2011G08_20_สิ่งที่เข้าใจ ใช่ สิ่งทีทำได้ ?


สิ่งที่เข้าใจ อาจไม่ใช่ สิ่งทีทำได้

นึกว่าตัวเองฉลาด...แต่ที่แท้ไม่ใช่  ขอเล่าประสบการณ์ของการสอบตก

ตอนเราเรียนป.โท เราโชคดีมากๆที่มีโอกาสได้เรียนภาษาอังกฤษกับท่านอาจารย์...ท่านเป็น ราชบัณฑิต (ขออนุญาตไม่กล่าวนามนะคะ) ท่านคือครูในอุดมคติของเราเลยค่ะ

ครั้งหนึ่งของการสอบเก็บคะแนน ซึ่งข้อสอบในครั้งนั้นเป็นแบบเขียนตอบเป็นประโยค เราพบว่าเราเขียนตอบไม่ได้เลย นึกคำไม่ออก เอ...จะเขียนอะไรดี จึงเขียนภาษาไทยปนภาษาอังกฤษส่งไป พอประกาศผลเท่านั้นอาจารย์ขอดูตัวเลยค่ะ หนำซ้ำวันนั้นเราเข้าเรียนสายด้วย เป็นเรื่องที่ทำร้ายจิตใจอาจารย์อย่างมาก และเราจึงกลายเป็นที่หมายหัวของอาจารย์เลย อาจารย์ให้เราไปพบและเรียกไปสอน ไปอธิบายว่ามันคงสายเกินไปสำหรับการเรียนภาษาอังกฤษให้ดีของเรา อาจารย์เรียกไปเพื่อจะบอกว่าเราคงไม่มีสิทธิ์ได้เกรดให้ถอนวิชาซะ แต่อาจารย์ท่านก็ให้เราได้เข้าเรียนด้วยตลอดเทอมนั้น เราน้ำตาซึมเลย ที่ซึม..ไม่ใช่เสียดายเกรดนะคะ แต่เป็นเพราะการได้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของการประเมินผลการเรียน และได้เห็นถึงความหวังดี ความห่วงใยของอาจารย์ที่มีต่อลูกศิษย์ ต่อหลักสูตร

หลังจากนั้นอาจารย์ท่านก็พาเราไปดูหนังสือในศูนย์หนังสือจุฬาฯ ดูText Dictionary เล่มหนาที่มีชื่ออาจารย์เป็นผู้เขียนตำราร่วมกับอาจารย์ชาวต่างชาติ อาจารย์แนะนำหนังสือเล่มดีๆทางภาษาให้เราได้รู้จัก และแนะนำว่าสามารถเลือกซื้อที่ไหนได้อีกนอกจากศูนย์หนังสือจุฬาแห่งนี้

.........

      ตั้งแต่เล็กจนโตเราผ่านภาษาอังกฤษมาได้ก็เพราะข้อสอบส่วนใหญ่ที่เราทำ เป็นแบบมีตัวเลือก(ปรนัย) ทำให้โอกาสของการเดาถูกมีมาก ตัวเลือกตอบ a b c ช่วยให้การนึกคำที่คุ้นๆอยู่ออกมาได้ จึงทำให้สอบผ่านมาโดยตลอด(ถึงแม้จะเป็นแบบเกือบตกก็ตาม) ไม่น่าเชื่อว่าผ่านมาได้จนถึงป.โท แต่พอมาเจอข้อสอบอัตนัย ที่ต้องกรั่นความคิดออกมาเขียนประโยคเอง (Recall) แบบนี้เราจึงทำไม่ได้

 <<<<<<<<<^^^^^^^>>>>>>>>

       และในวันนี้ จึงขอสื่อข้อมูลเพื่อแลกเปลี่ยนกับทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวัดผลว่า..ถ้าเป็นไปได้ควรพิจารณาเลือกใช้วิธีการสอบแบบอัตนัย หรือให้มีการสอบฝึกปฏิบัติร่วมด้วยจะดีมาก เพราะในความเห็นของผู้เขียนคิดว่าเป็นข้อสอบที่ช่วยให้ผู้เรียนได้รู้ตัวเองได้อย่างดี เนื่องจากมันวัดการเรียนรู้ที่ครบวงจร ทั้งอินพุตและเอาท์พุตค่ะ บางคนไม่รู้ตัวว่าตนเองนั้นผ่านการฝึกแต่ประสาทด้านรับสัมผัสบ่อย (การดู การฟัง) แต่ไม่ค่อยได้ฝึกการใช้ประสาทการเคลื่อนไหว (การพูดการเขียน) ทำให้บางคนจะถนัดด้านการรับรู้มากกว่า สามารถอ่านได้ เข้าใจบทเรียนได้เร็ว แต่ให้พูด ให้ทำ ให้เขียน ทำไม่ได้ เขียนไม่ได้

        สมมุติว่าเรียนภาษาอังกฤษ ก็ต้องฝึกทำแบบฝึกหัด ฝึกเขียน ฝึกพูดร่วมด้วย หากฝึกแต่การดูหนังสืออย่างเดียว อาจพลาดได้แม้ตอนเรียนจะเข้าใจดีก็ตาม

        หรือแม้แต่ตอนทำงาน เราขยันหาความรู้ ดูหนังสือ สืบค้นทางInternet มากมายแต่หากไม่ได้ลองฝึกทำจริงก็ อาจเปล่าประโยชน์ และในที่สุดก็ลืมเลือนไป

        การฝึกฝนให้ครบวงจรการทำงานระบบประสาทการเรียนรู้แบบนี้ จึงจะมีประโยชน์ต่อผู้เรียนหรือแม้แต่ทุกๆคนนะคะ เพราะได้เจอกับตัวเองมาแล้ว ......

 

<<<<<<<<<^^^^^^^>>>>>>>> 

 

        ตลอดการเรียนภาษาอังกฤษของเราในเทอมนั้นจึงมีค่าอย่างยิ่ง อาจารย์ท่านนี้คือปรมาจารย์ครูเพื่อศิษย์ เพื่อสังคมวิชาการของเราท่านหนึ่ง ดีใจที่ได้รับการเรียนรู้จากท่าน เป็นประสบการณ์ชีวิตและประสบการณ์ด้านการศึกษาที่หาได้ยาก

สุดท้ายเราในฐานะลูกศิษย์ขอกราบขอบพระคุณ คุณครูท่านนี้อย่างสูง นึกถึงทีไรก็ "เคารพรักศรัทธา"ค่ะ

๒๐ สค.๕๔

 
หมายเลขบันทึก: 456412เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2011 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เพิ่มเติมข้อมูลค่ะ: เนื้อหาใน Blog นี้น่าจะมีความใกล้เคียงกับแนวคิดของ Active Learning และ Learning by Doing

http://www.myinnerscapes.com/ask-dr-z/2011/04/3035/

อะไรๆคงไม่สู้การลงมือทำนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท