การจัดการความรู้ด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์


"อยากเห็นคนทำงานมีความสุขในการทำงาน และเชื่อมั่นว่าหลักสูตรนี้จะช่วยพัฒนาจิตคนทำงานในองค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้" เราช่วยกันตั้งชื่อกิจกรรมหนึ่งในหลักสูตรนี้ว่า "Human KM for Happy Workplace"
เนื่องด้วยท่านอาจารย์ ดร. ยุวนุช ทินนะลักษณ์ และผู้เขียนถูกเชิญไปอบรม Human KM by Enneagram ร่วมกันบ่อยครั้ง  และมักมีคำถามเกี่ยวกับหลักสูตรนี้ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะว่าไปแล้ว การจัดอบรมที่ผ่านมา เป็นทั้งรูปแบบไม่เป็นทางการ "จิตอาสา" หรือไม่ก็เป็นการอบรมที่เสริมหลักสูตรหลักขององค์กรที่เขาจัดหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง แล้วเชิญพวกเราไปเสริมทัพ   หรือไม่ก็เป็นหลักสูตรจัดเต็ม แต่ต่างคนต่างเขียนหลักสูตรของตนเองไป  โดยที่ผู้เขียนก็ไม่เคยได้เขียนหลักสูตรในเชิงบูรณาการร่วมกันระหว่างแนวทางการอบรมของผู้เขียนกับท่านอาจารย์ ดร. ยุวนุช เสียที    คราวนี้ ถูกร้องขอจากหน่วยงานเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมอบรมประมาณ 50 คน โดยขอให้ออกแบบกิจกรรมและเขียนหลักการและเหตุผลในเชิงบูรณาการร่วมกัน ผู้เขียนจึงได้ทำตามคำขอ 

 

ทั้งที่ทราบว่าแนวทางการอบรมของท่านอาจารย์ ดร. ยุวนุชกับผู้เขียนเข้ากันได้ดีเป็นปี่เป็นขลุ่ย (ไม่แน่ใจว่าอุปมาอุปไมยนี้ใช้ได้ไหม)  แต่พอเริ่มลงมือเขียน ก็ค่อนข้างเขินเล็กน้อย หน้าตาจะเป็นแบบนี้ค่ะ
                             
                         หลักสูตร Human KM by Enneagram
            (การจัดการความรู้ด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์โดยศาสตร์นพลักษณ์)

 

หลักการเหตุผล 
                                     “เครื่องมืออะไร ก็นำมาใช้พัฒนาคนไม่ได้
                           หากไม่เข้าถึงจิตถึงใจ และเปลี่ยนแปลงจากภายในตนเอง”
 
ในโลกปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดุจกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก ทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อย แต่ก็มีผลสะท้อนกลับฉับพลัน หากเราไม่ให้ความใส่ใจกับทุกชีวิตในองค์กรที่เปรียบเสมือนองคาพยพของร่างกายที่ต้องอาศัยอวัยวะทุกส่วน ในที่สุดแล้ว อาจก่อให้เกิดผลเสียหาย เช่น การสูญเสียบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณค่า ขาดการถ่ายทอดความรู้และจัดการความรู้ภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ  ระบบงานที่ไม่มีมาตรฐาน การบริหารจัดการอย่างไม่มีทิศทาง  เป็นต้น  หรืออาจก่อให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่พึงประสงค์ เช่น   การทำงานเหมือนเครื่องจักรโดยคำนึงถึงเป้าหมายความสำเร็จโดยปราศจากความสุขในการทำงาน  การแข่งขันที่รุนแรงโดยปราศจากการแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  การมุ่งหวังผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่าการอยู่ร่วมอย่างเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นต้น
                 
องค์กรที่จะอยู่ดีมีสุขต้องใส่ใจกับความเปลี่ยนแปลง มีความละเอียดอ่อน เฝ้าดูอย่างระมัดระวัง ปรับตัวให้ทันกับปัญหาที่ยากและซับซ้อนขึ้น องค์กรจึงต้องมุ่งสู่การเป็น องค์กรเรียนรู้ เพื่อใช้ความรู้ของทุกคนในลักษณะ  Collective Learning สู่การมี Collective Wisdom  โดยการเรียนรู้ไม่เพียงมุ่งเน้น ความรู้ ทั้งวิชาการและเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เมื่อองค์กรต้องการพลังของทุกคนในองค์กร ความสามารถในการบริหารจัดการมิติที่ลึกซึ้งของมนุษย์ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างกัน และความมีสติรู้สึกตัว เท่าทันต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน (Here and Now) ก็มีความสำคัญยิ่งยวด สถาบันการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) เรียกการจัดการความรู้ในแนวทางที่เห็นความสำคัญของมนุษย์นี้ว่า Human KM และมองว่าเป็นการจัดการความรู้ที่เป็นองค์รวม ซึ่งจะนำผลสำเร็จที่ยั่งยืนมาสู่องค์กร โดยในการจัดการความรู้ภายในของมนุษย์ สารัตถะคือการรู้แรงจูงใจที่ผลักดันให้มนุษย์มีพฤติกรรมในลักษณะต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจสมาชิกในทีมงานขององค์กร และสร้างความรู้สึกร่วมของการเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งจะต้องมาจากการรับรู้ ยอมรับ และเคารพซึ่งกันและกัน โดย Enneagram (นพลักษณ์) เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตัวตนเพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างแท้จริงถึงรากแห่งที่มาว่าทำไมแต่ละคนจึงมีโลกทัศน์แตกต่างกัน และการมองโลกที่แตกต่างกันนี้ย่อมทำให้เกิดวิธีการทำงานหลากหลายสไตล์ นำไปสู่องค์ความรู้ที่แตกต่างกันโดยสามารถนำมาบูรณาการร่วมกันได้อย่างงดงาม  
 
การปรับตัวขององค์กรเข้ากับการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน สำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงตัวตนของเราให้ได้ ที่เรียกว่า “Self Transformation” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนรูปจากดักแด้ไปเป็นผีเสื้อ คำถาม ต่อไปคือ “เราจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร” คำตอบที่เป็นแก่นแท้จริงคือว่า “รู้ตัวเมื่อไร เปลี่ยนแปลงได้เมื่อนั้น”
คำว่า “รู้ตัว” ในบริบทของการศึกษา Enneagram (นพลักษณ์) มีสองนัยยะหลัก ได้แก่
1. รู้ลักษณ์ ว่าตนเองมีบุคลิกภายใน คืออะไรที่เป็นแรงจูงใจ พลังขับเคลื่อนให้มีวิธีคิด เกิดความรู้สึกและการแสดงออกเช่นนั้น
2. รู้ตัว โดยมีสติระลึกรู้สภาวธรรมตรงตามจริง ตามคำกล่าวของหลวงพ่อปราโมทย์ที่ว่า
         “มีสติรู้กาย รู้ใจที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงด้วยจิตตั้งมั่นและใจที่เป็นกลาง”
การรู้ตัวและการเปลี่ยนแปลงตนเองในระดับการพัฒนาที่สูงขึ้นเป็นสิ่งที่เกิดภายใน ผลที่วัดได้คือความสุขสงบภายใน และส่งผลต่อความเข้าใจในบุคคลอื่นที่มีลักษณ์เดียวกันหรือต่างลักษณ์กัน ทำให้เกิดความเมตตาและสันติสุขในการอยู่ร่วมกัน “การรู้เรา รู้เขา เข้าถึง จึงพัฒนา” ในบริบทของ Enneagram จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ศึกษารู้ว่าตนเองเป็นลักษณ์อะไร อะไรที่เรายึดติดและใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตระหว่างศูนย์ใจ ศูนย์สมอง และศูนย์ท้อง เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจลักษณ์ในศูนย์ของตนเอง และมองเห็นศูนย์และลักษณ์ของคนอื่นที่แตกต่างจากเรา และเกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันในการนำมาพัฒนาตัวเองและทีมงานในองค์กร ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน

 

วัตถุประสงค์ 
1. เพื่อทำความเข้าใจบุคลิกภาพภายในของทีมงานและยอมรับความแตกต่างซึ่งกันและกัน
2. เพื่อเรียนรู้วิธีการสื่อสารตามสไตล์ของแต่ละลักษณ์และปรับตัวเข้าหากันเพื่อการทำงานเป็นทีมอย่างสร้างสรรค์
3. เพื่อค้นพบและดึงศักยภาพของแต่ละคนในทีมงานออกมาสนับสนุนส่งเสริมการจัดการความรู้ในองค์กรให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
 
กลุ่มเป้าหมาย 
หลักสูตรนี้เหมาะสมกับผู้บริหารทุกระดับที่ต้องบริหารงานหรือทำงานเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีความหลากหลายรูปแบบแตกต่างกัน รวมทั้งเหมาะสมกับบุคลากรที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการสร้างทีมหรือทำงานร่วมกันเป็นทีมในโครงการ และในรูปของคณะกรรมการหรือคณะทำงานต่าง ๆ ซึ่งการที่รู้จักตัวตนและคนอื่น รวมถึงการเรียนรู้กระบวนการสื่อสารแบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจะทำให้เกิดการยอมรับความแตกต่างและนำไปสู่การบูรณาการความแตกต่างนั้นได้อย่างสร้างสรรค์
 
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 
1. การค้นพบศักยภาพของตนเองและดึงมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อองค์กร
2. การยอมรับความแตกต่างของผู้อื่นเพื่อเกื้อกูลในการทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขและประสบผลสำเร็จ
3. การเรียนรู้วิธีการสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในการจัดการความรู้ทีมงานอย่างสร้างสรรค์
4. รู้ "สุข" และ "ทุกข์" ของตน และทราบแนวทางแก้ไขที่ต้นเหตุ
5.  เข้าใจความเป็นผู้นำในแต่ละลักษณ์ ซึ่งสามารถหล่อเลี้ยงความสมดุลแห่งชีวิต

แรงบันดาลใจที่อยากประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับหลักสูตรนี้ เพราะคำพูดไม่กี่ประโยคของท่านอาจารย์ ดร. ยุวนุชที่เคยคุยกับผู้เขียนทำนองว่า "อยากเห็นคนทำงานมีความสุขในการทำงาน และเชื่อมั่นว่าหลักสูตรนี้จะช่วยพัฒนาจิตคนทำงานในองค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้"  เราช่วยกันตั้งชื่อกิจกรรมหนึ่งในหลักสูตรนี้ว่า "Human KM for Happy Workplace"

แม้ว่าท่านอาจารย์ ดร. ยุวนุช จะมีความสุข ณ ริมน้ำของท่านโดยไม่ต้องมาจัดอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ก็ตาม แต่ท่านก็พูดให้ผู้เขียนฟังว่าเมื่อไรก็ตามที่ได้มาจัดอบรมลักษณะนี้ จะมีความสุขมากที่เห็นผู้เข้าร่วมอบรมได้ "ตระหนักรู้" ซึ่งไม่เหมือนการอบรมแบบอื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นการขัดเกลาตัวเองไปด้วย  ส่วนผู้เขียนเองก็ได้เว้นว่างจากการทำงานเป็นนักกฎหมาย/นักวิชาการเสียบ้าง แม้จะต้องแบ่งภาคมาจัดอบรมแบบนี้ที่ดูเหมือนจะคนละขั้วโลก แต่ก็ทำให้หัวใจเบิกบานมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น  นั่นเพราะเราสองคนมีอุดมการณ์ที่อยากจะแบ่งปันสิ่งดี ๆ ที่เคยไปทำมาในที่ต่าง ๆ แล้วเห็นผู้เข้าร่วมอบรมมีความสุข เข้าใจตนเองและผู้อื่นมากขึ้น เราทั้งสองก็เลยปรารถนาว่าจะแบ่งช่วงเวลาส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตมาทำสิ่งนี้อย่างมืออาชีพโดยไม่ทำเป็นอาชีพ (หลัก) ค่ะ
                                
                               ด้วยความปรารถนาดีอย่างยิ่ง

สำหรับท่านใดสนใจรายละเอียดกิจกรรมหรืออยากหารือเกี่ยวกับหัวข้อหลักสูตรดังกล่าว  ติดต่อได้ที่ email  [email protected]

 

ขอบพระคุณภาพถ่ายส่วนใหญ่ในบันทึกนี้ จากฝีมือการถ่ายภาพโดยท่านอาจารย์ ดร.      ยุวนุชค่ะ
คำสำคัญ (Tags): #Human KM by Enneagram
หมายเลขบันทึก: 462301เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2011 18:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

ชื่อหลักสูตร และชื่อบันทึกนี้ เพราะมากครับ ท่านอาจารย์นพลักษณ์ ๙ ;)

"การจัดการความรู้ด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์" ...

แอบสนับสนุนจุดยืนและอุดมการณ์นี้ตลอดไปครับ

เพราะ "ความสุขย่อมเกิดจากผู้ให้และแบ่งปันเสมอ" ;)...

  • สวัสดียามค่ำค่ะ ท่านอาจารย์นพลักษณ์ ๑๐ Ico48 
  • หากไม่ได้กำลังใจและแรงบันดาลใจจากพี่นุช รวมถึงกัลยาณมิตรใน G2K (อย่างเช่นท่านอาจารย์นพลักษณ์ ๑๐) เข้าใจว่าจะหลุดจากโลกออนไลน์แห่งนี้ไปนานแล้วนะคะ
  • พี่นุชมองเห็นคุณค่าและความงามของกิจกรรมแบบนี้ และส่งเสริมให้ดำรงอยู่ต่อไป (นักอนุรักษ์ภูมิปัญญาโดยแท้)  แม้ว่าจะเหนื่อยกับการแบ่งภาค แต่แต่ละครั้งที่ได้ไปทำกิจกรรมร่วมกัน ก็ "ปิติ" ค่ะ
  • จะถือข้อความนี้  

เพราะ "ความสุขย่อมเกิดจากผู้ให้และแบ่งปันเสมอ" ;)...

  •   เป็นยาชูกำลังค่ะ
  • ขอบพระคุณค่ะ

Ico48  ลืมเรียนให้ทราบอีกอย่างหนึ่งค่ะ ช่วงนี้กำลังทำงานชิ้นหนึ่งอยู่ หลังวันอาทิตย์ที่ 25 กย นี้จะสะดวกขึ้น แล้วจะใช้ google talk หารือประเด็นที่เคยคุยกันต่ออีกครั้งนะคะ คงประมาณสัปดาห์หน้าค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

กะว่าจะทำงานอื่นก่อนแล้วค่อยเข้าระบบ

Scan ดูหัวข้อบันทึกคร่าว ๆ

ไม่อ่านไม่ได้แล้ว

ชอบมากเลยล่ะค่ะ แนวคิดแบบนี้

เห็นด้วยอย่างยิ่ง

พยายามนำแนวคิดพัฒนาจิตคนทำงานให้มีความสุข ใช้ชีวิตอย่างสมดุล มาใช้ที่โรงพยาบาลบ้างนิดหน่อย

ยังไม่เคยลองเข้าร่วมกิจกรรมค้นหานพลักษณ์ตัวเองอย่างจริงจัง

แค่แว้บ ๆ ตามบูธของงานวิชาการจิตตปัญญาศึกษา ของมหิดล

จะติดตามอ่านต่อไปนะคะ

เพียงสงสัยว่า...อาจารย์อยากกลับมาเยี่ยมเยียน จัดกิจกรรมที่หนองคายบ้างไหมคะ?

ทึ่งและชื่นชม องค์ความรู้และการปฏิบัติในหลากหลายขั้วของคุณsila ครับ

เป็นกำลังใจในการทำงานด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ นะครับคุณsila

  • ได้เห็นหลายอย่างที่บูรณาการไปด้วยกันอย่างมากเลยนะครับ
  • เห็นความเป็นงานพัฒนาคน-ปัจจัยมนุษย์ การพัฒนาองค์กรสร้างสุขภาวะ การพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ การสร้างหน่วยปฏิบัติและเรียนรู้ภายในตนเองอย่างลึกซึ้งของคนทำงานที่จะสามารถให้ความหมายใหม่ในชีวิตการทำงานว่าเป็นการกล่อมเกลาตนเองและปฏิบัติธรรมไปด้วย
  • ทั้งพัฒนายกระดับภายในตนเองเอง ทำความสร้างสรรค์ให้องค์กร และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดีๆให้กับสังคม ได้ปัญญาและแรงคิดไปด้วยเยอะเลยครับ

อยากชวนพี่ทั้งสองที่D'Vine RCA มากๆครับ กับช่วง "เรียนรู้ตัวเอง" พร้อมกับรับประทานอาหารร่วมกัน ตอนนี้ปรับเวลาให้ผู้เข้าร่วมworkshop.ไม่มีเสาร์ อาทิตย์. ยังไงผมจะขอปรึกษาอีกสักครั้งครับ

  • สวัสดีค่ะ คุณ Ico48ทพญ.ธิรัมภา ขอเรียกคุณหมอธิรัมภานะคะ
  • รู้สึกดีใจที่คุณหมอสนใจหลักสูตรในลักษณะนี้และศึกษาเพื่อนำมาใช้ในโรงพยาบาลค่ะ
  • ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรใดก็ตามหากเปิดรับ และลองใช้ดูว่าเข้ากับหน่วยงานเราไหม เพื่อน ๆ เข้าใจ เรียนรู้และใช้ได้ไหม เชื่อว่ามีประโยชน์ทั้งนั้นค่ะ เพราะเชื่อว่าเครื่องมืออะไรก็ดีหมด เสมือนการทดลองใช้อาวุธประเภทต่าง ๆ ดูว่าเหมาะมือใช้คล่องไหม
  • สำหรับเครื่องมือที่แนะนำในบันทึกนี้ เห็นว่าเป็นอาวุธที่หากท่านใดทราบแล้วจะติดตัวไปจนตายไม่มีวันลืมค่ะ โดยเฉพาะท่านที่ "รู้ตัว" อยู่เนือง ๆ ก็จะได้ใช้อาวุธนี้ได้บ่อย ๆ หากสนใจก็ยินดีที่จะแลกเปลี่ยนเรื่อย ๆ ผ่านบันทึกนี้ค่ะ ส่วนว่าจะได้มีโอกาสได้ไปเยี่ยมที่หนองคายไหม ก็ยินดีค่ะ เพราะเคยอยู่ที่นั่นมาปีหนึ่ง ชอบบรรยากาศ และอาหารรสชาติดี ๆ หลายอย่างค่ะ แหนมเนืองหนองคายกับอุดร อร่อยสูสีจริง ๆ ค่ะ
  • ธรรมะคงจัดสรรให้พบกันเองนะคะ
  • ขอบพระคุณที่สนใจและดีใจที่ได้สนทนาค่ะ

บอกเล่าได้งดงามมากค่ะ อย่าให้ชมมากเดี๋ยวหาว่าเชียร์กันเอง^______^

  • ขอบคุณคุณแสงแห่งความดี Ico48 ที่เป็นกำลังใจให้อยู่เสมอค่ะ
  • คนละขั้วนี่แหละตัวดีค่ะ เหมือนประจุไฟฟ้าขั้วบวกกับขั้วลบ มีพลังมหาศาล
  • ขอให้ครอบครัวคุณแสงแห่งความดีมีแต่ความสุขความเจริญค่ะ

ขอบคุณค่ะ เป็นอีกหนึ่งบันทึกดีๆที่ถูกใจมากๆค่ะ

ส่งกำลังใจค่ะ พี่หญิงศิลา(มณี) กะพี่หญิงนุช สุดสวาท :)

  • กราบสวัสดีท่านอาจารย์วิรัตน์ Ico48  ขอบพระคุณมากค่ะสำหรับความเห็นเชิงให้ข้อสังเกต ซึ่งทำให้ได้ทบทวนไปด้วยค่ะ
  • ความเป็นงานพัฒนาคน-ปัจจัยมนุษย์ การพัฒนาองค์กรสร้างสุขภาวะ การพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ การสร้างหน่วยปฏิบัติและเรียนรู้ภายในตนเองอย่างลึกซึ้งของคนทำงานที่จะสามารถให้ความหมายใหม่ในชีวิตการทำงานว่าเป็นการกล่อมเกลาตนเองและปฏิบัติธรรมไปด้วย
  • ทั้งพัฒนายกระดับภายในตนเองเอง ทำความสร้างสรรค์ให้องค์กร และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดีๆให้กับสังคม ได้ปัญญาและแรงคิดไปด้วยเยอะเลย
  • ตอนที่เราลงมือปฏิบัติ (จัดกิจกรรม) เชื่อว่าคงไม่ได้ถึงกับตั้งวัตถุประสงค์และคาดหวังผลในระดับอย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวมานี้ค่ะ แต่อาจเป็นเพราะเราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป feedback และการสัมผัสรู้ที่เราก็ได้ขัดเกลาตัวเองไปพร้อม ๆ กัน จึงเขียนหลักการเหตุผล วัตถุประสงค์และประโยชน์ที่คาดหวังออกมาได้
  • หมายถึงว่าเป็นการเขียนจากผลที่เกิดขึ้น ทำแล้วได้คิดไปแล้วก็มาลองทำใหม่
  • นับว่าเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ๆ ค่ะ
  • แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับพลังกลุ่ม จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมอบรมที่นำมารวมกันเป็นส่วนขับเคลื่อนที่สำคัญมาก ๆ บางคนมีความเป็นผู้นำชัดเจนที่ช่วยหล่อเลี้ยงความสมดุลในกลุ่มให้เดินตาม เรียกได้ว่า ต่อให้ตั้งกรอบโครงการและความคาดหวังอะไรไว้ แต่ถ้าไม่มีคนใส่ใจที่จะน้อมนำลงมือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกัน ก็จะไม่เข้าใจ คำว่า "เข้าถึงจิตถึงใจ และเปลี่ยนแปลงจากภายในตนเอง" ได้เลยค่ะ
  • หากมีโอกาส คงขออนุญาตตามไปเป็นผู้สังเกตการณ์การทำกิจกรรมของท่านอาจารย์บ้างนะคะ จะเป็นพระคุณอย่างสูงเลยค่ะ
  • สวัสดีค่ะ คุณเอก Ico48 ก็เพิ่งเก็บมาคิดอยู่เหมือนกันว่าโดยลักษณะงานแล้ว วันเสาร์อาทิตย์น่าจะเป็นช่วงเวลาสำคัญของการทำงานทีเดียว
  • ถ้าเช่นนั้น ก็อาจจะเป็นช่วงบ่ายแก่ ๆ ของว้นธรรมดาก็ได้ค่ะ จะลองเคลียร์งานดู พอดีว่าช่วงนี้มีภารกิจใหม่เพิ่มเข้ามา แต่ก็พอจะดีขึ้นแล้วหลังเลยงบประมาณ 2554 นี้ไป (สิ้นเดือน กย)
  • ดูเหมือนว่าฐานการผ่านการอบรม/กิจกรรมต่าง ๆ จะวางมาอย่างดีแล้ว อาจจะเว้นช่วงไปหน่อยก็ได้ค่ะ รอให้คิวของคุณเอกไม่แน่นมากด้วย ดีไหมคะ
  • ชมกันเองก็คงไม่เป็นไรแล้ว กระมังคะ พี่นุช Ico48 เป็นการแสดงถึงการให้กำลังใจกันอยู่ตลอดเวลา เชื่อว่ากัลยาณมิตร G2K คงชินกันแล้วล่ะค่ะ และหากเห็นเราเป็นตัวอย่างชมกันไปกันมา ก็จะได้เป็นการสร้างบรรยากาศสังคมออนไลน์ "ชุมชมนิยมชมกันเอง" เก๋ดีค่ะ
  • ตอนนี้เกิดไอเดียใหม่ ๆ จะเริ่มต้นเขียนงานอาจารย์โดยทำเป็นโครงร่างไว้ก่อนค่ะ เผลอ ๆ อาจจะไม่รอให้น้ำลด จะทะยอยไปเก็บบรรยากาศตอนน้ำท่วมนี้แหล่ะค่ะ จะได้เห็นภูมิปัญญาชาวอยุธยาของจริง ดีไหมคะ (หากไม่เป็นการรบกวน)

การรู้ตัวและการเปลี่ยนแปลงตนเองในระดับการพัฒนาที่สูงขึ้นเป็นสิ่งที่เกิดภายใน ผลที่วัดได้คือความสุขสงบภายใน

เป็นอะไรที่ ได้ใจ จริงๆเลยค่ะ คุณ Sila Phu-Chaya :)

ขอบคุณค่ะคุณศิลา อ่านบันทึกนี้แล้วอยากมีโอกาสเข้าร่วมอบรมด้วย เพราะประโยคแรกนี้ มัววิ่งวนอยู่กับเทคโนโลยีอะไรต่อมิอะไรไปนาน สุดท้ายก็ไม่เข้าใจอะไรแท้จริง เพราะมันไม่คุยด้วยกับเรา อีกทีก็เลยคุยกับตัวเอง และคุยกับผู้คน แล้วก็มาพบบันทึกดีๆ ตรงนี้

“เครื่องมืออะไร ก็นำมาใช้พัฒนาคนไม่ได้  หากไม่เข้าถึงจิตถึงใจ และเปลี่ยนแปลงจากภายในตนเอง”

ท่านดาวลูกไก่ มาเฉียบเลย

  • ยกมือ เห็นด้วย
  • "To Many Tools make any difference if you heart still not open 55"
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท