ประเมินผลการดำรงชีวิตหลังเกษียณอายุราชการ(2 ปี)ของผม


    ปีใหม่นี้ เห็นรัฐบาลประเมินผลการบริหารตามนโยบายในรอบ 2 ปี  ก็เลยนึกสนุกลองประเมินผลชีวิตตนเองหลังเกษียณอายุราชการ(ก่อนกำหนดปี2551 และเกษียณจริงปี 2553) 2 ปีบ้าง
    ก่อนเกษียณผมได้ตั้งเป้าหมายชีวิตตนเองหลังเกษียณไว้ว่า จะหันกลับมาดูใจตนเอง  และจะพยายามไม่ทำกิจกรรมอะไรที่จะก่อให้เกิดกิเลส เครื่องเศร้าหมอง หรือปรุงแต่งออกไปนอกตัวตามที่เคยบันทึกใน www.gotoknow.org/blog/tanes/4177471 โดยกิจกรรมหลักที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำอย่างสม่ำเสมอคือ  การปลูกต้นไม้  ปฏิบัติธรรม  ออกกำลังกาย  ไปท่องเที่ยว และ ช่วยเหลือสังคมตามโอกาสอำนวย
         ผมลองมาดูว่า 2 ปีผ่านไป  ผมได้ทำตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้มากน้อยเพียงใด?
     1.การปลูกต้นไม้  ผมใช้เวลาสัปดาห์หนึ่งประมาณ 3 วัน จะไปขลุกอยู่กับต้นไม้ที่บ้านสวนหลังเล็กๆทั้งวัน การใช้เวลาอยู่กับต้นไม้รู้สึกว่าจิตใจสบาย ไม่ต้องคิดอะไรออกไปนอกตัวไกลนัก  จะอยู่กับปัจจุบัน  อยู่กับต้นไม่  ดอกไม้ มีเรื่องให้ทำ ให้ปรับปรุงตกแต่งเพลินอยู่ตลอดทั้งวัน ไม้ผลที่ปลูกไว้เริ่มเจริญออกดอกผลแล้ว  ไม้ดอกไม้ประดับก็เจริญงอกงาม  พืชผักสวนครัว รั้วกินได้ก็ทยอยให้เก็บเกี่ยวไปบริโภคและแจกเพื่อนบ้านมิได้ขาด  ผมใช้ปุ๋ยและสารชีวภาพเป็นหลัก  แต่ก็เจอปัญหาเรื่องแมลงรบกวนเหมือนกัน  ก็พยายามทำใจไม่ไปรังแกเขา  ถือว่าแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ก็แล้วกัน
   

    
    

    2.การปฏิบัติธรรม 
ตอนเกษียณใหม่ๆ ผมไปอบรมปฏิบัติธรรมมาหลายสำนัก  เช่น  ฝึกสติตามแนวหลวงพ่อเทียน ที่วัดสนามใน นนทบุรี และหลวงพ่อคำเขียน ที่วัดป่าสุขโต ชัยภูมิ ฝึกมโนมยิทธิ ตามแนวหลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง อุทัยธานี  แล้วไปอบรมตามแนวของคุณแม่สิริ ที่วัดบางไผ่ นนทบุรี (2 รุ่น)  ก็รู้สึกว่าใจเริ่มสบายมากขึ้นระดับหนึ่ง   แต่เมื่อมีอะไรมากระทบก็ยังฟุ้งอยู่  และยังไม่สามารถบริหารตนเองให้ปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง หลังสุดได้ไปสมัครอบรมวิปัสสนาในแนวทางของท่านอาจารย์อูบาขิ่น สอนโดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ในอุปถัมภ์ของมูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐานในพระสังฆราชูปถัมภ์ หลักสูตร 10 วัน ที่ศูนย์ธรรมกมลา ปราจีนบุรี  เป็นการฝึกปฏิบัติเข้มยึดหลักอริยสัจ 4  เน้นปฏิบัติตามมรรค มีองค์ 8 นั่นคือหลักไตรสิกขา(ศีล  สมาธิ  ปัญญา) โดยรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์เป็นเบื้องต้น  แล้วฝึกอาณาปานสติ 3 วัน จนเกิดสติและมีพลังสมาธิ แล้วฝึกวิปัสสนา อีก 7 วัน ใช้จิตพิจารณากาย(ขันธ์ 5) เมื่อพบเวทนาก็พยายามวางอุเบกขา แต่ละวันฝึกไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง ตอนแรกๆรู้สึกว่าหนักมากจนวางอุเบกขาแทบไม่อยู่  แต่พอ 3 วันผ่านไป จิตเริ่มสงบ  รู้สึกสบาย อยากนั่งนานๆ สาเหตุที่ผมสามารถผ่านเวทนาต่างๆไปได้นั้น  ผมคิดว่าน่าจะได้พื้นฐานจากที่เคยฝึกมาหลายๆสำนัก มาบูรณาการเข้ากับแนวทางนี้ได้  ทำให้เข้าใจว่า การสอนของสำนักต่างๆนั้นล้วนพยายามใช้เทคนิคของตนเองให้เข้าถึงตามคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่วิธีการอาจแตกต่างกันไปบ้างเท่านั้น  พอจบหลักสูตร 10 วัน  รู้สึกตัวได้เลยว่า ตนเปลี่ยนแปลงไปมาก  จิตใจสงบ สบาย หายใจโล่ง ละเอียดทีเดียว  แต่พอกลับมาฝึกต่อที่บ้านก็ไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องอีก  จึงต้องไปอบรมต่อที่ศูนย์ธรรมธานี คลองสามวา กทม. 3 วัน  แล้วก็ไปอบรมหลักสูตร 10 วันอีกครั้งเป็นรอบที่สอง  ตอนนี้รู้สึกแล้วว่าการปฏิบัติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต  วันหนึ่งๆสามารถปฏิบัติได้ประมาณ 2 ชั่วโมง และรู้สึกตัวในขณะปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้อย่างสม่ำเสมอ ในเดือน ก.พ. 54 นี้ได้สมัครไปอบรมหลักสูตร 3 วันต่ออีกครั้ง
     
    3.การออกกำลังกาย  เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ผมสามารถปฏิบัติจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต(ติดแล้ว) แรกทีเดียวผมสมัครเป็นสมาชิกของฟิตเนสตลอดชีพ จ้างเทรนเนอร์ช่วยสอนให้ในระยะแรก หลังจากนั้นก็มาปฏิบัติด้วยตนเอง  เลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะกับตนเอง ยึดหลักทางสายกลางเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมากกว่าการเพาะกาย  สัปดาห์หนึ่งจะออกกำลังกายที่ศูนย์ฟิตเนสประมาณ 3-4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1.5 ชั่วโมง  แต่เมื่อปีที่ผ่านมา ทางเทศบาลนครนนทบุรี ได้ปรับปรุงพัฒนาอุทยานมกุฏสราญรมย์ ซึ่งเป็นสถานที่ออกกำลังกายภายในศูนย์ราชการนนทบุรี(ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน) มีเครื่องมือออกกำลังกายมากมาย สถานที่กว้างขวาง อากาศปลอดโปร่งโล่งสบาย ผมจึงย้ายมาออกกำลังกายที่นี่แทบทุกเช้า  รู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้นมากทีเดียว และผมพบความจริงว่า ระหว่างออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้  หรือปฏิบัติภารกิจประจำวัน ก็สามารถปฏิบัติธรรมไปด้วยได้  เพราะว่าธรรมมะก็คือส่วนหนึ่งของชีวิตปกตินี่เอง
      4.การไปท่องเที่ยว  ผมถือว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มุ่งสร้างความสัมพันธ์กับครอบครัวเป็นประเด็นสำคัญ  ตอนรับราชการ หน้าที่การงานทำให้ผมได้เดินทางไปราชการมาทุกจังหวัดแล้ว  และได้ไปต่างประเทศมาพอสมควรซึ่งส่วนใหญ่ก็ไปทำงาน ไม่ได้มีโอกาสได้พักผ่อนหย่อนใจอย่างแท้จริง  แต่การไปท่องเที่ยวหลังเกษียณเรามักไปกันพร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว ถ้าไปภายในประเทศไม่ไกลนักก็จะขับรถไปกัน แล้วนอนพักค้างคืน  ถ้าไกลก็จะใช้พาหนะอื่น อาหารที่ไหนอร่อย ที่เที่ยวที่ไหนสนุกๆเราจะไม่พลาดกัน  การเที่ยวในต่างประเทศตั้งเป้าหมายไว้ปีละ 1 ครั้ง  ปีแรกผมไปออสเตรเลียและสิงคโปร์  ปีที่ 2 ไปฮ่องกง และสิงคโปร์อีกครั้ง นอกนั้นก็ไปประเทศใกล้ๆบ้านเรา ที่ผมภูมิใจมากคือ ผมสามารถพาพี่ๆน้องๆ และคนในครอบครัวรวม 10 คน ที่ไม่เคยขึ้นเครื่องบิน ไปเที่ยวฮ่องกง มาเก๊า จูไห่ โดยผมดูแลเองทั้งหมด  ค่าใช้จ่ายคนละประมาณ 12,000 บาท รวมเบ็ดเสร็จ แสนกว่าบาทเท่านั้น  นับว่าคุ้มค่าจริงๆ ที่สามารถทำให้ทุกคนมีความสุขและตื่นเต้นมาก ถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตของเขาเลยทีเดียว ทำให้นึกถึงพ่อกับแม่ที่ท่านจากไปโดยไม่เคยได้นั่งเครื่องบินเลย      
   5.การช่วยเหลือสังคมตามโอกาสอำนวย  ถือว่าเป็นหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ที่จะต้องเป็นผู้ให้แก่สังคมและผู้อื่น แม้จะเกษียณแล้วก็ยังมีคนเห็นคุณค่า เชิญให้ไปช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆมิได้ขาด  ผมเองก็ตั้งเป้าหมายเรื่องนี้ไว้เช่นกันว่า งานที่ไปร่วมต้องไม่ผูกพัน  ไม่เครียด  และไม่หวังหารายได้จากการร่วมกิจกรรม  ถ้ารับทุกงานผมคงทำงานหนักกว่าตอนยังไม่เกษียณ  ที่รับไว้ เช่น เป็นกรรมการสถานศึกษา 3 โรงเรียน  เป็นครูสอน นศ.ปริญญาโท  เป็นที่ปรึกษา SBAC นนทบุรี  เป็นวิทยากรบรรยาย  เขียนบทความลงวารสารวิทยาจารย์คอลัมน์ประจำทุกฉบับ เป็นครูทางอินเทอเน็ต  เป็นกรรมการ/ผู้ทรงคุณวุฒิ ให้ สำนักงาน ก.ค.ศ., สพฐ.,คุรุสภา,สกศ.,สมศ. ฯลฯ  นอกนั้นก็ร่วมกิจกรรมชมรมอดีตศึกษานิเทศก์กรมสามัญ/วิสามัญศึกษา(อศน.),ชมรมเพื่อนร่วมรุ่นเทพสตรี, ชมรมผู้สูงอายุโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เป็นต้น 
     

      หากประเมินตนเองในภาพรวม ผมก็ว่าผมน่าจะผ่าน(ถ้าไม่เข้าข้างตนเอง)โดยเกณฑ์ประเมินของผมนอกจากเอาเป้าหมายเป็นตัวตั้งแล้ว ก็ถือเรื่องความสุข ความสงบทางใจเป็นเกณฑ์ ซึ่งดูค่อนข้างเป็นนามธรรม แต่ก็ไม่อยากให้คิดจริงจังในเชิงวิชาการมากเกินไปเพียงแต่อยากเล่าเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนวัยเกษียณ หรือผู้ที่เตรียมตัวใกล้เกษียณเท่านั้น
       ปล.หลังเกษียณผมพกพาโรคหนักๆที่เสี่ยงต่อความตายติดตัวมาด้วย 4 โรคใหญ่ๆ ต้องพบแพทย์และรับประทานยาพอๆกับอาหาร  หน้าตาซีดเซียว อมโรค   ปัจจุบันผมรู้สึกตัวว่าโรคร้ายทั้งหลายไม่มีความหมายแล้ว ใครเห็นก็ชมว่าหน้าตาสดชื่น(หนุ่ม)กว่าตอนทำงานราชการ(ไม่รู้ว่าเขาแกล้งเอาใจรึเปล่า) แต่ก็ยังคงทานยาเพื่อควบคุมโรคไว้บ้างเพื่อความไม่ประมาท  แพทย์ก็ยังแปลกใจว่าไปทำอะไรมา ผมก็ตอบท่านว่าผมทำตาม  5 ข้อข้างต้น  ก็คงต้องปฏิบัติและปรับปรุงตนเองต่อไปจนตลอดชีวิต 
    ก็พยายามเตือนตนเองเสมอว่า สรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง มีเกิดมีดับ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน...

หมายเลขบันทึก: 417524เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2010 20:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีค่ะ

ชีวิตหลังเกษียณ (ก่อนกำหนด) เพียง ๓ เดือนก็รู้สึกว่ามีความหมยมากขึ้นค่ะ  ได้มาเรียนรู้จากท่านอีก  รู้สึกชอบใจที่ท่านได้ปฏิบัติค่ะ  ขอให้มีความสุขในปีใหม่นะคะ

สวัสดีปีใหม่ค่ะ

                     

                ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยจงดลบันดาลให้ท่านและครอบครัวมีความสุข สดชื่น สมหวังทุกประการตลอดไปเทอญ

  • สวัสดีปีใหม่ครับ
  • อีกไม่นาน คงจะได้ทำตามคุณธเนศ
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆครับ

ขอบคุณสำหรับคำอวยพรปีใหม่ ขอให้ทุกท่านมีความสุขเช่นกัน บันทึกนี้เพียงอยากจะเล่าเรื่องราวตัวเองหลังเกษียณ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเท่านั้นครับ

  • กราบสวัสดีปีให่ท่านอ่านจารย์ธเนศค่ะ
  • เข้ามาเรียนรู้การปฏิบัติตนของท่าน  เพื่อขัดเกลาชีวิตตัวเองค่ะ 
  • ขออวยพรให้ท่านอาจารย์สุขภาพดี   ปลอดโรคปลอดภัย  มีอายุยืนนานค่ะ

สวัสดีปีใหม่ค่ะอาจารย์

ติดตามอ่านบันทึกอาจารย์มาช่วงต้นๆ เห็นเงียบๆไป สบายดีนะคะ

ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย ดลบันดาลให้ท่านอาจารย์และครอบครัว สุขภาพแข็งแรง เปี่ยมล้นด้วยรักอบอุ่นมิตรภาพ ค่ะ

ขอบพระคุณบันทึกนี้ ชอบกิจกรรมหลากหลาย ได้ข้อคิด ธรรมะ ชาติเยียวยา ค่ะ

ขอบคุณครับ ขอให้มีความสุขเช่นกัน

สวัสดีค่ะ พี่ธเนศ

อดีตศึกษานิเทศก์กรมสามัญศึกษา(วิชาภาษาอังกฤษ)รุ่นน้องจากเขตการศึกษา 10 ขอส่งกำลังใจนะคะ...เป็นรุ่นน้องของ พี่สอาด ศศิธรามาส เข้ามาพบโดยบังเอิญค่ะ...น้องก็เป็นสมาชิกของ เช่นกันค่ะ..แต่ใช้ชื่อสั้นๆว่า "นีนาถ"...ชื่อเต็มคือ "รัชนีนาถ" แต่งงานแล้วลาออกจาก ศน. ไปอยู่ที่อเมริกาย่างเข้าปีที่ 17 แล้วค่ะ...

ยินดีเช่นกันที่น้องเข้ามาคุยด้วยที่อเมริกาเป็นอย่างไรบ้าง ชีวิตคงหวือหวาต่างจากบ้านเราเยอะ ขอให้น้องและครอบครัวมีความสุขมากๆนะ

ผมอ่านหลักการปฏิบัติตนหลังเกษียณ อายุราชการ ของ อาจารย์ น่าสนใจมากครับ ซึ่งตรงกับแนวความคิดของผม ผมอยากจะเสริมแนวความคิด ซึ่งตัวผมก็ได้ปฏิบัติอยู่เป็นประจำว่า  การที่คนเราจะมีความสุขได้นั้นในนิยามของผม ควรเป็นความสุขที่มาจากภายในจิดใจ ที่ประกอบด้วย 3 ส่วน 1. ความสงบที่มาจากการปฏิบัติสมาธิภาวนา  2.การที่เราวางจิตใจและอารมณ์อุเบกขา หรือการปล่อยวาง สิ่งต่าง ๆที่เข้ามากระทบจิดใจของเรา ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นเรื่องดี หรือเรื่องร้าย  และ 3. มองทุกอย่าง มีการเปลี่ยนแปลง 3 อย่าง เกิดขึัน อยู่กับเราไม่นาน และก็จะสูญสลายไปในที่สุด     เท่าที่เราจะทำได้   โดยไม่ต้องไปควบคุม  ทำให้เราเป็นสุขมากครับ และมีสิ่งดีเกิดขึ้นในชีวิต       กิจกรรมเสริม น่าสนใจ การปลูกต้นไม้ครับ การออกกำลังกาย การช่วยเหลือสังคม ที่อาจารย์ทำอยู่  ผมเห็นด้วยครับว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่ดี  ผมก็ทำด้วยเช่นกัน  ในขณะเดียวกันเรานั้นก็ ปฏิบัติธรรมควบคู่ไปด้วย ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ก็ทำให้เราได้รับความสุขเพิ่มมากขั้นครับ  ขอชื่นชมแนวคิดและแนวปฏิบัติตนของอาจารย์

ปล. ผมเหลือเวลา อีก10 ปีจะเกษียณครับ


ดีครับที่ตระหนักในกฎของอนิจจัง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอนที่เราจะไปยึดติดให้เกิดทุกข์ เราสั่งสมกิเลส ตัณหาอันเป็นสมุทัยของความทุกข์มาเกือบชั่วชีวิต การที่เรารู้สึกตัว เกิดสติ สัมปชัญญะ ไม่ยึดติดกับขันธ์ 5 ถือเป็นกุศลอย่างยิ่งที่จะทำให้กิเลสลดน้อยลง วันที่ 2 พ.ค. เวลา 6.30 น.ตอนเช้า ถ้าพอมีเวลาลองเปิดทีวีช่องไทยพีบีเอส เขาจะนำเสนอเรื่องการดำรงชีวิตของผมตามบล็อกนี้ 25 นาที ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงตามที่ผู้ถ่ายทำบอกมา

แก้วที่คว่ำอยู่กลางสายฝน

ต่อให้ฝนกระหน่ำทั้งคืน ก็ไม่อาจเต็มไปด้วยน้ำ
คนที่ไม่ยอมเปิดใจเรียนรู้
ต่อให้คลุกคลีกับนักปราชญ์ ทั้งวันทั้งคืน ก็ยังโง่เท่าเดิม

อ่านต่อ: http://www.wirawasa.ws

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท