การเขียนเพื่อการจัดการความรู้ (5) : จับประเด็น ผูกเรื่องราว เล่าสู่กันฟัง ประสานพลังเป็นหนึ่งเดียว


การฝึกปฏิบัติการการเขียนในเชิงกลุ่มหรือสังคมนั้น ผมยึดกระบวนการสำคัญคือ “จับประเด็น ผูกเรื่องราว เล่าสู่กันฟัง ประสานพลังเป็นหนึ่งเดียว” ซึงเป็นกระบวนการปรับประยุกต์มาจากหลักคิดการเขียน “เรื่องเล่าเร้าพลัง” ของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

เมื่อต้องรับผิดชอบกระบวนการฝึกทักษะการเขียน ทั้งการเขียนเพื่อการสื่อสาร และการเขียนเพื่อจัดการความรู้  ผมไม่เคยละเลยที่จะสำรวจพื้นฐานเกี่ยวกับการเขียนของผู้เข้าร่วมกระบวนการก่อนเสมอ  เพราะผมตระหนักเสมอว่า “การเขียน” เป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังภายในค่อนข้างสูง  ใช้เวลาบ่มเพาะ และฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง 

ยิ่งมีเวลาจำกัดเพียงไม่กี่ชั่วโมง  ยิ่งต้องรอบคอบและชัดเจนว่าจะสร้างสรรค์กระบวนการใดดี เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการ “มั่นใจ” ที่จะ "เขียน" และ "มั่นใจ" ที่จะ “สื่อสาร” 

ด้วยเหตุนี้หากรู้ว่าผู้เข้าร่วมกระบวนการยังเป็น “มือใหม่”  เกี่ยวกับการเขียน  ผมยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ  ระมัดระวังไม่ให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการอึดอัด  เหนื่อยหนัก และมองว่าเรื่องการเขียนเป็นเรื่องยาก จนออกอาการเบื่อหน่าย  - 

ฉะนี้แล้ว  ผมจึงพยายามปลุกเร้าหลากวิธี  ค่อยเป็นค่อยไป  บ้างกระทุ้ง, บ้างกระแทก , บ้างสะกิด, บ้างเปิดคลิปต่างๆ ให้ดู, ชวนพูดชวนจา, แจกหนังสือและของรางวัล  หรือไม่ก็ยั่วหยอกให้เพลิดเพลินหลงเข้ามาสู่อำนาจของการเขียน  ซึ่งเราๆ ท่านๆ ก็รู้จักมักคุ้นแบบเป็นกันเองง่ายๆ ว่า “นวด” หรือ “เล้าโลม” นั่นเอง

 

Large_dsc_0163

 

ครับ, บางทีจึงสูญเสียเวลาไปมากโขกับการ “นวดและเล้าโลม”  แต่ทุกครั้งการลงทุนเช่นนั้นก็มักไม่เคยสูญเปล่า  เพราะในทุกๆ เวทีมักจะมีใครบางคนเปลี่ยนแปลงเสมอ อย่างน้อยก็มีคนกล้าคิด กล้าเขียนและกล้าสื่อสารมากขึ้น 

และที่สำคัญเมื่อกระบวนการ “นวดและเล้าโลม” เสร็จสิ้นลง  ผมก็จะรุกคืบเข้าสู่ผู้เข้าร่วมกระบวนการด้วยการฝึกการเขียนเชิง "ปัจเจกบุคคล" โดยทันที จากนั้นก็พลิกเข้าสู่การฝึกเขียนใน "เชิงกลุ่ม หรือสังคม" 

การฝึกปฏิบัติการการเขียนในเชิงปัจเจกนั้น  ผมได้สะท้อนไว้ในบันทึกที่ผ่านมา  มุ่งให้เกิดกระบวนการกล้าคิด >กล้าเขียน > และกล้าสื่อสารเรื่องราวจาก “โลกส่วนตัว” ออกมาสู่คนรอบข้าง  เพื่อยึดโยงไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ซึ่งวิธีการที่ว่านั้นถือเป็นการทะลายกำแพงความกลัวที่มีต่อการเขียน ผ่านกิจกรรมของการ “ทบทวนชีวิต”  ไปพร้อมๆ กัน 

ส่วนการฝึกปฏิบัติการการเขียนในเชิงกลุ่มหรือสังคมนั้น  ผมยึดกระบวนการสำคัญคือ “จับประเด็น > ผูกเรื่องราว >  เล่าสู่กันฟัง > ประสานพลังเป็นหนึ่งเดียว”   ซึงเป็นกระบวนการปรับประยุกต์มาจากหลักคิดการเขียน “เรื่องเล่าเร้าพลัง” ของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

 

Large_dsc_0150

 

จับประเด็น  

 

ล่าสุดในกิจกรรมการฝึกการเขียนเรื่องเล่าของชาวหอพักนั้น  ผมกำหนดประเด็นหลัก (โจทย์) หรือชื่อเรื่องให้แต่ละกลุ่มได้ร่วมฝึกปฏิบัติการการเขียนร่วมกันว่า “หอใน”  โดยกำหนดเงื่อนไขง่ายๆ  คือให้แต่ละกลุ่มช่วยกันเขียนเรื่องราวแบบร้อยเรียงต่อๆ กันไปคนละไม่เกิน 1 นาที  เมื่อคนแรกเขียนจบ  ให้คนถัดไปขยับเข้ามาเขียนเรื่องราวแบบร้อยเรียงให้สัมพันธ์กับเนื้อหาที่คนแรกได้เขียนทิ้งไว้  และให้ทำเช่นนั้นไปจนครบทุกคน  ซึ่งกระบวนการที่ว่านั้นจะไม่อนุญาตให้ถามทัก หรือปรึกษากันโดยเด็ดขาด 

กระบวนการแรกนี้  ผมไม่ได้บอกแบบชัดแจ้งว่าให้ “จับประเด็น” หรือเฝ้ามองเรื่องราว  หรือแม้แต่การสังเกตพฤติกรรมของเพื่อนที่กำลังเขียนเรื่องราวอยู่  เพราะผมต้องการประเมิน "พฤติกรรมการเรียนรู้" ของแต่ละคนว่ามีกระบวนยุทธในการ "เตรียมตัว" ที่จะเขียนและร้อยเรียง (เชื่อมต่อ) กับเรื่องที่เพื่อนเขียนอย่างไร  เพราะหากคนถัดไปไม่สนใจใยดีต่อเรื่องที่เพื่อนกำลังเขียนอยู่นั้น  เมื่อถึงคิวตัวเองต้องเขียนบ้าง  ก็คงยากยิ่งที่จะเชื่อมต่อ หรือร้อยเรียงเรื่องนั้นๆ ได้...

ด้วยเหตุนี้  กระบวนการดังกล่าว  จึงฝากแฝงให้ผู้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง  สนใจต่อสิ่งรอบกาย  เรียนรู้ที่จะพยากรณ์ หรือจินตนาการเรื่องราวให้ยึดโยงกัน  รวมถึงการให้ความสำคัญต่อภารกิจเพื่อมิให้กระทบต่อคนอื่นไปในตัว

 

 Large_dsc_0166

 

ผูกเรื่องราว

 

เมื่อคนแรกเขียนเรื่องราวเสร็จสิ้นลง  คนถัดไปจะก้าวเข้าไปเขียนเรื่องราวเชื่อมต่อกัน ..ซึ่งคนถัดมาต้องใช้ “ทุน” ที่เกิดจาการเฝ้ามอง สังเกต เก็บประเด็นจากคนก่อนอย่างไม่ต้องสงสัย  เพราะหากละเลยและเพิกเฉยย่อมไม่สามารถเขียนเรื่องออกมาได้ 

กระบวนการที่ว่านี้  เป็นกระบวนการที่ดูเหมือนบังคับอยู่มาก  หากแต่เป็นการฝึกให้เกิดการเชื่อมร้อยเรื่องราวผ่าน “ทุนเดิม” อันหมายถึงเรื่องราวที่คนก่อนได้มอบไว้ให้  ขณะเดียวกันก็เปิดกว้างไว้ชัดเจนว่าตอนจบของเรื่องนั้นๆ จะไม่ตายตัวเสมอไป  เพราะไม่อาจรู้ได้เลยว่าแต่ละคนจะนำพาเรื่องราวไปในมุมใด  ดังนั้นแต่ละคนจึงต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด  ใช้ “ทุนในตัวเอง” ผูกเป็นเรื่องราวและดำเนินเรื่องนั้นๆ ไปตามวิถีแห่งจินตนาการของตัวเองอย่างเต็มกำลัง  ส่วนจะคิดเผื่อคนถัดมาหรือไม่  ตรงนั้นก็ขึ้นอยู่กับทักษะ ประสบการณ์ และเชาว์ปัญญาของแต่ละคน

 

 Large_dsc_0154

 

 

เล่าสู่กันฟัง

 

เมื่อเขียนกันได้ครบทุกคน  หากมีเวลาเหลือ  ผมจะวกกลับมาให้คนแรกเขียนเพิ่มเติม และสลับให้คนอื่นขยับเข้าไปเขียนต่อภายใต้เวลาที่เหลืออยู่ 

แต่เมื่อทุกอย่างยุติลง  ผมจะเปิดโอกาสให้แต่ละคนได้เล่าให้เพื่อนในกลุ่มฟังว่า “ทำไมถึงเขียนออกมาแบบนั้น ..ขณะที่เพื่อนๆ กำลังเขียนอยู่นั้น แต่ละคนมีวิธีเรียนรู้และเตรียมการที่จะเขียนต่ออย่างไร  และคิดที่จะจบประเด็นตัวเองอย่างไร  คิดเผื่อคนถัดไปอย่างไรบ้าง...” 

กระบวนการที่ว่านี้เป็นการสร้างพื้นที่ให้แต่ละคนได้ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” ร่วมกัน  เป็นกิจกรรมละลายพฤติกรรมและสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนไปในตัว  ซึ่งเท่าที่เคยใช้มาก็สนุกสนาน เฮฮา ขำขัน ไหลเลื่อนแทบทั้งสิ้น 

ซึ่งในทำนองเดียวกัน ก็ฝากแฝงให้คนเราได้เรียนรู้ที่จะให้โอกาสต่อคนรอบข้างได้ “อธิบาย”  เรื่องราวของเขาให้เราฟัง  เป็นการเชื่อมโยงจิตใจของผู้คนสู่การเรียนรู้ความเป็นทีมไปในตัวแบบเนียนๆ ...เพราะในทุกเรื่องผมเชื่อว่าบริบทต่างๆ จะมีอิทธิพลต่อการสะท้อนผลออกมาเสมอ  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรับฟังเรื่องราวของคนอื่นด้วยว่าวินาทีนั้น “เขาเห็นอะไร คิดอย่างไร และทำไมถึงสะท้อนออกมาในทำนองนั้น”

 

Large_dsc_0194

 

ประสานพลังเป็นหนึ่งเดียว

 

ภายหลังแต่ละคนได้อธิบาย หรือบอกเล่าที่มาที่ไปของเรื่องราวที่ตัวเองเขียนขึ้นเสร็จสิ้นแล้ว  ผมก็จะเชิญชวนให้ทุกคนได้ทำกระบวนการอย่างเป็นหนึ่งเดียวร่วมกัน 

กระบวนการที่ว่านั้นก็คือการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนในกลุ่มได้ช่วยกันปรับแต่งเรื่องราวจากทุกบรรทัดเป็น “เรื่องเดียวกัน”  มีอะไรขาดเหลือก็เสริมเติมเต็มกันอีกรอบ  ใครจะประดับประดาให้กระดาษแห่งเรื่องราวดูมีสีสันอย่างไรก็ทำได้เต็มที่  และให้เฟ้นหาคนนำเสนอเรื่องราวของกลุ่มไว้หนึ่งคน  เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้นำสารของกลุ่มสู่สาธารณะ 

กระบวนการที่ว่านี้  ผมจะไม่บอกว่าควรต้องทำอย่างไร บริหารจัดการกันอย่างไร  แต่จะเฝ้าสังเกตอยู่ใกล้ๆ ว่าในกลุ่มนั้นๆ  มีระบบการบริหารจัดการอย่างไร  ... 

สิ่งเหล่านี้ผมถือว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ทักษะการคิด การเขียน การสื่อสารที่ง่ายงาม สนุก ได้สาระ ได้กระบวนยุทธทั้งในเชิงปัจเจกและกลุ่มที่ดี  มีสถานการณ์เฉพาะกิจให้แต่ละคนได้แก้ปัญหา  มีพื้นที่ให้แต่ละคนได้อธิบายและบอกเล่าที่มาที่ไปของเรื่องราวที่แต่ละคนได้เขียนขึ้น  รวมถึงการสร้างโอกาสให้ทุกคนได้ร่วมคิดร่วมสร้างเรื่องราวร่วมกันในตอนท้าย 

ยิ่งพอแต่ละกลุ่มได้เสนอเรื่องราว  ยิ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการที่ให้อะไรๆ อย่างหลากรส  มีการถามทักข้ามกลุ่ม  มีการเสนอแนะแบบมิตรภาพ สรวลเสเฮฮากันไป  ได้ทั้งแรงบันดาลใจและทักษะเบื้องต้นไปเต็มๆ 

และท้ายที่สุด  ผมก็สะท้อนเกร็ดความรู้ในเรื่องที่แต่ละกลุ่มนำเสนอ  แถมพ่วงด้วยแนวคิดเรื่องการลำดับเนื้อหา  การผูกประโยค  การใช้คำและการเน้นความ การเปิดเรื่องและปิดเรื่องแบบพอประมาณ  เพื่อทิ้งเป็น “ลู่ทาง” กว้างๆ ให้แต่ละคนเก็บเอาไปประยุกต์ใช้

 

Large_dsc_0201

 

มีอะไรในเรื่องเล่า

 

จากเรื่องราวที่แต่ละกลุ่มร้อยเรียงขึ้นมานั้น  ผมจะสะท้อนภาพอันเกี่ยวโยงกับคุณลักษณะของเรื่องเล่าสั้นๆ ไว้ประมาณว่า 

  • เรื่องเล่า ควรเขียนด้วยวิธีการเล่าเรื่อง  เพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกคล้ายกับว่ากำลัง “นั่งฟัง” คนเขียนและนั่งสนทนาอยู่กับผู้เขียน
  • ใช้ภาษาง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่เป็นทางการ 
  • สื่อสารประเด็นหลัก ประเด็นรอง
  • สะท้อนสภาพการณ์อันเป็นบริบท เช่น  มูลเหตุของการการเกิดเรื่องราว  กระบวนการคลี่คลาย  และความสำเร็จของเรื่องราว
  • ท้าทายการนำไปประยุกต์ใช้
  • ฯลฯ

 

Large_dsc_0181

 

ผลลัพธ์จาก “ความคาดหวัง” 

 

          ทันทีที่ผมปิดเวทีของตัวเอง  ทีมงานก็ขยับเข้ามาประเมินผลเรื่องราวอันเป็นผลลัพธ์ที่ได้หลังจากการเข้าร่วมกิจกรรม และนี่คือสิ่งที่ผู้เข้าร่วมกระบวนการได้สะท้อนออกมา 

  • ได้รู้หลักการจับประเด็นในการเขียน
  • ได้เข้าใจว่าการเขียนเรื่องเล่า  ไม่ใช่เรื่องที่ยากแค่กล้าเปิดใจบอกเรื่องราวด้วยความสุขที่ออกมาจากใจส่งต่อคนรอบข้าง  ก็สามารถทำให้เราเขียนเรื่องราวได้โดยง่าย
  • ได้ฝึกเขียน   ทำให้ได้ทักษะละเรียนรู้วิธีการเขียนแบบต่างๆ ที่จะทำให้ผู้อ่านมีความรู้สึกร่วมไปกับเรา
  • ได้เรียนรู้รูปแบบและทักษะในการเขียนเรื่องเล่า
  • ได้รับรู้เรื่องราวของบุคคลรอบข้าง
  • ฝึกการเขียนที่สะท้อนความเป็นตัวเองออกมาทั้งที่ไม่เคยเขียนเลย
  • ทำให้ได้รู้วิธีการเขียนเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านตัวหนังสือสื่อถึงผู้อ่านได้  ทำให้กล้าเล่าเรื่องราวของตัวเอง  กล้าเขียนออกมาเป็นเรื่องราว
  • มีความคิดที่อยากจะเขียน  กล้าที่จะทำ  เริ่มต้นการเขียนสิ่งๆหนึ่งขึ้นมา
  • เข้าใจวิธีการเขียนเรื่องเล่า  ทำให้เรามีกำแพงความคิด (วิชาการ)  เข้าใจว่าการเขียน  ให้เขียนเสมือนกำลังเล่าเรื่องให้ใครคนหนึ่งฟังอยู่  อยากเขียนก็เขียนไปเลย  (ต้องมีความรู้ในสิ่งที่ท่านเขียนด้วย)
  • กล้าแสดงออกมากว่าเดิม  ได้มีความรู้จักกับบุคคลมากขึ้น
  • ได้ความรู้มากมายจากการฟังบรรยาย  เช่น  การเขียนอย่างไรที่คนอ่านเข้าใจมกขึ้น  นึกภาพจินตนาการออก  คนอ่านแล้วมีความสุขกับการอ่าน
  • ได้แนวการเขียนง่ายๆ  ไม่ยุ่งยาก  ที่ช่วยให้รู้ว่าควรจะเขียนอะไร  อย่างไร  และควรจะจบอย่างไร
  • ชอบและอยากให้จัดโครงการแบบนี้อีก  สนใจมากๆ

 

ครับแล้วท่านละครับ ทุกครั้งที่ลงมือเขียน ทุกครั้งที่เป็นผู้เล่าเรื่อง ท่านค้นพบอะไรบ้าง  ...

 

...

โครงการประกวดเรื่องเล่าชาวหอพัก
โดย งานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ กองกิจการนิสิต มมส
๑ สิงหาคม ๒๕๕๔
 

 

หมายเลขบันทึก: 456413เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2011 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 04:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)

คุณพนัสเขียนบรรยายกระบวนการได้เยี่ยมมากๆค่ะ เห็นภาพไล่เรียงไปตามขั้นตอนแล้วก็เข้าใจได้เลยว่า จะเกิดอะไรขึ้น อ่านแล้วรู้สึกอยากเอาไปเชิญชวนให้คนอื่นทำต่อกันเลยค่ะ จะจำไว้ถ้าเมื่อไหร่มีโอกาสได้จัดกิจกรรมจะเอาไปใช้บ้างค่ะ ขอบคุณเอาไว้ล่วงหน้าเลยค่ะ 

ขอบคุณค่ะ   

เขียนไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่ จะพยายามฝึกเขียนนะคะ

มีสิ่งดีๆเสมอๆนะคะ

เยี่ยมมากค่ะ จะนำไปใช้กับตัวเองบ้าง

ถึงจะเขียนมาเป็นปี แต่อ่านบันทึกนี้ได้ลำดับเรื่องได้ถูกต้อง

ครับแล้วท่านละครับ ทุกครั้งที่ลงมือเขียน ทุกครั้งที่เป็นผู้เล่าเรื่อง ท่านค้นพบอะไรบ้าง  ...

ค้นพบว่า บางอย่างที่ตัวเองไม่ได้พูด  สามารถเขียนย้อนหลัง ให้คนอื่นรับรู้ได้

ค้นพบว่าตัวเองสามารถเล่าเรื่องง่ายๆ ได้ และยังต้องอาศัยการพัฒนาอีกไปเรื่อยๆ

ค้นพบว่า ตัวเองยังต้องพัฒนาในการคิดรวบยอด  การสรุปเรื่องราว พัฒนาการเล่าเรื่อง  เพิ่มขึ้น

ค้นพบว่า  ถ้าหมั่นเข้ามา ก็จะพัฒนาง่ายขึ้น 

ค้นพบว่า    ฯลฯ

ขอบคุณคะที่นำมาแบ่งปัน

อ่านบันทึกของอาจารย์แล้ว  "ได้เรื่อง"  เสมอ

ขั้นตอนต่าง ๆ ชัดเจน มีประโยชน์ นำไปใช้ได้เลย ขออนุญาตนำไปใช้ในกระบวนการวิทยากร เป็นการส่งเสริมทักษะการคิด ต่อไปค่ะ

ขอบคุณค่ะ และหากเขียนแล้ว สามารถสร้างแรงบันดาลใจดีๆแก่ผู้อ่าน เพื่อขยายผลต่อไป ย่อมเพิ่มคุณค่าของงานเขียนนั้นด้วยนะคะ :)

  • เยี่ยมครับ
  • ขอบคุณมากครับที่นำมาแบ่งปัน

 

สวัสดีค่ะอาจารย์ มาอ่านก็เกิดอาการอยากเขียนกระตุ้นขึ้นมาอีกครั้งค่ะ อิอิ มีเรื่องที่จะเล่ามากมาย คิดได้แต่ลงมือยากค่ะ แต่จากการอ่านบันทึกที่เขียนอย่างเข้าใจนี้ทำให้อยากเล่าสู่กันฟังแล้วค่ะ

  • เรื่องเล่า ควรเขียนด้วยวิธีการเล่าเรื่อง  เพื่อให้ผู้อ่านรู้สึกคล้ายกับว่ากำลัง “นั่งฟัง” คนเขียนและนั่งสนทนาอยู่กับผู้เขียน
  • ใช้ภาษาง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ไม่เป็นทางการ 
  • สื่อสารประเด็นหลัก ประเด็นรอง
  • สะท้อนสภาพการณ์อันเป็นบริบท เช่น  มูลเหตุของการการเกิดเรื่องราว  กระบวนการคลี่คลาย  และความสำเร็จของเรื่องราว
  • ท้าทายการนำไปประยุกต์ใช้

เป็นหลักการที่มีประโยชน์มากคะ

จากการมองความรู้สึกตัวเองในการเขียน สิ่งสำคัญที่ช่วยให้สนุกในการเขียน ไหลลื่น คือ

จินตนาการเหมือนกำลังนั่งคุย..เวลาคุย เราคิดถึงภาพรวม ไม่คิดถึงไวยากรณ์ ศัพท์ราชการ 

ขอบคุณสำหรับแนวคิดดีดีค่ะ

  • ขอบคุณมากๆเลย ขออนุญาตนำไปใช้กับนักศึกษาต่อนะครับ

เรื่องประเด็นนี่ละค่ะ...ชอบแวบเลี้ยวเข้าซอยเรื่อยเปื่อย

หลงไปหลงมา หาทางกลับมาได้มั่ง ไม่ได้มั่ง

พี่พนัส..คืนนักเขียนต้นแบบของผมคนหนึึ่ง....ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ พี่โอ๋-อโณ

กิจกรรมนี้ แต่ละขั้นตอนผมจะคิดก่อนว่าตอบโจทย์อะไรทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมจะไม่ละเลยเรื่องการเรียนรู้ความเป็นทีมไปในตัวเสมอ เพราะถือว่านั่นคือจุดเปราะขององค์กร พร้อมๆ กับพยายามกระตุ้นให้เห็นความแตกต่างทางความคิดของผู้คน แต่ก็เช่นเดียวกัน  ผมก็จะพยายามกระตุ้นให้ทุกคนมองความแตกต่างนั้นเป็นเรื่องท้าทาย เป็นเรื่องสีสันและความงามของการใช้ชีวิตร่วมกัน

ดังนั้นกิจกรรมในครั้งนี้นอกจากตอบโจทย์เรื่องการคิดการเขียนแล้ว  ผมก็ยังหวังว่าจะตอบโจทย์ดังที่กล่าวข้างต้นด้วย

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณ@..สายธาร..@

นานเหมือนกันนะครับที่เราไม่ได้พบปะพูดคุยกัน...
ผมเองเคยห่างเว้นไปในบล็อก แต่ก็รู้ว่าไปไหนไม่ได้ไกล
ทุกวันนี้เมื่อมีแรงบันดาลใจ มีพลังก็ไม่รีรอที่จะเขียน
การงานหนักขึ้นมากเลยครับ ใช้ความคิด ทำยุทธศาสตร์ ไม่ได้ลุยปฏิบัติเหมือนเดิม  นั่นยิ่งทำให้เราแบกอะไรอยู่ในตัวยิ่งกว่าเดิม

แต่ก็ได้การเขียนนี่แหละครับ เยียวยาและบำบัดตัวเองไปทีละนิดๆ...

ให้กำลังใจนะครับ,...

สวัสดีครับ น้องมะปรางเปรี้ยว

ในมิติการเขียนนั้น แท้จริงแล้วส่วนใหญ่เกิดแรงผลักจากการอ่านอย่างมหาศาลครับ...อ่านเยอะๆ แล้วอยากเขียน อ่านเยอะๆ ก็เห็นชีวิตและความเป็นไปของสรรพสิ่ง 

การลงมือเขียนจากเรื่องใกล้ตัว เช่นบันทึกประจำวันนั่นแหละครับคือการเริ่มต้นที่ดี ...ต่างประเทศมีนักเขียนหลายคนที่โด่งดังจากการเขียนบันทึกมาก่อน บันทึกประจำวันหลายเรื่องกลายเป็นหนังสือขายดีอย่างเหลือเชื่อ

การเขียนบันทึกจึงเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการความรู้นะครับ หากแต่เป็นการจัดการความรู้ในมิติของ "ชีวิต" เท่านั้นเอง...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ pa_daeng

ป้าแดงเดินทางบ่อยๆ เขียนเกร็ดชีวิตจากการเดินทางสิครับ  ทำเหมือนสารคดีเล็กๆ มีภาพที่ป้าแดงถ่ายเองประกอบในเล่ม  ผมว่าน่าสนใจดีออก..

ลองดูครับ ผมว่าไม่เกินแรงที่ป้าแดงจะทำครับ

สวัสดีครับ พี่วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

สำหรับผมแล้ว ยิ่งเขียนยิ่งรู้สึกว่าตัวเองกำลังหัดเขียนอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้เห็นพัฒนาการทางการเขียนในเชิงกลวิธีอะไรมาก แต่สุขใจที่ได้บันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ไว้เป็นความทรงจำของตัวเองเท่านั้นเอง  อีกทั้งสุขใจที่ได้เล่าเรื่องราวดีๆ ของคนอื่นที่ทำขึ้นเพื่อการเรียนรู้ของเขาเอง หรือแม้แต่สังคม  เพราะเราทุกคนก็ไม่ควรปล่อยให้ความดีเดินทางอย่างเดียวดาย  ถึงแม้ไม่ได้ช่วยอะไรมาก แค่บอกเล่าต่อๆ กันไป ก็ถือว่าได้ร่วมทำความดีแล้ว ...

ที่สำคัญเป็นการเสริมแรงใจให้ "คนต้นเรื่อง" ไปในตัวครับ...

ระหว่างอ่านบันทึกนี้

สมองส่วนหนึ่งบอกว่า

"จะต้องเอาไปใช้กับเด็กเรามั่ง"

แต่พออ่านจบ....

เห็นว่า "คงต้องเอามาใช้กับตัวเองด้วย"

ขอบคุณนะคะสำหรับบันทึกที่ให้สาระเสมอ

ขออนุญาตนำเทคนิคไปใช้กับเด็กด้วยค่ะ

ได้ความรู้เรื่องการเขียนมากมาย

การคิดก็เป็นส่วนหนึ่งของการเขียนด้วย

อยากเป็นนักเขียนจังเลยค่ะ ตอนนี้ขอเป็นนักอยากเขียนไปก่อนนะคะ

จะคอยติดตามวิธีการของอาจารย์ต่อไปค่ะ..

นี่เป็นความลุ่มลึกของการออกแบบกระบวนการด้วยหัวใจของนักปฏิบัติตัวจริง มีความละเอียดในทุกขั้นตอนและที่สำคัญคืออาจารย์สามารถนำพาผู้เข้าร่วมเรียนรู้ได้ลงมือเชื่อมโลกภายในและภายนอกและเชื่อมโยงกับผู้อื่นอย่างสนุกสนานด้วย ยอดเยี่ยมจริงๆค่ะ

สวัสดีครับ พี่ กระติก~natachoei ที่ ~natadee

ทุกๆ ครั้งที่ผมเขียน ผมจะรู้สึกประมาณว่า...

เดินช้าลง...
มองตรง..อย่างมีจุดหมาย
พักวาง..ผ่อนคลาย
แลขวา แลซ้าย..ทักทายสิ่งรอบตัว

สวัสดีครับ คุณยุพิน ตัณฑวณิช

กรอบแนวคิดที่เขียนนั้น  ส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ตรง  ส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาและบูรณาการจากกรอบการเขียน "สารคดี" ของอาจารย์หลายท่าน

ในเวทีต่างๆ สิ่งที่ผมยึดมั่นที่สุดก็คือ กระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมเห็นความสำคัญของการเขียน -กล้าและกระหายที่จะเขียน-เขียนในสิ่งที่รัก-เขียนในสิ่งที่อยากเขียน...

นี่สำคัญสุดแล้วครับ ส่วนเขียนแล้วจะดีเด่นแค่ไหน กาลเวลา และสังคม หรือประสบการณ์ของเราจะเจียระไนเอง

ครับพี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ

การเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกัน ถือเป็นสิ่งอันยิ่งใหญ่ หลายคนเปลี่ยนแปลงชีวิตในทางสร้างสรรค์ได้ด้วย "วลีสั้นๆ" ของคนอื่น  หลายคนเปลี่ยนแปลงตัวเองจากชะตากรรมของคนอื่น

นี่คือ คุณสมบัติอันวิเศษและมหัศจรรย์ของมนุษย์เรา

 

สวัสดีครับ พี่สิงห์ ป่าสัก

พี่เองก็เป็นต้นแบบการเขียนบล็อกใน G2K ของผมนะครับ..
และแนวทางของพี่ก็ชัดเจน..เขียนในสิ่งที่ทำ...ย้ำในสิ่งที่มี

ขอบคุณครับ

ขอบคุณสำหรับการแนะนำการเขียนที่ดีค่ะ จะพยายามนวดประสบการณ์ให้ประสานเป็นหนึ่งเดียวค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท