ประวัติเมืองสงขลา (1) สมิหลาเพลินใจ


เงือกทองอยู่คู่หาดสมิหลามาสี่สิบกว่าปีแล้ว ถ้าเธอมีชีวิตจริง ๆ คงเห็นสันทรายแหลมสนอ่อนงอกออกมาเรื่อยๆ

รูปประติมากรรมเงือกทองตั้งเด่นอยู่บนโขดหินมานานสี่สิบกว่าปีแล้ว ตามประวัติบอกว่านายกเทศมนตรีเมืองสงขลาเชิญแขกผู้มีเกียรติไปร่วมในพิธีเปิดรูปปั้นเงือกทอง โดย ม.จ.ทองคำเปลว ทองใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาทรงเป็นประธานในพิธี วันศุกร์ที่ 1 เม.ย. 2509 เวลา 15.30 น. ณ แหลมสมิหลา

เดินลงไปยังชายหาดมองผ่านนางเงือกไปยังท้องทะเลอ่าวไทย เห็นเกาะหนูและเกาะแมว อันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองสงขลามาตั้งแต่ครั้งโบราณ จากนางเงือกไปเกาะหนูขวามือไม่ไกล เพียง 2 กิโล แต่เกาะแมวด้านซ้ายมืออยู่ห่างจากที่นี่ถึง 5 กิโลกว่า คิดเล่นๆ ว่าถ้าน้ำทะเลหน้าเกาะหนูลดลงได้แบบทะเลแหวกที่กระบี่ เราคงเดินไปถึงเกาะหนูได้ในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แต่เดี๋ยวนี้ทางเทศบาลนครสงขลาจัดให้มีเรือนำเที่ยวไปเกาะหนูได้อย่างสบาย ไม่ต้องคิดฝัน ตั้งหน้าตั้งตารอวันน้ำลดอีกต่อไป

จากเงือกทองไปจรดเขื่อนกั้นทรายที่ปลายแหลมสนอ่อนทางทิศเหนือคิดเป็นระยะทางราว 3 กิโลเมตร น่าเดินเล่นชมทิวสน หาดทรายขาว ดูเกลียวคลื่นยามเย็น

สมัย 70 กว่าปีก่อน แหลมสนอ่อนเป็นแหลมสมชื่อจริงๆ แหลมเปี๊ยบทีเดียว เป็นสันทรายที่เต็มไปด้วยป่าสน ห่างไกลผู้คน ใครเคยเรียนวิชาภูมิศาสตร์ว่า แหลม คือ แผ่นดินที่ยื่นออกไปในพื้นน้ำ ต้องมาดูของจริงที่นี่ แล้วจะเห็นภาพทันที หันหน้าไปทางทิศเหนือ ซ้ายมือก็ทะเล(สาบ) ขวามือก็ทะเล(หลวง) สุดปลายแหลมคือหลักเขตเทศบาลเมืองสงขลา ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2478 สมดังส่วนหนึ่งของคำขวัญจังหวัดสงขลาที่ว่า เมืองใหญ่สองทะเล

เมื่อกรมเจ้าท่าสร้างเขื่อนกั้นทรายยาวเหยียดออกไปในทะเล เพื่อกันไม่ให้คลื่นพัดพาเอาตะกอนทรายมาทับถมบริเวณปากน้ำทะเลสาบสงขลาจนตื้นเขิน เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือเข้าออกทะเลสาบ ตะกอนทรายจึงมาทับถมบริเวณแหลมสนอ่อนแห่งนี้ เกิดปรากฏการณ์แผ่นดินงอกออกไปทางทิศตะวันออก แหลมที่ว่าจึงป้านขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลาที่ผ่านไป นับจากแรกตั้งเทศบาลเมืองสงขลาจนถึงเดี๋ยวนี้ เจ็ดสิบกว่าปีผ่านไป แผ่นดินงอกออกไปเกือบครึ่งกิโล คิดเป็นเนื้อที่กว่าสี่ร้อยไร่ทีเดียว

ทรายมาพร้อมกับเปลือกหอย เด็กๆ ใครอยากได้เปลือกหอยเจดีย์ หอยกระจก มาเดินหาดทรายแถวนี้ไม่ผิดหวัง เพราะเปลือกหอยนานาชนิดถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยหาด

จากพื้นที่ป่าสนเปลี่ยวร้างผู้คนตรงนี้เอง เทศบาลนครสงขลาร่วมกับภาคเอกชนได้เปิดสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำสงขลาหรือสงขลาอควอเรี่ยมขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ หลายคนที่ไปเที่ยวไปชมมาแล้ว บอกว่ายังมีปลาให้ดูไม่มากอย่างที่หวัง คงต้องให้โอกาสพัฒนาปรับปรุงต่อไปอีกสักหน่อย

มองจากเงือกทองลงไปทางทิศใต้ หาดสมิหลาทอดตัวยาวเหยียด 4 กิโลครึ่งไปจรดปากคลองสำโรง ริมเขาเก้าเส้ง นอกจากเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เล่นน้ำทะเลของชาวสงขลาแล้ว ตอนเย็นๆ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้ออกกำลังขาและได้อาหารจานเด็ดไว้รับประทานด้วย นั่นคือ การหาหอยเสียบ

ต้องรอจังหวะที่ทะเลมีคลื่นไม่แรงมาก คลื่นจะพัดเอาหอยเสียบขึ้นมาริมหาด แล้วมันจะรีบฝังตัวลงไปในทราย เราต้องอาศัยความไวของสายตา แล้วใช้เท้าแหวกทรายจับหอยเสียบลงถัง เอากลับไปแช่เกลือหรือน้ำปลา ได้อาหารพื้นบ้านมื้ออร่อย

เงือกทองอยู่คู่หาดสมิหลามาสี่สิบกว่าปีแล้ว ถ้าเธอมีชีวิตจริงๆ คงเห็นสันทรายแหลมสนอ่อนงอกออกมาเรื่อยๆ

และเห็นว่าชายหาดยาวเหยียด 4 กิโลครึ่งด้านทิศใต้ไปจรดเขาเก้าเส้ง บัดนี้กำลังประสบชะตากรรม คลื่นกัดเซาะชายหาดรุนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

หมายเลขบันทึก: 428553เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2011 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2016 06:47 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีครับอาจารย์ เปิดเครื่องมา เห็นบันทึกทะเลหาดใหญ่ ด้วยความสนใจรีบเข้ามาอ่าน

ก็ได้รู้เป็นอาจารย์ ท่านพุทธพร ที่สอนม.เกตร กำแพงแสน ถิ่นที่เคยมาเยือนอาจารย์สามารถ อาจารย์ขจิต  มากินสะเต็กที่กำแพงแสน แดนวัวพันธ์  ร่ายมาหลายนาที เพียงอยากทักทาย ว่าสวัสดี และยินดีที่ได้เข้ามาลปรร กันต่อไป

เห็นหัวเรื่อง ก็ต้องรีบเข้ามาอ่าน

ต่อม "รักบ้านเกิด"  กระตุกขึ้นมาทันที

คิดถึงสมิหลา  คิดถึงมหาวชิราวุธ  คิดถึงร้านนายหวานค่ะ  ชอบทานปู

และน้ำพริกแมงดา ที่ร้านนายหวาน

ขอบพระคุณค่ะhttp://gotoknow.org/blog/tamyimwan/427284

 

ขอขอบพระคุณท่านวอญ่าและคุณครูอิงจันทร์เป็นอย่างสูงสำหรับกำลังใจครับ ยินดีมากที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันต่อไป ผมเองก็เป็นศิษย์เก่ามหาวชิราวุธ แต่ตอนนี้มาทำงานอยู่นครปฐมครับ

อาจารย์ขจิต ชักชวนผมให้มาเขียนที่นี่นานมากแล้ว เพิ่งได้โอกาสครับ เลยเอาบทความที่เคยเขียนลงคอลัมน์บันทึกสองทะเลในโฟกัสภาคใต้เมื่อปีที่แล้วมาลงไว้ที่นี่ด้วย

ขอบพระคุณอีกครั้งสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นครับ

เดี๋ยวนี้ที่แหลมสมิหลาไม่มีหอยเสียบให้เก็บเหมือนเมื่อตอนเด็กๆ แล้วค่ะ

เดี๋ยวนี้มีปัญหากัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมากครับอาจารย์จันทวรรณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท