Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีนางชิชะพอคนป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย : แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์


ทางโรงพยาบาลอุ้มผาง จึงยินยอมรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว โดยให้เป็นหนี้สิ้นเรียกเก็บมายังโรงพยาบาลแต่ด้วยภาระปัจจุบันของโรงพยาบาลอุ้มผางจึงยังไม่สามารถชดใช้ค่าใช้จ่ายดังกล่าว รวมถึงค่าใช้จ่ายที่กำลังจะเกิดขึ้น ราวสามแสนบาทต่อปี หนทางรอดของนางชิชะพอจึงเลือนรางเหมือนแสงสว่างที่รออยู่ปลายอุโมงค์ที่มืดมิด แต่กว่าจะถึงวันนั้น แสงจากคบเพลิงที่ผู้คนจะยื่นมือมาช่วยนับเป็นกำลังใจอันสำคัญที่จะทำให้เธอก้าวไปจนถึงแสงนั้นได้

ลองจินตนาการถึงภาพตัวเองนั่งอยู่เบื้องหน้านายแพทย์ซักคน แล้วหมอก็พูดขึ้นว่า “ทำใจดี ๆ นะครับ คุณเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย หนทางรักษาให้หายขาดนั้นไม่มี ทำได้เพียงประคับประคองอาการไว้ให้นานที่สุด” แม้คุณจะเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นที่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลในประเทศนี้อย่างสมบูรณ์ แต่กระบวนการที่จะได้สิทธินั้นต้องมีขั้นตอนดังนี้

-ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายยื่นบัตรทอง พร้อมกับบัตรประจำตัวประชาชน แจ้งความจำนงเพื่อขอใช้สิทธิรับบริการทดแทนไต ที่โรงพยาบาลที่ระบุในบัตรทอง

-รายชื่อของผู้ป่วย ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลที่ร่วมบริการทดแทนไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เพื่อเสนอข้อบ่งชี้ในการบริการต่อคณะกรรมการพิจารณาบริการทดแทนไตฯ ระดับจังหวัด

-ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณา บริการทดแทนไตฯ ระดับจังหวัด จะได้รับการลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยในระบบ

-ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จะได้รับการแจ้งกลับจากโรงพยาบาลที่ระบุในบัตรทอง เพื่อเตรียมตัวเข้ารับการบริการ ณ โรงพยาบาลที่ร่วมโครงการรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จากนั้นคุณจะได้รับการบริการจากโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการ จนกว่าจะถึงวันสุดท้ายของชีวิต

แต่หากคุณเป็นบุคคลที่ไม่ใช่คนสัญชาติไทย โอกาสการเข้าถึงบริการดังกล่าวคงเป็นไปได้ยาก เช่นเดียวกับกรณีของนางชิชะพอ ชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) อายุ 48 ปี เป็นบุคคลอยู่ระหว่างการสำรวจเพื่อจัดทำเบียนบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เกิดที่บ้านกะลิคี ประเทศพม่า เข้ามาประเทศไทยทางด่านเปิ่งเคลิ่ง ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง ตอนอายุ 17 ปี ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านสามัคคี ตำบลอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง นางชิชะพอเริ่มเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอุ้มผางเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2552

ด้วยอาการซีด เข้ารับการเจาะเลือด แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรค anemia จึงรับยาและเจาะเลือดซ้ำเรื่อยมา จนเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 แพทย์ได้วินิจฉัยเพิ่มเติมว่าเป็นโรคไตระยะสุดท้าย End-stage renal disease (ESRD) เข้ารับการรักษาทั้งที่เป็นผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในเป็นระยะระยะ 19 มีนาคม 2554 นางชิชะพอเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน และอายุรแพทย์ประจำโรงพยาบาลอุ้มผาง ให้ความเห็นว่าควรได้รับการฟอกล้างไตเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย แต่เมื่อทำการเช็คสิทธิในการรักษา ปรากฏว่า นางชิชะพอไม่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลจากกองทุนใด ๆ แพทย์จึงทำได้เพียงให้การรักษาทางยาเท่านั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2554 นางชิชะพอ ถูกรับตัวเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลอุ้มผางอีกครั้งด้วยอาการเหนื่อยง่าย ครั้งนี้อาการของนางชิชะพอไม่ทุเลาลง แพทย์ตัดสินใจส่งตัวไปรักษาต่อกับนายแพทย์พิสิฐ ลิมปธนโชติ แพทย์เฉพาะทางประจำหน่วยไตเทียมของโรงพยาบาลแม่สอด ในวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2554 และได้ทำการเจาะหน้าท้องเพื่อทำการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง การล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis หรือ CAPD) เป็นวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการยอมรับวิธีหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสามารถทำได้ด้วยตนเอง และในช่วงเวลาที่น้ำยาอยู่ในช่องท้องสามารถทำงานได้ตามปกติ โดยผู้ป่วยปกติใช้เวลาปล่อยน้ำยาเข้าออกรอบละ 30-45 นาที และต้องดำเนินการวันละ 4 รอบ รอบละ 4-8 ชั่วโมง ซึ่งวิธีการนี้ ผู้ป่วยไม่ต้องระวังเรื่องการรับประทานอาหารมากจนหมดความสุข อีกทั้ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีความสดชื่น เนื่องจากการล้างไตทางช่องท้องเป็นการถ่ายของเสียออกจากร่างกายทุกวัน วันละประมาณ 4 ครั้ง ของเสียจึงไม่ตกค้างในร่างกายนาน หลังจากอาการของนางชิชะพอคงที่แล้ว แพทย์วางแผนจะเจาะเส้นเลิอดบริเวณต้นคอเพื่อฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis-HD) ซึ่งต้องเดินทางมารับ บริการฟอกเลือดที่หน่วยบริการที่มีเครื่องไตเทียมและแพทย์โรคไต สัปดาห์ละ 2-3 ครั้งๆ ละ 4-5 ชั่วโมง

ในส่วนของค่าใช้จ่ายการเจาะหน้าท้องและเส้นเลือด ทางโรงพยาบาลแม่สอดแจ้งว่า ไม่สามารถให้การอนุเคราะห์ผู้ป่วยกรณีนางชิชะพอได้ ทางโรงพยาบาลอุ้มผาง จึงยินยอมรับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว โดยให้เป็นหนี้สิ้นเรียกเก็บมายังโรงพยาบาลแต่ด้วยภาระปัจจุบันของโรงพยาบาลอุ้มผางจึงยังไม่สามารถชดใช้ค่าใช้จ่ายดังกล่าว รวมถึงค่าใช้จ่ายที่กำลังจะเกิดขึ้น ราวสามแสนบาทต่อปี หนทางรอดของนางชิชะพอจึงเลือนรางเหมือนแสงสว่างที่รออยู่ปลายอุโมงค์ที่มืดมิด แต่กว่าจะถึงวันนั้น แสงจากคบเพลิงที่ผู้คนจะยื่นมือมาช่วยนับเป็นกำลังใจอันสำคัญที่จะทำให้เธอก้าวไปจนถึงแสงนั้นได้

----------------------------------------------------------

โดย จันทราภา จินดาทอง นักสังคมสงเคราะห์ รพ.อุ้มผาง

บทความสำหรับ Stateless Watch Review ( www.statelesswatch.org )

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2554

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2554

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=552&d_id=551

--------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 441246เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2011 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

กำลังสนใจเรื่องนี้อยู่พอดี แต่ยังไม่ได้ลงมือทำอะไร

เมื่อเดือนมีนาคม 54 พี่สาวเข้าโรงพยาบาลเอกชน อยู่ 2 วันมีค่าใช้จ่าย 3 หมื่นบาทต้นๆ แล้วย้ายเข้าโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ของภาครัฐ มีชื่อเสียงในเรื่องการใช้ยาต่างประเทศรักษาตัวอยู่ 41 วัน ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 4 แสนบาท เฉลี่ยวันละหนึ่งหมื่นบาท แต่เนื่องจากโรงเรียนแพทย์อนุญาตให้ใช้สิทธิฉุกเฉิน ทำให้เป็นหนี้โรงพยาบาลอยู่เพียง 1.5 แสนบาท

ถามว่าทำไมไม่ใช้สิทธิตามบัตรประชาชน ก็คงตอบได้เพียงว่าไม่เคยได้รับแจ้งว่าสิทธิตามบัตรประชาชนอยู่ที่โรงพยาบาลใด และไปทราบเมื่อถึงโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์นั้นแล้ว (ซึ่งไปโดยรถพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ดังนั้นสภาพคนป่วย ณ ขณะนั้นก็ไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปที่ใดได้อีก เนื่องจากภาวะน้ำท่วมปอด) เมื่อรักษาไปได้สัก 10วัน สภาพคนป่วยดีขึ้น แพทย์ที่โรงเรียนแพทย์มีความเห็นว่าสามารถผ่าตัดได้ แพทย์ที่โรงเรียนแพทย์จึงได้กรุณาทำหนังสือขอให้โรงพยาบาลต้นสังกัดตามบัตรประชาชนที่เรียกว่า บัตรทอง ได้กรุณาทำหนังสือส่งตัวมาให้เพื่อคนป่วยจะไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง แต่ทางโรงพยาบาลต้นสังกัดปฏิเสธโดยอ้างเหตุว่า คนป่วยไม่เคยเข้ารับการตรวจรักษา และถึงเป็นโรคตามหนังสือนั้นจริง ทางโรงพยาบาลต้นสังกัดก็สามารถทำการรักษาได้ จึงเป็นเหตุที่โรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ให้ใช้สิทธิฉุกเฉิน (ซึ่งตามระเบียบของบัตรทอง สปสช.กำหนดให้ใช้ปีละ 2 ครั้ง)

ในชีวิตที่เป็นจริง การใช้กฎระบียบกับความจริงและความรู้สึกอาจไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

บ่ายนี้มีนักศึกษาภาคบัณฑิตที่เพิ่งจบปีนี้มาปรึกษาทำวิจัยเรื่องนี้พอดี ได้สอบถามว่ามีคนไข้ที่เป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติบ้างหรือไม่ ปรากฏว่ายังไม่มี เลยถามว่าถ้ามีจะทำอย่างไร ให้เอาไปคิดก่อน พอดีมาเปิด Mail เลยได้คุยเรื่องนี้ต่อ ...

เมื่อยังไม่สามารถแก้ไขที่ต้นทางและระบบรวมทั้งหมดได้ ต้องแก้ไขเฉพาะหน้ากันก่อน การระดมทุนประมาณ ๔ -๕ แสนต่อปี สำหรับที่อื่น ๆ คงไม่ยาก (จัดแข่งกอล์ฟการกุศลทีเดียวก็ได้หลักล้านแล้ว) ที่อุ้มผางคิดว่าไม่ง่ายนัก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีทาง ที่ทำได้ตอนนี้น่าจะหาเงินสนับสนุนจากในพื้นที่และนอกพื้นที่ จัดกิจกรรมอุ้มผาง Rally ดีมั๊ยครับ (แต่กลัวว่าจะไปทำให้อำเภออุ้มผางที่น่ารักน่าอยู่เปี่ยนไป๋เป๋นปาย) เคยคุยกับนักศึกษาอีกท่านหนึ่ง เห็นว่าวิ่งมินิมาราธอนก็ดี เพราะจัดการง่ายกว่า อุปกรณ์ที่ใช้น้อยหน่อยและวิวทิวทัศน์อุ้มผางสวยมากน่าจะเหมาะ จะได้มีกิจกรรมทำร่วมกันและส่งเสริมสุขภาพด้วย แต่ต้องเตรียมเรื่องการจัดการกับรายได้และการเบิกจ่าย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง หากสนใจจะประสานกับผู้มีประสบการณ์การจัดมินิมาราธอนให้ครับ สงสัยงานนี้คุณจันทราภาจะเป็นแม่งานอีกแล้ว

ในส่วนที่ อ.ตุ๊กเล่ามา อยากให้เล่าใน FB แล้ว อ.แหววจะช่วย tag ให้พวกคุณหมอที่จะใช้กรณีจริงนี้ไปปรับปรุงระบบจริยธรรมของโรงพยาบาลในเรื่องสิทธิในหลักประกันสุขภาพ เล่าในบันทึกของ อ.ตุ๊กใน FB จะดีค่ะ จะเผยแพร่ไปถึงตัวคนที่จะทำอะไรได้ค่ะ ทำเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท