๖๘. คารวะชื่นชม'มกุฏ อรฤดี' : ประชาชนผู้สานมิตรภาพไทยกับเสปนด้วยประติมากรรมหนังสือวรรณกรรมโลก'ดอนกิโฆเต้'


เมื่อ ๒-๓ สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เห็นข่าวคราวเล็กๆจากรายงานและการบอกกล่าวความเคลื่อนไหวในวงการหนังสือ ศิลปะ และวรรณกรรม จากคอลัมน์สิงห์สนามหลวงในหนังสือเนชั่นสุดสัปดาห์ เรื่องการประกาศเกียรติในฐานะ 'นักเขียนรางวัลช่อการะเกดเกียรติยศ' ประจำปี ๒๕๕๓ ให้แก่มกุฏ อรฤดี จึงเป็นวาระที่ตั้งใจไว้ว่าจะหาโอกาสนำมาบันทึกแบ่งปันทรรศนะจากการนำเอาเรื่องสร้างสรรค์ดีๆเรื่องหนึ่งอย่างนี้มาชวนกันพินิจพิจารณาให้เห็นความน่าสนใจในอีกบางแง่

ผมไม่รู้จักมกุฏ อรฤดี โดยตรง แต่รู้จักงานของเขาต่างกรรมต่างวาระมานานกว่า ๒๐ ปีนับแต่หนังสือวรรณกรรม ผีเสื้อกับดอกไม้ และต่อมาได้นำมาสร้างเป็นภาพยนต์ซึ่งผมทั้งได้อ่านหนังสือและได้ดูหนัง แต่ก็จำได้ลางๆของการเดินเรื่องด้วยเด็กหนุ่มชาวใต้นุ่งผ้าลายปาเต๊ะและสวมหมวกกะปิเยาะกับเพื่อนสาวที่คลุมหัวและร่างกายบ่งบอกความเป็นมุสลิมของเด็กหนุ่มสาวทั้งสอง เปิดเรื่องด้วยฉากนั่งรถไฟแล้วเดินเรื่องย้อนกลับไปสู่เรื่องราวชีวิตและการเติบโตของฮูยัน เด็กน้อยที่ต้องออกจากบ้านช่วยพ่อแม่ขายพวงมาลัย รับจ้างทำมาหาเลี้ยงชีพ ดูแลน้อง และได้เล่าเรียนหนังสืออย่างกะพร่องกะแพร่ง กับมิมปี เด็กหญิงจากครอบครัวที่ก็ช่วยพ่อแม่ขายของไปกับขบวนรถไฟ ทั้งสองได้พบกัน รู้จักกัน แล้วก็เติบโตงอกงามไปด้วยกันด้วยวิถีที่แม้นต่างที่มาแต่ก็มีความร่วมกันในบริบทของสังคมชนบทและสังคมเมืองของสังคมไทยหลายอย่าง

ท้องเรื่องดำเนินเรื่องราวอยู่ในสังคมแดนใต้ แต่ก็เชื่อมโยงความเป็นสังคมเมืองกับชนบท และเมืองหลวง ผ่านการเห็นความงอกงามเติบโตในความสัมพันธ์ที่แสนงดงามของเพื่อนต่างเพศฮูยันกับมิมปี, มกุฏ อรฤดี ในนามปากกา นิพพาน เป็นผู้เขียนงานวรรณกรรม ผีเสื้อกับดอกไม้ ดังกล่าวนั้น จากนั้น ก็ได้อ่านหนังสือและผลงานซึ่งปรากฏนามของเขาอยู่เป็นระยะๆ

มกุฏ อรฤดี เป็นคนสงขลาและดูเหมือนจะจบการศึกษา ปกศ สูง เอกภาษาอังกฤษ จากวิทยาลัยครู แต่เมื่อจบการศึกษาแล้วก็ทำงานหนังสือและสื่อหนังสือพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ รวมทั้งเป็นบรรณาธิการและทำสำนักพิมพ์ พัฒนาหลักสูตรการเป็นบรรณาธิการและทำหนังสือให้กับมหาวิทยาลัย ต่อมาก็เป็นผู้ที่นำเสนอการพัฒนาสังคมหนังสือและการอ่านของสังคมไทย

เมื่อ ๔-๕ ปีที่ผ่านมาผมได้เห็นงานของเขาอีกด้วยความตื่นใจและประทับใจซึ่งเป็นเหตุแห่งความบันดาลใจที่สำคัญที่อยากเขียนบันทึกรำลึกและคารวะผลงานแห่งชีวิตของคนคนหนึ่งเยี่ยงเขาสักครั้งหนึ่ง คือ การทำหนังสือ ดอนกิโฆเต้ ในภาคภาษาไทย ซึ่งหนังสือวรรณกรรมดอนกิโฆเต้นั้น เป็นงานศิลปวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ของโลกอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว แต่วิธีคิดและกระบวนการเลือกสรร กระทั่งนำมาแปลทำเป็นหนังสือวรรณกรรมแปลในภาคไทยของมกุฏ อรฤดีก็ยิ่งใหญ่และน่าสนใจอยู่ไม่น้อย 

ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า : ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน เป็นงานวรรณกรรมเสปนที่เขียนขึ้นโดย มิเกล์ เด เซร์บันเตส เซเบดฺร้า เมื่อกว่า ๔๐๐ ปีก่อน (หมายเหตุ : ร่วมสมัยกับยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลายของสยามในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘ หรือพระเจ้าเสือ กษัตริย์องค์ที่ ๒๙ แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงของกรุงศรีอยุธยา ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๒๔๖-๒๒๕๑) ซึ่งงดงามทั้งเรื่องราว ศิลปะการเขียน ภาษา การให้วิธีคิดต่อการฝันอันยิ่งใหญ่และความเป็นชีวิตในอุดมคติของปัจเจก มกุฏ อรฤดี ได้เลือกสรรแปลให้เป็นการทำหมุดหมายทางทางวรรณกรรมเนื่องในวาระ ๔๐๐ ปีของวรรณกรรม ดอนกิโฆเต้

ในปี ๒๕๔๘ ได้จัดพิมพ์ฉบับแปลภาษาไทย ๒ เล่มโดยสถานเอกอัครราชทูตเสปนประจำประเทศไทยและในนามของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเสปน ซึ่งได้น้อมเกล้าถวายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ไทย และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ๑ เล่ม และน้อมเกล้าถวายแด่พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเสปน อีก ๑ เล่ม 

ในปี ๒๕๔๙ ได้จัดพิมพ์และนำออกเผยแพร่อีก ๒ ครั้งแบบแปดหน้ายก และสิบหกหน้ายกพิเศษ ซึ่งแบบสิบหกหน้ายกพิเศษนี้นั่นเองที่ทำให้ผู้เขียนต้องซื้อและใช้เป็นของฝากเพื่อน รวมทั้งมอบเป็นเครื่องคารวะผู้ที่ผู้เขียนเคารพนับถือไปเสียหลายเล่ม เพราะเป็นหนังสือที่งดงามที่สุดทั้งตัวหนังสือ วิธีคิดและวิธีทำ ทั้งในต้นฉบับภาษาเสปนและฉบับแปลภาษาไทย หนังสือแบบแปดหน้ายกจำหน่ายในราคา ๒๐๐ กว่าบาท และแบบสิบหกหน้ายกพิเศษราคาปกเล่มละ ๖๙๖ บาทแต่จำหน่ายในช่วงที่ผมซื้อ ๔๐๐ บาท

ดอนกิโฆเต้ ฉบับแปลงภาษาไทยเป็นหนังสือที่มีหนังสือคู่มือในการอ่านอีกเล่มหนึ่งอยู่ในชุดเดียวกันอีกด้วยอีกเล่มหนึ่ง โดยในคู่มือก็จะให้ข้อมูลอย่างรอบด้านเกี่ยวกับงานวรรณกรรมดอนกิโฆเต้ ทั้งความเป็นมาและรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับฉบับแปลภาษาไทย เทคนิคและขั้นตอนการผลิต จำนวนการพิมพ์ และระบุการจำหน่ายในราคาที่ต่ำเพื่อให้ผู้ไม่มีรายได้มากนักได้อ่านงานวรรณกรรมที่ดีที่สุดในโลกและได้เป็นเจ้าของงานที่มีความเป็นศิลปะหนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง ทุกแง่มุมสอดแทรกลูกเล่นที่ให้พลังวิธีคิดอย่างทวนกระแสโลกราวกับเป็นพลังทางวรรณกรรมอยู่ในตนเองไปด้วย

ผมซื้อไปกราบคารวะ ศาสตราจารย์ ดร.พันธุ์ทิพย์ รามสูต ๑ เล่ม เพราะอาจารย์ชอบอ่านหนังสือและผมชอบงานวิชาการกับงานเขียนหนังสือของท่าน ศาสตราจารย์แพทย์หญิงศิริกุล อิศรานุรักษ์ ๑ เล่มเพราะอาจารย์ชอบสนทนากับผมเรื่องหนังสือ พุทธธรรม อีกทั้งผมเคารพนับถือเป็นส่วนตนในการเป็นผู้บริหารและเป็นพี่เลี้ยงหลายอย่างให้แก่ผม ซื้อและส่งไปให้เพื่อนซึ่งเป็นคนเขียนหนังสือและเขียนรูปที่อยู่ต่างจังหวัด ๑ เล่มเพราะเป็นเพื่อนคุยกันเรื่องหนังสือ งานศิลปะ งานความคิด และอยากให้เพื่อนมีแรงบันดาลใจผลิตงานดีๆออกมาให้สังคมอยู่เสมอๆ เป็นผลงานความสร้างสรรค์ที่เมื่อได้ให้ผู้อื่นแล้วก็ทำให้มีความสุขไปด้วยอย่างประหลาด จากนั้น ก็ซื้อให้ตัวเองอีก ๑ เล่ม ซึ่งแค่นั่งดูศิลปะบนหนังสือ รูปเขียน และอ่านวันละย่อหน้า ก็เหมือนกับได้กินอาหารอันวิเศษบำรุงชีวิต

                                              

หนังสือเย็บเล่ม เข้าปก และหุ้มปกด้วยผ้า พิมพ์ลายทองในรูปแบบที่รักษารูปแบบต้นฉบับภาษาเสปน เทคนิคผนึกเปียกแบบนี้ เป็นวิธีทำปกแบบดั้งเดิมซึ่งจะทำให้มั่นคงแน่นนา เก็บรักษาได้อย่างยาวนาน แม้แต่เทคนิคการพิมพ์บนหน้าปกก็จะเห็นว่าไม่ใช่การทำแบบให้สีทึบสีเดียว แต่กลับพิมพ์ด้วยการแยก half tone ในเทคนิคการพิมพ์แบบ monochrome ทำให้สีเดียวกลับมีเรื่องราวอีกหลายมิติขึ้นมาซึ่งสร้างจินตภาพให้เห็นภาพเรื่องราวต่างๆของภายในเล่มไปด้วย

                          

เนื้อในหนังสือ ๖๐๐ หน้า เข้าเล่มหนารวมปกแข็งเกือบ ๒ นิ้วครึ่ง เย็บกี่และไสกาว พร้อมกับเข้าปกแบบสันโค้งซึ่งต้องทำด้วยมือทีละเล่ม ซึ่งนอกจากจะทำให้หนังสือมีความแข็งแรงแน่นหนา เก็บรักษาได้เป็นร้อยปีแล้ว ก็สวยงามอย่างเป็นศิลปะของหนังสือ 

                          

                         

                         

                         

                         

                         

ภายในหนังสือมีรายละเอียดบันทึกประวัติของหนังสือที่ดำเนินมาต่อเนื่องกว่า ๔๐๐ ปี มีการเขียนน้อมเกล้าถวายแด่พระมหากษัตริย์แห่งเสปนของผู้เขียน มีพระราชโองการรับเป็นสมบัติของชาติของกษัตริเสปนและพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการดำเนินการต่างๆอย่างเคร่งครัดตามเจตนารมณ์ของผู้เขียน มีบันทึกและทำหมายเหตุความเป็นมาของการเลือกสรรแปลสู่ต้นฉบับภาษาไทยของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ภาพประกอบเป็นภาพวาดลายเส้นที่สวยงามอย่างยิ่ง สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ผู้แปล และมกุฏ อรฤดี เป็นบรรณาธิการบริหาร

เป็นผลงานความสร้างสรรค์ทางศิลปะวรรณกรรมที่ผู้เขียนอยากจะเรียกว่าเป็น ประติมากรรมบนงานหนังสือ มอบเป็นมรดกแก่วงวรรณกรรมไทยและสังคมแห่งปัญญาสากล ซึ่งเป็นงานจากมือของคนธรรมดา ที่เมื่อเห็นแล้ว ก็ต้องตระหนักว่าคนธรรมดาและด้วยจิตใจธรรมดานั้นก็ยากที่จะทำได้ ขอคารวะและขอชื่นชมยินดีด้วยประการทั้งปวงแด่มกุฎ อรฤดี.

หมายเลขบันทึก: 423841เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2011 08:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • ยังไม่เคยได้อ่านเลยนะครับอาจารย์
  • ต้งไปหาอ่านแล้ว
  • ขอบคุณครับ

เป็นงานหนังสือและวรรณกรรมที่อลังการมากเลยละครับ

หนังสือเรื่อง ดอนกิโฆเต้ ผมเคยอ่านบ้างครับ

พบว่าหลายๆ เหตุการณ์ หลายๆ แนวคิด หรือ วาทกรรมในหนังสือเล่มนี้

กลายเป็นหลักที่ผมใช้ดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี

เห็นท่าจะจริงมากด้วยครับ เพราะแต่ละตอนมักจะให้แนวคิดดีๆอยู่เสมอ
โดยเฉพาะความฉลาดคิดที่สะท้อนอยู่ในการพูดกัน บางคนก็เปรียบว่าได้อารมณ์และจิตวิญญาณเหมือนกับเพลงพระราชนิพนธ์ 'ความฝันอันสูงสุด' ผมเองนั้น เท่าที่อ่านได้ยังไม่ถึงครึ่งของครึ่งเล่มก็ได้หลายอย่างด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะพลังความเยาวภาพของมนุษย์ ที่ต้องรักษาให้มีความสด ตื่นตัวต่อการเรียนรู้ มีความฝัน เผชิญชีวิต มีพลังความบริสุทธิ์

ขอชื่นชมคติดีๆที่สะท้อนอยู่ในบทประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่นี้ค่ะ..พี่ใหญ่เคยดูละครเรื่องนี้ครั้งหนึ่ง....รู้สึกว่ากว่าจะไปถึง "สู่ความฝันอันยิ่งใหญ่" นี้..แต่ละย่างก้าว ต้องการกำลังใจและศรัทธาที่แข็งแกร่งจริงๆ..

พี่ใหญ่มอบดอกไม้สำหรับบันทึกนี้ด้วยความขอบคุณที่นำมาแบ่งปัน..

                       

                     ช่อกล้วยไม้ตระกูลหวายบานที่ข้างรั้วในบ้าน

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ

  • เคยมีละครเวทีสู่ฝันที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นที่เสียดายมากครับที่ผมไม่ได้ไปชม เพราะก่อนหน้านั้นเวลามีละครเวทีก็มักจะได้ไป
  • มีการทำเป็นภาพยนต์ด้วยหลายเวอร์ชั่นครับ ผมเคยซื้อมาดูครั้งหนึ่ง ต้องเรียกว่าเสียอรรถสหมดเลย งานวรรณกรรมหลายเรื่องที่ทำออกมาเป็นหนังแล้วก็จะดีมากไปอีกแบบหน่ง แต่สำหรับวรรณกรรม ดอนกิโฆเต้ นี้ ในมุมมองผมนี่คิดว่าเป็นสุดยอดของงานวรรณกรรมที่ยากจะสามารถถ่ายทอดได้ด้วยหนังและศิลปะอย่างอื่น นอกจากละครเวที
  • เมื่อตอนทำบุญบ้าน ดอกกล้วยไม้เอื้องผึ้งบ้านผมก็ออกดอกเหลืองอร่าม ๒ ช่อ งามจริงๆครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท