การนั่งสนทนาและเล่าเรื่องเพื่อพัฒนาการวิจัยแบบ PAR กับชุมชนและกลุ่มประชาชน


การนั่งสนทนาและการจัดกลุ่มเพื่อเก็บข้อมูลนั้น เป็นวิธีที่รู้จักและดำเนินการแพร่หลายอยู่ทั่วไปในการวิจัยแบบ PAR รวมไปจนถึงการวิจัยเชิงคุณภาพในสาขาสังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา การศึกษา ศิลปะ เทคโนโลยีการศึกษา และอื่นๆ แต่ในการพัฒนาประเด็นการวิจัย ตลอดจนการสร้างความเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการสังคมโดยมีชุมชนเป็นฐานนั้น ชาวบ้าน ชุมชน ตลอดจนกลุ่มปัจเจกและกลุ่มประชาคม อาจเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยได้อย่างลึกซึ้งมากกว่าเป็นเพียงแแหล่งข้อมูลหรือ Key Informant

ดังนั้น การนั่งสนทนาและเล่าเรื่องเพื่อพัฒนาการวิจัยแบบ PAR กับชุมชนและกลุ่มประชาชน จึงเป็นวิธีวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคมสำหรับการวิจัยแบบ PAR ที่จะทำให้การวิจัยเป็นนวัตกรรมการจัดการความเป็นชุมชนและบริหารจัดการการมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบโดยวิถีความรู้และบริหารจัดการตนเองเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ให้แก่ชุมชนต่างๆได้เป็นอย่างดี

บทความนี้จึงจะนำเสนอแนวคิดทฤษฎี แนวดำเนิน และขั้นตอนการปฏิบัติ สำหรับใช้วิธีเล่าเรื่องพัฒนาการวิจัยจากประเด็นการวิจัย โจทย์วิจัย และกรอบอ้างอิงเบื้องต้น สำหรับการวิจัยแบบ PAR ที่มุ่งดำเนินการวิจัยบนฐานความเป็นชุมชนและในแนวประชาคม

  การเล่าเรื่องกับแนวคิดการวิจัยและการสร้างความรู้ 

๑. ความรู้ ทฤษฎี และวิทยาศาสตร์ชาวบ้าน
ในการวิจัยแบบ PAR ที่มุ่งพัฒนาการวิจัยให้เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงของชุมชน ต้องมีกระบวนทรรศน์ต่อความรู้ ทฤษฎี และความเป็นวิทยาศาสตร์ในอีกกระบวนทรรศน์หนึ่ง กล่าวคือ ความรู้แบบกระแสหลักจะมีวิธีคิดอยู่บนความเป็นวิทยาศาสตร์ที่อิสระออกจากมิติสังคม ให้ความสำคัญกับความจริงที่ต้องดำเนินไปเหมือนกันในทุกสถานการณ์ ไม่ยืดหยุ่นกับความเป็นท้องถิ่นและความแตกต่างหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม แต่ความรู้ในการวิจัยแบบ PAR ซึ่งเน้นการปฏิบัติการเชิงสังคม เป็นความรู้ที่มีบริบทและเป็นวิทยาศาสตร์ชาวบ้าน มีความยืดหยุ่นต่อความแตกต่างหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม การเล่าเรื่อง จึงเป็นวิธีคิดและวิธีวิทยามากกว่าวิธีเก็บข้อมูล ดังนั้น การดำเนินการวิจัยแบบ PAR นั้น นอกจากสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนแล้ว แนวคิดและกระบวนทรรศน์ทางความรู้ต้องสอดคล้องวิถีปฏิบัติดังกล่าวนี้ด้วย มิเช่นนั้นก็จะเกิดข้อขัดแย้งไปบนกระบวนการ และไม่ส่งเสริมด้านที่เป็นจุดแข็งของการวิจัยในแนวทางดังกล่าวนี้
๒. คุณภาพข้อมูลข้อเท็จจริง การสร้างความน่าเชื่อถือ และการตรวจสอบ
การเล่าเรื่องในการวิจัยแบบ PAR นอกจากจะมีความน่าเชื่อถือจากแหล่งประสบการณ์ที่อยู่ในชุมชนแล้ว บริบทความน่าเชื่อถือและการเป็นที่ยอมรับต่อมิติต่างๆในความรู้ ก็สอดคล้องกับโลกความเป็นจริงของสังคมชุมชนด้วย กล่าวคือ ความเชื่อถือของชุมชนนั้น จะอยู่ที่ตัวคนและการดำรงตนเป็นสมาชิกของชุมชนด้วย มิใช่สารสนเทศของความรู้และผลการวิจัยโดยผู้อื่นอย่างเอกเทศ วิธีเล่าเรื่อง จึงเป็นการเข้าถึงความเชื่อถือจากจุดยืนของชุมชน ขณะเดียวกัน ความรู้และเรื่องเล่าจากชุมชน ก็จะเป็นการสร้างความสมดุลกับความรู้จากทฤษฎีภายนอก รวมทั้งสร้างความสมดุลกับความรู้ที่จะต้องสร้างขึ้นด้วยการตีความโดยนักวิจัยนอกชุมชน
๓. ความเป็นประชาธิปไตยของความรู้
การเล่าเรื่อง และการออกแบบกระบวนการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างเรื่องราวผ่านการเล่าเรื่อง จะทำให้เกิดความหลากหลายของความรู้และข้อเท็จจริงจากหลายจุดยืน ไม่ผูกขาดความจริง และไม่รวมศูนย์อยู่เพียงกับความรู้ของนักวิจัยและความรู้ตามทฤษฎีของโลกภายนอก ดังนั้น จึงมีมิติความเป็นส่วนรวมที่ร่วมสร้างขึ้นด้วยความเป็นชุมชน ทำให้มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในกระบวนการทางความรู้
๔. ความเป็นเจ้าของความรู้และแนวโน้มการแปรไปสู่วงจรสร้างความเป็นจริง
การเล่าเรื่อง จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงและใกล้ชิดเพิ่มขึ้นอีกมิติหนึ่งของงานทางความรู้กับสิ่งที่มีอยู่จริงในผู้คนของชุมชน ชาวบ้านและชุมชนเป็นหลักฐานการวิจัยและเป็นหลักอ้างอิงต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคตดังความรู้และสิ่งต่างๆที่สะท้อนอยู่ในการวิจัย ความรู้และการวิจัแบบ PAR ในลักษณะนี้จึงทำให้การวิจัยและวิถีความรู้ มีความบูรณาการและกลมกลืนเป็นวิถีชีวิตชุมชนมากยิ่งๆขึ้น
๕. กระบวนการเรียนรู้และเสริมพลัง
การเล่าเรื่องที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบ จะก่อให้เกิดสิ่งที่ต้องการได้รับในการวิจัยในรูปแบบอื่นๆเช่นกัน ทว่า สิ่งดังกล่าวนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม และเกิดขึ้นได้บนการออกแบบการวิจัยให้เป็นปฏิบัติการสังคม อีกทั้งจะมีความเข้มแข็งมากกว่าอีกด้วย เช่น ความสามารถค้นพบประเด็นการวิจัย ความสามารถมอง ใคร่ครวญ คิด และตั้งคำถามได้อย่างมีพลัง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ การเล่าเรื่องจะทำให้เกิดขึ้นได้เมื่อดำเนินการให้มีวิธีคิดดังข้างต้นอยู่เบื้องหลัง

  การสนทนาและนั่งเล่าเรื่องกับการพัฒนาการวิจัย 

การพัฒนาการวิจัยที่นอกเหนือจากการถอดบทเรียนและเก็บข้อมูลในขั้นตอนอื่นๆ ที่สามารถนำเอาการเล่าเรื่องและการนั่งสนทนา มาเป็นเครื่องมือและวิธีดำเนินการในขั้นตอนการพัฒนาการวิจัยขึ้นจากความเป็นชุมชนที่น่าสนใจ ที่สำคัญคือ

๑. การเล่าเรื่องเพื่อการพัฒนาชุดประเด็นการวิจัย
การพัฒนาประเด็นการวิจัยโดยทั่วไป หากไม่ได้คำนึงถึงการออกแบบให้เชื่อมโยงและสะท้อนความเป็นชุมชน และการเกิดมิติทางสังคมของชุมชนบนกระบวนการวิจัยนั้น วิธีการที่คุ้นเคยกันโดยทั่วไปก็จะมุ่งต่อยอดกันด้วยความรู้และการวิจัยที่มีมาก่อน รวมทั้งอาศัยแหล่งข้อมูลและกระแสสังคมโดยวิธีการต่างๆ เช่น การอ่านทบทวนการวิจัยที่มีอยู่แต่เดิม การเดินเข้าห้องสมุด การหาประเด็นจากสื่อมวลชน การฟังผู้รู้และผู้ทรงคุณวุฒิ ดังนั้น การวิจัยแบบ PAR ซึ่งออกแบบให้มีกระบวนการเดินออกจากหนังสือและห้องสมุดไปอ่านประสบการณ์ชุมชน จึงมิใช่การขาดความเข้มแข็งทางระเบียบวิธี ทว่า เป็นเพียงทำให้แหล่งข้อมูลประสบการณ์เข้ามาสู่กระบวนการวิจัยและการช่วยกันอ่านสังคมโดยชาวบ้าน หรือใช้วิธีการที่ต่างกันออกไป เท่านั้น กระนั้นก็ตาม เพื่อบรรลุจุดหมายดังแนวคิดดังกล่าวนี้ การเล่าเรื่องและการนั่งสนทนากัน จึงต้องเป็นกระบวนการที่แตกต่างไปจากการนั่งเก็บข้อมูลจากแหล่งข้อมูลหลักในแนวคิดดั้งเดิมของการวิจัยโดยทั่วไป

๒. การเล่าเรื่องเพื่อพัฒนาคำถามและแนวทฤษฎีเพื่อการวิจัย
นอกจากการใช้วิธีการเล่าเรื่องของชาวบ้าน เป็นวิธีค้นหาประเด็นของการวิจัยและพัฒนาการเริ่มการวิจัยแล้ว การเล่าเรื่องสามารถใช้เพื่อพัฒนาคำถามการวิจัยและแนวทฤษฎีเพื่อคาดคะเนหรือตั้งสมมุติฐานชี้นำการปฏิบัติชั่วคราวให้เหมาะสมพอดีๆในบริบทของชุมชนต่างๆได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

๓. การเล่าเรื่องเพื่อพัฒนากรอบวิธีคิด กรอบอ้างอิง ชุดความรู้ และขอบเขตดำเนินการ
การเล่าเรื่องและการนั่งสนทนา สามารถใช้เป็นวิธีสร้างความรู้และรวบรวมแนวคิด แนวทฤษฎีจากประสบการณ์ชีวิตต่อเรื่องต่างๆขึ้นจากบริบทของชุมชน ซึ่งจะทำให้แนวทางการสร้างความรู้และดำเนินการวิจัย ตลอดจนปฏิบัติการสังคมบนกระบวนการวิจัยในขั้นตนต่างๆ บรรลุผลดีที่สำคัญใน ๓ ประการ คือ ลดอคติและสร้างความสมดุลกับความรู้ภายนอก สร้างการมีส่วนร่วมแก่ชุมชนซึ่งจะเกิดผลดีเป็นการพัฒนาศักยภาพและสร้างทักษะปฏิบัติในการนำความรู้และประสบการณ์ชุดใหม่ไปใช้ มีความยั่งยืนจากการสอดคล้องกับความรู้และระบบวิธีคิดของชุมชน

  กระบวนการและการดำเนินการ 

๑. ขั้นการเตรียมดำเนินการ

    (๑) การเตรียมกลุ่มคนสำหรับเล่าเรื่อง แจ้งจุดหมาย ความต้องการ และขอคำปรึกษาจากผู้รู้ในชุมชน ในการระบุกลุ่มคนสำหรับเชิญร่วมเวที เล่าเรื่อง และนั่งสนทนาตามประเด็นต่างๆที่ต้องการได้อย่างครอบคลุม ถูกต้อง และมีความเหมาะสมที่สุด
    (๒) การเตรียมทีมจัดกระบวนการและทีมจัดการความรู้เพื่อพัฒนาการวิจัย ประกอบด้วยทีมวิจยและทีมกระบวนกรการวิจัยที่สามารถตั้งคำถาม กระตุ้นการสนทนา ดำเนินการกลุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เล่าเรื่อง ใช้กระดานบอร์ดบันทึก ฟัง สังคราะห์ สะท้อนกลับ และตั้งประเด็นการสนทนาได้อย่างต่อเนื่อง หมดจรด ครอบคลุม น่าพูดคุย ๑ คน ต่อกลุ่มสนทนา ๓-๑๕ คน พร้อมกับมีผู้ช่วยร่วมทีม ๑-๒ คนต่อ ๑ กลุ่มย่อยตามความจำเป็น 
    (๓) การเตรียมสถานที่ บรรยากาศ และสภาพแวดล้อม เน้นการเตรียมสถานที่ที่เรียบง่าย ไม่สิ้นเปลือง พิจารณาให้ยืดหยุ่นไปตามกลุ่ม เช่น หากเป็นชาวบ้านในชนบท ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ชอบห้องประชุมในโรงแรมและมีเครื่องปรับอากาศ ประหม่าและกลัวต่อเครื่องเสียง ชอบสถานที่ประชุมที่ลุกเดินเข้าออกเพื่อไปทำธุระต่างๆได้ตลอดเวลา กาจัดที่นั่งควรเน้นรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ นั่งพื้น หรือจัดกลุ่มเป็นวงกลมเหมืนอโต๊จีนได้ง่ายๆ หรือสามารถเคลื่อนย้ายและยืดหยุ่นได้ตามที่ผู้เข้าร่วมประชุมต้องการ
    (๔) การเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม เช่น บอร์ด กระดาษ วัสดุอุปกรณ์การประชุมต่างๆ โดยคำนึงถึงสิ่งสนับสนุนการคิดและทำงานเป็นกลุ่ม ส่งเสริมการพูดคุย ช่วยการสื่อสารและจดจำต่อความคิดของกลุ่มผู้นั่งสนทนาและเล่าเรื่อง
    (๕) การเตรียมการจัดการที่จำเป็น เช่น อาหาร ของว่าง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆตามความเหมาะสมของกลุ่มผู้นั่งสนทนาและเล่าเรื่อง
    (๖) การเตรียมคำถามสำหรับเป็นแนวการสนทนา ควรเตรียมคำถามให้เป็นเครื่องมือการจัดกระบวนการ ต่างๆตามที่ต้องการ เช่น คำถามเพื่อให้เล่าเรื่องสุขภาวะของชุมชนและความอยู่ดีมีสุขจากประสบการณ์ชีวิต ว่าเป็นอย่างไร

๒.ขั้นการดำเนินการ
   (๑) การเตรียมบรรยากาศและความพร้อม การวิจัยกับกลุ่มประชาชนและการจัดเวทีเพื่อการเล่าเรื่อง ต้องการรูปแบบที่มีความเป็นธรรมชาติ ดังนั้น จึงไม่ควรดำเนินการเวทีให้เป็นทางการ ลดการใช้เครื่องเสียงและไมโคโฟนซึ่งทำให้เกิดโครงสร้างที่เป็นทางการและเป็นการส่งสัญญาญให้ผู้ร่วมเวทีพูดกันด้วยภาษาสังคม ไม่สะท้อนความเป็นตัวของตัวเอง ไม่แสดงออกด้วยความสบาย ส่งเสริมการสนทนาและพูดคุยเพื่อรอให้ทุกคนพร้อมแล้วจึงดำเนินการต่อไป หากมีเรื่องราวและข่าวคราวต่างๆในชุมชนก็ควรนำมาบอกกล่าวสื่อสารกันให้ได้รู้กันแพร่หลาย มุ่งทำให้เป็นกระบวนการสร้างความวางใจ เตรียมความคุ้นเคย ลดช่องว่างทางความรู้ และเพิ่มความสามารถในการใช้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจสิ่งต่างๆในเวทีให้ดีที่สุด
   (๒) การนำเข้าสู่การสนทนาและการเล่าเรื่อง แจ้งวัตุประสงค์ แนะนำผู้คนให้รู้จักกัน บอกกำหนดเวลา ผลที่ต้องการ เงื่อนไข ข้อตกลงต่างๆที่จำเป็น ทั้งเพื่อเป็นแนวการทำงานบนเวทีและเป็นกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ให้กับชุมชนไปในตัวด้วย
   (๓) การให้โจทย์และคำถาม ในการเล่าเรื่องนั้น ควรเน้นให้ชาวบ้านและชุมชนได้เล่าเรื่องด้วยประเด็นคำถามที่เปิดกว้างและเป็นอิสระที่สุด การตั้งคำถามเจาะจงนอกจากจะทำให้เกิดข้อจำกัดแล้ว จะทำให้ชาวบ้านระมัดระวังและเล่าถ่ายทอดไม่ได้ การเล่าเรื่องและสนทนาแบบทั่วไปจะทำให้ได้ประเด็นที่ดีในภายหลัง หลังจากนั่งทบทวน แลกปเลี่ยนเรียนรู้ และอภิปรายกันต่อไปอีก
   (๔) การแบ่งกลุ่มและจัดทีมดำเนินการอย่างเหมาะสมพอเพียง จัดกลุ่มเป็นกลุ่มเล็กๆและออกแบบกลุ่มสำหรับการเล่าเรื่องตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ (ศึกษาเพิ่มเติมในแนวคิดและวิธีแบ่งกลุ่มเพื่อจัดเวทีการวิจัยแบบ PAR)
   (๕) การนั่งสนาและเล่าเรื่อง ดำเนินการเล่าเรื่องและสนทนากันเป็นกลุ่มตามระยะเวลาที่กำหนดโดยมีทีมกระบวนกรการวิจัยเป็นผู้อำนวยความสะดวกและกำกับกระบวนการเวทีย่อยให้ดำเนินไปตามที่ตกลงกัน
   (๖) การรวมข้อมูล อภิปราย และตรวจสอบข้อมูล นำเอาผลการสนทนาเล่าเรื่องมานำเสนอในกลุ่มรวมและอภิปรายเรียนรู้กันอย่างกว้างขวาง
   (๗) การสรุป สรุปผลที่ได้รับบทเวทีเพื่อเป็นการเรียนรู้และบอกกล่าว พร้อมทั้งตรวจสอบคุณภาพข้อมูลจำเพาะที่ต้องการในขั้นตอนย่อยๆที่ดำเนินการขึ้น

๓.ขั้นพัฒนาสู่แผนปฏิบัติการในลำดับต่อไป
เมื่อได้ความรู้และเรื่องราวต่างๆ ตลอดจนข้อสรุปจากเวทีเล่าเรื่องของชาวบ้านและชุมชนแล้ว ก็สามารถนำเอาข้อมูลและบทสรุปต่างมาวิเคราะห์และวางแผน เพื่อดำเนินการต่อไปให้คืบหน้า ขณะเดียวกัน ข้อมูลที่ได้ก็ทำบันทึกข้อมูลสนามซึ่งดำเนินไปอยู่แล้วตลอดกระบวนการวิจัย

การเล่าเรื่องและการจัดเวทีสนทนาเพื่อพัฒนาการวิจัยและริเริ่มกระบวนการวิจัยนั้น นอกจากเป็นเวทีปฏิบัติการขับเคลื่อนการวิจัยแบบ PAR แล้ว โดยวิธีการและกระบวนการปฏิสัมพันธ์กันของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง จะมีลักษณะเป็นกระบวนการเรียนรู้เชิงการวิจัยด้วย กล่าวคือ เป็นการรวบรวมประสบการณ์และหาคำตอบด้วยการตั้งคำถาม จากนั้น ก็ปฏิบัติการเป็นทีมเรียนรู้ เพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และสร้างบทสรุปช่วยกันอย่างเป็นระบบหลายชั้น ทำให้ความรู้จากประสบการณ์เกิดการดึงออกมาจัดเก็บอย่างเป็นระบบภายนอก

ขณะเดียวกันก็สะท้อนกลับเข้าไปเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ชุดใหม่ บูรณาการเข้ากับประสบการณ์เดิม ทำให้การวิจัยแบบ PAR มีความคืบหน้าด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม พร้อมกับพัฒนาการเรียนรู้ให้ชาวบ้านกลับไปสู่วงจรชีวิตการงานโดยมีความลุ่มลึกและมีความรู้ที่ดีกลับไปใช้อยู่ตลอดเวลา.

หมายเลขบันทึก: 415434เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2010 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • สวัสดีค่ะ
  • สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๔ ขอให้ อาจารย์วิรัตน์ มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง  สุข สดชื่น สมหวัง ดั่งใจปอง ตลอดปี และตลอดไปนะคะ" 
  • ขอบพระคุณค่ะ

                                      

สวัสดีค่ะ

ผ.อ.โรงเรียนท่านหนึ่ง เราหารือกันทุกวันว่าอยากจะทำแบบนี้ค่ะ "การบริหารจัดการการมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบโดยวิถีความรู้และบริหารจัดการตนเองเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้"

เนื่องจากในชุมชนมีความงดงาม มีวิถีชีวิต แต่ตอนนี้ความคิดเขาเปลี่ยนไปตามกระแส  แต่เราอยากเปลี่ยนความคิดให้เขาใหม่ แต่ไม่อยากเปลี่ยนวิถีชีวิตค่ะ 

ตอนนี้ได้แต่เข้าไปทำกิจกรรมกับชาวบ้านก่อน  รอสังเกตดูความพร้อม  วันก่อนพี่คิมก็ได้ความอดทนนั่งฟังคนเมาคุยปัญหาต่าง ๆ ให้ฟังสารพัดค่ะ

อุตส่าห์นุ่งผ้าซิ่นให้ดูกลมกลืนเป็น "คนบ้านบ้าน"  กำลังเรียบเรียงเรื่องเล่าผ่านบันทึกค่ะ

ขอขอบพระคุณความรู้ PAR ค่ะ

มีภาพคนบ้านบ้านมาให้ชมค่ะ

สวัสดีครับคุณบุษราครับ
ขอบพระคุณมากเลยทีเดียวครับ
ขอให้คุณบุษรามีความสุข ได้ความสุขกาย สบายใจ
มีกำลังความคิด จิตใจแจ่มใสเบิกบาน
เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง เพื่อร่วมงาม ตลอดจนผู้คนรอบข้าง
ต่างมีความสำเร็จและความงอกงามให้ได้เป็นกำลังใจ
เป็นสิ่งแวดล้อมที่สร้างสรรค์ และเป็นขวัญชีวิตให้กันอยู่เสมอๆนะครับ

สวัสดีครับพี่คิมครับ

  • พูดอย่างภาษาลาวบ้านเกิดผมที่หนองบัว นครสวรรค์นี่ ก็ต้องบอกว่า "คือแท้น๊อ...คือหลาย" ครับ
  • "....เข้าไปทำกิจกรรมกับชาวบ้านก่อน ....." "....รอสังเกตดูความพร้อม..."  "....อดทนฟังขี้เมาคุยปัญหาต่างๆให้ฟังสารพัด..."............!!!!!
  • วิธีการและสิ่งที่ดำเนินไปตามสภาพเหตุปัจจัยเฉพาะของมันอย่างนี้ นับว่าเป็นบทเรียนและวิธีจัดการความรู้ของจริงในภาคปฏิบัติที่มีคุณค่ามากครับ
  • ความสนใจของพี่คิมกับท่าน ผอ.โรงเรียน ในการพัฒนา องค์กรชุมชนแห่งการเรียนรู้นั้น ก็ทั้งน่าสนใจและในชนบทนั้น ก็คงจะมีคุณูปการต่อชาวบ้านทุกกลุ่มเลยนะครับ
  • ยิ่งได้ ผอ.โรงเรียน และนำไปสู่การพัฒนาสถานศึกษาขนาดเล็กในชนบทให้มีรูปแบบดำเนินการใหม่ๆ ทั้งเพื่อพัฒนาการศึกษาและเพื่อเป็นหน่วยวิชาการ พัฒนาการเรียนรู้ของชุมชน ก็จะยิ่งน่าสนใจและจะเป็นประโยชน์มากต่อสังคมนะครับ
  • ขอเป็นแรงเชียร์และติดตามเป็นแรงหนุนอย่างเต็มที่ครับ
ผศ.เสรภูมิ วรนิมมานนท์

ยินดี..ที่พบอาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ในGOTOKNOW.เอาเป็นว่า..ใกล้ปีใหม่2554นี้ ให้อ.วิรัตน์ พบเห็น รับรู้ สิ่งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ตามที่ปรารถนา อันที่เป็นสิ่งจำเริญทั้งโลกและทางธรรมสู่ความเกษมของจิตวิญญานของตนและความครัว ที่อุดมไปด้วยความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสมบูรณ์ด้วยปัญญาและวิถีชีวิต....ผศ.เสรภูมิ ..นะครับ...............................

อ้อ..หลังปีใหม่ต้นมกราคม ว่าจะไปทางเหนือเหมือนกัน...จะไปถ่ายรูปและหาทำเลสร้างสถานที่ปฎิบัติธรรม

ไปอย่างไรมาอย่างไรละครับพี่ท่าน
วันสองวันที่ผ่านมาได้ทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่าอาจารย์จิตร(ประกิต)ของเรา ได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ครูอาจารย์เก่าๆแก่ๆเหลือไม่กี่ท่านแล้วนะครับ

  • สวัสดีค่ะอาจารย์ ..
  • ภาพบรรยากาศการนั่งสนทนาและเล่าเรื่อง เพื่อถอดบทเรียนการทำงานและสรุปเป็นประเด็นเพื่อการนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการของสถาบันฯ เมื่อวันก่อนค่ะ ..
  • เผื่ออาจารย์หยิบใช้ ..

                        

                      

                      

                      

                      

                      

ผมนึกอยากได้รูปกิจกรรม สำหรับเป็นตัวอย่างที่เกิดจากการใช้ทำงานจริงๆอยู่พอดีครับภาพชุดนี้ได้ไปช่วยทีมหมอช้าง แพทย์หญิงสุพัตรา ศรีวนิชชากร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน นั่งถอดบทเรียนการขับเคลื่อนเครือข่ายโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพระดับตำบล (รพสต) เพื่อให้กรณีตัวอย่างที่ทำงานในพื้นที่ต่างๆของประเทศ นำเอาบทเรียนของการริเริ่มและทำสิ่งต่างๆกันได้ในพื้นที่ มานำเสนอและพัฒนาเครือข่ายในเวทีประชุมระดับประเทศที่จะมีขึ้นในเดือนมกราคม ๒๕๕๔ ที่จะถึงนี้ ถ้าอย่างนั้น จะขอใช้เลยนะครับ ประเดี๋ยวจะจัดให้ขึ้นไปอยู่ในเนื้อหาของบทความบันทึกนะครับ แล้วก็จะขอลบ dialog box ของอาจารย์ณัฐพัชร์นี้ออกไปด้วยเลยนะครับ ขอบพระคุณครับผม

  • ยินดีค่ะอาจารย์ แต่ภาพยังไม่ครบนะค่ะ ยังเหลือ mapping ของอาจารย์ ซึ่งคงต้องรอจากคุณเริงวิชญ์อีกทีค่ะ ซึ่งได้บอกกล่าวไปแล้วค่ะ ..
  • ตอนนี้ชาวบ้านโดยรอบกำลังอยู่ในช่วงเฉลิมฉลองให้กับเทศกาลค่ะ จะมีเสียง ตึ่ง ตึ่ง โป้ง โป๊ง ฉึ่ง ให้เกิดรอยย่นบนใบหน้าเพิ่มขึ้นมาอีก เพราะอิจฉา ในขณะที่ทุกคนกำลังเฉลิมฉลองแต่ตัวเองต้องมานั่งปวดหัวอ่านหนังสือ เขียนงานให้ได้อย่างน้อยก็เกิน ๖๐-๗๐% ภายในวันจันทร์นี้หล่ะค่ะ ..
  •  ค่ะอาจารย์ ขอให้หายไข้หวัด และแข็งแรงไวไวนะค่ะ Get well soon =D
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์วิรัตน์
  • นำภาพมาเพิ่มเติมค่ะ

                   

                   

                   

  • นำบันทึกของคุณอินทนนท์ อสม.จาก ต.สันทรายหลวง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ มาฝากค่ะ http://gotoknow.org/blog/inthanon/416150

                  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท