การเปลี่ยนแปลงด้านกระบวนทัศน์ในมหาวิทยาลัย


          มหาวิทยาลัยไทย ต้องการเปลี่ยนแปลงในระดับถอนรากถอนโคน ระดับกระบวนทัศน์ในหลากหลายด้าน   หากเราจะเป็น “สมองของสังคม” ให้ได้อย่างแท้จริง

 

          เรื่องสำคัญอย่างหนึ่งคือการเปลี่ยน power structure ให้คนเก่งทางวิชาการเข้ามาเป็นผู้นำ หรือผู้บริหาร   เพื่อสร้างวัฒนธรรมวิชาการที่แท้จริง ขึ้นในวงการอุดมศึกษา   ไม่ใช่วัฒนธรรมวิชาการระดับ mediocre (แปลว่าปานกลาง) อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน   และปานกลางในระดับจำจากตำราเอามาสอน  ไม่ใช่สร้างความรู้ความเข้าใจจากประสบการณ์ตรงของตน   ตรวจสอบกับตำราและวารสารวิชาการ แล้วนำมาสอนและเผยแพร่
          เมื่อวันที่ ๑๖ มี.ค. สภามหาวิทยาลัยมหิดลอนุมัติข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาหัวหน้าภาควิชา พ.ศ. ๒๕๕๔ ด้วยการเปิดกว้างตำแหน่งหัวหน้าภาควิชา เปิดช่องให้สรรหาบุคคลภายนอกมหา วิทยาลัยมหิดลมาเป็นหัวหน้าภาควิชาได้   ซึ่งเดิมมีเฉพาะผู้ที่เป็นอาจารย์ในภาควิชานั้นอยู่แล้วเท่านั้น ที่มีสิทธิ์ได้รับการสรรหา

 

          มหาวิทยาลัยที่ต้องการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก ต้องเสาะหานักวิจัยที่เด่นสุดยอด มาเป็นผู้นำทางวิชาการ   และผู้นำวิชาการที่สำคัญที่สุดคือระดับหัวหน้าภาควิชานี่แหละ   ตามปกติแล้ว มหาวิทยาลัยวิจัยจริงๆ ไม่มีทางตั้งคนที่ยังไม่เป็นศาสตราจารย์ เป็นหัวหน้าภาควิชา

 

          ดังนั้น ราคาคุยของมหาวิทยาลัยไทยที่จะเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลกนั้น ยังห่างไกลอีก หลายขุมครับ   เพราะเรายังตั้งคนที่ไม่ใช่ศาสตราจารย์ เป็นหัวหน้าภาควิชาและผู้บริหารระดับสูง กว่านั้นกันเกร่อ หรือเป็นส่วนใหญ่

 

          น่าจะเป็นเพราะโครงสร้างพื้นฐานทางวิชาการของทั้งประเทศยังไม่เข้มแข็งถึงขนาด   จึงยังมีคนระดับศาสตราจารย์น้อยไป   ซึ่งเกิดจากการทำงานวิชาการ/วิจัยยังได้รับการสนับสนุนน้อย ในภาพรวมของประเทศ   รวมทั้งวัฒนธรรมวิชาการของเราก็ยังไม่เติบโตเข้มแข็ง   คือเรายังต้อง เดินทางไกลอีกนาน ต้องมุมานะเอาจริงเอาจังอีกมาก   ในการสร้างสรรค์ระบบอุดมศึกษาของเรา

 

          แต่วัฒนธรรมวิชาการของเรา มองระดับประเทศ เราไม่มีแนวคิดสาธารณะเพื่อการนี้  ตรงกันข้ามแนวคิดสาธารณะของเราสวนกระแส คือไม่เห็นคุณค่าของวิชาการแท้  กลับแสวงหาผล ประโยชน์จากวิชาการปลอมๆ หรือกี่งดี (mediocre)    เช่นรวมพวกกันเข้าไปยึดครองตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัย   เพื่อผลักดันให้เปิดหลักสูตรที่เรียนง่ายจบง่าย   ให้พรรคพวกของตนเข้าไปเรียน   มหาวิทยาลัยใดตกอยู่ใต้สภาพนั้น ก็จะมีแต่ทางเสื่อม   หาทางเจริญได้ยาก

 

          ผมพบว่า แม้จะเปลี่ยนข้อบังคับ เปิดช่องให้เอาคนนอกมาเป็นผู้บริหารได้   แต่ขั้นตอนและวิธีการสรรหาก็มักจะยังไม่ส่งเสริมให้มีการดึงเอาคนนอกที่เก่งจริงๆ ทั้งด้านวิชาการและการบริหาร เข้ามาเป็นผู้บริหาร เพื่อนำการเปลี่ยนแปลงที่มหาวิทยาลัยต้องการ

 

          ผมเคยได้ยินว่า ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศบางแห่ง   เมื่อจะสรรหาหัวหน้าภาควิชา ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะช่วยกันคิดว่า แนวทางสร้างความก้าวหน้าทางวิชาการในสาขาวิชานั้นคืออะไร   และใครเหมาะที่สุด (มองระดับประเทศหรือข้ามพรมแดนประเทศ) ที่จะมานำการสร้างสรรค์นั้น   ก็จะเชื้อเชิญท่านผู้นั้น (หลายคน ทีละคน) มามีปฏิสัมพันธ์ทางวิชาการกับอาจารย์ในภาควิชา   เพื่อดูว่าหากท่านมาเป็นหัวหน้าภาควิชา จะสามารถทำงานร่วมกันได้กับอาจารย์ที่มีอยู่หรือไม่

 

          และผมเคยได้ยินว่า ในการสรรหาหัวหน้าภาควิชาในต่างประเทศ เขามีการต่อรองเงื่อนไขกันด้วย   และได้ยินว่า candidate ท่านหนึ่งต่อรองว่า   หากท่านมา จะเอาเงินทุนวิจัย ๑๐ ล้านปอนด์มาด้วย   โดยมีลูกทีม ๒๐ คนตามมา   ทางมหาวิทยาลัยจึงต้อง “กระชับพื้นที่” ในภาควิชา ให้คน ๒๐ คนนี้โอนย้ายมาทำงาน พร้อมทั้งเครื่องมือวิจัยราคาแพงอีกจำนวนหนึ่ง 
นี่คือสภาพที่มหาวิทยาลัยวิจัยไทย จะต้องเดินไปสู่

 

วิจารณ์ พานิช
๒๑ มี.ค. ๕๔
  
         
        
หมายเลขบันทึก: 434929เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2011 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ท่านอาจารย์วิจารณ์

  • อนุโมทนาขอบคุณอาจารย์มาก
  • อาจารย์นำของดีๆ มาฝากพวกเราอย่างสม่ำเสมอ
  • อาจารย์ฝากโจทย์ใหญ่ให้พวกเราอีกแล้ว
  • จะนำไปสานต่อ
  • เจริญพร

เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าเรายังห่างไกลมหาวิทยาลัยระดับโลก ถ้าประเทศไทยทำได้ด้วยงบประมาณแบบจำกัดนี้

ทั่วโลกจะต้องมาเรียนรู้จากประเทศไทย เรามีเรื่องที่จะต้องปรับระดับโครงสร้างอีกมาก โดยเฉพาะเราเน้นการบริหารอำนาจ

ในสภามหาวิทยาลัยเลือกหัวหน้าภาควิชาใช้เวลาน้อยมาก เมื่อเทียบกับคณบดี แท้จริงแล้วคณบดีเป็นผู้ประสานงาน

หัวหน้าภาควิชาคือผู้นำวิชาการ ผู้บริหาร ผู้จัดการฯลฯ มีหน้าที่ไม่ตำกว่า๓๓ อย่าง ภาควิชาคือหน่วยผลิตความรู้

แต่มีบางมหาวิทยาลับ ในพรบ.ไม่มีหัวหน้าภาควิชา ถ้ามีก็ถือว่าไม่ใช่ผู้บริหาร เศร้ามากครับ

ท่านอาจารย์ให้กระบวนคิดที่เป็นสากล โดยมุ่งผลให้ไทยเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี หากเป็นแบบอีก ๑๐ ชาติไทยนี้จะเจริญ.....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท