ทำอย่างไรไม่ให้ KM Website มี "ใยแมงมุม" ขึ้น


เนื้อหาต้องเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว การสื่อภาษาต้องน่าสนใจ และต้องทำให้เกิดความเป็นชุมชน
          ช่วงท้ายของการสัมมนา KM ในวันนี้ (4 ส.ค.) มีผู้ทิ้งคำถามไว้ว่า “แม้องค์กรจะมีการจัดทำ Website ให้คนทำงานได้เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แต่ปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่ว่า . . (1) ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนในองค์กรสนใจเข้ามาแชร์ใน Website นี้อย่างสม่ำเสมอ . . (2) ทำอย่างไรจึงจะจูงใจให้คนเข้าไปอ่านใน Web ที่ว่านี้”
          ผมว่านี่เป็นคำถามที่สำคัญมาก  เพราะจากที่เห็นมา พบว่ามีหน่วยงานจำนวนมากอุตส่าห์ลงทุนลงแรงสร้าง Website ทำนองนี้ขึ้นมา แต่ปรากฏว่าเอาเข้าจริงๆ มีคนเข้าไปใช้งานน้อยมาก เรียกว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า และเสียเวลาโดยไม่ได้รับประโยชน์ ผลสุดท้ายหน่วยงานต้องพยายามหาบทความต่างๆ มาใส่ลงไป หรือไม่ก็บังคับให้พนักงานเขียนสรุปสิ่งที่ได้จากการไปสัมมนามาใส่ไว้ บางแห่งถึงกับบอกว่าถ้าใครไปสัมมนามาต้องนำสไลด์ที่วิทยากรใช้ (บรรยาย) มาใส่ไว้ใน Website นี้ด้วย และที่ซ้ำร้ายก็คือไม่ว่าจะใส่อะไรลงไป ก็ยังไม่มีใครเข้าไปใช้ เข้าไปอ่านอยู่ดี เหมือนกับคำถามสองคำถามนี้ไม่มีผิด
          ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ ผมว่าอยู่ตรงที่ว่า . . ความรู้ที่เราพูดถึง ที่เราจะนำไปใส่นั้น ที่สำคัญผมว่าต้องเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว การทำ KM ไม่ใช่เรื่องที่ว่าอยากจะแชร์อะไรก็แชร์ไป ใครที่ใช้ “โมเดลปลาทู” ย่อมรู้ดีว่าเราต้องเริ่มกันที่ “หัวปลา” เป็นอันดับแรก เพราะคนทำงานโดยทั่วไปมักจะสนใจเรื่องที่ใกล้ตัวก่อนเป็นอันดับแรก นอกจากนั้นการสื่อภาษาก็สำคัญเช่นกัน ท่านต้องไม่ทำให้เรื่องที่จะแชร์นั้นดูวิชาการจนเกินไป การที่เราใช้ “เรื่องเล่า” นี้ถือว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่ได้ผลค่อนข้างดี เพราะความรู้ที่แฝงมาในเรื่องเล่าเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถจะนำไปลองทำได้โดยง่าย
          ถ้าจะให้การแชร์หรือการเข้าไปอ่านนั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ สิ่งหนึ่งที่จำเป็นก็คือจะต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนให้ดี ให้คนเหล่านี้มีความรู้สึกผูกพันซึ่งกันและกัน เหมือนกับที่ผมมีความรู้สึกดีกับท่านที่อยู่ในชุมชน gotoknow นี้ คือรู้สึกว่ามี Commitment ที่จะต้องเข้ามาเขียน เข้ามาแชร์ ความรู้สึกเป็นชุมชนนี้ผมว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะมันเป็นปัจจัยที่ทำให้ Website ไม่เงียบเหงา มีคนเข้ามาอ่าน มีคนเข้ามาแบ่งปันสิ่งดีๆ ตลอดเวลา
          สรุปว่า “เนื้อหา (Content) ต้องเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว การสื่อภาษาต้องน่าสนใจ น่าติดตาม และที่สำคัญต้องทำให้เกิดความสัมพันธ์ในลักษณะของการเป็นชุมชนหรือ CoP” ถ้าเป็นเช่นนั้นได้ Website ของท่านก็คงจะไม่ตาย หรือไม่มี “ใยแมงมุมขึ้น” ครับ

                                  

ภาพวาดสีน้ำของคุณ Teansri จาก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=blueteardrop&month=07-08-2008&group=3&gblog=11

หมายเลขบันทึก: 381817เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2010 22:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (28)

แวะเข้ามาเรียนรู้กับท่านอาจารย์ครับ ความสัมพันธ์ในลักษณะของการเป็นชุมชนต้องมีความอันหนึ่งอันเดียวกันก่อให้เกิดความสำเร็จ ขอบพระคุณสำหรับเรื่องราวดีๆ ครับ

ท่านต้องไม่ทำให้เรื่องที่จะแชร์นั้นดูวิชาการจนเกินไป การที่เราใช้ “เรื่องเล่า” นี้ถือว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่ได้ผลค่อนข้างดี เพราะความรู้ที่แฝงมาในเรื่องเล่าเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถจะนำไปลองทำได้โดยง่าย

ขอบพระคุณค่ะอาจารย์ โดนเต็มๆเลยกับเวบที่ทำงานดูเชิงวิชาการไปมากค่ะ แทบจะเรียกได้ว่าร้างเลยทีเดียว ;)

คนทำงานก็เครียดพออยู่แล้ว  พอจะมาหาวิธีผ่อนคลายบ้างกลับมาเจอวิชาการเข้าให้อีก  ต่อให้คนเก่งขนาดไหนก็ต้องหลีกค่ะ

วิธีการนำเสนอในเวปต้องเป็นไปโดยไม่ให้ผู้อ่านรู้สึกว่าถูกยัดเยียด  คือมีมุขมีมุมมองด้วยภาษาที่ง่ายๆสบายๆ  จนผู้อ่านรู้สึกคล้อยตามและอ่านจนจบด้วยความอยากรู้รวมทั้งอยากโต้ตอบและอยากติดตามอ่านต่อๆไป 

แล้วเมื่อนั้นเวปของคุณจะไม่ตายรวมทั้งขยายตัวเป็นวงกว้างได้ง่าย.....

คุณ "Jaja แม่มะลิ" Comment ไว้ใน facebook ของผมว่า . . . "จริงค่ะ อาจารย์ หนู อยากให้ เวปไซต์ที่ทำงาน มีแรงดึงดูดเหมือน FB หรือ G2K ตอนนี้พยายามคิดอยู่ว่าจะเอาอะไรใส่ลงไปให้ดูด คนในองค์กรเข้าไป แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ถ้า click แล้วอืดเป็นเรือเกลือ ความน่าสนใจลดลงไปครึ่งหนึ่งแล้วค่ะ" . . ผมว่าเรื่อง "ความเร็ว" นี่ก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ จริงๆ ด้วย

สวัสดีครับ

ผมขออนุญาตใช้คำว่า "ชิงสุกก่อนห่าม" นะครับ เพราะความคิดผมมองว่าก่อนที่จะให้คนแลกเปลี่ยนความรู้ (KM) น่าจะให้คนมีใจที่จะเรียนรู้เสียก่อน (LO) นั่นคือส่งเสริมให้องค์กรเป็นองค์กรเรียนรู้เสียก่อน โดยใช้กลยุทธ์ ทำงานให้สนุกกับการเรียนรู้ นำเรื่องการพักผ่อนหย่อนใจ ความสนุก ศิลปะ มาเชื่อมโยงเหนี่ยวนำเข้ากับงาน ไม่ทำให้รู้สึกว่าการทำงานคือการต้องถูกบังคับให้ทำตามหน้าที่เท่านั้น เมื่อคนมีใจเรียนรู้แล้ว ผมเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนความรู้ (KM) ก็จะเกิดขึ้นอย่างอัตโมติเองครับ

หน่วยงานผมก็มี KM  Website  เป็น website ที่มีใยแมงมุมขึ้นเหมือนกันครับ 

   ผมว่าหัวใจของ KM อยู่ที่อาจารย์ว่าไว้ครับ

   ถ้าจะให้การแชร์หรือการเข้าไปอ่านนั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ สิ่งหนึ่งที่จำเป็นก็คือจะต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนให้ดี ให้คนเหล่านี้มีความรู้สึกผูกพันซึ่งกันและกัน

                ขอบคุณอาจารย์มากครับที่ชี้แนวทาง

ผมว่า gotoknow เป็นตัวอย่างดี ที่น่าสนใจครับ . . อะไรที่ทำให้ g2k คึกคัก . . ความสัมพันธ์ระหว่าง blogger ความเป็นชุมชน ทีมงานที่มีจิตให้บริการ คอยช่วยเหลือแก้ไข เทคโนโลยีที่ใช้ง่าย รวดเร็วทันใจ และ . . . .

ได้อ่านหนังสือเรื่องการสร้างนวัตกรรมให้เป็น Core Competency [INNOVATION TO THE CORE] ของ Peter Skarzynski & Rowan Gibson ของHARVARD BUSINESS Press ( ฉบับแปลนะครับ...อิอิ) รู้สึกว่าน่าจะเป็นอะไรอีกแนวหนึ่งได้ แต่คิดๆไปก็ไม่หนี concept.... KM ของท่านอาจารย์ประพนธ์ สุดยอดของผมและพวกเราครับ

เห็นด้วยกับทุก ๆ ประเด็นนะคะ ตอนนี้ก็พยายามสร้างเครือข่ายอยู่ค่ะ สิ่งหนึ่งที่คิดไว้คือต้องง่ายต่อการเข้าถึงด้วย เพราะคลิกกว่าจะเจอ เเถมเจออืดอย่างที่อาจารย์ว่า คงไม่มีใครอยากเข้ามาเเลกเปลี่ยนเรียนรู้นะคะ

ต้อง มี social community เกิดขึ้น ไม่ใช่ ล่อแต่ความรู้อย่างเดียว

หาก ทำง่ายก็ไปทำ facebook fan page or group จะง่ายและ work กว่า

ทำเวบเอง และไม่มีลูกเล่น

มี การแซวกัน ชมกัน หยอกกัน มีสนุก มีเฮ

ต้องมีการส่งเสริมระบบ buzz ในเวบ

เขียนเรื่องใกล้ตัว มีการเสี่ยงโชค

มีแจง gimmick

มีการแข่งขัน แบบนี่ คนไทยชอบ ครับ

web.นี้เป็นเว็บซ์ที่มีประโยชน์มากเลย พอพูดถึงเรื่องของชุมชนก็ยิ่งน่าสนใจเข้าไปใหญ่ พอดีตอนนี้เรียนป.โท และกำกลังจะเขียนบทความเรื่องชุมชน ยังเขียนไม่ออกเลยคะ อยากให้แนะนำหรือให้ข้อมูลบ้างนะคะ ขอบคุณ

การสร้างสัมพันธ์ที่ดีสำคัญครับ นักวิชาการไม่ควรมองข้ามคนทั่วไปที่มาสร้างไมตรี การเลือกตอบเฉพาะกลุ่มและเลือกเฉพาะคนคุ้นเคยก็ทำให้ผู้มาใหม่อาจน้อยเนื้อต่ำใจ สังเกตดูครับมีบล็อกเกอร์หลายคนหายหน้าหายตาไปอย่างถาวร ขอบคุณครับ

เห็นด้วยครับ แต่.....เนื้อหา เนื้อเรื่อง มีมากไปหมด แล้วยัง web ต่าง ๆ อีก ตามอ่านไม่ทัน ไม่ไหวครับ

การupdate เนื้อหา ก็มีน้อย มีช้ามาก นาน ๆ เปิดที ก็ไม่เห็นเปลี่ยนอะไร แล้วจะเข้าไปดูทำไมครับ

   *** ปัจจุบันก็ใช้ G2K. เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้-คลายเครียด เสมอๆค่ะ ***

                                                      

สู้ต่อไปครับพี่น้อง

ขอบคุณ ทุกความคิดเห็นค่ะ ได้อ่านแล้วรู้สึกว่าเข้าใจหลักคิด แนวทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้นอีกค่ะ

ขอบคุณค่ะ สำหรับข้อความดีๆ จะได้นำมาเป็นหลักในการทำงานค่ะ

ผมเห็นว่า องค์ความที่ชอบในสังคมไทยมีหลากหลายที่จะไปใช้ประโยชน์กับชีวิตมนุษย์ ในทศวรรษที่ 21 - 22 นี้ คือ การให้รู้ตัวเองเสมอดังความตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า ให้มีสติรู้ตัวปัญญารู้คิด อันเป็นแก่นสารของจิตวิญญาณ แห่งมนุษย์ละ และจะทำฉันใดให้ทุกคนหรือชีวิตเป็นปัญญา ขอขอบคุณ

ขอเพียง... "อย่าขืนใจกัน..." และ

เมื่อ... "ได้(ใจ)กันแล้ว..."

ก็... "อย่าทิ้งกัน..."

เท่านั้นพอ (นี่หมายถึงการเขียนบันทึกค่ะ...อิอิ)

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นสิ่งที่ดีมาก การมีเวทีที่มีกลุ่มคนหลากหลายเข้ามาแลกเปลี่ยนก็สำคัญ เรื่องใหม่เรื่องเก่า นำมาแลกเปลี่ยนกันได้ แต่สิ่งสำคัญหากมาจากความรู็้ทีถูก สังเคราะห์แล้วของแต่ละบุคคล จะเกิดองค์ความรู้ใหม่้ ที่มีคุณค่ามากแก่สังคมไทย

  • ขอบคุณสำหรับแนวทางครับอาจารย์ครับ ผมว่าเนื้อหาที่เป็นเรื่องรอบๆตัว เล่าเรื่องจากประสบการณ์ มันมีเสน่ห์อยู่ในตัวครับ ชวนให้คอเดียวกันมาแชร์ประสบการณ์กัน และยังดึงดูดคอทั่วไปมาอ่านมาแชร์กันได้อยู่ แล้วความสัมพันธ์ฉันพี่น้องในชุมชนเดียวกันมันจะตามมาครับผม... ขอบคุณครับ
  • ผมเห็นด้วยกับความเห็นที่  12. P กล้าณรงค์  เป็นอย่างยิ่งครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ที่อาจารย์เขียนมานั้นถูกต้องเลยค่ะ เป็นเรื่องยากที่จะให้คนทำงานเปิดเว็ปไซด์ที่เกี่ยวกับ "อะไรที่เกียวกับงานเกี่ยวกับวิชาการ" เว็ปไซด์ของหน่วยงานไม่จำเป็นจริงๆ จะไม่เปิดเข้าไปดู อันนี้เอาเรื่องจริงมาพูดกัน

ตัวผู้เขียนเองก็เหมือนกันเว็ปมหาวิทยาลัยมีอะไรน่าสนใจเยอะแยะ ยังไม่เปิดเข้าไปดูเลย ยกเว้นแต่ว่าจะมีหนังสือส่งมาบอกให้เปิดเว็ปแล้วดาวห์โหลดงานแค่นั้นที่เข้าไปเว็ปของหน่วยงาน

แต่ตัวผู้เขียนเองในใจก็ยังอยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการอ่าน การถ่ายทอดความรู้ อยากให้ทุกคนในหน่วยงานเห็นความสำคัญ แต่จะไปบังคับเขาก็ไม่ได้ เพราะอำนาจไม่มีไม่พอ

มองว่าผู้ที่มีอำนาจควรบังคับให้ทุกคนทำนะ เพราะนิสัยคนไทยก็ทราบดีอยู่ไม่บังคับไม่ทำหรอก ขนาดบังคับยังไม่ทำเลย บังคับเลยว่าทุกคนไปอบรมมาต้องแชร์ความรุ้ ต้องเขียนงานลงเว็ปไซด์เพื่อแชร์ความรู้กับอื่น และต้องบังคับเข้าเว็ปไซต์ทุกวันถือว่าเป็นหน้าที่

ผมเห็นด้วยกับแนวคิดของท่านผู้เขียนบทความนี้ เพราะผมก็เคยสังเกตุมานานพอสมควรแล้ว อย่าว่าแต่เข้าไปอ่านเว็บไซต์ขององค์กรเลย แม้ป้ายประกาศขององค์กรที่ติดตั้งไว้ใกล้ๆกับทางเดินของพนักงาน พนักงานจำนวนมากก็ไม่เคยไปอ่าน ผมเคยเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลมาหลายบริษัท เคยปวดหัวกับพนักงานที่ไม่สนใจป้ายประกาศขององค์กร ประกาศอะไรไป พนักงานก็บอกว่าไม่รู้เรื่อง (เพราะไม่เคยอ่านประกาศ) นั่นเอง

เข้ามาศึกษาหาความรู้

แนวคิดท่นำเสนอดี.....แต่ละคนก็มีแนวคิดเป็นของตนเองอยุ้แล้วการท่จะนำไปประพฤติปฏิบัติหรือไม่ขึ้นอยู่ท่วิจารณญาณส่วนบุคคล

ขอบคุณครับ สำหรับคำตอบ และคำถาม ที่ผมกำลัง ประสบปัญหาอยู่

สนใจในการจัดการความรู้น่ะค่ะอ่านไปอ่านมารู้สึกคุ้นๆ เอ ใครน่ะ นึกขึ้นมาได้ค่ะ ว่าคุ้นคำว่า ปิ๊งแว้บ

Intuition สมองก็โยงใยไปถึงOsho พอเห็นชื่อ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ก็นึกขึ้นได้ว่าเคยซื้อหนังสือท่านมาอ่าน

ตอนนัั้นที่ซื้อเพราะ สะดุดที่ชื่อค่ะ ปัญญาญาณ เห็นชื่อแล้วสะดุดใจมากเลย ตัดสินใจซื้อโดยไม่ได้เปิดดูเลยค่ะ

อ่านแบบไม่ได้จริงจังอะไร และที่จำได้คือ จิตใต้สำนึก จิตสำนึก และจิตเหนือสำนึก

สัญชาติญาณ ปรีชาญาณ และปัญญาญาณ

และสมองก็คิดโยงใยไปถึง id ego superego โดยอัตโนมัติค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท