ถูก..แต่ไม่ถูก(2)


ใครไม่ชอบ ธุรกิจ ของเขาผู้ชาย ; ธุรกิจของเขาผู้ชายไม่ชอบเขาผู้ชาย

ถูก แต่ไม่ถูก (ตอนที่ 2)

            วันที่ได้ออกนิเทศโรงเรียนในเขตพื้นที่ ที่รับผิดชอบ  ทีม ศน. เรา ได้เตรียมเอกสารตัวอย่างรูปแบบการจัดการเรียนการสอน  เช่น การสอนแบบ  lesson study  การสอนโดยเน้นกระบวนการคิด ฯลฯ ไปให้คุณครู เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้   ศึกษานิเทศก์ได้เดินทางมาครั้งนี้  4  ท่าน ( ทีมงาน 4  x 4 )เราทำงานเป็นทีมแบบนี้มาสองครั้งแล้ว  ผม ในฐานะที่เป็น ศน.รุ่นน้อง  ก็รับฟังนโยบาย รูปแบบการนิเทศ ตลอดทั้งวิธีการต่างๆจากรุ่นพี่ และนำไปปฏิบัติได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ไม่ว่ากัน  เพราะอยู่ในระหว่างสะสมประสบการณ์

            เป้าหมายการนิเทศวันนี้ก็คือ จะเข้าเยี่ยมและนิเทศโรงเรียนขนาดเล็กในเขต พื้นที่การศึกษา โดยเน้นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลจากเมือง (วันนี้ 2 โรงเรียน)  เราศึกษาสภาพปัจจุบัน / ปัญหา ของโรงเรียน  โดยได้ข้อมูลมาบ้าง จากการรายงาน (SAR)  แต่ความจริงจะเป็นอย่างไร นั่นคือเรา ต้องไปสัมผัสจริง  ด้วยตนเอง  สำหรับวันนี้ทีมศึกษานิเทศก์เราแบ่งหน้าที่การทำงาน โดย ชุดที่ 1 ทำหน้าที่นิเทศครู เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นกระบวนการคิดและการสอนรูปแบบ Lesson  study  ชุดที่ 2  เยี่ยมชั้นเรียนเพื่อสอบถามปัญหาความต้องการและเป็นการสร้างความสัมพันธ์

ภาคเช้ามาถึงโรงเรียนแห่งหนึ่ง(ขอสงวนนาม)วันนี้ จึงได้รู้ความจริงว่า เด็กๆนักเรียนที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง เขามีความอยากรู้อยากเห็น ใฝ่รู้ใฝ่เรียน เฉกเช่นเดียวกันกับเด็กในเมือง ครูก็สอนตามรูปแบบที่เรียนมาหรือที่อบรมมา และมีความตั้งใจในการสอน   แต่เครื่องมือหรือรูปแบบวิธีการนำเสนอนั้นก็แตกต่างกันไป

            ช่วงที่เข้าเยี่ยมชั้นเรียนเราสร้างความเป็นกัลยาณมิตรกับนักเรียนตามสมควร เพราะศึกษานิเทศก์แต่ละท่าน เคยปฏิบัติหน้าที่ครูผู้สอนมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี   การพบนักเรียนวันนี้จึงเป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว    วันนี้ เราทำให้นักเรียนมีความสนุกสนาน หัวเราะเฮฮา ร่าเริงบันเทิงใจ พอสมควร   เพราะ ศน.ท่านหนึ่งในทีมงาน  พูดเก่งมาก โดยเฉพาะเรื่องตลกๆเตรียมเรื่องไปเล่าให้นักเรียนฟังเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์

             และแล้วก็มาถึงเรื่องที่เราต้องการศึกษาเพราะจากข้อมูลคือ ผลการประเมินวิชาภาษาอังกฤษ นักเรียนระดับ ป. 4 - 6  มีผลค่อนข้าง ต่ำ(อ่อนวิชาภาษาอังกฤษ) ซึ่งสาเหตุก็คือ ครูผู้สอนไม่ได้จบวิชาเอกภาษาอังกฤษ  คือสอนไม่ตรงวิชาเอกนั่นเอง  ความจริงท่านมีความตั้งใจที่จะสอนให้นักเรียนรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก  เท่าที่สอบถาม ท่านก็บอกว่า  สอนให้อ่านบ้าง เขียนบ้าง  ฟังจาก CD บ้าง  สอนให้เปิดพจนานุกรม (Dictionary English-Thai) หาศัพท์บ้าง ฯลฯ นักเรียนก็สามารถทำได้เป็นอย่างดี(เท่าที่คุณครูบอกเรา)

            การทดลองเล็กๆของเราก็เกิดขึ้น คือการลองให้นักเรียน ป. 5  เปิดพจนานุกรม (Dictionary English-Thai) ทุกคนมีความกระหายที่จะได้แสดงฝีมือการเปิด Dictionary Thai-English  ให้เราดู   วันนั้นผมนำคำในภาษาอังกฤษ   ซึ่งเป็นสำนวนที่คิดว่าง่ายๆไปให้นักเรียนหาความหมาย คือคำว่า  " Who like   not   his  business ; His  business   like  not   him  " ซึ่งทีม ศึกษานิเทศก์เราวิเคราะห์แล้วว่า เป็นคำศัพท์ที่ไม่ยากนักสำหรับนักเรียน ป. 5   (จะมีคำยากปนอยู่ก็คือคำว่าbusiness  ซึ่งก็สามารถเปิด Dic ได้)

        ผลที่ออกมา หลังจากนักเรียนเปิด Dictionary English - Thai แล้ว นักเรียนแปลได้ดังนี้ครับ  “ ใครไม่ชอบ ธุรกิจ ของเขาผู้ชาย ;  ธุรกิจของเขาผู้ชายไม่ชอบเขาผู้ชาย "   ผมอ่านแล้วก็ได้แต่แอบขำในใจ  ( ความจริงเราอยากให้นักเรียนแปลออกมาว่า ..ใครไม่รักงาน งานก็ไม่รักคนนั้น)  แต่ก็ได้บอกว่า " ถูกต้องครับ  เก่งมาก" ความจริงแล้วสำนวนนี้ยากไปไหม ?   สำหรับนักเรียนระดับ ป. 5  ผมคิดในใจว่า ยากส์ ครับ  แต่เป้าหมายสำหรับวันนี้ก็คือ การเปิด Dictionary  ก็ ถือว่า OK   ครับ   ให้คะแนนเต็ม  นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่บอกว่า "ถูก แต่..ไม่ถูก "

             ความจริงเรื่องของภาษา ถ้าเรานำมาสื่อสารได้และให้ความหมายตรงกันก็ถือว่าไม่ผิด แต่ภาษาไทยกับภาษาอังกฤษนั้น จะให้แปลกันตรงๆ ก็ไม่ได้ เพราะอะไรนั้น คนที่จบเอกภาษาอังกฤษจะให้คำตอบได้    สำหรับภาษาไทยของเราก็มีความยากอยู่ในตัว   เพราะมีการตบแต่งทางภาษามากมายกว่าภาษาอื่น ดูๆแล้วก็เป็นเสน่ห์ทางภาษาเหมือนกัน  เช่น  คำว่า  “ข้าพเจ้า  ฉัน   ดิฉัน  ผม  กระผม”  ซึ่งภาษาอังกฤษมีคำเดียว คือ I   (ไอ)

             ที่เขียนมานี้ ทำให้ผมนึกถึงตัวเองเมื่อตอนที่เรียน ป. 5  ผมเป็นนักเรียนบ้านนอกคนเดียวในห้อง ที่ไปเรียนร่วมกับเด็กในเมือง  ผมไม่เคยเรียนภาษาอังกฤษเลย  แต่เด็กวัยเดียวกันสำหรับโรงเรียนในเมืองที่ จบ ป. 4  เขาเรียน A B C D สามารถอ่านคำว่า  This  is   a  book(นี่คือหนังสือ) That  is   a  chair(นั่นคือเก้าอี้) ได้แล้ว  ในขณะที่ผมไม่รู้เรื่อง  A B C  เอาซะเลย  ลำบากมากในขณะนั้น เพราะเรียนไม่ทันเพื่อน  แต่ยังดีที่เก่งคณิตศาสตร์จึงไม่เคยสอบตก เพราะหลักสูตรกำหนดคะแนนเฉลี่ยทุกวิชารวมเกิน 50 % ได้ขึ้นชั้น(แม้ว่าจะตกวิชาใดวิชาหนึ่ง)  ทำให้เกลียดภาษาอังกฤษตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  พึ่งจะมาเรียนจริงๆจังๆ เมื่อตอน เรียน ป. โท นี่เอง. แต่ก็มีความพร่องทางภาษา อยู่มากเมื่อเทียบกับคนอื่นที่เรียนระดับเดียวกัน  สรุปว่า...ไม่ได้มีความลึกซึ้งทางภาษาอังกฤษอะไรมากมายนั่นเอง.

 

                                            ศน.เฉลิมชัย 

หมายเลขบันทึก: 410918เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2010 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 18:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • สวัสดีครับ
  • ภาษาอังกฤษเอง เขาก็มีสำนวนของตัวเองเหมือนกันครับ
  • การแปลประโยคที่เป็นสำนวนภาษาอังกฤษอย่างตรงไปตรงมา บางครั้งก็ทำเอางง อย่าว่าแต่เด็กๆเลยครับ ผู้ใหญ่ที่ไม่ค่อยได้อ่านบทความภาษาอังกฤษบ่อยๆ มาแปลก็งงเหมือนกัน เพราะไม่ใช่ภาษาแม่ของเรานั่นเองครับ
  • อย่างไรก็แล้วแต่ คนไทยนั้นเก่งกว่าฝรั่งเรื่องภาษา เพราะเขาได้ภาษาเขาภาษาเดียว แต่เราได้ทั้งสองภาษา คือภาษาเราด้วย ถ้าภาษาไทยเป็นภาษาสากลบ้าง ฝรั่งจะหนาวแน่นอนครับ

นักเรียนแปลได้ขนาดนี้ก็ให้ความพยายามและความตั้งใจเต็มร้อยค่ะ ในส่วนตัวแล้วดิฉันไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษเก่งสักเท่าไหร่ เมื่อเจอฝรั่งจะหนีห่าง แต่เมื่อวันหนึ่ง(ม.6)เรามีเพื่อนนักเรียนแลกเปลี่ยนมาอยู่ในห้องทำให้เรามีความกล้าที่จะลองคุยแบบไทยคำอังกฤษคำ รู้ว่ามันผิดแต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เราถึงจะได้สื่อสารกับเพื่อนได้ทำความรู้จัก ทำให้เรารู้สึกว่าขอแค่เราจำคำศัพท์ให้ได้และค่อยประติดประต่อไปเรื่อยๆ เดียวเค้าก็จะเข้าใจเอง เมื่อเรากล้าคุยมากขึ้นเค้าก็เข้าใจ ทำให้เรารู้สึกดีใจว่าอย่างน้อยเราก็คุยให้นักเรียนต่างชาติเข้าใจนะ ณ ทุกวันนี้พอจะรู้ศัพท์และรูปแบบประโยคมากขึ้น เมื่อเจอฝรั่งถามก็สามารถพูดหรือตอบได้ แต่ไม่ใช่รูปแบบประโยคที่ถูกต้อง แต่อย่างน้อยเราก็สามารถตอบในสิ่งที่ที่เค้าถามได้ รู้สึกภูมิใจกว่าตอนที่เดินหนีตั้งเยอะค่ะ.......

ภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ภาษาของเรานี่คะจะเก่งมากก็แปลกอยู่ค่ะ

ขอบคุณ ท่านชำนาญ, ท่าน kungkeaw, ท่านจีราพัชร ที่ให้ความกรุณาให้ข้อ comment ความจริงอยากเล่าเรื่องราวที่พบเห็นมาให้เราชาว GotoKnow ได้ทราบ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ.

ตอนนี้หนูก็กำลังทำงานธุรการโรงเรียนด้วยค่ะ เรื่องภาษาอังกฤษนี้สงสารคุณครูผู้สอนมากเลยค่ะ ท่านเอาใจใส่มากในเรื่องการเรียนการสอนแต่ด้วยความรู้สึกส่วนตัวว่า นักเรียนจะเรียนแต่ไม่ตั้งใจ เลยทำให้ความรู้ภาษาอังกฤษนักเรียนน้อย แค่ภาษาไทยที่เรียนกันอยุ่ทุกวันนี้ให้นักเรียนฝึกคิดวิเคราะห์ เค้ายังวิเคราะหืกันไม่ถูกเลยค่ะ

ขอบคุณ ท่าน kungkeaw ที่เมตตา comment มาครับ ผมอ่านบล็อกของท่านแล้ว ให้ความรู้มากมาย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

ลองอ่าน การศึกษาสร้างคนให้เป็นคน แต่ คนเสียคนเพราะการศึกษาก็มาก ดูนะครับ.

สวัสดีค่ะ

การเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ควรเรียนเพื่อเป้าหมายในการสื่อสารเป็นสำคัญ  และที่สำคัญผู้สอนต้องบูรณาวัฒนธรรมของเจ้าของภาษาไปพร้อมกัน

การสอนต้องให้เกิดครบทุกทักษะในเวลาเดียวกัน  หากเพิ่มกระบวนการคิด และการมีวิจารณญาณเข้าไปอีก ก็ทำได้ เด็ก ๆ ไม่ควรถูกยัดเยียดว่า "ฉันต้องเรียน"

ภาษาอังกฤษ หรือวิชาที่เกี่ยวกับการใช้ทักษะทั้งหมด ต้องต่อเนื่อง ฝึกฝน กระบวนการเรียนการสอน  ต้องไม่ติดขัด หรือขาดตอนด้านอารมณ์และบรรยากาศ

เพราะเด็กรอคอยบรรยากาศของชั่วโมงที่ผ่านมาหรือเมื่อวาน  หากครูอารมณ์เปลี่ยนแปลง ก็ถือว่าเป็นการทำร้ายผู้เรียนมาก ๆ

เด็กที่พี่คิมสอน  สอบ โอเน็ต หรือเอ็นทีไม่ผ่าน แต่เขาสื่อสารได้เหมาะสมกับวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา  ออกเสียงพยัญชนะได้ และทักทายได้ไม่อายค่ะ

ผอ.บอกว่า "ครูคิมไม่ติวเอ็นที  ระวังเขตจะไม่ให้เงินโบนัส"  พี่คิมบอกว่า "ให้เอาเงินเดือนครูคิมไปจ่ายครูทั้งโรงเรียนเป็นโบนัสได้เลย"

ขอขอบคุณท่าน ศน.ที่ไปแลกเปลี่ยนและให้โอกาสมาแลกเปลี่ยนที่นี่ค่ะ

ขอบคุณ ยายคิม ที่ให้ข้อคิดครับ เรียนรู้เพื่อที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข เป็นคนดีของสังคม,ประเทศชาติก็ ok ครับ

ในมุมมองของป้า  ข้อความที่ให้เด็ก ป.๕ โรงเรียนขนาดเล็ก แปล

ถือว่ายากนะคะ  ถ้าเป็นป้าตอนนั้น ป้าก็ต้องแปลอย่างนั้น

แต่ถ้าเด็กอยู่ในบริบทแวดล้อมเหมือนเช่น เกาะสมุย หรือเชียงใหม่

ที่พบพานภาษาที่สองบ่อยก็ว่าไปอย่าง 

  

เรียน "ป้าพธู" แม้บริบทของแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกัน แต่เด็กทุกคนก็มีสิทธิที่จะเรียนรู้เท่าๆกันครับ คะแนนเท่ากันแต่ความรู้อาจไม่เท่ากันครับ เราต้องให้ความสนใจและช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กและห่างไกลความเจริญครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท