ร่วมประชุมภาคี KM ภาคราชการ (1)


ร่วมเรียนรู้รับฟัง / ภาคี KM ราชการ / ได้สาระมาฝาก

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม 2549 ผมมีโอกาสเข้าร่วมประชุมภาคีการจัดการความรู้ ภาคราชการ ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นที่ มสธ. ได้พบกับ จอมยุทธ KM จากหลายสำนักมา ลปรร. กันอย่างเข้มข้น เนื้อหาหลักเป็นการนำเสนอสิ่งที่ได้จากการศึกษาดูงาน KM 4 บริษัทจากประเทศญี่ปุ่น ถ่ายทอดโดยตัวแทนจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ส่วนหนึ่งของการนำเสนอหาอ่านได้ที่ วิธีการทาง KM จากเวทีภาคี KM

สาระความรู้ที่ได้รับสร้างความ ชัดเจน ในกระบวนการ KM ให้เกิดขึ้นมากมายหลายประการ เพราะเป็นการนำ เรื่องจริง ที่ได้จากการดูงานมา Storytelling ให้ฟังด้วยน้ำเสียงและลีลาการนำเสนอแบบเป็นธรรมชาติ ปราศจากการ อวดอ้าง และสอดแทรกด้วยมุขตลกแบบน่ารัก ๆ ของคุณพรทิพย์ สุวานิโซ และคุณสุวรรณา เอื้อสิทธิชัย จากสถาบันเพิ่มฯ ทำให้ได้ฟังไป-คิดไปอย่างสนุกสนาน เพราะเรื่องที่นำเสนอมีสาระดี ๆ ให้สมองได้คิดสื่อสารกันอยู่ภายใน แล้วต้องรีบถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือพร้อมลายเส้นในรูปแบบ Mind Map โยงไปโยงมาในแต่ละหน้าของเอกสารประกอบการบรรยาย

ผมถามตัวเองว่า สรุปได้ไหมว่าได้รับอะไรบ้างจากการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ? และนี่คือคำตอบ...ครับ

  1. ได้เห็นตัวอย่างของ KM ที่ชัดเจนไหลเวียนอยู่ในเกลียวความรู้ภายใต้รูปแบบ SECI-Model

ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนกระบวนการ KM ในส่วนที่ตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วม เป็นการแสวงหาแนวทางโดยใช้ Common Sense มองโจทย์-มองเหตุการณ์-มองเป้าหมายที่จะมุ่งไป แล้วใช้การพูดคุยกันในกลุ่มผู้ร่วมงาน โดยพยายามประยุกต์หลักการและประสบการณ์ที่เรียนรู้จากการอ่านหนังสือ อ่าน Blog ดูและฟัง VCD ของ สคส. เป็นส่วนใหญ่ มีบ้างที่ได้เข้าร่วมรับฟังการบรรยาย 2-3 ครั้ง เมื่อนำมาปฏิบัติก็พยายามทบทวนการทำงาน เตือนตัวเอง และเตือนกันเองในกลุ่ม เพราะกลัวว่าจะ หลงทาง

ตัวอย่างของ 4 องค์กรจากประเทศญี่ปุ่น ทำให้ได้เห็นกระบวนการ KM ในระดับที่ขอใช้ศัพท์บัญญัติว่า Advanced Common Sense เพราะเห็นชัดเจนว่า หัวปลา (KV : Knowledge Vision) ของเขาเริ่มจากประเด็นสำคัญที่มาจากพื้นฐานของการปฏิบัติอย่างแท้จริง

  • หัวปลาของบริษัท Eisai เกิดจากความพยายามที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้วิสัยทัศน์ มุ่งมั่นสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าและชุมชน
  • หัวปลาของบริษัท Fukoku เกิดจากความพยามอย่างแรงกล้าที่จะ เปลี่ยนแปลงโดยไม่ต้องรอให้เกิดปัญหา
  • หัวปลาของบริษัท Sony เกิดจากประสบการณ์ที่จะต้อง วิเคราะห์ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเพื่อมองหาแนวทางใหม่ ๆ และจัดเก็บบทวิเคราะห์นั้นไว้ในฐานข้อมูล เพื่อเป็นคลังความรู้ในกระบวนการออกแบบต่อไป
  • หัวปลาของบริษัท Nissan เกิดจากความจำเป็นที่จะต้อง เปลี่ยนแปลงวิถีการทำงาน เพราะอยู่บนสถานการณ์ Do or Die

เมื่อได้ หัวปลา ที่ชัดเจนเป็นของทุกคน (หรือเป็นส่วนใหญ่) แล้ว กระบวนการ ลปรร. ก็ตอกย้ำให้ตระหนักในความสำคัญของการขับเคลื่อนไปตามทิศทางของ SECI-Model

เราได้เห็นรูปแบบของ บะ (Ba)” ซึ่งหมายถึง การจัดพื้นที่สำหรับ ลปรร. (Shared Space) ทั้งอย่างไม่เป็นทางการและอย่างเป็นทางการ โดยการตกแต่งสถานที่ จัดบรรยากาศ เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ ใช้สีและแสง ฯลฯ ให้เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมกระบวนการ KM ดูภาพถ่ายไป-ฟังบรรยายไปก็นึกถึงงานของ คุณเสถียร อุสาหะ จากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง Mobile Office อีกมิติหนึ่งของการจัดรูปแบบสำนักงาน

และยังได้เห็น Ba ที่เป็นพื้นที่เสมือนใน Cyber Space ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ยิ่งมั่นใจว่าที่ตัวเองได้ลงทุนลงแรง ทุ่มเทเวลาศึกษา เรื่องของการสร้าง Web Service ด้วยระบบ CMS : Content management System เป็นเรื่องที่จำเป็นและมาถูกทางแล้ว

จากการนำเสนอทำให้มั่นใจได้ว่า KM คือเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพ ช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาคน พัฒนางานรวมทั้งพัฒนาองค์กรได้อย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าในรายละเอียดของความสำเร็จทางธุรกิจที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มยอดขาย ลดรายจ่าย เพิ่มกำลังผลิด ฯลฯ จะไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนออย่างชัดเจน แต่ก็เข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องที่ควรสงวนไว้เป็นความลับภายในองค์กร.

(โปรดติดตามตอนต่อไป....)

คำสำคัญ (Tags): #ภาคีราชการ
หมายเลขบันทึก: 45266เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2006 23:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
รออ่านต่อคะ

ดีใจจังได้อ่านการสะท้อนจากการได้เข้าร่วมประชุมภาคีราชการครั้งนี้ และจะติดตามอ่านต่อนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท