สมอ.ติวเข้มโอท็อปชุมชนขยับมาตรฐาน หนุนขายผ่านเว็บ


เขียนโดย รตินันท์ เหล่าอารักษ์พิบูล วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 16:02 น.

มอ.เผยผลิตภัณฑ์ชุมชนตกเกณฑ์ 6.1 หมื่นราย ผ่าน 3.9 หมื่นรายยกระดับส่งออก 3.9 พันราย อาหาร-สิ่งทอสูงสุด เตรียมหนุนทำตลาดผ่านเว็บไซต์ จัดงานไทยทำไทยใช้ติวเข้มวิสาหกิจชุมชน

หลังจากที่นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยออกมาเปิดเผยว่าสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ปฏิเสธให้เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) แก่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน 6.1 หมื่นราย เนื่องจากสินค้าหลายประเภทไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด เช่น อาหารไม่สะอาดหรือเก็บได้ไม่นาน, การออกแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐาน

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการ สมอ. เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า สินค้าชุมชนที่จะได้รับเครื่องหมาย มผช.จะอิงกับมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข เช่น สารตกค้างในผลิตภัณฑ์ การปนเปื้อนในอาหาร เชื้อโรค สารเคมีที่นำมาใช้ต้องไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด นอกจากนี้จะเน้นไปที่รสชาติและต้องเป็นสินค้าที่ชาวบ้านผลิตขึ้นเอง

พวกอาหาร เครื่องดื่ม นอกจากเราใส่ใจความปลอดภัยของผู้บริโภคตามกฎกระทรวงสาธารณะสุข และ อย. เรายังเน้นคุณภาพ เช่น รสชาติ สีสัน ลักษณะบรรจุภัณฑ์ เช่น ขนมกรบกรอบ จะดูไปถึงเรื่องความแข็งความเหนียวด้วย ที่สำคัญต้องเป็นสินค้าที่ผลิตเองไม่ใช่ซื้อมาขายไป เราจะมีเจ้าหน้าที่ลงไปดูว่าชาวบ้านทำเองจริงหรือเปล่า

ผอ.สมอ. กล่าวอีกว่าปัจจุบันมีห้องแลปที่สามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์กระจายอยู่ทั่ว ประเทศ 174 แห่ง หากตรวจสอบแล้วไม่ผ่านเกณฑ์เพียงข้อเดียว ก็จะระบุว่าไม่ผ่านเพราะอะไร ซึ่งการตรวจสอบจะแตกต่างกันไปตามประเภทสินค้าชุมชน เช่น อาหารหรือขนมจะมีการตรวจสารปนเปื้อน แม้กระทั่งจุลินทรีย์ เพราะอาจส่งผลให้เกิดโรคท้องร่วง หากเป็นสิ่งทอจะตรวจสารเคมีตกค้างที่อาจมาจากสีที่ใช้และอาจเป็นอันตรายต่อ ผิวหนัง

ผอ.สมอ. กล่าวอีกว่าผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน 6.1 หมื่นราย ที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน เป็นสถิติสะสมมาตั้งแต่ปี 2546-ปัจจุบัน และขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งสิ้น 830 มาตรฐาน อาทิ มาตรฐานผ้าจก มาตรฐานน้ำพริกเผา มาตรฐานขนมไทย โดยมีผู้ที่ได้รับเครื่องหมาย มผช.แล้ว 3.9 หมื่นราย และพัฒนาเป็นผู้ส่งออกแล้ว 3,900 ราย

“ที่ได้รับเครื่องหมาย มผช.เป็นกลุ่มอาหารและสิ่งทอสูงที่สุด 70%  ซึ่งในส่วนนี้กำลังหารือว่าจะส่งเสริมให้ทำการตลาดผ่านเว็บไซต์ แต่ต้องมีการพูดคุยให้ชัดเจนก่อนว่าเรามีหน้าที่เป็นสื่อกลางให้เท่านั้นไม่ มีส่วนได้เสียกับการขายสินค้าหากมีการโกงกันเกิดขึ้น”

นายพิสิฐ กล่าวอีกว่าการขอรับเครื่องหมาย มผช.ไม่มีค่าดำเนินการใดๆ อีกทั้งในแต่ละปีจะมีการจัดอบรมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนให้กับผู้ที่สนใจไม่ น้อยกว่า 10 ครั้ง โดยเดือน ก.พ.54 จะจัดสัมมนาที่ จ.เชียงราย ซึ่งจะมีการพัฒนาเจ้าของผลิตภัณฑ์ให้ค่อยๆเลื่อนจากระดับซี ไปจนถึงระดับ เอ ซึ่งสามารถมีกำลังการผลิตและส่งออกไปยังต่างประเทศได้ โดยผู้ที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ หรือสำนักงานบริหารมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน โทร 02-793-9300

ทั้งนี้ สมอ.ได้จัด “งานไทยทำไทยใช้ อุตสาหกรรมไทยยั่งยืน” ไปแล้วในวันที่ 21-23 ม.ค.54 ที่ จ.ระยอง และในวันที่ 11-13 ก.พ.54 จะจัดที่อุบลราชธานี วันที่ 18-20 มี.ค.54 ที่พิษณุโลก วันที่ 22-24 เม.ย.54 ที่จังหวัดตาก และวันที่ 27-29 พ.ค.54 นครศรีธรรมราช ภายในงานจะแบ่งกิจกรรมออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 1. คลินิกอุตสาหกรรม มีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน

2.จัดสัมมนาถ่ายทอดแนวทางการจัดเตรียมเอกสารขอการรับรอง มผช.เพื่อขยายโอกาสทางการตลาด มีวิทยากรเฉพาะทางถ่ายทอดข้อมูลแต่ละด้านอย่างละเอียด 3.จำหน่ายสินค้าชุมชนที่ได้มาตรฐาน4. นิทรรศการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆของกระทรวงอุตสาหกรรม 5. กิจกรรมบันเทิง อาทิ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การแสดงจากสถาบันการศึกษา .

คำสำคัญ (Tags): #ข่าว
หมายเลขบันทึก: 429126เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2011 06:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท