พุทธธรรมกับการสร้างสังคมปรองดอง


ในฐานะที่เป็นผู้ดำเนินรายการร่วมกับผู้ดำเนินรายการอีกห้าท่าน ในกลุ่มย่อยที่สอง เรื่อง พุทธธรรมกับการสร้างสังคมปรองดอง ได้รับฟังการนำเสนอบทความทางวิชาการของนักวิชาการชาวพุทธจากทั่วโลกจำนวน 19 บทความ มีบทสรุปสำหรับสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำหน้าที่ ดังนี้

1. การจัดการประชุมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ทั้งการจัดสถานที่ประชุมที่ต้องไม่มีสิ่งบดบังจอ LCD การเตรียมเก้าอี้ให้ครบจำนวนผู้นำเสนอ การแบ่งหน้าที่ให้ทีมงานเช่น การลงทะเบียนเข้าประชุม การแจกเอกสาร การปรับเครื่องเสียง เครื่องทำความเย็น การส่งเวียนไมโครโฟนให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม การมอบเกียรติบัตร และอื่นๆ

2. เกี่ยวกับบทความที่นำเสนอ "พุทธธรรมกับการสร้างสังคมปรองดอง" มีเนื้อหาที่ผู้นำเสนอได้ศึกษามาจากสองแหล่งใหญ่ คือ จากเอกสารวิชาการทางพระพุทธศาสนา กลาวคือจากคัมภีร์พระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา อนุฏีกา และเอกสารทางวิชาการของผู้รู้ทั้งหลาย และจากการศึกษาประสบการณ์ในพื้นที่สังคมที่ได้พยายามลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างสังคมปรองดอง ที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือความพยายามในการดีความจากภาพจิตรกรรมเพื่อให้เห็นถึงสังคมแห่งความปรองดองผ่านภาพวาดเหล่านั้น

จากเอกสารทางวิชาการพระพุทธศาสนา ผู้นำเสนอส่วนใหญ่ได้แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนานั้นมีหลักการสำคัญในการสร้างสังคมปรองดอง เช่น หลักพระธรรมวินัย การบัญญัติระเบียบกฏเกณฑ์เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ การสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม การเคารพซึ่งกันและกัน ข่มบุคคลที่ควรข่มและยกย่องบุคคลที่ควรยกย่อง หลักทิศหกซึ่งเป็นหลักการปฏิบัติหน้าที่ต่อคนรอบตัวอย่างคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่ทุกฝ่าย หลักจริยศาสตร์เชิงพุทธที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดถึงหลักบารมีในการปฏิบัติตนเพื่อผู้อื่นดังที่ได้แสดงออกโดยพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย

จากการลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างความปรองดอง ผู้นำเสนอได้เสองให้เห็นว่าในสังคมชาวพุทธได้มีการนำหลักพุทธธรรมไปปรับประยุกต์ในชีวิตประจำวันอย่างไร เช่นกรณีหญิงหม้ายจากสามีเสียชีวิตในราชการทหาร การอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองของชาวพุทธและมุสลิมในชุมชนที่หลากหลายความเชื่อ การยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาของยิปซีในยุโรป การจัดเวทีการเสวนาระหว่างตะวันออกกับตะวนตก การสร้างสังคมปรองดองในชาติญี่ปุ่น การยอมรับนับถือพระโพธิสัตว์กวนอิมของชาวอเมริกัน และการทำงานเพื่อสังคมปรองดองของพระสงฆ์เถรวาทในลาดักส์ อินเดีย เป็นต้น

ด้านการตีความภาพจิตรกรรม พบว่าในภาพจิตรกรรมกันทยัน ในประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นภาพจิตกรรมที่วาดขึ้นในราวศตวรรษที่ 18 - 19 ซึ่งเป็นยุคแห่งการอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ภาพจิตรกรรมแสดงให้เห็นการอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองระหว่างคนศรีลังกาซึ่งเป็นผู้อยู่ภายใต้การปกครองกับคนอังกฤษซึ่งเป็นผู้ปกครอง เป็นต้น

คำถามสำคัญที่ฝากผู้อ่านได้คิดต่อก็คือว่า จากคำสอนในทางพระพุทธศาสนาที่เป็นที่ยอมรับกันว่ามีหลักการที่สามารถสร้างสังคมแห่งความปรองดองได้เป็นอย่างดีนั้น ในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเช่นในปัจจุบัน ที่สังคมมีลักษณะเป็นสังคมที่มีความหลากหลายมากขั้นเรื่อยๆ เช่นนี้ เราจะปรับประยุกต์หลักการดังกล่าวสู่การสร้างสังคมแห่งความปรองดองได้ด้วยวิธีการอย่างไร จึงจะเหมาะสมกับแต่ละสังคมต่อไป

หมายเลขบันทึก: 439534เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2011 16:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นมัสการพระคุณเจ้า

ดิฉันได้มีโอกาสไปร่วมงานเช่นกันค่ะ งานปีนี้ยิ่งใหญ่มาก และขอชื่นชมมจร.เชียงใหม่ ที่นำพุทธศิลปกรรมมาอวดสายตาชาวโลกค่ะ ส่วนการปรับประยุกต์หลักการพุทธธรรมสู่การสร้างสังคมแห่งความปรองดองได้ด้วยวิธีการอย่างไรให้เหมาะสมกับแต่ละสังคมนั้น คงต้องเป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชนต้องช่วยกันคิดหาทางออกกันต่อไป

  • นมัสการครับ หลวงพี่
  • ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

เจริญพร

หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม เป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นบนฐานของเหตุผลสำคัญ 4 ประการ คือ

1. งานการศึกษาพุทธศิลปกรรมเป็นงานที่เคยมีการเรียการสอนกันอยู่ในวัดมาตั้งแต่อดีต แต่เมื่อมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ในประเทศไทย การศึกษาพุทธศิปกรรมได้ถูกนำไปจัดการกันในโรงเรียน วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย มาเป็นระยะเวลานาน มีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งที่ยังคงเป็นช่างศิลป์และทำหน้าที่เป็นครูช่างศิลป์ สอนลูกศิษย์อยู่ในวัดของตนอย่างโดดเดี่ยว ขาดการส่งเสริมสนับสนุนอย่างเป็นระบบ ถือเป็นเรื่องส่วนตน นับวันครูพระเหล่านี้ก็จะถูกละเลยขาดการเอาใจใส่ ปล่อยให้องค์ความรู้ทางพุทธศิลปกรรมที่ติดตัวท่านเหล่านี้สูญหายไปกับท่านเมื่อเสียชีวิต อาจมีคนปรารภว่าเสียดายองค์ความรู้ของท่าน แต่ก็ไม่มีใครลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อเป็นการส่งเสริมองค์ความรู้ทางพุทธศิลปกรรมในวัดเท่าที่ควร

2. ศิลปกรรมภายในวัดในปัจจุบันเริ่มแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย มีการนำศิลปกรรมจากที่อื่นมาผสมผสานอย่างไม่เข้าใจฐานความคิดทางศิลปกรรมเชิงพุทธ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมถึงความเหมาะสมของงานศิลปกรรมในวัดวาอารามต่างๆมากยิ่งขึ้น รวมทั้งดูเหมือนว่าจะเข้าข่ายเป็นแหล่งแห่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จนกระทั่งลืมสาระที่แท้จริงของงานพุทธศิลปกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้น

3. ปัจจุบันพุทธศิลปกรรม ซึ่งมีความงดงามตามหลักแห่งสุนทรียศาสตร์และแฝงไว้ซึ่งหลักคำสอนเพื่อสังคมแห่งสันติสุข หรือสังคมแห่งความปรองดองตามหลักจริยศาสตร์ ได้ถูกนำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม มีการลอกเลียนแบบพุทธสัญลักษณ์เพื่อเป็นสินค้าและส่วนประดับตกแต่งอาคารสถานที่ ที่มิใช่ศาสนสถานในปัจจุบัน เกิดจากความบกพร่องในการรับรู้ ความเข้าใจพุทธสัญลักษณ์ ทำให้นำไปใช้อย่างไม่เหมาะสม และเกิดกระแสต่อต้าน เช่น ในบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย เรื่อง “จากถวายถึงขายวัดวิกฤตสังคมไทย” ของเครือข่ายชาวพุทธเชียงใหม่ ต่อการจำลองวัดสำคัญในล้านนา เช่น วัดไหล่หินหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดอุมลอง จังหวัดลำปาง มาสร้างเพื่อเป็นส่วนประดับตกแต่งและจัดงานต้อนรับผู้มาพักอาศัย ในโรงแรมแมนดาริน โอเรียลเต็ล ดาราเทวี จังหวัดเชียงใหม่ (http://www.sri.cmu.ac.th/~elanna/symbollanna/philosophy_page04.html) เป็นต้น

4. การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์งานด้านสาธารณูประการ ทีมงานเลขานุการรองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ฝ่ายสาธารณูปการ (พระราชเขมกร) ได้กำหนดแผนงานด้านการศึกษาเรียนรู้ด้านพุทธศิลปกรรม ที่ควรได้รับการพัฒนาเป็นหลักสูตรระยะต่างๆ ทั้งระยะสั้น (หลักสูตรอบรมพระสังฆาธิการ) ระยะปานกลาง (หลักสูตรประกาศนียบัตร) ระยะยาว (หลักสูตรปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก)

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ จึงได้ตั้งคณะกรรมการยกร่างหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศิลปกรรมขึ้น มีการประชุมยกร่างและการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิให้ความคิดเห็น กระทั่งสมบูรณ์จึงเสนอมหาวิทยาลัยเพื่ออนุมัติ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ตั้งกรรมการพิจารณา พร้อมทั้งประสานสำนักงาน UNESCO กรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมให้ความเห็นปรับปรุง ซึ่งได้รับความชื่นชมจาก UNESCO ว่าเป็นรูปแบบของการอนุรักษ์ศิลปกรรมซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ที่เรียกว่า "การอนุรักษ์เชิงป้องกัน - Preventive Preservation) และหลักสูตรก็ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ประกาศเป็นหลักสูตรของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันนี้ (ดูรายละเอียดที่ http://www.mcu.ac.th/site/curriculum/Bachelor_of_Arts/01_Buddhism_Fac/09_Buddhist_Art.pdf)

การนำเสนอนิทรรศการ "พุทธศิลปกรรมเพื่อการลดภาวะโลกร้อน" ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร ครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลงานการดำเนินการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรเป็นครั้งแรก แถมเป็นครั้งแรกที่เป็นงานใหญ่ระดับนานาชาติเสียด้วย ซึ่งถือว่ามีความกระทันหันพอสมควร หลังจากที่ได้เสนอแนวความคิดแก่คณะกรรมการจัดงานประชุมทางวิชาการเนื่องในวันวิสาขบูชา ประจำปี 2554 และได้รับความเห็นชอบพร้อมงบประมาณสนับสนุน วิทยาเขตเชียงใหม่จึงได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินงานประกอบด้วยอาจารย์ประจำ อาจารย์พิเศษ และนิสิต เพื่อเตรียมงาน และนำมาจัดแสดงอย่างที่ผ่านสายตาผู้เข้าร่วมประชุมไปแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท