หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

เล่าเรื่อง NKM5 ตอนที่ ๔


เล่าเรื่อง NKM5 ตอนที่ ๑ 

เล่าเรื่อง NKM5 ตอนที่ ๒

เล่าเรื่อง NKM5 ตอนที่ ๓ 

 

     เราหมายถึงผมและ อ.กวาง ไปสายเช่นเคย จึงไม่ทันเข้าฟังในช่วงแรกของภาคเช้า

     ผมเข้าไปในโซนบึงบูรณาการ ในช่วงเซคชั่นที่สองของวัน ซึ่งมารู้ทีหลังว่าเจ้าหน้าที่ลงทะเบียนจัดให้ผมผิดไปจากความตั้งใจ แต่เมื่อนังฟังจนจบก็ไม่รู้สึกผิดหวังที่จับพลัดจับผลูมาเข้าห้องนี้

     เนื้อหาในช่วงนี้เป็นเรื่องราวการทำ KM ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เป็นบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และอะไร ๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งที่ผมประทับใจก็คือการทำ KM โดยพนักงานระดับล่าง ที่ส่งผลต่อดีต่อกิจการของบริษัทหลายประการ

     บริษัทนี้ให้ความสำคัญค่อนข้างมากกับการทำ KM โดยได้กำหนดเป็นนโยบายบริหารของบริษัทเลยทีเดียว และก็ลงทุนกับเรื่องนี้มิใช่น้อย

     บริษัทมีฝ่ายขับเคลื่อน KM โดยเฉพาะ คนที่นำประสบการณ์มาบอกเล่าเป็น KM Facilitator ของบริษัท ดูจากการนำเสนอของเธอแล้วก็อดชื่นชมถึงความสามารถของเธอมิได้

     การนำเสนอแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นการนำแนวคิดและการขับเคลื่อน KM ในภาพรวมของบริษัท โดย KM Facilitator คนที่ผมเพิ่งเอ่ยถึงเมื่อครู่ และอีกส่วนหนึ่งเป็นการบอกเล่าของทีมพนักงานที่มาบอกเล่าประสบการณ์การทำ KM ของพวกเธอ

 

 

     ในส่วนการนำเสนอภาพรวมนั้น เธอเล่าให้ฟังว่าการทำ KM ของบริษัทนั้นอาจจะแตกต่างไปจากที่อื่น ๆ และค่อนข้างเป็นแบบเฉพาะของที่นั่น ผมนั่งฟังไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็พบว่ามีการใช้แนวคิดทางพุทธศาสนาไปปรับใช้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เช่น

     การปรับใช้หลักสัปปุริสธรรม ๗ ประการ (ได้แก่ รู้จักเหตุ-ธัมมัญญุตา, รู้จักผล-อัตถัญญุตา, รู้จักตน-อัตตัญญุตา, รู้จักประมาณ-ปริสัญญุตา, รู้จักกาล-กาลัญญุตา, รู้จักชุมชน-ปริสัญญุตา, รู้จักบุคคล-ปุคคลัญญุตา) เสียดายที่เธอมิได้เล่ารายละเอียดในส่วนนี้ จึงไม่รู้ว่านำแนวคิดนี้ไปปรับใช้อย่างไร

     การปรับใช้แนวคิดเรื่อง “ปัญญา” ที่แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ สุตมยปัญญา – ปัญญาเกิดจากการฟัง อ่าน สัมผัส (Explicit Knowledge หรือ Raw Data) จินตามยปัญญา – ปัญญาเกิดจากการอบรมสั่งสอนหรือสร้างขึ้น (การนำ Raw Data มาประมวลผลเป็น Information) และ ภาวนามยปัญญา – ปัญญาอันเกิดจากการกระทำ (Raw Data à Information à Knowledge = Wisdom)

     เป้าหมายประการสำคัญของการทำ KM ของบริษัทนี้คือ การใช้ KM เป็นเครื่องมือในการค้นหาความสามารถ/ศักยภาพที่แฝงเร้นอยู่ในตัวของพนักงานแต่ละคน ทำการใช้และพัฒนาต่อยอดความสามารถ/ศักยภาพนั้น ซึ่งหากให้ผมเดานี่น่าจะใกล้เคียงกับการดึงและพัฒนา tacit knowledge นั่นเอง 

     สำหรับในการนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จในการทำ KM ของบริษัท เป็นการเล่าเรื่องราวของพนักงาน ๓ คน

 

 

     ในทีมของเธอนั้นมีสมาชิกอยู่ ๔ คน แรงจูงใจสำคัญในการทำเรื่องนี้คือการส่งผลงานเข้าประกวด ซึ่งจะทำให้มีโอกาสได้ไปนำเสนองานและเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ที่ตั้งของบริษัทแม่

     เริ่มจากการได้รับการฝึกอบรมเทคนิคผังก้างปลา ซึ่งเป็นเทคนิคการวิเคราะห์ปัญหา

     หลังจากการฝึกอบรม ทั้ง ๔ คน ซึ่งเป็นพนักงานระดับล่างของบริษัท ทั้งหมดจบการศึกษาเพียงระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ได้จับทีมกันแล้วใช้เวลาหลังเลิกงานคราวละประมาณครึ่งชั่วโมงนั่งคุยและวิเคราะห์ปัญหาหน้างานของพวกเธอโดยใช้เทคนิคที่ได้รับฝึกอบรมมา

     ทั้งทีมนั่งคุยกันและเห็นพ้องต้องกันว่าจะเลือกแก้ปัญหาการสูญเสียฮาร์ดดิส์ค จากการทิ้งชิ้นงานจากการเสียหายในกระบวนการผลิต การนั่งคุยกันเพื่อทำความเข้าใจปัญหาทำให้เห็นปัญหาชัดขึ้นว่าปริมาณงานเสียนั้นมีไม่น้อย และในบางคราวเมื่อชิ้นงานหลุดออกไปถึงลูกค้าทำให้ถูกร้องเรียนหลายครั้ง และในบางกรณีที่ชิ้นงานหลุดออกไปจากการผลิตเมื่อตรวจเชคพบปัญหาทำให้เสียเวลาในการย้อนกลับมาแก้ปัญหาใหม่ซ้ำอีก และจากสถิติปัญหานี้ของบริษัทพบว่าเป็นปัญหาที่มีปริมาณมากเป็นอันดับสอง นับเป็นมูลค่าเกือบล้านบาทต่อปี

     ปัญหาที่ว่านั้นคือ ปัญหาคราบกาวหรือเม็ดกาวที่เกาะติดอยู่กับฝาปิดของฮาร์ดดิส์ค ซึ่งมีโอกาสหลุดเข้าไปในแผ่นบันทึกข้อมูล ทำให้เกิดความเสียหายต่อการทำงานของฮาร์ดดิส์คได้

     ทีมงานใช้เทคนิคการวิเคราะห์ปัญหา พบว่าปัญหาดังกล่าวนั้นเกิดจากสองสาเหตุใหญ่ ๆ ที่สามารถแก้ไขได้ นั่นคือ (๑) ไม่ทราบว่าถุงมือสกปรก และ (๒) ไม่มีการ Rework งานเสีย

     ในการแก้ปัญหาครั้ง ทีมงานเลือกแก้ปัญหาข้อแรก ด้วยการเปลี่ยนถุงมือจากสีขาวซึ่งหากมีคราบกาวหรือเม็ดกาวติดอยู่บนถุงมือจะไม่สามารถสังเกตุเห็นได้ง่าย มาเป็นถุงมือสีน้ำเงินซึ่งจะทำให้สังเกตุเห็นเม็ดกาวได้ง่ายและชัดเจนขึ้น ผลจากการแก้ปัญหาโดยวิธีการนี้แม้ว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ได้ไม่ทั้งหมด นอกจากนั้นวิธีการเปลี่ยนถุงมือทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงได้ยกเลิกวิธีการนี้ไป

     การแก้ปัญหาครั้งที่สอง เป็นการเพิ่มขั้นตอนการ Rework งานเสีย ก่อนหน้าในการตรวจชิ้นงานนั้นเมื่อพบงานเสียก็จะทิ้งชิ้นงานนั้นไป ในการแก้ปัญหาจะไม่ทิ้งชิ้นงานและจะนำชิ้นงานนั้นกลับมาแก้ไขใหม่ โดยการคิดค้นเครื่องมือ “ไม้ peak” นำมาเขี่ยกาวออก ปรากฏว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีการนี้สามารถลดปริมาณงานเสียได้มาก แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด

     ทางทีมจึงได้คุยกันอีกว่า จะหาวิธีการแก้ปัญหาเพิ่มเติมอย่างไรจึงจะทำให้ลดการทิ้งชิ้นงานได้มากขึ้น ในที่สุดก็เพิ่มวิธีการแก้ปัญหาขึ้นมาอีกขั้นตอนหนึ่งคือ การใช้ความร้อนละลายกาว

     ผลลัพธ์จากการคิดค้นหนทางแก้ปัญหา ทำให้บริษัทสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นที่มาของรายได้ที่เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งล้านบาท

     นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการแก้ปัญหาหน้างานโดยการทำ KM ของบริษัท ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ได้รับรางวัลและมีโอกาสไปนำเสนอแลกเปลี่ยนที่บริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่น

     KM Facilitator บอกในตอนท้ายว่า บริษัทไม่ได้สื่อสารกับพนักงานในการทำ KM เลยว่ากำลังจะทำ KM กัน และหากถามพนักงานว่า KM คืออะไร ทำอย่างไร ทำไปทำไม ก็อาจจะไม่มีใครตอบได้ แต่การทำ KM ของที่นี่เนียนไปกับงานประจำที่ทำอยู่  

     ผมนั่งฟังการบอกเล่าของทีมงานทั้งสามคนด้วยความเพลิดเพลินและเต็มอิ่ม เนื่องจากทำให้ผมเปิดโลกเรื่องการจัดการความรู้ได้มากทีเดียว 

 

หมายเลขบันทึก: 410915เขียนเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2010 16:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 20:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะ

มาเติม..ความเข้าใจ มาบอกว่าจะชวนไปเวทีงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ๑๔ มกราคม ๒๕๕๔

  • ฟังดูแล้ว ห้องนี้น่าสนใจมากเลยนะคะ
  • คงได้เทคนิคดีดี กลับมาเยอะ ... รึปล่าว ???
  • ยอดไปเลย ถอดบทเรียนได้เยี่ยม  ละเอียด ได้สาระสำคัญ ยกนิ้วให้สมแล้วที่ เป็นบันทึกแนะนำ
  • นั่นเป็นสิ่งที่พี่ต้องเรียนรู้  อีกเรื่อง คือเรื่องการถอดบทเรียน

เสียดายที่ผมสูญเสียโอกาสที่ได้เรียนรู้ครั้งนี้

สบายดีนะท่าน ยังระลึกถึงเสมอครับ

  • สวัสดีค่ะ
  •  แวะมาเติมเต็มด้วยองค์ความรู้ที่ไม่มีวันหมด
  • ขอบคุณค่ะ

KM ที่เนียนไปกับงาน มักจะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่จากที่ได้เห็นเคสจากหลายๆ บริษัทค่ะ

ขอบคุณพี่หนานเกียรติที่นำมาแบ่งปันกันนะคะ :)

ขอบคุณค่ะ..พี่ใหญ่ไม่ได้เข้าไปที่โซนนี้..แต่มาเก็บเกี่ยวเรื่องเล่าดีๆได้ประโยชน์มากค่ะ..จะตามไปอ่านตอนต่อไป..

               

                           ภาพจากกล้องน้องอุ้มบุญ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท