จี้ใจได้แง่คิด... เรื่องบัญชาจากสวรรค์


        กาลครั้งหนึ่ง มีสถานที่แห่งหนึ่ง เป็นที่ตั้งของสำนักที่สำคัญ 2 สำนัก คือ สำนักฤษีผู้ปฏิบัติธรรม และสำนักนางโลม สำนักทั้งสองตั้งอยู่ใกล้ชิดติดกัน หัวหน้าสำนักทั้งสองต่างปฏิบัติหน้าที่ตามอุดมการณ์ที่ตนมุ่งหวัง โดยฤษีก็มุ่งปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียรภาวนา มีผู้มากราบไหว้ฟังธรรมไม่เว้นแต่ละวัน ส่วนสำนักนางโลมก็เปิดกิจการให้บริการลูกค้าชายที่มาเที่ยวเกิดความประทับใจและมาใช้บริการอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
     วันเวลาผ่านไป ทั้งฤษีและหัวหน้าสำนักนางโลมปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความราบรื่น ไม่เกิดความขัดแย้งหรือบาดหมางกันแต่ประการใด จนทั้งสองแก่เฒ่าและสิ้นอายุขัยในเวลาไล่เลี่ยกัน บุคคลทั้งสองหนีไม่พ้นต้องถูกยมทูตพาดวงวิญญาณมาที่ยมโลกเพื่อให้พญายมพิพากษาตามผลกรรมที่แต่ละคนได้กระทำไว้ ซึ่งมีผู้บันทึกข้อมูลแยกประเภทไว้อย่างละเอียดลออ 2 คน คือ สุวรรณ และ สุวาน(สุนัข) ถ้าใครทำความดี สุวรรณก็จะบันทึกไว้ในแผ่นทอง ถ้าใครทำความชั่ว สุวานก็จะบันทึกไว้ในหนังสุนัข
      เมื่อฤษีและหัวหน้าสำนักนางโลมมาอยู่ต่อหน้าพญายมเพื่อรอรับบัญชาจากท่านด้วยหัวใจที่ระทึก พญายมจึงขอบัญชีจากทั้งสุวรรณและสุวานมาตรวจดูข้อมูลผลกรรมของบุคคลทั้งสอง พลิกไปพลิกมาอย่างถี่ถ้วนแล้วมีบัญชาด้วยสรุปเสียงอันดังว่า
     "ฤษี ไปลงนรก หัวหน้าสำนักนางโลมขึ้นสวรรค์ "
     ฤษีตกตะลึงในคำบัญชาของพญายม พอได้สติฤษีจึงยกมือขึ้นประท้วงทันที
     "ท่านดูข้อมูลถี่ถ้วนแล้วหรือยัง เพราะตลอดอายุของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญศีลภาวนาอย่างเคร่งครัด"
     เมื่อถูกประท้วง พญายมจึงขอบัญชีข้อมูลจากสุวรรณและสุวานมาตรวจดูอีกครั้ง และยืนยันหนักแน่นว่า
     "ฤษีไปลงนรก หัวหน้าสำนักนางโลมขึ้นสวรรค์ "  พร้อมทั้งกล่าวต่อ
     "ข้อมูลปรากฏชัดเจนว่า  ระหว่างที่ฤษีปฏิบัติธรรมอยู่นั้น  ใจของท่านไม่ได้อยู่กับการปฏิบัติธรรม  แต่ใจของท่านไปอยู่ที่ฝั่งตรงข้าม(สำนักนางโลม)อยู่ตลอดเวลา  ส่วนหัวหน้าสำนักนางโลมนั้น  ระหว่างปฏิบัติหน้าที่  มีความตระหนักตลอดเวลาว่า ชาตินี้เกิดมามีกรรม จึงต้องมาทำงานที่สังคมรังเกียจ  จึงตั้งจิตอธิษฐานไปยังฝั่งตรงข้าม(สำนักฤษี) หวังธรรมะเป็นที่พึ่ง  ว่าเกิดชาติหน้าฉันใดขออย่าได้มาทำงานที่สังคมรังเกียจเช่นนี้เลย  ด้วยจิตที่เป็นกุศลและอกุศล จึงขอยืนยันตามคำตัดสินเดิม"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า  "จิตมนุษย์นี้ไซร้  ยากแท้หยั่งถึง"




    
   

หมายเลขบันทึก: 45140เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2006 07:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2018 12:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ท่านฤษีก้อไม่น่าจะถูกตัดสินถึงกับลงนรก....เพราะไม่มีข้อสังเกตว่าทำผิดประการใด ส่วนสำนักนางโลมอาจอนุโลมได้ว่าช่วยคนให้พ้นทุกข์เป็นกรณีกรณีไปค่ะ

ลูกค้าที่ออกจากสำนักนางโลมหลังจากคลายเครียดแล้วไปใช้บริการของฤษีต่อยอดเข้าถึงธรรมได้บุญ

นางโลมจึงเกื้อหนุนลูกค้าด้วยหน้าที่ และเป็นกัลยาณมิตรแนะทางสู่การปฏิบัติธรรม

เฉลย...ฤษีกล่าวต่อว่า.. "ข้อมูล ปรากฏชัดเจนว่าระหว่างที่ฤษีปฏิบัติธรรมอยู่นั้น จิตใจของท่านไม่ได้จดจ่ออยู่ที่หลักธรรม แต่กลับวอกแวกมุ่งสนใจแต่สำนักนางโลมที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม ส่วนหัวหน้าสำนักนางโลมนั้น ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเหน็ดเหนื่อย ได้ตระหนักอยู่เสมอว่างานในหน้าที่ของตนเป็นงานที่ได้รับการดูถูกเหยียดหยามจากสังคม จึงเกิดความทุกข์ใจและมีจิตที่แนวแน่มุ่งไปที่สำนักฤษีฝั่งตรงข้าม หวังอาศัยธรรมะเป็นที่พึ่ง เป็นที่หล่อเลี้ยงจิตใจมาโดยตลอด ดังนั้น ด้วยจิตที่เป็นกุศลและอกุศลของบุคคลทั้งสอง จึงขอยืนยันคำตัดสินเดิม" ท่านเห็นหรือยังว่า "จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้ หยั่งถึง" จริงๆ ดังนั้นการประเมินคุณลักษณะของคน(ปัญหาอำพรางและซ่อนเร้น) จึงมองเพียงภาพลักษณ์ภายนอกไม่ได้ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือตรวจสอบที่ดี ดังนั้นการที่เราจัดอบรมบุคลากรอย่างโปรยหว่านเรื่อง "การพัฒนาจิตสำนึกในการ...." พอกลับจากอบรมแล้วไม่มีการสานต่อให้ซึมซับ...ก็คงเป็นเหมือนเดิมนั่นแหละ...แถมได้เล่ห์เหลี่ยมที่แพรวพราวมากขึ้นอีก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท