PAR Process Design : การออกแบบกระบวนการกับนัยต่อการมีส่วนร่วมและวิถีปฏิบัติต่อความรู้ในวิจัยแบบ PAR


ดังที่กล่าวถึงบ้างแล้วในหลายตอนว่าการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมหรือการวิจัยแบบ PAR นั้น จะมุ่งเน้นทั้งการสร้างความเป็นจริงในการบรรลุจุดหมายที่ต้องการด้วยการปฏิบัติ ผสมผสานไปกับการได้สร้างคนและชุมชน รวมทั้งการได้สร้างความรู้ใหม่ๆที่แก้ปัญหาทางการปฏิบัติได้ ทำให้ความเป็นการวิจัยแบบ PAR จะต้องประกอบไปด้วย ๓ องค์ประกอบที่สำคัญบูรณาการอยู่ด้วยกันเสมอ คือ มิติความเป็นชุมชน (C : Community) มิติการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (E : Education) และมิติการวิจัย (R : Research) หรือมิติ CER ดังได้กล่าวถึงในตอนต้นๆ

การที่จะดำเนินการวิจัยแบบ PAR ให้องค์ประกอบพื้นฐานทั้ง ๓ ดำเนินการไปด้วยกันและทำให้บรรลุจุดหมายบูรณาการได้อย่างเหมาะสมนั้น มีเงื่อนไขที่จะต้องนำมาพิจารณาเพื่อออกแบบกระบวนการหรือทำ Process Design ลงไปบนมิติต่างๆในกระบวนการวิจัย PAR รวมไปจนถึงการวิจัยแบบ CO-PAR ที่สำคัญดังต่อไปนี้ :

  • ระดับความเป็นเมืองและชนบท : สภาพแวดล้อมของชุมชนในความเป็นชุมชนเมืองและชุมชนชนบท ซึ่งความเป็นชุมชนและทุนทางสังคมวัฒนธรรม ตลอดจนบทบาทของความรู้และข้อมูลข่าวสารในชีวิตประจำวัน เพื่อพัฒนาประเด็นการวิจัยและการระดมพลังการมีส่วนร่วม จะมีวิถีทางที่แตกต่างกัน
  • ลักษณะประเด็นส่วนรวม : ลักษณะประเด็นส่วนรวมที่ร่วมกันพัฒนาเป็นประเด็นการวิจัย ความเป็นประเด็นร้อนและประเด็นเย็นของแต่ละชุมชน จะมีผลกระทบและผลสืบเนื่องต่อชุมชน และต่อมิติต่างๆของกระบวนการวิจัยต่างกัน จำเป็นต้องนำมาเป็นข้อมูลสำหรับออกแบบเชิงกระบวนการให้เหมาะสม
  • ประสบการณ์เดิมของชุมชน : ชุมชนที่มีระดับประสบการณ์ต่อการทำงานความรู้ การวิจัยและปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม รวมทั้งประสบการณ์ในการแก้ปัญหาด้วยกัน ในระดับที่แตกต่างกัน จะมีผลต่อความสามารถในการกำหนดการมีส่วนร่วมและคิดริเริ่มสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีคิดและระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกัน ต้องนำมาเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการพัฒนาแนวคิดและออกแบบกิจกรรม
  • ประสบการณ์ในการทำงานเชิงปฏิบัติการของทีมวิจัย : ทีมวิจัยควรออกแบบกระบวนการต่างๆบนพื้นฐานการพึ่งตนเองของทีมเป็นหลัก พร้อมกับมุ่งผสมผสานการมีส่วนร่วมอย่างเป็นสหวิทยาการจากเครือข่ายต่างๆที่จะสามารถเชื่อมโยงได้มากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับ
  • ความเชื่อมโยงกับส่วนรวมของสมาชิกในชุมชน : ระดับการมีความเป็นชุมชน การมีกลุ่มประชาคม การมีเครือข่ายปัจเจกผู้มีจิตสาธารณะและการมีกลุ่มการรวมตัวกันของชาวบ้านเพื่อทำงานส่วนรวมด้วยกัน จะมีผลต่อความต้องการมีส่วนร่วมในวิถีทางที่แตกต่างกัน ชุมชนที่มีความสำนึกต่อความเป็นชุมชนและความสำนึกต่อความเป็นส่วนรวมสูง อีกทั้งแสดงออกต่อสำนึกทางสังคมดังกล่าวด้วยการปฏิบัติ จะมีภาวะผู้นำแบบรวมกลุ่มและมีวัฒนธรรมการทำงานด้วยกันเป็นกลุ่มที่ดี เป็นพื้นฐานการออกแบบวิจัยแบบ PAR ให้เป็นการมีส่วนร่วมแบบ Active Participation มีบทบาทต่อการเป็นกลุ่มนักวิจัยและจัดการสิ่งต่างๆด้วยตนเองสูง
  • ความเป็นชุมชน การมีกลุ่มประชาคม กลุ่มรวมตัวจัดการตนเองหลากหลายในชุมชน : ความเป็นชุมชนและการมีกลุ่มประชาคม ตลอดจนการมีปัจเจกจิตสาธารณะ มีวิธีริเริ่มรวมตัวกันคิดและแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ในชุมชน รวมทั้งการมีองค์กรภาคประชาสังคมหลากหลายในพื้นที่ ซึ่งจัดว่าเป็นองค์กรเรียนรู้และมีพลังการจัดการทางความรู้อยู่ในตนเอง จะทำให้เป็นทุนศักยภาพของชุมชนที่จำเป็นต้องออกแบบกระบวนการต่อยอดและเสริมเสริมความเข้มแข็งทางการจัดการตนเอง ของกลุ่มที่มีอยู่เป็นทุนเดิมในชุมชน
  • สภาวการณ์สังคม : เนื่องจากการวิจัยแบบ PAR มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมกับเรื่องส่วนรวมในขอบเขตต่างๆของประชาชนและชุมชน ดังนั้น บรรยากาศแวดล้อมและสภาวการณ์สังคม ทั้งของท้องถิ่นในชุมชนที่จะดำเนินการวิจัย ของประเทศ และของสังคมโลก มีส่วนอย่างยิ่งต่อการเกื้อหนุนและส่งเสริมพลังของการวิจัยเชิงปฏิบัติการสังคมแบบ PAR จนอาจกล่าวได้ว่า ระดับความเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมความเป็นประชาธิปไตยนั้น จะส่งผลโดยตรงต่อวิธีออกแบบกระบวนการมีส่วนร่วมในมิติต่างๆของการวิจัยแบบ PAR ชุมชนที่ขาดบรรยากาศการคิดและแสดงออกอย่างเป็นประชาธิปไตย จะต้องเริ่มดำเนินการวิจัยแบบ PAR ให้กลุ่มผู้มีส่วนร่วมได้เกิดประสบการณ์สร้างความไว้วางใจและเชื่อมั่นพลังการความเป็นชุมชนสักระยะหนึ่งเสียก่อน เหล่านี้เป็นต้น
  • เงื่อนไขและข้อจำกัด : ข้อจำกัดด้านระยะเวลา งบประมาณ ทรัพยากร กำลังคน ประสบการณ์ของทีม การสนับสนุนขององค์กรและแหล่งทุน เหล่านี้ ต้องนำมาเป็นกรอบคิดสำหรับการออกแบบกระบวนการให้เหมาะสม เงื่อนไขเหล่านี้สามารถนำมาพิจารณาด้วยกันในหลายลักษณะ ทั้งนำมาเป็นข้อมูลสำหรับศึกษาทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยในอดีต จัดระดมสมองทีมวิจัย และจัดเวทีพบปะปรึกษาหารือกับทีมชาวบ้าน เพื่อพัฒนาแนวคิด กรอบดำเนินการวิจัย รวมทั้งแนวการผสมผสานออกแบบกระบวนการต่างๆให้มีความสอดคล้องกับบริบทของการวิจัยและชุมชน ซึ่งสรุปเป็นแนวทางที่สำคัญได้ ๓ รูปแบบ

                         

  รูปแบบที่ ๑     การวิจัยและการปฏิบัติการแยกบทบาทดำเนินการเป็นสัดส่วน : การดำเนินการในรูปแบบดังกล่าว จะออกแบบให้การวิจัย การพัฒนาโครงการปฏิบัติการ การติดตามประเมินผลและวิจัยผลกระทบ ดำเนินการแยกออกจากกันอย่างเป็นสัดส่วน อีกทั้งในแต่ละส่วนนั้น ทีมวิจัยที่เป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ กับทีมวิจัยของชาวบ้าน รวมทั้งกลุ่มปฏิบัติการของชุมชน ต่างมีบทบาทแตกต่างกัน โดยทีมวิจัยจะมีบทบาทเป็นผู้สร้างความรู้และพัฒนาทักษะปฏิบัติการให้ชาวบ้าน ส่วนชาวบ้านและชุมชนมักเป็นกลุ่มเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงโดยต้องเรียนรู้และปฏิบัติการสิ่งต่างๆตามการชี้นำด้วยความรู้ที่ร่วมกันสร้างขึ้น การวิจัยในระยะแรกจะเป็นการประเมินและวิเคราะห์สภาวการณ์ หรือการทำวิจัยเพื่อการเริ่มต้นในลักษณะต่างๆ ซึ่งจะดำเนินการด้วยกระบวนการทางวิชาการของทีมวิจัยด้วยการวิจัยแบบ PAR อีกแบบหนึ่งให้มีบทบาทเพื่อริเริ่มโครงการปฏิบัติการในลำดับต่อไป เช่น

  • Situation Analysis  วิเคราะห์สภาวการณ์ตามประเด็นที่มีนัยสำคัญต่อชุมชน ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
  • Needs Assessment การวิเคราะห์ปัญหาและความจำเป็นในชุมชน
  • Base-Line Survey  การศึกษาสถานะและข้อมูลพื้นฐานก่อนดำเนินการต่างๆในลำดับต่อไป เพื่อสร้างความรู้และสรุปบทเรียนด้วยวิธีการเปรียบเทียบกับผลที่เกิดขึ้นหลังดำเนินการต่างๆ (Comparative Method) ซึ่งก็จะมีการวิจัยอีกรอบ
  • Needs Identification การสำรวจและระบุความต้องการและความจำเป็น
  • Feasibility Study การศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการบนพื้นฐานของชุมชนและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ

การดำเนินดังกล่าวมีจุดหมายและวิธีการที่แตกต่างกัน ทว่า จะมีบทบาทสำคัญต่อการริเริ่มการวิจัยแบบ PAR โดยเป็นขั้นตอนสร้างความรู้เพื่อระบุประเด็นปัญหา ลำดับความสำคัญ และสร้างการตัดสินใจบนเหตุผลของข้อมูล หรือ Prioritization

จากนั้น ก็จะนำเอาข้อมูลและผลการวิจัยมามาจัดนำเสนอต่อชุมชน สร้างกระบวนการเรียนรู้และจัดกระบวนการเพื่อให้ชุมชนกลุ่มเป้าหมายพัฒนาโครงการปฏิบัติการที่สะท้อนการชี้นำจากการวิจัย มิติการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้จะประกอบด้วยความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติ โครงการปฏิบัติการดังกล่าวจะมีความเป็นปัจจัยจัดกระทำ เพื่อแทรกแซงสถานการณ์และจัดการความเปลี่ยนแปลงไปตามที่ต้องการ เป็นรูปแบบของการทำ Intervention และบริหารจัดการกระบวนการมีส่วนร่วมด้วยองค์กรจัดการโครงการแบบ Implementation Program

เมื่อดำเนินการไปได้ระยะหนึ่งและก่อเกิดผลให้สามารถประเมินผลและดำเนินการวิจัยแล้ว ก็จะออกแบบให้มีการวิจัยอีกครั้งซึ่งจะมีลักษณะเป็นการวิจัยเพื่อติดตามดูผลกระทบและสร้างบทเรียนจากการปฏิบัติ จึงอาจออกแบบให้เป็นการทำ Impact Assessment and Research ซึ่งจะเห็นได้ว่ามิติการวิจัยกับปฏิบัติการของชุมชนนั้นจะออกแบบให้ดำเนินการคนละส่วน

รูปแบบดังกล่าวนี้จะเหมาะสมกับลักษณะปัญหาที่เป็นปัญหาของส่วนรวมและความต้องการเชิงนโยบายในภาพรวม ขณะเดียวกันก็เป็นปัญหาที่กระทบต่อท้องถิ่นและชุมชนในท้องถิ่นต้องการระดมพลังการแก้ไขด้วยชุมชนบนพื้นฐานที่จะสามารถริเริ่มและดำเนินการได้ด้วยการสนับสนุนของทีมวิจัย แต่จะไม่เหมาะกับกลุ่มประชาชนและชุมชนที่มีวาระความสนใจร่วมกันในบริบทของชุมชน และมีภูมิปัญญาปฏิบัติในวิถีชุมชนเป็นพื้นฐานอยู่แล้วหลายด้าน

                         

  รูปแบบที่ ๒    ทีมวิจัย กลุ่มการรวมตัวกันของปัจเจกและเครือข่ายชุมชน ปฏิบัติการเรียนรู้และยกระดับสู่การวิจัยแบบ PAR เพื่อจัดการความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการไปด้วยกัน : รูปแบบดังกล่าว ทีมวิจัยกับชุมชนและกลุ่มการรวมตัวกันแบบต่างๆจะเรียนรู้เพื่อเชื่อมโยงปฏิบัติการมิติต่างๆไปด้วยกันด้วยกิจกรรมและการเคลื่อนไหวความเป็นสาธารณะในขอบเขตต่างๆ ซึ่งในระยะแรกจะยังไม่สะท้อนความเป็นกระบวนการวิจัยในแบบที่เป็นทางการ แต่กระบวนการที่เป็นการวิจัยแบบ PAR จะร่วมกันริเริ่มและพัฒนาขึ้นในลำดับต่อมาด้วยความร่วมมือกันของทีมวิจัยกับชุมชน

การเริ่มต้นเรียนรู้ผ่านปฏิสัมพันธ์กันบนปฏิบัติการเคลื่อนไหวสังคมชุมชนในลักษณะต่างๆ จะมีบทบาทต่อการทำให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งทีมวิจัยและกลุ่มชาวบ้าน เกิดประสบการณ์ทางสังคมภายใต้ประเด็นร่วมด้วยกันชุดหนึ่ง ทำให้มีจุดเริ่มต้นและก่อเกิดบริบทร่วมกัน หรือเกิดโครงสร้างและระบบชุมชนรองรับการทำงานและปฏิสัมพันธ์กันเชิงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแนวราบ ทีมวิจัยและกลุ่มชาวบ้านจึงต่างเป็นกลุ่มผู้ปฏิบัติการ ต่างมีความรู้และมีภูมิปัญญาปฏิบัติในด้านที่แตกต่างกัน ต่างเรียนรู้และแลกเปลี่ยนบทบาทกันบนโครงสร้างและระบบจัดการอย่างมีส่วนร่วมภายใต้สถานการณ์การวิจัยแบบ PAR ยกระดับสู่ปฏิบัติการเชิงสังคมด้วยการวิจัยแบบ PAR ที่ริเริ่มและพัฒนาขึ้นด้วยกัน

การทำให้สามารถมีประสบการณ์ตรงและเกิดบริบทร่วมกันได้ชุดหนึ่งในลักษณะนี้ ในการวิจัยแบบ PAR ซึ่งเน้นกระบวนการทำงานเป็นกลุ่มจะนับว่ามีความหมายมาก เนื่องจากจะทำให้ผู้คนสามารถข้ามกรอบความแตกต่างหลากหลายให้กลายเป็นการมีจุดยืนร่วมกัน เกิดพลังความสามัคคีเพื่อสุขภาวะส่วนรวม ได้กรอบอ้างอิงชุดหนึ่งสำหรับพัฒนาความไว้วางใจและคาดการณ์สภาพสังคมผ่านการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ดีขึ้น ลดช่องว่างทางการสื่อสารและสร้างความเข้าใจ (Communication Barriers) มีกำลังที่จะแปรความหลากหลายให้เป็นความงดงาม ซึ่งจะเป็นทุนทางสังคมที่มองไม่เห็นและจะช่วยลดต้นทุนความสูญเสียในระบบชุมชน อีกทั้งเป็นพลังทวีคูณให้การมีส่วนร่วมบรรลุจุดหมายต่างๆได้ดียิ่งๆขึ้น

ตัวกระบวนการวิจัยทั้งหมด จะออกแบบให้เป็นวงจรและมีความเป็นปัจจัยสร้างการเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัวเอง เมื่อถอดบทเรียนรูปแบบและระบบวิธีคิด ตลอดจนความรู้และภูมิปัญญาปฏิบัติต่างๆที่เกิดขึ้นและทำให้ดำเนินการบรรลุจุดหมายดังที่ต้องการร่วมกันได้ จึงมีความเป็นนวัตกรรมการจัดการอย่างมีส่วนร่วม (Innovation) รวมทั้งกระบวนการทางการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ ก็มีความเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Learning for Change)

รูปแบบการวิจัยดังกล่าวจะมีความเหมาะสมสำหรับดำเนินการกับประเด็นที่มีความริเริ่มอยู่ในชุมชนและต้องการดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้กลมกลืนอยู่ในวิถีชีวิตชุมชน ชุมชนมีกลุ่มการรวมตัว มีความเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และมีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวความเป็นส่วนรวมเป็นพื้นฐานอยู่แล้วระดับหนึ่ง โดยเฉพาะมีอัตลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรมและมีทุนทางสังคมวัฒนธรรม ตลอดจนเทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สามารถต่อยอดและยกระดับปฏิบัติการขึ้นจากพื้นฐานดังกล่าวได้เป็นอย่างดี กระบวนการต่างๆระหว่างการดำเนินการทั้งหมดจัดว่าเป็นองค์ความรู้และข้อค้นพบที่จะก่อเกิดจากการเรียนรู้แก้ปัญหา และเป็นความรู้เชิงปฏิบัติการทางสังคมซึ่งจะเป็นจุดแข็งของการวิจัยแบบ PAR นั่นเอง

                         

  รูปแบบที่ ๓   จัดองค์กรเรียนรู้อย่างเป็นระบบและตลอดกระบวนการนับแต่ริเริ่มจนสิ้นสุดกระบวนการออกแบบให้เป็นปฏิบัติการเชิงสังคมบนกระบวนการวิจัยแบบ PAR : รูปแบบดังกล่าว จะออกแบบบนพื้นฐานของการมีกลุ่มประชาคมที่มีความสนใจดำเนินการวิจัยแบบ PAR ไปด้วยกันกับทีมวิจัยและเครือข่ายต่างๆ กระบวนการตั้งคำถาม การเก็บรวบรวมข้อมูลและสร้างความรู้ การจัดการความรู้ การใช้ความรู้ การจัดการความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการสังเคราะห์ สรุปบทเรียน และสื่อสารเรียนรู้ขยายผลเพื่อเคลื่อนไหวสังคม เหล่านี้ ต่างออกแบบเพื่อเป็นกระบวนการเรียนรู้และปฏิบัติการเชิงสังคมไปด้วยกัน ทีมวิจัยและชุมชนต่างอยู่ในฐานะเป็นความเป็นส่วนรวมด้วยกัน รวมทั้งเป็นเงื่อนไขและเป็นปัจจัยเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิบัติไปด้วยกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันภูมิปัญญาปฏิบัติ และผสมผสานบทบาทกันอย่างทัดเทียม เหมาะสมกับการปฏิบัติการเชิงสังคมบนประเด็นส่วนรวมของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องระหว่างภาคีซึ่งมีศักยภาพ มีความรู้ และมีภูมิปัญญาปฏิบัติ ตลอดจนมีเงื่อนไขพื้นฐานเพื่อสนับสนุนกำลังการปฏิบัติที่ทัดเทียมกัน เพียงแต่ต่างบริบท ต่างภาคี เช่น กลุ่มครู อาจารย์มหาวิทยาลัย กลุ่มทำงานสุขภาพ กลุ่มนักปกครองและพัฒนาชุมชน กลุ่มชนชั้นกลางจากหอการค้าในจังหวัด กลุ่มสื่อมวลชนท้องถิ่น เครือข่าย อสม และกลุ่มเยาวชนนิสิตนักศึกษา

กลุ่มต่างๆที่ได้หยิบยกมาดังกล่าว จะเห็นว่ามีศักยภาพในการทำวิจัยปฏิบัติการ เรียนรู้ สร้างความรู้ขึ้นใช้ในการปฏิบัติ ที่เอื้อต่อการวิจัยแบบ PAR ไม่น้อยไปกว่ากัน เพียงแต่เป็นกลุ่มที่อยู่ต่างภาคีและมีความเป็นส่วนรวมภายใต้ประเด็นที่มีความเป็นสาธารณะมาก ตลอดกระบวนการจึงสามารถออกแบบให้เป็นกระบวนการวิจัยแบบ PAR ที่ยกระดับให้มิติ CER เกิดขึ้นไปด้วยกันอย่างบูรณาการ

ดังนั้น นอกจากจะยกระดับการบรรลุจุดหมายที่ต้องการได้แล้ว ก็จะก่อเกิดองค์ความรู้และภูมิปัญญาปฏิบัติ รวมทั้งก่อเกิดเครือข่ายและระบบจัดการตนเองของชุมชน ทำให้ชุมชนเกิดประสบการณ์ทางสังคมและจัดระบบภายในตนเองให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ต่างๆได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

                          

เงื่อนไขและความจำเป็น ที่นำมาสู่การออกแบบกระบวนการวิจัยแบบ PAR ในรูปแบบที่แตกต่างกัน จะทำให้องค์ประกอบต่างๆใน CER มีแนวคิดและรายละเอียดของการปฏิบัติที่แตกต่างกัน รวมทั้งมีผลต่อกระบวนการมีส่วนร่วมซึ่งจะมีนัยสำคัญต่อลักษณะกลุ่มผู้มีส่วนร่วม ลักษณะของกระบวนการทางการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ โครงสร้างการปฏิสัมพันธ์กันของทีมวิจัยกับชุมชน ระยะการเข้าสู่การวิจัยอย่างผสมผสาน ซึ่งนักวิจัยแบบ PAR สามารถนำมาพิจารณาเพื่อออกแบบให้สอดคล้องกับประสบการณ์และความสนใจของตน

ด้วยวิธีคิดและออกแบบให้เหมาะสมดังกล่าว ก็จะทำให้การมีส่วนร่วมบนกระบวนการวิจัยแบบ PAR เป็นนวัตกรรมการจัดการความรู้ที่บูรณาการกับปฏิบัติการเชิงสังคม ส่งเสริมให้ปัจเจก ชุมชน แลวิธีรวมกลุ่มทำสิ่งสร้างสรรค์ในวิถีพลเมือง  มีประสบการณ์ทางสังคมด้วยวิถีเรียนรู้และนำการเปลี่ยนแปลงดังที่พึงประสงค์โดยอาศัยทุนมนุษย์ในชุมชนและสติปัญญาในการแก้ปัญหาร่วมกัน เป็นปัจจัยหลัก.

หมายเลขบันทึก: 429132เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2011 08:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

บันทึกเพื่อน้อมสักการะเนื่องในวันพระราชทานนาม มหิดล แด่มหาวิทยาลัยมหิดล และวาระ ๑๒๓ ปี มหาวิทยาลัยมหิดล กราบคารวะครูอาจารย์และครูชุมชนทุกท่าน ๒ มีนาคม ๒๕๕๔

สวัสดีค่ะ

แวะมาเก็บความรู้ค่ะ  ขอขอบพระคุณค่ะ

ขอบพระคุณดอกไม้จากพี่คิม
และการแวะมาทักทายกันครับ

  • แวะมาอ่าน
  • รอดูกิจกรรมที่จะไปที่นครสวรรค์
  • ว่าเป็นอย่างไรบ้างครับ

ขอบพระคุณดอกไม้จากท่านอาจารย์ขจิตครับ
ตอนนี้ค่อยๆเตรียมการกันไปเรื่อยๆครับ หลักๆเลยคืออยากได้หนังสือและสื่อเรื่องราวของหนองบัว บทเรียนการทำงานเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อสร้างสุขภาวะชุมชนในแนวทางใหม่ๆ การถอดบทเรียนกรณีตัวอย่าง การสะสมคนที่สะท้อนมิติดีๆของหนองบัว พอคืบหน้าไปบ้างทีละเล็กละน้อยครับอาจารย์เพราะส่วนใหญ่แล้วใช้วิธีสื่อสารกันทางสื่อทางไกล ยังไม่ได้ลงไปทำสิ่งต่างๆด้วยกันตรงๆเลย

*ขอบคุณค่ะ..ได้เสริมความเข้าใจปัจจัยหลักของ PAR ที่ละเอียดขึ้นในแง่มุมทึ่คบถ้วนค่ะ

*ชอบภาพเขียนบนเสื้อตัวนี้ และนางแบบน่ารัก..พวกเราคงได้เป็นเจ้าของด้วย

                 

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ
ลักษณะบทเรียน ประสบการณ์ หัวข้อบันทึก ประเด็นการทำงานตามแหล่งต่างๆที่รายงานและบันทึกถ่ายทอดไว้ของคนใน GotoKnow ช่วยให้ผมวางกรอบและตั้งหัวข้อให้เชื่อมโยงกับการทำงานในขอบเขตต่างๆในระดับผู้ปฏิบัติ ให้เป็นแนวเขียนงานวิจัยแบบ PAR ออกมาแบบนี้ได้น่ะครับ ได้บันทึกบทเรียนและสื่อสะท้อนประเด็นสำคัญต่างๆที่เห็นจากบทเรียนมากมายของคนอื่นไปด้วยเป็นอย่างดีเลยครับ จะเขียนไปเรื่อยๆน่ะครับ คงจะมีกำลังเขียนให้ครอบคลุมทุกมิติของการวิจัยแบบ PAR ได้ ขอบพระคุณพี่ใหญ่ที่ให้กำลังใจครับ

รูปการ์ตูนอย่างที่มอบให้ GotoKnow นี้ เป็นส่วนหนึ่งที่เขียนเป็นภาพกราฟิคคอมพิวเตอร์ได้กว่าสองร้อยรูปครับ เขียนจนเม้าส์พังไปตัวหนึ่ง พอเปิดโปรแกรมเครื่องมันก็จำขั้นตอนการทำงานและ curser ก็วิ่งไปเองเหมือนกับผมกำลังเขียนรูปต่างๆเลย ทำอย่างไรก็ไม่ยอมทำตามคำสั่งเราอีก จนต้องเปลี่ยนตัวใหม่ใส่เข้าไป ตลกดีครับ

ดีใจครับที่มีโอกาสได้ร่วมสร้างความเป็น GotoKnow ร่วมกับทุกท่านในอีกมิติหนึ่ง ถือว่าเป็นการขอบคุณและให้กำลังใจทางหนึ่งแก่ทีมงาน GotoKnow ด้วยนะครับ โดยเฉพาะท่านอาจารย์ ดร.จันทวรรณและอาจารย์ดร.ธวัชชัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท