ชีวิตอินเทอร์น:ได้คิดได้ทำ(ต่อ)


การสร้างคุณภาพใหม่ให้กับการจัดการกับความรู้ที่หมุนวนและยกระดับอยู่ในชั้นเรียนของเรา

กว่าจะมาถึงวันนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการทุกคนได้รับความรู้เรื่อง KM ทั้งจากการฟังบรรยาย และจากการฝึกเทคนิคการเล่า"เรื่องเล่าเร้าพลัง"  ได้เรียนรู้และฝึกฝนการเป็นคุณอำนวย  คุณลิขิตกันมาแล้ว การได้ชมวีดิทัศน์ชุดโรงพยาบาลบ้านตาก จึงเปรียบเสมือนการได้เรียนรู้โดยตรงจาก Best Practice ที่ถึงแม้จะเป็นคุณหมอ (ไม่ใช่คุณครู) แต่ก็มีขุมความรู้ให้เก็บเกี่ยวได้อย่างท่วมท้น  อาจารย์วิจารณ์ได้กรุณาแนะนำก่อนที่ดิฉันจะเริ่มดำเนินรายการว่าให้อธิบายขั้นตอนให้ชัด และได้เสริมความมั่นใจมาอีกว่า"ถ้าติดขัดอะไรผมจะช่วยเสริม แต่ผมว่าครูใหม่ทำได้" เมื่ออาจารย์เกริ่นนำเรื่องของโรงพยาบาลบ้านตากแล้ว ไมค์ก็เป็นของดิฉัน! กิจกรรมดำเนินไปตามลำดับดังนี้


- ชมวีดิทัศน์ที่มีความยาวประมาณ ๓๐ นาที ระหว่างการรับชมขอให้ทุกท่านทำการบันทึกขุมความรู้ไปด้วย
- เมื่อวีดิทัศน์จบลง ขอให้ทุกท่านแลกขุมความรู้กับเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างๆ เพื่อดูว่าสิ่งที่ได้รับนั้นเหมือนหรือต่างอย่างไรจากประเด็นที่ท่านบันทึกได้ (เป็นการสร้างบรรยากาศของการลปรร.ย่อย เพื่อเรียกน้ำย่อยก่อนเข้ากลุ่มใหญ่ เพื่อเร้าให้เกิดความตื่นตัวน้อยๆ)
- จากนั้นขอให้ทุกคนแยกไปตามกลุ่มที่จัดไว้เมื่อตอนกลางคืน เพื่อช่วยกันจัดการกับความรู้ที่ได้รับจากการรับชมวีดิทัศน์ให้เป็นหมวดหมู่ด้วยการเขียนเป็นภาพผังมโนทัศน์ (เพื่อให้ความคิดของทุกคนเชื่อมเข้าหากันได้ / เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อความคิดของคนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน และที่อยู่ต่างกลุ่มได้โดยง่าย มีการกำหนดให้เขียนผังมโนทัศน์ของกลุ่มด้วยสีนำเงินเท่านั้น)
- นำเสนอผลสังเคราะห์ที่เกิดจากการลปรร.ของกลุ่มในรูปของผังมโนทัศน์ (และเพื่อให้มีพื้นที่ของการลปรร.อย่างกว้างขวาง จึงได้กำหนดให้ทุกกลุ่มทำการติดกระดาษปรู๊ฟที่ใช้สำหรับเขียนผังมโนทัศน์ เพิ่มเติมไว้ทั้งทางด้านซ้ายและด้านขวา เพื่อรองรับความคิดที่จะมีเพิ่มพูนขึ้นตลอดเวลาที่ได้รับฟังการนำเสนอของกลุ่มอื่น)
- มีการกระตุ้นให้ผู้ฟังรู้สึกตื่นตัวกับการเรียนรู้ใหม่ๆที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ด้วยการถามคำถามว่านอกจากความคิดของกลุ่มแล้ว ยังได้เรียนรู้อะไรจากการนำเสนอของกลุ่มอื่นบ้างไหม ในประเด็นใดบ้าง  และขอให้เขียนความคิดที่ได้เพิ่มเติมมาจากการลปรร.กับกลุ่มอื่นด้วยปากกาอีกสีหนึ่ง ในทันทีที่ได้ฟัง เพื่อจะได้มองเห็นอย่างชัดเจนว่าความคิดส่วนใดเป็นความคิดของกลุ่ม และความคิดส่วนใดเป็นความคิดที่ได้รับเพิ่มเติมจากกลุ่มอื่น (กลุ่มที่นำเสนอไปแล้วก็สามารถเพิ่มเติมความคิดเข้าไปในผังมโนทัศน์ของกลุ่มตนได้อีก เพียงแต่จะไม่ได้นำเสนอส่วนที่เพิ่มเติมนี้ต่อที่ประชุมเท่านั้น)
- เมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาถึงขั้นนี้แล้ว ผู้นำเสนอเกือบทุกกลุ่มก็จะอธิบายออกมาเองว่า เมื่อเกิดการแลกเปลี่ยนทางความคิดขึ้นแล้ว ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาความคิดของกลุ่มไปอย่างไรบ้าง


 ผลการนำเสนอการตีความความเข้าใจเรื่อง KM ของแต่ละกลุ่มนั้นน่าสนใจยิ่ง เพราะเป็นความรู้ที่กลั่นกรองจากความเข้าใจของตน ที่นำไปสังเคราะห์ร่วมกันจนกลายเป็นของกลุ่ม จากนั้นยังได้ไปปะทะสังสรรค์กับความคิดของกลุ่มอื่นๆ ทำให้เกิดเป็นมุมมองใหม่ที่ร้างความตื่นตาตื่นใจได้ไม่น้อย ที่ดิฉันตื่นเต้นมากคือ กระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้สามารถดึงเอาความรู้แฝงฝังของสมาชิกในกลุ่มออกมาแบ่งปันกันได้ สะท้อนออกมาเป็นภาพผังมโนทัศน์ที่มีอารมณ์ความรู้สึก เช่น ความรู้สึกเป็นสุข การรู้จักฟังกัน ความรู้สึกว่าตนประสบความสำเร็จที่ค้นพบได้เมื่อเข้าสู่กระบวนการ KM   มีอยู่กลุ่มหนึ่งกลั่นกรองประสบการณ์แล้วนำเสนอความเข้าใจในการตีความของตนออกมาว่า KM เป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ต้อง "เรียนให้รู้ ดูให้จำ ทำให้จริง และต้องทำด้วยหัวใจ"


 จากการได้รับโอกาสให้ได้คิดและทำในครั้งนี้ ทำให้ดิฉันมีภาพเกี่ยวกับการเป็นวิทยากรกระบวนการจัดการความรู้ฝึกหัดว่า เราสามารถที่จะสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ได้เอง เพื่อให้การทำงานบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้  การจัดการห้องเรียน KM ที่ดิฉันพบในครั้งนี้มีลักษณะไม่แตกต่างไปจากกระบวนจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน ที่ต้องการการจัดสรรเวลาสำหรับการลปรร. และการมีช่วงเวลาให้ผู้เรียนได้สังเคราะห์ความรู้ที่เป็น first hand knowledge ออกมา นอกจากนี้ยังต้องมีท่าทีการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดการเคารพ และชื่นชมในความคิดของกันและกันด้วย ส่วนที่ได้ความคิดเพิ่มเติมเข้ามาใหม่คือ ครูสามารถใช้การ AAR เพื่อรับทราบความคาดหวังของผู้เรียน (แทนการบอกให้ผู้เรียนรับทราบความคาดหวังของครูแต่เพียงฝ่ายเดียว)  และสามารถใช้ AAR ในบรรยากาศของการรับฟังแบบ deep listening เพี่อที่จะได้รับทราบกันทั้งสองฝ่ายว่ายังมีอะไรที่ไม่เป็นไปตามคาดหวัง และเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น จะได้แก้ไขเหตุการณ์ได้ทันท่วงที ก่อนที่ความไม่เข้าใจจะมีโอกาสก่อเหตุ   การได้รับทราบปัจจัยของความสำเร็จก็เป็นความสำคัญอีกประการหนึ่งในการธำรงรักษาไว้ซึ่งบรรยากาศที่ก่อให้เกิดความสนใจใฝ่รู้ของชั้นเรียนเอาไว้  เพื่อการสร้างคุณภาพใหม่ให้กับการจัดการกับความรู้ที่หมุนวนและยกระดับอยู่ในชั้นเรียนของเรา

 

หมายเลขบันทึก: 39660เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2006 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • แวะมาเก็บเกี่ยวครับ
  • ชอบมากที่สรุปว่า KM เป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ต้อง "เรียนให้รู้ ดูให้จำ ทำให้จริง และ ต้องทำด้วยหัวใจ"
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท