คิดเรื่องงาน (67) สะสาง...ต่อยอด


เกิดปรากฎการณ์ของการ “สะสางและต่อยอด” ได้อย่างภาคภูมิ ถึงแม้จะยังไม่สัมฤทธิ์ผลอย่างที่ตั้งเป้าไว้ทุกเรื่อง แต่ก็สะท้อนให้เห็นพัฒนาการที่ดีของการจัดการความรู้ของนิสิต หรือฝ่ายพัฒนานิสิตของที่นี่

 

(๑) ว่าด้วย "ทุนและเสบียง"


ก่อนการจะเริ่มต้นขับเคลื่อนกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง
ผมมักชวนให้ผู้เกี่ยวข้องหวนกลับไปทบทวน “กระบวนการ” และ “ผลลัพธ์”  จากกิจกรรมที่ผ่านมาก่อนเสมอ

กิจกรรมที่ว่านั้น ประกอบด้วยกิจกรรมเดียวกันที่ผ่านพ้นมาเมื่อปีที่แล้ว หรือไม่ก็เป็นกิจกรรมเดียวกันที่จัดขึ้นครั้งล่าสุด และอีกกิจกรรมหนึ่งก็คือกิจกรรมที่เพิ่งจัดเสร็จสิ้นไปอย่างสดๆ ร้อนๆ นั่นเอง

วิธีคิดเช่นนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการที่ผมได้เข้ามาเรียนรู้ในเรื่อง “การจัดการความรู้”  จนกระทั่งประกาศวาทกรรม
กับลูกทีมว่า “ปัญหาเก่าห้ามเกิด...ปัญหาใหม่ไม่ว่ากัน”
 

การงานในแต่ละครั้ง  ผมชวนให้ผู้เกี่ยวข้องกลับไปทบทวนเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานให้ได้มากที่สุด  เพื่อให้มี “ทุน” ในการขับเคลื่อน และยิ่งในองค์กรของนิสิตที่มักเปลี่ยนแปลงกลุ่มคนทำงานในทุกปีการศึกษา  ก็ยิ่งควรต้องเรียนรู้       จาก “ทุนเดิม” (บ้าง)  มิใช่ตั้งหน้าตั้งตา “แหวกขนบ” สร้าง “แผ่นดินใหม่” หรือสร้าง “นิยามใหม่” เพื่อสถาปนา “ประวัติศาสตร์ตนเอง” อยู่ร่ำไป โดยไม่คำนึงถึงการ “ต่อยอด” และท้าทายกับ “ปัญหา” ที่ต้อง “แก้ไข” ...

ซึ่ง "ทุน" ที่ว่านั้น หากไม่นับกระบวนการ “มอบงานและสอนงาน”  ในเวทีที่นิสิตมักจัดขึ้นในทุกปลายปีการศึกษา ก็หาใช่ว่าจะค้นหาได้ยากเย็นสักหน่อย  เพราะทั้งปวงนั้น ผมได้บันทึกไว้ในโลกแห่ง gotoknow.org บ้างแล้วพอสมควร 


บันทึกหลายเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมของนิสิตนั้น  บางเรื่องอาจเป็นแค่บันทึกธรรมดาๆ ที่เป็นเสมือนจดหมายเหตุ
ซึ่งเน้นการบันทึกเหตุการณ์เป็นสำคัญ  หากแต่บางเรื่องอาจมีมุมมอง ทัศนะที่เป็น “จุดเด่นจุดด้อย” ของกิจกรรมไปในตัว
ซึ่งผมมักนำเสนอไว้หลากสไตล์  มีทั้งตรงไปตรงมา ซุกซ่อนให้ขบคิด หรือแม้แต่หยิกข่วนแบบทีเล่นทีจริง  แต่ไม่ว่าจะด้วยกลวิธีใด สไตล์ใดก็ตาม ทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็น่าจะช่วยให้เห็นภาพอันเป็น “ทุนเดิม” ของการจัดกิจกรรมได้ในระดับหนึ่ง

และทุนเดิมที่ว่านั้น ก็น่าจะเป็นเหมือน “เสบียง” ของการเดินทาง  หรือขับเคลื่อนกิจกรรมได้เป็นอย่างดี

 

 

 

 

 

(๒) ว่าด้วยวัฒนธรรม "บอกเล่าเก้าสิบ"

 

เฉกเช่นกับวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา
ผู้บริหารฝ่ายพัฒนานิสิตทุกคณะ ได้ประชุมร่วมกับผู้นำองค์กรนิสิตที่ประกอบด้วยองค์การนิสิต สภานิสิต และนายกสโมสรนิสิตจำนวน ๑๘ คณะ

การประชุมครั้งนั้นเป็นการประชุมชี้แจงและเตรียมความพร้อมในกิจกรรม “วันสงกรานต์” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๔

ที่นี่เรามีวัฒนธรรมของการพบปะพูดคุยเช่นนี้เสมอ  ในยามที่นิสิตจะจัดกิจกรรมอะไรสักอย่างที่เป็นกิจกรรมหลัก หรือประเพณีหลักของมหาวิทยาลัย  นิสิตจะมานำเสนอกับผู้บริหารร่วมกันเช่นนี้เสมอ 

และก็เป็นที่น่าชื่นชมว่าการนำเสนอที่ว่านั้น  ส่วนใหญ่เป็นการ “บอกเล่าเก้าสิบ” เสียมากกว่า  ร้อยทั้งร้อยผู้บริหารก็มักจะ
“ไฟเขียว” ให้นิสิตได้ทำในสิ่งที่พวกเขาคิด จะมีบ้างก็เป็นแต่เพียงการ “ฝากประเด็น”  ให้กลับไปคิด
        ... ส่วนคิดแล้วจะทำอย่างไร  ก็เป็นสิทธิของพวกเขา  เพียงแต่ย้ำให้เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบผลพวงของการตัดสินใจ
และกล้าหาญที่จะถอดบทเรียนเมื่อกิจกรรมยุติลง

 

 

วัฒนธรรมเช่นนั้น  บางมุมมองอาจสะท้อนว่าเป็นการกำกับดูแลที่ค่อนข้าง “หย่อนยาน” อยู่บ้าง  แต่ในความเป็นจริง เมื่อเพ่งมองสู่ระบบ หรือวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง  จะเห็นชัดว่า “ที่นี่เราทำงานแนบใกล้ชิดกับนิสิตมาก”  เป็นการทำงานภายใต้แนวคิด การพยายามเปิดพื้นที่ให้นิสิตได้  “คิดและทำ”  ในสิ่งที่นิสิตต้องการ และเมื่อข้ามพ้นออกจากเวทีประชุม  ทีมงานที่เกี่ยวข้องในระดับมหาวิทยาลัย ก็จะมีคำสั่งมอบหมายให้เป็นพี่เลี้ยงเชื่อมประสานการทำงานร่วมกับนิสิตอย่างใกล้ชิด  หากแต่เป็นการทำงานที่อำนวยความสะดวก ให้คำแนะนำ และช่วยคลี่คลายปมปัญหาต่างๆ แต่ไม่ใช่ไป “ทำแทน”  นิสิต  อันเป็นส่วนหนึ่งกับวาทกรรมที่ผมพูดและประกาศใช้ว่า “พูดให้ฟัง ทำให้ดู อยู่เป็นเพื่อน” 

 

(๓) ว่าด้วยการ "โสเหล่ เพื่อสะสาง..ต่อยอด"

 

การประชุมในแบบ “บอกเล่าเก้าสิบ”  ในครั้งนั้น  ในที่สุดก็เปลี่ยนผ่านไปสู่การ “โสเหล่” ไปโดยปริยาย  โดยนายกองค์การนิสิตและแกนนำผู้นำนิสิต ได้สะท้อนข้อมูลปัญหากิจกรรม “วันสงกรานต์”  ในปีที่ผ่านมาหลายประเด็น  แต่มีประเด็นที่ถูกหยิบมา “สะสางและต่อยอด” เพื่อขับเคลื่อนต่อในครั้งนี้  เป็นต้นว่า...

  • เน้นการอนุรักษ์และสืบสานมากกว่าการประชันขันแข่ง
  • เน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วม และสัมพันธ์กับกิจกรรม “หนึ่งคณะ หนึ่งหมู่บ้าน”
  • เน้นการนำเสนอเรื่องราวประเพณีวัฒนธรรมของชาวอีสานจากทุกจังหวัด ด้วยการสะท้อนเป็นเรื่องราว หรือ “นาฏการณ์”  ในขบวนแห่
  • เน้นการต่อยอดกิจกรรมก่อเจดีย์ทราย และการรดน้ำดำหัวชาวบ้านและผู้บริหารท้องถิ่น และผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ
  • เน้นให้หน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วม
  • เน้นการรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดเหล้า” และส่งเสริมการอนุรักษ์ “พลังงาน”
  • เน้นการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมสู่คณะต่างๆ ให้มากกว่าปีที่แล้ว เพื่อให้คณะสามารถทำกิจกรรมได้อย่างไม่ขัดเขิน
    แต่ต้องยึดหลัก “สมถะพอเพียง”
  • เน้นการจัดสวัสดิการให้ชาวบ้านอย่างทั่วถึง  เช่น  รถนำส่ง  ของที่ระลึก อาหารการกิน ที่นั่งที่พักผ่อน ฯลฯ
  • เน้นการดูแลชาวบ้านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง
  • เน้นการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทุกกิจกรรม ไม่ใช่เข้าร่วมแต่เฉพาะกิจกรรมที่สนุกสนาน แต่ไม่สนใจกิจกรรมที่เป็นพิธีการ
    และทางการ เช่น พิธีเปิด พิธีรดน้ำดำหัว
  • เน้นการบริหารจัดการเรื่องเวลาและกิจกรรมแบบยืดหยุ่น แต่ไม่ลากยาวแบบฟุ่มเฟือย
  • ฯลฯ

 

 

 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมา “บอกเล่าเก้าสิบ-โสเหล่” กันในเวทีครั้งนั้น ซึ่งทุกประเด็นล้วนเป็นข้อมูลจากปีที่แล้ว
ที่พบและเห็นสอดคล้องกัน และส่วนหนึ่งก็มาจากบันทึกใน Blog ที่ผมได้สะท้อนไว้  สิ่งเหล่านี้แหละที่ผมเรียกว่า “ทุน”
หรือ “เสบียง” ที่จะต้องนำพาไปเป็นฟันเฟืองของการขับเคลื่อนกิจกรรม

ครับ, เป็นการทำงานในแบบ “สะสางและต่อยอด”  ไม่ใช่ “สะสาง” เพื่อสร้าง “แผ่นดินใหม่”   วิธีการแบบนี้  ผมเชื่อเหลือเกินว่า  จะกล่อมเกลาให้นิสิตมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียน การทำกิจกรรม และการใช้ชีวิตที่ดีได้ 

นอกจากนี้ยังมีการเปิดประเด็นใหม่ๆ เข้ามา “โสเหล่” กันอย่างแสนสนุก  เป็นต้นว่านิสิตบางท่านตั้งคำถามกับนายกองค์การนิสิตถึงระบบการจราจรทั้งในชุมชนและมหาวิทยาลัย

ประเด็นดังกล่าว ผมถือว่าสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการ “บริหารจัดการ” ในเรื่องอื่นๆ   ซึ่งผมก็เสริมแรงหนุนว่า “ทำอย่างไรก็ได้ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนส่วนใหญ่ หรือถ้าจะกระทบ ก็ให้กระทบให้น้อยที่สุด เพราะนิสิตก็ไม่ควรทำตัวเป็น “อภิสิทธิ์ชน” ไปซะทุกเรื่อง...!!”

 

 

 

เป็นที่น่ายินดีว่าการเปิดประเด็นโสเหล่ที่ว่านั้น ทุกคนต่างก็ร่วมแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างตรงไปตรงมา โดยที่ผมและทีมงานก็ยังนิ่งสงบฟังเป็นระยะๆ เพราะรู้อยู่แล้วว่าเรื่องเหล่านี้ ท้ายที่สุดแล้วผมและทีมงานมีทางออกรองรับไว้แล้วเหมือนกัน  เพียงแต่อยากให้นิสิตได้ขบคิด แลกเปลี่ยนกันเสียก่อน  และบางส่วนเราก็ประสานงานกับฝ่าย “จราจรและรักษาความปลอดภัย” ของมหาวิทยาลัยฯ บ้างแล้ว

ผลพวงของการ  “โสเหล่”  ในครั้งนั้น ก่อให้เกิดแนวคิดและกระบวนการหลายอย่าง เช่น

  • ยึดโยงเครือข่ายให้หลากหลาย ทั้งภาครัฐ และท้องถิ่น  เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านการจราจร 
  • ชวนร้านรวงระหว่างทางให้มีส่วนร่วม  
  • เน้นการใช้เวลาในถนนหลวงให้น้อยที่สุด  เพื่อมิให้กระทบต่อการสัญจรของชาวบ้าน 
  • เน้นโซนนิ่งการจอดรถที่เป็นสัดส่วน เพื่อง่ายต่อการดูแล และการปรับเปลี่ยนเส้นทางจราจรในมหาวิทยาลัยฯ ให้สอดรับ
    กับกิจกรรมที่มีขึ้น

 

 

(๔) ว่าด้วยความสุข : ผลลัพธ์ของการสะสาง ต่อยอด

 

สรุปแล้วก็คือ กิจกรรมวันสงกรานต์ที่ผ่านมา  ได้เกิดปรากฎการณ์ของการ “สะสางและต่อยอด”  ได้อย่างภาคภูมิ   ถึงแม้จะยังไม่สัมฤทธิ์ผลอย่างที่ตั้งเป้าไว้ทุกเรื่อง  แต่ก็สะท้อนให้เห็นพัฒนาการที่ดีของการจัดการความรู้ของนิสิต หรือฝ่ายพัฒนานิสิตของที่นี่

อย่างน้อยก็ชี้ให้เห็นว่า “แผ่นดินผืนเก่า” ยังมี “ทุนและเสบียง” สำหรับการขับเคลื่อนของชีวิตอย่างเหลือเฟือ

เพียงเปิดใจ “สะสางและต่อยอด” อย่างมีสติ  อะไรๆ ก็เปล่งประกายได้อย่างไม่ฝืดเคือง

ครับ,  ผมมีความสุขกับงานครั้งนี้มาก
และเชื่อว่านิสิต หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ ก็มีความสุขไม่แพ้กัน

 

 

หมายเลขบันทึก: 441431เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2011 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นด้วยว่า การบันทึก เป็นเหมือนทุนและเสบียงที่เราต่อยอดไปได้ บางครั้งการกลับไปอ่านบันทึกเก่าๆทำให้เราได้เรียนรู้ว่าสมัยก่อนเราคิดอย่างไร ตอนนี้เราคิดอย่างไร ตอนนั้นทำอะไร มีอะไรต้องแก้ไขไหม ตอนนี้เราจะแก้ไขสิ่งที่เคยผิดพลาดอย่างไร ขอบคุณครับ..

ครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

จริงๆ แล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมพูดกับทีมเสมอมาก็คือ  เราต้องคืนความรู้มาสู่สังคม  ความรู้ที่ว่านั้นไม่ว่าจะ "บวก หรือลบ"  ก็ต้องคือนกลับมาเป็น "ทุน" ให้เพื่อนได้เรียนรู้  ทุนที่ว่านั้นก็มีสถานะเหมือน "มรดก" ที่คนอื่นๆ ต้องก้าวเข้ามาจับต้อง ใช้งาน...

อะไรดีก็ต่อยอด ขยายผล..
อะไรเป็นข้อบกพร่องที่ต้องสะสาง เพื่อสานต่อ ก็ต้องทำ
แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น หรือไม่เกี่ยวโยง ก็อาจละข้ามไปก็ได้

นี่คือสิ่งที่พูดและคุย-โสเหล่กันเรื่อยมา..ครับ

หากพูดถึงงานสงกรานต์ในปีนี้ มันเป็นประสบการณ์อีกครั้งในการดำเนินกิจกรรมที่จะไม่มีวันลืม ผมทำงานร่วมกับองค์กการนิสิตมาตั้งแต่ปี 53 แต่ในฐานะผู้ช่วยงานและไม่มีตำแหน่งใด ๆ ในองค์กร แต่งานสงกรานต์ปีนี้ผมได้รับโอกาสจากคำนิสิตช่วยงาน มาเป็นตำแหน่ง นายกค์การนิสิต ซึ่งถือว่าการเปลี่ยนแปลงสถานะผู้ดำเนินงานครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตพอสมควร งานปีนี้ผมและทีมงานประชุมกันตั้งแต่เนิ้น ๆเพราะเป็นงานแรกขององค์การนิสิตชุดใหม่ที่ต้องรับผิดชอบ ผมและทีมงานจึงได้ใช้ชื่อโครงการครั้งนี้ว่า "เอ้พระฮดสรงน้ำบุญเดือนห้า สืบประเพณีมหาสงกรานต์ มมส" 

 จากตำแหน่งนิสิตช่วยงานในงานสงกรานต์ปีที่ผ่านมา ในตำแหน่งพิธีกร กลายมาเป็นนายกองค์การนิสิตในปีนี้ จึงพอจะรับทราบปัญหาจากปีที่ผ่านมา เพื่อนำกลับมาแก้ไขในปีนี้ได้ ตามหลักการบริหารจัดการโครงการแบบ PDCA

วิธีการจัดการโครงการในปีนี้ จากปัญหาเมื่อปีที่ผ่านมา

1.ผู้เข้าร่วมโครงการพิธีเปิดน้อย เพราะพิธีเปิดอยู่ในช่วงเย็นหลังจากเสร็จการประกวดผู้สูงอายุสุขภาพดี ชาวบ้านที่มางานจึงกลับก่อน อยู่ร่วมพิธีเปิดค่อนข้างน้อย  การแก้ไขปัญหาปีนี้ เลยเอาพิธีเปิดมาอยู่ในช่วงบ่ายโมง เพราะเป็นช่วงที่ขบวนแห่รถบุปผชาติเสร็จสิ้นพอดี ทำให้คนร่วมงานเยอะขึ้นเพราะหลังจากเดินเสร็จทุกคนก็จะมาร่วมพิธีเปิด และการประกวดผู้สูงอายุก็เริ่มประมาณบ่ายสองโมง ทำให้กองเชียร์จากชุมชน ที่จะมาคอยเชียร์ผู้เข้าประกวดผู้สูงอายุมาร่วมงานจำนวนมาก

2.เรื่องงบประมาณ จากปัญหาปีที่ผ่านมาเรื่องงบประมาณสำหรับสโมสรที่ตัดไว้น้อยมากบางสโมสรมีแค่ 3000 บาท ปีนี้ผมจึงจัดสรรสนับสนุนกิจกรรมเพิ่มเติมให้สโมรนิสิตอีกสโมรสรละ 1500 บาท ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีว่า 1500 บาทที่ผมจัดสรรให้นั้น คุ้มค่ามาก ๆ เพราะนอกจากสโมสรนิสิตพึงพอใจแล้ว สิ่งที่สโมสรนิสิตสรรสร้างขึ้นมากับรูปแบบขบวนนั้น เกินคำจะบรรยาย หรือแทบจะบอกว่า 1500บาท ที่สโมรนิสิตขอมาแค่ค่าชุดแพร ผมก็ยังอยากจะถามว่า "พอไหม" แต่ถึงอย่างไรถึงจะ นั้น เงินที่ผมจัดสรรให้ในกิจกรรในครั้งนี้อาจจะไม่มากมายอะไร แต่มันคือสิ่งที่ช่วยเพิ่มกำลังใจให้กับองค์กรผู้ร่วมงาน  เพราะปีที่ผ่านมาไม่มีหารจัดสรรให้

3.ปีที่ผ่านมาไม่มีเงินรางวัลขบวนและการประกวดต่าง ๆ ปีนี้ผมจึงจัดสรรให้มีเงินรางวัลด้วยซึก็มากพอสมควร ทำให้สโมสรนิสิตมีกลังใจในการแข่งขัน สรรสร้างงานออกมาได้อย่างดีเยี่ยมเลยทีเดียว

4.ชุมชุนกับมหาวิทยาลัย ปีนี้ผมให้แต่ละสโมสรนิสิตแต่ละคณะไปหาผู้สูงอายุมาร่วมงาน หนึ่งคณะ หนึ่งหมู่บ้าน เพราะนอกจากจะมาประกวดผู้สูงอายุสุขภาพดีแล้ว ผู้สูงอายที่มาร่วมงาน ยังเป็นเสมือนผู้ใหญ่ที่สำคัญคนหนึ่งของนิสิต ที่มาอวยพรให้นิสิตเวลารดน้ำดำหัว ซึ่งเป็นภาพการมีส่วนร่วมของทั้งส่วนอย่างลงตัว ซึ่งผมเองก็ถือคติที่ว่า มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่ใช่ชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย ซึ่งงานครั้งนี้ผู้สูงอายุก็เข้าร่วมโครงการมากกว่าพอสมควร กว่า 200 คนและที่สำคัญเรามีของที่ระลึกมอบให้กับผู้สูงอายุทุกท่านด้วย

5.เรื่องของอาหาร ปีที่ผ่านมาน้ำดื่มและอาหารไม่เพียงพอ ปีนี้เราจึงเพิ่มงบอาหารมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ จึงทำให้งานครั้งนี้ทุกคนที่มาร่วมงานได้รับประทานอาหารอย่างถ้วานหน้าจนเรียกว่าพอจนเหลือ เพราะเหลือขนมจีนอีกกว่า 10 กิโลเลยทีเดียว

6.สงกรานต์น้ำไม่พอ ปีนี้เราจึงได้ประสานรถน้ำของมหาวิทยาลัยให้มาเติมน้ำตลอดเวลา ซึ่งภาพพรวมการเล่นน้ำก็เย็นฉุ่มช่ำ อย่างที่ผมและทีมงานตั้งใจไว้

7.เรื่องของการแต่งกาย ปีนี้ผมก็เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเรื่องการเน้นศิลปวัฒนธรรม โดยเฉาพะขบวนแห่รถบุปผชาติ ตลอดจน ผู้บริหารเองแต่การมาในชุดพื้นเมืองอีสาน ส่วนนิสิตก็แต่งกายเสื้อลายดอก ซึ่งเข้ากับบรรยากาศของงานอย่างยิ่ง

ส่วนปัญหาในปีนี้ก็มีเช่นกัน แต่ส่วนมากก็เป็นปัญาเล็ก ๆ น้อยแก้ไขเฉพาะจุดได้แต่ปัญหาใหญ่ ๆ ในครั้งนี้คือ

1.ฝนฟ้าอากาศ ซึ่งช่วงการประกวดเทพีสงกรานต์เกิดฝนฟ้าคะนองแต่ช่วงเดินขบวนอากาศร้อนมาก จนทำให้เวทีได้รับความเสียหายหลังฝนตก และต้องเปลี่ยนประกวดใหม่ ทำให้การประกวดดูไม่มีสีสันเท่าที่ควร

แต่สิ้งที่หน้าปลาบปลื้มคือ ทุกสโมรนิสิตร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกับรูปแบบการจัดกิจกรรม คณะกรรมการดำเนินทุกคนช่วยกันทำงานดีมาก ๆ อีกทั้งเจ้าหน้าที่กองกิจการนิสิตทุกท่านช่วยประสานและให้คำปรึกษาตลอดทั้งโครงการ ถึงงานครั้งนี้จะไม่สมบูรณ์100% แต่ถ้าถามว่าคนที่มาร่วมงานได้อะไร ผมก็คงตอบอะไร ไม่ได้มาก แต่ถ้าถามว่าผู้ดำเนินงานได้อะไร ผมเองก็สามารถตอบได้เลยว่า ถึงจะเหนื่อยแต่เราก็มีความสุข จากมิตรภาพของเพื่อนและเสียงตอบรับเป็นอย่างดีกับชุมชน อีกทั้งสโมรสรนิสิตที่ผู้เข้าร่วมโครงการหลักพึงพอใจและให้กำลังตลอดการดำเนินงานในครั้งนี้

นายวิเศษ  นาคชัย นายกองค์การนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

สวัสดีครับท่านนายกฯ ...

อ่านแล้วชื่นใจมากครับ ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมาก ชี้ให้เห็นว่าการทำงานที่เอาปัญหามาเป็นโจทย์นั้น ไม่ใช่การมองโลกในแง่ร้ายและบั่นทอนตัวเอง แต่มันคือความท้าทายและแรงทะยานที่จะปรับปรุงแก้ไขในข้อผิดพลาดที่ผ่านมา

ท่านโชคดีมากครับที่ปีที่แล้วเป็น "พิธีกร"  ภาพต่างๆ จึงแจ่มชัดในความคิด เมื่อมีโอกาสจึงสามารถประมวลมาต่อยอดกับครั้งนี้ได้อย่างมีพลัง..

บอกตามตรงว่าชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ สิ่งที่ท่านได้บันทึกไว้ในนี้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นต่อไป

ขอบคุณมากครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท