"Banana"zepam ข้อคิดการแพทย์ผสมผสาน


"based on a  true story.. ติดพันต่อเนื่องมาจากนี่คะ

อีก 10 นาทีจะเที่ยงแล้ว หมอ ป.คนงาม (นามสมมติ) แอบดีใจ ที่เหลือผู้ป่วยเพียงคนเดียวนั่งรออยู่
เธอเป็นหญิงวัย 60 เศษ แต่งกายประณีต แต่ใบหน้าอิดโรย
" สวัสดีคะ คุณป้า ร. (นามสมมติ) วันนี้มีอะไรให้หมอช่วยคะ "
" อิฉันมีปัญหานอนไม่หลับ "
ใบหน้าหน้ายิ้มแย้ม ของ หมอ ป. หุบลงทันที  คิดในใจ..ยาวแน่ รายนี้
" คุณป้านอนไม่หลับมานานหรือยังคะ "
"นอนไม่หลับมา 5-6 ปีแล้วคะ ทรมานจริงๆ เลย"
"คุณป้า มีโรคประจำตัว อะไรหรือเปล่าคะ "
หมอ ป.ถาม โดยหวังลึกๆ ว่าจะมี "โรคทางกาย" เช่น ไทรอยเป็นพิษ ( Hyperthyroid),เบาหวาน..
"ก็..โรคนอนไม่หลับนี่แหละคะ"
"ถ้าอย่างนั้น หมอขอดูยาที่ใช้เป็นประจำหน่อยได้ไหมคะ"
คุณป้า ร. ค้นหาในกระเป๋าสะพาย กุกกัก อยู่พักหนึ่งก็หยิบยาออกมาหนึ่งถุง
ภายในมียานอนหลับหลากชนิด ..Lorazepam, Clonazepam,Euhypnos..etc
"คุณป้า ทานทั้งหมดนี้เลยหรือคะ !"
"ก็ทานๆ หยุดๆ ลองไปเรื่อยๆ ไปคลินิกนั้น เขาให้ยาอันนี้ ไปคลินิกนี้ เขาให้ยาอันนั้น..ก็ไม่เห็นช่วย..
 แต่ป้ายังไม่เคยลองกินพร้อมๆ กันนะ กินพร้อมกันดีไหม "
"ไม่คะ ไม่ อย่ากินพร้อมกัน อันตราย" หมอ ป. เสียงหลง
และมีกระปุกยา ชื่อประหลาด ระบุว่าผลิตจากต่างประเทศ
"อันนั้น เพื่อนที่นิวซีแลนด์ ส่งมาให้"
"แล้วดีไหมคะ ?"
"ก็ยังไม่กล้าทาน กล้าๆ กลัว ว่าจะมาถามหมอนี่แหละว่ากินได้ไหม"
หมอ ป. รู้สึกเหมือนถูกชก
"เอ่อ..ยาตัวนี้หมอไม่รู้จักมาก่อน แต่หากได้รับรองจากองค์การเภสัช ว่าไม่มีพิษภัยอะไร ก็คงทานได้คะ"
"ถ้างั้น ไม่กินดีกว่า อิฉัน ขี้แพ้ยา"
ว่าแล้ว เธอก็หยิบอีกถุง ที่โตกว่าเดิม ออกมา
"พวกนี้ไม่กินแล้ว พวกนี้กินแล้วเวียนหัว ..."
คุณป้า ร. ชี้ไปตามถุงยาสารพัดอย่าง ตั้งแต่วิตามิน ยาพาราเซตามอล ยาลดไขมันในเลือด ไปกระทั่ง ยาแก้เวียนศีรษะ เอง !
...
" ปกติก่อนนอน คุณป้าทำอะไร"
"ก็นั่งๆ นอนๆ ดูทีวีกับบ้าน..เบื่อนะ แต่ไม่รู้จะทำไง สามีก็เสียแล้ว ลูกเต้าก็ไม่มี"
ตอนนี้  ป้า ร. มีน้ำตารื้นๆ ประวัติชีวิต ตั้งแต่พบกับสามีต่างชาติ ย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ตัดขาดจากครอบครัว..
เวลาผ่านไป 10 นาที หมอ ป. ซึ่งเงียบนั่งฟังอยู่ จึงเอ่ยขึ้น
"ขอบคุณคะ ที่เปิดใจเล่าให้หมอฟัง..ชีวิตคุณป้าน่าสนใจ แต่เดี๋ยวเรามาช่วยกันหาทางแก้ปัญหา นอนไม่หลับ กันต่อนะคะ"
 ป้า ร. หยิบผ้าเช็ดหน้าลายโดเรมอน มาซับๆ ที่ขอบตา
"เนี่ย เพื่อนที่ญี่ปุ่นส่งมาให้"
"ป้าโชคดีนะ มีเพื่อนอยู่ทั่วโลก" หมอ ป. พยายามหาแรงบวก
"โชคไม่ดีหรอก ทำอะไรก็ไม่สำเร็จแบบเพื่อนๆ เขา"
 หมอ. ป. ถามต่อ
 "ตอนไปคลินิก คุณหมอแนะนำเรื่องการปฎิบัติตัว หรือเปล่าคะ เช่น ออกกำลังกาย, ไม่กินอาหารใกล้เวลานอน.."
ป้า ร. ยกมือขึ้นห้าม "อุ๊ๆๆ พวกนี้ป้าฟังมาหลายรอบแล้ว..พูดง่ายแต่มันทำยากนะหมอ"
"คิดดู จะให้ป้าไปวิ่งออกกำลังกายทุกเย็น จะทำได้ไง เข่าก็เจ็บอยู่เนี่ย"

"เอาอย่างนี้นะป้า.." หมอ ป. ถอนหายใจยาว เมื่อตนเองรู้สึกหมดมุข
"หมอมีประสบการณ์ส่วนตัวจะบอก.."
" หมอสังเกตตัวเองว่า หลังจากรับประทานกล้วย..จะรู้สึกง่วงมาก"
"คืนไหนที่หมอนอนไม่หลับ จะรับประทานกล้วยหอม 1 ผล"
หมอ ป.หยุด สังเกตปฎิกริยาของคุณป้า..
ปรากฎว่า คุณป้า ร. มองหมอ ป. ตาแป๋ว อย่างตั้งใจฟัง
" ยังไม่รู้กลไกที่แน่นอน แต่ในกล้วยมีสาร serotonin ซึ่งมีฤทธิทำให้จิตใจสงบ"
"การออกฤทธิจะเกิดได้ดี  เมื่ออยู่ในที่มืด และไม่มีเสียงรบกวน"
"ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ต้องกินหลังจากร่างกายขยับจนเหงื่อออก ไม่ต้องวิ่งก็ได้ ยืนแกว่งแขนไปดูทีวีไปก็ได้คะ"
"ส่วนยาพวกนี้ หมอแนะนำว่า เก็บไว้ก่อน ถ้าทานกล้วยไม่ได้ผล อาจลองตัวนี้ ( ชี้ไปที่ lorazepam)สัก 1 เม็ด"
ใบหน้าของ ป้า ร. เริ่มมีรอยยิ้มนิดๆ
"น่าสนใจ เดี๋ยวป้าจะลองดู..แต่แค่ผลเดียวจะพอหรือคะ"
"หมอนัดอาทิตย์หน้านะคะ แล้วคุณป้าลองดู ได้ผล ไม่ได้ผลอย่างไร มาเล่าให้ฟังนะคะ"

หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป..
อีก 5 นาทีจะเที่ยง หมอ ป. แอบลุ้นในใจ ป้า ร. จะมาไหมหนอ  บางทีเธออาจคิดว่า หมออะไรไม่สั่งยา แถมแนะนำอะไรประหลาดๆ
ปรากฎว่า..หญิงวัย 60 เศษ เดินมาพบด้วยสีหน้า แช่มชื่น
" ป้ารู้สึกนอนได้มากขึ้นคะ ..นอนตอน 4 ทุ่ม ตื่นขึ้นมาตอนตี 3"
" ป้าเลยลอง ปรับขนาด เป็นหนึ่งผลครึ่ง..คราวนี้ตื่นตี 5 "
" หมอว่า ป้าปรับขนาดเป็นทานกล้วย หนึ่งผลครึ่งดีไหม.."
หมอ ป.ยิ้ม แม้ในใจจะคิดว่า.. วันนี้คงได้ทานข้าวตอนเที่ยงครึ่ง..อีกแล้ว

  =  ?

 

 

****

บทส่งท้าย

1. เรื่องราวนี้ ทำให้ข้าพเจ้าคิดถึงถึง
หลักการของ Integrative medicine :
" Healing-oriented medicine
that takes account of the whole person,
as well as all aspects of lifestyle.
It emphasizes the therapeutic relatioship
and makes use of all appropriate therapies."
(Anderew T well)

ขอแปลเป็นไทยว่า การแพทย์ผสมผสาน
" การแพทย์ที่เชื่อว่า ร่างกายมีศักยภาพในการเยียวยาตัวเอง
ด้วยการ การดูแลแบบองค์รวม ( ร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ)
รวมทั้ง วิถีการดำเนินชีวิต โ
ดยให้ความสำคัญต่อ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้รักษาและผู้รับการรักษา
โดยยอมรับ ใช้การรักษาทุกแผน (ทั้งแผนตะวันตกและตะวันออก) ที่เหมาะสม"


2. อะไรหนอ คือ คำอธิบายสำหรับเรื่องนี้  ยานอนหลับ "Banana"zepam

Serotonin ในกล้วย ช่วยให้มีสุข ??
แม้เราทราบว่าภาวะซึมเศร้า เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของอาการนอนไม่หลับ
และในผู้เป็นโรคซึมเศร้า  มักขาดสารสื่อประสาท Serotonin  
ในผลไม้ เช่น กล้วย มะเขือเทศ มีสาร serotonin อยู่พอสมควร   ที่มา

แต่.. serotonin ที่รับประทานเข้าไป ไม่สามารถผ่านเยื่อหุ้มเส้นเลือดสมอง (Blood brain barier)
แปลว่า กินอาหารเหล่านี้เข้าไป ไม่ทำให้ระดับ serotonin ที่ออกฤทธิต่อประสาทสูงขึ้น
เป็นเหตุให้ ยาลดซึมเศร้า ไม่ได้เป็นตัว serotonin โดยตรง เพียงแต่ไปชะลอการทำลาย สาร serotonin ที่ร่างกายสร้าง ทำให้มีปริมาณสะสมมากขึ้น
ดังนั้น ข้ออธิบายนี้จึงไม่น่าใช่

แล้วคุณละ คิดว่าอธิบายได้ด้วยอะไร ?

หมายเลขบันทึก: 453917เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2011 02:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 00:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

คุณครูมาเยี่ยมคุณหมอยามดึก ณ เมืองไทยครับ ;)...

เล่าเรื่องดุจช่างชำนาญศิลป อ่านแล้วเห็นภาพยลยินตามจินตนาคะ
ขอบคุณบันทึกดีดีนะคะ


อ่านเรื่องนี้แล้ว เป็นยานอนหลับอย่างดีด้วยหรือเปล่าคะ :-)
ขอบคุณ ที่มาเยี่ยมเยียนคะ 


กำลังใจ จากท่าน ดังธารใส
หล่อเลี้ยงให้ มีพลัง หมั่นฝึกฝน
เขียนบอกเล่า ฟังเขา เข้าใจตน
กลอนเริ่มวน ขอจบ เท่านี้เอย...ขอบคุณมากคะ :-)

 

ขอบคุณครับ...

ที่อนามัยของผม ไม่มี D2 และ D5

เพราะเป็นยาที่ควบคุมครับ

จะได้ไปแนะนำทุกคนที่นอนไม่หลับครับ

เวลาผมกินกล้วยน้ำหว้า(ครึ่งหวี)แล้วรู้สึกง่วงเวลาขับรถ

ที่ผ่านมาได้แต่สงสัยว่าเป็นเพราะอะไรหนอ?

แต่ตอนนี้รู้แล้วครับว่าเป็นเพราะอะไร คิคิคิ

ตอนเป็นแพทย์ฝึกหัด จัดยา D2 และ D5 ราวกับยาสามัญประจำบ้านคะ
แต่ความจริงใจ มีใจช่วยเหลือ เป็นสิ่งสำคัญกว่า ยาเหล่านี้มากคะ  

คิดว่า อาจเป็นเพราะกล้วยมีแป้ง น้ำตาลมาก กินแล้วอิ่มสบายท้องคะ
เหมือนเรากินข้าวเหนียวแล้ว ท้องตึงหนังตาหย่อน.. :-)

ปล. รื้น คือ อาการน้ำตาเอ่อท้นขอบตาคะ 

สวัสดีครับอาจารย์ หมอ

กล้วยน้ำหว้าสุกห่าม กับน้ำผึ้งรวงทานมาเกือบสามสิบปี เบาหวานไม่มี เช็คดดูแล้ว

น่าสนใจมากคะ

เคยเจอคนไข้ (ที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน) บอกว่า ทานน้ำผึ้งเป็นประจำเหมือนกัน

ขณะคนที่ตรวจเจอเป็นเบาหวาน บางคน เขาตกใจบอกว่า ไม่ได้กินหวานเลย

ได้คำถามการศึกษาเพิ่มอีกหนึ่ง..:-) 

 

  • ตามมาติดๆ ครับ
  • อ่านง่าย ได้ความรู้
  • แง่งามแห่งความคิด
  • ขอบคุณครับคุณหมอ

 

มีกำลังใจเขียนขึ้นเยอะเลยคะ อาจารย์
เรียนรู้จากคนไข้ เป็นตำราเล่มใหญ่ ที่อ่านอย่างไรก็ไม่หมดคะ

ผมว่าหลับเพราะเธอ "ถูกฟัง ได้เล่า และเลยเยียวยาตนเอง" ครับ congratulations!

 

หนูก็คิดแบบอาจารย์คะ
Placebo = Please :-)

อาทิตย์ต่อไปป้าอาจจะว่า "กำลังจะหลับ นึกได้ว่ายังไม่ได้กินกล้วย เลยลุกมากินเพราะกลัวนอนไม่หลับ" 555 เรื่องนี้น่ารักดีค่ะ ^ ^

สวัสดีครับ

ผมอ่านบทสนทนาที่คุณหมอเล่า อดคิดขำตัวเองไม่ได้ว่าครั้งหนึ่ง(และมีเสมอๆ) เคยมีบทสนทนาคล้ายแบบนี้ แต่กลับเป็นเรื่องของจิตใจและการปฏิบัติธรรม

จะแนะนำให้นั่งสมาธิและเดินจงกรม เพราะหลายคนบอกว่าพอนั่งสมาธิแล้วมักจะง่วง ก็เลยบอกว่านั่งแล้วง่วงก็ให้นอนหลับได้เลย ร่างกายจะได้พักผ่อน

ผมเชื่อเรื่องจิตใจมีอำนาจรักษาร่างกายได้เอง หากรู้ถึงวิธีการสร้างพลังจิตตรงนี้ ก็จะไปเสริมระบบการทำงานปรกติของร่างกายได้

อ่านแล้วสนุกไปด้วยครับ ตรงที่ได้แก้ไขทางออกให้คนอื่น ขอบคุณครับ

   

  • อ่านเพลินดีค่ะ คิดถึงที่คุณหมอประเวส วะสี พูดว่า ที่หมอรักษาคนไข้ไม่หายก็เพราะหมอคนนั้น "รู้จักแต่โรคแต่ไม่รู้จักคน" ที่หมอป.คนงาม แนะนำวิธีปฏิบัติที่ช่วยให้ป้าร. อาการดีขึ้นได้ก็เพราะหมอป.รู้จักทั้งโรคทั้งคนกระมังคะ
  • ตัวเองไม่มีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับค่ะ เป็นคนหลับง่ายและตื่นได้ตามเวลาที่ต้องการโดยไม้ต้องใช้นาฬิกาปลุก แต่มีปัญหาคือไม่ค่อยได้นอนค่ะ นอนคืนละประมาณ 4-5 ชั่วโมง  แต่ตื่นขึ้นมาก็สดชื่นนะคะ เพราะเวลาหลับจะหลับสนิท เคยฟังที่หมอแนะนำว่าควรนอนวันละ 6-8 ชั่วโมง (ดร.เสรี วงศ์มณฑา ให้สัมภาษณ์ในรายการทีวี ว่านอนคืนละประมาณ 4 ชั่วโมงเหมือนกัน และบอกว่าเวลาเท่านั้นเพียงพอเพราะอยู่ที่คุณภาพของการนอน) เคยอ่านมาว่าการนอนน้อยจะทำให้อายุสั้น จริงไหมคะ (สงสัยจะเป็นป้าร.ไปอีกคน ชวนอาจารย์หมอคุยยาว)   
  • เห็นคุณหมอชอบเรียนรู้ภาษาอังกฤษ คงไม่รังเกียจนะคะที่จะขออนุญาตชี้แนะนิดหน่อยว่า "base on true story" น่าจะใช้เป็น "based on  true story" เพราะประโยคเต็มๆ คือ "The story to tell is based on a true story." ค่ะ 

 

เป็นไปได้คะ :-)  ชอบรูป profile นะคะ

 

 

จะแนะนำให้นั่งสมาธิและเดินจงกรม เพราะหลายคนบอกว่าพอนั่งสมาธิแล้วมักจะง่วง ก็เลยบอกว่านั่งแล้วง่วงก็ให้นอนหลับได้เลย ร่างกายจะได้พักผ่อน

เป็นคำแนะนำที่ดีมากเลยคะ
คนที่รู้ตัว - insight สามารถเยียวยาตัวเองได้
แต่บางคน เขายังไม่รู้ว่าต้นเหตุของปัญหาคืออะไร ใครมาบอกก็พาลโกรธ บางครั้งจึงต้องอาศัยกลยุทธหลายๆ ทางร่วมด้วยคะ 

เรียนอาจารย์คะ

  • เห็นด้วยกับที่ท่านอาจารย์ประเวศกล่าวคะ -- โรคที่รักษาไม่หายในปัจจุบันนี้ 80% เป็นโรคที่ถ้าไม่เยียวยาตนเองร่วมด้วย ก็ไม่หาย -- แต่วิทยาการแพทย์ตะวันตกนั้น เกิดขึ้นในยุคอุตสาหกรรม มองสิ่งต่างๆ แบบเครื่องจักร physical ซึ่งต้องอาศัยช่างซ่อมแต่ละส่วนเท่านั้น ซ่อมตัวเองไม่ได้ จึงเป็นที่มาของคำว่า "Physician" -- เมื่อเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร ความเข้าใจใหม่ก็เกิดขึ้น ว่ามนุษย์มีศักยภาพของตนเอง ต่อไปเราอาจเรียกแพทย์ เป็น "Healer" หรือ "Mentor" แทนก็ได้คะ ( ชวนอาจารย์คุยยาวเหมือนกัน :-)
  • จำนวนชั่วโมงการนอนไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพ แบบที่อาจารย์ว่าเลยคะ ตอนหลับสมองมีการพัก ซ่อมแซม เช็คระบบ ซึ่งสมองแต่ละคนใช้เวลาไม่ต้องเท่ากันก็ได้..หากตื่นมาแล้วสดชื่น ไม่ง่วงเหงาระหว่างวัน ก็แปลว่าพักผ่อนเพียงพอ
  • ขอบคุณอย่างมากคะ ได้แก้ไขพร้อมใส่ไฮไลต์ไว้ ครั้งหน้าจะได้ไม่ลืม :-)
  • ขอบคุณอาจารย์หมอ CMUpal มากนะคะที่กรุณาเข้ามาตอบเร็วทันใจ คำอธิบายของอาจารย์หมอที่ว่า "จำนวนชั่วโมงการนอนไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพ...ตอนหลับสมองมีการพัก ซ่อมแซม เช็คระบบ ซึ่งสมองแต่ละคนใช้เวลาไม่ต้องเท่ากันก็ได้..หากตื่นมาแล้วสดชื่น ไม่ง่วงเหงาระหว่างวัน ก็แปลว่าพักผ่อนเพียงพอ" เป็นคำอธิบายที่ได้ทั้งหลักปฏิบัติด้านการนอน และความรู้เกี่ยวกับปฏิบัติการของสมองขณะนอนหลับ ทำให้ดิฉันนึกกถึงสุภาษิตที่ว่า "คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล" ขึ้นมาค่ะ ดิฉันชอบอ่านบันทึกที่ได้เกร็ดความรู้ในแนวที่อาจารย์หมอเขียนค่ะ
  • 
  • ชื่นชมอาจารย์หมอมากค่ะ ที่เป็นคนประเภทเปิดรับในการเรียนรู้ ไม่เป็นคนประภท "ดื้อยา น้ำชาล้นถ้วย" เหมือนบางคนที่พอมีการอบรมที่มีคำว่า "พัฒนา" ก็บอกว่า ไม่เข้าหรอกเพราะเราน่ะพัฒนาตนเองได้ ไม่ต้องให้ใครมาพัฒนา
  • ดิฉันเองก็เป็นคนชอบเรียนรู้เหมือนกับอาจารย์หมอ เพราะถือคติว่า "ยิ่งเรียน ยิ่งรู้ว่ารู้น้อย แต่ก็โง่น้อยลงที่ไม่หลงว่ารู้มาก" คราวนี้ก็ได้เรียนความรู้ใหม่อีกอย่างจากอาจารย์หมอ คือ ที่มาของคำว่า "Physician" ขอบคุณมากค่ะ
  • ดิฉันได้ทำการวิจัยเพื่อพัฒนาสมรรถภาพในการเรียนรู้ (Learning Competencies) ให้กับนักศึกษาระดับปริญาตรีจากปี 2545-2552 และก็ยังเน้นการพัฒนาความเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน (Curiosity) ซึ่งเป็นสมรรถภาพสำคัญที่พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน ดิฉันขออนุญาตนำอาจารย์หมอไปเป็นแบบอย่างของผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนให้กับนักศึกษาด้วยนะคะ (ยาวอีกแล้วค่ะ)

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท