การวิจัยเพื่อค้นหาข้อเท็จจริง


ความรู้ที่ได้จากการวิจัยเชิงสำรวจจะเป็นข้อเท็จจริง

        ถ้าให้ :

        (๑)(นก) - (๒)(ภาพนกที่เรตินา) - (๓)(รู้สึกเห็นนก) - (๔)(รับรู้นก) - (๕)(บันทึกว่านก ๑ ตัว)

        แล้ว  หมายเลข(๑), (๒), และ (๕) เป็นข้อเท็จจริง เพราะใครๆ ก็สังเกตได้  ทำซ้ำได้  วัดได้   โดยเฉพาะ (๕) ที่บันทึกว่า   นก ๑ ตัว นั้น เป็น  ข้อมูล   และ  " ๑ " ตัว นั้น  เป็น  "การวัด" (Measurement)

        (๓) และ (๔) ไม่ใช่ข้อเท็จจริง    เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เราสันนิษฐานเอา    ไม่มีใครสังเกตเห็นภาพนกที่เกิดในหัวของผู้เห็นในขณะที่คนนั้นรู้สึกสัมผัสนก  หรือเห็นนก   และไม่มีใครสังเกตเห็นภาพนกในหัวของคนที่กำลังรับรู้นกอยู่เช่นเดียวกัน (ยกเว้นความรู้สึกเห็นที่ผู้เห็นมีประสบการณ์อยู่ในขณะนั้น  ซึ่งมีจริง   แม้ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้สึกส่วนตัวที่คนอื่นไม่อาจรู้สึกได้เลยก็ตาม)

         การวิจัยด้วยวิธีการสังเกต  เช่น  การแอบซุ่มดูและถ่ายภาพยนต์บันทึกความเป็นอยู่ของนก  ของปลา  ของแมลง ฯลฯ  ของนักวิทยาศาสตร์  ที่นำมาฉายให้เราดูทางจอทีวีอยู่บ่อยๆ   ก็เป็นการค้นหา ข้อเท็จจริง  ในขั้นตามหมายเลข (๑) และ (๒)  ข้างบนนี้    ความรู้ที่ได้จากการวิจัยประเภทนี้ก็คือ   ความรู้ข้อเท็จจริง   และจัดเป็นประเภท ความรู้เชิงประจักษ์ (Empirical Knowledge)

         การวิจัยด้วยวิธีการเชิงสำรวจ(Survey Research)   ที่ใช้วิธีการสังเกต  การสัมภาษณ์   การกรอกแบบสำรวจโดยการกาผิด - ถูก  การเติมคำ   ก็เกี่ยวข้องกับ  การค้นหาข้อเท็จจริง   ตามขั้นหมายเลข (๑) และ (๒) ข้างบนนี้   ความรู้ที่ได้ก็จะเป็นความรู้ประเภทข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์เช่นเดียวกัน

         การวิจัยเชิงการสังเกต(ถ้าจะถือว่าเป็นวิธีวิจัย)   และการวิจัยเชิงการสำรวจ  จึงเป็นวิธีวิจัยที่ค้นหาความรู้ประเภทข้อเท็จจริงเป็นสำคัญ

         ในธรรมชาติจะมีความรู้อยูสองประเภท ที่รอให้นักวิจัยเข้าไปค้นพบมัน   คือ  (๑) ข้อเท็จจริง (Facts)  และ (๒) กฎธรรมชาติ (Natural Laws, Empirical Laws, Descriptive Laws)   ที่เราควรทำกันให้มาก ๆ คือ   การวิจัยเพื่อค้นหากฎธรรมชาติ ( หรือ กฎเชิงประจักษ์,  กฎบรรยาย)

       

หมายเลขบันทึก: 40471เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2006 22:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • โอโห หายไปนานมากเลยครับ
  • ผมและ รศ ดร คณิต บ่นถึงอยู่ครับ
  • นึกว่าจะไม่ได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับการวิจัยแล้วครับ
  • ขอบคุณมากครับอาจารย์

หายไปสองสัปดาห์จากการวิจัย เพราะมัวไปทุ่มเทกับเรื่อง Human Mind เนื่องจากติดพัน  ถ้าไม่รีบเขียนจะลืม !

สวัสดี ดร.คณิต ผมสวัสดีไปทาง Email หลายวันแล้วครับ

อาจารย์ครับ ที่ผ่านมาผมจะเห็น กฏอยู่ 2 ประเภทครับ คือ "กาล lows" กับ " อกาลlows"คือบางกฏไม่นานก็เปลี่ยนไป บางกฏก็เป็นจริงไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ไม่ทราบมันจัดในกฏชื่อใดได้บ้างครับ....

ผมรู้สึกดีใจมากกับคำถามนี้ครับ  ผมขออนุญาตตอบดังนี้นะครับ

๑. การจำแนกประเภทของสิ่งใดๆ  จะได้ผลเป็นอย่างไร  จะขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้จัดประเภท  เช่น  ในการจัดประเภทสัตว์  ถ้าใช้  บนบก  กับในน้ำ เป็นเกณฑ์  ก็จะได้ สัตว์บก กับ สัตว์น้ำ   ถ้าใช้ การออกลูก เป็นเกณฑ์  ก็จะได้  สัตว์ออกลูกเป็นไข่  กับ  ออกลูกเป็นตัว  ถ้าใช้ความอุ่นของเลือดเป็นเกณฑ์  ก็จะได้  สัตว์เลือดอุ่น กับ สัตว์เลือดเย็น ฯลฯ   การจัดประเภทของ กฎ ก็เช่นเดียวกัน  ถ้าเราใช้ กาล เป็นเกณฑ์  เราก็จะได้  กาลLaws  vs  อกาลLaws เหมือนที่ Dr.Sue ว่า  ถ้าเราใช้การสร้างไม่สร้างเป็นเกณฑ์  เราก็จะได้  กฎบรรยาย(Descriptive Laws) vs กฎกำหนดหรือกฎบัญญัติ(Prescriptive Laws)  ถ้าใช้ความตายตัวเป็นเกณฑ์ ก็จะได้กฎตายตัว(Deterministic Laws) vs กฎเชิงสถิติ(Statistical Laws)  ถ้าใช้ระดับเป็นเกณฑ์ ก็จะได้  กฎมหภาค(Macro Laws) vs กฎจุลภาค(Micro Laws)  ฯลฯ

๒. กฎ ที่ผมกล่าวภายใต้บล็อก METHOD นี้ เป็นกฎประเภท Descriptive Laws  หรือ Empirical Laws หรือ Natural Laws ครับ  ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงกฎ ผมจึงมักจะวงเล็บภาษาอังกฤษเหล่านี้ไว้ด้วยเสมอ

๓. ในกรณีของกฎประเภท Descriptive Laws  ถ้าเป็นกฎประเภทตายคัวแล้ว จะผิดพลาดไม่ได้  ถ้าผิดเพียงครั้งเดียว ก็ถือว่า ผิดเลย  แต่ถ้าเป็นกฎเชิงสถิติ   เรายอมให้ผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนได้  ๑ %  หรือ  ๕ %  และยังถือว่าเป็นกฎอยู่ครับ

เมื่อคืนนี้มาพบคำถามของ DR.SU ตอนเที่ยงคืน  และตอบมาทั้งๆที่ง่วงนอนครับ  ผมลองมาตรวจสอบดูอีกครั้งว่าได้ตกหล่นไปหรือไม่  ก็พบตกหล่นไปจริงๆ ครับ  คือ DR.SU ถามว่า  ไม่ทราบว่าจะจัดเข้าเป็นกฎชื่อใดได้บ้าง?  จึงขอตอบเพิ่มเติมดังนี้ครับ

ถ้าเป็นกฎในสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติหรือวืทยาศาสตร์สังคม  ก็น่าจะจัดเป็นประเภท  กฎเชิงกาล(Temporal Laws) vs กฎร่วมสมัย(Co-Existential Laws)  

แต่ในด้านการคงอยู่  ถ้าเป็นกฎที่มนุษย์สร้างแล้ว  การคงอยู่หรือการเลือนหายไปของกฎจะขึ้นอยู่กับจิตของมนุย์  กฎที่มนุษย์สร้างได้แก่กฎในสาขาวิชาประเภท Non-science   ถ้าในสาขาวิทยาศาสตร์ก็มีข้อจำกัด  คือ กฎบางกฎเป็นจริงเฉพาะที่บริเวณแรงดึงดูดของโลก  แต่ไม่เป็นจริงเมื่อหลุดจากแรงโน้มถ่วงของโลกไปแล้ว!  จึงต้องมีกฎใหญ่ไว้อธิบายครอบคลุมกฎเล็ก  และยังมีทฤษฎีใหญ่มาอธิบายกฎใหญ่นั้นอีกทีหนึ่ง!!

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท