นโยบายการศึกษาที่เดินผิดทาง


ทางที่ถูก ต้อง empower ครูที่ตั้งใจสอน เอาใจใส่นักเรียน ให้รวมตัวกัน ตั้งวง ลปรร. เทคนิค เคล็ดลับ การออกแบบการเรียนรู้ การทำหน้าที่ learning facilitator / coach ของการเรียนรู้ในแนว 21st Century Learning เพื่อให้นักเรียนเกิด 21st Century Skills รวมทั้ง ลปรร. วิธีวัดผลความก้าวหน้าของนักเรียน สำหรับนำมาใช้ดูแลหนุนนักเรียนเป็นรายคน


          ผมอ่านข่าว นสพ. ที่ประโคมว่า ครม. นัดสุดท้ายอนุมัติงบประมาณโครงการด้านการปฏิรูปการศึกษาอีกเกือบ ๔ แสนล้านด้วยความเศร้าใจ   เพราะทั้งหมดนั้น จะเอามาบำเรอกิจการส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ   แทนที่จะไปถึงผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนรู้ของนักเรียน

  

          การปฏิรูปการศึกษาที่เดินถูกทางต้องทำให้กระทรวงศึกษาธิการเล็กลง   กระจายอำนาจ กระจายเงิน ไปให้ส่วนโรงเรียน ส่วนพื้นที่ สร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้น   แต่แนวทางที่วางไว้สวนทางกับแนวนี้โดยสิ้นเชิง

 

          ยิ่งมีเงินงบประมาณมาก การศึกษาก็ยิ่งตกอยู่ใต้อำนาจของกระทรวงส่วนกลางมากขึ้น   กระทรวงศึกษาฯ ส่วนกลางก็ยิ่งขยายตำแหน่งมากขึ้น มีคนตำแหน่งสูงมากขึ้น   นี่คือการเดินผิดทาง

 

          เงินที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ใช้หนุน “นโยบาย” หรือโครงการ ที่จะสร้างผลงาน ให้แก่นักการเมือง และผู้บริหาร   ภายใต้ความตั้งใจดี ที่จะทำให้คุณภาพของการศึกษาดีขึ้น   แต่ผมทำนายว่า ผลจะไปในทางตรงกันข้าม   เพราะที่ทำนั้น เป็นการเดินผิดทาง

 

          ทางที่ถูก ต้อง empower ครูที่ตั้งใจสอน เอาใจใส่นักเรียน   ให้รวมตัวกัน ตั้งวง ลปรร. เทคนิค เคล็ดลับ การออกแบบการเรียนรู้ การทำหน้าที่ learning facilitator / coach ของการเรียนรู้ในแนว 21st Century Learning   เพื่อให้นักเรียนเกิด 21st Century Skills   รวมทั้ง ลปรร. วิธีวัดผลความก้าวหน้าของนักเรียน   สำหรับนำมาใช้ดูแลหนุนนักเรียนเป็นรายคน 

 

          คุณภาพการศึกษาไทยจะกระเตื้องขึ้นได้ ต้องหาทางหนุนให้ครูที่เอาใจใส่นักเรียน  “ครูเพื่อศิษย์” ได้เป็นพระเอกนางเอก   ไม่ใช่ รมต. เป็นพระเอก ขึ้นคัทเอ๊าท์ ด้วยเงินภาษีราษฎร ทั่วเมืองอย่างในปัจจุบัน   ครูเพื่อศิษย์ ที่มีวิธีสร้างแรงบันดาลใจในชีวิต และในการเรียนรู้ ให้แก่ศิษย์ อย่างได้ผลเป็นที่ประจักษ์  ควรได้ขึ้นคัทเอ๊าท์ มากกว่า   เพื่อเผยแพร่วิธีการทำหน้าที่ “ครูเพื่อศิษย์” อย่างได้ผล

 

          เราต้องการการจัดการ ณ จุดที่สัมผัสนักเรียน   ณ จุดที่จะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียน ขยับขึ้น   ไม่ใช่ ณ จุดของการโอ้อวดนโยบาย โอ้อวดความสามารถในการดึงงบประมาณ   เราควรอวดผลงานที่ตัวผู้เรียน ไม่ใช่ผลงานที่เงินงบประมาณและคำพูดนโยบายสวยหรู

 

 

วิจารณ์ พานิช
๕ พ.ค. ๕๔
        
        

หมายเลขบันทึก: 441438เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2011 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ อาจารย์หมอ ;)...

เพียงเพื่อ "นักการเมือง" เท่านั้น รวมทั้ง "นักการเมือง" ในคราบ "นักการศึกษา" ด้วย

การศึกษาที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง พังลูกเดียว

การศึกษาที่มีใครไม่รู้มาเป็นผู้นำ แล้วไม่ฟังนักวิชาการ

การศึกษาที่ทุ่มงบทุมเงิน แต่ไม่มีการติดตามประเมินผล

การศึกษาที่กระจุกตัว โดยคิดว่า โรงเรียนในฝัน โรงเรียนดีประจำตำบล

คิดว่าเป็นคำตอบสุดท้ายแล้ว ว่า นี่คือ คุณภาพ หาใช่ไม่

การศึกษาที่โหยหาคอมพิวเตอร์ให้เด็กที่อ่านหนังสือไม่ออก คิดว่าโก้

การศึกษาที่ใช้งบประมาณ ให้ศึกษานิเทศก์ไปนั่งในโรงแรมครึ่งค่อนปี แทนการนิเทศโรงเรียน

และการศึกษาที่มีนโยบายวางยาระบบ ก่อนที่จะล้มเหลวอีกครั้งใน ๑๐ ปีข้างหน้า

ขอบคุณท่านอาจารย์ ครับ ผมติดตามอ่านบทความของท่านเสมอ และเห็นด้วยอย่างยิ่ง

ชอบแนวความคิดที่ว่า "ต้องหาทางหนุนให้ครูที่เอาใจใส่นักเรียน “ครูเพื่อศิษย์” ได้เป็นพระเอกนางเอก ไม่ใช่ รมต. เป็นพระเอก ขึ้นคัทเอ๊าท์ ด้วยเงินภาษีราษฎร ทั่วเมืองอย่างในปัจจุบัน"  มากครับอาจารย์  แต่เท่าที่เห็นตั้งแต่เกิดจนปัจจุบันไม่รู้ว่าเป็นธรรมชาติของนัการเมืองทั่วโลก  หรือ เฉพาะประเทศแถว ๆ นี้ที่เวลาจะทำอะไรให้ชาวบ้านสักอย่าง(ทั้ง ๆ ที่เป็นหน้าที่ของตัวเองแท้)ต้องประกาศชื่อตัวเองให้คนอื่นรู้  สมัยก่อนคงจะเป็นหลังคาที่พักรถโดยสารตามถนนต่างจังหวัด  ถัดมาที่พบบ่อยก็ป้ายชื่อหมู่บ้านป้ายถนน สมัยนี้พิมพ์นิยมคือ คัทเอ๊าท์ ตามถนนหนทาง ที่สงสัยคือ เงินที่ใช้ทำคือของใคร  ประชาชนได้อะไรจากการเอาหน้าท่านทั้งหลายมาขึ้นป้าย  
 อาจารย์ครับ ปฏิรูปการศึกษากี่ครั้งก็ดูเหมือนว่าจะเพิ่มแท่งนั้นแท่งนี้  เพิ่มซี 9 ซี10 ซี 11 กันให้ทั่ว  จากเขตการศึกษา  เป็นพื้นที่การศึกษา  จนมาแยกเป็นพื้นที่การศึกษาประถมและมัธยม   ผู้เรียนได้อะไรจากการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมบ้างครับ  เพราะหัวใจการปฏิรูปน่าจะอยู่ที่ย่อหน้่าสุดท้ายเหมือนที่อาจารย์บอก  แต่ทำไมหนอ  จึงเกิดขึ้นไม่ได้สักที

ชอบบทความของอาจารย์หมอมากครับ โดยเฉพาะคำว่า ครูเพื่อศิษย์ เคยประทับใจคำว่าครูดีในความหมายของผอ.วิเชียร ไชยบัง แห่งโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา และนายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น ท่านพีระพล พัฒนพีรเดช ครูดี คือครูที่ไม่ยอมปล่อยให้เด็กนักเรียนล้มเหลวแม้แต่เพียงคนเดียว ดีใจที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองให้ความสำคัญกับคำว่าครูครับ ก็ขึ้นอยู่ที่ครูไทยเราจะนำความหมายดีๆของคำว่าครูไปปฏิบัติให้เกิดผลจริงจังหรือไม่ ขอบคุณคุณครูทุกท่านครับ

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับสิ่งที่ท่านอาจารย์หมอนำเสนอแต่เมื่อไหร่ละครับที่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ดูแลทางด้านการศึกษาของบ้านเมืองเราจะเห็นพ้องต้องกันในเรื่องนี้(ผมหมายถึงเรื่องการพัฒนาทางด้านการศึกษาในที่สุดต้องดูจากผลึกแห่งคุณภาพที่ตกอยู่ที่ตัวผู้เรียน)ผมศึกษานโยบายต่างๆในการปฏรูปการศึกษาที่เขียนกันสวยหรูแต่ทุกวันนี้จะมีใครสักกี่คนที่จะกล้าเอาหัวเป็นประกันว่าที่ผ่านมาล้มเหลวและประสบความสำเร็จจริงสักกี่มากน้อยผมไม่กล้าใช้เปอร์เซ็นต์มาเปรียบเทียบครับแต่อย่างไรก็ตามผมขอร่วมเป็นคนหนึ่งในฐานะพ่อพิมพ์ของชาติในการร่วมสร้างทรัพยากรบุคคลที่ดีและมีคุณภาพของชาติต่อไป ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท