บันทึกคำพูดบางคนที่น่าสนใจจากงานระพีเสวนา ครั้งที่ ๕/๗


"Transformative Education ผมคิดว่าจะต้องเป็นเรื่องหลักของการปฏิรูปอุดมศึกษาระยะที่ ๒ ได้เสนอเรื่องนี้ในคณะกรรมการนโยบายของ กกอ. ความเห็นที่ได้กลับมาคือ ไม่เห็นด้วยจะนำมาเป็นเรื่องหลักของการปฏิรูปการอุดมศึกษา ขอให้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง"

 

 

ผมได้ไปร่วมงานระพีเสวนา ครั้งที่ ๕/๗ ในหัวข้อ อุดมศึกษาเพื่อการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” (Transformative Learning in Higher Education) เมื่อวันพุธที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๓ ณ โรงแรมรามาการ์เด็น กทม. จัดโดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล ร่วมกับ สถาบันอาศรมศิลป์ ต่อไปนี้เป็นคำพูดของบางคนที่น่าสนใจ

ชัยวัฒน์ ถิระพันธ์ CivicNet

  • "อุดมศึกษาไม่มีวันเป็นตัวนำ(สังคม) Never เพราะสถาบันเหล่านี้ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับแผ่นดิน แต่คุณอยู่ได้เพราะคนต้องเรียนหนังสือ...อยากบอกว่า อนาคตอุดมศึกษา ผมตายไปก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าไร"

  • "สำหรับผม การเรียนรู้ คือการทำให้เจริญขึ้นสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น ผมคงไปไม่ถึงแต่ผมอยากเดินบนเส้นทางนี้ สถาบันต่างๆ มีความท้าทายให้คนอยากเดินบนเส้นทางนี้ไหม?"

  • "ผมไม่หมดความหวังเพราะเชื่อในทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีก...เห็นคนที่ได้แรงบันดาลใจแล้วไปทำเล็กๆ ของตนเอง ผมเชื่อว่ามีคนอย่างนี้อยู่ไม่น้อยในแผ่นดินไทย อาจมีเป็นล้าน แต่ไม่มี Collective (ร่วมกัน) ... เราไม่ต้องการคนมาก แค่ 1% ก็พอ แผ่นดินไทยสะเทือน"

ประภาภัทร นิยม รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันอาศรมศิลป์

  • "สถาบันการศึกษาจะเป็นสถาบันแห่งความรักความเมตตาได้อย่างไร?"

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ กระทรวงสาธารณสุข

  • "สถาบันอาศรมศิลป์เอาคนแปลกๆ มาอยู่ด้วยกันเป็นเรื่องดี เพราะถ้าไม่มีที่ให้คนแปลกๆ อยู่ ต่อไปก็จะหายแปลก กลายเป็นคนธรรมดาหมด"

  • "การฝึกให้บัณฑิตมีความอ่อนโยนต่อชีวิตและอ่อนน้อมต่อธรรมชาติได้หายไปจากอุดมศึกษา"

  • "พยายามดึงระบบการเรียนรู้คืนสู่รากเหง้า ไม่ต้องอายกำพืดตนเอง...กลับไปหาสุนทรีภาพ ประณีตที่จะใช้ชีวิต ที่คิด ที่รู้สึก...กลับไปหาปัจเจกภาพ (ไม่ใช่ปัจเจกชนนิยม) คือ สมบูรณ์ในตัวของเราเอง ไม่ต้องเหมือนคนอื่น แต่ละคนพบความหมายชีวิตของตนเอง"

ประมวล เพ็งเจริญ อดีตอาจารย์สอนปรัชญา ม.เชียงใหม่

  • "มหาวิทยาลัยในปัจจุบันไม่ได้ทำหน้าที่อุดมศึกษาตามความหมายเดิม คือ สภาวะที่เป็นความรู้ขั้นสูง ผมเคยต่อต้านการแปรรูปมหาวิทยาลัย แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ผมอยากให้จำนวนหนึ่งยังเป็นอุดมศึกษาในความหมายเดิมจริงๆ วิชาผมไม่ได้ผลิตช่าง แต่สร้างสภาวะ "อุดมธรรม" ให้ปรากฏขึ้นในหัวใจของคนจำนวนหนึ่ง ไม่ใช่ทุกคน"

ระพี สาคริก

  • "ตอนที่เขาคิดออกนอกระบบ ผมบอกว่า หาไปเถอะ ไม่เจอหรอก เพราะระบบมันอยู่ข้างในตัวแต่ละคน"

ประยงค์ รณรงค์ ปราชญ์ชาวบ้าน ต.ไม้เรียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช

  • "ตอนนี้คนอยากเรียนต่อ ป.โท ป.เอก เพราะจบ(.ตรี)แล้วไม่รู้จะทำอะไร จึงต้องเรียนฆ่าเวลา"

อนุชาติ พวงสำลี ผอ.ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล

  • "เราควรสร้างขบวนการขับเคลื่อนจิตวิญญาณของความเป็นครู"

ปิยะวัติ บุญหลง สถาบันคลังสมองแห่งชาติ

  • "มหาวิทยาลัยในอนาคตเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น (อุตสาหกรรมความรู้)...โดยวิธีเพิ่มปริมาณนักศึกษา(เพิ่มรายได้) และใช้เทคโนโลยีมาลดจำนวนอาจารย์เพื่อลดต้นทุน...เน้นประสิทธิภาพเพราะลูกค้าเองก็ไม่ได้ต้องการคุณภาพ"

  • "มหาวิทยาลัยเอกชนเป็นธุรกิจที่เพอร์เฟ็คมาก รุ่งเรืองมาก ผลผลิตที่ออกไปตรวจสอบยาก และยังมีตัวช่วยคือ กยศ. (กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา) จบไปโดยมีหนี้ออกไป ไม่รู้คุณภาพเป็นอย่างไร เป็นพลเมืองดี เป็นกำลังสำคัญของชาติหรือเปล่า"

อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมคนหนึ่ง

  • "มหาวิทยาลัยเก่าแก่ติดกับระบบ สกอ. มีตัวย่ออะไรออกมาให้อาจารย์มากมาย จนไม่อยากคิดอะไรใหม่ ต้องทำงานเอกสารมากมาย เลยไม่อยากทำอะไรนอกกรอบเพราะเหนื่อยมากขึ้น"

สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการ สกอ.

  • "บางคนบอกว่าติดกฏระเบียบ สกอ. ทั้งๆ ที่รู้ว่ามหาวิทยาลัยมีอิสระที่จะทำ ผู้บริหารอ้างเอง จริงๆ แล้วทำได้ทั้งนั้น แต่ที่ไม่ทำเพราะท่านไม่ทำเอง"

  • "ประเด็นมหาวิทยาลัยกับชุมชนที่มีความแปลกแยก สกอ.ไม่ได้พูดเรื่องนี้ชัดๆ แต่มี ๒ - ๓ โครงการที่ได้ทำ เช่น โครงการเรียนรู้ร่วมกันสร้างสรรค์ชุมชน ปีแรก ๕๐ หมู่บ้าน ใช้เวลา ๓ เดือน นศ.และอาจารย์ลงไปอยู่ในชุมชน ๑ - ๒ สัปดาห์ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับชุมชน ผมไปงานปิด ๒ - ๓ แห่ง เห็นน้ำตาชาวบ้านและนักศึกษา"

  • "Transformative Education ผมคิดว่าจะต้องเป็นเรื่องหลักของการปฏิรูปอุดมศึกษาระยะที่ ๒ ได้เสนอเรื่องนี้ในคณะกรรมการนโยบายของ กกอ. ความเห็นที่ได้กลับมาคือ ไม่เห็นด้วยจะนำมาเป็นเรื่องหลักของการปฏิรูปการอุดมศึกษา ขอให้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่สำหรับผมไม่ท้อ ผมไม่เรียกว่าเป็นการศึกษาทางเลือก แต่เป็นการศึกษาทางออก"

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๔ ธ.ค.๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 411998เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2010 21:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 01:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

กินใจหลายประโยค ชัดเจนหลายคำ แต่คงต้องย้ำและปรับการศึกษาไทยทั้งระบบกระมังคะจึงจะพัฒนาได้ถึงจุดนั้น และชอบคำนี้ของ อ.อภิชาติ พวงสำลี ผอ.ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล

"เราควรสร้างขบวนการขับเคลื่อนจิตวิญญาณของความเป็นครู" เพราะนี่ล่ะที่จะทำให้เกิด Educational Value ล่ะ

ผมเข้าไปอ่านประวัติอาจารย์ Ico32 รัช แล้วครับ อ่านสนุก เรียบๆ ง่ายๆ มีความชื่นชมในบิดา-มารดา ครอบครัว และตนเอง ผมว่าคนที่มองโลกในแง่ดี น่าจะสอนสนุกด้วย ผมคิดว่าความชื่นชมยินดีต่อชีวิตของอาจารย์ จะทำให้อาจารย์ชื่นชมยินดีในตัวศิษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเรียนช้าเรียนเร็ว และอาจารย์คงเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์ได้ชื่นชมยินดีในตนเองและมนุษย์คนอื่นๆ

 

คำพูดท่านเลขาธิการ สกอ. ท่านสุเมธ แย้มนุ่น ท่านพูดได้ประทับใจผมมากครับ

โดยเฉพาะ ข้อ 3.ขอให้กำลังใจท่านสู้ต่อไปครับ สำหรับตัวผมแล้ว ม.ชีวิตครับ

คือทางออก 100%

ณัฐวุฒิ ภาษยะวรรณ

.......คำพูดขอวดร.ปิยะวัตร บุญหลง ที่ว่า "มหาวิทยาลัยเอกชนเป็นธุรกิจที่เพอร์เฟ็คมาก รุ่งเรืองมาก ผลผลิตที่ออกไปตรวจสอบยาก และยังมีตัวช่วยคือ กยศ. (กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา) จบไปโดยมีหนี้ออกไป ไม่รู้คุณภาพเป็นอย่างไร เป็นพลเมืองดี เป็นกำลังสำคัญของชาติหรือเปล่า"

ไม่ทราบในความลึกๆ แต่เป็นอุทาหรณ์และท้าทาย สำหรับพวกเรา นะครับ เป็น impression ต่อ มหาวิทยาลัยเอกชน แต่ ไม่ใช่ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน(ม.ชีวิต)

ขอพระคุณท่านสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการ สกอ. ที่กล่าวว่า "บางคนบอกว่าติดกฏระเบียบ สกอ. ทั้งๆ ที่รู้ว่ามหาวิทยาลัยมีอิสระที่จะทำ ผู้บริหารอ้างเอง จริงๆ แล้วทำได้ทั้งนั้น แต่ที่ไม่ทำเพราะท่านไม่ทำเอง" และ "Transformative Education ผมคิดว่าจะต้องเป็นเรื่องหลักของการปฏิรูปอุดมศึกษาระยะที่ ๒ ได้เสนอเรื่องนี้ในคณะกรรมการนโยบายของ กกอ. ความเห็นที่ได้กลับมาคือ ไม่เห็นด้วยจะนำมาเป็นเรื่องหลักของการปฏิรูปการอุดมศึกษา ขอให้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่สำหรับผมไม่ท้อ ผมไม่เรียกว่าเป็นการศึกษาทางเลือก แต่เป็นการศึกษาทางออก"

ม.ชีวิตเราจะต้องมีความมุ่งมั่นต่อไปครับ ให้กำลังใจกัน สู้ ๆ ๆ ๆ ๆ

ดีใจครับที่ผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ เเละมีเเนวทางที่จะขับเคลื่อน การศึกษาทางเลือก

ผมมองว่า คือ "ทางรอด"ในอนาคตด้วย

การศึกษาวิกฤติจริงๆ ครับ เราท้อไม่ได้ ต้องเอาจริงเอาจังเสียทีครับ ผมว่าแนวร่วมน่าจะมากโข การทำงานยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกับครู 8 จังหวัดในอีสาน ผมว่า มีแสงไปที่เรืองๆ อยู่ไม่น้อย ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องเอาจริงเรื่องการศึกษา ผู้ที่มีศักยภาพนำ เปิดโอกาสครับ ผมว่าแนวร่วมเยอะ ผมและเครือข่ายด้วยหล๊ะ กลุ่มหนึ่งแล้ว

คำพูดของ อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ที่ว่า

     "อุดมศึกษาไม่มีวันเป็นตัวนำ(สังคม) Never เพราะสถาบันเหล่านี้ไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับแผ่นดิน แต่คุณอยู่ได้เพราะคนต้องเรียนหนังสือ...อยากบอกว่า อนาคตอุดมศึกษา ผมตายไปก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าไร"

  • อย่ามองว่าเป็นเพียงคำพูดรุนแรง หยาบคาย และดูถูกสถาบันอุดมศึกษาจนเกินไป เพราะถ้าผู้คนในระบบอุดมศึกษาติดอยู่ในอารมณ์นั้น คิดได้เพียงการยกโครงการโน้น...โครงการนี้...มากล่าวอ้างและตอบโต้ว่า เราทำแล้ว กำลังปรับตัวอยู่ กำลังเดินอยู่บนเส้นทาง Tranformative ฯลฯ
  • แต่อาการ "รู้ร้อนรู้หนาวกับแผ่นดิน" ตอบกันตรง ๆ แบบไม่ต้องเสแสร้ง ตอบออกมาจากใจ ถ้าพบว่าในมโนคติของท่าน เรื่องนี้ยังไม่สำคัญไปกว่า เงินรายได้ ตำแหน่ง ความสะดวกสบาย ทุนวิจัยเรียนต่อ ดูงานต่างประเทศ ฯลฯ ที่วนเวียนอยู่ในหัวสมอง
  • คำพูดของ อ.ชัยวัฒน์ จึงเป็น "คำท้าทาย" ที่ตีเข้าแสกหน้าสถาบันอุดมศึกษาอย่างตรงไปตรงมาว่า จะช่วยให้ผู้คนที่เข้ามาสู่ระบบของการ อบ-รม-บ่ม-เพาะ ให้เขาเป็นนักวิชาชีพใด ๆ ได้เดินบนเส้นทางสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้ได้หรือไม่ ?

ผมเห็นด้วยกับ อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ครับ...

ขอบคุณทุกท่านที่แสดงความคิดเห็นครับ

ขอบคุณ อ.นุ สำหรับการ์ดและคำอวยพรครับ

สวัสดีปีใหม่ครับ

ขอคารวะความคิดของท่านผู้รู้ทุกท่าน เราคงจะสอนทุกคนให้เป็นอย่างที่เราต้องการได้ แต่ขอให้เราตั้งใจทำในขณะที่มีโอกาสทำก็สำเร็จผลสำหรับเราแล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท