสร้างความหมายให้เป็นสิ่งบริสุทธิ์ ควรค่าต่อการสร้างสรรค์สิ่งที่สูงส่งที่สุด ดังนั้น จึงไม่น่าจะเป็นเพียงการแอบบันทึกใส่ลงไปเพื่อสื่อความมีอารมณ์ขันและแสดงภาพอีโรติกตามความเชื่อแบบสมัยใหม่

ด้วยเหตุนี้ ในข้อมูลภาพดังลิ๊งก์ http://www.gotoknow.org/media/files/724248 ผมจึงได้ทำหมายเหตุไว้ว่าน่าจะเป็นการแสดงถึงเทพบนสวรรค์ในปางที่เป็นหมูป่าตามโลกทัศน์เทวนิยมของวัฒนธรรมพราหมฮินดูและยุคเก่าของสังคมตะวันตก แต่หาข้อมูลอย่างไรก็ไม่พบ พบเพียงเรื่องตือโป๊ยก่ายในเทพปกรณัมจีน เพิ่งจะได้เห็นการแสดงเทพหมูป่าในปางปัญจมุขของพระพิฆเนศ ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นั่นเอง ซึ่งก็ทำให้ผมตื่นเต้นดีใจและพอจะเห็นเค้าเงื่อนบางอย่างที่อยากกลับไปอ่านหน้าบรรณของปราสาทหินเขาพนมรุ้งที่ได้มีข้อสังเกตไว้ต่อไปอีก 

เนื้อหาและเรื่องราวการนำเสนอของพิพิภัณฑ์

ด้านเนื้อหานั้น เป็นการมุ่งนำเสนอระบบวิธีคิดในการอธิบายความเป็นจริงของสิ่งทั้งมวล ที่อยู่ในอารยธรรมอินเดียซึ่งเป็นอารยธรรมทางปัญญาที่สำคัญที่สุดแหล่งหนึ่งของโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน ส่วนด้านสิ่งจัดแสดงก็เป็นการรวบรวมศิลปวัตถุเกี่ยวกับพระพิฆเนศมาจัดแสดงอย่างเป็นระบบทั้งกลางแจ้ง ในอาคาร และการจำลองบรรยากาศเทวสถาน

 

เมฆก้อนนี้ เหมือนรูปนกหัสดีลิงก์
ซึ่งเป็นพาหนะส่งดวงวิญญาณสำหรับผู้มีบุญไปสรวงสวรรค์
และในพิพิธภัณฑ์ก็มีประติมากรรมนกหัสดีลิงก์นี้ก่อนทางเดินออกด้วย

 

เมฆรูปช้างน้อย
ในระยะ ๓๐๐-๔๐๐ ปีมานี้ได้มีการคิดค้นปางใหม่ของพระพิฆเนศขึ้นอีกหลายปาง
ปางหนึ่งคือปางที่ยังเป็นเด็ก มีชื่อปางว่า บาลคเนศวร (Bal Ganesh)

กระบวนการให้การศึกษาเรียนรู้ จัดรูปแบบผสมผสานไปทุกด้าน ภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดพิธีกรรมตามแหล่งต่างๆที่เป็นการปฏิบัติจริง เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้ร่วมพิธีเพื่อเข้าถึงด้วยการเป็นส่วนหนึ่งอย่างซาบซึ้ง รู้และสัมผัสภาวะภายในได้ด้วยตนเอง มีหนังสือ สื่อ สิ่งตีพิมพ์ และมุมจัดแสดงข้อมูลซึ่งประมวลเรื่องราวได้อย่างรอบด้านและกระชับที่สุด โดยเฉพาะเรื่องราวพระพิฆเนศในบริบทของสังคมไทย

รวมทั้งการอธิบายรหัสนัยในปางและอวตารในภาคต่างๆของพระพิฆเนศ ตลอดทั้งการเชื่อมโยงกับระบบวิธีคิดในกลุ่มเดียวกัน เช่น ในระบบคิดเทพปกรณัมของเขมร อินโดนีเชีย เป็นต้น.

หมายเลขบันทึก: 466601เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2011 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

มีโอกาสจะไปเที่ยวบ้างครับอาจารย์ ผมก็ศรัทธาพระพิฆเนศเหมือนกัน

สวัสดีครับ

อ่านบันทึกแล้วก็อยากไปชมเช่นกันครับ แม้จะไม่เห็นภาพพิพิธภัณฑ์เลย แต่กลับได้เห็นสิ่งที่น่าชมไม่แพ้กัน

พิพิธภัณฑ์ก้อนเมฆธรรมชาติ ที่ต้องชมผู้ถ่ายภาพครับว่ายอดเยี่ยม

เห็นภาพบรรยากาศท้องนาเมืองเหนือแล้ว ก็สะท้อนใจ มันตรงข้ามกับภาพน้ำท่วมที่เป็นอยู่ในกรุงเทพฯ และที่ปรากฏเป็นข่าวของสื่อต่างประเทศที่เป็นหน้าต่างมองประเทศไทยอยู่ในช่วงนี้

ชอบทุกภาพ...ชอบภาพที่สองมากที่สุดเลยนะคะ

ดูความหวังมลังเมลือง....เหมือนทองจริง ๆ

พระพิฆเนศช่างบันดาลศิลปะการเชื่อมโยง....จากความรู้ ความคิดภายใน

เชื่อมใจออกสู่ภายนอกรอบ ๆ กับสรรพสิ่งที่สวยงาม มีคุณค่า

ที่อาจารย์ช่างสรรหามากำนัลพวกเรา

เป็นบุญ...ที่ได้พบท่าน อ.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ (ทาง G2K นี้)

...หนูก็จะเลือกใช้ชีวิตรื่นรมย์จากภายใน ขยายใจดี ๆ มองออกสู่โลกภายนอก

ไม่เลียนแบบค่ะ ไม่เลียนแบบ ไม่สามารถอยู่แล้ว

แค่ศึกษาแนว ๆ (แนวคิด) ไว้ เพื่อการพัฒนาตัวเอง

ขอบพระคุณอาจารย์มากนะคะ

(ยังต้องสะกดใจ...ไม่ให้อิจฉาชีวิตหลังเกษียณนะคะเนี่ย...อิอิ)

สวัสดีครับบีเวอร์
ไปเห็นในอีกหลายแง่หลายมุม ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้แล้วนี่
ก็ยิ่งได้ความลึกซึ้งของสังคมอินเดียมากจริงๆละครับ

สวัสดีครับท่านทูตพลเดชครับ
เสียดายที่ไม่สามารถ่ายรูปได้โดยตรงครับ เรื่องการถ่ายรูปในพิพิธภัณฑ์นี่ เป็นผลจากยุคที่เทคโนโลยีการถ่ายภาพยังไม่ค่อยดี เขามีการศึกษาและยืนยันได้ว่า การถ่ายรูปแบบใช้แสงแฟลชนั้น มีผลต่อสีของภาพเขียน ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ จึงมีมาตรการห้ามถ่ายภาพ แต่ในงานประติมากรรมและสิ่งจัดแสดงอย่างอื่นนั้น ก็ไม่เคยเห็นมีงานกล่าวถึงนะครับ เลยเข้าใจว่าคงเป็นเหตุผลของความปลอดภัย แต่ก็ยินดีให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีครับ เขาเปิดให้ได้มีโอกาสได้ชมก็ซาบซึ้งมากอย่างยิ่งแล้วละครับ เลยต้องหาวิธีเล่าอย่างนี้แหละนะครับ ดีใจครับที่ก็ได้ชมสิ่งดีๆอย่างอื่นไปด้วยอย่างที่ผมก็ตั้งใจที่จะได้นำมาอวดกันดูครับ

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ
คุณหมอสะท้อนบทสรุปอย่างกับที่อยากนำมาเล่าถ่ายทอดสู่กันเลยครับ
ทั้งหมดที่เป็นบรรยากาศในห้วงที่ไปสัมผัสนั้น
เป็นอย่างที่คุณหมอเห็นความเชื่อมโยงกันของมิติต่างๆเลยครับ
ยิ่งเห็นเรื่องราวของเจ้าของพิพิธภัณฑ์และการอาศัยอยู่ด้วยเลยแล้ว
ก็สัมผัสได้ครับว่าเขาเป็นสิ่งที่ทำทั้งหมดนั้นเลย
เขาเป็นส่วนหนึ่งกับก้อนเมฆ แมกไม้ ผืนดิน เมล็ดข้าว และทุกอย่างที่เห็นเลยละครับ

แวะมาทักทาย ท่านผู้อาวุโส เสียดายที่ ท่าน อาจารย์ หมอวิจารณ์ ลาออก จาก ประธาน กกอ ครับ

สวัสดีครับอาจารย์หมอ JJ ครับ

  • ขอน้อมคารวะด้วยความรู้สึกขอบพระคุณยิ่งครับอาจารย์ครับ
  • มีอาจารย์แวะมาเยือนนี่ ทำให้เกิดความกระชุ่มกระชวยขึ้นมาในใจพลันเลยละครับ ด้วยความรำลึกถึงครับอาจารย์
  • สังคมไทยคงเป็นอย่างนี้ไปอีกนานนะครับอาจารย์

                  

  • วิกฤตพิพิธภัณฑ์วิถีไทย ณ โรงเรียนบ้านคลองสว่างอารมณ์ ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม
  • ภาพถ่ายไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนโน้น ปัจจุบันไม่ทราบว่าระดับน้ำขึ้นสูงอีกเท่าไหร่ คาดว่าคงเข้าอาคารพิพิธภัณฑ์ไปแล้วค่ะ จะลองประสานไปทางทีมน้องๆ อีกทีค่ะ ...
  • ลงพื้นที่คลองโยงได้พบพี่บุญลือ ผู้ได้รับโฉนดชุมชนผืนแรกของต.คลองโยง กำลังทำเขื่อนดินป้องถนนกันเต็มที่ค่ะ ..
  • ได้พบคุณครูที่ทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของอาจารย์เนาว์ อาจารย์ลี อาจารย์เดียร์ ด้วยค่ะ และที่อาจารย์เคยไปช่วยสนับสนุนคุณครูทำโครงการวิจัย คุณครูท่านนึงจำอาจารย์ได้ว่าอาจารย์ลงไปช่วยที่โรงเรียนถามถึง อาจารย์วิรัตน์ที่วาดรูปเก่งๆ ใช่ไหม

สวัสดีครับอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ

  • ท่วมไปตั้งครึ่งแข้งเลยนะครับน่ะ
  • อย่างนี้ที่อาคารเรียนเด็กเล็ก กับอาคารหลังใหญ่แต่ทำชั้นล่างติดพื้นด้วยก็คงท่วมจนใช้เรียนไม่ได้
  • ต่อไปหลังน้ำท่วมนี่ น่าจะมีการขยายผลโฉนดชุมชนเพื่อในแต่และชุมชนได้มีพื้นที่ใช้อยส่วนรวมนะครับ
  • รำลึกถึงผู้อำนวยการและคณะคุณครูทุกท่านของโรงเรียนบ้านคลองสว่างอารมณ์นะครับ

๑๖ มกราคม วันครู ๒๕๕๕
ขอน้อมสักการะพระพิฆเนศ เทพแห่งศิลปวิทยา
รวมทั้งขอน้อมสักการะพระคุณคุณครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา
และขอร่วมเป็นกำลังใจแด่คุณครูทั้งในและนอกระบบการศึกษาทุกท่าน

ยินดีมากมายครับที่มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระำพิฆเนศครับ

ผมขออนุญาติเพิ่มเติมในส่วนที่กล่าวว่า "มีโอกาสเห็นปางปัญจมุขของพระพิฆเนศ ซึ่งมีพักตร์หนึ่งเป็นเทพหมูป่า" นั่นผมว่า น่าจะไม่ใช่นะครับ ปัญจมุขคเณศ คือพระคเณศ 5 เศียร ครับ แต่ที่ท่านเห็น น่าจะเป็น  "ปัญจะมุขหนุมาน"  คือพระหนุมาน 5 เศียร มี หน้าหนุมาน หน้าหมูป่า(วราหะวตาร 1 ในนารายณ์ 10 ปาง) หน้าสิงห์ (นรสิงหะวตาร 1 ในนารายณ์ 10 ปาง) หน้าม้า (กัลยะวตาร หรือกัลกียะวตาร 1 ในนารายณ์ 10ปาง) และหน้าครุฑ คือหน้าพญาครุฑนั่นเอง   

ปัญจมุขหนุมานนั้น แสดงให้เห็นเกี่ยวกับด้านพลัง โดยรวมภาคอวตารของพระนารายณ์และ พญาครุฑผู้มีพลังมหาศาล(ในตำราบางเล่มเขียนว่า มีพลังทัดเทียมพระนารายณ์สู้กันไม่รู้ผลแพ้ชนะ) 

ถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือสงสัยตรงไหน สอบถามได้นะครับที่

www.facebook.com  ค้นหา  พิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศ

และ www.ganeshmuseum.com ครับ 

ขอบคุณครับ ^__^

เอารูปพระปัญจะมุขคเณศของพิพิธภัณฑ์มาให้ชมกันครับ

ด้วยความยินดีและดีใจอย่างเหลือหลายครับ
ที่ทางพิพิธภัณฑ์พระพิฆเนศมาเยือน
แล้วก็นำเอาข้อมูลมาช่วยแก้ไขความเข้าใจให้ถูกต้องมากยิ่งๆขึ้น
โดยเฉพาะภาพงามๆ รวมทั้งให้ปัญญาเพิ่มเติมสิ่งที่เกี่ยวข้องให้อีกหลายอย่าง
ขอบคุณอย่างยิ่งครับ

ได้ข้อมูลเพิ่มที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเทพหมูป่า

                         Large_originated_herbal_plant

พระรุทระ :
สมญานามหมูป่าตัวแดงแห่งสวรรค์,เทพผู้ทรงเป็นแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด

เป็นเทพที่ได้รับการกล่าวถึงในบทสวดสรรเสริญไม่มากนัก มีเพียง ๓-๔ บทเท่านั้น น้อยกว่าบทสวดที่พรรณาและสรรเสริญพระวิษณุ ในบทสวดสรรเสริญฤคเวท พรรณาว่าทรงมีธนูและศรเป็นอาวุธประจำตัว บางบทกล่าวว่าสายฟ้าและฟ้าผ่า เป็นเทพที่ดุร้ายและมุ่งการทำลายเหมือนสัตว์ป่า ได้สมญานามว่า "หมูป่าตัวแดงแห่งสวรรค์" บทสรรเสริญและสวดอ้อนวอน จะมีนัยถึงการแสดงความหวาดกลัวต่อสายฟ้าและฟ้าผ่าอันเป็นความเกรี้ยวกราดอย่างสุดขีดของพระองค์  มีพระนามแฝงอีกพระนามหนึ่งคือ "ศิวะ" อันหมายถึงมงคลที่ใช้ในฤคเวทเพื่อหมายถึงเทพรุทระนี้ อย่างไรก็ตาม เทพองค์นี้มีความดุร้ายน้อยกว่าอสูร บทสวดอ้อนวอนนอกจากมุ่งขอให้พระองค์ยุติความหายนะทั้งหลายแล้ว ก็สวดอ้อนวอนเพื่อขอการมีความสุขสวัสดีต่อมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย อีกทั้งได้รับการกล่าวถึงการมีอำนาจในการรักษาโรค และมีบทสรรเสริญว่าเป็นแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดด้วย

สรุปความจาก  : บทกวีแห่งฤคเวท โดย ธวัชชัย ดุลยสุจริต ในวารสารวิภาษา ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๒ ลำดับที่ ๔๒ ประจำ ๑ พฤษภาคม - ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๕ หน้า ๓๙-๔๓ ข้อมูลบางส่วนมีแง่มุมสอดคล้องกับข้อสังเกตในบันทึกนี้ของผู้เขียนและในข้อมูลภาพที่บันทึกข้อสังเกตไว้ที่ http://www.gotoknow.org/media/files/724248

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท