ในวงเรื่องเล่าคำพูดที่อันตรายก็คือ “ใครมีอะไรจะเสริมบ้าง?”


. . เพราะเรื่องเล่านั้น “ของใครของมัน” แต่ละเรื่องมีบริบทที่แตกต่างกัน จะนำมาเสริมค่อนข้างยาก . .

          ในวง SSS หรือวง Success Story Sharing นั้นถือว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้มีการแชร์เรื่องราวดีๆ เรื่องราวที่ถือว่าเป็น “ความสำเร็จ” โดยใช้การเล่าเรื่อง การเล่าเรื่องที่ดีนั้นจะทำให้ผู้ฟังได้เห็นภาพรายละเอียดของเรื่องที่เกิดขึ้น คือฟังแล้วเข้าใจบริบทที่อยู่ในเรื่องเล่านั้นๆ ด้วย ผู้ฟังเองก็ต้องช่วยผู้เล่าด้วยการพยายามนำตัวเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่กำลังฟังนั้น ทั้งนี้เพื่อจะได้เข้าใจสถานการณ์หรือบริบทอย่างแท้จริง ในกรณีที่ต้องการจะทราบรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น ไม่เข้าใจว่าทำไมผู้เล่าจึงตัดสินใจพูดหรือทำไปเช่นนั้น ต้องการจะถามความรู้สึก ต้องการจะถามสิ่งที่อยู่ลึกๆ ที่เป็นเบื้องหลังของการกระทำนั้นๆ ก็สามารถถามได้ ไม่ได้บังคับให้ผู้ฟังต้องฟังเพียงอย่างเดียว ห้ามพูดห้ามถามใดๆ ทั้งสิ้น เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น วงพูดคุยกันนี้ก็จะไม่มีความเป็นธรรมชาติ

          ในวงพูดคุยผ่านการเล่าเรื่องนี้ บางทีก็จำเป็นต้องมี “คุณอำนวย” หรือ Facilitator มาช่วยถามนำเหมือนกัน เพราะการเล่าเรื่องสำหรับบางท่านอาจเป็นการเล่าแบบคร่าวๆ เล่าแบบการพูดคุยทั่วไป คือแค่ให้ได้รับทราบว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นการให้เห็นแต่เพียงภาพรวม แต่ลงไปไม่ถึงรายละเอียด ไม่เห็นเคล็ดลับความสำเร็จ ไม่เห็น How-to ที่อยู่ในเรื่องเล่านั้น ไม่เห็นประเด็นสำคัญที่อยู่เบื้องหลังว่าเป็นเพราะอะไรจึงทำให้เขาตัดสินใจทำไปเช่นนั้น ยิ่งถ้าผู้ฟังไม่กล้าถาม คุณอำนวยก็ยิ่งต้องช่วยถามเพื่อจะทำให้ได้รายละเอียดในเรื่องเล่าเพิ่มมากขึ้น แต่เวลาที่ผมพูดว่า “รายละเอียดเพิ่มมากขึ้น” นั้น ผมหมายถึงรายละเอียดที่มาจากผู้เล่าคนเดิมน่ะครับ เพราะการเล่าเรื่องนั้น ไม่สามารถจะต่อเติมกันได้ เรื่อง “ของใครของมัน” จะนำมาเสริมกันไม่ได้ เพราะบริบทของแต่ละเรื่องนั้นย่อมแตกต่างกันไป

          สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอันตราย ก็คือตอนที่คุณอำนวย “มือใหม่” หลังจากได้ฟังเรื่องเล่าจบ ก็หันมาพูดกับวงว่า “ใครมีอะไรจะเสริมบ้าง?” เพราะการเปิดช่องตรงนั้น เท่ากับเป็นการเปิดให้คนในวงเริ่ม “แชร์ความคิด” กัน เช่น บางคนเสริมขึ้นมาว่า . . .ที่ฟังมาก็ดี แต่ถ้า “ทำโน้น ทำนี่ ก็จะยิ่งดีขึ้นอีก” เท่ากับเป็นการ Comment เรื่องหรือกรณีที่เพิ่งได้ฟังมา เป็นการยืนยันว่าเมื่อตะกี๊ที่ฟังเรื่องเล่านั้นแทนที่ท่านจะฟังอย่างพยายามเข้าใจเรื่องของเขา กลายเป็นว่าท่านคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ตลอดเวลา แทนที่จะเป็น “Deep Listening” กลายเป็น “Critical Thinking” ไปซะนี่ ทำให้แทนที่จะเป็นวงแชร์เรื่องเล่า (ที่เกิดขึ้นจริง) กลับกลายมาเป็น "วงแชร์ความคิด" ไปโดยปริยาย "คนนั้นเสนอว่าน่าจะทำอย่างนี้ คนนี้เสนอว่าน่าจะทำอย่างนั้น" ไอเดียบรรเจิด ความคิดเตลิดไปไกล โดยไม่มีใครใส่ใจหรือห่วงใยความรู้สึกของผู้เล่าเรื่องเลยแม้แต่น้อย

          การ Comment เชิงความคิดใช่ว่าจะไม่ดีเสมอไป แต่ที่ผมอดห่วงไม่ได้ก็เพราะคือมันทำให้ผู้ที่เพิ่งเล่าเรื่องจบ รู้สึกว่าตัวเองยังทำได้ไม่ดี ทำได้ไม่สมบูรณ์ ยิ่ง Comment หรือเสริมกันมากเท่าใด ผู้เล่าเรื่องก็ยิ่งรู้สึกด้อย รู้สึกต่ำต้อยมากขึ้นเท่านั้น ตัวค่อยๆ ลีบเล็กลงไป คิดในใจว่า ถ้ามีรอบหน้า "ขอไม่เล่าดีกว่า" เพราะตนรู้สึกด้อยค่า รู้สึกว่าที่ทำมา มีอะไรไม่ถูกต้องอีกมากมาย . . ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่ค่อยแนะนำให้เปิดช่องในตอนท้ายด้วยการถามว่า "ใครมีอะไรจะเสริมบ้าง?" . . อ่านบันทึกนี้แล้ว เห็นด้วยเห็นต่าง "ใครมีอะไรจะเสริมบ้าง?" ก็แชร์กันเข้ามาได้นะครับ !!

หมายเลขบันทึก: 435748เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2011 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

มุมมองนี้ดีจังเลยครับอาจารย์

ภาพนี้ใครวาดล่ะครับ . . สวยงามและน่ารักมาก . .

ประเด็นนี้ ดีมากเลยครับอาจารย์ เพราะผมเอง ตอนทำเวทีครอบครัว  ก็เผลอไปใช้คำพูดนี้ครับ "มีใครจะเสริมอะไรบ้าง"  หลังจาก ที่ให้ผู้ปกครองพูดเสร็จ ก็มีคนอื่นเข้ามาเสริมความคิดเห็นของคนที่แล้ว   ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผมเอง ที่คิดว่าการเสริม เป็นเรื่องที่ดี ที่ทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น   เพิ่งมาคิดได้  ตอนที่อ่านบันทึกนี้ของอาจารย์แหละครับ  

    ใครมีอะไรจะเสริมบ้าง คนเสริมก็เหมือน "ยกตนข่มท่าน"  คนพูดไปแล้ว ก็เหมือนกับจะถูกเขาข่ม    ไม่ดีเลยครับ   

    ต่อไปจะระวังให้มากในเรื่องนี้    เพราะสำหรับผม ยังมีเวทีต่อไปอีกครับ

                  ขอบคุณครับอาจารย์

เรื่องนี้น่าจะเกี่ยวกับ "พื้นที่ปลอดภัย" อยู่บ้าง

step แรกหลังจากการสร้างพื้นที่ปลอดภัยก็คือ "ใครๆก็อยากจะแสดงตัวตนออกมา" แสดงความรู้สึก แสดงความเห็นออกมา คือ stage-ชักมัน สนุกในการ share ในการอะไรออกมาต่อวง

ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการที่เราอาจจะไป shut-down พื้นที่ปลอดภัยของคนอื่นได้

ดังนั้นพอได้ step แรกที่ว่าไปแล้ว เราอาจจะยังไม่ควรกระโดดลงไปแลกเปลี่ยนเรื่องราวเลยทันที ควรจะ simmer อุ่นๆไปทีละน้อย จนเข้าอีก step คือ step ของ "การรู้สึกอยากทะนุถนอม sense of safety นี้ให้กับทุกคนในวง" เพราะเราทราบว่ามันมีค่า มันทำให้เรามีความสุข เราไม่ได้กำลัง "เล่าเพื่อตัวเราเอง" อย่างเดียว แต่กำลัง "เล่าเพื่อเธอ" ด้วย

เมื่อนั้น ไม่ว่าจะเป็นการ share เรื่องเล่าก็ดี share ความคิดก็ดี จะรองรับด้วย mentality ว่าไม่ได้ "กินพื้นที่คนอื่น" อยู่ในสติตลอดเวลา จะไม่มี guru มา dominate วงสนทนา แต่เป็นพื้่นที่ที่ทุกๆคนช่วยกันทะนุถนอมหล่อเลี้ยง compassionate energy เอาไว้ด้วยกัน

ขั้นตอนสำคัญก็คือ อย่าไปเน้นที่ contents เสียแต่แรก (ทั้งเรื่องเล่า หรือเรื่องคิด) แต่เน้นที่ relationship ของคนที่อยู่ข้างหน้าเราก่อน ผมเห็นในวง dialogue ที่เน้น contents ไม่เน้น relationship ไม่เน้นอารมณ์ความรู้สึกของคนในวง จะเด้งกลับไปที่ level II คือ debating หรือบางคราวหนักขนาดย้อนไป level I คือ downloading เสียด้วยซ้ำ

เป็นภาพวาดระบายสีของลูกสาวครับ

กิจกรรมการเรียนศิลปะที่ปลูกฝังไว้..ครับ อาจารย์

     ขอบคุณทุกๆ ท่านที่เข้ามาแชร์กันครับ . . ขอบคุณสำหรับรูปภาพที่น่ารักและงดงาม เห็นหน้าศิลปินแล้วยิ่งมีความสุขครับ . .

     มอบดอกไม้ให้แทนคำขอบคุณ . . .

    

อืมม ต้องระวังมากขึ้นแล้วละค่ะ ขอบคุณค่ะอาจารย์

วีรินทร์วดี สุนทรหงส์

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ ที่ให้ข้อคิดดีๆ เท่าที่สังเกตเวลาคนตั้งวงพูดคุย กันมักจะต่อท้ายด้วยคำพูดเสมอว่า ใครมีอะไรเสริมบ้าง ความรู้สึกก็เหมือนที่อาจารย์พูดมาว่า มันเป็นกันไปติคนที่พูดมากกว่าเป็นการเข้าใจทำให้คนเหล่านั้นไม่อยากพูดอีกเลยไม่ว่าจะเป็นเวทีไหน การที่คนเรามานั่งแชร์ความคิดกันสิ่งหนึ่งที่ตัวเองคิดเสมอคือ การเคารพคนที่เขาพูดไม่ว่าความคิดนั้นจะตรงกับความคิดของตัวเองหรือไม่อย่างไร ขอบคุณอีกครั้งคะสำหรับข้อคิดนี้

รบกวน อ.แนะนำ วิธีการพูดหลังจากจบเรื่องเล่าแล้วได้หรือไม่คะว่าควรใช้คำพูดอย่างไรดีค่ะ

ขอบคุณค่ะ

เวลาสอน SSSWorkshop หรือ ลปรร. จะติวคุณอำนวยก่อนเสมอเพื่อย้ำเรื่องความสำคัญของการให้เกียรติและเห็นคุณค่าระหว่างกัน ส่วนหนึ่งของการติว จะบอกว่าเมื่อคุณกิจแต่ละคนเล่าเสร็จ คุณอำนวยจะสรุปอีกครั้ง แล้วจึงเชิญชวนคุณกิจอื่นๆซักถามประดุจจะขอนำความรู้นี้ไปใช้ให้จงได้ หลังจากนั้น คุณอำนวยจะถามว่ามีท่านใดอยากเติมเต็มไอเดียอะไรให้เพื่อนหรือไม่ เพื่อช่วยทำให้วิธีปฏิบัตินั้นดียิ่งขึ้นไปอีกค่ะ ผู้รับก็จะรู้สึกดี ไม่รู้สึกว่าด้อยลง

สวัสดีครับอาจารย์ ดร.ประพนธ์

ประเด็นที่อาจารย์เตือนนั้น เกิดประจำ ผมโช๕ดีที่ไม่ไป "ลดทอน" คุณค่าของเรื่องเล่า ซึ่งเล่าแล้ววาง

ผมรักการฟังเรื่องเล่ามาก และมักจบด้วยคำถาม (ในใจ) ตนเองว่า ถ้าเราเป็นบุคคลในเรื่องเล่านั้นๆ เราจะทุกข์ สุขอย่างไร (มี compassion) และเราจะทำอะไรได้บ้าง เป็นคำถามในใจ และผมจะโน้ตความรู้สึกนั้นไว้ เป็นเพียงความรู้สึกครับ มิใช่คำตอบ

เห็นด้วยกับอาจารย์ครับเพราะได้เห็นคุณอำนวยหลายท่านที่ชอบถามเวลาจบการฟังเรื่องเล่า เพราะเรื่องที่เขาเล่ามาเป็นเรื่องที่มีคุณค่าในบริบทพื้นที่ที่เขาทำ ผู้เล่ามีความภูมิใจอยู่แล้ว ฟังแล้วเก็บไปคิดดีกว่าครับ ดรุณ

ต้องขอโทษล่วงหน้าครับอาจารย์ และท่านที่แสดงความคิดเห็นทุกท่าน

ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจอยากที่จะพัฒนาความรู้และความคิดของตนเอง

ซึ่งเนื้อหาที่อ่านหามา เป็นประโยชต่อผมมากครับ มีทั้งเข้าใจบ้างและไม่เข้าใจบ้าง

ซึ่งถ้าเป็นไปได้ผมขอความกรุณา คำที่เป็นภาษาอังกฤษ ช่วยกำกับภาษาไทยด้วย

ได้ใหมครับ

ขอบคุณครับ

ผศ. ดร. อาภา ยังประดิษฐ

ขอบคุณดร.ประพนธ์ สำหรับคำแนะนำดีๆ ที่คุณอำนวยต้องอ่านก่อนทำหน้าที่   ดิฉันสงสัยว่า คุณอำนวยควรจบหรือปิดท้ายเรื่องเล่าของแต่ละคนว่าอย่างไร  แค่ขอบคุณหรือต้องสรุปเล็กน้อย  ขอความกรุณาอาจารย์ให้คำชี้แนะด้วยค่ะ 

อาจารย์ ผศ.ดร.อาภา ครับ . . ที่ผมมักจะทำเป็นประจำก็คือถามบางจุดที่อยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้เล่ากล่าวเสริม ซึ่งพบว่าหลายครั้งได้รู้อะไรดีๆ เพิ่มเติมจากช่วงนี้มากทีเดียว ผมมักจะถามสิ่งที่อยู่ลึกๆ เช่น ถามว่าคิดอะไรจึงตัดสินใจทำไปเช่นนั้น ไม่กลัวคนอื่นจะว่าเราบ้าหรืออย่างไร? มักจะเลือกใช้คำถามที่กระตุกกระตุ้น เรียกว่าเป็นการขุดค้นในระดับที่ลึกลงไปครับ และก็พยายามชักชวนให้ผู้ฟังคนอื่นถามทำนองนี้เช่นกัน ส่วนเรื่องขอบคุณนั้นก็ทำเป็นการปิดท้ายครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท