กรุงเทพมหานครกำลังยึดสนามหลวงไปจากประชาชน ?


การปรับปรุงสนามหลวงทุกครั้งจะเน้นแต่เพียงปรับปรุงด้านกายภาพเป็นหลัก ไม่เน้นการปรับปรุงด้านคุณภาพชีวิตของ ผู้ที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ที่ใช้สนามหลวงเหมือนบ้าน แต่มักจะมองว่า คนเหล่านั้นเป็นผู้บุกรุก เป็นผู้มลทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของสถานที่ และจะประโคมข่าวอย่างครึกโครมว่า คนที่อยู่ที่สนามหลวงคิอพวกสร้างปัญหา ? ต้องกำจัดออกจากสนามหลวง จึงไม่เคยมีการวางกลไกการให้ความช่วยเหลืออย่างครบวงจรและเป็นระบบ ทำให้การให้ความช่วยเหลือไม่เคยมุ่งเน้นมาที่คนเป็นสำคัญ แต่กลับให้ความสำคัญกับสถานที่และวัตถุมากกว่า

ผมเคยประกาศว่า หากใครก็ตามแก้ปัญหาสนามหลวงได้ จะสามารถแก้ปัญหาของบ้านเมืองนี้ได้ ในหนังสือ ฅ.ฅน เมื่อปีที่ผ่านมา ถึงวันนี้ผมยังยืนยันคำมั่นนั้นอยู่อย่างหนักแน่น และมีแนวทางที่สามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรมที่แก้ไขได้อย่างถาวรและไม่เกิดความขัดแย้งกับสังคม อยู่ที่ว่าผู้ที่จะนำไปแก้ไขจะมีความจริงใจในเรื่องดังกล่าวมากน้อยเพียงใดเท่านั้น

                ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกับสนามหลวงอย่างชัดเจนและลึกซึ้งเสียก่อนว่า สนามหลวงมีที่มีที่ไปและต้นกำเนิดเป็นอย่างไร ท้องสนามหลวง หรือ สนามหลวง เป็นสนามขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคล กรุงเทพมหานคร

ท้องสนามหลวง เดิมเรียกว่า ทุ่งพระเมรุ เนื่องจากใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2398 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเรียกจาก “ทุ่งพระเมรุ” เป็น “ท้องสนามหลวง” ดังปรากฏในประกาศว่า “ที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น คนอ้างการซึ่งนาน ๆ มีครั้งหนึ่งแลเป็นการอวมงคล มาเรียกเป็นชื่อตำบลว่า ‘ทุ่งพระเมรุ’ นั้นหาชอบไม่ ตั้งแต่นี้สืบไปที่ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุนั้น ให้เรียกว่า ‘ท้องสนามหลวง’”

ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นต้นมา ได้ใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น เป็นที่ตั้งพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ทำนาที่สนามหลวง เพื่อแสดงให้ปรากฏแก่นานาประเทศว่า เมืองไทยบริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร มีไร่นาไปจนใกล้ ๆ พระบรมมหาราชวัง และไทยเอาใจใส่ในการสะสมเสบียงอาหารไว้เป็นกำลังของบ้านเมืองด้วย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีพืชมงคล พิธีพิรุณศาสตร์มีกำแพงแล้วล้อมรอบบริเวณ ข้างในสร้างหอพระพุทธรูปสำคัญเป็นที่ประดิษฐานพระสำหรับพิธี สำหรับการพิธีมีพลับพลาที่ทำการพระราชพิธี มีหอดักลมลงที่พลับพลาสำหรับทอดพระเนตรการทำนา ข้างพลับพลามีโรงละครสำหรับเล่นบวงสรวง ด้านเหนือมีพลับพลาน้อยสร้างบนกำแพงแก้วสำหรับประทับทอดพระเนตรการทำนาในท้องทุ่ง นอกกำแพงแก้วยังมีฉางสำหรับใส่ข้าวที่ได้จากการปลูกข้าว

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ขยายสนามหลวงจากเดิม และรื้อพลับพลาต่าง ๆ ที่สร้างในรัชกาลก่อน ๆ เพราะหมดความจำเป็นที่จะต้องทำนา และได้ใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การฉลองพระนครครบ 100 ปี งานฉลองเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรปใน พ.ศ. 2440 ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ใช้เป็นสนามแข่งม้า สนามกอล์ฟ

ในรัชกาลปัจจุบันมีการใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ ๆ เช่น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี พระราชพิธีกาญจนาภิเษก รวมทั้งงานพระเมรุมาศเจ้านายระดับสูง เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

สนามหลวงเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 94 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2520 มีเนื้อที่ 74 ไร่ 63 ตารางวา

สนามหลวงยังเคยเป็นองค์ประกอบของฉากในวรรณดคีสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ “ระเด่นลันได” ที่สะท้อนภาพชีวิตของผู้คนในกรุงเทพมหานคร ในยุคแรก ๆ ที่อาศัยสนามหลวงเป็นที่พักพิง และทำมาหากิน สนามหลวงยังเป็นสถานที่สำคัญทางการเมือง คือเป็นสถานที่สำหรับ “ไฮปาร์ค” ครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อพ.ศ. 2498 ในสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และสนามหลวงก็รับใช้ประชาชนไทยมาโดยตลอด มีพรรคการเมือง นักการเมือง ที่มีชื่อเสียงมากมายถือกำเนิดจากเวทีปราศรัยที่สนามหลวง จนเป็นที่จดจำของคนไทยจำนวนมาก

สนามหลวงในยุคประชาธิปไตย ไม่ใช่เพียงสนามโล่งที่ใช้เพื่อประกอบงานพระราชพิธีเพียงเท่านั้น แต่สนามหลวง เป็นสถานที่สำหรับรับใช้ประชาชนทุกภาคส่วนของประเทศนี้ จึงไม่สามาถอ้างได้ว่า จะสงวนสนามหลวงไว้เพื่อกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งเพียงเท่านั้น สนามหลวงไม่ใช่สถานที่สำหรับให้กรุงเทพมหานคร นำไปบริหารเพื่อจัดงานหรือใช้เอกชนเช่าเพื่อจัดงานและจัดเก็บรายได้เพียงอย่างเดียว

ในแง่ภาคสังคม สนามหลวงเป็นที่พักพิงหลบร้อน หลบฝน หลบภัยในมาสุมชีวิตของคนแต่ละคน ที่เป็นที่รู้กันว่า สนามหลวง เป็นจุดศูนย์รวมของปัญหาต่าง ๆ ที่สะท้อนผ่านภาพของ คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน หรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธาณะ ที่คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ในแต่ละยุคแต่ละสมัยใช้เป็นข้ออ้างในการจัดระเบียบสังคม โดยแอบอ้างความห่วงใยสังคม แต่แท้ที่จริง การประกาศปิดสนามหลวงทุกครั้ง มีนัยแอบแฝงทางการเมืองเป็นสำคัญ โดยเฉพาะ5-6 ปีมานี้ ยิ่งสะท้อนภาพดังกล่าวชัดเจนมากยิ่งขึ้น สืบเนื่องมาจาก พรรคการเมืองเก่าแก่ของประเทศไทยได้มีโอกาสเข้ามาบริหารกรุงเทพมหานคร จึงฉวยโอกาสใช้อำนาจของคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ปิดสนามหลวงเพื่อเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้แก่พรรคการเมืองของตนเองเป็นสำคัญ ใช้งบประมาณภายใต้ โครงการไทยเข้มแข็ง ประกาศปรับปรุงภูมิทัศน์ท้องสนามหลวง ซึ่งใช้งบประมาณถึง 180 ล้านบาท และมอบโครงการดังกล่าวให้ กองทัพบกเป็นผู้รับช่วงการทำงานต่อ ในครั้งแรก ประกาศหน้าตาของสนามหลวงที่จะปรับปรุงจนน่าตื่นตาตื่นใจ แต่สุดท้าย ก็ทำได้เพียง ขนดินเก่าของสนามหลวงออกไปทิ้ง เอาดินใหม่เข้ามาถมแทน ปูทางเดินใหม่ ปลูกต้นไม้เพิ่มอีกนิด ๆ หน่อย ๆ ติดตั้งเสาไฟส่องสว่าง ติดตั้งกล้อง CCTV ปูสนามหญ้าใหม่ เมื่อพิจารณาจากเงินงบประมาณที่เสียไป ไม่แน่ใจว่าจะคุ้มค่าหรือไม่

การปรับปรุงสนามหลวงทุกครั้งจะเน้นแต่เพียงปรับปรุงด้านกายภาพเป็นหลัก ไม่เน้นการปรับปรุงด้านคุณภาพชีวิตของ ผู้ที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ที่ใช้สนามหลวงเหมือนบ้าน แต่มักจะมองว่า คนเหล่านั้นเป็นผู้บุกรุก เป็นผู้มลทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของสถานที่ และจะประโคมข่าวอย่างครึกโครมว่า คนที่อยู่ที่สนามหลวงคิอพวกสร้างปัญหา ? ต้องกำจัดออกจากสนามหลวง จึงไม่เคยมีการวางกลไกการให้ความช่วยเหลืออย่างครบวงจรและเป็นระบบ ทำให้การให้ความช่วยเหลือไม่เคยมุ่งเน้นมาที่คนเป็นสำคัญ แต่กลับให้ความสำคัญกับสถานที่และวัตถุมากกว่า

หากมีการวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเป็นที่ตั้งและเริ่มดำเนินการพัฒนาคนล่วงหน้าก่อนจะวางแผนเพื่อปรับปรุงสนามหลวงอย่างน้อย 1 ปี จะสามารถวางระบบการให้ความช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืนและเป็นระบบมากกว่าที่เคยเป็นมา แต่กรุงเทพมหานคร โดยคณะผู้บริหารที่มาจากพรรคการเมือง กลับใช้เงื่อนไขของการปรับปรุงสนามหลวงเป็นโอกาสในการเอื้อประโยชน์ทางการเมือง ให้แก่พรรคของตนเองมากกว่า ขาดความจริงใจเพราะห่วงภาพลักษณ์ของตนเอง ถือโอกาสยึดสนามหลวงคืนกลับไปเป็นสมบัติของทางราชการและปิดช่องทางการรับใช้สังคมของสนามหลวง รวมถึงการรับใช้ประชาชนในภาคการเมือง โดยล่าสุดณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร มีความตั้งใจจะกำหนดเวลาเปิดและปิดสนามหลวงเป็นเวลา คือ 05.00-22.00 น. ซึ่งเป็นการฝืนธรรมชาติของสนามหลวงที่เป็นสวนสาธารณะแห่งเดียวในประเทศที่เป็นสนามโล่งและเป็นที่เปิด อีกทั้งยังมีแนวคิดที่จะห้ามใช้สนามหลวงเป็นสถานที่สำหรับชุมนุมทางการเมือง คำถามคือ คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร กำลังคิดอะไรอยู่ ?? กรุงเทพมหานคร กำลังยึดสนามหลวงคืนจากประชาชน หรือ ???

 

หมายเลขบันทึก: 441241เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2011 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พูดให้ชัด ๆ ก็คือ ตอนนี้สนามหลวงถูกยึดไปแล้ว มันถูกกักกันไว้เหมือนนกน้อยในกรงทอง เหมือนงานศิลป์ในห้องสมุดที่เปิดเป็นเวลา และมันเหมือนสุสานที่ฝังจิตใจของนักเลงสนามหลวงไปด้วย ทำไมผู้บริหารไม่เข้าใจชีวิตแบบไทย ๆ นะ ถ้าคนไทยมีระเบียบมากมายเหมือนญี่ปุ่น เหมือนอังกฤต ป่านนี้ตลาดเปิดท้ายคงไม่อู้ฝู่อย่างทุกวันนี้หรอก มันแน่หล่ะว่าชีวิตต้องมีระเบียบแบบแผน แต่ในวงจรชีวิตไทย ๆ ก็คือความรักอิสระเสรี เมื่อท่านเป็นผู้บริหาร ท่านไม่ได้กำลังบริหารเพียงกายภาพ กทมฯ นะท่าน โห....ตอนนี้เราเสียฟอร์มมากเลย จาก "นักเลงสนามหลวง" เหลือชื่อเป็นเพียง "ผีสนามหลวง" เพราะระเบียบของท่านที่จำกัดชีวิตเรานี้ ได้ทำให้เราหมดชีวาไปแล้ว.......อย่างมากมาย อย่างมากมาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท