ลุงน้อมกับสายน้ำป่าสัก


ลุงน้อมตอบคำถามและเล่าอะไรหลายอย่างที่ทำให้รู้สึกว่า ชีวิตหลังมีเขื่อน และชีวิตหลังจากมีการส่งเสริมการทำนำปีละหลายครั้ง ซึ่งทำให้มีการบังคับ เปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำอย่างที่มนุษย์ต้องการ ทำให้ระบบนิเวศเสียหายมาก

แทบทุกวันไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลใด น้ำจะมาก จะน้อย หรือแม้แต่ฤดูน้ำหลากปีนี้ ที่น้ำท่วมมากมายหลายจังหวัดแม้กระทั่งกรุงเทพมหานครก็ไม่รอดพ้น จะมีเรือของชายผู้หนึ่งพายลัดเลาะอยู่ที่แนวตลิ่งที่ท่าน้ำหน้าบ้านผู้เขียน แกไม่ได้มาเป็นเวลาแน่นอน บางทีมาค่ำๆมืด น้องหมาเห่ากันเสียงขรม แรกๆผู้เขียนกลัวอยู่เหมือนกัน คิดไปว่าโจรจะพายเรือมาด้อมๆมองๆดูลาดเลาหรือเปล่าหนอ คุยกับพี่น้อย-แม่บ้าน แกบอกว่า ไม่ต้องกลัวหรอก นั่นคือ “ลุงน้อม” อยู่เลยโค้งน้ำขึ้นไปหน่อย แกหาปลาเก่ง

ช่วงน้ำท่วมที่บ้านผู้เขียนล้อมรอบด้วยน้ำ ยังได้เห็นลุงน้อมมาที่แถวหลังบ้าน

 

ซ้ายมือตอนน้ำสูงสุด ตอนนี้น้ำค่อยลดลงแล้ว

วันหนึ่งเห็นแต่เรือลอยอยู่...นึกว่าแกตกน้ำตายหรือเปล่า ที่แท้แกผูกเรือไว้ ตัวแกปีนข้ามรั้วที่อีกแปลงของผู้เขียนที่เรามีดินกองสูงเป็นโคก อยู่ติดต้นแจง น้ำท่วมกลายเป็นเกาะน้อยๆ มีต้นอะไรต่อมิอะไรงอกขึ้นเต็มไปหมด แกก้มๆเงยๆ เอามือคุ้ยดิน“เก็บไส้เดือน” ไปเป็นเหยื่อตกปลานั่นเอง

 

 

เก็บไส้เดือน

แกเป็นคนหาปลาอิสระ คือหาปลาคนเดียว จะไปตรงไหนไปได้ทั่ว พายเรือลัดเลาะคล่องแคล่วมาก ได้เห็นแกจอดเรือเกือบกลางแม่น้ำ ทั้งๆที่น้ำไหลแรง แต่เรือแกซึ่งเป็นเรือพลาสติกสามารถจอดได้นิ่ง ไม่โคลงเคลง ไม่ไหลไปกับน้ำ ก็นึกทึ่งแกทีเดียวค่ะ

วันนี้แกพายผ่านมาทางหน้าท่า เลยร้องเรียกคุยกับแก วันนี้แดดแรง แกสวมงอบเสียด้วย

 

ลุงน้อมบอกว่าชอบใจเรือไฟเบอร์มากกว่าเรือไม้เสียอีก

 ถามแกว่าเห็นลอยเรืออยู่กลางน้ำได้นิ่งเชียว ทำอย่างไร แกบอกว่าก็เอาเรือยึดกับ ราวเบ็ดที่ลงไว้ บวกกับใช้ “หางเสือ” ทำเองช่วย

หางเสือนี้น่าทึ่งมาก แกนยึดจะวางพาดอยู่ตอนท้ายเรือ เป็นท่อพีวีซีสีฟ้า ปลายของแกนแต่ละข้างจะมีแผ่นไม้แบนทำไว้รูปร่างคล้ายพาย เมื่อต้องการใช้ก็โยก แผ่นไม้สองข้างลงน้ำ เลิกใช้ก็ยกขึ้น แผ่นไม้แบนนี้ยกขึ้นลงได้อิสระแก่กัน

 

 

ลุงน้อมหัวเราะที่เห็นเราสนใจ และบอกว่า “ทำเอง ก็เห็นพ่อทำใช้ ก็จำมาทำต่อ...” คนข้างกายส่งน้ำดื่มให้แกขวดหนึ่งดับกระหาย แล้วแกขอตัวพายเรืออ้อมไปเก็บไส้เดือน ด้านหลังบ้านเรา ผู้เขียนเดินตามไปดูและไปคุยต่อ

ลุงน้อมตอบคำถามและเล่าอะไรหลายอย่างที่ทำให้รู้สึกว่า ชีวิตหลังมีเขื่อน และชีวิตหลังจากมีการส่งเสริมการทำนำปีละหลายครั้ง ซึ่งทำให้มีการบังคับ เปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำอย่างที่มนุษย์ต้องการ ทำให้ระบบนิเวศเสียหายมาก ชีวิตผู้คนที่ถูกดึงให้ห่างจากธรรมชาติ ชาวนาที่ใจถูกดึงให้ฝันถึงเงิน ความร่ำรวย จนไม่สนใจ “พระแม่โพสพ” ผู้คนจากชนบทที่หลั่งไหลไปอยู่ในเมืองใหญ่ ชุมชนใหญ่ๆที่มีระบบการอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ทำให้ไม่รู้สึกว่า “การพัฒนา” จะไปเกี่ยวอะไรกับต้นไม้ สายน้ำ หรือจะมีผลต่อธรรมชาติทั้งระบบ ชีวิตคนชนบท และท้ายสุดจะย้อนมามีผลกระทบต่อทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ใด อย่างไร

 

ต้นไม้รู้ภูมิ ...ต้นมะขาม

 

เมื่อใช้คำว่า “ระบบนิเวศ” ฟังดูราวกับพวกนักกิจกรรมต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม แต่แท้จริง มันคือความสัมพันธ์ของมนุษย์เรากับธรรมชาติที่อยู่รอบตัว เพราะเดี๋ยวนี้มนุษย์เราชินกับของสำเร็จรูป เราไม่เคยแม้แต่จะหวนคิด หรือหยุดคิดสักเศษเสี้ยววินาทีว่า ชีวิตสะดวกสบายที่เราได้มีอยู่ แม้ว่าอาจมาจากสัมมาชีพ แต่ เบื้องหลังความสะดวกสบายทุกอย่างในโลกนี้มิใช่ได้มาเปล่าๆ ถึงเราจะไม่รู้ มองไม่เห็น แต่รับรองได้ว่ามันแลกมาด้วยความเบียดเบียน บังคับควบคุมธรรมชาติไม่มากก็น้อย

ผู้เขียนเองเพิ่งเริ่มตระหนักได้มากขึ้นก็ตอนมาใช้ชีวิตที่ คิดช้า ทำช้า ได้ เลยได้มองเห็นชัดขึ้น ยิ่งได้อ่าน ได้ชมสารคดี ถึงการทำลายสมดุลธรรมชาติทั่วโลกที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่นับวันจะทำให้มนุษย์อยู่อย่างยากลำบากขึ้น ก็ยิ่งเข้าใจ และเห็นว่า วิถีพอเพียง เท่านั้นเป็นเรื่องที่จะช่วยโลกได้

 

 

ลุงน้อม

 “...อยู่ที่นี่ (ตำบล ปากท่า อยุธยา) มาตั้งแต่เป็นเด็ก ตอนนี้อายุ ๗๒ แล้ว

สมัยก่อนหน้าน้ำ น้ำก็มากก็ท่วมทุกปีนั่นแหละ แต่มันไม่มาก น้ำไม่สูงอย่างเดี๋ยวนี้ เมื่อก่อนเขาไม่กั้น น้ำมาก็ค่อยๆหลาก ลาดเข้าทุ่งนาไป ตอนหลังเขากั้นน่ะซี น้ำมันเลยเอ่อ ก็ตั้งแต่มีเขื่อน นาแต่ละที่เขาก็กั้นด้วย น้ำไม่มีทางไป เข้าทุ่งไม่ได้ มันก็เอ่อมาก แล้วท่วมนานกว่าเมื่อก่อนด้วยซี

เมื่อก่อนปลาหลายชนิด มากมาย โอ๊ย พอน้ำเริ่มลด ปลาจากนาก็จะไหลลงแม่น้ำ ก็ตอนน้ำหลากนะปลาจะไปวางไข่ เกิดลูกในท้องนา พอน้ำในทุ่งลง ลูกปลาก็มาตามน้ำ มาลงแม่น้ำ เดือนสิบสองจับปลากันไม่หวาดไม่ไหว ปลาเต็มแม่น้ำ อย่าง ปลาสร้อยมากันเป็นฝูงๆเลย ยังมีปลาเค้า ปลาตะเพียน แล้วอีกหลายอย่าง เยอะจริงๆ

ตั้งแต่เขากั้นน้ำเข้านาไม่ได้ ปลาก็เข้าไปวางไข่ในนาไม่ได้ แม่น้ำเราก็เลยมีแต่ปลาท้องที่ พวกปลาสวาย ปลาตะโกก

ตกปลาสวาย ต้องตกบ่ายๆ ปลาตะโกกต้องตกค่ำๆหน่อย ตกปลาแต่ละชนิดก็มีเวลาเหมือนกันนะ (หัวเราะ)...”

เห็นลุงน้อมเป็นผู้เชี่ยวชาญปลาท้องน้ำนี้ ผู้เขียนเลยถามว่า หมู่นี้ที่น้ำค่อยๆลงจะเห็นปลาโผลงขึ้นมาดังพอน้องหมาสะดุ้ง บ่อยมาก มักเป็นปลาอะไร ลุงน้อมบอกว่า "ส่วนใหญ่ก็ ปลาสวาย... เมื่อวานก็มี ปลาจะละเม็ด มาติดแห นานๆจะเจอสักที" เพิ่งจะทราบว่ามีปลาจะละเม็ดน้ำจืดด้วย

แล้วยังมีเหมือนตัวอะไรเล็กๆดีดตัวทำผิวน้ำเป็นวงเล็กๆ เหมือนเม็ดฝนตกต้องผิวน้ำ คิดว่าเป็นพวกกุ้งฝอย ลุงน้อมบอกว่า “ไม่ใช่หรอก นั่นมันพวก ปลาขี้แตก  เกิดมาเพิ่งเคยได้ยิน พี่น้อยบอกว่าเหมือนลูกปลาซิวค่ะ

แมลงปอ

คนตัวเล็กๆแต่ผ่านกาลเวลามาจนแกร่ง อย่างลุงน้อม ยังคงเป็นคลังปัญญาให้คนรุ่นหลังได้ สืบสาว... เชื่อมต่ออดีตที่ชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ ร่องรอยยังแจ่มชัด กับ ปัจจุบัน ที่โลกก้าวหน้า แต่ทว่าอนาคตดูจะเลื่อนลอยในการหาความสุขสงบ มั่นคงให้แก่ชีวิต

ขอร่วมส่งกำลังใจให้แก่ผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมใหญ่ทั้งแผ่นดินทุกท่านนะคะ

 

หมายเลขบันทึก: 466078เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2011 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)

มาเยี่ยมอ่านวิถีพอเพียงของชาวน้ำค่ะ..ภาพงดงาม และอยากขอยืมเรือของลุงน้อมมาไว้ที่บ้านยามนี้จัง..

..บ้านพี่ใหญ่น้ำยังไม่มาเยือน..แต่ถูกจัดอันดับอยู่ในเขตเสี่ยงภัยน้ำท่วมค่ะ..

ภาพชาว SCB ร่วมกับกองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปแจกถุงยังชีพที่ ศูนย์อพยพของ อ.ท่ารุ้ง และ อ.บ้านหมี่ ในจ.ลพบุรี

สวัสดีค่ะ

แวะมาเยี่ยม ด้วยห่วงใยน่ะค่ะ

ขอบคุณเรื่องเล่าดี ทุกๆบันทึกค่ะ ^__^

เก็บหญ้าผมยุ่งมาฝาก...

  • ดีใจด้วยครับน้ำลดแล้ว
  • แต่ชอบวิถีชีวิตและภูมิปัญญาลุงน้อมจังเลย
  • ชอบมากๆๆ

ลุงน้อม พยานที่ยังมีลมหายใจ

ขอบคุณมากครับพี่นุช ;)...

ดูเหมือนว่าลุงจะชิวๆ กับสายน้ำเหลือเกินนะครับ

HDD-MAKERS WILL TAKE A HIT

ขอบคุณคะ ภูมิปัญญาอันเกิดจากวิถีชีวิตอยู่กับสายน้ำ..

...

หวังว่าสักวัน จะเป็นผู้ฟังและสังเคราะห์ได้ดีแบบอาจารย์คะ

...

เริ่มตระหนักได้มากขึ้นก็ตอนมาใช้ชีวิตที่ คิดช้า ทำช้า ได้ เลยได้มองเห็นชัดขึ้น

ลุงน้อมอยู่สบายๆกับสายน้ำ

ในขณะที่คนกรุง...เดือดร้อนแสนสาหัส

ชาวSCBทำงานแข็งขันมานะคะพี่ใหญ่นาง นงนาท สนธิสุวรรณ ยามนี้ก็ได้ผู้มีจิตใจงามและเสียสละตระเวณเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกหนแห่ง นุชได้เห็นความพยายามช่วยเหลือทุกรูปแบบทั้งช่วยคนช่วยสัตว์คิดว่าน้ำท่วมครั้งใหญ่นี้ก็มีอะไรดีๆเกิดขึ้นมากมาย ช่วยๆกันให้มีชีวิตรอดผ่านพ้นวิกฤตไปได้ แล้วลุกขึ้นฟื้นชีวิต ฟื้นสังคมกันใหม่ น้ำท่วมนี้อาจได้ช่วยล้างตะกอน พิษหมักหมมทั้งในผืนดินและในใจผู้คน ให้เราได้มองอะไรชัดขึ้นนะคะ เชื่อมั่นว่าคนไทยทำได้แน่นอน นึกถึงเมืองฮิโรชิมาที่ถูกระเบิดปรมาณูพินาศขนาดนั้นยังฟื้นคืนได้อย่างดีเสียด้วย ของเรายังไม่ได้ร้ายแรงขนาดนั้น

เอาใจช่วยพี่ใหญ่ค่ะ ขอให้ไม่ลำบาก เสียหาย นี่หากถนนหนทางไม่สัญจรลำบาก จะส่งเรือไปให้พี่ใหญ่สักลำค่ะ

ขอบคุณค่ะน้องหนูรี ภาพดอกหญ้าผมยุ่งสวยหวานเชียว

มาส่งกำลังใจห่วงใยกันเสมออย่างนี้ รู้สึกอบอุ่นดีมากเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะอาจารย์ขจิต ฝอยทอง ชีวิตผู้คนที่ยังมีปัญญาจากการเรียนรู้แผ่นดินของตนอย่างลึกซึ้งยังมีอยู่ทั่วเมืองไทย น่าเสียดายที่อย่างมากเราก็แค่ได้นำเรื่องราวมาบอกมาเล่า แต่ไม่สามารถนำความรู้มาใช้ต่อ มาสร้างเพิ่มเติมจากฐานเดิม รากเดิมนะคะ เพราะระบบการบริหารบ้านเมืองและกระแสความทันสมัยมันดูเย้ายวนกว่ามาก ง่าย และเร็ว ถูกใจกิเลสมนุษย์เราดีค่ะ

นั่นซีคะอาจารย์Wasawat Deemarn เป็นพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์จริงๆ แต่เขาไม่เห็นว่าต้องเรียกขึ้นให้ปากคำนะคะ ^____^ ลุงน้อมแกยังมีชีวิตแบบชาวบ้านส่วนใหญ่ ทุกข์บ้าง สุขบ้าง ตามอัตภาพ ยังดีที่พอพึ่งพิงธรรมชาติให้หล่อเลี้ยงชีวิตไปได้

ค่ะอาจารย์โสภณ เปียสนิท หากให้ลุงน้อมดูภาพที่อาจารย์ส่งมาแล้วบอกว่าเป็นโรงงานแถวนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ แกคงยิ้มและบอกว่า "ก็นั่นมันที่นา มันเป็นที่ที่น้ำต้องไป"

หลายคนกลัวโรงงานต่างชาติย้ายฐานการผลิต นุชว่าคนที่กลัว ก็กลัวแค่สิ่งตื้นๆที่ตามองเห็นและชีวิตเคยชิน ที่น่ากลัวกว่าคือ เมื่อรู้แล้วว่าตั้งอยู่ในพื้นที่เดิมซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ หากอยากให้เขาอยู่ก็ต้องลงทุนป้องกันมหาศาลป้องกัน จะป้องกันได้หรือเปล่าก็ไม่ทราบชัด เพราะปีนี้เป็นปีแรกที่เราเจอกับพลังมหาศาลของน้ำและตระหนกกันไปหมด ศึกษาให้ดียังจะเห็นพิษจากเรื่องการบำบัดของเสียซึ่งโรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้ดูแลดีเพราะทางการไม่สนใจควบคุมนัก เป็นสภาพที่โรงงานชอบมากๆ จ่ายภาษี มีการจ้างงาน ดูดี สังคมร่ำรวย แต่สิ่งหมักหมมไม่มีใครนึกถึง

หากได้พื้นที่นาคืนมา ทำเกษตรอินทรีย์ ทำอย่างมีหลักการ ผลิตอาหารปลอดภัย ชั้นดี รสชาติเยี่ยม ให้คนไทยได้บริโภคของดีทั่วถึง และป้อนโลกที่กำลังหิวโหย มาทำในสิ่งที่เราสร้างงานทำนองนี้ได้ อาจจะเป็นทางออกที่ดีเหมือนกันนะคะ

ขอบคุณค่ะคุณหมอป. การจะเข้าใจอะไรได้ลึกๆ ไม่มีวิธีใดดีเท่ากับการมีชีวิตอยู่กับสิ่งนั้นค่ะ ประสบการณ์ชีวิตที่ได้พบ ได้เห็น ได้สัมผัสจะสอนเราเอง แต่เราก็ต้องฝึกตนให้ภายในของเราที่มีการรับรู้ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ ที่เชื่อมต่อกับโลกภายนอกนั้นมีความละเอียดในการรับรู้นะคะ ซึ่งต้องใช้ความช้าเป็นส่วนประกอบ สมัยก่อนที่ยังทำงาน โลดแล่น เรื่องพวกนี้แทบจะหยาบมากค่ะเพราะเราจะถูกภาระกิจผลักให้แก้ปัญหา ให้ต่อสู้ แข่งกันแบบลืมตัว ต้องเร็วเข้าว่า ชีวิตตอนนี้จึงรู้สึกว่าโชคดีมากที่ได้ผ่านเรื่องแบบนั้นมาอย่างเข้าใจ อย่างได้เรียนรู้ เพื่อขัดเกลาตัวเองจนมีวันนี้ค่ะ

จริงค่ะคุณครู ป.1 ลุงน้อมทำได้ เพราะลุงน้อมเข้าใจธรรมชาติของสายน้ำ น้ำมาก็ไม่ผลักไสไล่ส่ง คนกรุงเทพอาจลืมหรือไม่รู้จักธรรมชาติกันแล้ว เลยกลัวไปหมด ก็น่าเห็นใจนะคะ พูดแล้วก็ทำให้ต้องกล่าวถึงระบบการศึกษาของเมืองไทยนะคะ ที่เรามีหลักสูตรเรียนรู้ทั่วโลก และไม่เรียนรู้เรื่องแผ่นดินของตนเองให้เข้าใจภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น ได้แต่ท่องจำชื่อเมือง ปีพ.ศ. แต่ไม่เข้าใจเนื้อหาว่ามีความหมายอย่างไร ต้องบอกว่า เมื่อไม่รู้ที่ที่ตัวเองมา ก็ไม่รู้ที่ที่จะไป เหมือนกัน หลงทางกันไปหมด

หวังว่าคนไทยทุกคนจะสามารถนำบทเรียนครั้งนี้มาปรับชีวิตกันใหม่ค่ะ

สวัสดีค่ะ พี่นุช

ชีวิตลุงน้อม...สันโดดและสงบดีนะคะ

หางเสือเรือน่าอัศจรรย์ใจจัง

...น่าจดลิขสิทธิ์.....น่าสนใจที่สุดจริงๆค่ะ

ยินดีด้วยค่ะ ที่ได้เห็นภาพว่าอยุธยา..น้ำเริ่มลด ชาวประชาจะได้คลายความทุกข์ลงบ้าง.....

บ้านของพี่นุช...ช่างยอดเยี่ยม แข็งแรงดีปลอดภัย กลมกลืนเหมาะสมกับธรรมชาติที่สุดเลยค่ะ

เป็นการเตรียมการที่ดีเป็นต้นแบบให้ด้วยค่ะ

ต้องกราบขอบพระคุณพี่หลายๆครั้งที่ให้ความรู้ในทุกเรื่องราวในทุกบันทึกตลอดมา ^__^

วันนี้กทม...น้ำมาสูงขึ้นและแผ่กว้าง......แต่ดีที่น้ำไม่ไหลหลากแรงเท่าภาพที่เคยเห็นในโทรทัศน์

แถวบ้านอยู่ริมคลอง ไม่ได้สะสมของแห้ง....เพราะมีชาวบ้านที่หาปลาแบบลุงน้อม

ดึกๆกลางคืนก็เคยสะดุ้งตื่นเพราะชาวบ้านจะมาส่องไฟหาปลาหากุ้ง...พอนานวันก็ชินแล้วค่ะ

หากมีน้ำมาก ชาวบ้านก็จับปลาจับกุ้งมาขาย ก็ซื้อหาทำอาหารทานตามนั้น

เตรียมเตาถ่านทำอาหารไว้พร้อมค่ะ

สองสามคืนที่ผ่านมา....เสียงพลุดัง ติดๆกัน

หากดังกลางคืนก็สร้างความพะวงแกมวังเวง เพราะไม่ทราบเสียงมาจากไหน

ตะกี้ มีเสียงกลางวันอีกครั้ง

กำลังใจของตนเองเป็นที่พึ่งที่ดีที่สุดค่ะ

ขณะนี้วันนี้น้ำในคลองหน้าบ้านยังปกติดี

ได้จัดบ้านรอรับน้ำครั้งนี้......เจอสิ่งดีดีที่สะสมแต่หลงลืมตั้งแยะค่ะ

คิดถึงนะคะ

^^

สวัสดีค่ะคุณนุช..หลังน้ำท่วม..เราน่าจะจัดนัดพบคนรุ่นห้าสิบถึงเก้าสิบหรือเลยนั้นมา สนทนาหาข้อมูล..ความเป็นอยู่ที่ถูกลืมไปแล้ว..มาเป็น..ข้อคิด..หา..ความพอดี..กับ..การอยู่ใน..หรือ กับ..สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ..ของคน..รุ่นนี้กันดีไหม...เจ้าคะ..เพราะน้ำจะมาในรูปแบบนี้..ทุกปีและจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ(เท่าที่เห็นการรายงานข่าวความเป็นไปและการเปลี่ยนแปลงสภาวะ..ของโลก)..ยายธี

ดีใจด้วยนะคะ...บ้านอาจารย์น้ำเริ่มลดแล้ว

ไปสงสารคนอาศัยที่กรุงเทพแทน

อาจารย์ช่างสร้างโอกาสการเรียนรู้

และเผื่อแผ่มาถึงพวกเรา

ขอบคุณบันทึกชีวิตนี้นะคะ

มารายงานตัวยามน้ำลดแล้วค่ะคุณแจ๋ว 

เอาใจช่วยคนกรุงเทพโดยทั่วไป ดีใจที่คุณแจ๋วทำใจและปรับชีวิตให้อยู่บ้านยามน้ำมาเยือนได้ คนอยู่กรุงเทพที่ทำเช่นนี้ได้นับว่าต้องโชคดีมากและมีทุนชีวิตสูงทีเดียวค่ะ เพราะปกติการอยู่กรุงเทพจะจำกัดด้วยเนื้อที่และอยู่ติดๆกัน น้ำท่วมแล้วจะอยู่ได้ลำบากเพราะน้ำเน่า ท่วมขัง

ขอให้อยู่อย่างมีความสุขและเขียนเล่าสู่กันเป็นประสบการณ์ด้วยนะคะ

พี่เตรียมจัดระบบของ แยกสิ่งที่เกินจำเป็นจะแจกให้ตัวเบาเลยค่ะ ได้บทเรียนครั้งนี้ว่า คนที่เสียหายน้อย คือคนที่รุงรังน้อยนะคะ

คาดว่าคณยายธี น่าจะมาถึงเมืองไทยแล้วนะคะ

เรื่อวงเสวนา หากคุณยายธีอยู่หลายเดือน จะขอเชิญมาร่วมวงค่ะ คนข้างกายบอกว่าเมื่อน้ำไปหมด เคลียร์พื้นที่ได้จะจัดเสวนาที่ในตัวเมืองที่ออฟฟิศเขานั่นแหละค่ะ จะมีทั้งเสวนาได้ข้อคิด ปัญญา ทานอาหารบ้านๆและบันเทิงบ้านๆอะไรประมาณนี้ เมื่อมีรายละเอียดจะบอกให้ทุกท่านทราบและเชิญผู้สนใจทุกท่านเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะคุณหมอทพญ.ธิรัมภา เรื่องการมีชีวิตอยู่อย่างมีราก อย่างรู้จักตนเองและแผ่นดินที่ใช้ชีวิตนี้ เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยๆกันชี้ให้คนยุคนี้ได้มองเห็นและหาวิธีการเรียนรู้เพื่อออกแบบชีวิตให้อยู่กับธรรมชาติได้แบบทุกข์น้อยค่ะ

สงสารคนกรุงเทพจริงๆที่เขาไม่มีชุดความรู้ในการมีชีวิตยามประสบภัยธรรมชาตินะคะ เลยดูแตกตื่น โกลาหล พึ่งตนเองไม่ได้ ซึ่งผิดวิสัยคนไทยดั้งเดิมมากเลยค่ะ

เจริญพรโยมยุวนุช

เมื่อสองวันที่แล้ว ได้พูดคุยกับพระในวัดรูปหนึ่งท่านอายุสี่สิบกว่าๆเป็นคนวังทองเพิ่งบวชได้หนึ่งพรรษา ได้ถามท่านว่าเมื่อก่อนนี้คนบ้านท่าน(วังทอง)ชาวบ้านเขามีวิธีเก็บข้าวปลาอาหารสิ่งของจำเป็นไว้บริโภคตลอดปีในรูปแบบใดบ้าง

หลายอย่างก็เหมือนกับที่หนองบัวบ้านอาตมา อาทิ สัตว์เลี้ยงวัว-ควาย ในหน้าน้ำไม่มีที่เลี้ยง ก็เก็บฟางไว้ในที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง(ลอมฟาง)

เก็บน้ำฝนใส่โอ่งมังกรไว้กิน(มีโอ่งหลายใบ)ในกรณีน้ำท่วม ก็สามารถใช้น้ำดื่มจากโอ่งมังกรสามสี่ใบนี่ ก็อยู่ได้เป็นเดือนๆ ปลาที่หามาได้ก็ทำปลาร้างบ้าง ปลาเกลือบ้าง ปลาย่างบ้าง แค่ปลาอย่างเดียวเท่านั้นก็สามารถแปรรูปเก็บไว้เป็นอาหารสำรองได้ตลอดปีแล้ว

ที่บ้านท่านจะสีข้าวมาเก็บไว้ไม่มากนัก ข้าวที่สีแล้ว(ข้าวสาร)นิยมใส่โอ่งมังกรลูกสองลูก ถ้าเก็บข้าวสารมากกว่านั้นท่านบอกว่ากลัวข้าวสารเป็นมอด

วิธีเก็บข้าวสาร ดูแตกต่างจากหนองบัว โดยคนหนองบัวนิยมสีข้าวด้วยจำนวนเยอะๆ คือนำข้าวไปสีครั้งเดียวให้พอกินตลอดปีเลย บ้านไหนมีลูกหลายคนครอบครัวใหญ่ ต้องสีข้าวเป็นเกวียนๆเลยแหละ

ฉะนั้นแต่ละบ้านจะมีข้าวสารเก็บไว้เรียกว่าเต็มบ้าน กระสอบป่านหนึ่งลูกบรรจุข้าวสาร๑๐๐ กิโลกรัม ข้าวสาร ๑๐ ลูกก็พันกิโลกรัม(ถ้าจำไม่ผิด ข้าวเปลือกหนึ่งเกวียน-๑ ตัน เมื่อสีเป็นข้าวสารแล้ว จะได้ข้าวสาร ๖ กระสอบ)

ด้วยน้ำหนักมากขนาดนี้ การวางกระสอบข้าวสารลูกละร้อยกิโลกรัม ต้องวางไว้ข้างเสาและรอดบ้านเท่านั้น โดยเรียงซ้อนกันสองสามลูกต่อหนึ่งจุดนี่ เล่นเอารอดบ้านอ่อน ในกรณีเก็บข้าวสารไว้กินเป็นปีอย่างนี้ ก็มีบ้างที่ข้าวสารกระสอบลูกท้ายๆจะมีมอดบ้าง

ฟืนไฟสำหรับหุงต้มละ(ถ่าน) ก็ตระเตรียมไว้แต่หน้าแล้งแล้ว คือไปหาไม้มาเผาถ่านครั้งเดียว ก็เก็บไว้ใช้ได้ตลอดปีเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าทั้งคนบ้านดอนน้ำไม่ท่วม และคนบ้านทุ่งที่น้ำท่วมทุกปี จะมีวิธีการเก็บอาหารถนอมหารสำรองไว้กินตลอดปีคล้ายกันเลย

ที่ชาวบ้านเคยทำมาอย่างนี้ ถามว่าถ้าน้ำท่วมขึ้นมา จะเป็นอย่างไร เขาก็สามารถพึ่งตนเองได้อย่างน้อยเป็นเดือนๆโดยไม่ต้องพึ่งของบริจาคเลย

น้ำท่วมปีนี้ถือว่ามากจริงๆ แต่หลายจังหวัดก็รับรู้ข่าวสารล่วงหน้าเป็นอาทิตย์หรือหลายอาทิตย์ด้วยซ้ำ ว่ามีโอกาสถูกน้ำท่วม

ที่คุยกับท่านแล้วเกิดความสงสัยว่า เมื่อชาวบ้ามรู้ล่วงหน้าตั้งหลายวันอย่างนี้ ทำไม่เมื่อน้ำมาถึงบ้านวันแรกๆ เจ้าบ้านก็ขาดแคลนสิ่งของจำเป็นทุกย่างแล้วมี ข้าว น้ำ เป็นต้น

พระท่านคุยให้ฟังว่าเครื่องไม้เครื่องมือเครื่องใช้เครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆของคนสมัยนี้ก็พร้อมมาก เช่น เตาแก็ส อาหารสำเร็จรูปต่างๆ ภาชนะใส่น้ำดื่มขนาดร้อยสองร้อยลิตรก็หาได้ไม่ยาก เหล่านี้ ถ้าเตรียมไว้บ้างก็จะไม่ขาดแคลนภายในยี่สิบสี่โมงเหมือนที่เห็นๆ(ในกรณีบ้านชั้นเดียวก็จนปัญญา แต่บ้านสองชั้น บ้านใต้ถุนสูง ที่น้ำท่วมไม่ถึง) ก็ดูเหมือนไม่มีใครเตรียมตัวกันเลยแปลกใจจัง(หรือไม่มีใครบอก)

อย่างบ้านโยมนุช คงเตรียมตัวล่วงหน้าไว้พรักพร้อม เลยไม่มีปัญหาอะไรเลย คนอื่นที่มีบ้านสองชั้นเหมือนบ้านโยมนุช ก็ลำบากกว่าโยมนุชมาก หรือถึงขั้นพึ่งตนเองไม่ได้เลยทีเดียว

นี่คือบทเสวนาแบบชาวบ้านๆกับพระคุณเจ้าซึ่งท่านก็ห่างเหินจากการอ่านหนังสือมานานตั้งแต่จบป.๔โน่นแนะ ก็คล้ายชาวบ้านทั่วไปที่แม้นจะไม่ถนัดในการอ่าน แต่มีความสามารถในการบอกเรื่องราวต่างๆได้ค่อนข้างดี

                           Large_page147
มีรูปการเก็บน้ำดื่มที่กุฏิท่านมาให้ดูด้วย พระคุณเจ้าบอกว่าท่านได้ใช้วิชาคนเก่าคือนำน้ำประปามาใส่โอ่งมังกร แล้วแกว่งสารส้มหลังจากนั้นประมาณหนึ่งเดือนค่อยนำมากิน

 

 

 

 

 

 

พี่นุชเจ้า ^^

อ่านเรื่องเล่าวันนี้แล้วรู้สึกเหมือนได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยเลย พี่นุชก็ซักถามลุงน้อม ส่วนต้อมก็นั่งฟังแถวๆ นั้น ^^ ต้อมชอบฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่องค่ะ ตอนยังเด็กก็ชอบฟังยายเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ มีความสุข

คนที่เข้าใจธรรมชาติ จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ดีกว่าคนที่ไม่รู้อะไรเลย.......

สวัสดีค่ะดร.ยุวนุช ตามคนข้างบนมาค่ะ ดีใจด้วยที่ตอนนี้น้ำลดลงมากแล้วนะคะ ทราบว่ากำลังฟื้นฟูกันอยู่

อ่านเรื่องพี่เขียนทีไรรู้สึกชิลตามไปด้วยทุกที กลายเป็นไม่เครียดกับน้ำ

สวัสดีค่ะ

ลุงน้อมแกเป็นตัวแทนของคนโบาราณ

ที่ใช้ชีวิตปกติในฤดูหน้าน้ำหลาก

ที่มีทุกปี

แต่ปัจจุบันเรากั้นน้ำไม่ให้หลากลงที่ปกติ

เขาจึงหลากไหลไปที่ผิดปกติ

ทำให้เดือดร้อนกันไปทั่วหน้า

...แล้วจะต้องเป็นเช่นนี้อีกต่อไป....

คุณนุชสบายดีนะคะ

นมัสการท่านพระมหาแล อาสโย ขำสุข ขอบพระคุณที่ท่านให้ความรู้นี้ค่ะ

หลักๆเลยในชีวิตคนต่างจังหวัดยามน้ำท่วมจากประสบการณ์ของโยมเองที่บ้าน การเตรียมตัว หลักๆ ต้องนึกถึง

  • การจัดการความปลอดภัยเรื่องไฟฟ้าในบ้านชั้นล่าง น้ำท่วมครั้งนี้คนตายจากไฟดูดมากมาย เป็นความสูญเสียที่ไม่น่าเกิดเลยนะคะ
  • การสำรองน้ำ ต้องมีโอ่งน้ำ ตุ่มน้ำไว้ใช้ ระบบน้ำกิน น้ำใช้ ห้องน้ำ ห้องส้วม
  • การสำรองข้าวสารอาหารแห้ง อุปกรณ์หุงต้ม หากไม่มีไฟฟ้า
  • การสำรองอุปกรณ์แสงสว่าง เทียน ตะเกียง ไฟฉาย
  • การมีพาหนะ คือเรือให้รู้สึกว่าชีวิตสามารถเดินทางติดต่อกับผู้อื่นได้ ไม่ถูกตัดขาด

โยมกำลังจะเขียนบันทึกใหม่จากประสบการณ์ที่คนกรุงเก่าเล่า สอนไว้เร็วๆนี้ค่ะ

ขอบคุณคุณต้อมเนปาลีที่มาแวะเยี่ยม มานั่งฟังเรื่องเล่าชีวิตลุงน้อมกัน

ค่ะอาจารย์จ๊ะเอื้องแซะคนงาม บ้างก็ยังผจญน้ำท่วมกันอยู่หลายพื้นที่ บ้างกก็กำลังฟื้นฟู ขยะเต็มเมืองเลยค่ะ

ขอบคุณที่มาแวะให้อุ่นใจ เป็นกำลังใจให้กันค่ะ

แหม ช่วยแบ่งเบาความรู้สึกให้ไม่เครียดด้วยการเขียนเล่าอย่างนี้ ถูกใจน้องซูซานLittle Jazz ทำให้พี่รู้สึกว่าได้ทำประโยชน์ค่ะ ชิลล์ ชิลล์ เสมอ ^____^

ขอบคุณค่ะอาจารย์ลำดวน หมู่นี้มาเขียนแล้วตอบล่าช้าประจำ ขอโทษด้วยค่ะ

เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะว่าหากเราเอาแต่กั้นๆๆๆน้ำแบบที่ทำอยู่นี้ น้ำมาครั้งใดก็จะใช้แต่วิธีนี้ละก็ ไม่มีใครช่วยได้ ต้องเดือดร้อนสาหัสต่อไปเพราะไม่เข้าใจธรรมชาติของน้ำนะคะ

 
 

เจริญพรคุณโยมยุวนุช

ได้อ่านเรื่องการเตรียมตัวรับมือกับหน้าน้ำหลาก น้ำท่วมแล้ว ทำให้นึกถึงปรัชญาของชาวมอแกน(ชาวเล)ภาคใต้ของไทยเราเลย

ในคราวภัยพิบัติครั้งใหญ่คือซือนามิถล่มจังหวัดชายทะเลของไทยปี๒๕๔๖
ความรู้ประสบการณ์ที่เรียนรู้สั่งสมถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่น ทำให้ชาวมอแกนรอดชีวิตทั้งหมดอีกทั้งช่วยให้คนไทยจากเมืองหลวงรอดชีวิตมาได้อีกหลายคน 

วิชาที่ทำให้ชาวมอแกนรอด คือความรู้ที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายถ่ายทอดให้ลูกหลานจำเป็นบทเรียนเรื่องน้ำทะเลว่า ถ้าน้ำในทะเลยุบตัวแห้งลงไปอย่างรวดเร็ว ให้รีบหาทางหนีขึ้นไปสู่ที่สูงอย่างรีบด่วนเท่าที่จะได้

น่าคิดว่าชั่วชีวิตของลูกหลานชาวมอแกนอาจจะมีรุ่นใดรุ่นหนึ่งอาจจะไม่มีโอกาสได้พบเห็นซึนามิเลย เพียงแต่จำคำสอนคนเก่าๆไว้ว่า เมื่อเจอเหตุการณ์อย่างที่ถูกสอนไว้ให้ทำตามคำสอน และแล้ววิชาความรู้อันเป็นภูมิปัญญาเก่านี้ก็สามารถเอาตัวรอดได้ด้วย

นมัสการพระคุณเจ้าพระมหาแล อาสโย ขำสุข คนที่ได้ใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ อยู่อย่างเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเช่นชาวมอแกนมักให้ความสำคัญกับการเคารพคำสอนของบรรพบุรุษจึงอยู่ได้อย่างปลอดภัยดังท่านเล่า คนสมัยนี้ไม่รู้สึกว่าจะต้องไปจดจำเรื่องราวตั้งแต่ยุคก่อนๆเพราะความทันสมัยมีเทคโนโลยีมากมาย น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้โยมหวังว่าคงทำให้หลายคนได้คิดว่าจะดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างไร

ขอบพระคุณท่านที่นำเรื่องราวและข้อคิดดีๆมาให้ได้เรียนรู้เสมอค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท