ถ้าท่านไม่ยอมลงสระ แล้วเมื่อไหร่จะว่ายน้ำเป็นล่ะ?


หากท่านโฉบไปโฉบมาอยู่แถวสระ แต่ไม่ยอมโดดลงไปในสระ เอาแต่ถามโน้นถามนี่ตลอดเวลา . .

               ในการฝึกปฏิบัติเรื่องการจัดการความรู้ (KM Workshop) ผมมักจะให้คำแนะนำสั้นๆ กับผู้เข้าร่วมว่า ถ้าอยากได้ประโยชน์จากการเรียนรู้อย่างเต็มที่ ทุกท่านจะต้องมีทั้งการ “รับ และ ไม่รับ” . . . “การรับ” ที่ว่านี้ ผมหมายถึง “รับฟัง” สิ่งต่างๆ อย่างเปิดใจ โดยไม่เลือกฟังแค่จากวิทยากรเท่านั้น หากแต่ต้องฟังเพื่อนๆ ที่เข้าร่วมการเรียนรู้ในครั้งนี้ด้วย เพราะบางที “ครูตัวจริง” อาจจะเป็นเพื่อนๆ ใน  Workshop นี้ก็ได้ . .

            ในเรื่องการฟังนั้นผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่มักจะฟังไปแล้วก็ “คิดตาม” ผู้พูดไปด้วย ซึ่งถ้าเป็นการคิดนิดๆ หน่อยๆ ก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าฟังไปแล้ว “คิดต่อ” ไปไกล เช่น คิดว่ากลับไปที่ทำงานจะเอาสิ่งที่ได้ฟังนี้ไปทำโน่นทำนี่ . . แล้วถ้าคนนั้นคนนี้ไม่เอาด้วยล่ะ. .  แล้วถ้า . . . ซึ่งแปลว่าความคิดเหล่านี้จะไม่หยุดง่ายๆ “คิดต่อ” ไปได้เรื่อยๆ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้สิ่งที่อันตรายก็คือการทำให้เราไม่ได้ยินเสียงผู้พูดที่กำลังพูดอยู่ในตอนนั้น และการ “คิดต่อ” ของเราก็มักจะทำให้เราอดไม่ได้ที่จะ “ตั้งคำถาม” ขึ้นมามากมาย ผลสุดท้ายกลายเป็นว่าเราไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ได้อยู่กับชั่วขณะนั้นเลย  จริงๆ แล้ว การคิด การตั้งคำถาม(ในใจ) นั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิดอะไร เพียงแต่มันอาจทำให้เราไม่ได้รับฟังอย่างเต็มที่ เป็นการฟังที่ไม่ครบถ้วนเท่านั้นเอง

            ส่วนที่ผมแนะเรื่อง “ไม่รับ” นั้น ผมหมายถึงว่าถ้าท่านไม่ได้กำลังรอเรื่องที่สำคัญมากๆ อยู่แล้วล่ะก็ ผมอยากขอร้องว่าถ้าโทรศัพท์ดังก็ค่อยโทรกลับไปทีหลังก็แล้วกัน เพราะผมไม่อยากให้ท่านถูกขัดจังหวะ บางคนออกไปพูดโทรศัพท์นอกห้องเกือบครึ่งชั่วโมง พอกลับเข้ามาก็ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรกัน ต่อไม่ติด เพราะกิจกรรมการเรียนรู้ได้ผ่านไปแล้ว มันไม่เหมือนกับการที่ท่านพลาดการบรรยาย ท่านอาจถามผู้ที่อยู่ได้ว่าเมื่อกี๊วิทยากรพูดอะไร นำเสนอสไลด์ไหน จะได้อ่านให้เข้าใจ แต่นี่ไม่ใช่วิธีการเรียนรู้ที่ สคส. ใช้ การเรียนรู้แบบ “โฉบไปโฉบมา” โดยไม่เอาตัวเข้าคลุกนั้นมันไม่ค่อยได้ผลหรอกครับ มันก็เหมือนกับการเรียนว่ายน้ำ หากท่านโฉบไปโฉบมาอยู่แถวๆ สระ แต่ไม่ยอมโดดลงไปในสระ เอาแต่ถามโน้นถามนี่ แต่ตอนที่บอกให้โดดลงไปในสระ ให้ทดลองตีขา ให้ทดลองดำว่ายในน้ำ ให้ท่านได้สัมผัสประสบการณ์ตรงด้วยตัวเอง ซึ่งอาจมีค่ามากกว่าการบรรยายหลายสิบเท่า

           แต่คนบางคนก็ดูเหมือนจะยังไม่เข้าใจประเด็นนี้ ยังไม่ยอมร่วมกระบวนการอย่างเต็มที่ “ไม่ยอมทุ่มทั้งตัว (ทั้งกายใจ)” อยู่ดี หรือไม่ก็ทำพอเป็นพิธี เช่น บอกว่ากระบวนการนี้เป็นการฝึกให้เล่าเรื่อง ขอให้แต่ละคนเล่าเรื่องให้คนในกลุ่มฟังคนละประมาณ 3-5 นาที แต่ปรากฏว่าบางคนพูดแค่ 1 นาที ก็บอกว่าไม่มีอะไรจะเล่าแล้ว ตกลงในขณะที่กลุ่มอื่นๆ กว่าจะเล่าครบทุกคนก็ใช้เวลา 20-30 นาที แต่กลุ่มที่ว่านี้พูดกันไม่ถึง 10 นาที ทุกคนก็พากันเงียบกริบ ไม่พูดไม่คุยอะไรกัน ถ้าเป็นการเรียนว่ายน้ำตามที่ผมยกตัวอย่างมาตั้งแต่ตอนแรก คนกลุ่มนี้ก็เท่ากับว่าได้ขึ้นมาจากสระ มานั่งอยู่ริมสระเรียบร้อยแล้ว . . ถ้าเป็นเช่นนี้ แล้วเมื่อไหร่ท่านจะว่ายน้ำเป็น (ใช้ KM เป็น) ล่ะครับ?

หมายเลขบันทึก: 434926เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2011 11:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณข้อคิด..ที่ทำให้ได้คิดครับ

สงสัยจะถูก "ส่งมาเรียน" ครับอาจารย์ ถ้าเจอพวกสมัครมาเรียน เวลามักจะไม่พอเล่าครับ

ยังดีที่ได้เข้าอบรมครับ ผู้บริหารบางคนไม่สนใจแม้แต่ที่จะส่งตัวเองเข้าไปร่วมเลยครับ (อ้างว่างานยุ่ง แต่อยากได้ KM) ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่าเค้าไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้แบบนี้

ขอบคุณค่ะ ถ้าไม่ลงสระ คงได้แต่ "ไหว้" น้ำ (ขอพร) ใช่ไหมคะ

ชอบครับ . . ถ้าไม่ลงสระ ก็คงทำได้ แค่ "ไหว้น้ำ" ขอพร สวดอ้อนวอน เท่านั้น . . แต่ "ว่ายน้ำ" ไม่เป็นอยู่ดี . .

สิ่งที่กลัวมากกว่าคือ คนหน้างานโดดลงสระหมดแล้ว ว่ายน้ำเป็นแล้ว แต่ผู้บริหารที่เดินไปเดินมาอยู่ริมสระไม่ยอมโดดลงสระเสียที เอาแต่วิจารณ์ท่าว่ายน้ำของคนหน้างานว่ายังไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ หรือทำไมต้องว่ายด้วย เสียเวลา หรือบางทีก็อยากให้ว่ายท่าเดียวกันทั้งหมด โดยมีคู่มือด้วย

อจ.มีเทคนิคอย่างไรมาทำให้ผู้บริหารเหล่านี้โดดลงสระดีคะ เพราะไม่ง่ายเหมือนผลักตกสระไปเลย อิจฉาองค์กรที่ CEO เขาเดินนำผู้บริหารลงสระได้ เช่น NOK PCT.,ปตท.ระบบท่อ เพราะคนขับเคลื่อนไม่ต้องเผชิญศึกหลายด้านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท