ชีวิตที่พอเพียง : ๑๒๕๘. ไปเจนีวา ๒๕๕๔ (๑) การเดินทางขาไป



          ปีนี้ผมไปค้างที่เจนีวา ๘ คืน   เพื่อทำงาน ๒ อย่าง   คือประชุมคณะกรรมการจัดการประชุมของ PMA Coference 2012 ในวันที่ ๑๓ พ.ค. ๕๔   และร่วมประชุม 64th World Health Assembly ระหว่างวันที่ ๑๖ – ๒๐ พ.ค.
          ปีที่แล้วผมไปประชุม PMAC OC วันเดียวแล้วกลับ   ได้เล่ารายละเอียดไว้ที่นี่
          ก่อนไปผมค้นพยากรณ์อากาศที่เจนีวา พบว่าฝนจะตกเกือบทุกวันที่ผมไปอยู่   จึงหยิบร่มคันเล็กๆ ใส่กระเป๋าเดินทางไปด้วย
          ผมนัดกับคุณหยกและเหมียวแห่ง PMAC ว่าผมจะไปถึงสนามบินสุวรรณภูมิประมาณสามทุ่ม   เอาข้าจริงผมไปถึงก่อนเล็กน้อย  จึงได้พบ นพ. วรรณะ อูนากูล (คณบดี คณะแพทยศาสตร์ ม. บูรพา) และภรรยา ตรงจุดใกล้ๆ ที่ เช็ค-อิน  เพราะท่านจะไปเที่ยวยุโรปตะวันตกกับคณะของ รพ. สมิติเวช ศรีราชา โดยไปสายการบิน ลุฟฮันซ่า ซึ่งเคาน์เตอร์ เช็ค-อินอยู่ใกล้ๆ   อ. หมอวรรณะกับผมเพิ่งเดินทางไปกับคณะดูงานระบบกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษาของ สรอ. เมื่อต้นเดือน เม.ย. ๕๔ 

          สายการบินออสเตรียนใจดีเรื่องน้ำหนักสัมภาระที่เช็ค-อิน  ผมนั่งชั้นธุรกิจมีสิทธิ์เช็ค-อิน สัมภาระได้ ๕๐ กก.  ส่วนอีกสองสาวได้คนละ ๒๐ รวม ๙๐ กก.   แต่เราเช็ค-อิน กระเป๋า ๗ ใบ น้ำหนัก ๑๐๗ กก. โดยเขาไม่บ่นใดๆ เลย   

       ที่ห้องรับรองของสนามบินพบ รศ. นพ. เพิ่มยศ โกศลพันธุ์ และคณะจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ไปเกาหลี เมืองอินชอน เพื่อดูระบบ ICT และระบบพลังงาน สำหรับมาใช้ในการออกแบบ รพ. ใหม่

 
       และพบ ศ. นพ. อรุณ เผ่าสวัสดิ์ และ ศ. พญ. สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ไปคณะเดียวกันกับ นพ. วรรณะ คือคณะ ไปเที่ยวยุโรปตะวันตก   ศ. นพ. อรุณเล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของรางวัลสมเด็จ เจ้าฟ้ามหิดลฯ มาจากเงินสลากกินแบ่งสำหรับสร้างอาคารสยามินทร์เหลือ ๒๘ ล้านบาทเศษ   นพ. ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถจึงไปขอจากปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ว่าขอไม่คืน ขอเอาไว้สร้างอนุสรณ์ให้แก่สมเด็จพระบรมราชชนก   ตอนนั้น ศ. นพ. ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี เป็นคณบดี  ศ. นพ. อรุณ เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล   กรณีเงินบริจาคของคุณยายทอง เกือบร้อยล้านบาท. ที่ ศ. นพ. ประดิษฐ์ เคยเล่านั้น มาทีหลัง   ข้อโต้เถียงกันตอนเริ่มก่อตั้ง มูลนิธิฯ นี้มีมาก และทำให้เกิดความขัดแย้ง   แต่เมื่อตั้งมูลนิธิแล้ว ทุกฝ่ายก็เห็นพ้องกันว่า คนที่จะเป็นประธานคณะกรรมการรางวัลได้มีคนเดียวคือ ศ. นพ. ณัฐ ภมรประวัติ   และเมื่อท่านเข้ามทำงานก็ตั้งใจทำ และเกิดผลดีมาก

        
          พบ รศ. ดร. เสาวคนธ์ รัตนวิจิตราศิลป์ และ นพ. สุรจิต สุนทรธรรม ไปประชุมเรื่องการพัฒนายาใหม่ ที่เกาหลี   ผมถามว่ามียาสำหรับมาลาเรียบ้างไหม คำตอบคือไม่มี เพราะเป็นโรคของคนจน

 

          บนเครื่องบิน ผมได้ที่นั่ง 1D ริมทางเดินและเป็นที่นั่งกลางลำ มี ๓ ที่นั่งติดกัน อีก ๒ ที่นั่งเป็นนักธุรกิจสตรีชาวภูเก็ตสองพี่น้อง เจ้าของโรงแรมเมอลิน ภูเก็ต (มีทั้งหมด ๔ โรงแรม)   คือคุณนันทนา (จิรายุส) วงศ์สัตยนนท์ กับคุณกาญจนา จิรายุส   จะไปเที่ยวประเทศ โครเอเทีย  เป็นคณะทัวร์ประมาณ ๒๐ คน   การพูดคุยกันทำให้ผมได้รับรู้ เรื่องคอรัปชั่นของ อปท. แถวภูเก็ตพังงาเกี่ยวกับการทำธุรกิจท่องเที่ยว   เช่นมีระเบียบให้ โรงแรมขนาดเกิน ๗๐ ห้องต้องทำ EIA   ก็มีการสมยอมกันให้โรงแรม ๒๐๐ ห้องจดทะเบียน เป็น ๓ โรงแรม

 

          นอกจากนั้น ผมได้เรียนรู้พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคต่างๆ ของโลก  ที่นิยมมาภูเก็ตคือคนทางสแกนดิเนียเวีย ซึ่งหนีหนาวมาพักผ่อนในอากาศดี คราวละนาน ๒ - ๓ สัปดาห์ คนพวกนี้ยึดถือข้อตกลงมาก ว่าต้องได้รับบริการตามที่ตกลงกัน  ในขณะที่นัก ท่องเที่ยวจากออสเตรเลียจะเป็นฝรั่งติดนิสัยตะวันออก คือหยวนง่ายและไม่ค่อยระมัดระวัง มรรยาท   ส่วนนักท่องเที่ยวรัสเซียชื่อเสียด้านเป็นมาเฟีย  นักท่องเที่ยวจีนมามากขึ้นและชอบ ออกมาคุยส่งเสียงดังนอกห้องพัก  เสียงคล้ายทะเลาะกัน

 

          คุณนันทนาเล่าว่า เมื่อ ๕ - ๖ ปีมาแล้ว เกิดการระบาดของพฤติกรรมสาวญี่ปุ่นมา แต่งงาน อยู่กินกับหนุ่มบีชบอยรูปร่างกำยำล่ำสันที่ภูเก็ต และเกิดปัญหาสังคมของสาวญี่ปุ่น จนรัฐบาลญี่ปุ่นต้องว่าจ้างให้ ดร. สายฤดี วรกิจโภคาทร แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ให้ไปทำวิจัย เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ พบข้อมูลการระบาดของพฤติกรรมที่น่าตกใจมาก เวลานี้หายไปแล้ว แสดงว่าการวิจัยได้ผลจริงๆ ในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อนแบบนี้

 

          อาหารเย็น (ซึ่งกินตอนตี ๑) บนออสเตรียน แอร์ไลน์ อร่อยกว่าของการบินไทย   และผมเปิดบันทึกของปีที่แล้วเตรียมสั่งเนื้อแกะ กินกับไวน์แดง Merlot ที่ติดใจมาตั้งแต่ปีที่แล้ว   ก็ได้สมใจ   ข้อตกใจคือ เขารินไวน์ให้ทีละเต็มแก้วใหญ่เลย   โดนเข้า ๒ ริน ผมก็ดื่มไม่หมด

 

          ที่ผมเตรียมไปกินอีกอย่างคือกาแฟ (Wiener Kaffees) ที่คราวที่แล้วผมสั่ง Wiener Eiskaffee และชอบมาก  คราวนี้ผมลองสั่ง Fiaker (black coffee magic served in a glass and refined with cognac and whipped cream) ซึ่งเป็นกาแฟร้อน   แต่โชคไม่ดี เขาเอากาแฟมาเสิร์พสับกัน   คุณนันทนาสั่ง Kaffee verkehrt ซึ่งก็คือกาแฟใส่นมและครีม   เมื่อเขาเอามาเสิร์พผิด เราก็ไม่ผิดสังเกต และดื่มไปคุยไป คุณนันทนาโดนกาแฟใส่คอนยัค ก็สะอึก และร้องว่าเสิร์พผิดเสียแล้ว แต่เราก็ไม่ได้โวยวาย   ผมยอมดื่มกาแฟใส่นมแก้วโต โดยไม่บ่น

 

          กลางคืนผมนอนหลับได้เป็นช่วงๆ รวมประมาณ ๕ - ๖ ชั่วโมง โดยไม่ได้กินยานอนหลับ  เมื่อเขาเสิร์ฟอาหารเช้า ผมก็ถามหากาแฟ Fiaker ซึ่งเขาก็รับทำให้  กลายเป็นว่าผมดื่มกาแฟ สำหรับอาหารค่ำ ในช่วงอาหารเช้า เป้าหมายคือ เพื่อให้ได้ลิ้มรสกาแฟผสมคอนยัค

 

          นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ ฉบับวันที่ ๗ พ.ค. ๕๔ เขียนเรื่องเกี่ยวกับ โอซามา บิน ลาเดน หลายบทความ ที่ช่วยให้ผมเข้าใจความซับซ้อนของการต่อสู้ระหว่างประเทศโลกเสรี นำโดยสหรัฐอเมริกา กับขบวนการต่อต้านทุนนิยมเสรี ของ อัล เคด้า   เขาบอกว่าในการต่อสู้ ๑๐ ปี สรอ. หมดเงินไปถึง ๑ ล้านล้านดอลล่าร์

 

          เราถึงเวียนนาเวลา ๕.๓๐ น. เวลาท้องถิ่น หรือ ๑๐.๓๐ น เวลาไทย คือใช้เวลาบิน ๑๐ ชั่วโมง ๓๐ นาที   เราต้องไปผ่าน immigration เข้าประชาคมยุโรป   แล้วจึงไปที่ห้องรับรอง ผู้โดยสารชั้นธุรกิจ   ผมเดินตามคณะที่มาด้วยกันคือ อ. วิม คุณเหมียวและคุณหยก ไม่ต้องระแวดระวังเรื่องไปทางไหนด้วยตนเอง. แถมยังมี Dr. Toomas จากสำนักงาน ธนาคารโลกที่เวียดนามมาด้วย ยิ่งทำให้ผมเดินทางสะดวกสบายแบบมีคนนำทาง

 

          จากนั้นเราต้องมาผ่าน security check ตามสูตร   ไปรอที่ Gate B 35  และขึ้น ลิมูซีนไปขึ้นเครื่องบินที่จอดไกลออกไป   เครื่องออกเวลา ๗.๐๕ น. ใช้เวลาบินไป เจนีวา ๑ ชั่วโมง ๒๐ นาที   เขาจัดให้ผมไปนั่งที่ 8C ซึ่งเป็นชั้นประหยัด  สักครู่เขาก็มาตามให้ไปนั่ง ชั้นธุรกิจซึ่งมีผู้โดยสารไม่ถึง ๑๐ คน จากที่นั่งทั้งหมด ๓๐ ที่นั่ง แต่ในชั้นประหยัดคนโดยสาร ประมาณ ๙๐%   เครื่องบินเป็น Fokker 100 ลำเล็กกว่า Boeing 737   ป้ายชื่อเครื่องบินว่าเป็นสายการบิน Austrian Arrow   เขาเลี้ยงอาหารเช้าอีกครั้งหนึ่ง   อาหารอร่อยดี

 

          เนื่องจากที่นั่งว่างหลายแถว ผมจึงเลือกนั่งริมหน้าต่างด้านขวาของเครื่องบิน หวังมอง เห็นยอดเขาที่มีหิมะคลุม   เอาเข้าจริงท้องฟ้ามีแต่เมฆ ไม่เห็นยอดเขาเลย

 

          มายุโรปอย่างนี้ ผมพยายามตั้งข้อสังเกตวิธีต่อสู้ดิ้นรนอยู่ในโลกด้วยสไตล์ยุโรป ซึ่งไม่เหมือน สรอ.  ผมคิดว่าไทยน่าจะเรียนรู้วิธีสร้างระบบต่างๆ ของประเทศจากยุโรปมากกว่า จากอเมริกา    เพราะเราไม่ได้ต้องการเป็นจ้าวโลกอย่าง สรอ.  และออสเตรียเป็นประเทศ ที่เราน่าจะคบค้าและ ลปรร. ด้วย.  เพราะเขาเป็นประเทศเล็ก ที่ต้องใช้ยุทธศาสตร์อยู่ร่วม กับประเทศอื่นๆ ในโลกแบบทั้งร่วมมือและแข่งขันเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข   โดยไม่ต้องการมีอำนาจเหนือซึ่งกันและกัน อย่างที่ สรอ. มีเป้าหมาย

 

          อ่านนิตยสาร  Succeed ที่เขาบอกว่าเป็น Business Magazine สำหรับ Central and Eastern Europe   มีให้อ่านบนเครื่องบินและผมถือลงจากเครื่องด้วย   เขาบอกว่าเศรษฐกิจ ของออสเตรียเริ่มฟื้นแล้ว หลังจากย่ำแย่ไปกับวิกฤติที่เริ่มโดยอเมริกาในปี 2008   ซ้ำเติมโดยกรีซและสเปนในปี 2009 และ 2010   แต่ผมอ่านนิตยสารนี้แล้วตีความว่า ที่ว่าฟื้นนั้น เขาไม่ได้ฟื้นขึ้นมาเหมือนเดิม แต่ฟื้นขึ้นมาต่างจากเดิม   เห็นได้ชัดเจนว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของเขาเน้นไปทาง ประหยัดพลังงาน หรือใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น เป็นต้น

 

        จากสนามบินเรานั่งแท้กซี่ ๒ คันไปโรงแรม Jade  ที่ต้อง ๒ คันเพราะกระเป๋าหลายใบ คันที่ผมนั่งกับ อ. วิม เป็นรถเบ๊นซ์ E 250 ขับโดยโชเฟอร์ผู้หญิงอายุราว ๔๕ สวมรองเท้าส้นสูง ปรี๊ด   เป็นครั้งแรกในชีวิตที่นั่งแท้กซี่มีคนขับแบบนี้

 

          อากาศที่เจนีวาดี ท้องฟ้าใส มีแดดจ้า  ไม่มีฝนหรือท้องฟ้ามัว ตามพยากรณ์อากาศที่ ผมดูที่บ้านเมื่อวาน   อุณหภูมิคงจะราวๆ ๑๘ องศาเซลเซียสตามพยากรณ์อากาศ    ผมนั่งรอห้องจนเวลาราวๆ เกือบ ๑๑ น. ก็ได้ห้องหมายเลข ๑๔ ที่กว้างขวางพักสบายกว่าโรงแรมอื่นๆ ที่ผมเคยมาพักที่เจนีวา 
 
          แต่พอเวลาเกือบเที่ยงก็มีฝนตกลงมาจริงๆ พอให้ถนนเปียก   แล้วหลังจากนั้นแดดก็ออกอีก
วิจารณ์ พานิช
๑๒ พ.ค. ๕๔
ห้อง ๑๔  โรงแรม Jade (คนสวิสอ่านว่า แจ๊ด) เจนีวา
    
           
 
หมายเลขบันทึก: 441430เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2011 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์

อ่านแล้วสนุกไปกับภาพเพียงผ่านพบในการเดินทางนะครับผม...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท