บทบาทวิธีสื่อสารอวจนภาษา (Non-Verbal Communication) ในวิถีชีวิตชุมชน


 

การพัฒนาวิธีสื่อสารและกระบวนการสื่อสารเรียนรู้นั้น นอกจากจะมีความสำคัญต่อการสื่อความรู้สึกนึกคิด และมีบทบาทต่อการกำหนดจังหวะการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของชุมชนยและสังคม ด้วยพลังของสื่อและพลังของข้อมูลข่าวสารต่างๆแล้ว ในชีวิตประจำวันและในวิถีชุมชนของภาคประชาสังคม ก็มีบทบาทต่อการเป็นระบบและโครงสร้างในการสร้างปฏิสัมพันธ์ เพื่อจัดการชีวิตการเป็นอยู่ร่วมกันของประชาชน ทั้งในระดับครัวเรือนและในระดับส่วนรวมของชุมชนอีกด้วย

พื้นฐานดังกล่าวนี้ นับว่ามีความผสมกลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิต ที่สามารถศึกษาและวิเคราะห์ให้เห็นพื้นฐาน สำหรับการเชื่อมโยงภูมิปัญญาของสังคมที่มีอยู่ในการดำเนินชีวิตของชาวบ้านอย่างแยบคายและลึกซึ้ง เข้ากับวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้มีความส่งเสริมเกื้อหนุนกันได้เป็นอย่างดี

กำนันยุพา เขียวคำรพ กำนันตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ได้เล่าเรื่องราวต่างๆเพื่อเป็นการเรียนรู้ชุมชนให้ผมฟังอยู่หลายครั้ง ซึ่งมีอยู่เรื่องหนึ่งเป็นเรื่องการสื่อสารเพื่อบริหารจัดการวิถีการผลิตกับการจัดชีวิตความเป็นอยู่ของครัวเรือนในช่วงที่ต้องดูแลลูก และมีลักษณะที่เป็นอวจนภาษาหรือการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่ผ่านการใช้ถ้อยคำและข้อความภาษาคำพูด ที่คิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมในชีวิตและมีความเมหาสมกับชาวบ้านเป็นอย่างดี

ในหน้าน้ำหลาก ชาวบ้านศาลายาจำเป็นต้องทำนาให้ทันกับระบบทรัพยากรที่มีตามธรรมชาติ แต่การทำนาต้องไปอยู่กลางทุ่ง ไกลจากบ้านเรือน และอยู่ท่ามกลางสภาพน้ำหลาก ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อเด็ก คนพิการ และผู้สูงอายุ ดังนั้น ก็จะจัดให้กลุ่มคนที่เปราะบางต่อสภาพน้ำท่วมอยู่ในบ้าน ห้ามลงพื้นและห้ามเดินออกไปหาแม่ที่กำลังทำนากลางทุ่ง

แต่เด็กๆจำเป็นต้องได้รับการดูแล ต้องกินข้าว กินนม หรืออาจร้องไห้โยเย ซึ่งคนเฒ่าคนแก่และเด็กโตกว่าที่อยู่ดูแลบนบ้านอาจทำให้ไม่ได้ แต่ก็อยู่ไกลกระทั่งแม่และผู้ใหญ่ที่กำลังอยู่กลางทุ่งนาไม่สามารถจะได้ยินเสียงร้อง และสื่อสารกันด้วยวิธีปรกติไม่ได้

เพื่อแก้ปัญหาตามความจำเป็นดังกล่าว กำนันและคนศาลายา จะตั้งเสาไม้ไผ่บนบ้านให้เห็นได้ง่าย แล้วผูกผ้ากับเชือกติดปลายไม้ สามารถชักขึ้นลงเหมือนธงได้  จากนั้นก็สอนลูกให้ชักธง เพื่อชักธงส่งสัญญาณ ให้แม่รีบวางมือจากงานนาและเดินกลับเข้าบ้านเมื่อเกิดความจำเป็นต่างๆนอกเวลาที่แม่จะต้องกลับเข้าไปกินข้าวและให้นมลูกเป็นเวลาอยู่แล้ว คือ....

  • น้องร้องไห้โยเย เอาไม่อยู่แล้ว
  • เกิดอุบัติเหตุต่อเด็ก เช่น เด็กตกน้ำ โดนของมีคม ตกบ้าน
  • ปู่ย่าตายายขอความช่วยเหลือแล้วทำให้ด้วยตนเองไม่ได้
  • เกิดเหตุผิดปรกติที่เด็กๆกลัวหรือต้องการอยู่กับแม่พ่อ

ชาวบ้านท้องถิ่นแถวศาลายาและนครชัยศรี ได้ใช้วิธีดังกล่าวนี้สื่อสารและดูแลลูกหลานไปด้วยในระหว่างการทำนา ก่อนที่สภาพการทำนาเหมือนกับเป็นชนบทแห่งหนึ่งของตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม จะหายไป และพัฒนาการเป็นชุมชนสมัยใหม่ กลมกลืนจนเกือบจะเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพมหานครดังปัจจุบัน.

หมายเลขบันทึก: 466070เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2011 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ท่านนำแนวคิดวิถีชุมชน...น่าเรียนรู้และต่อยอด...ได้เยี่ยมนัก...

สวัสดีครับคุณอุ้มบุญครับ
ก็อาจจะเป็นวิธีหนึ่งของการบันทึก สิ่งที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
เพื่อรวบรวมสิ่งที่อยู่ในประสบการณ์ของชุมชนเก็บสะสมไว้
พร้อมกับวิเเคราะห์แง่มุมที่ส่งผ่านคลื่นความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ที่อาจเป็นร่องรอยมองย้อนกลับไปบนเส้นทางความเป็นมาของสังคม
ซึ่งเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆเร็วมาก คุณอุ้มบุญสะท้อนความชอบใจให้ทราบนี่
ก็แสดงว่าวิธีแก้ปัญหาที่มีอยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้านนี้ น่าสนใจและมีคุณค่าต่อการศึกษา
ให้ได้ปัญญาเอาไว้ใช้ทำงานได้บ้างนะครับ เรื่องทำนองนี้เครือข่ายแถวป่าติ้วก็เยอะนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท