๘๑.การมองเห็นด้วยแบบแผนทางศิลปะ : จุดสนใจและศูนย์รวมเรื่องราวที่ทำให้เกิดมิติความงาม


อาจารย์ขจิต ฝอยทองท่านนำเอาภาพถ่ายมาแบ่งปัน และมีความภาคภูมิใจนำเสนอมากด้วยเหตุหลายประการ ทั้งเนื่องจากการได้ถ่ายภาพผักและพืชพันธุ์ที่เป็นอีกหนึ่งความสนใจของท่าน รวมทั้งได้เก็บบันทึกข้อมูลภาพกิจกรรมต่างๆที่ได้ทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านบอกว่าตอนนี้กำลังสนุกไปกับการฝึกปรือฝีมือในการถ่ายภาพไปด้วย มีหลายคนช่วยกันเป็นเครือข่ายเรียนรู้ในเรื่องนี้ให้กับอาจารย์ ซึ่งก็จัดว่าเป็นชุมชนนักปฏิบัติที่เกาะกลุ่มเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างไม่เป็นทางการอีกแบบหนึ่ง ที่นับว่าเป็นสิ่งดีต่อการพัฒนาการเรียนรู้ของสังคมให้เพิ่มพูนมากยิ่งๆขึ้น

ความสนใจนี้นับว่ามีความสำคัญสำหรับคนทำงานความรู้ที่ได้มีการนำเอาภาพถ่ายและงานศิลปะมาผสมผสานเข้ากับการทำงาน ซึ่งจะทำให้การทำงานศิลปะและการถ่ายภาพสามารถพัฒนาไปเป็นเครื่องมือและวิธีทำงานเชิงความคิด รวมทั้งจะช่วยส่งเสริมให้คนทำงานสาขาต่างๆมีความสามารถเป็นคนทำงานอย่างบูรณาการ ใช้ศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยีทางการศึกษา มาขยายพลังการเป็นผู้เรียนรู้ของปัจเจก เพื่อพึ่งการปฏิบัติของตนเองเป็นตัวตั้งต้น ในอันที่จะริเริ่มและทำการงานต่างๆทั้งของตนเองและของสังคมส่วนรวม ให้มีพลังในการบรรลุจุดหมายที่ดีได้มากยิ่งๆขึ้น

โดยเฉพาะการได้เพิ่มพูนความสามารถบันทึกและสร้างความรู้มือหนึ่งจากสิ่งที่ได้ทำด้วยตนเองโดยตรงไปด้วยอย่างมีศิลปะ ดังนั้น ผมจึงขอร่วมเสริมกำลังความสนใจ ซึ่งไม่เพียงของท่านอาจารย์ขจิตเท่านั้น ทว่า อีกหลายท่านด้วยที่ในขณะที่ทำงานและบันทึกเรื่องราวต่างๆไป ก็เรียนรู้และหาประสบการณ์เกี่ยวกับการถ่ายภาพไปด้วย ผมขออนุญาตชวนกันเรียนรู้ผ่านการดูและคุยกันไปบนงานของท่านอาจารย์ขจิต ฝอยทองพร้อมกับได้ชมฝีมือเป็นกำลังใจให้กันไปด้วยเสียเลย ขอเริ่มด้วยตำแหน่งสมมุติขององค์ประกอบในการจัดวางจุดสนใจ หรือ Composing Point of Interests

จุดสนใจ (Point of Interest) :
ประเด็นหลักของการบันทึก บอกเล่า และถ่ายทอดในภาษาภาพ  

ในการบันทึกและเล่าเรื่องด้วยภาษาพูดหรือภาษาเขียน เราจะรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีต่อคำว่า ประเด็นหลัก, แก่นความคิด, แก่นเนื้อหา, Theme, ข้อเสนอหลัก, ซึ่งจะทำให้เรื่องราวของการเขียนและพรรณา เพื่อบันทึก ถ่ายทอด และนำเสนอเรื่องต่างๆ สามารถบรรลุจุดหมายร่วมกันได้เป็นอย่างดี อีกทั้งสามารถถ่ายทอดมิติสุนทรียภาพซึ่งทำให้มนุษย์สามารถสื่อสารและส่งผ่านความรู้สึก ตลอดจนมิติความเป็นชีวิตจิตใจให้กันและกันได้เป็นอย่างดี ในภาษาภาพถ่าย งานทัศนศิลป์ ตลอดจนงานศิลปะแขนงต่างๆก็ต้องให้ความสำคัญต่อองค์ประกอบดังกล่าวนี้เช่นกัน ทว่า แก่นความคิดและประเด็นหลักของงานศิลปะ อาจจะไม่ได้อยู่ในรูปของภาษาพูด ถ้อยคำ และข้อความ แต่จะสามารถสื่อแสดงได้หลายวิธีที่ วิธีหนึ่งก็คือ จุดรวมความสนใจ

การสร้างจุดรวมความสนใจ ให้มีคุณสมบัติของการเป็นจุดสนใจและเป็นองค์ประกอบที่สามารถบันทึก บอกเล่า ถ่ายทอด และสื่อสะท้อนแก่นความคิดหรือประเด็นหลักของเรื่องราวต่างๆในภาพตามที่เราต้องการได้นั้น ต้องรู้จักเพื่อทำงานความคิดบนองค์ประกอบพื้นฐาน ๒ ประการ คือ สิ่งที่เลือกให้เป็นจุดสนใจ (Interested Subjects and Objects) และ ตำแหน่งการจัดวางศูนย์รวมของความสนใจ (Point of Interest)

ตำแหน่งการจัดวางศูนย์รวมของความสนใจนั้น เปรียบได้กับแบบแผนและโครงสร้างที่มองไม่เห็นในงานศิลปะและภาพถ่าย เป็นแผนที่และตำแหน่งแห่งหนทางจินตนาการ ซึ่งถ้าหากเรารู้จักและสร้างขึ้นเพื่อเป็นวิธีมองโลกรอบข้างขึ้นมาได้ในตนเองแล้ว ก็จะเหมือนกับการมีสายตาศิลปะ เห็นไวยากรณ์และระบบความเกี่ยวโยงกันในลีลาต่างๆของสรรพสิ่งและโลกรอบข้างที่สื่อแสดงและปรากฏให้เห็นอย่างมีศิลปะอันหลากหลายลีลา และเมื่อสามารถเห็นแล้ว ก็จะสามารถเห็นจักรวาลของความงาม และเลือกเฟ้น พร้อมกับนำมาบอกเล่าถ่ายทอดด้วยภาษาศิลปะ ในโอกาสต่างๆที่ต้องการได้

ตำแหน่งการจัดวางศูนย์รวมของความสนใจแบบพื้นฐานที่สุด รวมทั้งการฝึกสร้างแผนที่ทางจินตนาการในการมองและเห็นมิติความสัมพันธ์เกี่ยวกับขนาด สัดส่วน ระยะใกล้ -ไกล ก่อน-หลัง พื้นที่-ความว่าง รูปทรงและรูปร่าง-อากาศ,ช่องว่าง ทั้งในแนวดิ่ง แนวระนาบ แนวทแยง และผสมผสานกันอย่างซับซ้อนนั้น นักทำงานศิลปะถ่ายภาพและคนทำงานศิลปะเรียกแผนที่ดังกล่าวนี้ว่ากฏ ๓ ส่วน ซึ่งสรุปเป็นแนวคิดที่สำคัญได้คือ

  • ไม่ใช่ตำแหน่งจุดศูนย์กลางบนพื้นที่มองภาพ
  • เมื่อลากเส้นทแยงมุมออกจากจุดศูนย์กลางของภาพออกไป ๔ ด้าน จะอยู่ประมาณ ๑ ใน ๓ ของเส้นรัศมีที่เชื่อมจุดศูนย์กลางกระจายออกในแนวทแยงมุมแต่ละเส้น ดังภาพในลำดับต่อไป

 

กฏ ๓ ส่วนเป็นเส้นจินตนาการที่นักถ่ายภาพและคนทำงานศิลปะจะมองสิ่งต่างๆโดยมีเส้นแนวนอน ๓ เส้น และเส้นแนวตั้ง ๓ เส้น ตัดกันเป็นสี่เหลี่ยมดังภาพ ตรงตำแหน่งของเส้นที่ตัดกันและแสดงด้วยวงกลมเล็กๆ ๔ แห่งนั้น เรียกว่าตำแหน่งการวางจุดสนใจจากกฏ ๓ ส่วนดังที่กล่าวถึงในข้างต้น คนทำงานศิลปะจะมีเส้นสมมุตินี้อยู่ในจินตนาการเหมือนเห็นเส้นรุ้งและเส้นแวงแผ่กระจายทั่วไปอยู่ในทุกอย่างทั้งในโลกภายนอกและในความคิด

สิ่งต่างๆที่เรานำไปจัดวางในบริเวณดังกล่าวนี้ ก็จะสอดคล้องกับตำแหน่งการสะดุดความสนใจในการมองของคนเรา และเป็นตำแหน่งที่คนทั่วไปจะใช้จัดความสมดุลจากการเห็นโลกรอบข้างด้วยการสายตา ทำให้เกิดจังหวะทางความงามขึ้นอย่างได้ผลเสมอ เราลองนำเอาภาพถ่ายของอาจารย์ขจิตมาทดลองดูด้วยกันอีกครั้งก็ได้ครับ   

ภาพถ่ายจากฝีมือของท่านอาจารย์ขจิต ฝอยทอง เป็นภาพถ่ายที่ยกระดับการฝึกปรือฝีมือการถ่ายภาพของตนเองมาระดับหนึ่งแล้ว จะเห็นได้ว่าอาจารย์ท่านสามารถสร้างศิลปะและความงามไปบนบันทึกและการบอกเล่าด้วยภาพถ่ายเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อจะพัฒนาต่อไปอีก ก็จะสามารถสร้างสรรค์ได้อีกอย่างหนึ่งคือการเพิ่มภาษาทางศิลปะลงไป เรามองภาพถ่ายของอาจารย์ขจิตอีกครั้ง แต่คราวนี้ด้วยการมีแผนที่ความงามทางศิลปะด้วยกฏ ๓ ส่วนอยู่ในจินตนาการของการมองภาพ ใส่ลงไปด้วย

จะเห็นว่า สิ่งที่ดูแล้วมีความโดดเด่นที่สุดในภาพถ่ายต้นฉบับเดิมนั้น เมื่อมองด้วยแผนที่สร้างความงามทางศิลปะด้วยการจัดวางจุดสนใจแล้ว เราก็จะค้นพบเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งได้ว่า แต่เดิมนั้น ภาพเกิดความสวยงามได้ก็เนื่องจากการใช้เทคนิคการถ่ายภาพจัดวางระยะชัดและการเบลอ หรือ เรียกว่าเทคนิคการ Focused = ทำให้ชัด  และ Defocused = การทำให้ไม่ชัด ซึ่งก็คือปล่อยให้เบลอ

ภาพใบไม้และยอดไม้สามารถสะดุดความสนใจได้เนื่องจากขนาดและความชัดต่างจากส่วนอื่นๆ แต่หากสังเกตให้ดีก็จะพบว่า เมื่อมองแล้วก็จะอดมองไปยังมดแดงที่เห็นเลือนๆอยู่ข้างหลังไม่ได้ และเมื่อไล่สายตาไปแล้ว ก็จะเห็นว่าตรงช่องว่างระหว่างใบไม้กับมดแดงนั้นนั่นเองที่มีระยะห่าง ทำให้สัดส่วนของพื้นที่ว่างเป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลเพิ่มขึ้นมา และองค์ประกอบย่อยๆก็สามารถจะหลุดออกจากกัน ขาดความเชื่อมโยงของจังหวะและความต่อเนื่องเพื่อสร้างภาพรวมให้เป็นเอกภาพเดียวกัน หรือหลุดออกจากการอยู่ใน Theme เดียวกันได้โดยง่าย จึงก่อให้เกิดเรื่องราวอย่างใหม่ขึ้นมาอีกชุดหนึ่งตรงส่วนที่มดแดงเกาะยอดผักเป็นตัวเล่าเรื่องอย่างอิสระออกจากสิ่งที่เห็นอันดับแรก ซึ่งไม่เสริมกันให้บอกเล่าและถ่ายทอดสิ่งต่างๆร่วมกันให้ดีขึ้น  

ลักษณะอย่างนี้ การเพิ่มมิติการจัดวางองค์ประกอบทางศิลปะเข้าไปก็จะช่วยแก้ปัญหาให้ได้ ทดลองจัดองค์ประกอบใหม่ ให้สิ่งที่ใช้เป็นศูนย์กลางความสนใจขยับไปอยู่ในตำแหน่งของจุดสนใจตามกฏ ๓ ส่วน ก็จะให้ผลออกมาดีกว่าเดิมได้อย่างชัดเจน ดังภาพ

ภาพมีความสวยงาม องค์ประกอบต่างๆมีพลังในการแสดงเรื่องราวและสามารถบอกเล่าสิ่งที่เราต้องการให้เห็นแนวคิดหลักได้เด่นชัดมากขึ้น เมื่อมองไปก็เห็นประเด็นเดียว แนวคิดเดียว ดึงดูดองค์ประกอบอื่นๆให้มาเสริมกันและกันเป็น Theme เดียวกันได้อย่างกลมกลืน

จะเห็นว่า วิธีดังกล่าวนี้จะช่วยให้เราสามารถบันทึกและจัดการข้อมูลภาพเพื่อเล่าเรื่องและถ่ายทอดสิ่งต่างๆด้วยภาษาภาพถ่ายได้ดีกว่าเดิม อีกทั้งสามารถพลิกแพลงการจัดองค์ประกอบเพื่อถ่ายทอดแง่มุมใหม่ๆซึ่งทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆหลากหลายออกไปได้อีก เหมือนกับการนำเอาข้อมูลและข้อเท็จจริงชุดเดิมมาเรียบเรียงประโยคใหม่และเขียนบอกเล่าเสียใหม่ให้เหมาะสมกว่าเดิมได้อีกหลายวิธี

ด้วยหลักการเดียวกันนี้ เมื่อเรานำไปใช้วาดภาพและทำสื่อทัศนศิลป์ต่างๆ ก็จะทำให้เราเห็นแบบแผนของความเป็นศิลปะและแบบแผนของความงามในการจัดองค์ประกอบต่างๆ เช่นเดียวกับเมื่อเรียนรู้และสื่อสัมผัสกับโลกรอบข้าง ก็จะสามารถเห็นระบบการเชื่อมโยงกันของสิ่งต่างๆที่มีแบบแผนและองค์ประกอบของความงามช่วยจัดวางสิ่งเหล่านั้นอยู่เสมอ เส้นสมมติเพื่อเข้าถึงจินตนาการทางศิลปะดังกล่าวจะมีอยู่ทั่วไปทั้งบนพื้นที่ รูปทรง ความว่าง อวกาศ กาลเวลา และความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง ที่เรามักได้ยินคนกล่าวว่าทุกอย่างเป็นศิลปะ ไม่มีถูกไม่มีผิดนั้น ก็ถูกครึ่งหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วที่คนมองเห็นศิลปะจากทุกสิ่งได้ ก็เนื่องจากเขามีวิธีมองและวิธีจินตนาการต่อทุกอย่างในลักษณะนี้นั่นเอง ทว่า นี่เป็นเพียงแนวคิดเรื่องจุดสนใจในภาษาภาพและทัศนศิลป์เท่านั้น

วิธีมองและจินตนาการต่อสิ่งที่ไม่สามารถเห็นด้วยตาให้ได้ดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือทำงานความคิดสร้างสรรค์เพื่อเลือกเฟ้นและใช้กล้องถ่ายภาพบันทึกสิ่งที่เห็นด้วยวิธีดังกล่าวนี้ไว้ ทำให้การถ่ายภาพเป็นเครื่องมือทำงานความรู้ ปฏิบัติการทางศิลปะ สามารถสื่อสะท้อนการเห็น บอกเล่า ถ่ายทอด และดื่มด่ำซาบซึ้งไปกับความงามที่อยู่ในโลกรอบข้างได้อยู่ตลอดเวลา เมื่อฝึกฝนและปฏิบัติอยู่เสมอก็จะได้สายตาและวิถีทรรศนะทางศิลปะ สามารถบันทึก บอกเล่า และถ่ายทอดด้วยภาษาศิลปะเพิ่มขึ้นมาอีกมิติ เหมือนเป็นอีกสื่อภาษาหนึ่งที่ช่วยขยายขีดความสามารถให้แก่คนทำงานสาขาต่างๆให้ยิ่งมีพลัง ลดความเหลื่อมล้ำและข้ามกรอบความแตกต่างในสังคม ได้มากยิ่งๆขึ้น.

.....................................................................................................................................................................

หมายเหตุ : ขอขอบคุณผลงานภาพถ่ายของอาจารย์ดร.ขจิต ฝอยทอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

หมายเลขบันทึก: 442016เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2011 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

สวัสดียามเช้าของวันสุขสุดสัปดาห์ครับคุณอุ้มบุญครับ
คุณอุ้มบุญมีความงามอยู่ในสองมือและในจิตใจอยู่เสมอ

ขอบคุณดอกไม้และกำลังใจจากคุณครูนกทะเลและดร.ภิญญโครับ
ยามเช้าอย่างนี้มีมิตรผู้รู้มาเยือนทักทาย ในนิทานหิโตปเทศบอกว่ามีเทวดามาสู่ชีวิต
นำความมงคลและความสุขสวัสดีมาให้นะครับเนี่ย มีความสุขครับผม

  • อาจารย์ครับ ได้ควมรู้มากกว่าการอ่านหนังสือเฉยๆอีก
  • ได้เห็นมุมมองที่ชัดเจน
  • ต้องขอบคุณอาจารย์มากๆที่ให้คำแนะนำและทำทุกอย่างให้เป็นการเรียนรู้อย่างมีความสุข
  • ขอบพระคุณมากครับ
  • งั้นบันทึกนี้ทำเป็นมงกฏดอกหญ้าริมรั้วปลูกผักก็แล้วกันนะครับ มอบเป็นกำลังใจอาจารย์ และหากเป็นประโยชน์ต่อการได้แนวคิดเพื่อเอาไปใช้ทำงานของอาจารย์บ้างก็ถือว่าได้มีส่วนร่วมในทางอ้อมกับการทำสิ่งดีๆมากมายของอาจารย์นะครับ อาจารย์ทำงานดุจริงๆ   
  • เป็นงานชิ้นเล็กๆแต่ได้ทำเป็นที่ระลึกร่วมกัน ภาพถ่ายของอาจารย์, บวกกับการแนะนำของหมู่เพื่อน ที่ช่วยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้อาจารย์จนถ่ายทอดลงสู่การบันทึกภาพ, แล้วก็นำมาพินิจพิจารณาและเล่าใหม่เพื่อเรียนรู้แง่มุมทางศิลปะกับการเรียนรู้ทางสังคมของผม ออกมาเป็นของที่ระลึกและได้ทำเป็นหมายเหตุร่วมกันไง
  • เวลาอาจารย์เป็นใหญ่เป็นโตและเป็นโปรเฟสเซอร์มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศ(เป็นแน่ๆในอนาคต)แล้ว ผมจะได้เอามารำลึกถึงสักหน่อยว่าว่าเรามีบันทึกประสบการณ์เล็กๆนี้ด้วยกัน ผู้ที่สนใจก็ได้ประโยชน์เอาไปใช้ทำงาน เป็นกิจกรรมที่เท่ดี
  • ขอบคุณค่ะ..เป็นการวางแผนและจินตนาการก่อนบันทึกภาพที่ลุ่มลึกมากจริงๆ..

    ..มีภาพเมฆยามเย็นมาฝากค่ะ..พี่ใหญ่ตั้งใจจะจับภาพ "หมวกเมฆ" ที่มาพร้อมกันถึง ๓ ใบ แต่เล็งนานไปหน่อย..หมวกหลุดไป ๒ ใบ และแสงเงากำลังจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วตามกระแสลม..อยากจะโคล้สอัพ ..กลัวว่าภาพมุมกว้างจะหลุดไปอีก..หลายปัจจัยแวดล้อมจริงๆค่ะ..ได้มาแค่นี้เอง..รอคราวหน้าแก้ตัวใหม่..

    สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ
    เห็นบรรยากาศยามเย็นอย่างนี้แล้วรู้สึกผ่อนคลายดีนะครับ
    คิดถึงบรรยากาศที่บ้านนอกต่างจังหวัด น่านั่งรับลมโชยเย็นๆ

    รีบอ่านแบบไม่รีบ 

    ขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ ค่ะ

    เคยอ่านตามหนังสือ ไม่เข้าใจง่ายอย่างนี้

     

    ฝากรูปให้วิจารณ์ สอนน่ะค่ะ อาจารย์

     

    Large_1195906158

     

    คลองเจดีย์บูชา นครปฐม

    ถ่ายตอนสาย แสงจ้ามาก ตั้งใจให้เห็นความลึกไกลออกไปของคลอง ไม่ได้ใช้ขาตั้งกล้อง ยังเปิดหน้ากล้องมากไปมังคะ มาดูทีหลัง ที่จริงน่าจะโฟกัสนกที่กำลังบินมาเข้าฉาก..

    ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ 

    สวัสดีครับอาจารย์หมอภูสุภาครับ

    สวยครับ บรรยากาศและแสงเงา บันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวของคลอง ที่อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของชุมชนเมืองนครปฐมได้ดีอย่างยิ่งเลยละครับ การเล่นบรรยากาศย้อนแสง จะมีเสน่ห์ตรงที่ทำให้เห็นอากาศที่อยู่ในส่วนที่เป็นเงา แทนที่จะดูทึบทึม ก็กลับเห็นความลึกและมีแสงสะท้อนจางๆอยู่ข้างใน มีหลายมิติ ชวนให้มองเข้าไปหารายละเอียดข้างในส่วนที่เป็นเงาได้อีก

    คนทั่วไปมักไม่ค่อยกล้าถ่าย คนที่ชอบถ่ายในมุมอย่างนี้ จะชอบให้ภาพถ่ายมีแง่มุมความเป็นงานศิลปะด้วยโดยเล่นกับน้ำหนักแสงเงา เลยลิ๊งก์หัวข้อนี้มาฝากอีกครับ แง่มุมนี้เป็นแง่ที่ทำงานความคิดได้เยอะครับ แสงเงาและไรแดดhttp://www.gotoknow.org/blogs/posts/403970

                            

    ภาพของอาจารย์นั้น หากใช้แนวคิดเรื่องจุดรวมความสนใจ และหลักในการจัดสัดส่วน กับการจัดองค์ประกอบภาพ ก็อาจจะช่วยได้อีกเล็กน้อยครับ เพราะภาพเดิมนั้นลงตัวมากแล้วครับ ผมลองขยับจุดสนใจ และใช้แนวริมคลองกับแนวของต้นไม้เป็นเส้นนำสายตาให้พุ่งไปยังจุดสนใจตรงตำแหน่ง Quadrant บนขวา จะเห็นว่าการทำงานของเส้นและองค์ประกอบต่างๆ ให้ผลออกมาดีกว่าเดิมไหมครับ

    Thank you so much ka Ajarn.

    It looks different and gorgeous!

    สวัสดีครับอาจารย์หมอภูสุภาครับ

    แนวคิด มุมมอง และจังหวะการถ่ายภาพของอาจารย์ดีครับ หากว่าตามคำกล่าวของพี่ใหญ่ นงนาทฯ ใน dialogue box ข้างบน ก็เรียกได้ว่ามีการวิเคราะห์ เรียนรู้จังหวะลีลาของสิ่งที่เคลื่อนไหว ดังเช่นนกบินโฉบน้ำ เพื่อจัดวางกระบวนการปฏิบัติของเราให้ประสานสอดคล้องกับสภาพการณ์ต่างๆที่เรากำหนดไม่ได้ ให้ได้ความพอดีในช่วงเสี้ยววินาทีเดียวแล้วก็ผ่านไปเลย วางแผน ทำงานในหัว จินตนาการ หรือทำโมเดลจำลองแบบภาพที่จะปรากฏออกมาเมื่อบันทึกภาพแล้ว ทั้งหมดเหล่านี้ ดีครับ หากผสมผสานลงตัวและเป็นหนึ่งกับมือได้เมื่อไหร่ อาจารย์ก็จะมีภาษาของตัวเองสำหรับบันทึก คิด คุย ถ่ายทอด และหายใจผ่านเลนส์ได้อีกมิติหนึ่งนะครับ 

    การมอง บันทึก และบอกเล่าสภาพแวดล้อม รวมทั้งวิถีชีวิตการอยู่อาศัยในสังคมเมือง ที่สะท้อนออกมาบนภาพถ่าย (คลองเจดีย์บูชา นครปฐม) ในลักษณะนี้ เหมือนเป็นการบันทึกด้านที่เป็นบรรยากาศความประทับใจ สื่อแนวคิดคล้ายกับวิธีเขียนภาพในแนวแสดงความประทับใจหรือ Impressionism เหมือนกันครับ 

    การถ่ายภาพโดยสิ่งที่อยู่ในภาพเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นจริงในสังคม แต่เราสามารถให้วิธีมองและสื่อความเป็นศิลปะ เพื่อชวนสัมผัสด้านที่ให้สุนทรียภาพ สะดุดใจให้เกิดวาระการคิดถึงสิ่งที่อยู่ในภาพ (เป็นต้นว่า สภาพแวดล้อม ทัศนียภาพ ระบบนิเวศในถิ่นอาศัย การจัดระบบบำบัดน้ำ การจัดการขยะกับแหแล่งแม่น้ำคูคลองในชุมชนเมือง การจัดผังแม่บทที่มีพื้นที่สร้างสุขภาวะและสุนทรียภาพ ฯลฯ ซึ่งปรกติผู้คนไม่ค่อยนึกถึงและสื่อต่างๆไม่ค่อยมีพื้นที่สำหรับนำเสนอให้สังคมคุยกัน) และเกิดความรื่นรมย์ในชีวิต อย่างนี้ ไม่เพียงมีบทบาททั้งต่อการบันทึกและถ่ายทอดข้อมูลข้อเท็จจริง อันเป็นจุดแข็งโดยธรรมชาติของภาพถ่ายอยู่แล้วเท่านั้น แต่มีพลังให้การกล่อมเกลา ให้คิด ให้วิธีมองโลกรอบข้าง ให้รสนิยมชีวิตแก่ผู้ชมอย่างเป็นไปเอง สามารถจัดความสัมพันธ์ของตัวเรากับสภาพแวดล้อมของสังคมและสิ่งแวดล้อมเมือง ได้ดีกว่าจัดความสัมพันธ์ตนเองกับสภาพที่ทำให้ตัวเราจมไปกับการเป็นเหยื่อของปัญหามากไป เพราะโดยมาก ผู้คนมักมองเห็นแต่ในด้านภาวะกดดันและความเป็นมลภาวะเสียเป็นส่วนใหญ่ 

    เป็นต้นว่า เมื่อได้เห็นภาพอย่างนี้แล้ว ก็ทำให้อยากเดินออกไปนอกบ้านมากกว่าอยากจ่อมจมอยู่อย่างเอกเทศแบบตัวใครตัวมันซึ่งเป็นวิสัยทั่วไปของคนอยู่ในสังคมเมือง อยากไปอยู่ในพื้นที่แห่งความสุขที่มีผู้คน มีตึกรามบ้านช่อง มีความจอแจ เห็นมิติจิตใจและแง่งามบนรายทางชีวิตของสังคมเมือง รู้สึกมีความวางใจและมีความสุขไปกับการอยู่ในสังคมของตัวเอง เลยก็เป็นพื้นฐานให้ใช้ชีวิตที่พอดีๆสำหรับตัวเราเองได้ เป็นศิลปะและสื่อสร้างสุขภาวะสังคมจากจิตใจ มุมมอง และมือเล็กๆ ที่ทำได้เสมอๆของเรา .... ทำนองนี้แหละครับ

    เป็นอีกแง่มุมหนึ่ง ที่ใช้ทำงานให้มีความหมายได้ดีนะครับ

    ขอบคุณความคิดเห็นและความรู้จากอาจารย์ค่ะ

    เป็นการใช้การสื่อสาร ภาษาอีกทางหนึ่ง พูดคุยผ่านเลนส์ พาให้ต้องกลับไปฝึกฝนต่อค่ะ

    อาจารย์คะ

    มาฝากภาพอีกสองภาพ เพื่อรับความรู้ แล้วเลยเรียนอาจารย์ว่า ถือวิสาสะนำความคิดเห็นอาจารย์เรื่องภาพ ดอกบัวและแสง direct light ไปบันทึกไว้เพื่อการกลับไปอ่านศึกษาน่ะค่ะ

    ขอบพระคุณค่ะ

     

    ภาพที่หนึ่ง

     

    Large_1197651476

     

    ภาพที่สอง

     

    Large_666666

     

    ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ

    ด้วยความยินดียิ่งครับอาจารย์หมอภูสุภาครับ 

    รูปถ่ายฝีมืออาจารย์นี่ เมื่อดูแล้วจะมีการจัดองค์ประกอบทางความคิดนำเสนอในภาพเสมอครับ หากเป็นการพรรณาด้วยการบอกเล่า ก็เรียกว่ามีประเด็นและธีมของการพรรณาแจกแจงครับ เมื่อเป็นภาพ การมีประเด็นและธีม ก็อยู่ในรูปของสิ่งที่เป็นจุดสนใจหลัก

    การมีจุดสนใจหลักนี้ จะแตกต่างมากกับการถ่ายภาพเพียงให้ติดและมีความคมชัด และสะท้อนหลายอย่างครับ นับแต่การมีเนื้อหาและเรื่องราวสำหรับสร้างมุมมอง การมีจุดหมายและมีความสนใจสำหรับบันทึกและถ่ายทอด มีศิลปะในการจัดองค์ประกอบของเรื่องราว การรู้จังหวะในการเข้าถึงโอกาสที่จะถ่ายภาพอย่างที่ต้องการ รวมทั้งมีทักษะการสื่อภาษาภาพและทักษะทางเทคนิคการถ่ายภาพ กระบวนการข้างในเหล่านี้ สามารถถ่ายทอดและเห็นได้ในภาพถ่าย เหมือนกับจะเห็นได้เช่นกันในการถ่ายทอดลงสู่การแสดงออกมาของคนเราทั้งในการทำงานและการดำเนินชีวิตครับ

    การทำงานจากข้างในในลักษณะนี้ กับการรู้จักใช้เทคนิคเครื่องมือและใช้ความรู้แบบกลไกเพื่อลงมือปฏิบัติแต่ขาดทำงานข้างใน สองวิธีปฏิบัตินี้ หากนำเอางานมาพิจารณาดูดีๆแล้ว ก็จะแตกต่างกันมากอย่างยิ่งครับ เป็นต้นว่า บางที ภาพถ่ายออกมาซ้วยสวย ชัดแจ๋ว แต่กลับไม่ให้ความคิดอะไรเลย ไม่บันทึกถ่ายทอดและบอกเรื่องราวที่เป็นสาระสำคัญ เพราะรู้จักใช้เทคนิคเครื่องมือและทำงานกับกลไกกล้องเป็น แต่ว่าการขาดทำงานเชิงเนื้อหาและการทำงานความคิดข้างใน 

    ในขณะที่บางที คุณภาพทางเทคนิคภาพยังไม่ค่อยดีเพราะมือถ่ายภาพยังไม่คุ้นกับเครื่องมือและเทคนิคเฉพาะสำหรับปฏิบัติการบนกลไกกล้อง แต่ทักษะภาษาภาพ ภาษาการเห็นสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น และศิลปะการมอง ซึ่งอยู่ข้างในนั้นดี มีอยู่ในตัวอยู่แล้ว ก็จะเห็นในภาพถ่ายได้ครับ ประการหลังนี้ เป็นแง่มุมที่เห็นจากกรณีอาจารย์น่ะครับ ภาพบนเพดานศาสนสถานจำลองสรวงสวรรค์ของเหล่าเทวดา กับภาพที่เหมือนกับกำลังลอยเรือคืนเดือนเพ็ญ น่าสนุก กล้าเล่นมุมกล้อง เห็นแนวคิดและเล่าเรื่องได้เป็นอย่างดีครับอาจารย์ เหลือแต่การจัดภาพและการนำเอาสิ่งที่สะท้อนความสนใจหลัก ให้ไปอยู่ในจุดรวมความสนใจที่เหมาะสม และองค์ประกอบอื่นๆ ก็เชื่อมโยงเข้าหากัน มีความประสานกลมกลืน ลงตัว เท่านั้นแหละครับ ผมลองนำมาจัดวางดูนะครับ

     

                                                

     

                 

     

    ลองจัดให้สมมาตรแบบปีกผีเสื้อซึ่งเท่ากันทั้งสองข้าง (Symmetry) เส้นโดยรวมในภาพพุ่งสอบเข้าหากัน ทำให้จุดรวมสายตาแรงและจะแจ้งมากขึ้น ความกลมกลืน ความเป็นเอกภาพ และการช่วยกันเล่าเรื่องเป็นธีมเดียวกันได้ดีกว่าเดิม สื่อความนิ่ง มั่นคง อลังการ มีพลังอำนาจ

                                          

    อีกมุม ลองจัดความสมดุลแบบการถ่วงน้ำหนักความพอดีให้กันโดยซ้ายขวาของภาพไม่เท่ากัน (Unsymmetry Balancing) ให้ความเคลื่อนไหวแต่ลงตัวอยู่ในกรอบภาพ มุมนี้ หากขยายขนาดภาพ ให้ส่วนเพดานเข้ามาอยู่ในกรอบมองภาพมากขึ้น ก็จะได้จุดสนใจซึ่งเป็นหมู่ดาวกระจายบนสวรรค์ เป็นแนวคิดหลักได้อย่างที่ต้องการมากขึ้นครับ

                                      

    อีกมุมหนึ่ง เน้นแสดงจุดสนใจและความคิดหลัก เจาะจงออกมาให้เด่นชัดเลย ก็ได้ความสวยงามและลงตัวดีเหมือนกันครับ แต่ลดความโอ่อ่าอลังการไปเยอะ

    ผมก็ชอบมองในมุมที่อาจารย์บันทึกภาพนี้เหมือนกันครับ และหากมีโอกาส ก็จะถือโอกาสนั่งสมาธิ ดัดแปลงวิธีทำสมาธิแบบผสมผสาน ระหว่างวิธีเพ่งกสิน กับการเจริญอาณาปนสติ กำหนดลมหายใจเข้าออกและเดินทางเข้าไปในตัวเองกับลมหายใจ เพื่อสร้างประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ บันทึกภาพและสะสมนิมิตดีๆไว้กับตัวเราเอง เป็นการถ่ายภาพเหมือนกันครับ แต่ถ่ายและบันทึกลงบนหน่วยความทรงจำที่ทำให้ละเอียดสักหน่อย เมื่อ ๒-๓ สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ผมยังได้เดินชมศิลปะในวัดของเมืองเชียงใหม่ ก็ได้ใช้วิธีอย่างนี้อีกในหลายสภาพแวดล้อมที่ได้สัมผัส โดยเฉพาะในอุโบสถ ซึ่งมีรูปอย่างที่เห็นในภาพถ่ายอาจารย์นี่แหละครับ

    ขนบในการสร้างอุโบสถและศาสนสถานอย่างในภาพฝีมือของอาจารย์นี้ ต้นธารของจินตภาพนั้นมาจากระบบคิดเกี่ยวกับจักรวาล สวรรค์ และการใฝ่สดับธรรมจากพระพุทธองค์ของเท้าสักกะผู้เป็นใหญ่ในหมู่เทวดาทั้งหลายในสวรรค์น่ะครับ ดังนั้น เพดานและสภาพแวดล้อม จึงจำลองภาพสรวงสรรค์ เพื่อให้ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณในความเป็นเทวดาแก่ผู้คนที่เข้าไปในพื้นที่สมมติดังกล่าว กระทั่งได้อยู่กับอารมณ์การเข้าถึงองค์พุทธะ เรื่องราวอย่างนี้ จะทำให้เราเห็นและสามารถบันทึกถ่ายทอดบรรยากาศ ที่สื่อแนวคิดต่างๆได้เป็นอย่างดี 

    วิธีสัมผัส เข้าถึงความซาบซึ้ง รวมทั้งสร้างความประทับความทรงจำได้เป็นอย่างดีเมื่อเห็นบรรยากาศอย่างนี้ สำหรับผมแล้ว ก็จะใช้วิธีนั่งสมาธิแบบเพ่งกสิน เพียงแต่เปลี่ยนจากเพ่งแสงไฟ ไปสู่การจดจ่อภาพของสวรรค์ ซึ่งก็คือ มองชมงานศิลปะบนเพดาน ฝาผนัง กำหนดลมหายใจเข้าออกให้ละเอียดไปด้วย เมื่อนิ่งและเห็นภาพได้ทั่วอย่างจุใจแล้ว ก็เล็งสมาธิไปยังองค์พระประธานในโบสถ์ซึ่งจะเป็นสีทองเหลืองอร่าม แล้วก็นั่งอยู่กับอารมณ์นั้นสักครู่ใหญ่ การทำอย่างนี้นี่ ได้ความทรงจำที่ประทับแน่นดีมากเลยละครับ เมื่อเดินออกไปแล้วก็ติดตา บางทีเอิบอิ่มเป็นวันๆ

    การบันทึกภาพแบบนี้ เมื่อเก็บข้อมูลด้วยกล้องถ่ายภาพ ก็จะทำให้ถ่ายทอดเรื่องราวได้หลายแง่มุมครับ ยิ่งไปกว่านั้น ความที่เป็นการถ่ายภาพและบันทึกจากข้างในอีกด้วยนั้น เมื่อผ่านไปแล้ว จะดึงข้อมูลภาพเหล่านั้นออกมาอีกก็ทำได้ครับ สำหรับผมนั้น วิธีอย่างนี้ ก็ช่วยทำให้สามารถวาดรูปจากความทรงจำได้ อีกทั้งนำเอาเรื่องราวต่างๆมาจัดองค์ประกอบพลิกแพลงแง่มุมต่างๆได้อย่างใจที่ต้องการ 

    ขอให้อาจารย์มีความสนุกเพลิดเพลินนะครับ ขอบพระคุณที่นำมาแบ่งปันและทำให้ได้ชม มีความสุขเพลิดเพลินไปด้วยมากๆครับ

    การบันทึกถ่ายทอดเรื่องราวอย่างนี้ ผมมีงานเขียนสีน้ำมันที่เคยใช้วิธีจัดองค์ประกอบภาพแบบสมมาตร อย่างที่ทดลองทำดูอีกในภาพถ่ายของอาจารย์อยู่ด้วยเหมือนกันครับ เลยนำมากำนัลกันนะครับ

                                              

    เป็นภาพเขียนสีน้ำมัน ใช้เทคนิค Super Realistic แต่นำเอาสิ่งของเครื่องใช้ของตนเองมาจัดวางเพื่อแสดงเรื่องราวต่างๆ อย่างที่ต้องการ เป็นงานเมื่อกว่า ๓๐ ปีก่อนเห็นจะได้ครับ ตอนนี้ เหลือแต่ภาพถ่าย ไม่รู้ว่าต้นฉบับภาพจริงอยู่ที่ไหนแล้วครับ  http://www.gotoknow.org/blogs/posts/463499?locale=en

    อาจารย์คะ

    ภาพแรก อาจารย์วิเคราะห์ให้ฟังโดยละเอียด พาให้หวนคิดกลับไปถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนั้น

    เป็นภาพพระอุโบสถ ของวัดบวรนิเวศน์ค่ะ

    เป็นช่วงดีที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต ได้มีโอกาสชมพระพุทธรูป วัด งานศิลปต่าง ๆ ในวัด และซึมซับความสงบยามเรานั่งอยู่ในนั้น หลังจากราบพระเรียบร้อย

    ในซีน(ขอใช้คำนี้ไม่ทราบว่า ได้มั้ยนะคะ)เดียวกัน เบื้องล่างของเพดานอุโบสถ ในตำแหน่งใกล้กัน มีแม่ชีกำลังนั่งสมาธิด้วยค่ะ หนูเก็บภาพมาไว้ด้วยกัน แต่อยู่ที่เครื่องคอมพ์ตั้งโต๊ะที่ไทยค่ะ กลับไปจะนำมาฝากอาจารย์ดูในบันทึกเดียวกัน

    subject ที่หนูเห็นและเก็บไว้ในชุดเดียวกันนี้ คือ พัดลมค่ะ

     

    ทั้งที่เพดานและตั้งวางกับพื้น

    พัดลมตัววางกับพื้นเปิดใช้งานอยู่ หมุนช้า ๆ พาให้เราคิดตรึกตรองถึงชีวิตที่วนเวียนหมุนเป็นรอบ ๆ

    พัดลมบนเพดาน หยุดนิ่งไม่ไหวติง หากทรงพลัง หนูคิดไปถึง วงเวียนวัฎฎสงสาร ที่สมเด็จสมณโคดมตรัสรู้ รู้แจ้งเห็นธรรมแล้วมีพระเมตตาสอนแก่มนุษย์ปุถุชน

     

    ขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ เลยค่ะ

    รู้สึกจะมีภาพจากการเดินชมงานศิลปในวัดราชนัดดา อีกหนึ่งชุดค่ะ

    ไว้กลับไทยแล้วจะนำมารับความรู้จากอาจารย์..ขอบพระคุณค่ะ

    สวัสดีครับอาจารย์หมอภูสุภาครับ
    ลึกซึ้งและให้ความคิดดีครับ 
    ใช้ซีนในความหมายอย่างที่อาจารย์กล่าวถึงนี่ได้ครับ
    อาจารย์ใช้คำว่าซีนได้เหมือนอย่างคนที่ทำงานเวที คนถ่ายหนัง
    คนเขียนสตอรี่บอร์ด กับคนทางทัศนศิลป์เลยละครับ

    รบกวนพื้นที่อีกสองภาพค่ะ

     

    Large_13

     

     

    ภาพนี้ ต้นไม้ยืนต้น ทน แกร่ง ยามเผชิญหน้าแล้ง ศิลปากรฯนครปฐมนี่เอง ไปหาซื้ออุปกรณ์วาดภาพสีน้ำ ซึ่งยังฝึกไม่ถึงไหนเลยค่ะ


    วันนั้นเป็นวันหนึ่งในฤดูหนาวที่พอจะหนาว

    แดดอุ่น แสงสวย เงยหน้าขึ้นไปมองยอดของกิ่งไม้ปุ๊บดุจต้องมนต์
    จึงต้องเก็บภาพเขาไว้ ลงทุนนอนถ่ายภาพเลยค่ะ

     

    Large_11111111

     

    อีกภาพ เทศบาลฯ นครปฐม ซึ่งตกใจและแปลกใจมากว่า ทำไมหนอคนไทยถึงไม่เคยมีความคิดที่จะอนุรักษ์ตึกรามบ้านช่องเก่าแก่เอาไว้ให้ลูกหลานซึมซับรากเหง้าและความเป็นไทย ความงามแบบของเรา


    ถ่ายเก็บเป็นประวัติศาสตร์ เป็นที่ระลึก..น้ำตาซึม ๆ นะคะเมื่อนึกถึง

     

    ขอบพระคุณค่ะ

    ภาพแรกนี่ หากใช้ภาษาศิลปะของการถ่ายภาพ ก็เรียกว่าองค์ประกอบต่างๆไม่ค่อยเป็นเอกภาพน่ะครับ ทั้งลักษณะของเส้นขวักไขว่กระจาย ทิศทางของแสงซึ่งควรจะไปอยู่ทางด้านที่เป็นเงา เมื่อด้านที่ควรจะมีน้ำหนักเป็นเงา กลับเป็นด้านที่แสงเข้า ก็เลยเหมือนดึงสายตาให้หลุดออกไปจากกลุ่มที่กิ่งไม้แห้งรวมกันเป็นกลุ่มก้อนและเกิดความเป็นเอกภาพทางน้ำหนักเงา หรือในทางด้านซ้ายของภาพเมื่อถือเอาลำต้นเป็นแนวแบ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็ตรงที่มุมซ้ายบน ที่มีใบไม้โผล่เข้ามาในกรอบ ซึ่งนอกจากจะทำให้องค์ประกอบต่างๆที่กระจายออกจากกันมากอยู่แล้ว กลับยิ่งเพิ่มความแยกย่อยขึ้นอีกมิติหนึ่ง โดยภาพรวมแต่เดิมที่ถ่ายทอดและเล่าเรื่องต้นไม้และกิ่งไม้แห้งนั้น พอมีใบไม้โผล่ขึ้นมาอีก ก็เหมือนกับทำให้แนวคิดหลักเสียไปนิดหนึ่ง

    ลักษณะอย่างนี้ น่าจะใช้เทคนิคเลนส์ การซูมเข้าซูมออก และเลือกขนาดภาพกับมุมที่เล่าเรื่องได้ดี พร้อมกับมีความลงตัวขององค์ประกอบภาพได้ดีขึ้นด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้ พอจะดูดีกว่าไหมครับ

                           

                           

    พอจัดขนาดภาพ และกรอบมุมมอง ให้กิ่งไม้แห้งกับขนาดของกิ่งและลำต้นซึ่งส่งผลถึงขนาดของน้ำหนักแสงเงาด้วย มีการรวมกลุ่มกลมกลืนกันมากขึ้น แล้วก็จัดวางให้อยู่ในสัดส่วนตามหลักความงามจากการวางจุดสนใจ ตลอดจนเกิดแนวเส้นนำสายตาต่างๆ เหล่านี้แล้ว ก็ดูดีขึ้นนะครับ

    แต่หากต้องการสื่อถึงสภาพที่แตกต่างกันตามแนวคิดของอจารย์เรื่องระบบคิดแบบเป็นขั้วเป็น-ตาย กับวิธีคิดแบบเป็นวงจรสังสารวัฏ โดยมีใบไม้ที่ยื่นเข้ามาในกรอบภาพ เป็นองค์ประกอบที่จะให้ความหมายนี้แล้วละก็ ภาพเดิมก็จะทำให้ใบไม้ที่โผล่เข้ามานั้นทั้งเล็กจนไม่สมดุลพอที่จะเล่าเรื่องประกบกับกิ่งและต้นที่แห้งให้ทัดเทียมกันได้ และกลายเป็นเหมือนส่วนเกินของภาพ

                            

     

    ดังนั้น หากจัดขนาดภาพ และจัดวางองค์ประกอบต่างๆเสียใหม่ดังภาพ ก็จะเหมาะสมที่จะสื่อแนวคิดที่เราต้องการได้ดีกว่าเดิมนะครับ

                            

    ส่วนอีกภาพหนึ่ง ลองจัดองค์ประกอบอย่างในภาพ ก็จะสามารถบันทึกแนวคิดและถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆได้ดีกว่า เกิดกลุ่มภาพระยะใกล้ที่มีภาษาความทะมึน มีพลังกดทับ นอกจากเป็นกรอบภาพ นำสายตาให้พุ่งไปยังจั่วหลังคาอาคารที่กำลังถูกรื้อถอน ซึ่งดูไร้ความหมาย ขนาดเล็ก และอยู่ใต้ความทะมึนของเครื่องจักรที่กำลังทำงาน เกิดธีมของภาพได้ดีกว่าเดิมน่ะครับ

    จะเห็นว่า หากสามารถทำให้เกิดการผสมผสานกันได้มากยิ่งๆขึ้นของการทำงานความคิดทางศิลปะ การทำงานเชิงความรู้ และการทำงานเชิงบันทึกบอกเล่า ถ่ายทอดสื่อสารของสังคม แล้วละก็ จะช่วยได้มากเลยนะครับ สามารถทำให้มิติความจริง ความงาม  ความดี เข้ามาอยู่ด้วยกันได้ ผู้ชมก็จะสามารถเข้าถึงความจริง ที่นำเสนอด้วยความงาม ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง ทำให้มีจิตใจที่เหมาะสมและเอื้อต่อการเกิดสัมมาทิ น้อมนำสู่การคิดดีทำดี ก่อเกิดสิ่งดี งาม จริง ได้มากขึ้น ซึ่งก็น่าจะดีกว่าการสามารถเข้าสิ่งต่างๆได้ด้วยมิติแยกส่วนทีละส่วน แบบที่มีอยู่เป็นส่วนใหญ่ในสังคมและทั่วโลกมักเห็นว่าไม่ค่อยจะเหมาะสมกับโลกปัจจุบันนี้แล้ว มากขึ้นเรื่อยๆ 

          Large_fujisan

     

    อาจารย์คะ หนูได้ความรู้ขึ้นมากและรู้สึกสนุกจนต้องกลับไปรื้อดูภาพที่ถ่ายเก็บไว้
    นำภาพมาขอความรู้อีก รู้สึกเกรงใจอาจารย์มาก

    อาจารย์ตอบเมื่อว่างหรืออย่างไรก็ได้นะคะ

    แถมภาพที่เกิดจากการ drawing แล้วจึงมาใช้โปรแกรมในคอมพ์เล่นจนได้มิติบ้าง ตอนนั้นไม่รู้เรื่องการผลักระยะใกล้ไกล วาดทีไรแบน ๆ ทุกที จนต้องมาใช้โปรแกรมช่วย

     

            Large_102552333

     

    ขอบพระคุณค่ะ

    สวัสดีครับอาจารย์หมอภูสุภาครับ

    จังหวะดี เลยทำให้เรื่องราวในภาพดีนะครับ ดูแล้วก็น่าแปลกใจดีว่าเจ้าตัวแมลงนี้เขาขึ้นไปอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร มันไม่ใช่ทั้งดอกไม้ แหล่งอาหาร หรือเขาขึ้นไปชมวิว ..... ทำนองนั้น อาจจะเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ต้องรีบถ่ายภาพสิ่งที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ เลยไม่มีเวลามากที่จะจัดภาพและเลือกมุมกล้อง แต่หากนำมาศึกษาแล้วละก็ มุมกล้องออกจะต่ำไปนิดหนึ่งน่ะครับ แนวเส้นตลิ่งของทะเลสาบหรือแม่น้ำที่แตะอยู่บนหลังตัวแมลงเลยเหมือนเป็นอีกขอบเขตที่ทำให้แยกเป็นอีกภาพได้ หากระดับกล้องต่ำลงอีก ทำให้มุมกล้องเงยขึ้นนิดหนึ่ง ระดับตัวแมลงก็จะสูงขึ้น ภาพส่วนบทและล่างก็จะถูกเชื่อมโยงให้เป็นส่วนหนึ่งของภาพเดียวกันดีขึ้น

                           

    นอกจากนี้ ตำแหน่งของตัวแมลงซึ่งเป็นตัวเด่นของภาพก็อยู่ลึกไปหน่อยครับ หากมองด้วยสายตาของกฏ ๓ ส่วนในการจัดวางจุดสนใจและการจัดองค์ประกอบภาพให้มีความเชื่อมโยงกลมกลืนกันทางความงามแล้วละก็ ก็จะเห็นว่าเกือบถึงจุดแกนกลางภาพเลย ลักษณะอย่างนี้ ภาษาการจัดภาพจะเรียกว่ายังไม่ลงตัว ไม่นิ่ง เอาไม่อยู่ หากแพนกล้องออกไปทางซ้ายสักนิดหนึ่ง ซึ่งก็จะทำให้ภาพตัวแมลงขยับไปอยู่ตงตำแหน่งจุดสนใจและมีความสมดุล ลงตัวมากขึ้น อย่างในภาพที่ผมลองทำดูถัดไปน่ะครับ

                           

    พอลองจัดดูใหม่ จุดสนใจและความสมดุลของภาพก็จะดูดีขึ้น แต่ส่วนที่เป็นภูเขาและกลุ่มก้อนเมฆ ซึ่งก็เป็นตัวร่วมสร้างเนื้อหาและความหมายสำคัญให้กับภาพนี้มาก ก็จะหายไป ไม่สื่อแนวคิดที่ต้องการ 

                           

    เมื่อลองรักษาแนวคิดเดิมไว้ ก็จะได้พอประมาณดังภาพ แต่แมลงซึ่งเป็นตัวเอกของภาพก็อยู่ต่ำไปหน่อย แต่ก็สื่อเรื่องราวและให้อารมณ์ภาพที่ความแตกต่างและช่างขัดกันแรง มาอยู่ด้วยกันได้ อย่างแมลงตัวเล็กๆ กับสิ่งกว้างใหญ่มหึมาอย่างทะเลสาบ ภูเขา ก้อนเมฆ ก็ดูนอบน้อมและยิ่งใหญ่แบบเล็กๆดีครับ

                           

    หากลดระดับกล้องลง และเงยมุมภาพขึ้นไป จัดวางให้ตัวแมลงขึ้นไปอยู่บนตำแหน่งจุดสนใจด้านบนขวา ก็จะสื่อถึงความเป็นองค์ประกอบหลักของภาพได้เป็นอย่างดีนะครับ

    ความรู้ที่กำลัง เข้าใจง่าย

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท